สุขภาพ การเรียน เรื่องหัวใจ ความฝัน เป้าหมายในชีวิต หน้าที่การงาน งานอดิเรก ของสะสม อาหารจานโปรด ที่ท่องเที่ยวที่อยากไป ซีรีส์น่าดู เพลงที่ฟังประจำ ฯลฯ
มีหัวข้อมากมายที่เราสามารถคุยกับคนในครอบครัวได้ในชีวิตประจำวัน แต่เหตุใดเรื่อง ‘ความตาย’ จึงไม่ถูกนับรวมอยู่ในนั้น
..บ้างว่า เพราะนี่เป็นเรื่องอัปมงคล ยกมาคุย เท่ากับแช่งให้ตายไวๆ
..บ้างว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องคุย ทุกคนยังดูแข็งแรงอยู่ ไม่น่าจะตายในเร็วๆ นี้
..บ้างว่า อยากจะคุยเรื่องมรดกมากกว่าหรือเปล่า ยังไม่มีให้หรอกนะ
หากพิจารณาดูดีๆ เหตุผลที่เราไม่ค่อยคุยเรื่องความตายกันในบ้าน จำนวนมากเป็นเรื่องราวส่วนบุคคล ทั้งที่มีคำอธิบายในทางสังคมว่า เป็นเพราะความตายถูกทำให้ ‘แยกส่วน’ จากผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่
อ.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมทำงานวิจัย ‘การตายในเมือง’ และเป็นผู้สอนวิชาเข้าใจความตายทางสังคมวิทยาให้กับนิสิตมาแล้วนับสิบปี บอกกับ The MATTER ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็น ‘ปรากฏการณ์ร่วม’ ของคนทั้งโลก
ทั้งๆ ที่ความตาย สามารถสนทนาได้ในชีวิตประจำวัน (เพียงแต่อาจต้องออกแบบวิธีคุยนิดหน่อย) โดยไม่ต้องรอให้ถึง ‘วาระท้ายของชีวิต’
ไม่เพียงเท่านั้น บทสนทนาความตายยังไม่ใช่แค่เรื่องของการเสียชีวิต การพลัดพราก โลกหลังความตาย เรื่องราวทางจิตวิญญาณ ฯลฯ
แต่ยังเกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆ ในชีวิตของคนที่ยังอยู่ และไม่น่าจะเผชิญกับตายในเร็วๆ นี้
The MATTER ชวน อ.ภาวิกา สนทนาเรื่องความตายในหลากหลายมิติ ทั้งการตายตามธรรมชาติ จากโรคภัยไข้เจ็บ จากอุบัติเหตุ ไปจนถึงการประเด็นที่หลายๆ คนพูดถึงอยู่ในปัจจุบัน คือสิทธิในการตาย ทั้ง living will หรือกระทั่ง euthanasia
‘ความตาย’ เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตพวกเราบ้าง
และเหตุใดจึงควรหาโอกาสสนทนากันตั้งแต่วันนี้
ชวนอ่านได้ตั้งแต่บรรทัดถัดไป
ทำไมประเด็นเรื่อง ‘ความตาย’ ถึงไม่เป็นหัวข้อสนทนาในชีวิตประจำวัน
อันนี้น่าจะเป็นปรากฎการณ์ทั้งโลกก็ว่าได้ ประเด็นแรก คือการที่ความตายถูกแยกส่วนออกจากชีวิต ซึ่งมันเป็นปรากฎการณ์ของสังคมสมัยใหม่ นึกออกไหมว่า เป้าหมายในการก้าวไปข้างหน้าของสังคมมนุษย์ คือทำให้สิ่งแวดล้อมในการอยู่มันดีขึ้น
ถ้ามองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาทั้งหมด ก็เพราะเรากลัวตาย และต้องการจะอยู่ให้ดีขึ้นทั้งนั้น โดยเฉพาะยิ่งสังคมที่มีความเจริญทางกายภาพ เจริญทางวัตถุ สังคมที่มีความเป็นบริโภคนิยม ทุนนิยมสูงๆ เส้นแบ่งระหว่างความตายกับชีวิตก็จะยิ่งห่าง
ในอดีต สมมุติเรามองกลับมายังสังคมไทย คือเป็นสังคมเกษตรกรรม สังคมที่มีครอบครัวขยาย การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกอย่างมันเห็นในปริมณฑลของครอบครัวหมด แต่พอสังคมไปข้างหน้า ลูกหลานถูกดึงออกไปทำงาน ฉะนั้นความตายมันก็เลยไกลออกไปเรื่อยๆ
ประเด็นที่สอง อาจจะอยู่ที่เรื่องของพัฒนาการของระบบการแพทย์-สาธารณสุขที่เจริญขึ้นมาก การแพทย์ก็เป็นตัวที่บอกเราว่า ชีวิตมนุษย์จริงๆ เราจัดการได้ทุกอย่างเลยเนอะ เราสามารถจัดการสิ่งที่ในอดีตเราจัดการไม่ได้ ปัญหาของอนาคต เราจัดการได้หมด ฉะนั้นมันก็มีความน่าจะเป็น หรือมีความชอบธรรมมากพอที่จะเชื่อว่า ปัญหาที่เราจัดการไม่ได้ในปัจจุบัน ในอนาคตก็จะจัดการได้ ซึ่งความตายก็เป็นหนึ่งในนั้น
แล้วอย่าลืมว่า แรงเหวี่ยงของสังคมปัจจุบันมันเร็วมาก เคยรู้สึกไหมล่ะว่า วันๆ หนึ่งมันมีเรื่องให้เราทำเยอะมาก เราไม่มีเวลาให้นึกถึงเรื่องตาย ยิ่งเรามีเป้าหมายในชีวิตที่ยังไม่จบ ยังไม่หมด เราก็จะมีความรู้สึกว่า เรายังไม่พร้อมที่จะตาย เมื่อไรที่เกิดความตายมันจึงเป็นเรื่องที่แย่มาก
ส่วนอีกประเด็น เนื่องจากความตายมันคือการพลัดพราก มันคือการลาจากกันเป็นนิรันดร์ ไม่มีใครอยากจะโอบรัด หรือมีความรู้สึกที่ดีกับความตายมากนัก
สิ่งเหล่านี้เป็นทั่วโลกไม่ใช่แค่สังคมไทย
ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย มันเป็นปรากฎการณ์ที่เราเห็นทั่วโลกจริงๆ
ค่านิยมหรือวัฒนธรรมของสังคม ไม่ได้เป็นปัจจัยขนาดนั้นในการทำให้ความตายไม่ถูกพูดถึงมากนักในสังคมไทย
