‘สุรชาติ เทียนทอง’ อาจไม่ใช่คนที่ปราศรัยเก่ง มีวาทะคำพูดน่าจดจำ หรือมีบุคลิกโดดเด่นจัดจ้าน
แต่ชื่อของเขาถูกกล่าวถึงมานานนับปีในสนามการเมือง กทม. ว่าเป็นคนที่ยังลงพื้นที่ต่อเนื่อง แม้ในช่วงรัฐประหารและหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
การฉีดยาฆ่ายุง ฉีดยาหมาแมว ไปร่วมงานบวช งานศพ งานแต่ง อาจถูกมองแบบปรามาสจากคนบางกลุ่มว่า น่าจะเป็นหน้าที่สำหรับนักการเมืองท้องถิ่นมากกว่านักการเมืองระดับชาติ แต่เขาก็บอกว่า นี่คือกิจกรรมที่จะทำให้เข้าไปได้พบเจอกับประชาชน
ในการเลือกตั้งปี 2562 แม้จะถูกมองว่าตัวเต็ง แต่เขากลับพบกับความผิดหวัง พ่ายการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขต 9 (หลักสี่-จตุจักรบางส่วน) อย่างพลิกความคาดหมาย
แต่เมื่อผู้ชนะครั้งนั้น ‘สิระ เจนจาคะ’ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ขาดคุณสมบัติ ทำให้เก้าอี้ ส.ส.ว่างลง ชายวัย 43 ปีนี้ จึงมีโอกาสแก้มืออีกครั้ง
สำหรับสุรชาติแล้ว ตำแหน่ง ‘ส.ส.’ กับคำว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ มีความแตกต่างกัน แม้ตลอด 17 ปีบนเส้นทางการเมืองจะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ได้เป็น ส.ส.เพียง 2 ปีเศษเท่านั้น แต่ก็ไม่ยอมย่อท้อ ยังพยายามพิสูจน์คุณค่าของตัวเองด้วยการลงพื้นที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้ประชาชนเห็นหน้า เผื่อจะกาเลือกเขาในคูหาเลือกตั้งครั้งถัดไป
และถึงอายุสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือแค่ปีเศษๆ กับเก้าอี้ ส.ส.เพียงแต่ตัวเดียว ไม่น่าจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เหตุใดคนจากพรรคเพื่อไทย (พท.) รายนี้ถึงได้จริงจังกับการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะมาถึงปลายเดือน ม.ค.2565
สุรชาติบอกว่า การเกิดในตระกูลนักการเมือง ทำให้ยิ่งต้องพิสูจน์ตัวเองหนักกว่าคนอื่นๆ อยากให้ผู้คนจดจำเขาในฐานะผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงลูกของนักการเมืองเท่านั้น
เริ่มจากสิ่งที่น่าจะถูกถามบ่อย เป็นคนนามสกุล ‘เทียนทอง’ แล้วทำไมไม่ไปลง ส.ส.ที่ จ.สระแก้ว
เรามี passion อยากเป็นผู้แทนมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคำว่าผู้แทนมันไม่ใช่แค่ ส.ส.ซึ่งเป็นคนที่ใส่สูทเข้าไปทำงานในสภาฯ แต่มันมีภาพของคนที่ไม่ว่าไปที่ไหนก็เป็นที่รัก เป็นที่พึ่งของคน มีคนเข้ามากอดมาหอม มันรู้สึกดี และก็มีภาพนั้นติดตัวมา ก็เลยอยากจะเป็นผู้แทน และยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งมี passion มากขึ้น
