งวดเข้ามาแล้วกับการประกาศผล TCAS รอบที่ 4 ที่เด็กเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2561 รอคอย หลังจากผ่าน TCAS รอบ 3 ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนเรื่องความล้มเหลวของระบบคัดเลือก เพราะมีเด็กจำนวนมากที่เคว้งคว้างยังไม่มีที่เรียนในการยื่นคะแนนรอบที่ผ่านมา และแม้ว่าระบบใหม่อย่าง TCAS เกิดขึ้นเพราะเจตนาดีที่อยากจะช่วยให้ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเอื้อกับเด็กไทยมากขึ้น แต่ไปๆ มาๆ ก็ดูจะเป็นปัญหากว่าเดิม
Young MATTER อยากชวนไปดูระบบแอดมิชชั่นของต่างประเทศ ว่าเขามีวิธีการที่เหมือนหรือต่างจากเรายังไง ปัญหาอะไรบ้างที่เด็กเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยบ้านเขาต้องเผชิญ รวมทั้งระบบคัดเลือกมหาวิทยาลัยมีผลกระทบกับเด็กขนาดไหน เมื่อโอกาสของชีวิตขึ้นอยู่กับเดิมพันครั้งนี้
ฟินแลนด์ การศึกษาที่ดีที่สุดในโลก แต่ละมหาวิทยาลัยเลือกเด็กจากคะแนนข้อสอบกลาง
ฟินแลนด์มีระบบ University Admissions Finland (UAF) ที่เปิดให้เด็กยื่นสมัครเพื่อเลือกคณะที่ต้องการ 6 อันดับ แล้วให้แต่ละมหาวิทยาลัยคัดเลือกจากคะแนนสอบ The Finnish Matriculation Examination ที่บังคับให้เด็กฟินแลนด์สอบแค่ 4 วิชา และนักเรียนสามารถสอบวิชาอื่นเพิ่มตามคณะที่ตัวเองสนใจ โดยเกรดเฉลี่ยรวมตอนมัธยมจะไม่ถูกนำมาใช้คัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
ข้อสอบ The Finnish Matriculation Examination มีความพิเศษคือ ไม่ได้แค่วัดความรู้ทางวิชาการ แต่วัดผลความสามารถในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการศึกษาในต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น อย่างเช่นทักษะการอ่าน อีกทั้งยังมีการทดสอบความสามารถของเด็กในการรับมือกับประเด็นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเมือง สงคราม หรือโภชนาการอาหาร เป็นต้น
ตัวอย่างข้อสอบ
Some politicians, athletes and other celebrities have publicly regretted and apologized for what they have said or done. Discuss the meaning of the apology and accepting it as a social and personal act.
การศึกษาของฟินแลนด์ขึ้นชื่อว่าเป็นระบบศึกษาที่ดีที่สุดของโลก จากการจัดอันดับของ The World Economic Forum ช่วงห่างของคะแนนต่ำสุดสูงสุดของนักเรียนห่างกันน้อยมาก และนักเรียนมีระดับความเครียดต่ำ ทั้งหมดนี้สำเร็จได้เพราะระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรครู ครูที่ฟินแลนด์มีรายได้สูง มีอัตราครูหนึ่งคนต่อนักเรียนแค่ 17 คน และครูมีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ต่ำ ทำให้มีเวลาวางแผนการสอนที่เหมาะสมต่อนักเรียนแต่ละคนได้ จึงทำให้การพัฒนานักเรียนของฟินแลนด์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สหราชอาณาจักร แต่ละมหาวิทยาลัยคัดเลือกเด็กจากเกรด A-Level
ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของอังกฤษไม่มีการคัดเลือกจากส่วนกลาง แต่มหาวิทยาลัยจะคัดเด็กเอง ซึ่งเด็กอังกฤษจะต้องยื่นสมัครคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ 5 อันดับในระบบ UCAS โดยสิ่งที่ต้องยื่นในการสมัครคือ เกรดจากการวัดผลความรู้พื้นฐานส่วนกลาง (A-Level) จดหมายแนะนำตัว และหนังสือรับรองจากโรงเรียน จากนั้นมหาวิทยาลัยจะพิจารณารับตามความเหมาะสม โดยนักเรียนหนึ่งคนมีโอกาสผ่านคัดเลือกจากทั้ง 5 มหาวิทยาลัย และเด็กคนนั้นสามารถเลือกได้อีกครั้งว่าต้องการเข้ามหาวิทยาลัยไหนมากที่สุด
การคัดเลือกด้วยวิธีนี้ เด็กอังกฤษจะต้องยื่นใบสมัครพร้อมเกรดภายในช่วงมกราคมของทุกปี ส่งผลให้เด็กบางส่วนที่ยังไม่มีเกรด A-Level ต้องขอใช้เกรด ที่มาจากการคาดคะเนล่วงหน้า ซึ่งมีแค่ 45% เท่านั้นที่เกรดล่วงหน้าจะตรงกับเกรด A-Level จริง กรณีนี้จึงเป็นปัญหาเพราะว่าเกรด A-Level มีผลอย่างมากในการคัดเลือกของมหาวิทยาลัย
ฝรั่งเศส ยกเลิกระบบจับสลากเข้ามหาวิทยาลัย
ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแต่เดิมของฝรั่งเศสนั้น ‘ไม่มีการคัดเลือก’ เพราะตามกฎหมายของฝรั่งเศสนักเรียนทุกคนที่เรียนจบและได้ใบรับรองการศึกษาจะมีสิทธิ์เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของฝรั่งเศสได้เลย ยกเว้นบางคณะที่มีความต้องการเรียนสูงและรับเด็กได้จำกัด ก็จะคัดนักเรียนด้วยวิธีการจับสลากโดยไม่อิงคะแนนเกรด (Lottery System) อย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ และคณะสัตว์แพทย์
มีสถิติที่น่าตกใจจากระบบคัดเลือกเดิมของฝรั่งเศสที่ว่า 60% ของนักศึกษาปีหนึ่งในมหาวิทยาลัยทั่วฝรั่งเศส ไม่สามารถที่จะเรียนต่อในชั้นปีถัดไปได้ ซึ่งไม่นานมานี้รัฐบาลของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงได้ยกเลิกระบบจับสลากและอนุญาตให้บางคณะจำกัดจำนวนนักศึกษา และใช้ระบบคัดเลือกนักศึกษาได้
ซึ่งการยกเลิกระบบเดิมทำให้นักศึกษาฝรั่งเศสบางส่วนออกมาต่อต้านว่าการคัดเลือกนี้ขัดกับกฎหมายและริดรอนสิทธิของพวกเขา เพราะการคัดเลือกผู้เข้าเรียนจากเกรดหมายถึงการไม่เคารพในความเท่าเทียมในการคัดเลือก
สหรัฐอเมริกา บางครั้งการศึกษาก็มาในรูปแบบของหนี้ก้อนโต
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกานั้นใช้ระบบการรับตรง ซึ่งผู้สมัครจะต้องยื่นประวัติผลการเรียน และผลสอบของข้อสอบกลางหรือ Standardized Test ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็น SAT และ ACT ตามแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด โดยข้อสอบ SAT จะเป็นการสอบวัดการอ่านการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ และความสามารถทางคณิตศาสตร์ ส่วนข้อสอบ ACT นั้น จะเป็นการสอบที่ประเมินความรู้จากหลักสูตรพื้นฐาน ซึ่งข้อสอบจะเป็นปรนัย ที่วัดทั้ง การอ่าน ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการเขียนเรียงความ
มากกว่า 70% ของนักศึกษาอเมริกานอกจากได้ใบปริญญาแล้ว ยังได้หนี้ก้อนโตมาด้วย นักศึกษาจบใหม่จะมีหนี้เฉลี่ยทางการศึกษาต่อคนมากถึง 37,172 ดอลลาร์ (1.2 ล้านบาท) อีกทั้งยังพบว่า ชาวอเมริกันมากกว่า 44 ล้านคนเป็นหนี้การศึกษารวมกันถึงเกือบ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนั่นหมายความว่า 1 ใน 4 ของชาวอเมริกันกำลังจ่ายหนี้จากการศึกษาอยู่
จีน ระบบโควต้าสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างจังหวัด
ปีหนึ่งๆ ประเทศจีนมีเด็กเกือบ 10 ล้านคนที่เข้าสอบ Gaokao ข้อสอบกลางเพื่อคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของจีน ซึ่งการสอบนี้เป็นการสอบที่มีความหมายกับเด็กจีนทุกคน รวมถึงพ่อแม่ที่คาดหวังอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตของเด็ก ทั้งอาชีพการงาน ฐานะทางสังคม และสถานะทางการเงิน
Gaokao จัดสอบขึ้นสามวันในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี มีการสอบวิชาพื้นฐานและวิชาเลือก เมื่อสอบเสร็จและประกาศผลคะแนนแล้ว เด็กจีนจะพิจารณาคะแนนที่ได้กับคณะที่ต้องการเรียน 4-6 อันดับ เพื่อยื่นกับหน่วยงานคัดเลือกกลางของจีน
กฎหนึ่งของ Gaokao ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ คือ ความเสียเปรียบของระบบโควต้ามหาวิทยาลัย ที่มีให้เด็กแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เด็กที่จะสอบ Gaokao ต้องสอบในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเองเท่านั้น ทำให้จังหวัดที่มีเด็กเข้าสอบจำนวนมากแต่โควต้าน้อยกว่าเสียเปรียบ อีกทั้งในแต่ละจังหวัดข้อสอบก็ไม่ได้เป็นชุดเดียวกัน ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยก็มีคะแนนพิเศษให้กับเด็กชนบท เด็กในเมืองจึงต้องใช้คะแนนที่สูงมากขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างเด็กในแต่ละพื้นที่ โดยในปี 2012 จีนก็ได้มีการเพิ่มโควต้าให้เด็กในชนบทเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมนี้
อินเดีย สอบเยอะ แข่งขันสูง นำไปสู่ความเครียดและตัดสินใจฆ่าตัวตาย
การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของอินเดียมีหลากหลายวิธี หลากหลายข้อสอบ และแตกต่างกันในแต่ละคณะ เช่น หากต้องการเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องสอบถึง 5 ข้อสอบ
อินเดียยังมีระบบโควต้ารับนักเรียนในแต่ละเขตไม่เท่ากัน ทำให้เด็กอินเดียบางส่วนที่แม้จะสอบได้คะแนนสูงก็ไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ ซึ่งเด็กอินเดียก็เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ โดยให้รัฐกดดันมหาวิทยาลัยให้เปิดที่นั่งเพิ่มเพื่อรับเด็กเหล่านี้
อินเดียมีสถิตินักเรียนฆ่าตัวตายที่สูงมาก ในปี 2014-2016 มีนักเรียนอินเดียฆ่าตัวตายถึง 26,000 คน (สถิติจากกระทรวงต่างประเทศของสภาล่างอินเดีย) เนื่องมาจากบรรยากาศการเรียนที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงสภาพสังคมที่กดดันให้เด็กต้องประสบความสำเร็จด้านการศึกษา ส่งผลให้เด็กอินเดียมีความเครียดสูงและกลัวสอบตก ทำให้นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายของเด็กอินเดียจำนวนมาก
เกาหลีใต้ อ่านหนังสือกันจนไม่ได้นอนแต่ก็ยังไม่มีที่เรียน
ขั้นตอนการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของเด็กเกาหลีแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ ระบบรับตรง และ ระบบรับกลาง ในส่วนของระบบรับตรงมีอยู่ 3 วิธีการด้วยกันคือ การยื่นเกรดของโรงเรียน การยื่นพอร์ตกิจกรรม และการสอบเขียนเรียงความ ส่วนระบบรับกลางที่เรียกว่า Suneung หรือ CSAT (The College Scholastic Ability Test) เป็นการสอบที่มีการจัดขึ้นแค่ปีละครั้งเท่านั้น ซึ่งรอบรับตรง เด็กจะสามารถเลือกยื่นได้ถึง 6 มหาวิทยาลัย ส่วนการสอบกลาง สามารถยื่นได้ 3 มหาวิทยาลัย
มีผลการสำรวจเมื่อปี 2011 จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีออกมาว่า เฉลี่ยแล้วเด็กมัธยมปลายในเกาหลีใต้ได้นอนแค่ประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่งต่อคืน และมีแนวโน้มจะได้นอนน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงการสอบ เพราะเชื่อว่าชั่วโมงการอ่านที่มากขึ้นหมายถึงโอกาสผิดพลาดที่น้อยลง มีการรายงานว่า ช่วงสอบเด็กเกาหลีมีการติวลากยาวกันถึงเที่ยงคืน ซึ่งภายหลังรัฐบาลเกาหลีถึงกับต้องออกกฎว่า ให้เปิดสอนพิเศษได้ถึงแค่ 4 ทุ่มเท่านั้น นั่นก็หมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะหายไปจากตลาด แน่นอนว่ามีผู้ฝ่าฝืนมากมาย เพราะไม่ใช่แค่ตัวสถาบันติวเท่านั้น ตัวเด็กเองก็ดูเต็มใจที่จะเสียทั้งเงินและเวลา(นอน) เรียนพิเศษเพื่ออนาคตที่สดใส
การสอบ Suneung แทบจะเป็นตัวกำหนดชีวิตในอนาคตของเด็กในสังคมเกาหลี ผลสอบที่ออกมาเปรียบได้ดังกุญแจที่สามารถกำหนดทั้งมหาวิทยาลัย และหน้าที่การงานในอนาคต ดังนั้นการสอบจึงเป็นเดิมพันที่สูงมากสำหรับเด็กคนหนึ่ง เพราะครอบครัวและสังคมที่แข่งขันสูง ความเครียดและความกดดันจากการสอบนี้เองดูจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการฆ่าตัวตายของเยาวชนเกาหลี
ในปี 2016 สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีรายงานว่า การฆ่าตัวตายได้กลายเป็นสาเหตุการตายหลักของเยาวชนเกาหลี ซึ่งความเคร่งเครียดจากระบบการศึกษาก็ดูจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสถิติอันน่าเศร้านี้ ดังนั้นการสอบ Suneng จึงเปรียบเป็นดั่งเชือกที่พาผู้ใช้ปีนไปให้ถึงฝั่งฝัน พร้อมกันนั้นก็สามารถปลิดชีวิตผู้ปีนเมื่อมิอาจไปถึงฝั่งฝันเช่นกัน
ทุกระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศที่กล่าวมาล้วนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น และไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบครั้งใด คนที่ต้องก้มหน้ารับผลที่ตามมาก็คือเยาวชนของชาติ เพราะผลพวงนั้นเกี่ยวพันใหญ่หลวงกับชีวิตของพวกเขา ทุกบาดแผลจากความผิดพลาดนั้นก็ไม่ได้ตกอยู่ที่ใคร นอกจากตัวเด็กเอง ฉะนั้นระบบการรับเข้ามหาวิทยาลัยที่กุมอนาคตของเด็กทุกคนไว้ จึงไม่ควรจะเป็นแค่ผลของการทดลองอันผิดพลาด ที่มาจากการออกแบบอย่างขาดความรอบคอบของผู้ใหญ่
อ้างอิงข้อมูลจาก