เวลาพูดถึง ‘เจริญกรุง’ คุณนึกถึงอะไร?
แล้วย้อนกลับสลับคำเป็น ‘กรุงเจริญ’ ล่ะ สำหรับคุณเป็นแบบไหน?
เจริญกรุงเป็นย่านที่น่าสนใจสำหรับใครหลายคนอยู่แล้ว ทั้งในฐานะถนนสายแรกของประเทศไทย ที่รักษาบรรยากาศแบบดั้งเดิมได้มาถึงทุกวันนี้ และในฐานะย่านที่ดึงดูดความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับประเทศ พื้นที่หลากหลายสำหรับแสดงความคิดสร้างสรรค์ งานอีเวนท์ต่างๆ มากมาย รวมถึงร้านกาแฟ โฮสเทล และแกลเลอรี่เก๋ๆ
เมื่อย่านที่น่าสนใจ รวมเข้ากับเวทีทอล์กที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกอย่าง TED Talk ก็กลายมาเป็นอีเวนต์น่าจับตาที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ The MATTER เลยชวนทีมงาน TEDxCharoenkrung มาพูดคุยกันถึงย่าน ถึงงาน ไปจนถึงว่าคนดู คนฟัง และสังคมจะได้อะไรจากการจัดงานครั้งนี้
The MATTER : ทำไมเลือก ‘เจริญกรุง’
ทีม TEDxCharoenkrung : จริงๆ เรามองหาหลายย่านมาก แต่แล้วก็มาสะดุดกับเจริญกรุง เพราะพอพูดถึงเจริญกรุงแล้ว มันสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของความเป็นสยาม มีกลิ่นอายความเป็นไทยอย่างบอกไม่ถูก แล้วคำนี้ก็ยังสลับได้เป็น ‘กรุงเจริญ’ เราก็เลยอยากจัดที่นี่ แล้วให้งานนี้กระตุ้นอะไรสักอย่างในสังคม เกิดแรงกระเพื่อมที่น่าจะส่งผลให้เกิดกรุงเจริญได้จริงๆ
จริงๆ เราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ย่านนี้หรือชีวิตคนแถวนี้ แต่เราตั้งใจเลือกเจริญกรุงให้เป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือทำเพื่อสร้างกรุงที่เจริญ เพราะเจริญกรุงเองก็เป็นถนนสายแรกของประเทศ เป็นถนนสายที่ต่างชาติเรียกว่า New Road มันก็เลยเหมาะกับความตั้งใจของเรา ที่จะจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดเริ่มแรกของการสร้าง Doers Community หรือชุมชนสำหรับคนที่ลงมือทำ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดกรุงเจริญได้
The MATTER : ที่บอกว่าไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร แล้วคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของย่านเจริญกรุง ที่มีการเข้ามาและเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ เต็มไปหมดเลย
ทีม TEDxCharoenkrung : คุณเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์เคยพูดไว้ว่า ประวัติศาสตร์มันเหมือนหางเสือ ปกติหางเสือมันทอดไปข้างหลัง แต่มันกำหนดทิศทางข้างหน้า ถ้าเราไม่รู้ราก ไม่รู้อดีตของตัวเองแล้ว เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราจะเดินต่อไปทางไหน เราจะเดินไม่ได้ไกล เดินไปแบบสะเปะสะปะ จริงๆ เราต้องมองว่าพื้นที่มันควรที่จะเป็นอะไรมากกว่า มันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแบบแบรนด์นิวทั้งหมด จะเปลี่ยนยังไงก็ได้ แต่ทำยังไงให้ยังคงมีเสน่ห์ มีมนต์สะกดของย่านเหมือนเดิมได้ ถ้าวันนึงความเป็นเจริญกรุงมันกระเด็นออกไป เรายังจะนับว่าที่นี่เป็นเจริญกรุงอยู่รึเปล่า
คือทุกครั้งที่มีการพัฒนาพื้นที่เกิดขึ้น เรามักจะคิดว่าต้องมีผู้เสียสละ ซึ่งมันก็นำไปสู่คำถามที่ว่า สิทธิ์ของการเลือกจะมีชีวิตแบบที่ตัวเองอยากมีของคนในพื้นที่ มันมีค่าน้อยเกินไปหรือเปล่า เมื่อเทียบกับหลากหลายเหตุผลของการพัฒนา
The MATTER : ธีมงาน Ready / Set / Grow สื่อถึงอะไร
ทีม TEDxCharoenkrung : มันเข้ากับเจริญกรุงดี ตรงที่ Ready / Set / Grow มีความหมายเป็นไทม์ไลน์ที่เชื่อมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน อาจจะสื่อถึงการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลง และการเติบโตได้ด้วย แล้วเวลาพูดถึง Ready / Set / Grow ก็จะชวนให้นึกถึง Ready / Set / Go เวลาจะออกตัววิ่ง เพียงแต่นี่ไม่ใช่การวิ่งแข่งกัน แต่เป็นการวิ่งแข่งกับตัวเอง มีเส้นชัยของใครของมันเป็นอะไรที่ตั้งใจจะทำให้ได้
