เราพูดกันถึง Big Data กันมากมาย แต่มันทำอะไรได้บ้าง ทำไมถึงสำคัญ แล้วถ้านำมาใช้กับการพัฒนาประเทศจะต้องทำยังไง ใช้แล้วได้อะไรบ้าง?
สัปดาห์ที่ผ่านมา The MATTER ร่วมกับ TDRI จัดไลฟ์สัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในหัวข้อ ‘ปฏิรูปรัฐ ปฏิวัติข้อมูล’ ตอบคำถามเรื่อง Big Data และแนวทางการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ วันนี้เราถอดจากรูปแบบวิดีโอมาให้อ่านกันง่ายๆ ในรูปแบบบทสัมภาษณ์
The MATTER : แรกเริ่มเลยทำไมเราถึงคิดว่า เราสามารถฟื้นเศรษฐกิจปฏิรูปรัฐด้วยข้อมูลได้
ดร.สมเกียรติ : ต้องเกริ่นก่อนนิดนึงนะครับ ว่าประเทศไทยนั้นปัญหาเยอะเหลือเกินและรัฐบาลก็พยายามแก้กันมา แต่ส่วนใหญ่พอแก้แล้ว พวกเราก็รู้กันดีว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ปัญหาก็คือ หนึ่ง เราเติบโตช้า ประเทศไทยกำลังเป็นประเทศแก่ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจะไม่เติบโตเร็วเหมือนอดีต แล้วเรายังเหลื่อมล้ำกันเยอะด้วย คนรวยกับคนจนนี่ต่างกันลิบเลย ชีวิตของคนก็ราคาถูก เพราะฉะนั้นเรื่องแย่ๆ เนี่ยเราอันดับดี ส่วนเรื่องดีๆ นี้อันดับเราแย่ ยกตัวอย่างเรื่องแย่ๆ ที่เราอันดับดีคือ เราตายบนท้องถนนจากอุบัติเหตุเป็นอันดับสองของโลก ประเทศที่ตายบนท้องถนนต่อประชากรทั้งหมดอันดับต้นๆ เนี่ยคือประเทศในแอฟริกา ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อขึ้นมาพวกเราก็นึกไม่ออกหรอกครับว่าอยู่ตรงไหน แต่ประเทศไทยเป็นสองครับ นักขี่จักรยานเก่งที่สุดของโลก ขี่มาทั่วโลกมาตายเมืองไทยนี่แหละครับ เราแก่เป็นอันดับสองในอาเซียน อาเซียนมีสิบประเทศซึ่งสิงคโปร์แก่ก่อน แต่สิงคโปร์นั้นรวยแล้วเขาถึงแก่ แต่ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งที่แก่ก่อนรวย
The MATTER : แก่ในที่นี้หมายถึงว่า มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากต่อสัดส่วนประชากร
ดร.สมเกียรติ : ใช่ครับ เช่น เกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปก็แปลว่าเป็นประเทศแก่ ซึ่งก็จะมีปัญหาเยอะไปหมดเลย นอกจากการที่เศรษฐกิจขาดคนทำงานแล้ว ก็จะต้องหาสวัสดิการสังคมมาช่วยคนเยอะแยะ นี่คือเรื่องแย่ๆ ที่อันดับเราดี แล้วก็มีเรื่องดีๆ ที่อันดับเราแย่อีกเยอะแยะเต็มไปหมดเลยนะครับ เช่น การศึกษาของไทย เราอยู่อันดับ 55 ครับ จากอันดับการสอบ TISA วัดกันมารอบล่าสุดปีที่แล้ว เราตกไปเป็นอันดับที่ 55 ส่วนเรื่องความโปร่งใส ซึ่งเราอยากจะมีความโปร่งใสเพื่อจะได้มีการคอร์รัปชั่นน้อยๆ คสช.ยึดอำนาจมาส่วนหนึ่งก็บอกว่าเพราะประเทศไทยมีคอร์รัปชั่น ตอนนี้เราเด้งจากอันดับ 70 กว่านะครับ เป็นอันดับ 101 เป็นประเทศที่เกินร้อยแล้วในเรื่องของความโปร่งใส
เราแก่เป็นอันดับสองในอาเซียน
อาเซียนมีสิบประเทศซึ่งสิงคโปร์แก่ก่อน แต่สิงคโปร์นั้นรวยแล้ว