คนอย่างผมซึ่งอยู่ในตระกูลการเมือง มองไปทางไหนก็เห็นแต่นักการเมืองเต็มไปหมด มันจะเป็นอะไรอย่างอื่นได้นอกจากนักการเมือง แต่เชื่อไหมครับว่าผมไม่เคยไปสภาฯ สักครั้ง ตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยตามพ่อไป มีพี่ชาย (สรวงศ์ เทียนทอง) เป็น ส.ส.ครั้งแรกปี 2544 ซึ่งในสภาฯ ก็มีตำแหน่งเยอะแยะให้ทำ เป็นผู้ช่วย เป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมาธิการ ที่หลายคนมุ่งหวัง แต่ผมไม่เคยไปเหยียบสภาฯ เลย แม้พี่ชายจะชักชวน ขนาดวันหนึ่งพี่ชายบอกว่ามีธุระเอาของมาให้หน่อย ผมก็บอกว่าให้มาเอาข้างนอกได้ไหม จนเขาโมโหว่าอะไรกันนักกันหนา เพราะผมอยากจะเข้าสภาฯ ครั้งแรกในฐานะผู้แทนราษฎรเท่านั้น และก็ได้เข้าสภาฯ วันแรกจริงๆ ตอนรายงานตัวเป็น ส.ส.ครั้งแรก เมื่อปี 2554
หลังแพ้เลือกตั้งในปี 2562 พรรคเพื่อไทยก็เสนอให้ผมไปช่วยงานในสภาฯ ผมก็บอกว่ายินดีช่วยทุกเรื่อง แต่ขออย่างเดียวคือไม่ไปสภาฯ เพราะผมจะกลับไปในฐานะผู้แทนราษฎรเท่านั้น คือมันเป็นความตั้งใจของชีวิต อาจจะฟังดูงี่เง่า แต่นี่คือความหมายของชีวิต
ที่ผมไม่ลงสมัครเป็น ส.ส.สระแก้ว คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าผมอยู่ในตระกูลการเมือง จะทำให้มีต้นทุนสูงมาก แต่ถ้ามองกลับกัน ผมมีต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น เพราะต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่น ผมเชื่อว่ามนุษย์เราเกิดมาครั้งเดียว สิ่งสำคัญสูงสุดคือการมีตัวตน ถ้าเราต้องใช้ชีวิตโดยแบบความเป็นลูกใครไปตลอด มันจะเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในการใช้ชีวิต วันนี้ผมอายุ 43 ปีแล้ว ถ้าเดินไปไหนแล้วมีแต่คนบอกว่า “นี่ไง ลูกป๋าเหนาะ” ผมแย่นะในการมีตัวตน เพราะผมอยากเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยอยากเป็นแค่ลูกนักการเมือง
การเป็นลูกของเสนาะ เทียนทอง (อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีต ส.ส.หลายสมัย) ให้อะไรบ้างบนเส้นทางการเมืองนี้
ให้เรื่องการต่อสู้ เพราะพ่อผมเป็นคนที่ต่อสู้อะไรมามายก แต่พ่อจะไม่ได้สอนอะไรมากมาย โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง ที่ไม่เคยมาบอกว่าจะต้อง 1 2 3 4 ทำอย่างนี้ๆ แต่ผมก็เก็บเกี่ยวเอาจากที่เห็นพ่อไปพบปะชาวบ้าน วิธีสอนของพ่อผมก็จะเป็นแบบคนโบราณ เช่น “ลองเขย่งขาแล้วกระโดด มันจะกระโดดไม่สูง ถ้าอยากกระโดดให้สูงก็ต้องย่อตัวให้ต่ำ แล้วค่อยกระโดดขึ้นไป” หรือ “ลืมอะไรก็ได้แต่อย่าลืมตัว”
เวลาพูดถึงชื่อของสุรชาติ เทียนทอง สิ่งที่มักจะดีตามมาคือการเป็นคนที่ “เกาะพื้นที่มาก” ทำไมการสร้างตัวตนทางการเมืองจึงเลือกใช้วิธีนี้
คนเป็น ส.ส. ถ้าอยู่ถูกที่ถูกเวลาถูกพรรค ก็มีโอกาสเป็นได้ แต่สำหรับผม การเป็นผู้แทนราษฎรมันยิ่งใหญ่มาก ทุกครั้งที่เราเอ่ยปากเรื่อง “ใช้อำนาจแทนประชาชน” ออกไป ก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเรารู้จักประชาชนดีแค่ไหน การที่เราจะเป็นผู้แทนราษฎรจึงต้องเรียนรู้ประชาชน ซึ่งวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือการใช้ชีวิตอยู่กับประชาชนจริงๆ
