ชื่อของ สรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ โลดแล่นอยู่ในวงการข่าวมาราวๆ 30 ปีเห็นจะได้ แม้ว่าปัจจุบัน ตุ้ม-สรกล จะไม่ได้คงสถานะนักข่าวและผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ได้พักใหญ่แล้ว แต่เขาก็บอกกับเราว่า ยังคงมีความสุขกับการติดตามอ่านข่าวทุกวัน และไม่เคยรู้สึกอิ่มตัวกับงานข่าวเลยแม้แต่วันเดียว
สรกลมักจะหยิบเรื่องราวเครียดๆ หนักๆ เข้าใจยากมาย่อยให้คนอ่านเข้าถึงและรู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวได้ง่ายขึ้น จากลีลาการเขียน-จับประเด็นข่าวอย่างแม่นยำในฐานะนักข่าวหนังสือพิมพ์
ปัจจุบันเขาผันตัวมาจัดรายการผ่าน เฟซบุ๊ก ไลฟ์ รายการเล่าข่าวการเมืองสอดแทรกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจผ่านทางพอดแคสต์ รวมถึงพ็อกเกตบุ๊ค ‘ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ’ ที่แม้ว่าตอนนี้ธุรกิจสิ่งพิมพ์จะซบเซาลงเรื่อยๆ แต่ทุกครั้งที่หนังสือภายใต้ยี่ห้อ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ออกวางขายเมื่อไหร่ก็มักจะติดอันดับหนังสือขายดีอยู่เสมอ
The MATTER ชวนนักข่าว นักเขียน และคอลัมนิสต์ฝีมือคมคาย ‘หนุ่มเมืองจันท์’ พูดคุยว่าด้วยเรื่องของการทำงานข่าว ทิศทางและบทบาทของสื่อไทย รวมถึงเรื่องเล่าหลังสภาฯ ของนักการเมืองชื่อดัง ที่ล้วนผ่านการสัมภาษณ์กับสรกลมาแล้วนับไม่ถ้วน
เห็นว่าตอนแรกไม่ได้สนใจข่าวธุรกิจเลย ทำไมเลือกทำที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่เป็นสื่อธุรกิจ
ตอนนั้นรุ่นผมเป็นรุ่นที่ตกงานกันเยอะ คนหางานยาก มีรุ่นพี่ผมคนหนึ่งชื่อพี่วสันต์เขาก็ถามผมว่า สนใจทำที่มติชนไหมเขาเปิดรับสมัครอยู่นะก็เลยได้มาทำที่ประชาชาติธุรกิจ เชื่อไหมว่าหนังสือพิมพ์นี่ผมอ่านทุกหน้ายกเว้นหน้าเดียวคือหน้าเศรษฐกิจ ผมไม่อ่านข่าวเศรษฐกิจเลยเพราะรู้สึกว่ามันยาก
วันนั้นเป็นวันที่ผมได้บทเรียนอยู่ข้อหนึ่งคือ ไม่มีอะไรยากเกินเรียนรู้ เราไม่เคยรู้เรื่องข่าวเศรษฐกิจเลยเพราะเรากลัว เราคิดว่ามันยาก แต่พอคุณโดนบังคับให้ทำมันก็ไม่ยากเท่าไหร่
ผมมีทักษะอย่างหนึ่งจากการทำกิจกรรมนักศึกษา คือ การประชุม การจับประเด็น และการทำงานกับคน ทำข่าวเศรษฐกิจไปสักพักก็ไม่ยากเท่าไหร่ อ่านข่าวเก่าๆ ก็เริ่มจับประเด็นได้ เคยทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยเรียนมาก็พอรู้ tactics อะไรบางอย่าง บวกกับเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ เวลาเขียนสกู๊ปมันก็มีสำนวนของตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว
ความสนุกของงานข่าวอยู่ตรงไหน
ความสุขของคนที่ชอบเรื่องข่าวอย่างผมคือการ ‘ได้รู้ข่าวก่อนคนอื่น’ ผมอยู่ประชาชาติฯ แต่ผมจะชอบแอบลงไปประชุมข่าวที่กอง บก.มติชนแทบทุกวัน
สมัยก่อนประชาชาติฯ มีกันอยู่ 20-30 คน เวลาประชุมข่าวหน้า 1 ใครว่างก็เข้าประชุมแล้วก็มานั่งเลือกข่าวกันทำให้เด็กมีโอกาส bypass ที่จะไปพาดหัวข่าวหรือไปคอมเมนต์ข่าวกับพี่ๆ ได้ มติชนก็เป็นแบบเดียวกัน พอว่างเมื่อไหร่ผมก็จะไปประชุมกับเขา รู้ข่าวก่อนคนอื่นเนี่ยโคตรมีความสุขเลย
ส่วนอันที่สองคือ เราได้ข่าวเดี่ยว เวลาได้ข่าวเดี่ยวหรือได้ข่าวซีฟ (ข่าวเอ็กซ์คลูซีฟ) ก่อนใครมันรู้สึก yes มาก สมัยก่อนเพื่อนฝูงเวลาทำข่าวด้วยกันจะพูดกันว่า “เจอกันบนแผงนะ” หมายความว่า ข่าวเดียวกันที่ได้มาพร้อมกันใครจะฉีกประเด็นเก่งกว่ากัน
ในฐานะนักข่าวที่อยู่มาตั้งแต่ยุคสื่อกระดาษ นอกจากแพลตฟอร์มแล้ว คุณเห็นพัฒนาการอะไรในวงการข่าวที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ผมว่า นักข่าวรุ่นใหม่เก่ง นักข่าวรุ่นใหม่มีพื้นความรู้ที่นักข่าวรุ่นเก่าไม่มี นักข่าวรุ่นเก่ามีอดีตที่ลึกซึ้ง มีแบ็กกราวน์ของที่มา แต่ถ้าเป็นที่ไปรุ่นใหม่เก่งกว่า รุ่นใหม่พื้นฐานภาษาอังกฤษดีโดยส่วนใหญ่ เทคโนโลยีซึ่งตอนหลังมีบทบาทต่อข่าวธุรกิจคนรุ่นใหม่เขาเข้าใจได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าอยู่แล้ว
และเรื่องของความเร็ว เวลาผมไปงานแถลงข่าวจะเห็นน้องๆ นักข่าวนั่งฟังข่าวแล้วพิมพ์โดยใช้เวลาไม่นานก็สามารถออกมาเป็นข่าวที่ดีและมีบทวิเคราะห์บางส่วนที่เขาเตรียมไว้เสริมด้วย
แต่คนรุ่นผมมีข้อดีอยู่อันหนึ่งคือเวลาคุณพูดถึงใครผมจะรู้ที่มาของมัน มนุษย์เรามีที่มา คนบางคนมีกระบวนท่าแบบนี้ซ้ำๆ ทำมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งที่ 4 เขาก็ทำเหมือน 3 ครั้งแรก ฉะนั้นพอคนนี้ทำแบบนี้ผมจะทายออกเลยว่า เขาจะทำแบบไหนต่อ เวลาวิเคราะห์อนาคตไปข้างหน้า คนรุ่นเก่าอาจจะได้เปรียบกว่า
มีแหล่งข่าวคนไหนที่คุยแล้วแล้วเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อเขาไปเลย
ส่วนใหญ่จะเป็นพวกนักการเมือง นักการเมืองจะมีภาพที่ออกสื่อแล้วมีความเป็นสีดำหรือสีเทา คนกลุ่มนี้พอไปสัมภาษณ์ตัวต่อตัวแล้วเราก็รู้สึกว่า คนนี้ถ้าให้คบในฐานะเพื่อน เขาน่าคบนะ บางทีสิ่งที่เขาทำมันไม่มีเหตุผลในมุมของคนนอกหรอก แต่ถ้าในฐานะเพื่อนพี่น้องเขาจะเป็นคนที่น่าคบหามากๆ คนหนึ่ง อันนี้ไม่พูดถึงการบริหารประเทศนะ ไม่พูดถึงความดีความชั่วในฐานะนักการเมือง พูดกันในเชิงความเป็นมนุษย์
