การเข้ามาของบล็อกเชนไม่เพียงทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของระบบการเงินและการลงทุน แต่ยังสร้างความแปลกใหม่ให้กับแวดวงคนทำงานศิลปะ ซึ่งมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า NFT โดยเรามักได้ยินข่าวว่าศิลปินในต่างประเทศขายงานที่รังสรรค์ขึ้นมาได้ในจำนวนมหาศาล จุดประกายให้คนทำงานศิลปะในหลายประเทศ รวมทั้งบ้านเราเองเริ่มหันมาสนใจการทำงานศิลปะ NFT มากขึ้น ทั้งงานวาด งานเสียง และแม้แต่งานภาพถ่าย
แม้ว่าผู้เล่นศิลปะประเภทภาพถ่ายจะเพิ่งเริ่มต้น และมีไม่มากนักในตอนนี้ แต่ต้องยอมรับว่านี่เป็นก้าวสำคัญสำหรับช่างภาพไม่น้อย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ NFT ไม่ได้จำกัดตายตัวว่าคนที่นำงานมาลงขายในแพลตฟอร์มต้องเป็นมืออาชีพ แต่ยังเปิดกว้างให้กับคนที่สนใจศิลปะแขนงนั้นได้ลองนำผลงานที่ทำเป็นงานอดิเรกมาเผยแพร่อีกด้วย
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินและผู้หลงใหลในการถ่ายภาพที่ก้าวเข้ามาเล่นในวงการนี้ แน่นอนว่ามีทั้งช่างภาพมืออาชีพ ศิลปินอิสระ และคนที่ไม่ได้ทำงานหลักในสายอาร์ตแต่ชื่นชอบและถ่ายภาพมานาน มาร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการทำงานศิลปะ NFT ซึ่งทำให้เห็นแนวทางและที่มาที่ไปของ NFT ที่เป็นมากกว่าช่องทางเชิงพาณิชย์
โทนี่-ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์ ช่างภาพ a day magazine มีประสบการณ์ถ่ายภาพมา 6 ปีแล้ว นับตั้งแต่เรียนที่นิวซีแลนด์ เจ้าตัวเริ่มศึกษาเรื่องศิลปะ NFT เมื่อต้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่วงการนี้ยังไม่ได้คึกคักนัก จุดเริ่มต้นจากการเห็นว่ามีคนต่างชาติที่ลงเล่น NFT แล้วขายงานได้มากมาย อันนำมาสู่การตั้งคำถามว่าเป็นไปได้จริงหรือ ทำให้เขาศึกษามาเรื่อยๆ จนมองเห็นลู่ทางของการนำภาพถ่ายมาลงในตลาดนี้
“พอศึกษามาเรื่อยๆ เราเห็นว่าเริ่มมีคนไทยเข้ามาอยู่ในตลาดมากขึ้น เริ่มมีนักวาด illustrator แต่ช่วงนั้นยังไม่เห็นคนที่เป็นตากล้องเข้ามา เลยรู้สึกว่าตลาดนี้น่าสนใจถ้าจะลองก้าวขาเข้ามาดู ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะขายงานได้ แต่คิดไว้ว่าเผื่อเราประยุกต์อะไรได้จากตรงนี้ เพราะส่วนตัวก็ชอบงานศิลปะแขนงอื่นอยู่แล้วอย่างการวาดรูป แถมงานแรกที่ขายได้ก็เป็นงานวาดที่นำไปรวมกับรูปถ่ายดิจิทัลครับ”
เมื่อพูดถึงภาพรวมของศิลปะ NFT ทั้งในแง่ของการสร้างงานภาพถ่ายและกลุ่มคนซื้อ (ซึ่งเรียกว่า collector ในแวดวง NFT) โทนี่ได้แบ่งปันมุมมองดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว
