แทบทุกคนรู้จัก TED Talk ไม่ว่าจะในฐานะงานพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ วิดีโอที่บันทึกเรื่องราวความคิด ประสบการณ์ Knowhow ของบุคคลระดับโลก เวทีที่รวมหัวกะทิในแวดวงต่างๆ ที่ถูกยอมรับว่าเป็นตัวจริง เป็นดาวรุ่ง ดาวค้างฟ้า หรือกระทั่งในฐานะคลิปเพื่อฝึกภาษาอังกฤษของชาวไทย
นอกจาก TED Talk ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มลักษณะนี้ที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่างที่ว่าไป ก็ยังมี TEDx คือ TED ระดับภูมิภาค โดยอนุญาตให้นำชื่อและรูปแบบไปใช้เพื่อจัดงานซึ่งมีเจตนารมย์เดียวกันได้ทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็ตาม เรามี TEDx มากมายหลายแห่ง ตั้งแต่เล็กๆ ระดับมหาวิทยาลัย ระดับโรงเรียนไปจนระดับเมืองและท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น TEDxChiangMai และ TEDx BuengKaennakorn
และแน่นอน กรุงเทพฯ — TEDxBangkok
อะไรคือสาเหตุที่เราควรจะมีงาน TEDx เป็นของตัวเอง อะไรคือปัญหา อุปสรรค ในบ้านเมืองที่เราต่างรู้กันว่าร้อนระอุไปด้วยความขัดแย้งและกลิ่นทะแม่งของการเมือง เมืองที่อุดมไปด้วยความเดือดดาลบนอินเทอร์เน็ต และเคลือบฉาบไปด้วยความเท็จที่เราถูกหยิบยื่นให้จากผู้ยิ่งใหญ่อย่างนักการเมืองและเหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลาย
การพูดมีประโยชน์อะไรในบ้านที่เหมือนไม่มีใครจะพร้อมฟัง?
The MATTER คุยกับ โอ—อรรณวุฒิ ลีไพศาลสุวรรณา ถึงเรื่องเหล่านี้ ที่มาของงาน และที่ไปในอนาคตที่เขาวาดฝันเอาไว้ รวมถึงวิธีคิดของทีม TEDxBangkok ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าฟังไม่แพ้ Speaker คนไหน
ปรบมือ!
ภาพที่เกิดขึ้นในงาน TED มันคือการรวมตัวของคนที่เป็นความหวังต่ออนาคตของโลก มันทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อไปสู่ความหวังนั้น แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยืนอยู่บนความจริงด้วย เขาก็รู้ว่าอะไรมันคือสิ่งที่ขัดขวางเขาอยู่ อะไรคือสิ่งที่เขาสามารถทำได้
The MATTER : TED ต้นตำรับมองคนไทยยังไงตอนที่คุณไปขอลิขสิทธิ์มาทำ TEDxBangkok
พวกเขาตื่นเต้นมากครับ เท่าที่ได้ยินจากคนที่นั่นเองเลย ไม่ใช่แค่มันเป็นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เขามองว่า TED มันดูจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้เฉพาะคนตะวันตกเสียส่วนใหญ่ หรือถ้าเป็นฝั่งนี้ก็จะเป็นญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ซึ่งการที่เราเข้าไปขอว่าเราอยากจะจัดงานที่ Bangkok เขามองว่ามันเป็นการจุดประกายของ TED ที่กำลังจะเกิดขึ้นในละแวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
The MATTER : ถึงบ้านเราดูจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง รุนแรง และมาคุไปด้วยการเมือง?