พอจะยกตัวอย่างนักการเมืองที่เห็นภาพความแตกต่างชัดๆ ได้ไหม
อย่างบิ๊กจ๊อด (พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์) ในชีวิตถ้าคุณจะมีเพื่อนสักคนให้หาคนแบบนี้ไว้ เราจะผิดที่ไหนไม่รู้หันมาทางนี้เราถูกเสมอ บางทีเราก็ต้องการเพื่อนแบบนี้ ไม่พูดถึงการเมืองไม่พูดถึงรัฐประหารนะ หรือคุณเสนาะ เทียนทอง ภาพลักษณ์เขาจะเป็นยังไงก็ตาม แต่วันที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งซึ่งทุกคนกำลังเฮกันอยู่ คุณเสนาะนั่งเฉยๆ นิ่งๆ ไม่ค่อยเฮกับใครเท่าไหร่ ก็มีคนถามคุณเสนาะว่าทำไมไม่ดีใจชนะถล่มทลายขนาดนี้ คุณเสนาะตอบว่า เขาเสียใจแทนหลานๆ หลายคนที่ไม่ได้ นี่มันคือมุมน่ารักของคน มนุษย์ทุกคนมีมุมน่ารักแบบนี้เสมอ หรือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คุณจะมองเขายังไงก็ตามที แต่ถ้าคุณเป็นเพื่อนเขาเขาจะเป็นคนที่น่าคบคนหนึ่ง เป็นคนพูดจาโผงผางมีน้ำใจ สิ่งเหล่านี้เป็นความเป็นมนุษย์ที่เราต้องการ ซึ่งคนดีบางคนไม่มีแบบนี้
มนุษย์มีหลายมุม ไม่มีใครมีด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรอก ทำไมคนนี้มีลูกน้องมากกว่าคนอื่น หรือทำไมใครมีปัญหาแล้วรู้สึกว่าต้องมาพึ่งพิงคนนี้ แปลว่าเขาต้องมีอะไรพิเศษที่ทุกคนอยากจะวิ่งเข้ามาหา ต้องมีอะไรมากกว่าชื่อเสียงหรือความเก่ง
ถ้าคุณไปคุยกับคุณชัช เตาปูน (ชัชวาลย์ คงอุดม) คุณจะรู้เลยว่า ทำไมเขามีบารมีมากขนาดนี้ ชื่อเสียงจะดังในมุมไหนก็ตามซึ่งเขาก็ยอมรับแล้วก็เล่าแบบตรงไปตรงมาหลายเรื่องมาก แต่เราก็จะเห็นเลยว่า เพราะวิธีการให้คนรอบข้างของเขาแบบนี้จึงทำให้เขามีบารมีมาก
หรือมุมของนักการเมืองคนดังอย่างคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นยังไงบ้าง
คุณทักษิณเป็นคนที่น่าเสียดายมาก เป็นคนเก่งมากคนหนึ่ง ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักธุรกิจใหญ่ๆ หลายคน พอเราสัมภาษณ์เรื่อยๆ เราจะพอมองออกว่าคนไหนเก่งมากๆ ซึ่งคนนี้เป็นคนเก่งมาก เป็นคนที่เรียนรู้การบริหารธุรกิจแล้วหยิบมาปรับใช้กับการบริหารการเมืองบริหารอำนาจได้
ตัวอย่างชัดๆ คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการ drive ระดับประเทศครั้งใหญ่มาก ทุกครั้งที่ทดลองทำของใหม่เรามักจะทำเล็กๆ ทดลองก่อน แล้วค่อยสรุปขยายทำที่อื่นๆ ตามมา คุณทักษิณทดลองทำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเพียงไม่กี่จังหวัดพักหนึ่งแล้วขยายใหญ่ทั้งประเทศเลย หลายคนก็คัดค้านว่า รีบทำไมเพราะเขารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีแรงเสียดทานจากแพทย์จากอะไรเต็มไปหมด ซึ่งเขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้