“ก่อนหน้านี้แทบทุกงานที่ทำเป็นงานจ้างครับ มีทั้งถ่ายตามบรีฟบ้าง ถ่ายแนวอาร์ตบ้าง หรือถ่ายสัมภาษณ์ subject ของแม็กกาซีน ซึ่งเราต้องตีโจทย์ที่มาจากคนอื่น ดูว่าคนที่จะไปถ่ายเป็นยังไง สถานที่ที่เราจะถ่ายต้องการนำเสนอคอนเทนต์อะไร แต่พอเป็น NFT รู้สึกว่าต้องการความเป็นตัวเองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการถ่ายรูป มันต้องมาจากตัวเรา ความสนใจของเรา มาจากสิ่งที่รู้สึกว่าทำต่อไปได้เรื่อยๆ พองานถูกสร้างจากความเป็นตัวเองล้วนๆ ก็จะกลายเป็นคุณค่าของงานที่ส่งต่อให้กับคนที่ collect งานเราต่อไป
“เวลา collector มาซื้องาน เขามาซื้อด้วยสองเหตุผล คือ หนึ่ง เขาชอบงานของเราจริงๆ และอยากเก็บงานของเราไว้ กับ สอง เขารู้สึกว่าศิลปินคนนี้มีโมเมนตัมสูงที่จะเก่งขึ้นหรือสร้างชื่อเสียงได้มากขึ้นในอนาคต งานที่เขาซื้อตอนนี้อาจซื้อในราคาเท่านี้ แต่หากศิลปินคนนี้ไปได้ไกลงานก็มีราคาสูง เขาก็นำงานนี้ไปขายต่อได้อีก”
สำหรับการขายงานศิลปะ NFT นั้น โทนี่มองว่าเป็นเรื่องของการนำเสนอตัวตนของผลงานเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน เรื่องการหาเงินจากงานนั้นก็ไม่ได้มีระยะเวลาตายตัวที่บอกได้ชัดเจนว่าต้องทำมานานแค่ไหนถึงจะขายงานได้ทันที
“แล้วแต่คนจริงๆ ครับ บอกไม่ได้เลยว่าใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะขายได้ ตอนแรกที่ผมลงงานใน Opensea ไม่มีคนสนใจเลยครับ อาจมีคนไทยเข้ามาคอมเมนต์ทำนองว่ารูปสวยบ้าง แต่ไม่ได้ซื้อ ตอนนั้นผมลงงานไว้ประมาณ 3-4 อาทิตย์ ก็เอาออก แล้วเอาไปลง Foundation แทน พยายามคัดงานให้ดี ก็เริ่มมีคนซื้อ แต่ไม่ได้ซื้อเยอะ จากนั้นคิดที่จะกลับมาลงงานใน Opensea เพื่อให้อัพโหลดจำนวนงานได้เยอะๆ ไม่ต้องเสียค่า gas เยอะ (ค่าธรรมเนียมในการดำเนินธุรกรรมบนบล็อกเชน) แล้วคิดว่าเราลองไปอยู่ในตลาดที่ไม่ใช่คนไทยดีกว่า ลองไปเล่นตลาดเมืองนอก ก็ใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ได้เลย กว่าคนจะเริ่มมาสนใจและมาซื้อ
“ช่วงแรกคนไม่ได้ซื้อเยอะ จนมีคนหนึ่งที่เป็นทั้ง collector และช่างภาพที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว มาซื้องานเราแล้วนำไปลงทวิตเตอร์ว่าเขาซื้องานมานี้นะ มีศิลปินที่ทำงานแนวนี้อยู่ พอ collector รายอื่นที่ติดตาม collector คนนี้เห็นเข้าก็เริ่มมาดูผลงาน พอมีการซื้อครั้งต่อมา คนก็สังเกตว่ามีคนซื้อกันเยอะ กลายเป็น FOMO ทำให้คนแห่มาซื้องานกัน
“บางครั้งงาน NFT มาเป็นเวฟนะครับ ไม่ได้มีมาเรื่อยๆ บางทีอาจไม่มีคนซื้อเลยตลอดทั้งเดือน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนซื้อทีเดียว 20 กว่างาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม ผมจึงรู้สึกว่าอย่าเพิ่งเอาเวลาของใครมาเป็น standard ว่าฉันทำเท่านี้แล้วฉันจะขายได้ มันต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะอันนี้เป็นเกมยาวครับ
“ผมมองว่างานถ่ายรูปไม่เหมือนงานวาดรูปทีเดียว เพราะงานวาดรูปจะวางแผนได้ว่าจะทำประมาณนี้ แล้วใช้เวลาสร้างงานจนได้ตามแบบที่กำหนด แต่การถ่ายรูปกำหนดไม่ได้เลยว่าวันนี้เราจะถ่ายได้กี่รูป เพราะมันขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราจะถ่าย สภาพอากาศ และแสง ผมจึงมองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ช่างภาพต้องใช้เวลาเตรียมตัวมาก่อนประมาณนึง