แต่ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งที่แก่ก่อนรวย
The MATTER : อันนี้ corruption perception index ใช่มั้ยครับ
ดร.สมเกียรติ : ใช่ครับ ที่องค์กรความโปร่งใสสากลวัดกัน เพราะฉะนั้น เรื่องดีๆ อันดับเราแย่ แต่แหมเรื่องแย่ๆ อันดับเราดีเหลือเกินครับ
The MATTER : พูดแบบนี้ดูสิ้นหวังนะครับ อย่างนี้ข้อมูลสามารถเข้าช่วยปฏิวัติหรือปฏิรูปตรงนี้ได้ยังไง
ดร.สมเกียรติ : ปฏิวัติข้อมูลนั้นเกิดแล้วนะครับ แต่ว่าทำยังไงให้เอาการปฏิวัติข้อมูลมาปฏิรูปประเทศไทย อันนี้คือโจทย์ที่เราจัดสัมมนากันในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ที่โรงแรมเซ็นทารา มันก็มีหลายเรื่องเลยที่การปฏิวัติข้อมูลจะช่วยให้เราปฏิรูปประเทศได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างกันชัดๆ เลยก็คือเรื่องของการเหลื่อมล้ำกับเรื่องของการที่เศรษฐกิจไทยโตช้า เพราะว่าเราทำเกษตรแบบเดิม เกษตรแบบเดิมก็คือเกษตรที่หวังพึ่งดิน ฟ้า อากาศ พึ่งฟ้าพึ่งฝนไม่ใช่เกษตรกรแบบที่เค้าเรียกว่าเป็น ‘smart farming’ ถ้าเราเอา smart farming มาใช้ เราจะรู้สภาพดิน ฟ้า อากาศล่วงหน้า เราจะรู้ผลผลิตล่วงหน้า เราจะสามารถผลิตได้แบบมีประสิทธิภาพ แล้วในงานเราจะเอาตัวอย่างมาเล่าให้ฟังครับ
ตอนนี้เราเด้งจากอันดับ 70 กว่านะครับ เป็นอันดับ 101
เป็นประเทศที่เกินร้อยแล้วในเรื่องของความโปร่งใส
The MATTER : ก่อนหน้านี้เวลาที่เกษตรกรทำการเกษตร บางครั้งก็จะต้องเดาราคาผลผลิต หรือว่าเดาตัว demand ของตลาดไปเองโดยที่ไม่ได้มีอะไรมายืนยันมากนัก
ดร.สมเกียรติ : ราคาก็ไม่รู้เลย เราก็จะเอากรณีศึกษาที่น่าสนใจ อย่างต่างประเทศพูดกันในเรื่องของ ‘smart farmer’ หรือเกษตกรแสนฉลาด เราจะยกตัวอย่างเกษตรของไทย ซึ่งว่าไปแล้วดูเหมือนเกษตรรายใหญ่ เช่น บริษัทมิตรผล ซึ่งเป็นโรงน้ำตาลของไทยที่ติดอันดับ 5 ของโลก แต่มิตรผลก็ยังเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากมายที่ปลูกอ้อยกัน และผมพึ่งไปดูงานมาครับว่ามิตรผลใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลเอามาช่วยเพิ่มผลผลิตในการเก็บเกี่ยวในการวางแผนได้ยังไง
ยกตัวอย่าง น่าสนใจมากเลยนะครับว่าเค้ารู้ได้ยังไงว่าปีนี้เค้าควรขายน้ำตาลเท่าไหร่ เพราะถ้าเกิดว่าทำสัญญาว่าขายมาก ถึงเวลาปรากฏว่าน้ำตาลมีน้อย ผลิตได้น้อยเกินไป ก็จะถูกเค้าปรับเพราะไม่มีของไปส่ง ก็ต้องไปหาซื้อแพงๆ จากที่อื่นมาส่ง หรือถ้าเกิดขายน้อยเกินไปแต่ผลผลิตออกมามากก็เสียโอกาส ทราบมั้ยครับว่ามิตรผลเค้าทำยังไง เค้าจะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมดูว่ามีพื้นที่ปลูกอ้อยกันเยอะขนาดไหน และพอเห็นพื้นที่แล้วรู้ว่าในพื้นที่มีอ้อยเยอะหรือน้อยแต่ไม่รู้ว่าต้นอ้อยสูงแค่ไหน พอไม่รู้ว่าต้นอ้อยสูงแค่ไหนก็ไม่รู้ว่าจะได้น้ำตาลเยอะหรือน้อย เค้าก็ใช้อีกเทคโนโลยีนึง คืออากาศยานที่ไม่มีคนขับ
