‘5 วินาที’ อาจไม่พอให้คุณบิดขี้เกียจสักครั้งด้วยซ้ำ แต่มากพอสำหรับ ‘คนแปลซับ’ ที่มีโอกาสทำความรู้จักผู้ชมผ่านเครดิตชื่อ หากคุณนั่งแช่จนถึงหยดสุดท้าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่อยากชื่นชมความตั้งใจให้พวกเขาใจฟู หรือแค้นเคืองอยากตำหนิจนใจแฟบก็ตาม
‘นั่นนาฬิกาพ่อนายเหรอ’
‘เปล่า นาฬิกาคนข้างบ้าน’
เชื่อไหมว่าประโยคนี้ไม่ได้ปรากฏในหน้าข่าวไทยอย่างที่ควรจะเป็น แต่มุกขำขันนี้ไปโชว์ความเฟี้ยวอยู่บน ‘ซับไตเติ้ล’ ของหนังบู๊อย่าง Red Notice ที่ทำสถิติขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ที่มีผู้ชมเยอะที่สุดในวันแรกของการออกฉายบนแพลตฟอร์ม Netflix ด้วยฝีมือของ ต้องตา สุธรรมรังษี ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนักแปลมากว่า 20 ปี
The MATTER ชวนไปทำความเข้าใจอาชีพ subtitler ที่เป็นมากกว่าการแปล แต่ต้องใช้ภาษาสื่อสารถึงผู้คนให้เข้าถึงสังคมและวัฒนธรรมนั้น และร่วมหาคำตอบว่าการได้ดูหนังก่อนใคร มันคุ้มค่าอย่างที่หลายคนว่าไว้หรือไม่
หมายเหตุ การพูดคุยในครั้งนี้ ไม่มีการระบุชื่อบริษัท language service provider (LSP) ที่เป็นผู้ให้บริการด้านภาษาอย่างเจาะจง เป็นเพียงการพูดถึงบริบทวงการคนทำซับไตเติ้ลเท่านั้น และไม่มีการสปอยล์หนังแต่อย่างใด
นักแปลฟรีแลนซ์
ทุกวันนี้การจะดูหนังหรือซีรีส์ดี ๆ สักเรื่องง่ายขึ้นมาก นับตั้งแต่มีบริการสตรีมมิงเข้ามา อย่าง Netflix, HBO GO, Disney+ เป็นต้น ผลงานดีจากทั่วทุกมุมโลกก็มาอยู่บนมือคุณได้ อย่างที่บงจุนโฮ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลลูกโลกทอง เคยพูดไว้ใจความว่า “หากก้าวข้ามผ่านกำแพง 1 นิ้วที่ชื่อว่าซับไตเติ้ลได้ คุณก็จะพบกับหนังดีๆ อีกมาก” นั้นจึงคล้ายกับเป็นการรับไม้ต่อของบรรดาคนทำซับไตเติ้ล ที่ต้องโชว์ศักยภาพ
“ขึ้นชื่อว่าเป็นฟรีแลนซ์ก็จริง แต่มีสังกัด” อาจเป็นสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้มาก่อน ต้องตาเล่าว่า บรรดาแพลตฟอร์มเจ้าใหญ่ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีนักแปลเป็นของตัวเอง แต่ใช้วิธีการว่างจ้างบริษัทผู้ให้บริการด้านภาษาที่ไว้ใจในมาตรฐาน
จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่หากใครอยากร่วมงานกับบริษัทเหล่านี้ ก็ต้องผ่านการคัดเลือกจากบริษัทที่เป็นคู่ค้าเหล่านั้น
การคัดเลือกที่ว่าก็ใช่เป็นเพียงการสัมภาษณ์งานแบบทั่วๆ ไปนะ แต่นัดแปลต้องผ่านการทดสอบทางภาษา ทั้งภาษาต้นทาง ภาษาปลายทาง ไปจนถึงการสอบคู่มือของบริษัทนั้น ๆ เพราะแต่ละแห่งก็จะมีรายละเอียดการทำงานที่ต่างกันก็ออกไป จำลองเหมือนสอบปลายภาคภาษาอังกฤษดีๆ นี่เอง