ไม่มีเลย TED ค่อนข้างจะเป็นฝั่ง Positive มาก เขาไม่ได้มุ่งหวังว่าการที่เขาเข้ามาเขาจะเปลี่ยนแปลงการเมือง หรือทำให้เราประเทศเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายมันเป็นเรื่องของ Ideas Worth Spreading คือเรื่องว่าการเข้ามาแล้วเผยแพร่ความคิดที่หลากหลายได้มันก็เพียงพอสำหรับ TED แล้ว
The MATTER : TED มีกฎไหมว่าจะต้องไม่ยุ่งกับการเมืองเลย
ใช่ครับ แต่ก็คือพูดเรื่องการเมืองได้อยู่บ้าง ยกเคสของเมืองนอกที่ประทับใจอันหนึ่งคือ Lawrence Lessig ที่เป็นคนก่อตั้ง Creative Commons แต่หัวข้อทอล์คเขาก็คือ We the People, and the Republic we must reclaim คือเขาพูดโจมตีประชาธิปไตยในประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะที่เวทีของงานก็อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน เขาพูดถึงเลยว่าการทำ Primary Vote ให้คนส่วนหนึ่งโหวตได้ อีกส่วนหนึ่งโหวตไม่ได้ การที่นายทุนจะเข้ามาซัพพอร์ต เพื่อให้เสียงคนนึงมันดังกว่า มันก็เท่ากับว่าเขาไม่มีประชาธิปไตยแล้ว แล้วเขาก็รณรงค์ว่านี่คือสิ่งที่ผิดไปจากประชาธิปไตยที่คนก่อตั้งอเมริกาเขาตั้งไว้ตั้งแต่แรก คือถามว่ามันเป็นเรื่องการเมืองไหม ผมรู้สึกว่ามันใช่ แต่มันคือการพูดถึงโครงสร้างการเมือง พูดถึงทางออก ว่าระบบมันควรจะเป็นยังไงต่อไป แต่เคสที่จะไม่มีเกิดขึ้นเลยคือการมาเชียร์ว่า Obama ดีอย่างนั้น Donald Trump มันไม่ดีอย่างนี้ พวกนี้จะไม่เกิดขึ้น
The MATTER : คุณเริ่มคลุกคลีกับ TED ในฐานะผู้แปลมานาน ทำไมถึงตัดสินใจก้าวมาสู่สเต็ปการจัด TEDx ในบ้านเมืองตัวเอง
ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำ ช่วงที่บ้านเรามีกีฬาสีเยอะๆ ขัดแย้งกันเยอะๆ มันมีคำถามสองอย่างในใจที่คับอกคับใจว่า เฮ้ย จริงเหรอที่ว่าคนไทยเสพเฉพาะละครหลังข่าว เราไม่สนใจเรื่องซีเรียสหรือเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตเราเหรอ ส่วนอีกคำถามก็เกิดขึ้นตอนได้เห็นซับไตเติ้ลไทยใน TED ที่เราตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วไอ้ซับไตเติ้ลมันจะทำให้คนมาสนใจอะไรอย่างนี้ได้มากขึ้นจริงเหรอ ปรากฏว่าการแชร์ไปให้เพื่อนแล้วเพื่อนชอบ จากนั้นเขาก็แชร์ต่อไปอีกหลายทอด มันตอบโจทย์ให้เห็นแสงสว่างไปสู่คำตอบทั้งสองอย่างว่า คนเรามันก็สนใจเรื่องที่มีความสำคัญหรือเรื่องที่มีสาระต่อชีวิตเขา แค่มีซับไตเติ้ลเองมันก็ทำให้คนสนใจมากขึ้น คนพร้อมที่จะกระจายข้อมูลพวกนี้ต่อด้วย ก็เลยเป็นที่มาของที่เริ่มสนใจ TED แล้วก็เริ่มมา involve กับ TED
ตอนนั้นเรารู้สึกไม่ค่อยชอบวิธีการที่สังคมเราถกเถียงกันด้วย Hate Speech เราคุยกันแต่เรื่องความผิดของคนอื่นโดยไม่ได้พูดถึงหนทางแก้ไข พูดถึงแค่ว่าจะเอาคนนี้ออก จะเอาคนนั้นออกยังไง มันก็เลยยิ่งกลายเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้คนเสพเรื่องที่มีประเด็นสาระมากขึ้น พูดถึงทางออกมากขึ้น