“อย่างงานของผมเองก็เป็นงานที่เราถ่ายมาก่อนหน้านั้นแล้วนำมาลง ไม่ได้คิดว่าเรามีแพลตฟอร์มสำหรับลงงานอยู่แล้ว แล้วค่อยไปถ่ายเพื่อนำมาภาพมาลง เป็นงานที่มาจากประสบการณ์และความสนใจของเราจริงๆ และอยากส่งต่อหรือแสดงความเป็นตัวเองออกมา”
เมื่อถามถึงสิ่งที่คนสนใจเข้ามาลอง NFT ควรทำก่อนขายงานนั้น โทนี่ได้แนะนำ 3 สิ่งที่ผู้สนใจควรศึกษา
“เรื่องแรกคือต้องใช้เวลาศึกษาระบบก่อน เพื่อให้รู้ว่าตอนสมัครเป็นยังไง ต้องใช้อะไร ค่าธรรมเนียมของ Opensea กับ Foundation ต่างกันยังไง กลุ่มลูกค้าเป็นแบบไหน กลุ่มลูกค้าคนไทยกับเมืองนอกต่างกันยังไง เราต้องวางแผนแล้วรู้จักตลาดให้ดีว่า กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และจะวางแผนให้งานของเราเข้าถึงพวกเขาได้ยังไง
“อย่างที่สอง คือเรื่องความปลอดภัย ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหลายคนสมัครแพลตฟอร์มแล้วทำเงินได้จากตรงนั้น แต่ไม่ได้คุมความปลอดภัยของชิ้นงานตัวเอง นอกจากนี้ ก็ต้องดูความปลอดภัยของเว็บไซต์และบราวเซอร์ต่างๆ
“อย่างที่สาม คือพยายาม curate งานที่คิดว่าคนจะจดจำเราได้จากงานนั้น ไม่อยากให้สร้างงานที่ทำขึ้นมาเพื่อเอาเงินอย่างเดียว เราควรสร้างงานที่มีความเป็นตัวเรา โดยที่สิบปีข้างหน้ามองกลับมาแล้วยังภูมิใจกับผลงานที่ยังทำอยู่ ถ้าเกิดวันนึงเรามีชื่อเสียง ก็ต้องกลับมาคุยกับผลงานตัวเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ทำให้แน่ใจไปเลยว่างานที่เราทำนั้นมีคุณค่าสำหรับตัวเราเอง
“ต้องเข้าใจว่าตอนนี้คนที่มาเล่น NFT ยังไม่ค่อยเยอะ ผมจึงมองว่าตลาด NFT มีอนาคตอีกไกล แต่ว่าในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนเทรนด์ ทั้งวิธีการทำงานของแต่ละคนหรือรูปแบบของผลงานที่นำไปลง โดย NFT มีเรื่องให้ทำอีกเยอะมากเลย สิ่งที่เราใช้ได้จาก NFT ในอนาคตอาจไม่ได้มีแค่เรื่องของศิลปะ อาจมีเรื่องอื่นด้วย
ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคเรอเนสซองค์ของศิลปะ NFT ในอนาคตยังมีอะไรให้เล่นอีกเยอะครับ”
กำปุ๊ง-ปองณภัค ฟักสีม่วง ศิลปินอิสระและภูมิสถาปนิก เดิมทีถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ก่อนจะผันตัวมาทำเป็นอาชีพเมื่อช่วงปี ค.ศ.2019 เมื่อมาทำฟรีแลนซ์เต็มตัวตอนปีที่แล้ว ก็มีโอกาสได้กลับมาโฟกัสกับการถ่ายรูปมากขึ้น ประกอบกับศึกษาเรื่อง crypto art จากกลุ่มเพื่อนที่เทรดคริปโตคุยกัน สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เจ้าตัวสนใจเข้ามาเล่น NFT
“ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยเห็นงานภาพถ่ายในตลาดแนวนี้เลย อีกอย่างงานที่เราถ่ายจะค่อนข้างตามใจตัวเองมาก เหมือนพยายามหาคำตอบด้วยว่างานของเรานอกจากถ่ายแล้วโพสต์ลงโซเชียลแล้ว จะเอาไปทำอะไรได้อีก พอเจอ NFT มันเหมือนเป็นคำตอบนึงที่เรามองหาอยู่เลยลองใช้โอกาสนี้ดูค่ะ