แต่คุณทักษิณก็เหมือนมนุษย์ทั่วไป ถ้าอยากรู้ว่า คนคนนี้เป็นยังไงให้ใส่อำนาจเข้าไป อำนาจมันทำให้คนเปลี่ยนตลอดเวลา กลุ่มคนที่ผมเคยเห็นอยู่กับเขามาตั้งแต่ตั้งพรรค มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะแยะมากมาย มาแบบขาวๆ บริสุทธิ์กัน แต่ในวันที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ กลุ่มคนที่อยู่ใกล้ๆ ก็เริ่มโดนเบียดออกไป แล้วก็จะมีคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาแทน นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เขาเปลี่ยน
ถ้าวันหนึ่งคุณธนาธรได้เป็นนายกรัฐมนตรี คิดว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับการเมืองไทยบ้าง
คุณธนาธรเป็นนักการเมืองที่น่าจับตามองที่สุด เพราะมาพร้อมกับความคิดใหม่และวิธีการใหม่ ผมเคยสัมภาษณ์เขาครั้งหนึ่งแต่เป็นการสัมภาษณ์ในฐานะนักธุรกิจ ผมอยากถอดบทเรียนตอนที่เขาทำไทยซัมมิทว่า เด็กคนหนึ่งที่เพิ่งเรียนจบ คุณพ่อเสียกระทันหันแล้วต้องมารับผิดชอบกิจการต่อโดยที่ไม่มีความคิดจะเป็นนักธุรกิจมาก่อน คิดจะเป็น NGOs แล้วต้องกระโดดเข้ามาทำธุรกิจจะเป็นยังไง
ธนาธรเล่าว่า ดีลธุรกิจแรกของเขาตัวเลขเป็นหลักหลายร้อนล้านถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นเขาอายุ 24-25 ปี ผมก็ถามว่า การเจรจาตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง เขาก็บอกข้างบนไม่เป็นอะไรครับแต่ข้างล่างนี่ขาสั่นไปหมดแล้ว แล้วก็ต้องตัดสินใจโดยที่ไม่รู้จักศัพท์ทางธุรกิจ ที่ทำให้สุดท้ายก็สูญเสียผลประโยชน์บางอย่างไปเพราะไม่รู้ว่า ศัพท์คำนี้แปลว่าอะไร
แต่ข้อดีอันหนึ่งในการทำธุรกิจกระทันหันตอนคุณพ่อเสียเนี่ยเขาเล่าว่า เพื่อนๆ ที่ต้องมารับช่วงธุรกิจต่อจากครอบครัวเวลาเสนออะไรไปก็จะโดนปัดตกเพราะพ่อแม่ไม่เห็นด้วย แต่เขาไม่มีพ่อเขาไม่ได้เรียนรู้จากพ่อ เขาได้กล้าตัดสินใจ ฉะนั้นธนาธรจึงเป็นคนที่ตัดสินใจๆๆ อย่างเดียว ซึ่งมันมีความจำเป็นในเชิงบริหาร แล้วถ้าใครเป็นคู่ต่อสู้ด้วยเขาเป็นคนที่น่ากลัว
ธนาธรไม่ใช่คนที่รบไปเจรจาไป เขาเป็นนักไต่เขานักปีนเขาเป็นนักผจญภัย ชอบเอาชีวิตไปอยู่ในจุดเสี่ยงๆ คนแบบนี้น่ากลัวคือ สู้แล้วสู้เต็มที่ จะเลี้ยวหรือยูเทิร์นกลับหลังไม่มี