The MATTER : กว่าจะได้สิทธิในการใช้ชื่อ TED คุณต้องผ่านด่านอะไรบ้าง
มันยากตรงที่ว่าเราจะสร้างความมั่นใจให้กับ TED ได้ไหมว่าเราอยากทำงานนี้จริงๆ จะเอาแพลตฟอร์มของเขาไปใช้ในแง่เผยแพร่ความคิดที่หลากหลายโดยที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรจริง ซึ่งตัวเอกสารของเขาที่ให้เรากรอกตำตอบนี่ยาวมากเลย ทำไม่จบภายใน 15 หรือ 30 นาที ต้องใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมงในการคิดคำตอบทั้งหมด ถามตั้งแต่ว่าเราเป็นใคร ทำอะไรมาก่อน ทำไมเราถึงอยากจะจัดถามถึงคอนเซปต์งาน มีธีมในใจหรือยัง ถ้ามีแล้ว ธีมคืออะไร เราอยากจะเอาไอเดียแบบไหนมาขึ้นบนเวทีบ้าง แล้วใครที่สามารถมาเป็น Speaker ที่มาซัพพอร์ตไอเดียเราได้บ้าง ต้องซื้อใจให้เขารู้สึกให้ได้ว่า สิ่งที่เราทำมันค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ TED ทำอยู่
The MATTER : ใช้เวลานานมั้ยกว่าจะเชื่อใจเรา
เคสของผมเป็นเคสที่ค่อนข้างง่าย เพราะเราทำงานร่วมกับ TED มา 6-7 ปีแล้ว เขาค่อนข้างรู้จักเราดีในนาม Translator แต่ในเคสของคนอื่นที่สมัครเข้าไปใหม่ก็อาจโดน Reject ไปมาหลายรอบ ใช้เวลาหลายเดือนอยู่ เพราะแก้กลับมาแต่ละทีก็ต้องมีเสียเวลา 1 เดือน
อีกเรื่องที่หินๆ คือโดยปกติแล้ว TEDx จะถูกลิมิตคนฟังอยู่ที่ 100 คนที่มาเข้าร่วมงาน ห้ามสเกลใหญ่กว่านั้น แต่อันนี้เราขอให้เป็น 1,200 คนได้ เพราะเราเคยไปร่วมงาน TED ใหญ่มาก่อน แต่เขาก็จะตรวจเอกสารหนักขึ้น ต้องมีสอบสัมภาษณ์ผ่าน Skype อีกเพื่อให้เขาเชื่อว่าเราจัดงานได้จริง เราไว้ใจได้
The MATTER : เมื่อทุกอย่างผ่านแล้ว TED มีอะไรซัพพอร์ตเราไหม
สิ่งที่เขามีใหญ่ที่สุดก็เป็นเรื่องของ Community การได้เข้าไปแล้วเราเจอ Community ของ Organizer ทั่วโลก ที่พร้อมจะให้ข้อมูลเรา ให้ Resource ว่าการจัดงานจะจัดยังไง ทั้งใน Group Facebook ทั้ง Community ในเว็บไซต์ของเขาเอง
The MATTER : ทำไมคิดว่า TED จะได้ผลในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ดูเหมือนคนจะไม่ค่อยฟังอะไรกัน
ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นที่คนไม่ฟังกัน หรือว่าเราไม่เคยมีพื้นที่ให้คนได้มาฟังกัน สุดท้ายผมว่ามันอยู่ที่เจตนาของคนที่สร้างพื้นที่กลางนั้นด้วย ว่าเขาเปิดใจให้คนสองฝั่งได้มาถกเถียงและพูดคุยบนเหตุผลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหลายๆ ที่เราน่าจะเห็นว่ามันจะพื้นที่มันเอนไปทางฝั่งเดียว คนที่เป็นอีกขั้วความคิดนึงไปพูดคุยในนั้นก็จะโดนผลักไสออกมาหรือโดนด่ารุนแรง หรือเคสที่แบบที่ไหนกลางๆ หน่อย ก็จะมีเป็นเคสที่อีกฝั่งนึงที่เขียนอะไรไม่พอใจเรา เราก็จะมีอำนาจที่จะลบตรงนั้นได้