“เหมือนว่าตลาด NFT เปิดโอกาสให้เราเป็นตัวเองได้ 100% เลย โดยที่ไม่ต้องมานั่งแก้หรือทำตามโจทย์ใคร แล้วปุ๊งเชื่อว่าช่างภาพจะมีสายตาที่ไม่เหมือนกัน เป็นการนำเสนอด้วยสายตาที่มองเห็นสถานที่หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งในมุมของเราแบบหนึ่ง แล้วอยากให้คนอื่นเห็นด้วย ไม่มีใครบอกว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด”
ในฐานะที่ทำงานศิลปะ NFT มาพอสมควร รวมทั้งเป็นหนึ่งในคนที่ sold out ผลงานได้เร็ว กำปุ๊งได้แบ่งปันมุมมองต่อตลาดและกลุ่มเป้าหมายของ NFT ซึ่งช่วยให้เห็นภาพรวมของตลาดมากขึ้น
“ในตลาด NFT การขายแบบ secondary sale จะเพิ่มราคาไปเรื่อยๆ พวก collector จะเป็นคนตัดสินเอง อย่างช่วงแรกที่เราขายแบบ first sale เขา (collector) มองสองฝั่ง ทั้งด้านความงามและการลงทุน บางคนจะเข้าไปค้นพอร์ตศิลปินที่ไม่ใช่ NFT ด้วย ดูว่าศิลปินทำงานแนวนี้มาตลอดหรือเปล่า เขาเพิ่งมาทำแนวนี้หรือเปล่า ซึ่งส่วนนี้จะช่วยตัดสินใจ อีกอย่างคือดูว่าศิลปินคนนี้ทำงานคนเดียวหรือทำงานเป็นทีม มีตัวตนจริงไหม หรือเป็นบอตหรือเปล่า
“ตอนแรกก็ลงงานใน Opensea เหมือนกัน และยังจับต้นชนปลายไม่ถูก เราก็โปรโมตไปปกติ พอได้ invite มา ก็ลงงานแรกในแพลตฟอร์ม Foundation ถึงมีคนมาซื้อซึ่งใช้เวลาประมาณอาทิตย์กว่า จากนั้นก็กลับไปลบงานใน Opensea ตั้งใจว่าจะเจาะตลาด Foundation ก่อนและหาฐานแฟนจากตรงนี้
“เราอยู่กับ Foundation มาสักพักหนึ่ง พยายามคิดตลอดว่าจะขยายตลาดยังไง ไปแพลตฟอร์มไหนดี ประกอบกับตอนนั้นก็ยื่นสมัครแพลตฟอร์มอื่นไปด้วย เริ่มคิดคอนเซ็ปต์ที่จะลง Opensea
“พอมีฐานแฟนมากขึ้น ปุ๊งก็มาลงงานใน Opensea ซึ่งลงไป 9 รูป แล้ว sold out ภายใน 6 ชม. เดือนที่ผ่านมาถือเป็นช่วงพีคของเราประมาณหนึ่ง เพราะงานของเรา sold out ทุกแพลตฟอร์ม ปุ๊งมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราสั่งสมมาจากสี่เดือนที่แล้ว โดยตลอดการเดินทางช่วงนั้น เราพยายามทำให้คนมาเห็นงานของเรามากขึ้น ทำให้คนไว้ใจและเชื่อใจมากขึ้น ไม่ว่าจะสร้างเครือข่ายกับคนในคอมมูนิตี้ ไปพิชงานทุกที่ที่มีโอกาส แล้ว collector ที่ซื้องานเราตอนแรกก็พยายามซัพพอร์ตด้วยอีกทาง เหมือนเขาลงทุนในงานเราแล้ว ก็อยากให้คนอื่นเห็นงานเราบ้าง”
นอกจากนี้ กำปุ๊งยังฝากถึงช่างภาพหรือคนทำงานศิลปะแขนงอื่นที่สนใจ NFT เกี่ยวกับแนวทางเบื้องต้นในการก้าวเข้าสู่กากรทำงานศิลปะ NFT รวมทั้งความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสเติบโตในวงการนี้ที่มีแต่เรื่องแปลกใหม่อยู่เสมอ
“คำว่า NFT คือ Non-Fungible Token เป็นการสร้างโทเคนขึ้นมา โดยใช้ศิลปะเป็นตัว represent เลยอยากให้คนศึกษาการทำงานของบล็อกเชน เพราะเมื่อเรามีข้อมูลมากพอ ก็จะได้เปรียบและระวังเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น