อันนี้เป็นคำถามที่ดี แปลว่าท้ายที่สุดคือมันมีตัวแปรทางวัฒนธรรมไหม แน่ล่ะว่าสังคมสมัยใหม่แทบจะเป็นทั้งโลกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าระดับความเป็นสมัยใหม่จะมากหรือน้อย ก็ต้องมาดูว่าจะวัดด้วยเกณฑ์อะไร พอถามถึงความเฉพาะเจาะจงในสังคมไทย คนในแต่ละเจเนอเรชั่นอาจจะมองไม่เหมือนกัน อะไรหล่ะที่คิดว่า ในเจนฯ เรา นี่แหละคือความเฉพาะเจาะจงที่เป็นอุปสรรคเฉพาะเจาะจงในการพูดถึงความตาย ลองแชร์กันก็ได้ เพื่อจะคิดคนละแบบ
เช่น คุยเรื่องตายเท่ากับแช่ง
อันนี้ก็เป็นมานาน ถ้าย้อนกลับไปยุคปู่ย่าตายาย เขาก็รู้สึกแบบนั้น คือความตายเป็นเรื่องอัปมงคล เพียงแต่อัปมงคลในที่นี่จะไปอยู่ในเซนส์ของผีสาง ฉะนั้น สำหรับคนไทยถ้าเราไปอ่านหนังสือคลาสสิก เรื่องประเพณี(เก่าของไทย) ของเสฐียรโกเศศ เราก็จะรู้ว่าคนไทยจัดการความตาย บางทีเป็นการจัดการเพื่อไม่ให้วิญญาณกลับมาให้โทษกับผู้อยู่ คือมันมีเซนส์ลักษณะนี้อยู่ เป็นเรื่องภูติผีวิญญาณ ที่เป็นความเชื่อในระดับวัฒนธรรม
แต่คิดว่า จริงๆ แล้ว เรื่อง “โลกหลังความตาย” “ตายแล้วไปไหน” เนื่องจากมันไม่มีใครรู้แน่ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ฉะนั้นทุกคนก็อาจจะกลัวไว้ก่อน
ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา
เป็นเรื่องที่เป็นปรากฎการณ์ที่มองเห็นได้ทั่วไป
ช่วงหลังในหมู่คนรุ่นใหม่ ดูเหมือนมีเทรนด์เรื่องการจัดการความตายแบบใหม่ๆ งานศพต้องอย่าเศร้านะ ต้องใช้ playlist แบบนี้ๆ มันแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่คุยเรื่องความตายมากขึ้น หรือเป็นเพียงกิมมิกของยุคสมัยเฉยๆ
ถ้าเรามองว่าสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเดี๋ยวก็จะมีกิมมิกแบบนี้เกิดขึ้นอีกเยอะแยะแหละ แต่มันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าคนอาจจะต้องการ ‘ทางเลือกใหม่’ คือมันไม่ใช่มีแบบเดียว สังคมมันเปลี่ยน เหมือนรูปร่างเราเปลี่ยน รูปร่างเราขยาย จะให้ใส่เสื้อตัวเดิมก็คงจะไม่ใช่
แต่ถ้าถามว่าสิ่งนั้นจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน คือโดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่า ถ้าเป็นสิ่งที่อยู่ในขอบเขตที่ไม่กระทบกับสังคม ก็สามารถทำได้ในรูปแบบที่เขารู้สึกพึงพอใจ หรือรู้สึกว่ามันดีสำหรับเขา โลกสมัยนี้เรายอมรับความแตกต่างนี้ได้มากขึ้นมาก เราไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก แต่ในสังคมไทยจะมีบริบทเรื่องของ ‘สถานที่’ ถ้าเราไปจัดงานปาร์ตี้เฮฮาในพื้นที่วัด มันก็อาจจะมีความรู้สึกที่ประหลาด
แปลว่ามันก็ยังมีคอนเซปต์ทางวัฒนธรรมครอบอยู่
ถูกต้องๆ
อย่างที่อาจารย์เล่ามาว่า ในยุคสมัยใหม่ ความตายถูกทำให้ไกลตัว และมีวัฒนธรรมครอบอยู่อีกชั้น แต่สมมุติถ้าเราอยากเปิดบทสนทนานี้กับครอบครัว คุยเรื่องความตายกับพ่อแม่ คิดว่ามันควรจะมีทางเข้าแบบไหน
บทสนทนาความตาย บางครั้งมันไม่ใช่บทสนทนาตรงๆ เราอาจจะไปกังวลว่า เราจะเริ่มบทสนทนาอย่างจริงจังยังไง แต่พอเรามองรอบๆ ก็อาจจะพบว่า บทสนทนาเหล่านี้ มันเกิดในเรื่องราวอย่างอื่น
ยกตัวอย่างคุณย่าของอาจารย์ ก็ไม่เคยพูดตรงๆ ว่า ถ้าถึงภาวะวิกฤตหรือเข้าวาระท้ายจะให้ทำอย่างไร วันหนึ่งต้องเข้าโรงพยาบาล แล้วอยู่ในสภาวะที่สติไม่รับรู้ ลูกหลานก็คิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่เราจำได้ว่าสมัยย่าไม่ป่วยหนัก ก็เคยพูดไว้เบาๆ ว่า “ถ้ามันทรมานมาก ก็ตายดีกว่า” จริงๆ มันก็เป็นบทสนทนาที่บอกเราได้เหมือนกัน
เป้าหมายของการสนทนาเรื่องความตายในครอบครัว ส่วนใหญ่ก็เพื่อเตรียมการ ถูกไหมคะ เราอยากจะรู้ว่าพ่อแม่เราคิดยังไง แล้วเราควรทำยังไง ก็เพื่อเตรียมการ จริงๆ ก็อาจจะใช้สถานะการณ์ทางอ้อมมาช่วยได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะต้องคุยกันจริงๆ ก็แนะนำให้คุยกันตั้งแต่ยังไม่ป่วย เพราะว่าเวลาเราคุยตอนที่ความเจ็บป่วยยังไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็มีข้อดีคือทุกคนยังไม่รู้สึกว่า ‘ถูกคุกคาม’ อาจจะยกตัวอย่าง กรณีอะไรที่สามารถทำให้เทียบเคียงประสบการณ์
สิ่งเหล่านั้นต้องผ่านการออกแบบ เหมือนที่อาจารย์ว่า บางอย่างไม่ได้ตรงไปตรงมา
ใช่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ แบบ ไปถามเขาว่า “จะตายแล้วจะให้ทำยังไง” มันก็มีบทสนทนาหลายอย่างที่นำเราไป เช่น เวลาเขาพูดถึงความเจ็บป่วยของเขา หรือเวลาเราเห็นเหตุการณ์ในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขี้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวก็ง่ายมากเลยที่จะคุย คุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นฝ่ายเปิดบทสนทนากับเราเองด้วยซ้ำ ไม่ใช่เราเองที่ต้องเปิด มันจึงมีความหลากหลายมาก