แล้วการลงพื้นที่ของผมทุกวัน ไม่ได้ตื่นมาแล้วคิดว่าจะไปหาเสียง เพราะถ้าคิดแบบนั้นเราจะเห็นประชาชนเป็นคะแนน คนนี้เป็น ใครคิดยังไงกับเรา เสื้อสีอะไร ฯลฯ เพราะการเมืองสำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องของการเลือกตั้งแต่เป็นการไปใช้ชีวิตจริงๆ
ในแต่ละวันวางเส้นทางในการไปเจอชาวบ้านยังไงบ้าง
คนก็จะตั้งคำถามว่างานบางอย่างที่ผมทำ เช่น ฉีดยาฆ่ายุง ฉีดยาหมาแมว เป็นงานของท้องถิ่นหรือเปล่า ส.ส.ควรจะทำงานอยู่ในสภาฯ แล้วพวก ส.ส.ที่ไปงานบวช งานศพ งานแต่ง ไปทำไม ไปสร้างระบบอุปถัมภ์หรือเปล่า แต่หลักคิดของผมคือถ้าเราอยากจะเรียนรู้ประชาชน เราต้องเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของเขาให้ได้ นั่นคือการให้เกียรติประชาชน และพอทำไปมากๆ มันไม่ใช่แค่ชีวิตเขาแต่มันเป็นชีวิตเราด้วย
ทุกกิจกรรมของเขาจึงเป็นตัวนำทางให้ผมเข้าไปหาประชาชน เป้าหมายสำคัญก็คือเราต้องการไปเจอเขา เพื่อรับฟังและเรียนรู้เขา พอผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ และเจ็บปวดทุกครั้ง กับคำพูดที่ว่า “ไอ้พวกนักการเมืองจะมาแค่ช่วงเลือกตั้งเท่านั้น มันก็มายกมือไหว้ขอคะแนนเท่านั้น เจอหมายังไหว้เลย เจอเสาไฟฟ้าก็ไหว้” ดังนั้นช่วงก่อนที่ผมเป็น ส.ส. ได้เป็น ส.ส. หรือไม่ได้เป็น ส.ส.มา 7 ปีแล้ว ผมก็ไหว้ทุกคน เพราะไม่อยากได้ยินว่า เพิ่งจะมาเหรอ ผมกลัวคำนี้มาก จึงพยายามทุกอย่างให้ได้เจอกับประชาชน และพิสูจน์ว่าผมมาจริงและผมอยู่จริงนะ
ตอนลงพื้นที่ จะเจอคนที่หลากหลาย ใช้วิธียังไงเปิดบทสนทนากับชาวบ้าน
คือพอเราไปทุกวันๆ มันก็มีเซนส์ของความเป็นพี่น้องลูกหลาน เจอหน้ากันก็ทักทายธรรมดา ป้าหวัดดีครับ ลุงหวัดดีครับ บางคนเมื่อ 10 ปีก่อนเรายังไปเจอเขาที่โรงเรียนอยู่เลย เขาก็เดินมาทักว่าจำได้ไหมลูกคนนั้นบ้านอยู่ตรงนี้ มันคือเซนส์แบบนั้น แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ (ยิ้ม) มันยากครับ มันใช้เวลานานมากในการพิสูจน์ตัวเอง ปี 2548 ปีแรกที่ผมตัดสินใจเดินบนเส้นทางการเมือง โอ้โห เดินไหว้คนเป็นพันเป็นหมื่น น้อยคนมากที่จะรับไหว้ผม
เป็นเพราะอะไร
เพราะเขาไม่รู้จัก ก็แนะนำตัวไปว่า ผมสุรชาติ เทียนทองครับ แล้วมาทำอะไรล่ะ ผมก็ตอบว่าจะมาลง ส.ส.ครับ ก็จะบอกว่าทำไมไม่กลับไปลงที่บ้านนอกล่ะ ที่ กทม.เขาไม่เอาหรอกเทียนทอง
ก็ต้องพิสูจน์ใจกัน พี่ป้าน้าอาหลายๆ คนที่สนิทกันตอนนี้ คนต้องใช้เวลา 4-5 ปี ถึงจะยอมคุยกับผม เพราะเขาบอกว่าเขามีคนในดวงใจ มีพรรคในดวงใจอยู่แล้ว เขาจะไม่คุยกับคนอื่น ผมก็บอกว่าไม่เกี่ยวเลย ไม่ต้องเลือกผมก็ได้ ซึ่งนอกจากความเป็นนักการเมืองแล้ว เราอาจจะต้องพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ไปในเวลาเดียวกัน ผมเป็นนักการเมืองก็จริง แต่ก็พยายามรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ให้ได้มากที่สุด
