จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ ‘วิกฤติ’ ทั้งจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายวันที่พุ่งสูงขึ้น ‘วันละหลายพัน’ รวมถึงการที่โรงพยาบาลกำลังขาดแคลนเตียงและบุคคลากรทางการแพทย์ แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือการจัดหาและการฉีดวัคซีนยังเป็นไปอย่างล่าช้า แถมวัคซีนที่จัดหามาก็ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพว่าไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคระบาด
ถ้าหากถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
เสียงหัวเราะสนุกสนานของผู้นำรัฐบาลในยามที่ประชาชนกำลังร่ำไห้ คงพอตอบคำถามได้ว่า ‘อะไรคือปัญหา’
แต่คำถามที่สำคัญกว่า คือ จะออกจากปัญหานี้อย่างไร เพราะปัญหาที่ปวงชนชาวไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกกันว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ ที่มีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2560 เป็นตัวค้ำจุนให้ผู้นำรัฐบาลยังอยู่ในอำนาจได้โดยไม่ต้องสำนึกหรือแยแสต่อเสียงของประชาชน เพราะพวกเขาเข้าสู่อำนาจผ่านกลไกที่ตัวเองเป็นคนออกแบบ
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าประชาชนจะเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่มากเพียงใด แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถูกเตะถ่วงและปัดตกอยู่อย่างสม่ำเสมอ
จนเสมือนว่านี่คือ ภารกิจ ‘จุดเทียนท่ามกลางพายุฝน’
แต่กระนั้น ภาคประชาชนและพรรคการเมืองก็หาได้ลดละความพยายาม อย่างล่าสุด กลุ่ม Re-solution ได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่มีคนลงชื่อถึง 150,912 ชื่อ ต่อรัฐสภา เพื่อเตรียมเปิดศึกแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่สาม แลทันทีที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับใหม่ประกาศใช้ ประชาชนและรัฐสภาก็จะมีอำนาจในการเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญได้อีก 1 ช่องทาง
จุดเทียนแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ถูกดับด้วยน้ำมือ ส.ว.-ศาลรัฐธรรมนูญ
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2562 แม้ว่า ‘การแก้รัฐธรรมนูญ’ จะเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงต่อสภา แต่ทว่า ในปีแรกของการเปิดประชุมสภา สภาผู้แทนราษฎรกลับทำได้เพียงตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่ง กมธ.ชุดดังกล่าว ก็ทำได้เพียงจัดทำงรายงานปัญหารวมถึงข้อเสนอแนะ แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรม
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2563 หลังเกิดปรากฏการณ์ ‘แฟลซม็อบ’ ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศ ทำให้กระแสแก้รัฐธรรมนูญกลับมาดังอีกครั้ง และเริ่มปรากฎอย่างเป็นรูปธรรมในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม Free Youth หรือ เยาวชนปลดแอก ซึ่งนับเป็นการชุมนุมใหญ่บนท้องถนนครั้งแรกนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี พ.ศ.2557 จนทำให้พรรคการเมืองต้องขยับมาเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่ภาคประชาชนก็เริ่มรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ‘ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ที่ต้องการรื้อกลไกสืบทอดอำนาจ สร้างหนทางสู่ประชาธิปไตย ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน
ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2563 ตัวแทนภาคประชาชนก็ได้เดินขบวนกันมายื่นร่างรัฐธรรมนูญและรายชื่อต่อรัฐสภา โดยมีผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างถึง 100,732 รายชื่อ แต่เนื่องจากต้องมีการตรวจนับเอกสารก่อน จึงไม่สามารถนำมาบรรจุให้ทันการประชุมของรัฐสภาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2563 ทำให้การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภาในวันดังกล่าว มีเพียง 6 ฉบับ จากพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล
แต่ในท้ายที่สุด ที่ประชุมรัฐสภากลับเลือกที่จะเลื่อนการลงมติออกไป 30 วัน พร้อมกับให้ตั้ง กมธ.เพื่อมาศึกษาญัตติแก้รัฐธรรมนูญทุกฉบับเสียก่อน
โดยสาระสำคัญของร่างแก้รัฐธรรมนูญ มีดังนี้
๐ ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ฉบับ
- จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 150 คน แต่งตั้ง 50 คน
- การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
๐ ร่างของพรรคฝ่ายค้าน 5 ฉบับ
- จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 200 คน
- การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
- ปิดสวิตซ์ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี
- ยกเลิกการคุ้มครองอำนาจพิเศษและการนิรโทษกรรมของคสช.