“อีกอย่างคือ ตรวจเช็กข้อมูลให้รอบคอบ และดูว่างานที่เราจะเอาไปลงนั้นเป็นงานที่เราอยากทำอยู่ไหมในอนาคต เพราะเวลาที่เราจะ mint (สร้าง) งานลง NFT บล็อกเชนจะเก็บประวัติทุกอย่างเอาไว้ ซึ่งเราแก้ไขภายหลังไม่ได้ แค่เราลงงานก็เหมือนเป็นการลงทุนสำหรับเราแล้วอย่างหนึ่ง ทุกอย่างมี cost ของมันตลอด ถ้าคุณพลาดก็เสียเยอะ สู้คุณศึกษาให้ดี ให้รอบคอบ แล้วเสียน้อยดีกว่าค่ะ
“เหมือน NFT เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับทุกคนในตอนนี้ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มเอง ปัจจุบันมีโปรเจกต์ NFT ที่ไม่ใช่ crypto art เกิดขึ้นมากมายอย่างพวกเกมต่างๆ หรือก่อนหน้านี้ก็มีศิลปินวงร็อคเอากีตาร์มาเทรด เรามองว่าตลาด NFT มีเรื่องให้เราเซอร์ไพรส์ทุกวัน
ถ้ามีคนเข้ามาจอยมากขึ้นในอนาคต ความคิดของมนุษย์คนหนึ่งก็เปลี่ยนอะไรได้เยอะเหมือนกัน”
เจมส์-อัษฎางค์ สัสดี ผู้ช่วยทันตแพทย์ที่หลงใหลในการถ่ายภาพแนวสตรีท ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ก้าวลงมาเล่นใน NFT เดิมทีตนถ่ายรูปแนวสตรีทมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 ซึ่งทำเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว
จุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำศิลปะ NFT เกิดจากช่วงที่ต้องหยุดงานประมาณ 3-4 เดือน ทำให้ได้เสพอะไรมากขึ้น ประกอบกับสนใจเรื่องเทรดคริปโตอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่ามี NFT เลยอยากลองดู ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นเส้นทางนี้
เจมส์เริ่มต้นเล่าถึงแนวงานภาพถ่ายของตน ก่อนกล่าวถึงความแตกต่างของการถ่ายภาพทั่วไปกับภาพถ่ายที่นำไปลง NFT
“สำหรับผม ความแตกต่างน่าจะเป็นเรื่องความต้องการของคนอื่น การนำงานไปขายใน NFT จะมีจุดที่ต้องพิจารณามากกว่า ต้องดูว่าแนวโน้มและความต้องการของตลาดว่าเป็นยังไง กำลังมีกระแสอะไรกันบ้างตอนนี้ ซึ่งต่างจากการถ่ายรูปแล้วนำไปลงโซเชียลทั่วไป ในไทยเองมีคนที่มีผลงานของตัวเองอยู่แล้วเยอะมาก ในขณะที่คนที่อยากลงทุน หรือพร้อมที่จะซื้องานแนวนี้จริงๆ ยังน้อย
“คนที่ขายงานภาพถ่ายได้ก็จะมีสกิลอื่นที่นำมาปรับใช้กับงานของตัวเอง อย่างการใส่เอฟเฟกต์หรือทำโฟโต้ช้อปลงไปในภาพ อย่างงานที่เรานำมาทำ เดิมเป็นภาพถ่ายสตรีท แล้วพอศึกษางานคอลลาจมาด้วย เลยลองเอามาใช้กับภาพถ่ายดู
“คอลลาจชุด HOPE III (TITAN) ได้ไอเดียจากซีรีส์เรื่องหนึ่งในเน็ตฟลิกซ์ที่เราดู เป็นเรื่องที่มีปัญหาเหมือนในสังคมบ้านเราตอนนี้ แล้วมีรูปเหมือนไททันรูปหนึ่งเลยลองเอาทำดู ตัดนู่นตัดนี่มาต่อกัน สะท้อนจากมุมมองของเรา
“หากพูดถึงการ collect งานศิลปะ NFT มองว่ามันเป็นเรื่องของการซื้อความเป็นเจ้าของหรือสิทธิของ collector ในงานนั้น ซึ่งต่างจากการ copy ภาพในอินเตอร์เน็ตพอสมควร”