ระยะหลังมีนักการเมืองหลายคนใช้โซเชียลมีเดียในการให้สื่อสารกับชาวบ้าน ตัวคุณสุรชาติเองมองว่าการใช้โซเชียลมีเดียกับการลงพื้นที่ อะไรสำคัญมากกว่ากัน
สำคัญทั้งคู่ โซเชียลมีเดียก็ดีในแง่ที่เราจะสามารถถ่ายทอดความคิดไปให้ถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น แต่การได้สัมผัสกับประชาชนตัวเป็นๆ เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าก่อนมาเดินบนเส้นทางการเมือง ผมเป็นนักการตลาดและนักโฆษณามาก่อน ผมจึงเข้าใจกลไกในการทำ branding ในการโฆษณา ในการ PR ผมเข้าใจหมดทุกอย่าง แต่ผมไม่เอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้กับการสร้างตัวตนทางการเมืองของผมเลย เพราะผมคิดว่าตัวเองไม่ใช่สินค้า และประชาชนก็ไม่ใช่ผู้บริโภค ผมก็ทำมาตลอดอยู่ในมุมเล็กๆ และผมก็ไม่ใช่คนที่อยากมีชื่อเสียงในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน การลงพื้นที่ก็เพื่อจะพยายามเอาตัวตนของเราไปให้ประชาชนได้สัมผัส 1 ครั้งไม่พอ 2 ครั้งไม่พอ 3 ครั้งไม่พอ 1 ปีไม่พอ 5 ปีไม่พอ ก็ทำให้มันมากขึ้น จนมาถึงวันนี้ 17 ปีแล้ว ผมขอเป็นตัวแทนของนักการเมืองที่เน้นการอยู่กับประชาชนตัวเป็นๆ ละกัน
การเลือกตั้ง 3 ครั้งที่คุณสุรชาติได้ลงสมัคร ทั้งในปี 2550 ปี 2554 และปี 2562 ระบบการเลือกตั้งก็เปลี่ยน เขตการเลือกตั้งก็เปลี่ยน มันมีความยากง่ายแตกต่างกันอย่างไร
ผมไม่มีปัญหากับวิธีการเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งเลย
จริงๆ แล้วการทำงานในพื้นที่ของผมเริ่มต้นที่เขตจตุจักร ผมเดินอยู่ในเขตจตุจักรมา 6 ปี การเลือกตั้งปี 2550 ใช้ระบบเขตใหญ่ จตุจักร หลักสี่ บางซื่อ และพญาไท เอา ส.ส. 3 คน แต่เวลาในการเตรียมตัว ช่วง 2 ปีแรกผมเดินแค่ในเขตจตุจักร ดังนั้นในเขตอื่นผมจึงไม่รู้จักใคร ผลการเลือกตั้งจึงออกมาว่าได้ 9,400 คะแนน ส่วนคนที่ชนะได้มากกว่า 113,000 คะแนน การเลือกตั้งปี 2554 กลับมาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ตอนนั้นผมย้ายจากพรรคประชาราชมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย เขาก็ขอให้ผมมาทำพื้นที่ในเขตหลักสี่กับดอนเมือง แล้วผมก็ได้มาเป็น ส.ส.ที่นี่
เพราะฉะนั้นเขตที่ผมทำพื้นที่ใน กทม.จึงอยู่ที่ 3 เขตใหญ่ๆ คือ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ซึ่งผมไม่เคยหวั่นเลย เขตไหนก็ได้ ยิ่งพื้นที่เปลี่ยนยิ่งทำให้ผมได้มีโอกาสรู้จักประชาชนมากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่าได้เข้าถึงประชาชนในบริเวณที่กว้างขึ้น มันเหมือนกับมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ (หัวเราะ) มันเหมือนกับได้ รีเฟรชตัวเอง ก็มีความสุขนะครับ บุคลิกของผมอาจดูไม่ได้แข็งกล้าเอาอะไร แต่ผมก็สู้อยู่ทุกวัน และที่สู้มากที่สุดคือ สู้กับตัวเอง