พูดแล้วอาจจะไม่ค่อยคุ้นกัน มันก็คือโดรนครับ เค้าจะใช้โดรนไปตามไร่อ้อย โดรนวิ่งไปวิ่งมา มันก็จะเห็นว่าอ้อยสูงแค่ไหน แล้วความสูงนั้นเปลี่ยนตามเวลายังไง ก็จะรู้ว่าปีนี้น่าจะมีอ้อยเข้าสู่โรงเก็บอ้อยของเค้าเยอะขนาดไหน และจะทำให้ได้น้ำตาลเยอะหรือน้อย ก็จะทำให้เวลาไปทำสัญญาขายน้ำตาลสู่ตลาดโลกนั้นถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้นครับ
The MATTER : ซึ่งเรื่องพวกนี้มันฟังดูเหมือนว่าเป็นการบริหารจัดการของบริษัท แล้วมันไปมีผลต่อเกษตรกรรายย่อยจริงๆ ยังไง ข้อมูลพวกนี้ บริษัทส่งให้กับเกษตรกรรายย่อยด้วยรึเปล่า
ดร.สมเกียรติ : เกี่ยวข้องด้วยครับ แต่ว่าก่อนจะไปเล่าว่าเกี่ยวข้องกับเกษตรกรยังไง ผมขอเล่าไปอีกนิดนึง ว่ามีเทคโนโลยีง่ายๆ เลยที่มิตรผลเอามาใช้แล้ววันหลังเกษตรกรไทยควรเอามาใช้กันด้วย ก็คือการใช้ GPS ครับ
GPS ก็คือระบบที่บอกตำแหน่งของคน เค้าเอา GPS ไปติดไว้ที่รถแทรกเตอร์ รถตัดอ้อย แล้วเวลาที่รถแทรกเตอร์จะไปเกลี่ยดินหรือเตรียมพื้นที่ดินสำหรับปลูกอ้อย ข้อดีก็คือจะทำให้รถวิ่งได้ในตำแหน่งที่แม่นยำมาก มันเป็นอย่างนี้ครับ ในแปลงปลูกอ้อยนั้นเค้าจะทำเอาไว้ว่า มีส่วนที่ปลูกอ้อยกับส่วนที่เอาไว้ให้รถวิ่งให้ล้อรถข้ามไป เพราะฉะนั้นทั้งสองส่วนนี้จะไม่ถูกเอามาทับกัน เพราะถ้าเกิดว่ารถแทรกเตอร์วิ่งไปทับดินมากๆ ดินก็จะแข็งไม่สามารถปลูกอ้อยได้ ส่วนที่ปลูกอ้อยก็ไม่ควรเอารถแทรกเตอร์หรือรถตัดอ้อยไปทับ แต่ส่วนที่เป็นที่ให้รถวิ่งก็วิ่งได้เต็มที่ครับ ลำพังการที่วิ่งตรงตำแหน่งไม่ไปวิ่งทับตาอ้อยที่อยู่ในดิน ก็ทำให้ผลผลิตอ้อยได้เพิ่มขึ้น ทำให้ดินไม่แข็งเกินไปครับ
เรื่องแย่ๆ เนี่ยเราอันดับดี ส่วนเรื่องดีๆ นี้อันดับเราแย่
The MATTER : ซึ่งจริงๆ GPS ก็เป็นเทคโนโลยีที่เราก็คุ้นชินกันอยู่แล้ว แต่การนำมาประยุกต์แบบนี้ก็ทำให้เกิดผลผลิตที่ดีขึ้นด้วย
ดร.สมเกียรติ : ใช่ครับ อย่างที่ถามว่ามันเกี่ยวกับเฉพาะรายใหญ่ๆ อย่างมิตรผลรึปล่าว แล้วเป็นรายย่อยอย่างเกษตรกรทั่วไปมีส่วนช่วยได้มั้ย ผมไปดูมากับตานะครับก็เห็นว่า เดี๋ยวนี้แม้แต่เกษตรกรไร่อ้อยก็ใช้แท็บเล็ตในการสั่งรถตัดอ้อยหรือรถแทรกเตอร์ คือเกษตรกรเค้าไม่ได้มีรถเเทรกเตอร์กันทุกบ้านเพราะว่ามันราคาแพง คันนึงก็เป็นหลายล้านบาท เพราะฉะนั้นคันนึงเค้าก็จะแบ่งกันใช้แล้วเค้าก็จะแบ่งคิวกัน โดยใช้แท็บเล็ตกดคำสั่งไปปั๊ปเดี๋ยวรถก็มา ก็ทำให้คนที่ลงทุนซื้อรถตัดอ้อยสามารถเอารถมาใช้ได้คุ้ม เพราะเดี๋ยวนี้จะหวังว่าให้เกษตรกรไปเกณฑ์กันมาตัดอ้อยหรือลงแขกกันแบบในสมัยก่อนนั้นไม่มีแล้ว เดี๋ยวนี้หาแรงงานยากมาก เพราะฉะนั้นต้องใช้เครื่องจักร แต่ถ้าลงทุนซื้อเครื่องจักรมาแล้วไม่สามารถให้บริการได้ทั่ว เครื่องจักรที่ซื้อมาอย่างรถแทรกเตอร์หรือรถตัดอ้อยก็จะไม่คุ้มครับ