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการหาไอเดียและขายงานแล้วนั้น ตนมักให้ความสำคัญกับความเป็น original ของผลงานและสิ่งที่ตนเองรู้สึกรักในงาน ซึ่งไม่เพียงในแง่ของคนสร้างงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมุมของ collector ที่ควรจะได้เสพและซื้อความป็นตัวตนของศิลปิน
“ส่วนตัวไม่ค่อยมีคอนเซ็ปต์ตายตัวเท่าไหร่ในการออกไปถ่ายรูปแต่ละครั้ง เชื่อว่าหลายๆ คน หรือเกือบทุกคนก็ออกไปถ่ายโดยไม่ได้คิดอะไร แค่ไปถ่ายในสิ่งที่ตัวเองเห็นและชอบ ส่วนการสร้างงานเพื่อขายใน NFT คงเลือกจากภาพที่ตัวเองชอบหรือคิดว่าดีที่สุด เหมือนกับว่าเรานำสิ่งที่เราชอบไปขาย
“คิดว่าในอนาคต อยากคงความเป็นรูปถ่ายจริงๆ เพราะเวลาเอาไปขายก็อยากให้คนสนใจในสิ่งที่เราทำจริงๆ ไม่ใช่ถ่ายมาเพื่อนำไปดัดแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ดูน่าสนใจขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่พื้นฐานของเรา เพราะพื้นฐานของเราจริงๆ คือการได้ถ่ายรูป เก็บโมเมนต์ที่สำคัญ และอยากส่งต่อตรงนั้นไปมากกว่า
“ในเมื่อคุณลงทุนที่จะซื้องานศิลปะทั้งที ก็ควรจะได้ซื้อสิ่งที่เป็นตัวตนของศิลปิน
ไม่ใช่ว่าศิลปินมีฝีมือจะสร้างงานแบบไหนก็ได้ แต่ไม่มีเอกลักษณ์หรือตัวตนของศิลปิน อยากให้คนสนใจซื้องานภาพถ่ายจากมุมมองหรือความคิดจากสิ่งที่ศิลปินถ่ายมา
“สำหรับตัวผมเอง NFT เหมือนเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้ปลดปล่อยความคิดผ่านผลงาน โดยไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้รับเงินหรือรายได้เข้ามา ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของพื้นฐานคนทำงานศิลปะต้องการการยอมรับ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นี่ก็อาจจะเป็นที่ทำให้เราได้รับการยอมรับ
นอกจากนี้ เจมส์ยังทิ้งท้ายถึงเรื่องสำคัญที่คนจะนำงานมาขาย NFT ต้องเตรียมตัวไว้ รวมทั้งมุมมองของวงการนี้ในอนาคต
“เรื่องแรกก็คือการศึกษาเรื่องเหรียญคริปโต วิธีการสมัครแพลตฟอร์มสำหรับลงขายงาน ซึ่งตอนนี้มีให้ศึกษาในออนไลน์เยอะพอสมควร อีกอย่างก็คือ ควรศึกษาความต้องการของตลาดโลกควบคู่กันด้วย รูปแบบของงาน รวมทั้งการนำเสนอชิ้นงานให้ดูน่าสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทำงานศิลปะ NFT และอยากสร้างรายได้จากตรงนี้
“สำหรับทิศทางของ NFT ในอนาคต ส่วนตัวคิดว่ายังเติบโตได้มากกว่านี้แน่นอนครับ และคงได้เห็นศิลปินที่มีความสามารถอีกมากมายนำเสนอผลงานกันมากขึ้น
“อีกอย่างหนึ่งที่อยากเห็นมากสำหรับตลาด NFT ในไทย คือกลุ่มคนที่สนใจอยากเก็บงานศิลปะภาพถ่ายมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรแล้วภาพถ่ายเหล่านั้นก็จะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นครับ”
สำหรับใครที่สนใจอยากติดตามผลงานของศิลปินทั้ง 3 ท่าน สามารถกด follow ได้ในช่องทางต่อไปนี้
โทนี่-ณัฐวัฒน์ : tonynattawat
กำปุ๊ง-ปองณภัค : gumpoongpf
เจมส์-อัษฎางค์ : james_audsadang