เดินเรียกร้อง อดอาหาร การยืนนิ่งเฉยๆ ล้วนเป็นการแสดงออก เรียกร้องด้วยร่างกาย และการอารยะขัดขืนด้วยสันติวิธี
ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากการจัดแฟลชม็อบ การชุมนุมแล้ว ในการเรียกร้อง ต่อสู้กับรัฐบาล ก็ยังมีการเคลื่อนไหวหลายกลุ่มที่เริ่มใช้ร่างกายในการเรียกร้อง อย่างการเดินทะลุฟ้า จากโคราช มายังกรุงเทพฯ ไปถึงการอดอาหารในเรือนจำของเพนกวิน พริษฐ์ ที่เรียกร้องสิทธิประกันตัว และการตัดสินที่ยุติธรรมจากศาล หรือกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง 112 นาที’ กับการยืนเฉยๆ หน้าศาลฎีกา เรียกร้องการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ
ซึ่งกิจกรรมนี้ได้ดำเนินต่อเนื่องมาถึง 15 วันแล้ว (ครบ 15 วัน วันที่ 5 เมษายน และมีการหยุดยืน 1 วัน ในวันที่ 6 เมษายน) จากจำนวนผู้เข้าร่วมยืนหลักสิบ สู่หลักร้อย ด้วยความหวังว่าเพื่อนจะได้รับสิทธิประกันตัว The MATTER มาร่วมสังเกตการยืนในวันที่ 15 นี้ พร้อมพูดคุยกับผู้จัด และผู้เข้าร่วม ถึงเหตุผลของการยืน และความจำเป็นในการทวงคืนความยุติธรรมที่หน้าศาลฎีกากัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
ในกิจกรรมยืน หยุด ขัง 112 นาที นอกจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับแล้ว แต่ละวันก็จะมีกลุ่มต่างๆ ที่แวะเวียนมาจัดกิจกรรม หรือเข้าร่วมการยืน โดยในวันที่ 15 ของกิจกรรมนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนมาร่วมด้วย ก่อนจะมีการอ่านแถลงการณ์ถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐบาลหลังยุครัฐประหารปี 57 การใช้กฎหมาย ม.112 ในปัจจุบันที่มีปัญหา รวมถึงเรียกร้องให้เรียกร้องให้ศาลยืดมั่นในหลักการว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการตัดสิน
อ.ยุติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ก็เป็นหนึ่งคนที่มายืน และบอกกับเราถึงกิจกรรมนี้ว่า มันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบ สันติ ที่พลเมืองเราสามารถทำได้ และคิดว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ประชาชนสนใจ และตระหนักถึงปัญหามากขึ้น “ผมคิดว่าจริงๆ เราอาจจะไม่สามารถทำให้รัฐรู้สึกอะไรได้ แต่อารยะขัดขืนมันคือการทำให้ประชาชน ให้สังคมได้ตื่น ได้สำนึกว่ามันมีคนที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน มีความรู้สึกร่วมกัน การใช้ร่างกายมันเป็นการทรมานตัวเองแบบนึงเพื่อที่จะปลุกสำนึกประชาชน”
“อย่างวันนี้ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็ตั้งใจมาด้วย แต่แกป่วยก่อน ผมคิดว่าถ้ามีบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือของสังคมมาร่วมกันแสดงออก มันก็จะทำให้สังคมได้ตระหนักมากขึ้นว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่เรื่องที่จะเปลี่ยนใจรัฐได้เราอาจจะต้องใช้การชุมนุม สื่อมวลชน ในเรื่องของการแสดงออกบ่อยๆ มากขึ้น หรืออาศัยองค์กรระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ”
ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีการจัดชุมนุม เรียกร้องจากรัฐบาลซึ่งมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รวมถึงก็มีคนรุ่นใหม่ที่ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากเช่นกัน อ.ยุกติก็สะท้อนกับเราว่า นี่แปลว่าสังคมเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว
“ผมคิดว่าสังคมเราถึงขนาดที่ทำให้กลุ่มบุคคลคือเยาวชน วัยรุ่น หรือคนที่ทำงานใหม่ๆ ออกมาต่อสู้ แปลว่ามันไม่ปกติแล้ว เพราะที่ผ่านมา เราเห็นคนที่เดือดร้อนคือชาวไร่ ชาวนา หรือคนเสื้อแดง แต่มันเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบันนี้ ที่คนหนุ่มสาวที่มีชีวิตในเมือง สะดวกสบายแล้ว พ่อแม่เลี้ยงดู ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เอง สถานการณ์มันถึงขั้นทำให้เขารู้สึกว่า เขาอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป เขามองไม่เห็นอนาคตอันใกล้ของตัวเองในระบอบแบบนี้ นี่ผมว่าเป็นสิ่งที่สังคมต้องตระหนัก และออกมาต่อสู้กับเยาวชน”
การมายืน หยุด ขัง คือการเรียกร้องให้นักผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งบางส่วนเป็นนักศึกษา และลูกศิษย์ ที่อาจารย์มีส่วนในกระบวนการยื่นประกันตัวในฐานะนายประกันด้วย เราจึงพูดคุยกับอาจารย์ว่าที่ผ่านมา อาจารย์ได้เห็นความบิดเบี้ยวอะไรในกระบวนการยุติธรรมบ้าง ซึ่งอาจารย์ก็มองว่าปัจจุบัน รัฐใช้กฎหมายอย่างเกินกว่าเหตุและอันตรายมาก
“จริงๆ ผมเคยโดนคดีการเมือง ในคดีคนอยากเลือกตั้ง ตอนไปศาล เราจะเห็นตั้งแต่กระบวนการตั้งแต่การปั้มลายมือ ทั้งหมดมันทำให้เรากลายเป็นอาชญากร รวมไปถึงกระบวนการสอบสวน หรือแม้แต่การออกหมายจับ เราจะเห็นความเสียเปรียบของผู้ที่ถูกดำเนินคดี เทียบกับเจ้าหน้าที่เอง เขาสามารถตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินเหตุได้ตลอดเวลา ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มองว่าประชาชนเป็นผู้ที่จะต้องได้รับการพิทักษ์ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในข้างที่พยายามปกป้องความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก ผมว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก”
“ช่วงปัจจุบันนี้ก็ชัดเจนว่า นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้อง ยังไม่ถูกตัดสิน เพิ่งเริ่มต้นดำเนินคดีก็ถูกขังแล้ว ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมไม่ควรจะยอมรับได้ และถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะทำอะไรก็ได้ อย่างเช่นกรณีของโตโต้ หรือการ์ดอีกหลายๆ คน แม้แต่คนที่แสดงออกทางการเมืองทั่วๆ ไป ไม่ใช่เฉพาะคดี 112 ผมว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยกระบวนการยุติธรรมอย่างเกินกว่าเหตุ”
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แกนนำพลเมืองโต้กลับ
เป็นเวลา 15 วันแล้ว กับกิจกรรมยืน หยุด ขัง ซึ่งพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แกนนำพลเมืองโต้กลับ ผู้จัดกกิจกรรมนี้ก็เล่าให้เราฟังว่า นี่คือกิจกรรมที่ท้าทาย แต่ก็ตั้งใจใช้การยืน ในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง
“เรามองว่าเป็นกิจกรรมที่จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย เพราะการยืนเฉยๆ เป็นเวลา 112 นาที มันกดดันคนยืนพอสมควร แต่เราคิดว่าเป็นกิจกรรมที่หลายคนน่าจะทำได้ และท้าทายพอสมควร แต่ปัญหาก็คือว่าเพื่อนเราถูกจับ ระหว่างพิจารณาคดี โดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายที่ต้องสันนิษฐานไปก่อนว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์ เราก็เลยคิดว่าควรจะออกมาส่งเสียง วิธีการยืนเป็นวิธีที่ง่าย และไม่สุ่มเสี่ยงกับการโดนข้อหาแบบที่แล้วๆ มา”