The MATTER : ในคนเมืองเองเราก็มี Sharing Economy อย่าง Uber หรือ Airbnb ต่างๆ ในภาคเกษตรก็มี Sharing Economy แบบนี้เหมือนกัน
ดร.สมเกียรติ : ใช่ครับ อย่างการแชร์รถแทรกเตอร์กัน แชร์รถตัดอ้อยการอย่างนี้เป็นต้น ของพวกนี้เริ่มเข้าไปสู่ชนบทของไทย เข้าไปสู่ภาคเกษตร แล้วถ้าเข้าไปสู่ชนบทมากๆ หรือภาคเกษตรมากๆ ก็จะช่วยอยู่สองอย่างครับ อย่างแรกก็คือจะช่วยให้ผลผลิตนั้นออกมาดีเพราะประสิทธิภาพมันดีขึ้น อย่างที่สองก็คือช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วย ทำให้ชาวนาเกษตกรลืมตาอ้าปากได้ แต่ถ้าเกิดไม่ใช้เทคโนโลยีพวกนี้อย่างทั่วถึงความเหลื่อมล้ำก็จะเพิ่มขึ้นได้นะครับ
ก่อนจะมาวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าเกิดอย่างนู้นอย่างนี้
มันก็ต้องมีข้อมูลให้วิเคราะห์ก่อน
The MATTER : นอกจากเรื่องของการเกษตรแล้ว การปฏิวัติข้อมูลก็ยังช่วยในวงการอื่นๆ ด้วยใช่ไหม อยากจะให้ช่วยยกตัวอย่างหน่อย
ดร.สมเกียรติ : ใช่ครับ จริงๆ แล้วเรามีกรณีศึกษา มีเคสที่น่าสนใจเป็น 10 เคสเลย เคสอื่นๆ ก็จะมีตัวอย่างที่ยกให้เห็นว่าถ้าเราจะลดคอรัปชั่นของประเทศไทย ต้องเอา Big Data เอา Open Data ของรัฐบาลมาช่วยตรวจสอบดูว่าจุดไหนมีความเสี่ยงในการทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นนั้น จะช่วยได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นกรณีศึกษากรณีนึง หรือถ้าเราเห็นว่าโรงเรียนของไทยคุณภาพไม่ค่อยดีเพราะโรงเรียนของไทยจำนวนนึงเป็นโรงเรียนขนาดเล็กกัน มีครูไม่ครบชั้นไม่ครบวิชา จะเอาข้อมูลมาใช้ว่า จะวางแผนระบบเครือข่ายโรงเรียนกันยังไง เราก็ต้องรู้ที่ตั้งโรงเรียน นั่นก็คือเราต้องรู้ว่าโรงเรียนตั้งอยู่ที่ไหน แต่ละโรงเรียนมีครูกี่คน มีนักเรียนกี่คน แล้วคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนดีหรือไม่ดียังไง ซึ่งที่ผ่านมาข้อมูลของประเทศไทยมันไม่เป็นระบบ ทำให้เราแก้ปัญหาได้ยาก
The MATTER : ดูเหมือนว่าปัญหาหลายๆ อย่างของไทยน่าจะมีต้นตอจาก 2 สาเหตุ อย่างแรกคือไม่มี Open Data ที่เพียงพอ อย่างที่สองคือไม่มีการประมวลผลข้อมูลอย่างเป็นระบบเพียงพอ
ดร.สมเกียรติ : ถูกต้องเลยครับ พอเราคุยกับภาคธุรกิจไทย ธุรกิจไทยหรือรัฐบาลไทยทุกหน่วยงานอยากจะทำ Data Analytics ก็คือเอาข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์กัน แต่ก่อนจะมาวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าเกิดอย่างนู้นอย่างนี้ มันก็ต้องมีข้อมูลให้วิเคราะห์ก่อน ปัญหาของรัฐบาลไทยจำนวนนึงก็คือไม่เก็บข้อมูลที่ควรจะเก็บเยอะแยะไปหมดเลย พอไม่เก็บข้อมูลแล้วจะไปเอาข้อมูลที่ไหนมาวิเคราะห์ล่ะครับ เพราะฉะนั้นต้องเก็บข้อมูล ต้องมีนโยบายการเก็บข้อมูลที่ดี