The MATTER : มีวิธีคัดเลือกสปีกเกอร์ยังไง
ทีม TEDxCharoenkrung : หลายคนชอบถามว่าเลือกสปีกเกอร์ที่เป็นคนเจริญกรุงหรือเปล่า ต้องบอกว่าไม่ใช่ทั้งหมด เราเลือกจาก 2 มิติ คือมิติเชิงพื้นที่ ส่วนหนึ่งของสปีกเกอร์ก็เป็นคนในพื้นที่ หรือเป็นคนที่ทำงานกับพื้นที่อีกมิติคือมิติของกรุงเจริญ เราก็เลือกสปีกเกอร์ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตแบบนั้น ทั้งในและนอกพื้นที่ แต่สปีกเกอร์ทุกคนเป็น Doer เป็นคนลงมือทำอะไรสักอย่าง หรือเริ่มต้นอะไรสักอย่าง เหมือนเป้าหมายและธีมที่เราตั้งใจไว้
พูดถึงเรื่องมิติเชิงพื้นที่ ถามว่าใครเป็น ‘เด็กสยาม’ บ้าง แล้วบ้านอยู่สยามหรือเปล่า ที่บางที่ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องไปอยู่ด้วยซ้ำ แต่ว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่าง งานทอล์กครั้งนี้ นอกจากคาดหวัง Doer ให้มาสร้าง Doerที่ แล้ว เราก็หวังให้เจริญกรุง กลายเป็นโมเดลที่ทำให้กรุงทุกกรุงเจริญขึ้นด้วย เมื่อเราคาดหวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็เลยเลือกสปีกเกอร์ที่เหนือความคาดหมาย เพราะเราไม่ได้อยากพูดถึงเจริญกรุงที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว เห็นอยู่แล้ว เราพยายามตีความให้ต่างออกไป เราไม่ได้อยากให้ทอล์กของเราเป็นแค่ทอล์กที่ฟังแล้วรู้สึกดี เพราะฟังวันนี้ พรุ่งนี้ก็ลืมแล้ว ทอล์กที่รู้สึกดีเป็นได้แค่อาหารที่อร่อย แต่เราอยากปรุงอาหารที่อร่อยและมีประโยชน์ด้วย
The MATTER : สปอยล์ตัวอย่างเนื้อหาของสปีกเกอร์ที่เพิ่งเปิดตัวออกมาให้ฟังนิดนึงได้ไหม
ทีม TEDxCharoenkrung : ยกตัวอย่างคุณวิชิต ซ้ายเกล้า ที่เราแนะนำว่าเป็น ‘วิศวกรระบบ ทหาร และผู้บุกเบิกวงการคราฟต์เบียร์ไทย’ เขาก็จะมาเล่าถึงวิธีการบางอย่างที่ทำให้ก้าวข้ามขีดจำกัดของการคราฟต์เบียร์ในเมืองไทย ซึ่งเรื่องที่เขาเล่าก็จะสะท้อนไปถึงความไม่ยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของบ้านเรา
หลักๆ เนื้อหาก็จะเกี่ยวกับองค์ความคิดที่นำมาสู่สิ่งที่แต่ละคนทำ และปัจจัยในการสร้างสภาพแวดล้อมของคนที่อยากจะทำอะไรบางสิ่ง สภาพแวดล้อมของสังคมที่มีที่ทางให้ Doers
The MATTER : ทุกวันนี้มีทอล์กที่ให้แรงบันดาลใจและไอเดียคนมากมาย TEDxCharoenkrung เป็นทอล์กที่ต่างจากทอล์กอื่นยังไง
ทีม TEDxCharoenkrung : ใช่ ทอล์กทุกวันนี้จุดประกายคนจนจะไหม้หมดแล้ว แล้วก็ยังไม่ได้นำไปสู่อะไรต่อ งานนี้เราเลยมุ่งไปที่การสร้าง Doers Community เพื่อให้ขยับไปข้างหน้ามากกว่าแค่จุดประกาย เราสร้างชุมชนให้เกิดขึ้นจริงจากโมเดลของงานที่มี Pre-Event, Talk, After Party ซึ่งก็ล้อไปกับธีม Ready / Set / Grow ด้วย
Pre-Event ก็จะเป็นบทนำไปสู่ทอล์กวันจริง มีกิจกรรมที่ทำให้คนรู้จักกันแบบลึกซึ้งภายในเวลาอันสั้น แล้วก็จะมีกิจกรรมที่ขุดคุณขึ้นมา ให้คุณรู้สึกว่ามีความคิดนี้อยู่ในหัว แล้วทำไมไม่ทำอะไรสักอย่าง ส่วนวันทอล์ก นอกจากบนเวทีก็จะมีกิจกรรมหน้างาน ที่ไม่ได้เป็น Exhibition แบบทอล์กอื่นๆ แต่ต้องอุบไว้ก่อน บอกได้แค่มันจะส่งสารเดียวเลย คือให้คุณออกไปทำอะไรสักอย่าง ส่วน After Party ก็เป็นโอกาสให้คนฟังได้พบสปีกเกอร์ Doer ได้พบกับ Doer แล้วก็สามารถชวนกันทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ หรืออย่างน้อยก็มีเครือข่ายเผื่อไว้สำหรับอนาคต
The MATTER : ถ้าไม่ใช่เจริญกรุง อยากจัด TED ที่ไหนกันบ้าง
ทีม TEDxCharoenkrung : (แย่งกันตอบ) TED บนเกาะสิ TEDxตะรุเตา TEDxหลีเป๊ะ / TEDxBTS สิ ให้เวลาสปีกเกอร์ทอล์กคนละสถานี / TEDxรถเมล์สาย 8 เลย!