“พอสอบผ่านก็ไม่ได้เริ่มต้นทำเลย แต่ต้องผ่านการเทรนก่อน บางคนเป็นปี” ทั้งหมดก็เพื่อให้เข้าใจหน้าที่ทั้งหมดของนักแปล ที่ไม่ได้มีเพียงการทำซับไตเติ้ล แต่ยังรวมไปถึงการตรวจทาน และทำหน้าที่ควบคุม timing ภาพ เสียง คำแปล ให้สอดคล้องกัน
“ตัวอักษรที่ขึ้นมาควรอยู่ข้างบน หรือข้างล่าง อย่างในจอมีป้ายเราก็ไม่อยากให้บังสิ่งเหล่านั้น เช่นชื่อร้านซับก็ควรอยู่ข้างล่าง ถ้าเป็นทะเบียนรถเราก็ต้องเอาซับไว้ข้างบน”
ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ก่อนเริ่มงาน สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยอื่น นักแปลก็ต้องศึกษาคู่มือของแพลตฟอร์มก่อนทุกครั้งที่จะแปลอีกด้วย
ใครมีความสามารถสอบผ่านในหลายบริษัทผู้ให้บริการภาษา ก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการได้งาน แต่ท้ายสุดก็ต้องคิดถึงตารางเวลาทำไหว ไม่กระทบต่องานอื่นเป็นพอ
สั้น กระชับ ครบถ้วน
“35 ตัวอักษรต่อบรรทัด 7 วิ ในหนึ่งซับ” ถือเป็นข้อกำหนดของหลายบริษัทที่คนทำซับไตเติ้ลรู้กัน ต้องตาเล่าย้อนไปว่า ด้วยผันตัวมาจากนักแปลหนังสือจึงทำให้ต้องปรับตัวอยู่มากในช่วงแรก จากเดิมที่ต้องเก็บทุกเม็ด เคารพต้นฉบับสุดๆ ก็ต้องแปลให้ครบถ้วนแต่กระชับ
ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ผ่านการศึกษาโดยผู้ให้บริการ เพื่อประเมินปริมาณที่ผู้อ่านจะอ่านไหวใน 1 ซับไตเติ้ล
ความหมายของ 1 ซับไตเติ้ล พูดให้เข้าใจง่าย ก็คือ 1 ประโยคที่แว็บขึ้นมาผ่านตานั่นเอง
โดยภาษาไทยก็มีข้อจำกัด ที่คนแปลท่านที่มีความสามารถเรื่องซอฟต์แวร์ และเชี่ยวชาญด้านภาษา เห็นอุปสรรคของสระบน และสระล่าง ซึ่งหากนับรวมก็อาจไม่สามารถแแปลได้ครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนด จึงได้มีการดีเบตกับทางบริษัทเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ประเด็นหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจไปควบคู่กัน คือ “อาชีพนี้มันคือ localization ไม่ใช่ translator” นักแปลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้าถึงภาษาและวัฒนธรรม นั่นจึงทำให้คำนี้เมื่อไปอยู่ในหลากวงการ ความหมายก็จะต่างไปด้วย
อย่างตามคู่มือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีวางจำหน่ายในหลายประเทศ การสื่อสารเพื่อให้คนใช้งานอย่างถูกต้อง หลายครั้งก็ต้องอาศัยความเข้าใจพื้นฐานของประเทศนั้นๆ
เช่นเดียวกับภาพยนตร์ หรือซีรีส์ ที่ต้องใช้การเล่าเรื่องตามบริบทของสังคมนั้นจะเข้าใจ เป็นที่มาของการดึงศัพท์สำนวนมาใช้ จนชวนสงสัยว่าตัวละครเหล่านั้นพูดสิ่งนี้จริงหรือ
โอกาสควรมาพร้อมความแฟร์
สำหรับรายได้ของนักแปลซับไตเติ้ล คงต้องบอกว่ามากน้อยขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการทางภาษาแต่ละเจ้า รวมถึงเครดิตผลงานที่ผ่านมาของนักแปลคนนั้นด้วย “บางแห่งจ่ายในราคาตามความสามารถ สอบเข้าไปคะแนนผ่านเฉียดๆ ก็เริ่มต้น 1 เหรียญต่อนาที คิดเป็นเงินไทยราว 33 บาท มากหน่อย 1.3-1.5 เหรียญ ก็ 34-35 บาท”