ทราบว่าที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีสอนวิชาที่ว่าด้วย ‘ความตาย’ ด้วย วิชานี้มีที่มาอย่างไร แล้วจะได้เรียนอะไรบ้าง
เราเชื่อว่าการขับเคลื่อนวงการวิชาการเรื่องความตาย มันเป็นอีกกลไกหนึ่งในสังคมที่จะช่วยทำให้เกิดสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญต่อการเตรียมตัวตายสำหรับทุกคนในอนาคต นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘แนวทางการมองความตายอย่างเป็นมิตร’ คือทำให้รู้จักก่อนที่มันจะมาถึงตัว ซึ่งการทำความเข้าใจความตาย มันต้องอาศัยสหสาขาวิชา หมายความว่ามันต้องมีความร่วมไม้ร่วมมือในเชิงวิชาต่างๆ ค่อนข้างมาก
เวลาเราพูดถึงความตายในปัจจุบัน สังเกตไหมคะว่าเรามีชุดคำอธิบายหลักๆ อยู่ไม่กี่ชุด ชุดแรกคือเรื่องศาสนาเลย ถูกไหม ตายดี-ไม่ดี ทำอะไรมา ตายแล้วจะไปไหน หรือพิธีกรรมจะจัดยังไง อีกชุด คือความรู้ทางการแพทย์ ซึ่งก็จะว่ากันด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ขั้นตอนนี้จะรักษายังไง เราจะตายเมื่อไร แล้วเรามีโอกาสที่จะไม่ตายไหม
แต่จริงๆ แล้ว ยังมีความรู้เกี่ยวกับความตายอีกเยอะ ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ วรรณคดี หรือแม้แต่โบราณคดี ก็เป็นวิชาที่ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับความตาย เพียงแต่มันไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนกัน มันควรจะเป็นสิ่งที่ควรจะมาประกอบกันเพื่อให้เห็นพัฒนาการทั้งทางความคิดและโลกทัศน์เกี่ยวกับความตายว่า เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากน้อยแค่ไหน การประกอบกันของหลายๆ ศาสตร์ ยังจะช่วยให้เราเห็นภาพของความตายทุกๆ ภาพที่มันสมเหตุสมผล และไม่ได้อยู่มุมใดมุมเดียว
วิชาความตายที่สอน จะพยายามจะให้นิสิตทั่วๆ ไป รับรู้สหวิชาว่าด้วย 1.ความตาย 2.การตาย และ 3.การจัดการหลังความตาย คือเราตีเรื่องนี้ให้ออกมาเป็น 3 มิติใหญ่ๆ
‘การตาย’ ก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งโดยสมมุติฐาน มันไม่เหมือนกับความตาย การตายมันเห็นกระบวนการ เห็นช่วงเวลา เห็นจุดเริ่มต้นและก็อาจจะเห็นจุดสิ้นสุด และมันก็เป็นเรื่องของคนที่กำลังตาย และก็เป็นเรื่องของสังคม ส่วน ‘ความตาย’ มันเป็นเรื่องที่จบแล้ว ซึ่งมันจะไม่ใช่เรื่องของคนที่ตายไปแล้ว แต่มันจะเป็นเรื่องของคนอยู่ ส่วนเรื่องสุดท้าย มันเป็นเรื่องที่คณะ โดยเฉพาะตัวอาจารย์คิดว่าสำคัญมากๆ ก็คือ ‘การจัดการหลังความตาย’ เราจะทำยังไงกับ ..ทั้งศพ ทั้งวิชาการจัดการ ซึ่งมันจะต้องสอดคล้องไปกับสภาพสังคมสมัยใหม่เยอะไปหมดเลย
เพราะฉะนั้นองค์ความรู้ทางสังคมวิทยาเนี่ยคะ เราจึงหวังว่ามันจะเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยให้เราเข้าใจความตายจากมุมที่หลากหลาย และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ เช่น
- ด้านรัฐศาสตร์ จะมีผลในการพูดถึงนโยบาย หรือกลไกเชิงอำนาจ หรือบางข้อถกเถียงที่มันเกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ เรื่องสิทธิ ความชอบธรรม
- ด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม บางทีเขาก็ศึกษาเรื่อง death anxiety มันไปส่งผลต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นยังไง ทั้งพฤติกรรมการบริโภค การออม การเลือกที่อยู่อาศัย ฯลฯ
- ด้านสถาปัตยกรรม เรื่องการออกแบบเมือง ผังเมือง เพราะมันจะแตะความเป็นสาธารณะสูงมาก ปัจจุบันเรามีการพูดถึง mixed use ของสุสาน การทำให้เมืองมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือการออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการอยู่ดี-ตายดี
- ด้านนิเทศศาสตร์ จะสื่อสารความตายต่อสาธารณะยังไง ให้มันเกิด awareness แต่ไม่ชี้นำสังคมเกิดไป เพราะเรื่องความตายมันมีบางเรื่องที่หมิ่นเหม่ทางจริยธรรม