แต่เคสที่เกิดขึ้นกับ TEDxBangkok ล่าสุดเราพยายามที่จะให้เป็นพื้นที่ที่คนสองขั้วความคิดสามารถมาถกเถียงกันอยู่บนเหตุผลได้ เคสล่าสุดคือบนเฟซบุ๊กที่มีดราม่าไปเมื่ออาทิตย์ก่อน คือเราไปสัมภาษณ์พี่สไปร์ท (แรงบันดาลใจของตัวละครสไปรท์ ในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น) หลังจากโพสต์บทสัมภาษณ์ไปราวสองชั่วโมงก็มีคอมเมนต์ในเชิงลบมาเยอะมาก จนกระทั่งคนในทีมมาปรึกษาผมว่า จะเอายังไงดี จะลบไหม จะลบคอมเมนต์ไหม แต่สุดท้ายผมมองว่าคือเราตั้งตัวไว้แล้วว่าเราจะเป็นคนที่ให้คนมาถกเถียงกันผ่านทางความหลากหลายของความคิด ถ้าเราลบเมื่อไหร่มันก็เท่ากับว่าเราผิดสัญญากับตัวเองเมื่อนั้นเลย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้ทีมประทับใจมากเพราะสุดท้ายมันเป็นการที่คนสองฝั่งได้มาแชร์พื้นที่ คอมเมนต์กันด้วยการถกเถียง ซึ่งเท่าที่ดูคือมีน้อยมากครับที่มีการถกเถียงกันโดยใช้วาจาหยาบๆ คายๆ สุดท้ายก็มีการเถียงกันเป็นข้อๆ มีการใช้คำว่า ‘ทำไม’ มากกว่าการด่าทอกัน
The MATTER : ทำไมทอล์คของ TED ถึงพิเศษกว่าเวทีอื่น
คงเป็นเรื่องของการเตรียมตัวของคนที่จะมาขึ้นพูดบนเวที ซึ่งเป็นสิ่งที่ TED โฟกัสเยอะมาก ก่อน Speaker จะขึ้นเวที TED หรือกระทั่ง TEDxBangkok ก็ตาม จะคุยกันล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ไม่ใช่ติดต่อไป 6 เดือนล่วงหน้าแล้วเจอกันอีกทีวันงานเลยนะครับ แต่ว่าทุกๆ เดือนเราจะนัดเจอกันอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อมาคุยว่าไอเดียคืออะไร อะไรคือ Key Message จนกระทั่ง Flow ของทอล์ค ถึงขั้นจะพรีเซ็นต์แบบไหน ใช้พาวเวอร์พอยต์ยังไง ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นทอล์กที่ใช้พลังไปเยอะกับการเตรียมคอนเทนต์ เอาให้มั่นใจว่ามันจะเข้าถึงผู้คนได้ ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่ได้จากการเวิร์คร่วมกัน เพราะสิ่งที่จะเข้าถึงผู้ฟังมันไม่ใช่แค่ที่โปรไฟล์หรือสิ่งที่ Speaker เคยทำมาอย่างเดียวหรอก ตรงนี้เราก็มีทีมที่เข้าไปช่วย อย่างน้อยก็ในฐานะคนฟังด่านหน้า ที่ช่วยรอรับฟังและให้ Feedback ว่าทำยังไงให้คนฟังเข้าใจสิ่งที่เขาพูดได้มากขึ้น
The MATTER : TED เลือก Speaker ยังไง
เริ่มแรก เราก็ดูจากโจทย์ก่อน อย่างปีนี้คือ ‘Learn, Unlearn, Relearn’ แต่ก่อนที่เราจะเชิญ Speaker สักคนนึงมา ในทีมของเราซึ่งมีราว 10 คน ก็จะคัดชื่อมากจากทั้งในทีมและนอกทีม รวมกันแล้วก็เยอะประมาณหนึ่ง อย่างปีนี้ก็ราว 300 ชื่อ จากนั้นทีมก็จะไปหาข้อมูลของแต่ละคนมา เพื่อที่จะกลับมานัดประชุมกัน เมื่อได้มาก็จะมานั่งดูว่าคนนี้เป็นยังไง มีอะไรน่าสนใจ ประวัติเป็นยังไง น่าจะมาพูดเรื่องอะไรได้บ้าง
The MATTER : อะไรที่ทำให้บางคนถูกคัดออก