ทำไมการสู้กับตัวเองจึงมากที่สุด
อย่างตอนที่แพ้การเลือกตั้งครั้งแรก เราเดินมา 2 ปี แต่กลับได้แค่ 9,400 คะแนน ผมแพ้พี่ลีน่า จังจรรจาด้วยนะ ผมก็ใช้เวลานอนอยู่บ้าน 1 วันถามตัวเองว่าจะเอายังไงต่อดี เพราะความฝันของเราทั้งชีวิตมันดูห่างไกลมาก ผู้ชนะเขาได้ 113,000 คะแนน อย่าเรียกว่าคู่แข่งเลย เราไม่ได้เป็นคู่เทียบของเขาด้วยซ้ำ เราจะมีวันที่ถึงฝันได้เป็น ส.ส.ไหม แล้วเส้นทางกันของเราจะเอายังไงต่อ ก็นั่งถามตัวเองอยู่ 1 วัน ปรากฏว่าตอบตัวเองไม่ได้ วันต่อมาก็ลุกขึ้นไปลงพื้นที่เหมือนเดิม
พอปี 2554 ได้เป็น ส.ส. แต่หลังจากนั้นก็เกิดการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งเหมือนกับถนนที่ไม่มีไฟทาง ไม่รู้เลยว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะกินเวลากี่ปี ถ้ากลับมาเลี้ยงตั้ง พื้นที่จะเปลี่ยนไหม กติกาจะเป็นยังไง พรรคที่เราสังกัดจะยังอยู่ไหม มันไม่รู้อะไรเลย และการทำงานการเมืองโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย มันมืดมนนะครับ เราก็ทำมาเรื่อยๆ ผลการเลือกตั้งปี 2562 ผมแพ้แบบ.. ขอพูดตรงๆ ว่าผมไม่ได้เผื่อใจไว้เลยแม้แต่นิดเดียว
ฉะนั้นคำว่าต่อสู้กับตัวเอง คือการหาคำตอบให้กับคำถามว่า ตื่นเช้ามาจะไปลงพื้นที่ ฉีดยุงฉีดหมา ให้กับชาวบ้านไปทำไมวะ ส.ส.ก็ไม่ได้เป็น มันต้องใช้แรงบันดาลใจสูงมาก แล้วก็ต้องใช้ยิ่งกว่าการมีทัศนคติที่ดี
ตอนแพ้เลือกตั้งปี 2562 ผ่านมาได้ยังไง อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ยังเดินต่อ
(ตอบเร็ว) ประชาชนครับ ผมจำได้เลยว่า หลังรู้ว่าแพ้เลือกตั้ง อีกวันหนึ่งก็ไปขึ้นรถแห่ขอบคุณพี่น้องประชาชน เพราะคะแนนที่เราได้ก็ไม่ได้น้อย เอ่อ.. เป็นวันเดียวนะที่ผมเสียน้ำตาทางการเมือง ผมไม่ได้เสียใจที่ผมแพ้นะ แต่ทุกที่ที่รถแห่ผ่านไป ก็มีพี่ป้าน้าอาวิ่งออกมาร้องไห้ เป็นวันเดียวที่ผมร้องไห้ พอกลับมาถึงสำนักงาน ทีมงานก็บอกว่าขอให้วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะได้เห็นน้ำตาของผม ก็เลยกลับมานั่งคิด ผมมีความเชื่อง่ายๆ สั้นๆ ว่า ถ้าเราไม่ทิ้งประชาชน ประชาชนก็จะไม่ทิ้งเรา และในช่วงรัฐประหาร 5-6 ปี ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ผมน่าจะเป็นคนเดียวที่ลงพื้นที่เกือบทุกวัน โดยไม่สนใจว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ผมแค่ออกไปอยู่กับประชาชน ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่กับเขาทุกวัน
หลังการเลือกตั้งปี 2562 ผมเชื่อว่าเหตุที่แพ้ ไม่ใช่เป็นเพราะประชาชนทิ้งเรา แต่แพ้เพราะปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ประชาชน
คุณสุรชาติวิเคราะห์ไว้อย่างไร ปัจจัยอะไรทำให้แพ้คุณสิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ
ผมไม่เคยโจมตีใครในทางการเมือง ขอพูดในภาพรวมแบบไม่ลงรายละเอียดละกัน ก็.. แน่นอนว่า เรื่องของการซื้อเสียง คือประเทศไทย ผมเสียดายมากว่าเราเกือบจะก้าวข้ามเรื่องของการซื้อเสียงไปแล้ว ผมเกิดและโตมากับการเมือง เห็นมาทุกรูปแบบ เช่น ก่อนเลือกตั้งให้รองเท้าไว้ข้างหนึ่ง ขอเลือกตั้งเสร็จก็เอารองเท้าอีกข้างหนึ่งมาให้
แต่ที่เห็นการเมืองมันพัฒนาจริงๆ ก็คือตอนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ในการเลือกตั้งปี 2544 และปี 2548 เห็นได้ชัดว่าการซื้อเสียงแทบจะไม่มีผลแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 มันทำให้พรรคการเมืองแข็งแรง ทำให้นโยบายของพรรคการเมืองมีผลจริงๆ กับชีวิตของประชาชน เขาจะไม่ไปรับผลประโยชน์เฉพาะหน้า แลกกับนโยบายต่างๆ ที่จะทำให้พวกเขามีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น เราจะเห็นพัฒนาการว่า มันดีขึ้นในทุกครั้ง การซื้อเสียงแทบจะไม่มีผลเลย แต่น่าเสียดาย พอมีการรัฐประหารในปี 2557 สภาพเศรษฐกิจและสังคมมันย่ำแย่ลงมาจนถึงทุกวันนี้ มันเป็นขาลงมาโดยตลอด ทำให้ประชาชนอ่อนแอ เมื่อมีการเลือกตั้งปี 2562 การซื้อเสียงจึงกลับมาอีกครั้ง เพราะประชาชนอ่อนแอมากตลอด 5-6 ปีของการรัฐประหาร ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากพิษเศรษฐกิจและพิษ COVID-19 เราจะเห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งซ่อม สส.ในหลายสนาม การซื้อเสียงมันแทบจะเป็นปัจจัยหลักในการทำให้เกิดผลแพ้-ชนะ
ผมไม่โทษประชาชน แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาอ่อนแอจนต้องยอมจำนน ผมโทษคนที่ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะแบบนี้ ดังนั้นที่แพ้การเลือกตั้งปี 2562 การซื้อเสียงจึงมีส่วนสูงมาก อีกเรื่องหนึ่งก็คือกลไกของอำนาจรัฐ เพราะเขตเลือกตั้งนี้มีความประหลาด ทั้งเรื่องจำนวนคะแนนและการนับคะแนน เช่น มีบัตรเลือกตั้งเขตนี้ไปโผล่อยู่ในเขตอื่น ซึ่งเขาก็ถือว่าเป็นโมฆะทั้งหมด ดังนั้นจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์กับคะแนนที่ผู้สมัครทั้งหมดได้จะต้องไม่เท่ากัน แต่ผลออกมาที่สำนักงานเขตกับปรากฏว่า ตัวเลขตรงกันเป๊ะ ไหนจะเรื่องไฟดับตอนนับคะแนนอีก ดังนั้นผมจึงไม่เชื่อว่าผมแพ้เพราะประชาชน
นอกจากนี้จำนวนคะแนนที่ผมได้ คือใน กทม.ตอนปี 2562 มีการเลือกตั้ง 30 เขต พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร 22 เขต อีก 8 เขตเป็นพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ส่ง แล้วเขาก็ถูกยุบไป ผลปรากฏว่าผมได้คะแนนมาเป็นอันดับสามใน กทม.ของ พท.ถือว่าเยอะมาก แต่ผมก็ไม่ใช่คนที่ผิดหวังแล้วจะมานั่งตีโพยตีพาย ก็ออกเดินหน้าเข้าหาประชาชน นี่แหละคือการต่อสู้ของผม
การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.ครั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมืองและสื่อ มองว่าการที่ทาง พท.และพรรคก้าวไกล (กก.) ส่งผู้สมัครจะทำให้เกิดการตัดคะแนนกันเอง จนอาจทำให้พ่ายแพ้อีก คุณสุรชาติมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร
ไม่กลัวเลย เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ผมคิดว่าการที่พรรคการเมืองซึ่งมีความพร้อมส่งผู้สมัครมาให้ประชาชนเลือก โดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ทุกพรรคที่ส่งถือว่าเป็นตัวผู้สมัครที่ดีที่สุดแล้วมาให้ประชาชนเลือก มันคือการให้เกียรติประชาชน
อีกอย่างนึงสำหรับผม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่ว่าชนะแล้ว เป็นแค่การกลับไปใส่สูทเข้าไปอยู่ในสภาฯ แต่มันเป็นการพิสูจน์อุดมการณ์ ความเชื่อ สิ่งที่ทำมาทั้งหมด การยอมรับในการเป็นผู้แทนราษฎรที่แท้จริง เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้วการที่ทุกพรรคส่งผู้สมัครที่ดีที่สุดลงมา ถ้าผมได้กลับเข้าไป มันจะเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุด เพราะเท่ากับว่าผมได้รับการยอมรับโดยแท้จริงจากประชาชน
แต่ถ้าเกิดมีพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ส่ง แล้วผมเกิดชนะเข้าไป และมีคนมาพูดกับผมว่า “สุรชาติมันโชคดีนะ ที่ชนะการเลือกตั้ง เพราะมีบางพักหลีกทางให้” มันจะเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกแย่ที่สุด เพราะเราทำมาขนาดนี้ก็ต้องการพิสูจน์ตัวเองกับประชาชน
ช่วงหลังจะมีปรากฎการณ์ที่แฟนคลับของ พท.กับ กก.มาถกเถียงกันในหลายๆ ประเด็น และการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ก็ถูกหยิบมาเป็นหนึ่งในประเด็น เช่น ทำไมไม่หลีกทางให้ ถ้าแพ้มาจะเป็นยังไง คุณสุรชาติมองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง
(ยกมือไหว้) ผมขอกับแฟนคลับทั้ง 2 ฝั่งเลย ผมแค่พยายามทำในสิ่งที่คิดว่าทำได้ดีที่สุดมาตลอดแล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันแนวคิดเดียวกัน ขอร้องเถอะครับว่าอย่าไปทะเลาะกันเลย คือรสนิยมทางการเมือง ความเชื่อทางการเมือง มันหลากหลายได้นะครับ เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันนะ คนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันต้องช่วยกัน ที่ไม่ได้แปลว่าฮั้วกัน แต่เรามีปลายทางอยู่ที่เดียวกัน ท้ายสุด สังคมที่เราอยากเห็น โลกที่เราอยากให้เป็น มันเป็นสังคมและโลกใบเดียวกัน แม่อาจจะคิดไม่ตรงกันบ้างเรื่องระยะเวลาและวิธีการ ซึ่งรายละเอียดที่ไม่ตรงกันมันไม่จำเป็นจะต้องมานั่งขัดแย้งกัน