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
- เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ‘บัตรสองใบ’ แบบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540
๐ ร่างของประชาชน 1 ฉบับ
- จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 200 คน
- ยกเลิกอำนาจและที่มา ส.ว.แต่งตั้ง และให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง
- ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ และกลไกปฏิรูปประเทศของ คสช.
- ให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.
- แก้ที่มาขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญให้เหมือนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540
- ยกเลิกการคุ้มครองอำนาจพิเศษและการนิรโทษกรรมของ คสช.
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
ต่อมาในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอีกคร้ั้ง แต่ผลการลงมติปรากฏว่า มีร่างแก้รัฐธรรมนูญเพียง 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา คือ ร่างของพรรคเพื่อไทยกับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและร่างของพรรคฝ่ายค้านที่มีข้อเสนอให้รื้อกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. ต้องถูกปัดตกไปตั้งแต่วาระที่หนึ่ง เพราะได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่ถึงหนึ่งในสาม
ต่อมา ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สอง โดยวาระนี้มีการปรับแก้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราต้องอาศัยเสียงไม่น้อยกว่า ‘สามในห้า’ ของสมาชิกรัฐสภา และได้แก้ไขวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. จากการใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ‘รวมเขต’ หนึ่งเขตหลายคน เป็นระบบแบบแบ่งเขต ‘200 คน 200 เขต’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มมีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือนักการเมืองครอบงำการแก้รัฐธรรมนูญ มากกว่าที่จะได้ตัวแทนซึ่งมีความหลากหลายทางอุดมการณ์ ความเชื่อ และผลประโยชน์
อย่างไรก็ดี ก่อนที่รัฐสภาจะได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.แต่งตั้ง ได้วางหลุมพรางเอาไว้ ด้วยการยื่นญัตติให้รัฐสภาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่
ซึ่งผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ‘รัฐสภามีอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ต้องไปทำประชามติก่อน’ ได้กลายมาเป็น ‘ข้ออ้าง’ ให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.แต่งตั้งลงมติงดออกเสียงหรือไม่ประสงค์ลงคะแนน จนทำให้ร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามต้องล่ม
ด้วยเหตุนี้ ศึกแก้รัฐธรรมนูญจึงจบลงด้วยการประสานมือของฝ่ายเผด็จการไม่ว่าจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ ส.ว.แต่งตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญ
จุดเทียนแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่ยังฝ่าด่าน ส.ว.แต่งตั้ง ไปไม่ได้
หลังจากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต้องล้มอย่างไม่เป็นท่า ทำให้ในปี พ.ศ.2564 ภาคประชาชนและพรรคการเมืองหันมาใช้การแก้รัฐธรรมนูญแบบ ‘รายมาตรา’ โดยผู้ที่นำร่องการแก้ไข คือกลุ่ม ‘Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่’ ที่นำโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และพริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ที่เปิดตัวแคมเปญเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2564 โดยหวังเอาสิ่งกีดขวางการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับออกไป
หลังจากภาคประชาชนขยับ ฝ่ายการเมืองก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหว นำโดยพรรคพลังประชารัฐที่ได้ยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ ก่อนจะตามมาด้วยการเสนอร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย และปิดท้ายด้วยร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์
โดยสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฝ่ายมีดังนี้
๐ ร่างพรรคพลังประชารัฐ
- แก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพ เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม, สิทธิชุมชน ฯลฯ
- เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ‘บัตรสองใบ’ แบบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540
- ยกเลิกการกำหนดโทษ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ ครม. ที่แปรญัติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณ
- ยกเลิกการห้าม ส.ส. หรือ ส.ว. ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ
- ให้ ส.ส. มีอำนาจกำกับการปฏิรูปประเทศ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
๐ ร่างพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้าน
- แก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพ เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม, เสรีภาพในการแสดงออก, สิทธิในทางสาธารณสุข ฯลฯ
- เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใช้ ‘บัตรสองใบ’ แบบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540
- เพิ่มช่องทางให้นายกฯ มาจาก ส.ส. และ ปิดสวิตซ์ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกฯ
- ยกเลิกกลไกแผนยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการนิรโทษกรรมให้ตัวเองของ คสช.
๐ ร่างพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย
- แก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพ เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม, สิทธิชุมชน, รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ฯลฯ
- เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใช้ ‘บัตรสองใบ’ แบบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540
- เพิ่มช่องทางให้นายกฯ มาจาก ส.ส.