เคสที่เกิดขึ้นบ่อยคือ คนนี้มีโปรไฟล์ดี แต่เราหาคอนเทนต์ หา Key Message ของเขาไม่ได้ หรือหลายคนมีโปรไฟล์ดีแต่ติดปัญหาบางอย่าง เช่นเรื่องจับต้องง่ายสุดก็คือ เขาไม่ได้เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น ทำให้เขาไม่สามารถที่จะหยิบเนื้อหาลงลึกของผลงานมาพูดได้ด้วยตนเอง ซึ่งเราก็เสียดายมาก เพราะโปรไฟล์และความคิดเขาดีมาก แต่สิ่งที่เขาจะเอามาเสนอบนเวทีนั้นไม่สามารถบอกได้ทั้งหมดว่าเป็นประสบการณ์ส่วนตัว แม้ว่าเขาจะมีบทบาทสำคัญมากในทีมที่ทำงานนั้น
ส่วนอีกเคสที่สำคัญกว่า ซึ่งจะถูกคัดออกเลยคือเคสที่คนที่เป็นสายแรงบันดาลใจจ๋า ฟังเหมือนจะสวนทางกับคนที่มาฟัง TED เพื่อสร้างแรงบันดาลใจเนอะ แต่สิ่งที่ต่างคือ TED เองก็พูดเลยว่า จะไม่ยอมรับคนที่มาพูด Inspiration for inspiration’s sake การที่มาพูดสร้างแรงบันดาลใจเพื่อแค่ว่าสร้างแรงบันดาลใจเนี่ยเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ TED เลย ในที่นี้หมายถึงว่าถ้ามาเพียงแค่พูดยกตัวอย่างคนอื่นว่า เออ เนี่ย คุณทำได้นะ เพราะคนอื่นก็ทำได้ ดูคนที่ประสบความสำเร็จคนอื่นสิ คุณต้องขยัน ต้องคว้าความล้มเหลวมาก่อนจึงจะชนะได้ อันนี้เป็นเคสที่โอกาสยากมากที่จะผ่านการคัดเลือก
ภาพของ TED เหมือนกับเอาคนที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วมาแบ่งปันประสบการณ์ เปลือยความลับที่เขามีอยู่ในการทำงานของเขาให้เราฟัง ซึ่งต้องเป็นคนที่มีคนผลงานจริง และพร้อมที่จะหยิบกระบวนการความคิดของเขา หรือสิ่งที่เขา ที่หลายๆ คนคิดว่ามันเป็นความลับ แต่เขายอมพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงว่ามันอาจจะสร้างคู่แข่งทางธุรกิจ ยอมแบ่งปัน Knowhow ของตัวเอง
The MATTER : แล้ว Speaker ทำให้ TED แตกต่างจากงานพูดอื่นยังไง
ก็คงเป็นเรื่องเนื้อหา การที่ Speaker ทุกคนหยิบประสบการณ์ หยิบสิ่งที่เขาทำมาเปิดอกเล่า ถ้าสังเกตคือ TED Talk หลายอัน เขาจะไม่ได้แค่พูดถึงเรื่องผิวเผิน แต่หยิบวิธีการกระบวณการคิดของเขามาเล่า ซึ่งถ้าเป็นที่อื่นอาจไม่ถูกเคร่งครัดว่าจะต้องพูดในมุมนั้น แต่อาจเป็นแค่โชว์ผลงาน จนมันกลายเป็นการขายของ ขายไอเดียของตัวเอง สำหรับ TED เองแล้วมันเป็นการให้ Speaker ทุกคนเป็นอย่างนั้น ภาพของ TED เหมือนกับเอาคนที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วมาแบ่งปันประสบการณ์ เปลือยความลับที่เขามีอยู่ในการทำงานของเขาให้เราฟัง ซึ่งต้องเป็นคนที่มีคนผลงานจริง และพร้อมที่จะหยิบกระบวนการความคิดของเขา หรือสิ่งที่เขา ที่หลายๆ คนคิดว่ามันเป็นความลับ แต่เขายอมพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงว่ามันอาจจะสร้างคู่แข่งทางธุรกิจ ยอมแบ่งปัน Knowhow ของตัวเอง
The MATTER : มีคนปฏิเสธไม่ขึ้นพูดเพราะปัญหานี้ไหม
เยอะครับ ส่วนใหญ่จะบอกว่าเขาเป็นคนที่ไม่พูดสาธารณะ และจะไม่พูดเด็ดขาด ซึ่งอาจเป็นคนที่สะดวกพูดอย่างอื่นมากกว่า บางคนก็บอกว่าเขาพูดในที่สาธารณะได้น่าเบื่อมาก แต่ถ้าเป็นการคุยกันในกลุ่มแค่ 20 คนอะไรยังงี้จะยินดีมาก