ด้วยความคิดทางการเมืองของเขาที่มี อ.ปิยบุตร (แสงกนกกุล) อยู่ด้วย ผมว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นองค์กรที่เป็นมิติใหม่อันหนึ่ง ผิดถูกช่างมัน แต่ถ้าเขาอยู่ในสนามการเมืองต่อไปก็อาจจะก่อให้เกิดอะไรใหม่ๆ ในการเมือง เขาอาจจะไปไม่ถึงเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ แต่เขาทำให้ทุกพรรคต้องเริ่มปรับตัว
ระหว่างสัมภาษณ์นักธุรกิจกับนักการเมือง มีความยากง่ายต่างกันยังไง
นักธุรกิจตั้งคำถามง่ายกว่าถ้าเรามีพื้นความรู้ในเรื่องนั้น เพราะมันเล่นเป็นสาระเฉยๆ แต่นักการเมืองในเชิงข่าวเราต้องการวาทะของเขา ผมเคยเขียนคอลัมน์เอ็กซ์คลูซีฟในมติชนสุดสัปดาห์ มันจะหยิบคมคำของแต่ละคนได้ดีกว่า นักการเมืองถ้าเจอคำถามหนักๆ เขาจะหาวิธีหลบเลี่ยงซึ่งเราจะต้อนเขากลับมายังไง ใช้ภาษาไหนที่จะดึงเขากลับมาได้ หรือเขาพูดอะไรที่มันคลุมเครือแล้วให้เราตีความเราจะทำยังไงต่อ
แต่เสน่ห์ของมันคือความคลุมเครือ ฉะนั้นคุณต้องหยิบหาวาทะของนักการเมืองจากตรงนี้ให้ได้ เวลายิงคำถามนักการเมืองจะสนุกเหมือนการโต้วาที ส่วนนักธุรกิจจะเป็นเรื่องสาระ เราต้องทำการบ้านดีๆ เพราะนักธุรกิจถ้าเจอนักข่าวที่ไม่ทำการบ้านเขาไม่ค่อยอยากคุย คุยแล้วไม่สนุก ถามอะไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเจอที่คุยแลกเปลี่ยนกันได้เขาจะรู้สึกโอเค
นักการเมืองคนไหนที่ต้อนกลับยากที่สุด
น่าจะเป็นคุณเฉลิม อยู่บำรุง ก็จะยากตรงที่การไล่ต้อนกลับ เวลาคุยกันเขาสามารถลากไปได้ยาว ต้องหาวิธีวิธีการตบกลับขึ้นมาอยู่เหมือนกัน
การเมืองยุคไหนทำข่าวสนุกที่สุด
ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่โดยที่ไม่ต้องกลัวเรื่องอำนาจมาก แต่วันนี้มันไม่ใช่ แม้ว่าจะเลือกตั้งแล้วแต่เราก็ยังเห็นโครงสร้างทุกอย่างที่ก็รู้กันอยู่ว่าเป็นยังไง ยุคคุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองเป็นช่วงที่ทำข่าวสนุกมาก ทำข่าวเอ็กซ์คลูซีฟ ข่าวเจาะได้หมด ยิงคำถามแบบไม่ต้องกลัว
จริงๆ คุณโตจากการเมืองแล้วค่อยมาทางเศรษฐกิจแบบนี้รึเปล่า
โตจากการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัย แล้วพอทำข่าวเริ่มต้นจากเศรษฐกิจ ผมโชคดีที่ทำข่าวคุณทักษิณมานาน ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับคุณทักษิณไปก่อนแล้วชื่อว่า ‘ทักษิณอัศวินคลื่นลูกที่สาม’ ตั้งแต่สมัยคุณทักษิณทำดาวเทียมไทยคมยังไม่ได้เป็นนักการเมือง ฉะนั้นผมเลยรู้วิธีคิดคุณทักษิณ
พอเขาเป็นนักการเมืองผมก็เป็นคนหนึ่งที่เวลาสัมภาษณ์แล้วจะเข้าใจวิธีคิดของเขา ยิงคำถามในเชิงธุรกิจได้ เพราะนักข่าวการเมืองสมัยก่อนหาคนที่จะมีพื้นธุรกิจเศรษฐกิจน้อย