- ด้านวิทยาศาสตร์-วิศวกรรมศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีการจัดการศพ หรือการย่อยสลายศพ ซึ่งปัจจุบันเวลาพูดถึงการจัดการกับร่างผู้เสียชีวิต เราอาจจะไม่ได้นึกถึงการนำไปเผาหรือฝัง แต่จะทำอย่างไรห้การจากไปของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อันนี้จะเป็นแนวความคิดต่างๆ เรื่องของความตาย ความเป็นสังคมวิทยาในเรื่องของความตายจะอยู่ที่ว่า เราไม่ได้มองมันเป็น ‘ประสบการณ์ส่วนตัว’ เป็นปัญหาของคุณๆ ก็ไปแก้สิ แต่จะพยายามมองเรื่องความตายโดยสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ สัมพันธ์กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก กับวัฒนธรรม กับสิ่งที่อาจจะไม่ใช่คน
เท่าที่ฟังอาจารย์เล่ามา วิชาเรื่องความตายจึงไม่ได้ว่าด้วยเรื่องแค่ ตายยังไง ตายแล้วไปไหน แต่ดูแง่มุมและปัจจัยต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่รอบตัวเราด้วย
สังคมวิทยาพยายามสร้างความรู้พื้นฐาน (basic knowledge) เกี่ยวกับความตายให้มันรอบมากขึ้น เพราะเรารู้มาหลายด้านแล้ว แต่ด้านที่ความตายมันสัมพันธ์กับสังคมอย่างไร และกำหนดชีวิตเราอย่างไร มันยังเป็นเรื่องที่ถูกละเลย เพราะเรื่องของชีวิตมันนำเรื่องของความตาย
แม้จะยังไม่ใช่สาขาที่เรียกว่าได้รับความนิยม เพราะอย่างที่เราคุยกันตอนแรก มันมีเรื่องของความเป็น taboo (เรื่องต้องห้าม) หรือยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่ามาแย่งซีนไป แต่ก็ยังรู้สึกว่าในท้ายที่สุดแล้ว มันจะเป็นตัวช่วยเสริมให้วิชาการสาขาอื่นๆ จะเอาความตายไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างรูปธรรมให้เป็นประโยชน์ ในการเตรียมตัวตาย หรือบอกทิศทางกับสังคมได้ว่า เราจะยังไงกันดี
ดังนั้นต่อให้เรียนวิชานี้ ก็อาจจะยังกลัวตาย หรือกลัวผี อย่างอาจารย์กลัวผีไหม
ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่อย่างนี้ อยู่ในที่ๆ มีไฟสว่าง อยู่ในที่ๆ มีคนอยู่ด้วย ก็ไม่กลัว แต่ถ้าอยู่บ้านคนเดียว จะกลัวไหม ก็อาจะมีบางแวบ แต่ถ้าไปอยู่คนเดียวในป่า หรือไปอยู่ในที่ๆ เราไม่ควรจะไปอยู่ อันนี้คงจะกลัวมาก ฉะนั้นจะเห็นว่า ถ้าอธิบายแบบสังคมวิทยา เรื่องความ ‘กลัวผี’ มันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของสังคมใช่หรือเปล่า
เราจะสังเกตได้เลยว่า สิ่งแวดล้อมทางสังคม มันจะเป็นตัวกำหนดจินตนาการของเรา แล้วจินตนาการนั่นแหละจะเป็นตัวกระตุ้นให้ความคิดของเราฟุ้งออกไป ทำให้บางคนกลัวผี เพราะในวัฒนธรรมไทยจะบอกเด็กๆ เสมอว่า ผีมีจริงนะ สมัยเด็กๆ หลายคนคงจะเคยถูกหลอก ฉะนั้นการกลัวผีจึงเป็นเรื่องทางสังคม
ฉะนั้น เราจึงแยกไม่ออก เพราะวัฒนธรรมหล่อหลอมเรามาเยอะ ทั้งวิธีที่เรากลัวตาย วิธีที่เรากลัวผี วิธีที่เรา..
มีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ
ใช่
อ.ภาวิกาไปร่วมทำงานวิจัย ‘การตายในเมือง’ มาด้วย โจทย์ของงานวิจัยนี้คืออะไร และมีข้อค้นพบอะไรบ้าง
การศึกษาเรื่องความตายในเมือง มันเป็นงานวิจัยที่เป็นชุดโครงการ เรื่องการตายเป็นส่วนสุดท้าย เขาก็เริ่มตั้งแต่การเกิด การใช้ชีวิต การเดินทาง การเลือกที่อยู่อาศัย การจับจ่ายใช้สอยซื้อของ การไร้บ้าน และมาจบที่เรื่องการตาย ฉะนั้นจริงๆ แล้ว สมมุติฐานของการตั้งงานแบบนี้ก็คือ ชีวิตกับความตายมันคือสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
ถ้าถามว่า งานวิจัยนี้เราได้ข้อค้นพบอะไร แน่นอนมันเป็นงานวิจัยที่เราพยายามใช้แนวความคิดแบบอนาคตศึกษา เราพยายามมองว่า “ถ้าเราจะรับมือกับความตายในอนาคต เราต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง” ก่อนจะหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
จริงๆ ความตายก็เกิดขึ้นทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะในเมือง แต่ท่าที่ศึกษาก็แยกความตายในเมืองออกได้เป็น 7 อย่าง
อย่างที่หนึ่ง ความตายที่เกิดจากโรค เป็นลักษณะของความตายในสังคมสมัยใหม่ และโรคในปัจจุบันจะมีหน้าตาที่แตกต่างไปจากในอดีต คือคนป่วยตายจากโรคก็มีมาตลอด เพียงแต่ลักษณะของโรคที่คร่าชีวิตคนในปัจจุบัน มันเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่แม้จะไม่ติดต่อแต่ก็รุนแรง เป็นโรคที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในระยะยาว การรับมือกับการเจ็บป่วยลักษณะนี้ มันก็คือระบบการแพทย์ที่ถูกสร้างขึ้นและพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่สังคมจะตอบสนองกับความตายลักษณะนี้คือรักษาให้ดีที่สุด