นอกจากการยืน พันธ์ศักดิ์เองก็มีประสบการณ์ใช้ร่างกายในการอารยะขัดขืนด้วยการเดินเช่นกัน “แต่ก่อนผมก็เคยโดยจับ ละเมิดมาตรา 116 เพราะเดินคนเดียวจากบ้านที่บางบัวทอง ไป สน.ปทุมวัน เรามองว่าการเรียกร้องที่ง่ายที่สุดคือการเรียกร้องกับตัวเอง และพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า เราไม่ได้อยู่เฉยๆ เรามีการทำอะไรบางอย่าง มีการส่งเสียง ที่ไม่เงียบ แม้ว่าเขาจะไม่นับว่าเป็นเสียงก็ตาม มันเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และเราไม่ต้องเรียกร้องจากใคร”
“มันเป็นกิจกรรมที่เราเรียกร้องตัวเอง และก็ประจานความอยุติธรรมที่ผู้รักษากฎหมายไม่ได้สนใจพื้นฐานของกฎหมายเลย เราจะอยู่ตรงนี้ เรามายืน 15 วัน ฟังเหมือนเยอะ แต่เพื่อนเราสูญเสียอิสรภาพมาแล้วกว่า 50 วัน เพนกวินก็อดอาหารมาแล้วกว่า 20 วัน เพราะฉะนั้นการยืนของเราเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาเผชิญอยู่”
จากวันแรกๆ ที่คนยืนจำนวนหลักสิบ มาถึงวันนี้ มีจำนวนแตะหลักร้อยแล้ว พันธ์ศักดิ์ก็เล่าว่าในวันแรกๆ คนที่มายืนคือกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มาคนเดียว แม้จะรู้จักกันหมด แต่ระยะหลังๆ ก็มีกลุ่มศิลปะปลดแอกที่ชวนกันมา มีกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เริ่มมาเป็นหมู่คณะ ทำให้ได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจกัน แต่ถึงอย่างนั้นในฐานะผู้จัดเขาก็มองเช่นกันว่า หากกฎหมายเป็นธรรม ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการออกมายืนเรียกร้องเช่นนี้เลย
“ที่จริงแล้วเราไม่ควรจะต้องมายืน หรือเรียกร้องเลย ถ้ากฎหมายมันเป็นกฎหมาย และผู้ใช้กฎหมายใช้มันตามหลักการ เราไม่ การออกมายืนของเรานอกจากเป็นการเรียกร้องความยุติธรรมกลับคืนมา เรามองว่ายังเป็นโอกาสให้ผู้พิพากษาทบทวนตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เขาทำมันถูกต้องตามหลักกฎหมายจริงไหม” เขากล่าวทิ้งท้าย
ยุ อาชีพรับราชการ อายุ 43 ปี
นอกจากคนที่มายืนกับเพื่อน มาคนเดียว เรายังพบกับพี่ยุ ข้าราชการที่หลังเลิกงาน เธอพาลูกชายมาร่วมกิจกรรม ยืน หยุด ขังครั้งนี้ด้วย ซึ่งพี่ยุเล่าว่า เธอมาติดกันเป็นวันที่ 2 แล้ว และคิดว่าอยากมาร่วมเรียกร้อง เพราะมองว่าผู้ต้องขังทางการเมืองควรได้รับสิทธิประกันตัวจริงๆ
“พี่คิดว่าในส่วนของเด็กๆ ควรจะได้รับสิทธิประกันตัวออกมา เพราะคดียังไม่มีการตัดสิน แปลว่าเขาก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ซึ่งเขาก็ควรจะได้รับสิทธิจากกระบวนการยุติธรรม ทั้งมาตรฐานในเรื่องของการพิจารณาเราก็ว่ามันไม่ถูกต้อง และเห็นได้ชัดเจน คือทุกคนควรจะได้สิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่คดีนี้ แต่คดีไหนๆ” ทั้งพี่ยุยังเล่าว่า เธอตามแกนนำ และนักกิจกรรมเหล่านี้มาตลอด เธอเห็นความสามารถ ศักยภาพ และเหตุผลในการพูดของเขา “ผู้ต้องขังหลายคนเป็นวัยรุ่น เป็นคนที่เรารู้ว่าเขาจะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้ เป็นคลังปัญญาที่เราไม่ควรเอาเขาไปกักขัง ซึ่งทำให้เราเสียบุคลากรที่จะพัฒนาประเทศ”
“เรามองว่าการยืนเป็นการต่อสู้อย่างสันติวิธี อย่างก่อนหน้านี้ เดินทะลุฟ้า ก็สันติวิธีเราก็ไปร่วมทั้งครอบครัว เราทำได้แค่นี้ เราเป็นประชาชน อำนาจทุกสิ่งมันไม่ได้อยู่ในมือเรา