คนที่เติบโตมาจากธุรกิจ เวลาพูดหรือให้สัมภาษณ์ภาษาก็จะยังเป็นภาษากึ่งธุรกิจและการบริหารอยู่ ตรงนั้นก็เป็นจุดได้เปรียบของเราที่เวลาคุยแล้วเราจะหยิบอะไรออกมาได้ดี การเมืองเป็นพื้นความสนใจผมตั้งแต่เด็กเลย ตั้งแต่ก่อนเข้า ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ยังอยู่ที่ จ.จันทบุรี
คิดยังไงกับคำพูดที่ว่า สื่อเสนอข่าวไม่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกันสื่อเองก็บอกว่า เสนอแบบนี้เพราะคนดูชอบ
ถ้าเราไปดูคลิปที่ยอดวิวสูงที่สุดมันพอจะบอกได้ว่าข่าวไหนมีคนสนใจมากที่สุด ข่าวที่คนด่าว่าไร้สาระที่สุดคือ ข่าวที่คนดูเยอะที่สุด คุณคิดดูสิตอนที่ดาราขัดแย้งกัน จะเลิกกัน พอมีถ่ายทอดสดคนดูมโหฬารเลย ลึกๆ แล้วคนส่วนใหญ่ชอบเสพข่าวแบบนี้แม้ว่ามันจะไร้สาระก็ตามที
หรือจริงๆ แล้วสื่อเองก็ควรจะเสนอข่าวที่แตกต่าง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนวงการข่าวในทิศทางใหม่ๆ แทน
ก็มีสิทธิที่จะเป็นอย่างนั้น ผมว่าก็มีคนกลุ่มหนึ่งแหละที่ไม่ชอบข่าวแบบนั้น หรือดูแล้วก็ไม่ได้ดูแบบชื่นชมแต่อยากรู้อยู่บ้างว่า เกิดอะไรขึ้นนะ จริงๆ โลกของข่าวสารยุคใหม่มันมีข้อดีอยู่อย่างที่ไม่เหมือนยุคก่อน ยุคก่อนผูกขาดด้วยคนทำสื่อที่มีจำนวนไม่เยอะ ข้อเขียนชิ้นหนึ่งจะผ่านไปถึงคนอ่านได้ต้องผ่าน บก.ก่อน ดุลยพินิจของ บก.เป็นตัวชี้ขาดว่า ชิ้นนี้ควรจะออกหรือไม่ออกไป ซึ่งสุดท้ายแล้วบางทีอาจจะไม่ใช่ก็ได้
บก.ไม่เอา คนอื่นไม่เอา แต่มีคนๆ หนึ่งเอา แล้วสุดท้ายสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ผิดหมดเลย คนคนนี้ถูกเพราะประชาชนเป็นคนตัดสิน โลกทุกวันนี้คุณไม่ต้องคิดแล้วว่า จะเขียนอะไรส่ง บก. คุณมีเฟซบุ๊ก คุณมีบล็อก คุณเขียนไปเผลอๆ มีคนอ่านมากกว่า แล้ว บก.ต่างๆ ก็ต้องมาขอต้นฉบับคุณไปพิมพ์ นี่คือโลกยุคใหม่ที่มันเปิดทางให้โดยที่คุณไม่ต้องผ่านอะไรมากมาย
เช่นเดียวกับการทำข่าว แต่ก่อนมีสื่อสำนักข่าวใหญ่ๆ จำนวนหนึ่ง สำนักข่าวพวกนี้เนื่องจากมีคนทำสื่ออยู่จำนวนไม่เยอะ สมมติถ้าคน 6 คนพูดเรื่องเดียวกันพร้อมกันข่าวนี้จะกลายเป็นข่าวใหญ่ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องมันเยอะไปหมดก็ทำให้คนมีทางเลือกเยอะขึ้นว่า ชอบแบบไหน ถ้าเราคิดว่าข่าวแบบนี้ไม่ดีไม่น่าสนใจ เราทำข่าวอีกอันหนึ่ง ทำสักพักเราก็จะรู้ว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจข่าวแบบนี้เหมือนกัน
โลกนี้ไม่จำเป็นต้อง mass ทุกเรื่อง ไม่จำเป็นว่าทุกอย่างต้องปริมาณเยอะที่สุด แต่โลกออนไลน์มันอดไม่ได้ เหมือนเราเขียนสเตตัสเฟซบุ๊กถ้ายอดกดไลก์น้อยก็จะรู้สึกนิดๆ หน่อยๆ ทำไปสักพักพอเริ่มรู้ว่า คนชอบแบบไหนเราก็จะพยายามใส่ในสิ่งที่คนชอบ สิ่งนั้นก็จะไม่ดีนักเพราะไม่ได้ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ กลายเป็นมวลชนกำหนดเรา