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เราเห็นการเจ็บป่วยแบบนี้ มันจะคล้ายๆ กับคำถามว่า คนในสังคมไทยตายยังไงกันบ้าง มีสถิติจากทั่วโลกว่า คนในสังคมปัจจุบันเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมากกว่าที่บ้าน การเสียชีวิตในโรงพยาบาลหมายความว่าอะไร หมายความว่า เราเข้าไปรับการรักษาอย่างเต็มที่ แม้โอกาสจะหายขาดอาจจะไม่มี ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นภาพที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ คือผู้ป่วยที่มีเครื่อง มีสาย มีโน่นนี่เต็มไปหมด ถามว่าถ้าเขาเลือกได้ เขาตอบเราได้ในเวลานั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนาสำหรับทุกคน
ฉะนั้นความตายที่เกิดจากการเจ็บป่วยของสังคมสมัยใหม่ มันจะมากับวิถีที่ suffering (ทุกข์ทรมาน) บางครั้งก็ตายอย่างโดดเดี่ยว เพราะต้องอยู่ในโรงพยาบาล อยู่ใน ICU ความตายในลักษณะนี้ สังคมจะรับมือด้วยการแพทย์ ฉะนั้นเราจะเห็นนโยบายที่เข้ามาจัดการ ในสังคมไทยก็จะเห็นเรื่องสิทธิการตายตามธรรมชาติ หรือ ม.12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่เรียกว่า living will คือการที่เราอาจจะแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าได้ว่า ถ้าต้องตาย เราไม่อยากจะได้อะไร ไม่อยากเจาะคอ ไม่อยากถูกปั๊มเพื่อให้มีลมหายใจอย่างเดียว ฉะนั้น ม.12 ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่า ปล่อยตายนะ ไม่ใช่ แต่เป็นการแสดงเจตนาถึงสถานการณ์ที่จะทำให้เราในเวลาสุดท้าย ที่ไม่มีโอกาสหายแล้ว เลือกว่าจะถูกปฏิบัติอย่างไร
อีกลักษณะหนึ่งของความตายจากโรค คือระบบที่เรียกว่าการแพทย์แบบประคับประคอง (palliative care) ซึ่งจะเป็นการแพทย์ที่เน้นการสร้างคุณภาพชีวิตในวาระท้ายให้กับผู้ป่วย แต่จะไม่ใช่การแพทย์ในการเข้ามาต่อสู้ให้หายจากโรค อีกระบบที่เข้ามาจัดการปัญหาของการตายด้วยโรคในสังคมสมัยใหม่ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า hospice care ซึ่งในสังคมไทยตอนนี้ก็อาจจะมี แต่ไม่ถูกเรียกว่าเป็นระบบโดยตรง มันคือคำเรียกทั้งระบบของการดูแลผู้ป่วยในวาระท้าย ทั้งหมดนี้คือถ้าเรามองความตายในก้อนที่หนึ่งในภาพรวม และจะเห็นว่ามีนโยบายบางอย่างมารองรับ
อย่างที่สอง คือความตายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ที่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอุบัติเหตุก็เป็นสาเหตุการตายลำดับต้นๆ ในสังคมไทยเรา แต่การตายด้วยอุบัติเหตุบางครั้งมันไม่ได้กระทบแค่เรา แต่ยังรวมถึงสาธารณะ เช่น ไฟใหม้ ตึกถล่ม ฯลฯ เมื่อเราแจกออกมาเป็นก้อนนี้ เราก็จะรู้สึกว่า เราไม่ได้ต้องการนโยบายที่รองรับความตายโดยตรง แต่เราต้องการนโยบายที่ช่วยปกป้องเราจากความเสี่ยงในการใช้ชีวิต นโยบายที่จะทำให้เราต้องตายโดยที่ไม่ควรตายจากเรื่องบางเรื่องที่ป้องกันได้
อย่างที่สาม คือความตายที่เกิดจากการถูกฆาตกรรม ก็อีกแหละ มันก็ไม่ใช่ความตายที่เป็นรูปแบบใหม่อะไร แต่ปัญหาฆาตกรรมมันซับซ้อนในการแก้ อาจจะต้องการกลไกที่ทำให้คุณภาพชีวิตในสังคมเรามันดีพอ เพื่อให้เขารู้สึกว่าชีวิตมันดีพอ ไม่ไปฆ่าคนอื่น หรือลักวิ่งชิงปล้น
อย่างที่สี่ การทำอัตวินิบาตกรรม หรือจบชีวิตตัวเอง ถ้าสมัยก่อน เวลาจะรณรงค์เรื่องฆ่าตัวตาย เราก็จะใช้ชุดคำอธิบายทางการแพทย์เข้ามาอธิบายว่า เนี่ยแหละมันเป็นโรค มีความผิดปกติทางจิต แต่ปัจจุบัน องค์ความรู้เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย มันถูกขยายขอบเขตไปจากเรื่องความผิดปกติทางจิตมากพอสมควร คือเราเริ่มเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้ว การที่คนคนหนึ่งตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง มันอาจจะเป็นทางเลือกสำหรับเขาก็ได้ มันอาจจะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงความรู้สึกว่า “เขาได้ตัดสินชีวิตเขาเอง” เขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่หมดหวังหรือสิ้นคิด แต่มันเป็นกระบวนการที่ไตร่ตรองมาแล้ว
แต่ประเด็นคือ อะไรที่นำคนมาสู่จุดที่เขาต้องตัดสินใจจบชีวิต เราก็อาจจะพบว่ามันมีอยู่ 2 สถานการณ์สำคัญ คือ 1.การหุนหันผลันแล่น หรือเราอาจจะไม่ได้คิดว่าจะทำให้ตัวเองตาย แต่มันกลับตายจริง และ 2.มีปัญหาทับถมอยู่ในจิตใจแล้วไม่มีทางออก เช่น ความรู้สึกไม่รู้ว่าอยู่ไปเพื่ออะไร มันอาจจะถูกทำให้เกิดความรู้สึกแบบนี้โดยสถานการณ์ทางสังคม รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีเพื่อน ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ฯลฯ ในทุกๆ สถานการณ์เลย มันไม่มีทางออก หรือจริงๆ แล้วมันอาจจะถูกทำให้เกิดโดยการเจ็บป่วยจริงๆ ก็ได้ เช่น คนที่เป็นโรคซึมเศร้า หรืออาการทางจิตเวชหลายอย่าง
ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ถ้าเรามองกันจริงๆ แล้ว ก้อนหลัง มันเป็นสิ่งที่เราอาจจะเยียวยา บรรเทา หรือดีที่สุดคือป้องกันได้ แต่อันนี้จะเห็นประเด็นทางวัฒนธรรมชัดเจนว่า สังคมไทยเราค่อนข้างมองการเจ็บป่วยทางจิต ห่างไกลจากความเป็นจริง แล้วเราก็จะปิดช่องทาง สมมุติว่าเราเจอคนหนึ่งป่วยด้วยโรคทางจิตกับอีกคนหนึ่งป่วยทางกาย คนที่มักจะเข้าถึงการรักษาก่อนคือคนที่ป่วยทางกาย แต่คนที่ป่วยทางจิต ยังมีช่องทางขอความช่วยเหลือหรือเข้ารับการรักษา มันยังมีน้อยอยู่
อย่างที่ห้า การตายโดยทางเลือก คือในยุคสมัยใหม่ คนร้องขอทางเลือกในการตายมากขึ้น ซึ่งมันมีหลากหลาย แต่คนมักจะนึกถึงการทำ euthanasia ซึ่งประเด็นนี้อยากจะพูดเป็นประเด็นต่างหาก
อย่างที่หก การตายทางสังคม หมายความว่าเรายังไม่ได้ตายจริงในทางกายภาพ แต่ถึงจะมีชีวิตอยู่แต่ก็ไม่ได้ถือว่ามีชีวิต ไม่มีใครนับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อาจจะหมายถึงผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ชีวิตทางสังคมได้ตามปกติ (เป็นผัก?) ใช่ ยังมีชีวิตตามปกติ แต่ไม่สามารถที่จะมีสังคม สื่อสาร ไปทำงาน ความตายในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ และเป็นรูปแบบที่ทุกข์ทรมานมาก และอาจเชื่อมโยงไปสู่ความตายลักษณะอื่นๆ เช่น การจบชีวิตตัวเอง หรือการไปฆ่าผู้อื่น
อย่างที่เจ็ด การตายโดยความเสี่ยงทางสังคม เช่น โควิด มันแปลว่าเป็นความตายที่เกิดโดยเงื่อนไขทางสังคม แปลว่าสังคมปัจจุบันนี้ สภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เราได้ทำลายธรรมชาติ ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่น เพื่อการแข่งขัน เพื่อการไปสู่ความสำเร็จ ฉะนั้น ในจุดหนึ่ง ก็เลยทำให้เงื่อนไขในชีวิตเราอยู่ยากขึ้นทุกวัน เรามีปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาหมอกควัน ปัญหาขยะล้น ปัญหานิวเคลียร์ หรือแม้กระทั่งสงคราม สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์ที่ต้องการจะไปสู่ความเจริญทั้งสิ้น และมันก็ย้อนกลับมาทำร้ายเรา เหมือนโควิด หรือ PM2.5 ที่กำลังทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
หลายคนอาจบอกว่า น่าจะมีความตายประเภทที่ 8 9 10 ก็ยินดีรับฟัง แต่จะเห็นว่า
ถ้าเราย่อยความตายออกเป็นประเภท มันทำให้เราเห็นว่า ‘นโยบายที่เกี่ยวกับความตาย’ มันไม่อาจจะแยกส่วนไปกับ ‘นโยบายกับการใช้ชีวิต’ ตรงนี้ต่างหาก
ฉะนั้นเราอาจจะไม่ต้องเรียกร้องหานโยบายเกี่ยวกับความตรงต่างๆ โดยตรง แต่สิ่งที่ควรมีคือนโยบายทางสังคมที่ทำให้คนมีชีวิตที่ดี อย่างน้อยก็ในระดับที่ทำให้คนสามารถที่จะมีตัวตน มีพื้นที่ในการที่จะเป็นเขา แล้วก็อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ข้อค้นพบตรงนี้ก็จะช่วยเราให้เห็นภาพสิ่งที่มี และสิ่งที่อาจจะจำเป็นสำหรับนโยบายในอนาคตได้มากขึ้น
อย่างที่ทดไว้ เรื่อง euthanasia มีข้อควรคำนึงอย่างไรบ้าง และจะเกิดขึ้นในไทยได้หรือไม่
เอาจริงเรื่องนี้มันมีปัญหาตั้งแต่การแปลเป็นคำว่า ‘การุณยฆาต’ ซึ่งไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ สมัยก่อน เวลาเราไปทำงานเรื่อง ม.12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เรื่อง living will พอไปพูดเรื่องสิทธิในการปฏิเสธการรักษา คนก็ไปตีความว่าเรากำลังพูดเรื่อง euthanasia เป็นการุณยฆาตในทันที มันก็ชี้ให้เห็นว่าในเชิงภาษาของเรายังไม่ละเอียดอ่อนพอที่จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างในปฏิบัติการเหล่านี้ ก็เลยทำให้ความเข้าใจในสังคมต่อเรื่องนี้ยังติดๆ ขัดๆ
แต่ประเด็นเรื่อง euthanasia ขออนุญาตใช้คำนี้ก่อน เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไร สมมุติเราจะพูดเรื่องสิทธิการตายหรือทางเลือกในการตาย ก็ต้องเข้าใจว่า มันไม่ได้มีเฉพาะ euthanasia อย่างเดียว เพราะถ้าลองอ่านหรือศึกษาเรื่องนี้ในสังคมอื่นๆ เราก็จะพบทั้งคำว่า euthanasia, assisted suicide หรือ assisted dying คือความตายโดยการช่วยเหลือ มันก็จะมีคำถามว่า แล้วใครช่วย ก็อาจจะเป็น physician หรือ family คือหมอหรือครอบครัว ซึ่งมันก็จะไม่เหมือนกับ euthanasia ในบางเรื่อง และเหมือนในบางเรื่อง