“ถ้าซีรีส์ตอนหนึ่งมี 40 นาที ก็อาจจะได้อย่างต่ำ 1,200 – 1,300 บาทต่อตอน น้อยมากนะคะ”
แต่เมื่อมีผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ไปอีกสักหน่อย ก็สามารถขยับค่าแปลเพิ่มขึ้นได้ตามการต่อรอง “อาจได้ราว 3-4 เหรียญต่อนาที” เป็นไงไทย 100-130 บาทโดยประมาณ
ต้องตา เล่าว่า มีหลายบริษัทใช้ระบบการจ่ายค่าแปลเท่ากันทุกคน แต่ก็มีที่ “ใช้ปริมาณซับรวมถึงเวลา” พิจารณา ถ้าเรื่องไหนมีบทพูดเยอะก็จะได้เงินมากกว่า
“ถ้าเริ่มที่ 1.5 เหรียญต่อนาที น้อยนะแต่ไม่แย่ ทนเอาหน่อยแล้วพอผลงานเราดี ก็ขอขยับราคาขึ้น มันต่อรองกันได้ ช่วงแรกเขาก็ไม่รู้ว่าเราจะทำงานให้เขาดีแค่ไหน”
นี่เป็นคำแนะนำจากต้องตาสำหรับน้องๆ นักแปลมือใหม่ที่อาจยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี
จนถึงทุกวันนี้ ต้องตาเอง เปิดเผยว่า ได้รับรายได้อยู่ที่ 3-6 เหรียญต่อนาที (100-200 บาท) เท่ากับว่าถ้าเดือนไหนขยันหน่อยก็จะมีรายได้หลักแสนทีเดียว “อย่าท้อถ้าคิดจะทำตั้งใจทำให้เต็มที่ตั้งใจคว้าทุกโอกาส แต่ต้องแฟร์กับเรา”
‘แฟร์’ เป็นคำที่ต้องตาย้ำอยู่หลายครั้ง ด้วยเหตุผลที่อยากสื่อสารถึงนักแปลรุ่นใหม่ ที่ยังถูกเอาเปรียบจากระบบการจ้างที่ไม่ถูกต้อง “เริ่มต้นให้ถูก คนเราจะเป็นนักแปลผีตลอดไปไม่ได้”
ที่ผ่านมาในโลกออนไลน์ นักแปลหลายคนที่บ่นถึงค่าตอบแทนของตนเอง ด้วยไม่ทราบถึงราคากลางที่ควรจะเป็น สืบเนื่องจากการรับงานมาอีกต่อหนึ่ง ส่งผลให้ได้ค่าตอบแทนที่ต่ำ
“เป็นนักแปลผีมันได้เงินน้อยมาก แล้วผลงานเหล่านั้นไม่ใช่ชื่อคุณ ไม่อยากให้รับแบบนั้น อยากให้สมัครกับบริษัทจริงๆ มากกว่า เราได้ผลงานเพื่อเป็นประวัติให้เราไปที่ที่ใหญ่กว่านี้ได้”
“ราคาปล่อยบางครั้งได้นาทีละ 10 บาท ทั้งเรื่องได้ 800-1,200 ไม่ได้นะ ทั้งที่จริงๆ เรื่องนึงอาจได้ถึง 6,000 บาท”
ขั้นตอนการแปลงาน
- พิจารณาการรับงาน
ผู้ประสานงานพูดคุยกับนักแปลโดยตรง ส่วนใหญ่ประเมินจากความถนัดของคนนั้น ๆ รวมถึงตารางงานของนักแปล “เราต้องพิจารณาว่าเราว่างหรือไม่ และแปลได้หรือไม่”
- การแปลงาน
บริษัทจะทำการส่งไฟล์เข้ามาในระบบบัญชีของนักแปล ทั้งหมด “เป็นการแปลออนไลน์ ไม่มีการเซฟไฟล์เข้าเครื่องเลย”
หัวใจสำคัญที่สุดของงาน คือ ขั้นตอนการค้นคว้าข้อมูล รวมไปถึงสรุปเรื่องโดยย่อ เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดก่อนที่จะเริ่มดู “เทคนิคแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นต้องจะดูหนังไปสัก 100 ซับ แล้วค่อยเริ่มแปล”