แล้วจริงๆ ภาครัฐก็มีข้อมูลอีกส่วนนึงที่ก็เก็บแล้ว เป็นข้อมูลของรัฐบาลที่มีอยู่เต็มไปหมดเลยแต่ไม่เอามาใช้และไม่เปิดให้ประชาชนใช้กัน ก็ไม่เกิด Open Data เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ในต่างประเทศที่มีการปฏิวัติข้อมูลกัน มีสองเรื่อง อย่างแรกก็คือทำ Big Data เก็บแล้วนำมาใช้กัน อย่างที่สองก็คือทำ Open Data ของภาครัฐ ถ้าทำสองเรื่องนี้ได้ ประเทศไทยมีโอกาสลืมตาอ้าปากแก้ปัญหายากๆ ได้นะครับ อย่างปัญหาที่คนไทยเติบโตช้า เหลื่อมล้ำสูง ชีวิตราคาถูกก็จะกลายเป็นเรื่องที่เป็นอดีตได้ในอนาคต
อย่างแรกก็คือทำ Big Data เก็บแล้วนำมาใช้กัน
อย่างที่สองก็คือทำ Open Data ของภาครัฐ
ถ้าทำสองเรื่องนี้ได้ ประเทศไทยก็มีโอกาสแก้ปัญหายากๆ ได้
The MATTER : ทั้งหมดนี้มันดูอีรุงตุงนังเหมือนกันนะครับ นึกไม่ออกเลยว่าจะ Open data ตั้งแต่ตรงไหน จะให้เขาเริ่มยังไง มันดูเหมือนไก่กับไข่มากเลย ในงานวันนั้นเราจะมีข้อเสนอด้วยใช่ไหม
ดร.สมเกียรติ : ในวันนั้นจะมีการเสนอด้วยว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไง ทำยังไงให้เกิด Big data ทำยังไงให้ data ที่รัฐบาลเก็บไว้ กลายมาเป็น Open data ให้ได้ มีกรณีศึกษา มีตัวอย่างดีๆ ของต่างประเทศมาเล่าสู่กันฟังครับ ผมไม่ได้อยากโฆษณาล่วงหน้าล่วงนะครับ แต่ก็หวังว่าจะ ‘ว้าว’ กันในวันนั้น เป็นงานสัมนาวิชาการแบบ 4.0
เดี๋ยวนี้เมืองไทยอะไรก็ 4.0 จริงๆ เราเห็นแล้วว่า 4.0 จะมา ปีที่แล้วก็จัดสัมนาวิชาการ แต่จัดในโรงละครอักษราเพราะอยากให้สนุกกัน จัดเป็นวิชาการ 3.0 โดยที่ 1.0 ในความหมายของเราคือวิชาการถูกต้องก่อน ข้อมูลถูกต้องก่อน 2.0 คือนอกจากถูกต้องแล้ว ต้องเข้าใจง่ายด้วย ปีที่แล้วจัดไปถึงขั้น 3.0 ถูกต้อง เข้าใจง่ายแล้วก็อยากให้สนุกด้วย เลยจัดที่โรงละคร และปีนี้ 4.0 ถูกต้อง เข้าใจง่าย สนุก แล้วคนที่มาร่วมสัมนาจะมีส่วนร่วม เรียกได้ว่ามาร่วมสนุกกันได้ด้วยไม่ได้มาฟังสัมนาอย่างเดียว จะมีส่วนร่วมกันในหลายรูปแบบ เป็นสัมนาแบบ interactive
The MATTER : ฟังแล้วก็น่าตื่นเต้น คือเราอาจจะรู้สึกว่ามันไกลตัวเราเหลือเกิน แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเรามาก แล้วกำลังจะมาสู่ชีวิตพวกเราในทุกวัน นี่คำถามจากทางบ้านนะครับ เป็นคำถามที่ค่อนข้างจะมองไกลนิดนึง ถามถึงโอกาสที่ไทยจะเก็บข้อมูลครัวเรือนเป็น nationally เป็น longtitude dinal
ดร.สมเกียรติ : longitudinal เป็นข้อมูลที่เก็บซ้ำ เคยไปเก็บมาแล้ว ปีหน้าก็เก็บอีก จะทำให้ติดตามสภาพครัวเรือนนั้นได้ คือที่ไทยจะเป็นแบบ ปีนี้เก็บครัวเรือนนี้ ปีต่อไปเก็บอีกครัวเรือนนึง พอมันเปลี่ยนไปผลไม่เหมือนเดิม เราไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะว่าตัวอย่างมันเปลี่ยนไปหรือเปล่า มีข้อมูลของไทยบางชุดที่มีการเก็บซ้ำ เรียกว่าเป็นข้อมูลที่สำรวจซ้ำ คือ longitudinal data ก็มีบ้าง แต่ว่าอยากเชียร์ให้ทำกันเยอะขึ้น