แต่ประเด็นที่เราต้องพูดถึง euthanasia หรือการเข้าถึงความตายที่เลือกได้ไม่ว่าจะใช้วิธีการอะไร คือเรื่องนี้ชี้ให้เห็นเลยว่า ‘ความตายไม่ใช่เรื่องของปัจเจกแต่เพียงอย่างเดียว’ มันมีเรื่องที่มีความเป็นปัจเจกและความเป็นส่วนรวมปะปนกันอยู่เยอะมาก
ความคิดเรื่องสิทธิในการตาย จริงๆ มันเป็นเรื่องที่พันกัน มีหลายประเด็นมาก ไม่ใช่เฉพาะ ‘สิทธิของเรา’ ยังมีประเด็นเรื่องจริยธรรม กฎหมาย ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ตลอดจนสิ่งที่เป็นคุณลักษณะหรือเป็นอุดมคติบางอย่างที่เรากำลังถามหา เป็นเรื่องของอำนาจเหนือตน (autonomy) เป็นโอกาสที่จะตัดสินใจหรือทำอะไรในนามตัวเราเอง ก็เป็นประเด็นข้อที่มาเกี่ยวข้องเยอะมาก
คำถามก็คือ แล้ว euthanasia หรือลักษณะของการตายประเภทหนึ่ง มันหมายความว่าอะไร
- มันคือการกระทำโดยเจตนา พูดง่ายๆ คือ ‘มีความตั้งใจ’ ที่จะจบหรือช่วยให้ผู้อื่นจบชีวิต แต่สิ่งที่ทำให้ euthanasia ต่างจากการฆาตกรรม เพราะเจตนาของการที่เราต้องการให้เขาจบชีวิต มันเป็นเรื่องของการคิดว่า เป็นไป ‘เพื่อประโยชน์สูงสุดของเขา’ เช่นในกรณีที่เขาทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยอย่างมหาศาลจน ทำให้ชีวิตในแต่ละนาทีของเขามันขาดความสุข หรือไม่ทำให้เขาสามารถเป็นมนุษย์ได้อย่างมีศักดิ์ศรี สถานการณ์แบบนั้นเจตนามันจึงแตกต่าง
- การปฏิเสธการรักษา อันนี้ไม่ใช่ euthanasia
- ให้การบรรเทาปวดกับผู้ป่วย เพื่อรักษาอาการทางการที่วิกฤตมากๆ ซึ่งหลายครั้ง การให้ยาบรรเทาอาการปวด แม้เราจะไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่มันอาจจะมีผลกระทบที่อาจจะทำให้เขาเสียชีวิตได้ กรณีแบบนี้เขาเรียกว่า doctrine of double effect กรณีนี้ก็ไม่เข้าข่าย euthanasia
ฟังจากที่อาจารย์ว่ามา แค่คอนเซ็ปต์ของคำ และเงื่อนไขต่างๆ คนก็ยังสับสนหรือเข้าใจผิด นี่คือเหตุผลที่ทำให้ euthanasia เกิดขึ้นในไทยลำบาก
ส่วนหนึ่งก็อาจจะจริง เพราะมันยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แม้ว่าอย่างน้อยเร็วๆ นี้จะมีคนไทยสัก 1-2 คนที่เลือกไปทำ euthanasia ในต่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งคือในสังคมไทย ฐานคิดในทางศาสนาของการฆ่าหรือการทำให้ผู้อื่นตาย มันมีความชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่ผิด ฉะนั้น คนไทยก็จะมีท่าทีที่ระมัดระวัง เวลาพูดถึงเรื่อง euthanasia หรือแม้แต่จะเปิดประเด็น
แต่อีกคำที่จะต้องพูดด้วย เพราะมันไม่ได้มีแค่ euthanasia คือคำว่า assisted suicide คือถูกช่วยให้ฆ่าตัวตาย หรือ assisted dying คือช่วยให้ตาย มันก็เป็นไปได้ว่าช่วยโดยแพทย์หรือครอบครัว ซึ่งในคำว่า ‘ช่วย’ คำถามคือช่วยยังไง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการช่วยโดยการเตรียมยา แต่เราต้องดื่มเอง นี่คือความต่าง มันจึงถือว่าเป็น suicide ไง
หรือแง่มุมของกฎหมาย เวลาเราพูดถึงในหลายๆ ประเทศ มันมีความคาบเกี่ยวกันมาก ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ยังมี active euthanasia หรือ passive euthanasia ฉะนั้น ในความเป็น physician assisted suicide ถ้าจะมีความผิด มันจะไม่ใช่ความผิดฐาน ‘ฆ่าผู้อื่น’ หรือในบางประเทศที่กฎหมายยังไม่รับรอง แต่จะมีความผิดฐาน ‘ช่วยให้เขาฆ่าตัวตาย’ ดังนั้นโทษจะต้องเบากว่า
ประเด็นต่อไป คือทางเลือกในการตาย เช่น euthanasia มันเกิดจากสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่ถ้าเราศึกษาประเทศอื่นๆ ที่เขาผ่านมาแล้ว เราจะพบว่า กฎหมายเรื่อง euthanasia หรือกระบวนการทางสังคมต่อเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบ top down กว่าเขาจะมาสู่จุดที่มาถกกันว่า เอา-ไม่เอา มันมีประวัติศาสตร์ทางสังคมมานาน มันอาจจะเกิดจากกรณีที่มีคนป่วย แล้วเขาร้องเรียนหรือยื่นเรื่องต่อศาลให้พิจารณา ถามว่าทำไม euthanasia มาเกิดในสังคมสมัยใหม่ ก็เพราะว่าโรคต่างๆ มันเป็นโรคที่ปัจจุบันเราพบว่าทรมานเยอะ เช่น dementia (ภาวะสมองเสื่อม) หรือโรค ALS ที่ฝรั่งเป็นเยอะ แต่คนไทยเป็นน้อย คือกล้ามเนื้อจะไม่ทำงาน ไม่ปวด ไม่เจ็บ แต่ไม่มีแรง เดินไม่ได้ สุดท้ายหลอดอาหารไม่ทำงาน กลืนไม่ได้ หายใจไม่ได้ มันเป็นโรคที่ทรมานมากๆ
สรุปแบบนี้ได้ไหมว่า ในต่างประเทศมันมีการต่อสู้กันมาจนสังคมตกผลึกแล้ว แต่ในไทยยังไปไม่ถึงขั้นนั้น
หรือต่อสู้แล้วตกผลึกแล้ว ไม่เอาก็มีนะ ส่วนของไทยเนี่ย..