ขั้นตอนนี้ก็จะทำให้นักแปลเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวละคร เพื่อให้สามารถเลือกใช้ระดับภาษาที่เหมาะสม ทั้งสรรพนาม คำศัพท์เฉพาะต่างๆ
อย่างที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่อง Lucy in the Sky ที่เกี่ยวกับชีวิตจริงของผู้หญิงที่ได้เป็นนักบินอวกาศ NASA ต้องตาจำเป็นต้องอธิบายถึงอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งในเรื่อง แต่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ตามหนังสือหรือออนไลน์ ก็จำเป็นต้องติดต่อไปยังคนที่ทำงานใน NASA จริงให้ช่วยอธิบาย โดยผ่านการขออนุญาตของบริษัทเจ้าต้นทาง ด้วยต้องป้องกันโอกาสที่เนื้อหาจะหลุดออกไป
“คุณจะเป็นนักแปลที่ดีได้ ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษดี ภาษาไทยดี คุณต้องเป็นนักค้นคว้าที่ดี”
- มือสุดท้ายของการแปล
ขั้นตอนนี้จะส่งไปยัง “ผู้ตรวจ” ที่จะดูว่าแปลผิดหรือไม่ สะกดถูกต้องรึเปล่า อ่านแล้วแปร่ง ๆ หรือไม่ ซึ่งคนแปลก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าผิดจริงไหม ซึ่งสามารถโต้แย้งผ่านระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานได้เลย “ถ้าเราไม่ผิดก็กดไม่ยอมรับได้ แต่หากผิดจริงเลือกยอมรับ”
“คนตรวจเวลาตรวจ จะมีช่องให้ติ๊กว่าความผิดคืออะไร ระดับไหน ซีเรียสแค่ไหน อย่างไม่ได้แปลผิดแค่จะแนะนำ จะรับหรือไม่รับไม่เป็นไร”
สำหรับความผิดแต่ละระดับนั้น ท้ายสุดก็จะส่งผลต่อโอกาสในการได้รับงานในอนาคต ด้วยหลายบริษัทมีระบบการจัดอันดับนักแปลตามผลงาน “ถ้าเป็นนักแปลชั้นดี ก็จะได้งานที่ดูเด่น สร้างชื่อได้ ส่วนลำดับอื่น ๆ ก็จะได้งานที่ลดความสำคัญลงไป”
“ยิ่งคุณทำงานดี รับผิดชอบดี ผลงานออกมาไม่ถูกลูกค้าปฏิเสธ ก็จะถูกป้อนงานเรื่อยๆ”
ต้องตา อธิบายว่า ผู้ตรวจถือเป็นมือสุดท้ายของขั้นตอนการแปล ต้องดูการสะกดของชื่อตัวละครว่าต่อเนื่องกันหรือไม่ หลายครั้งเป็นการแปลซีรีส์ที่มีหลายซีซั่น ซึ่งฉายห่างกันเป็นปีๆ ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีหลงลืมกันบ้าง รวมถึงสรรพนามที่คลาดเคลื่อนไป โดยจะมีบัญชีลิสต์คำต่อเนื่องเหล่านี้ เป็นตัวช่วยพิเศษให้การทำงานราบรื่น
อย่างซีรีส์เรื่อง Dickinson ที่เล่าถึงชีวประวัติของกวีชื่อดังของอเมริกา ซึ่งต้องตารับหน้าที่นักแปลในทุกซีซั่น ก็จำเป็นต้องใช้บัญชีลิสต์คำเหล่านั้น เพื่อความต่อเนื่องของการสะกดคำให้เหมือนกัน
“โดยส่วนใหญ่ซีรีส์หนึ่งเรื่องจะใช้นักแปลแค่คนเดียว ถ้าเป็นไปได้คนตรวจและมือสุดท้ายก็เป็นทีมเดียวกันแต่ต้น”
เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนการทำงาน ก่อนส่งต่อไปยังผู้ที่รับหน้าที่จัดการไฟล์ ให้สามารถเผยแพร่สู่สายตาคนชม แต่หากมีการตัดต่อใหม่ ซับไตเติ้ลก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
ชีวิตนักแปลไม่ได้ง่าย