The MATTER : มีค่าตอบแทนให้ Speaker ไหม
ไม่มีครับ นี่เป็นกฎของ TED เลย
The MATTER : ทำไมต้องปีนี้ต้องเป็นโจทย์ ‘Learn, Unlearn, Relearn’
เพราะเราคุยกันว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตกับโลกของเรา การสื่อสารมันง่ายมาก การที่เราเสพข้อมูลมันเยอะมาก แต่สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือสิ่งที่เราเสพเข้าไปเนี่ยมันเป็นผลดีกับเราเสมอหรือเปล่า แล้วก็ไปเจอ Quote นึงของนักเขียนชาวต่างชาติคนนึงชื่อ Alvin Toffler เขาบอกว่าการศึกษา คนที่ไม่รู้การศึกษาของศตวรรษที่ 21 เนี่ย มันไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือไม่ออกหรือคนที่เขียนหนังสือไม่ได้แล้ว มันกลับเป็นคนที่ไม่สามารถเรียนรู้อะไรสักอย่างนึงเข้าไป ถอดสิ่งที่เรียนรู้ออกมาให้หมดลบล้างออกมาให้หมดได้ แล้วก็เรียนรู้สิ่งใหม่เข้าไป ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับสิ่งที่ตัวเองเคยเรียนรู้มาด้วยซ้ำ คือเสพแล้วเข้าใจในสิ่งสิ่งหนึ่งที่มองว่านี่คือความจริง แต่การที่เราไม่รู้จักการตั้งคำถามกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า เพื่อที่จะเปิดใจยอมรับสิ่งที่อาจจะล้มล้างสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มาก่อนก็ได้ จึงมองว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่อยากจะมาขยี้กันต่อ
The MATTER : อาจเพราะจะคุ้นชินกับฝรั่งที่มีมาดในการสปีชหรือพูดต่อหน้าที่สาธารณะ แต่เมื่อมาเป็นคนไทย มีบริบทเป็นภาษาไทย บางคนคิดว่ามันประดักประเดิด?
ก็มีคนคิดอย่างนี้ตลอดนะครับ ผมก็ได้ยินอะไรแบบนี้บ่อยเหมือนกัน ถามว่าในทีมรู้สึกแบบนั้นมั้ย เท่าที่ผมฟังจากคนในทีม พอเราได้เลือก Speaker ของเรามาแล้ว ทุกคนก็เชื่อว่าคนเหล่านี้สามารถพูดให้ความรู้คนอื่นได้ และคิดว่าพูดได้ไม่น่าเบื่อด้วย ตราบใดที่ Speaker คนนั้นเปิดใจเวิร์คร่วมกันกับเราในฐานะที่เป็นคนดูด่านหน้าให้เขา
The MATTER : คิดคุณว่าเราบูชาฝรั่งเกินไปไหม
เอาตามตรง มันก็พูดอย่างนั้นได้ แต่อีกมุมนึงมันเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นะ ในฝั่งหนึ่งก็มีคนที่อวยต่างชาติ แต่ในอีกฝั่งก็มีคนที่มองว่าต่างชาติเป็นพวกฝรั่งขี้นก เป็นพวกหัวแดง จะไปเชื่ออะไรมันก็ไม่ได้ คือไม่บูชาก็ดูถูก ผมก็เลยมองว่าจริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นเรื่องของว่าเราเป็นคนต่างชาติหรือคนไทย แต่มันเป็นเรื่องที่ว่า Mind Set ของเรามากกว่าที่เราเห็นอะไรก็คิดแง่ลบไปตลอด
The MATTER : อะไรน่ากลัวกว่ากันระหว่างไม่รับต่างชาติ กับบูชาต่างชาติด้วยการดูถูกชาติตัวเอง