แล้วถ้าให้พูดตรงๆ ผมไม่ค่อยแสบดราม่าในโลกโซเชียลเท่าไหร่ เพราะวันๆ ผมก็ลงพื้นที่ทำงาน ไปย้อนดูได้เลยมีคนมากดไลก์ 40 คนบ้าง 50 คนบ้าง 60 คนบ้าง ผมไม่อยากเป็นคนที่คนรักหรือเกลียดโดยไม่มีเหตุผล ผมพยายามต่อสู้กับเรื่องนี้มาตลอด ในพื้นที่มีคนที่ไม่ชอบพรรคผมไหม มีเยอะครับ แต่ผมก็พยายามพิสูจน์ด้วยความเป็นมนุษย์ ว่าผมตั้งใจมาทำงานเพื่อพวกเขา และหากได้เป็นผู้แทนก็จะทำงานให้แม้แต่คนที่เกลียดผมด้วย
คิดว่าผลการเลือกตั้งซ่อม สส.กทม.เขตนี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่อย่างไรบ้าง เพราะอายุสภาฯ ก็เหลือเพียงปีเศษเท่านั้น
มันก็วัดได้ระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ใช่ทุกอย่าง คือมันก็เลี่ยงไม่ได้ว่าอาจจะเป็นการวัดกระแส ก่อนการเลือกตั้ง ส.ก.และผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมาถึง ถ้ามีนะ
แต่สำหรับตัวผม คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันสำคัญมากกับคนที่อยู่ในพื้นที่ เพราะมันมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนในเขตเลือกตั้งนี้ถูกมองอย่างด้อยค่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีของคนในพื้นที่ด้วย มันจะเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เลือกผู้แทนราษฎรที่แท้จริงของเขา ซึ่งไม่รู้ว่าผู้สมัครคนอื่นจะรับรู้ได้ถึงเซนส์นี้หรือเปล่า แต่ผมที่อยู่กับคนในพื้นที่ทุกวัน รู้สึกได้ถึงเซนส์แบบนี้
การเลยใช้แคมเปญหาเสียง “ทวงคืนศักดิ์ศรี”
ใช่ครับ เชื่อไหมว่าผมเป็น ส.ส.เขตเลือกตั้งนี้แค่ 2 ปีครึ่ง แล้วผมก็ไม่ได้เป็นสสมา 7 ปีกว่า แต่เวลาไปไหนผมแบกศักดิ์ศรีของคนในพื้นที่นี้ไปด้วย ผมไม่ได้ดราม่านะ แต่ผมไม่เคยไปทำตัวสำมะเลเทเมาหรือเกะกะระรานใครที่ไหน ถ้าผมไปทำตัวไม่ดี คนด่าถึงพ่อแม่ผมก็เจ็บปวด แต่ผมจะเจ็บปวดที่สุดถ้ามีคนด่าว่า แล้วคนในเขตเลือกตั้งดีเลือกไปเป็น สส.ได้ยังไง และไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ไป ผมขอเลยว่าช่วยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขามีผู้แทนที่ดี
ตลอด 17 ปีบนเส้นทางการเมืองอะไรคือเหตุการณ์ที่ภูมิใจหรือสำเร็จที่สุด และคิดว่าจะอยู่บนเส้นทางนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่
ตอนเด็กอยากเป็น ส.ส. ตอนนี้ก็สมใจแล้ว มันเป็นความฝันมาตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าถ้าไม่ได้เป็น ส.ส.แล้วจะไปเป็นอะไร พอได้เป็น ส.ส.สำนึกความเป็นผู้แทนมันก็เกิด แต่หลังจากนั้นก็ต้องเผชิญความจริง ว่าตำแหน่งมาแล้วก็ไป ผมเห็นตัวอย่างมาเยอะแล้ว ไม่ใช่แค่กับตัวเองแต่กับคนอื่น ดังนั้นสิ่งที่พอใจก็คือสำนึกความเป็นผู้แทน
ถามว่าจะทำการเมืองไปถึงเมื่อไหร่ คำตอบมันง่ายมาก ผมไม่ใช่คนที่จะทำทุกอย่างให้ได้รับชัยชนะ ดังนั้นเรื่องชนะหรือแพ้ เรื่องตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ผมจึงไม่ได้สนใจเลย แต่เมื่อผมพยายามพิสูจน์ตัวเองแล้ว อยู่ที่ว่าประชาชนจะให้โอกาสผมไปถึงไหน
Cover Illustration by Sutanya Phattanasitubon