แต่ถ้าเราเชื่อแบบนี้ เราทำในสิ่งที่เชื่อว่าดีแล้วเดี๋ยวคนอื่นจะชอบสิ่งนี้เองมันก็จะเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้น โลกนี้มีทางเลือกเยอะอย่าไปคิดว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบเดียว ถ้าเราเชื่อมั่นเราทำแล้วก็โยนไปด้วยโลกเทคโนโลยีมันจะบอกเองว่าใช่ไม่ใช่
ในพอดแคสต์การเมืองจะได้ยินคุณเน้นคำว่า “ปี พ.ศ.2563 เผาจริง” บ่อยมาก ช่วยขยายตรงนี้ให้ฟังหน่อย
ไม่ใช่แค่ผมนะที่พูด นักธุรกิจใหญ่ทุกคนพูดกันหมดว่าจะเป็นยังไง อ.โกร่ง (วีรพงษ์ รามางกูร) พูดชัดว่าเป็นยังไงเพราะเขาเห็นตัวเลขหมดแล้ว เรื่องการลงทุนตอนนี้ไม่มีใครลงทุนหรอกเพราะกำลังการผลิตมีไม่ถึง 60% ก็ไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่ม มีแต่มหาเศรษฐฐีรายใหญ่ๆ บางคนเท่านั้นที่ลงทุนในโปรเจกต์ใหญ่ๆ
ส่วนส่งออกกับท่องเที่ยวก็เจอเรื่องค่าเงินบาท ค่าเงินบาทมาเตะสะกัดสองอันนี้ก็หนักแล้ว เหลือหัวใจสำคัญคือ เรื่องบริโภคภายในซึ่งก็ไม่เกิด สินค้าเกษตรทั้งหลายซึ่งเป็นตัวแปรหลักของตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่กระจายไปทั่วประเทศก็ราคาตกมาไม่รู้กี่ปีแล้ว ประมาณ 4-5 ปีได้ แล้วคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีเงินเยอะ ไม่ได้พร้อมจะขาดทุน 4-5 ปีติดต่อกันเพื่อมีกำไรปีที่ 5 เขาต้องดูกันปีต่อปี
โดยเฉพาะพืชไร่ดูกันปีต่อปีชัดมาก พอขายข้าวไม่ได้กำไรก็ต้องกู้เงินทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น กำลังซื้อภายในประเทศไม่เกิด การลงทุนภายนอกไม่เข้ามันก็เริ่มเกิดปัญหาชัดขึ้น ก็เหลืออย่างเดียวคือ การลงทุนของภาครัฐที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่สุด
ลงทุนภาครัฐพวกนโยบายชิมช้อปใช้อะไรต่างๆ ที่ทำมาผมเข้าใจว่า รัฐบาลจะใช้ตัวนี้เพื่อประคองโรค เหมือนฉีดยาประคองเพื่อให้ไม่หนักเกินไป แล้วค่อยผ่าตัดด้วยงบการลงทุนครั้งใหญ่ ซึ่งปรากฎว่า ปีนี้เป็นปีที่งบประมาณล่าช้าอีกเพราะว่าตั้งรัฐบาลช้า
ทั้งหมดว่าใครไม่ได้เลยว่าผู้มีอำนาจกลุ่มเดิมได้ 100% เพราะเขาเป็นคนกำหนดเกมทั้งหมดทุกอย่างมาว่า จะต้องเป็นจังหวะไหนๆ พอคุณคิดว่างบประมาณช้าแค่นี้ไม่เป็นอะไร แต่มันไม่ใช่ ในภาวะที่แย่ๆ ยิ่งงบประมาณรัฐช้ามันยิ่งทรุดหนักกว่าเดิม
ผ่านงานสัมภาษณ์มาเยอะมาก มีใครที่ยังอยากสัมภาษณ์อีกไหม
คุณประยุทธ์ครับ