ผมว่าไม่ต่างกันนะครับ มันร้ายแรงทั้งคู่เลยนะ ร้ายแรงในระดับเท่ากันด้วย คือสุดท้ายมันกลายเป็นว่าเรามีอคติในแง่ลบต่อแม้กระทั่งคนที่กำลังทำอะไรดีๆ ในสังคมเราเองด้วยซ้ำ การที่เราไม่เชื่อมั่นในคนในสังคมเราด้วยกันนี่เป็นเรื่องสำคัญที่น่ากังวล
The MATTER : สุดท้ายเดี๋ยวทุก Talk ก็มีการอัพขึ้นบนเว็บ TED อยู่ ทำไมคนจะต้องมาซื้อบัตรเพื่อเข้าฟัง
สิ่งที่ TED ให้ Value กับการจัด Talk มากๆ คือสุดท้ายทุก Talk จะไปอยู่ใน YouTube หรืออยู่บนเว็บไซต์ TED.com เพราะฉะนั้นคอนเทนต์บนเวทีเนี่ยสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้วหลังจบงาน คำถามคือแล้วอะไรคือสิ่งที่มันทำให้เกิดความแตกต่างของการดูอยู่ที่บ้านและการดูอยู่ที่งาน สิ่งหนึ่งที่ TED ต้องการมากที่สุดคือเรื่องของความหลากหลายทางความคิด
ภายในงานคือไม่ใช่คนที่เข้าไปอยู่ในฮอลล์แล้วนั่งฟัง Speaker ตลอดทั้งวัน คือสุดท้ายคนจะมองว่าวีดีโอเราจะฟังเมื่อไหร่ก็ได้หลังจบงาน เขาก็จะเลือกฟังคนที่เขาสนใจมากที่สุดในงานเท่านั้นแหละ แต่สิ่งที่นอกเหนือจากบนเวทีรอบๆ งานก็คือมี Activity เช่น ปีนี้ก็เป็น Idea Board เป็นการตั้งคำถามกับเรื่องในสังคม ให้ทุกคนได้มาเขียน ได้มาร่วมกันตอบบนบอร์ดแห่งนั้น มี Workshop เล็กๆ ที่มี Speaker เมื่อปีที่แล้วมาเป็นผู้ร่วมจัด
สิ่งที่เราต้องการให้คนที่มาร่วมงาน ไม่ใช่แค่ว่ามาฟังสิ่งที่อยู่บนเวที แต่มันคือการที่ทุกคนที่มาร่วมงานมีความสำคัญและมีไอเดียไม่แพ้กับคนที่อยู่บนเวทีเลยด้วยซ้ำ เลยเป็นที่มาของการที่เราโฟกัสว่า Conversation ที่จะเกิดขึ้นในงานเนี่ยมันต้องไม่แพ้สิ่งที่ Speaker กำลังถ่ายทอดออกมาจากบนเวที ซึ่งเป็นที่มาที่ว่าทำไมเราต้องคัดเลือกคนเข้าฟัง
The MATTER : มันดูไม่วุ่นวายเหรอ ซื้อบัตรแล้วยังต้องรอถูกคัดเลือกอีก
มันก็คือสิ่งที่ TED ต้องการเลยนะครับ ไม่ใช่ต้องการให้มันวุ่นวายนะ แต่อย่างที่ TED ใหญ่ก็มีการ apply ใบสมัครยังงี้ แต่ในการคัดเลือก เราไม่ได้คัดเลือกในแง่ของโปรไฟล์ว่านี่เป็นคนดัง คนใหญ่โต คนนี้ประสบความสำเร็จมาก่อน แต่สุดท้ายมันกลับมาที่เรื่องความหลากหลายว่าไอ้การคัดเนี่ย เราจะทำยังไงให้ Conversation ที่เกิดระหว่างผู้ชมเนี่ยมันหลากหลายที่สุด เราดูจากว่าทั้งหมดทั้งปวงที่สมัครเข้ามาเนี่ย แต่ละคนมีไอเดียหรือประสบการณ์อะไรทีมันแตกต่างจากคนอื่นหรือเปล่า
The MATTER : มันไม่ใช่เสรีภาพของการฟังเหรอ คนที่มาเร็วกว่าก็ควรต้องได้ฟังสิ เขาก็ใส่ใจเฝ้ารอนะ
คำว่าเสรีภาพของการฟังมัน Subjective มากเลย เสรีภาพของเรามันคืออะไร ปกติที่ถ้าเราไม่ใช้การคัดเลือก เราก็มักจะ Default ไปที่การ First Come First Serve แต่สุดท้ายมันก็คือการวัดว่าใคร Refresh บ่อยกว่ากัน และใครที่สามารถคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ได้เร็วกว่ากันเพื่อกรอก เพื่อซื้อตั๋ว ซึ่งมันก็เป็นการคัดเลือกอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน ที่คัดเลือกด้วยความเร็วในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งถามว่ามันตอบจุดประสงค์ของการจัด TED มั้ย ผมคิดว่าก็ไม่ใช่
The MATTER : คุณเพิ่งกลับจาก TED ใหญ่ อยากรู้ว่ามีอะไรแตกต่าง และอยากให้เกิดกับงาน TEDx ในบ้านเรา
สิ่งที่ผมชอบที่สุดในงาน TED ใหญ่ คือบรรยากาศของความหวัง เป็นความหวังต่ออนาคตที่มีรากฐานอยู่บนความจริง ภาพหนึ่งที่ผมเห็นในเมืองไทยคือภาพของคนที่เราตีตราเขาว่าเป็นคนโลกสวย คือคนที่ทุกอย่างดูดีไปหมด ทุกอย่าง Positive ไปหมด ทุกอย่างเป็นไปได้หมดเลย หรือไม่ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นแง่อคติสุดๆ อะไรที่เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นไปไม่ได้
แต่ภาพที่เกิดขึ้นในงาน TED มันคือการรวมตัวของคนที่เป็นความหวังต่ออนาคตของโลก มันทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อไปสู่ความหวังนั้น แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยืนอยู่บนความจริงด้วย เขาก็รู้ว่าอะไรมันคือสิ่งที่ขัดขวางเขาอยู่ อะไรคือสิ่งที่เขาสามารถทำได้ อะไรคือสิ่งที่เขาทำไม่ได้แล้วต้องหยุดก่อน เลยรู้สึกว่าการที่ทุกคนอยู่กับความจริงที่เบสอยู่ตรงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันทำให้เขาเข้าใจว่าทำอะไรอยู่ และเข้าใจว่าคนอื่นมองเขายังไง
The MATTER : จะเป็นไปได้กับเมืองไทยไหม
สุดท้ายมันอยู่ที่พื้นที่ครับ อยู่ที่ว่าเรามีพื้นที่ที่เราสามารถคุยถึงเรื่องอนาคตของเราโดยยังอยู่กับสิ่งที่เป็นความจริงได้รึเปล่า โดยที่ไม่ได้อคติว่าคนนู้นเคยเป็นแบบนี้ คนนี้จะเป็นแบบนี้ จะต้องมีความไม่หวังดีต่อกัน แล้วสิ่งที่ TED และ TEDxBangkok ทำอยู่มันก็คือการสร้างและการปกป้องพื้นที่เหล่านั้น ให้คนที่ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันสามารถมาเสพสิ่งเดียวกันได้ สามารถมาถกเถียงกันได้ โดยที่ไม่ได้ทะเลาะกันอย่างไร้เหตุผลอ่ะครับ
The MATTER : TEDxBangkok ครั้งนี้เหมาะกับคนฟังแบบไหน
คนที่ผิดหวังกับประเทศนี้มั้งครับ เพราะผมรู้สึกว่า Speaker ทุกคนก็มีส่วนเสี้ยวหนึ่งที่รู้สึกแบบนั้น ทุกคนรู้ว่ามันมีหลายสิ่งหลายอย่างในประเทศที่มันขัดขวางให้เราเดินหน้าต่อไป แต่ทุกคนไม่ได้แคร์ เขาไม่แคร์ว่าสังคมนี้ ประเทศนี้มันจะแย่แค่ไหน แต่เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันเป็นสิ่งที่ดีต่อคนอื่น แล้วเขาก็ทำต่อไปแล้วมันก็เกิดผลจริง
ดังนั้น ถ้าเกิดคนที่รู้สึกว่ามันไม่มีน่าจะมีทางออกง่ายๆ ต่ออนาคตของเรา TEDxBangkok ครั้งนี้อย่างน้อยน่าจะตอบกับเขาได้ว่า ที่เขาคิดมันไม่เป็นความจริง
ติดตามความเคลื่อนไหวของTEDxBangkok และ Event ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ในเว็บไซต์ www.tedxbangkok.net และ www.facebook.com/tedxbangkok