แต่ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย เราก็โดนกดทับจนชาชน จนไม่สามารถแยกออกระหว่างความยุติธรรม และความอยุติธรรม ถ้าเราลุกขึ้นมาสู้ เราก็จะรู้ว่าเราต้องสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเอง เพื่อลูก เพื่อสังคม
การมายืนหน้าศาล เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายนี้ กำลังเรียกร้องต่อระบบ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพี่ยุเองก็บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนชัดเจนถึงความอยุติธรรม “ถ้ากฎหมายมันมีความเหลื่อมล้ำ และอยุติธรรม สังคมเราจะอยู่ลำบาก ถ้ามันสร้างสังคมที่กฎหมายไม่ได้ถูกใช้อย่างเท่าเทียม ท้ายที่สุดจะไม่มีใครเคารพ หรือว่าที่ยินยอม เพราะถูกกดทับ ทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่อยากยอม ถ้ามาตรฐานของกฎหมายไม่ใช่แบบเดียว เราก็ควรที่จะออกมาสู้ร่วมกัน”
พลอย อายุ 32 ปี
ก่อนหน้านี้ เรามีขบวนเดินทะลุฟ้า ที่ใช้ร่างกายต่อสู้เรียกร้อง ในวันนี้ พลอย หนึ่งในสมาชิกจากกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าเอง ก็มาร่วมต่อสู้ด้วยการยืน หยุด ขัง เช่นเดียวกัน โดยพลอยมองถึงการต่อสู้ด้วยร่างกายว่า “มันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เราทำได้โดยที่ไม่ต้องใช้อะไรเลย นอกจากตัวเรา และความอดทน มองว่ามันเหมือนเราใช้ใจ ร่างกาย แรง มาต่อสู้ ทุกอย่างเริ่มต้นจากตัวเรา มันคือการใช้สันติวิธี มันคือการทุ่มเทจากตัวเรา ว่าเราต้องการสิ่งที่เรียกร้องจริงๆ ถึงได้เสียสละตัวเราแบบนี้”
พลอยยังบอกว่าการเรียกร้องครั้งนี้ สะท้อนปัญหาของสังคมที่ว่า “การตัดสินของศาล หรือการใช้กฎหมายในการจับเพื่อนเรามันไม่ปกติ เราเลยต้องมายืนหน้าศาลว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมันบิดเบี้ยวถึงต้องมีการกดดันว่า สิ่งที่คุณทำ สิ่งที่ศาลตัดสิน คำตัดสินของผู้พิพากษาไม่ได้มีความยุติธรรมอะไรเลย”
การเดินทะลุฟ้า คือการเดินเท้าระยะทาง 247.5 กิโลเมตร จากโคราช มากรุงเทพฯ ซึ่งก็ทำให้คนข้างทาง คนที่เห็นขบวนได้สนใจสิ่งที่เกิดขึ้น กับการยืน พลอยก็มองเช่นกันว่า จะทำให้คน และสังคมหันมาสนใจ และกล้าแสดงออกมาขึ้น “รัฐไม่เคยมองเรามาตั้งแต่แรก แต่เราเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคม การเปลี่ยนแปลงของคนที่กล้าออกมาพูด กล้าแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น ตอนนี้เราหวังให้มวลชนออกมามากขึ้นมากกว่า ในเรื่องของรัฐ เรามองว่าเขาก็ไม่ทำอะไร แต่ซักวันนึงถ้าคนจำนวนมากๆ ออกมากดดันเขา เขาก็อาจจะฟังเรา แต่ว่าตอนนี้เราต้องช่วยกันก่อน”
จันทร์ อายุ 36 ปี
ในการยืน หยุด ขัง 112 นาที นอกจากการยืนเฉยๆ หรือยืนถือป้าย เรายังพบพี่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งยืนอ่านหนังสือ ดินแดนคนตาบอด หรือ The Country of the Blind ซึ่งดูเข้ากับการเรียกร้อง และสถานการณ์บ้านเมืองของเรา จันทร์ เจ้าของหนังสือเล่มนี้เล่าให้เราฟังว่า เธอเคยมาร่วมกิจกรรมนี้ 2-3 ครั้งแล้ว แต่ไม่ได้มาติดกันทุกวัน “ตอนนี้มันไม่ค่อยเหลือช่องทางแสดงออก ก็อยากจะส่งเสียงให้กับศาล ระบบกระบวนการยุติธรรม ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันไม่ถูกต้อง ควรจะมีการทบทวนใหม่”