กลัว AI มาแย่งงานไหม? นับว่าเป็นคำถามยอดฮิตที่นักแปลต้องโดนสักครั้ง ด้วยปัจจุบัน ‘ซอฟต์แวร์การแปล’ ของหลายบริษัทมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด จนต้องตาเองก็ออกปากว่า “ควรกลัวค่ะ”
จากประสบการณ์ทำงานตรงของต้องตา ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับหลากหลายซอฟต์แวร์ที่เข้ามาช่วยให้นักแปลทำงานได้เร็วขึ้น แม้ส่วนใหญ่แล้วยังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ แต่ในบางซอฟต์แวร์ก็ “แปลธรรมชาติจนน่าขนลุก”
“มันมีซอฟต์แวร์ที่เราไม่รู้ว่าเขาซื้อจากที่ไหน ชื่ออะไร แปลมีผิดพลาดบ้าง แต่มันเรียนรู้จากสิ่งที่เราแปลไป เช่น นักแปลคนนี้แปลประโยคนี้ไว้ยังไง มันจำเป็นวลี เป็นคำ ซึ่งนักแปลแต่ละคน แปลอะไรไปเยอะมาก มันจำทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่คำด่า”
จนในหลายครั้งต้องตาถึงกับต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “แก้ตรงไหนวะ” “มันจะฉลาดเว่อร์เกินไปแล้วมั้ย”
“มันฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ฉลาดระหว่างที่เราทำงาน อย่างการสะกดชื่อตอนแรกมันไม่ได้สะกดตามเรา ทำไปสักพักรู้สะกดได้เลย จำสรรพนามด้วยซ้ำ อย่างหนังพีเรียต ที่ใช้ข้ากับเจ้า ภาษาอังกฤษมี ไอ กับ ยู แค่นั้น ตอนแรกมันแปลแค่ฉันเธอ พอสักพักเราไปเปลี่ยนเป็นข้ากับเจ้าไปเรื่อยๆ มันเข้าใจแล้วเสนอมาให้เลย”
แต่ก็นั่นแหละ ยังไม่ใช่ทุกซอฟต์แวร์ที่สามารถทำได้เช่นนี้ ทุกวันนี้การทำซับไตเติ้ลยังคงต้องพึ่งพานักแปลเป็นหลัก ซึ่งผลงานที่ดีต่างต้องแลกมาด้วยความตั้งใจ รวมถึงเวลา จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ
“เราทำงานตลอดเวลา จนนี่มันวันไหนแล้ว ปีไหนแล้ว จะปีใหม่อีกแล้วเหรอ จะวันศุกร์อีกแล้วเหรอ นาฬิกาชีวิตเราเสียจากการที่คุมเวลาทำงานไม่ได้ ส่วนนึงเป็นเพราะเดดไลน์ที่ให้มาเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เรื่องนี้ส่งตี 3 เรื่องนี้ 7 โมงเช้า เรื่องนี้ตี 1 แต่เวลานอนมันไม่เป็นเวลา จนถึงจุดหนึ่งที่เรานอนไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็ตื่น ร่างกายไม่เข้าใจว่าต้องนอนตอนไหน จนมันคงคิดว่าไม่นอนดีกว่า”
“ใครที่สนใจอาชีพนี้ก็อยากให้บริหารเวลาชีวิตให้ดี ถนอมร่างกายบ้าง ตอนอายุยังน้อยอาจไม่ค่อยรู้สึก แต่เมื่อเริ่มเข้าหลักสี่อาการอาจเริ่มมา”
ยังอยากจะดูหนังก่อนใครอีกไหม? ไม่ว่าท้ายที่สุดคุณจะเลือกดูก่อนผ่านจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ หรือรอดูทีหลังพร้อมหลบสปอยล์กันเป็นพัลวัล แต่หวังว่าในอนาคตคุณจะลองให้โอกาสตัวเองรู้จักเพื่อนใหม่ผ่าน 5 วินาทีสุดท้าย เพราะไม่แน่เพื่อนคนนั้นอาจพาคุณไปท่องโลกหนัง หรือซีรีส์ดีๆ อีกก็เป็นได้