กระทั่งถูกหยิบมาคุยในที่สาธารณะ ก็ยังไม่เคยมี
ถูกต้อง ของไทยเนี่ยกระทั่งกฎหมายบางอย่าง ประชาชนไม่เคยรู้เลยก็มีนะ แปลว่าหลายๆ เรื่องมันไม่ได้เกิดจากความต้องการของประชาชน
แต่ที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือ ปัจจุบันนี้ เรื่องของ euthanasia มันเป็นเรื่องของสภาวะสังคมที่เป็นปัจเจกมากๆ ตรงนี้ถ้าคิดไม่ดีบางทีมันก็มีอันตรายเหมือนกัน เช่น ถ้าเมืองไทยเป็นกฎหมายออกมาจริงๆ แปลว่าเรามีสิทธิที่จะฆ่าผู้อื่นให้ตายด้วยเจตนาทำให้พ้นทุกข์หรือเปล่า แล้วก็อาจจะมี ‘คนกลุ่มเปราะบาง’ จำนวนหนึ่ง ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น burden เป็นภาวะของสังคม แล้วก็อาจถูกดึงดูดเลือกจบชีวิตของตัวเอง
ซึ่งเราจะปล่อยให้สังคมคิดอย่างนั้นหรือ เมื่อไรก็ตามที่เราหมดหน้าที่ เรากลายเป็นภาระ แล้วเราสมควรตาย หรือจริงๆ สังคมมันควรจะมีระบบในการดูแลโอบอุ้ม ความตายต้องไม่ถูกมองเป็นเครื่องมือในการลดภาระการดูแล หรือถูกมองเป็นเครื่องมือในการลดภาระงบประมาณ เวลาจะคิดถึงกฎหมายเรื่องนี้มันจึงมีหลายมุม หลาย layer มากๆ เลย
อีกประเด็นที่อาจช่วยทำให้เราต้องเตรียมการเรื่อง euthanasia คือทำให้เกิดพื้นที่การคุยเรื่องความตาย แล้วมันก็จะถูกดึงเข้ามา แนวความคิดในการคุยเรื่องความตายของเรา มันไม่ค่อยเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ มันก็เลยทำให้คนมีความเข้าใจปะปน ไม่รู้ว่าชีวิตเรามีทางเลือกในการตายซักกี่แบบ อะไรที่มันทำแล้วกระทบคนอื่น อะไรที่เราอยู่ในวิสัยที่จะเลือกได้ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ถ้าเราได้คุย ได้สื่อสาร มันก็จะช่วยในการสร้างความพร้อม
ในประเทศที่มีความพร้อมเรื่อง euthanasia มันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ยังต้องมีเงื่อนไขก่อนที่จะไปทำได้ เช่น 1.ป่วยหนักแต่ยังไม่ตาย เช่น สมองตาย เป็นผัก ป่วยมากแต่โรคยังทำให้เรามีชีวิตอยู่ 2.ความเจ็บป่วยนั้นต้องทำให้เราทุกข์ทรมานแสนสาหัส จริงๆ ประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องสิทธิในการตาย กับแนวคิด euthanasia มากๆ เช่น เบลเยี่ยม ขอบเขตมันไม่ได้รวมแค่ ‘ป่วยทางกาย’ แต่ยังรวมถึง ‘ป่วยทางจิต’ ด้วย และลงไปถึงเด็ก ซึ่งตามปกติแล้ว เวลาพูดถึงเรื่อง euthanasia จะมีอายุขั้นต่ำที่ 18 ปีขึ้นไป แต่เบลเยี่ยมมันลงไปอายุต่ำกว่านั้น ฉะนั้นจึงแล้วแต่สภาวะทางสังคมเลย
หรือว่าอีกเงื่อนไขสำคัญเลยว่า ใครก็ตามที่จะมาถึงจุดที่ยื่นขอ euthanasia ได้ คุณต้องมั่นใจเลยนะว่า คุณต้องรับการรักษาด้วย palliative care หรือทุกวิธีที่เป็นไปได้แล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ว่าใครก็ยื่นได้ อันนี้มันจะไม่ใช่ option แรก ที่อยู่ดีๆ เราเดินมาทำอะไรอย่างนี้ก็ได้ แล้วก็จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญช่วยตัดสิน อาจจะ 3 คน เป็นแพทย์ในสาขาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ judgement
ฉะนั้นจะเห็นว่า มันต้องอาศัยหลายๆ วิธีการที่ไม่ทำให้ euthanasia มันง่ายเกินไป
ที่พูดมาทั้งหมดทั้งมวล การจะเป็นกฎหมายแปลว่าอะไร แปลว่าผู้ที่ช่วยให้เราจบชีวิตจะไม่ถูกลงโทษทางกฎหมาย แต่ก็อย่างที่บอก ยังมีประเด็นที่หมิ่นเหม่ในหลายๆ กรณี กรณีคนเปราะบาง กรณีที่เมื่ออนุญาตให้เกิดในเคสนี้ เคสอื่นๆ ก็ต้องได้สิ มันก็จะขยายวงไปเรื่อยๆ
คำถามสุดท้าย การตาย ‘ที่ดี’ สำหรับอาจารย์ คือการตายอย่างไร
ถ้ามองในคติแบบไทยๆ เราจะเชื่อว่า ‘อยู่ดี’ แล้วจึง ‘ตายดี’ ซึ่งถ้าเราเจาะไปที่การตายดี เราจะพบว่ามันมีหลายมิติมาก เวลาเหมาะสม ก็เรียกว่าตายดี ตายในที่ๆ เหมาะสม ก็ถือว่าตายดี ตายโดยมีความพร้อม มีญาติพี่น้องอยู่รายล้อม ก็ถือว่าตายดี ตายโดยได้สะสาง ความคั่งค้างต่างๆ ก็ถือว่าตายดี ..จะเห็นว่ามีหลายมิติมาก บางเรื่องเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ
ประเด็นของการตายตี จึงเป็นเรื่องหนึ่ง แต่คนที่เชื่อว่า อยู่ดีแล้วจึงตายดี อันนี้มีเยอะ ก็จะมีคนพูดว่า จะตายดีได้ยังไงถ้าอยู่ยังไม่ดีเลย จึงต้องถอยกลับไปคิดว่า ยังไงถึงจะเรียกว่าอยู่ดี เราก็พบใน 2 ลักษณะ 1.กินดีอยู่ดี แปลว่าถ้าจะอยู่ดีแบบนี้ จึงต้อง ‘มีเงิน’ มันถึงจะอยู่ดี แต่มันเป็นความโชคดีว่า นอกจากอาศัยเงิน ยังมีการอยู่ดีที่อาจไม่ได้พึ่งพิงเงิน แต่เป็นอยู่ดีในเชิง 2.ภาวะจิต ทัศนคติ ต่อให้เราเป็นใครก็แล้วแต่ เราก็สามารถเข้าถึงการอยู่ดีแบบนี้ได้ ซึ่งตามปกติจะถูกเหนี่ยวนำโดยอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งก็คือศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาอะไรก็แล้วแต่ล้วนมีส่วนสำคัญในการบอกว่า การอยู่ที่ดีล้วนควรทำตัวยังไง
แต่ในโลกที่ศาสนาเองก็กำลังปรับตัว คนก็ยังเต็มไปด้วยคำถามของการมีชีวิต เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไร ตายแล้วไปไหน เราจะเชื่อในอะไร โดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่า ทุกชุดความเชื่อไม่ว่าจะศาสนา ปรัชญาชีวิต หรือแนวทางอะไรก็แล้วแต่ที่เรายึดถือ ล้วนแล้วแต่มีแก่นที่ช่วยให้เราอยู่ในทางจิตวิญญาณของเรา
เพราะฉะนั้นความ ‘อยู่ดี’ ตรงนี้จึงเป็นความหวังที่จะช่วยให้เรามองเห็นวาทะท้ายของสุดท้าย หรือการ ‘ตายดี’ ได้ ท่ามกลางสภาวะทางสังคมที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน