คราววิกฤติต้มยำกุ้ง ผมยังเป็นเด็กน้อยอายุหกขวบวิ่งเล่นอยู่ที่จังหวัดราชบุรีบ้านเกิด ด้วยความที่ทั้งพ่อและแม่เป็นข้าราชการครอบครัวเราจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ปัญหาวิกฤติค่าเงินและเรื่องที่เกิดในกรุงเทพฯ จึงดูไกลตัว
ผ่านมากว่ายี่สิบปี เศรษฐกิจซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ สถานะของผมเปลี่ยนจากลูกชายเป็นคุณพ่อของเจ้าตัวน้อยวัยไม่ถึงขวบที่คลอดมาได้จังหวะเดียวกับที่เกิดการระบาด แถมอาชีพหลักยังเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกเล็กๆ ย่านสมุทรปราการ การล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาจึงนับว่าเป็นฝันร้ายเพราะยอดขายกว่า 80 เปอร์เซ็นต์หายวับไปกับตา
โชคดีที่รายได้ของเราค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาด ผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่เศรษฐกิจไทยก็เจ็บหนัก จีดีพีปีที่ผ่านมาหดตัวถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของอุตสาหกรรมบริการและโรงแรม
ตลอดปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการระบาด ผมสัมผัสได้ถึงภาวะซึมเซาล่องลอยเงียบๆ ในบรรยากาศ กระทั่งเราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์คือการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิผล แต่เหล่าผู้ประกอบการก็ฝันหวานได้ไม่นานเมื่อมีการระบาดอีกครั้งในช่วงวันขึ้นปีใหม่ และการระบาดระลอกล่าสุดที่ยังไม่มีแนวโน้มว่ารัฐจะจัดการได้จวบจนปัจจุบัน ประกอบกับอัตราการฉึดวัคซีนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน นักวิเคราะห์หลายสำนักจึงประมาณการว่าต่อให้ถึงสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่อาจฟื้นตัวกลับได้ถึงระดับก่อนเกิดวิกฤติ
เวลาหนึ่งหรือสองปีเป็นเพียง ‘ภาพระยะสั้น’ แต่ในระยะยาว มีสิ่งหนึ่งที่เวลายากจะเยียวยานั่นคือบาดแผลทางใจจากวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อวิธีคิดและการตัดสินใจของเหล่าผู้ที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาซึ่งเราเรียกว่า ‘แผลเป็นทางเศรษฐกิจ’ (economic scars)
แผลเป็นทางใจ—ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
พ่อในความทรงจำของผมเป็นคนที่ใช้จ่ายอย่างสมถะ ไม่อยากก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น เก็บออมทุกบาททุกสตางค์ และที่สำคัญคือไม่พร้อมที่จะรับความเสี่ยงด้านการลงทุนใดๆ แม้ว่าลูกชายซึ่งทำงานในแวดวงการเงินจะบอกจนปากเปียกปากแฉะว่าให้แบ่งเงินที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไปลงทุนในหุ้นบ้าง แต่เขาก็ไม่ยอมทำตามจนผมเองก็จนใจ
หากคิดตามทฤษฎีแผลเป็นทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมของพ่อแม่และผู้ใหญ่อีกหลายคนที่เรารู้จักอาจเกิดจากประสบการณ์เลวร้ายที่ต้องเจอกับตัว หลังจากฝันเฟื่องฟูของการเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียล่มสลายไปในชั่วข้ามคืน ผมที่ยังไม่รู้ประสาจึงไม่ทราบว่าพ่อแม่ต้องกระเบียดกระเสียรแค่ไหนในห้วงยามวิกฤติและกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวนั้นต้องใช้เวลายาวนานเพียงใด
พฤติกรรมดังกล่าวเกิดจาก ‘ความเชื่อมั่นในอนาคต’ ที่แตกสลาย
เมื่อเรารู้สึกว่าอนาคตไม่แน่นอนก็ย่อมปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายสู่การอดออม หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพราะไม่มั่นใจว่าจะมีเงินจ่ายหรือไม่ในอนาคต ใช้ชีวิตโดยหลบเลี่ยงความเสี่ยง ไม่พร้อมลงทุนที่เงินต้นเสี่ยงจะติดลบหรือกลายเป็นศูนย์
บางคนสลัดพฤติกรรมเช่นนี้ได้เมื่อเศรษฐกิจพลิกมาเป็นขาขึ้น แต่การศึกษาหลายต่อหลายชิ้นในต่างประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันถึงรูปแบบการใช้เงินและการลงทุนของเหล่าประชาชนหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยหรือพร้อมรับความเสี่ยงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนับทศวรรษแล้วก็ตาม โดยเฉพาะหากเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงวัยรุ่นผู้กำลังเริ่มเส้นทางอาชีพของตนเอง
หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตามติดชีวิตอเมริกันชนเป็นเวลา 10 ปีหลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ พบว่าตลาดการกู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ซบเซาลงอย่างมาก นักศึกษารุ่นใหม่เลือกเรียนเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพราะคาดว่าจะหางานง่ายกว่าสาขาอย่างศิลปะศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เหล่าบริษัทลดการลงทุนในเครื่องจักรและการเปิดโรงงานใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทั่งรูปแบบค่าแรงเองก็มีการปรับเปลี่ยน โดยเน้นการให้โบนัสแทนที่จะปรับฐานเงินเดือนเพื่อความยืดหยุ่นหากต้องเผชิญกับเศรษฐกิจขาลง
โควิด-19 กับแผลเป็นทางเศรษฐกิจ
วิกฤติเศรษฐกิจจากโลกการเงินที่ดูเหมือนจะจบในเวลาไม่นานแต่แท้จริงแล้วกลับทิ้งรอยแผลลึกไว้ยาวนานนับทศวรรษ จะนับประสาอะไรกับวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบต่อชีวิตในทุกมิติ ตั้งแต่การซื้อหาสินค้า การลงทุน และการผลิต
รูปแบบการใช้จ่ายของเราเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาด หลายครอบครัวต้องรัดเข็มขัด เลือกซื้อสินค้าราคาลดราคาและไม่พร้อมจะควักกระเป๋าลงทุนในสิ่งของชิ้นใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางและท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล หลายคนที่สามารถทำงานทางไกลเลือกเปลี่ยนเงินก้อนดังกล่าวสู่การจับจ่ายสินค้าเพื่อคุณภาพชีวิตดีๆ ที่บ้าน ทุกคนเริ่มชินชากับการสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์ ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา การระบาดของโควิด-19 สร้างเทรนด์ใหม่ของการซื้อบ้านชานเมืองที่ราคาประหยัดกว่า นี่คือรสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่อาจไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปเสมือนโลกก่อนการระบาด
เมื่อรสนิยมผู้บริโภคปรับภาคการผลิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม หลายบริษัทในอุตสาหกรรมเช่นภาคการท่องเที่ยวและบริการอาจต้องปิดกิจการ แรงงานถูกถ่ายโอนมายังอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น คลังสินค้าหรือการขนส่งพัสดุ นอกจากนี้ วิกฤติเศรษฐกิจยังทำให้บริษัทเลือกที่จะชะลอการลงทุนออกไปเพราะยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมามีเสถียรภาพอีกเมื่อใด นี่คือปัญหาที่อาจทำให้เศรษฐกิจอยู่ในขาลงอย่างยาวนาน เนื่องจากการลงทุนในอดีต เช่น โรงแรมหรือตึกสำนักงาน กลายเป็นสิ่งล้าสมัยที่ไม่สร้างผลตอบแทนอีกต่อไป ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าที่จะควักกระเป๋ามาลงทุน
บาดแผลทางจิตใจจากวิกฤติเศรษฐกิจย่อมส่งผลให้รัฐบาลต้องออกแบบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างถี่ถ้วน ภายใต้ภาวะที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บออมเงินโดยไม่ต้องการนำไปลงทุนเพราะกลัวความเสี่ยงจะยิ่งกดดันให้อัตราดอกเบี้ยลดลงต่ำทำให้นโยบายทางการเงินไม่ประสบผลนัก รัฐจึงต้องพึ่งพานโยบายทางการคลังโดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
รัฐบาลมีทางเลือกหลายทางเพื่อทำให้ประชาชนเชื่อว่าอนาคตยังมีความหวัง ตั้งแต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะหรือการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเพื่อช่วยแบ่งเบาความเสี่ยง สำหรับภาคประชาชน รัฐสามารถพัฒนาตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อให้เหล่าผู้ประกอบการที่พร้อมเสี่ยงรู้สึกอุ่นใจว่ายังมีโอกาสใหม่หากครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และทางเลือกที่น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ได้มากที่สุดจากวิกฤติโควิด-19 คือการฉีดวัคซีนให้ประชาชนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อลดความไม่แน่นอนว่าจะมีการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต
น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นใดๆ ให้กับประชาชน งบประมาณกว่า 400,000 ล้านบาทจากมาตรการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทถูกนำไปใช้อย่างไร้ยุทธศาสตร์ไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ตั้งแต่โครงการโคก หนอง นา โมเดลที่ใช้วงเงินกว่า 4,787 ล้านบาท ไปจนถึงโครงการจิปาถะอย่างปลูกปะการัง ซ่อมสะพาน สร้างห้องน้ำสาธารณะ และอื่นๆ อีกมากมาย
ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่ออกแบบก็ยุ่งยากและไม่แน่นอน ผลักภาระให้ประชาชนต้องจัดหาสมาร์ทโฟน เรียนรู้วิธีใช้งานสารพัดแอพลิเคชั่น หรือกระทั่งเสียเวลาไปต่อคิวเพื่อยืนยันตัวตนเพราะระบบมีปัญหา อีกทั้งยังเป็นการให้แบบชั่วครั้งชั่วคราว พอเกิดการระบาดทุกคนก็ต้องมาลุ้นว่าตนเองจะเข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือหรือไม่ เป็นมูลค่าเท่าไหร่ ชวนให้สงสัยว่านโยบายที่ขาดความคงเส้นคงวาเช่นนี้จะสร้างความสบายใจให้คนออกไปจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไร
ส่วนเรื่องวัคซีนผมเองก็หมดคำจะกล่าว เพราะรัฐบาลมัวแต่หลงงมงายกับความสำเร็จในการจัดการระบาดเมื่อปีที่ผ่านมาจนชะล่าใจเรื่องวัคซีน โดยลืมมองไปว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการกำลังอยู่ในสภาวะย่ำแย่และทางออกเดียวคือจัดการวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
เมื่อหมดหนทางสร้างความเชื่อมั่น รัฐบาลไทยจึงเลือกใช้การ ‘ออกคำสั่ง’ ตามความถนัด ป่าวประกาศให้คนนำเงินฝากไปใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้เหตุผลว่าเงินฝากของเอกชนนั้นเพิ่มขึ้นหลายแสนล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยหารู้ไม่ว่ายอดเงินฝากที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเป็นภาพสะท้อนว่าประชาชนไทยหวาดกลัวและสิ้นหวังกับรัฐบาลนี้เพียงใด
ในช่วงเวลาที่ประชาชนต่างเหนื่อยล้าจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา เจ็บปวดจากมาตรการจำกัดการระบาดระดับเข้มงวดที่ไร้การเยียวยา แถมยังต้องมาฟังผู้นำ ‘พ่อรู้ดี’ ที่สั่งพลางบ่นกระปอดกระแปดว่างานเหนื่อยและหนัก แล้วเราจะเอาความเชื่อมั่นที่ไหนมาควักกระเป๋าจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนกัน?
อ่านเพิ่มเติม
Psychological scars of downturns could depress growth for decades
Modelling the shape of the mental health crisis after COVID
The lasting scars of the Covid-19 crisis: Channels and impacts