“การยืนเป็นวิธีนึงในการต่อสู้อย่างสันติ เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เพราะเราคงทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ คิดว่าวิธีการแบบนี้ มันไม่ลำบาก เพราะยืนแค่ชั่วโมงกว่าๆ อย่าเพนกวิน รุ้ง หรือฟ้าที่อดอาหาร และการเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ถูกจำกัดเสรีภาพ โดยไม่มีเหตุสมควรเลยเป็นการลิดรอนสิทธิอย่างรุนแรง คนข้างนอกถ้าพยายามทำอะไรได้ ก็อยากพยายามช่วยกัน”
ในฐานะคนที่เคยมาร่วมหลายครั้ง จันทร์เล่าว่า เธอรู้สึกดีที่เห็นคนมาร่วมเยอะขึ้น ซึ่งวันนี้เองก็มีจำนวนมากกว่า 100 คนแล้ว “วันแรกๆ คนก็ยังไม่ค่อยมี วันหลังๆ คนก็เยอะขึ้น คนที่เขารู้สึกแบบนี้ก็มีเยอะ แล้วก็ทุกคนก็พยายามหาทางส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจ องค์กรที่ยึดกุมอะไรต่างๆ ไว้ เราไม่มีอำนาจที่จะไปจัดการ แต่นี่คือสิ่งที่เราทำได้ มันก็สะท้อนความไร้ยางอายของการใช้กฎหมาย และใช้อำนาจรัฐอย่างดิบเถื่อนเป็นเครื่องมือ โดยอ้างกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวง”
เช่นเดียวกับคนอื่นๆ จันทร์ก็มองว่า กิจกรรมนี้คงไม่สามารถทำให้รัฐหันมาฟังเสียงประชาชนได้ “เราไม่คิดว่า การมายืนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้เขามาเปลี่ยนใจอะไรได้ทันที ส่วนตัวมองว่าเป็นการสื่อสารกับสังคมวงกว้างที่เราจะทำให้สังคมฉุกคิดว่า นี่คือเรื่องที่ไม่ถูกต้อง” ทั้งเธอยังมองอีกว่า นี่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม ซึ่งเธอคาดหวัง และอยากจะเห็นความเป็นมนุษย์จากผู้ที่อยู่ในระบบด้วย
ไม่ระบุชื่อ อาชีพฟรีแลนซ์ วัย 26 ปี
หลายคนมาตั้งแต่วันแรก หลายคนก็เพิ่งมา ฟรีแลนซ์ ผู้ไม่ระบุชื่อวัย 26 ปีคนหนึ่ง ก็เป็นอีกคนที่มายืน หยุด ขังเป็นวันแรก หลังจากมาร่วมเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเขาบอกว่า เห็นกิจกรรมนี้ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยเขามองถึงสถานการณ์ การจับกุม การใช้กฎหมาย ที่ทำให้ต้องออกมาร่วมเรียกร้องว่า “มันเป็นความงงที่ไม่น่างง ว่ากระบวนการตอนนี้ ถ้าว่ากันตามหลักคือมันบิดเบี้ยวไปหมด แต่เราก็งงว่าทำไมมันถึงถูกรับรองบนประเทศนี้ได้ เช่นการที่ยังไม่ถูกศาลตัดสิน แต่ก็ถูกฝากขัง เราก็เลยไม่เข้าใจว่าเราอยู่กันยังไง คนที่เกี่ยวข้องอยู่กันได้ยังไง ?” เขาตั้งคำถาม
และเหมือนกับทุกคนที่เราพูดคุย เขาไม่ได้คาดหวังว่า รัฐจะมองเห็น แต่การยืนครั้งนี้ เป็นการเรียกร้องว่าตัวเขาเองได้ออกมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง “ลึกๆ เราก็ไม่รู้สึกว่ามันจะได้ผล ทุกการมาม็อบหรือกิจกรรมมันทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยเราอยู่ข้างนอก ทำงานของเรา แม้ไม่ได้ออกตัวเต็มที่ แต่ก็มาทำในส่วนที่เราทำได้ เราติดตามเรื่องของคนที่อยู่ในคุก เราเห็นว่าเขาลำบากกว่านี้ เราคิดว่ามาลำบากซัก 112 นาที เพื่อให้ชดเชยความรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรกับตัวเองเลย”
“เราว่ามันคือกิจกรรมอย่างนึง เราคงต้องคิดวิธีใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ จนมันไปสะกิดใจคนอื่นมากขึ้น วิธีนี้อาจจะไม่สะกิดใจ แต่วิธีหน้าๆ เขาอาจจะเริ่มคิดว่าคนพวกนี้มาทำอะไรกัน แต่ถ้าถามว่ามันจะช่วยอะไรไหม มองตรงๆ รัฐบาลก็คงไม่ฟังกัน แต่น่าจะทำให้คนทั่วไปสนใจมากกว่า
ถึงยังไงก็ต้องสู้กันต่อไป แม้รัฐไม่ฟัง และเราก็เห็นว่ามีคนที่ทำเหมือนกัน ออกมาสู้ มันก็ชื้นใจว่า มันก็ยังพร้อม มีคนที่มาสานต่อ”