คือที่ไทยยังทำกันไม่เยอะเพราะการทำข้อมูลซ้ำๆ นั้นราคาแพงและทำได้ยาก ก็เป็นโอกาสที่มีการปฏิวัติ จะมีข้อมูลที่บางเรื่องมันเก็บได้ง่ายขึ้น ความจำเป็นที่ต้องเก็บแบบเดิม ต้องไปถามทุกเรื่องๆ ก็เก็บน้อยลง ทำให้ต้นทุนถูกลง ถามซ้ำได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยจะมีข้อมูลที่เอาไปวางแผนและเอาไปกำหนดนโยบาย และแก้ปัญหาบริการของประชาชนได้ดีขึ้น
คนที่เสียเปรียบอยู่ จะต้องเข้าใจการใช้ Big data
ซึ่งรัฐบาลจะต้องไปช่วยด้วยว่าทำยังไงให้ใช้ Big data ได้ง่ายขึ้น
The MATTER : เพราะเวลาที่เราพูดถึงการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือ Big Data เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา แต่ใน process มันมีโอกาสที่ข้อมูลจะปนเปื้อนหรือข้อมูลผิดพลาดสูง เมื่อเอามาประมวลผลมันจะเกิดความเสียหายมากขึ้น คือเรื่องของ Big data เรื่องของการปฏิวัติข้อมูล มันรวมถึงการคิดถึงเรื่องพวกนี้ด้วยใช่ไหมครับ
ดร.สมเกียรติ : จริงๆ เรื่องพวกนี้สำคัญมากนะครับ Big data มีส่วนช่วยในการเก็บข้อมูลอัตโนมัติด้วยเซ็นเซอร์ เช่น แต่เดิมเราต้องคอยไปจดว่าปริมาณน้ำฝนเป็นยังไง พอถึงสุดสัปดาห์ก็ไปป้อนใส่คอมพิวเตอร์ มันมีโอกาสผิดพลาดทุกขั้นตอน จดมิเตอร์การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำประปา ทุกวันนี้มันมีโอกาสผิดพลาดกัน แต่ถ้าใช้เซ็นเซอร์ก็จะได้ Big data มา แล้วความผิดพลาดจะน้อย และที่สำคัญถ้าไม่ใช้ข้อมูลจากการเซ็นเซอร์ แต่ไปใช้อุปกรณ์ไอทีหรือแทบเล็ตเลย แล้วกรอกข้อมูลตรงนั้น ระบบจะสามารถโปรแกรมได้เลย ตรงไหนสงสัยต้องตรวจสอบดูได้ เช่น ตอบคำถามสองข้อแล้วเกิดความขัดแย้งในตัวเอง อย่างนี้ก็จะช่วยได้
The MATTER : ถ้าพูดถึง Big data หรือการปฏิวัติข้อมูล หลายๆ ส่วนเราจะรู้สึกว่ามันลดความเหลื่อมล้ำจริง แต่หลายๆ ส่วน เราจะรู้สึกว่ามันไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน ไปอยู่ในมือของคนไม่กี่คน มันจะเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า
ดร.สมเกียรติ : มันมีได้ทั้งสองกรณี กรณีนึงที่เราจะยกในงานสัมนาเป็นเรื่องสนุกๆ เลยนะครับ เป็นเรื่องของทีมกีฬาที่ทุนน้อยกว่าชาวบ้านเขา เช่นฟุตบอลที่ไม่ใช่บาร์เซโลนา ไม่ใช่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นทีมเงินน้อยหน่อย ทำยังไงที่จะสามารถเลือกตัวนักเตะ ที่คุณภาพดีแต่ราคาถูกได้ ของพวกนี้มีทำกันแล้วนะครับ และทำโดยใช้ Big data ก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำของทีมฟุตบอลลดลงได้ ถ้าเอามาใช้กับเรื่องอื่นได้ ก็แปลได้ว่ามีโอกาสลดความเหลื่อมล้ำได้เหมือนกัน ซึ่งแปลว่ารายเล็ก หรือคนที่เสียเปรียบอยู่ จะต้องเข้าใจการใช้ Big data ซึ่งรัฐบาลจะต้องไปช่วยด้วยว่าทำยังไงให้ใช้ Big data ได้ง่ายขึ้น
ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังตื่นตัวกับการใช้ข้อมูลไม่มากพอครับ
แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ ช่องว่างระหว่างประเทศไทย
กับประเทศอื่นที่เราต้องไปแข่งด้วย ก็จะห่างมากขึ้นทุกทีๆ
The MATTER : ถึงเป็น Big data ก็ต้องมีการใช้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ก็จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำใช่ไหม
ดร.สมเกียรติ : ใช่ครับ แล้วถ้าเกิดรัฐบาลเปิด Big data ที่รัฐบาลมี ให้เป็น open data ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายเล็ก คนตัวเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ไม่สามารถจะไปเก็บข้อมูลเองได้ เพราะรายใหญ่เขามีกำลังในการไปเก็บข้อมูลมาได้เอง ถ้ารายเล็กมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยก็มีโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้น Big data มีโอกาสที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกัน ถ้ากำหนดนโยบายให้ดี ก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ครับ
The MATTER : นี่เหมือนเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของไทยในการกำหนดหางเสือไปในทางที่ถูกต้อง
ดร.สมเกียรติ : แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังตื่นตัวกับการใช้ข้อมูลไม่มากพอครับ แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ ช่องว่างระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นที่เราต้องไปแข่งด้วย ก็จะห่างมากขึ้นทุกทีๆ ความเหลื่อมล้ำที่ว่านี่จะไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำในประเทศแล้ว แต่จะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศครับ
The MATTER : ในงานวันนั้นก็จะมีแขกรับเชิญพิเศษมากมาย เช่น คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง Tarad.com รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย smart city ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณวรพจน์ จากสำนักพิมพ์ openworlds แล้วก็มีอีกหลายๆ ท่านเลย
ดร.สมเกียรติ : ใช่ครับ วันนั้นรวมนักคิด นักปฏิบัติเรื่อง Big data ของประเทศไทย อย่างเช่นคุณภาวุฒ ที่ตอนนี้กำลังเหนื่อยเลย คุณภาวุฒต้องสู้อยู่กับอาลีบาบา อาลีบาบาก็มี Big data คุณภาวุฒ ก็มี Big data แต่ Big data ของคุณภาวุฒ เมื่อเทียบกับ อาลีบาบา ดูเหมือนจะเป็น Small data หรือเปล่าไม่ทราบ คุณภาวุฒอาจมาเล่าว่าจะสู้ยังไง หรืออาจารย์เอกชัย ก็คือคนที่ทำ All Thai Taxi แท็กซี่สีเหลืองที่เราเห็นกัน แล้วแท็กซี่เหลืองนี้ดียังไง ทำไมถึงสามารถเอา Toyota Prius ที่ราคาไม่ได้ถูกเลย เป็นรถ Hybrid ทั้งใช้น้ำมัน ใช้ไฟฟ้าแบตเตอรี่ เอามาวิ่ง เอามาให้บริการ อาจารย์เอกชัยก็คงมาเล่าให้ฟัง