- ปิดสวิตซ์ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกฯ
- เปิดช่องให้แก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติตามสถานการณ์
- แก้ไขกระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช.
- การแก้รัฐธรรมนูญให้ใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา
ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาได้มีนัดพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่ง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 13 ฉบับ
แต่ผลการลงมติพบว่า มีร่างแก้รัฐธรรมนูญถึง 12 ฉบับ ที่ถูกปัดตก โดยร่างรัฐธรรมนูญเหล่านี้ แม้จะได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่เนื่องจากได้คะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่ถึงหนึ่งในสาม
ซึ่งมันสะท้อนว่า ส.ว.ที่มาจาก คสช. กำลังเป็นปฏิปักษ์กับตัวแทนของเสียงมหาชน
และการปัดตกข้อเสนอ ‘ปิดสวิตซ์ ส.ว.’ เพื่อเปิดทาง ส.ส. เป็นผู้ชี้ขาดผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ยิ่งทำให้การเมือง ‘ตกหล่ม’ ไม่สามารถหลุดพ้นจาก ‘ระบอบประยุทธ์’ ได้
แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา มีแนวโน้มว่าจะถึง ‘ทางตัน’ เนื่องจากร่างดังกล่าวมีหลักการในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียง 2 มาตรา ทำให้ในชั้น กมธ.ที่จะเป็นผู้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเผชิญกับปัญหาว่า ไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงในมาตราอื่นๆ เพื่อไม่ให้ขัดหรือแย้งกันเองได้ และอาจจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้บรรดา ส.ส. และ ส.ว. ตัดสินใจไม่ลงมติอีกครั้ง
แม้ว่าสมรภูมิการแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราจะจบลงที่ความพ่ายแพ้ของตัวแทนประชาชน แต่การต่อสู้ก็ยังไม่จบ เพราะหลังจาก ส.ว.ของ คสช. ได้ปัดตกร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล ก็ทำให้ประชาชนหันมาสนใจกิจกรรมการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของกลุ่ม Re-solution อย่างล้นหลาม จนภายในระยะเวลาไม่นาน ก็มีคนมาร่วมลงชื่อถึงหลักแสน
และตัวแทนกลุ่ม Re-solution และเครือข่ายก็ได้ไปยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 150,921 ชื่อ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา
โดยสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่กลุ่ม Re-solution เป็นคนเสนอ คือ
- ยกเลิกระบบวุฒิสภา และใช้ระบบ ‘สภาเดี่ยว’ หรือสภาผู้แทนราษฎร
- ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ และกลไกการปฏิรูปประเทศของ คสช.
- เปลี่ยนที่มาขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญให้มาจากประชาชน แต่มีการถ่วงดุล
- ยกเลิกการคุ้มครองอำนาจพิเศษและการนิรโทษกรรมของ คสช.
โดยขั้นตอนหลังจากยื่นเอกสารรายชื่อต่อประธานสภา คือทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการเข้าชื่อเป็นเวลาไม่เกิน 45 วัน หลังจากนั้น จะมีการบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา
ซึ่งคาดว่า อย่างช้าที่สุดการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะอยู่ในสมัยการประชุมของเดือนพฤศิกายน พ.ศ.2564
ประชามติ: เทียนเล่มใหม่สู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
แม้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับจะถูกแช่แข็งด้วยเสียงของพรรครัฐบาล และ ส.ว. ที่มาจาก คสช. แต่จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2563 ได้ชี้ให้เห็นว่า กุญแจดอกสำคัญในการไขประตูเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คือการจัดออกเสียง ‘ประชามติ’
โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระที่สาม และทันทีที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กระบวนการออกเสียงประชามติก็สามารถจะเริ่มได้ทันที แต่ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่า การริเริ่มให้มีการออกเสียงประชามติสามารถทำได้ 5 ช่องทาง ได้แก่
(1) การทำประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) การทำประชามติเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นควร
(3) การทำประชามติตามกฎหมายอื่น
(4) การทำประชามติเมื่อรัฐสภาได้ลงมติให้จัดทำประชามติ
(5) การทำประชามติเมื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
หากประชาชนต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็สามารถเสนอให้มีการจัดออกเสียงประชามติได้ โดยจะเรียกร้องโดยตรงไปยังคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดออกเสียงประชามติก็ได้ หรือจะใช้ทางอ้อมด้วยการให้รัฐสภาเป็นคนเสนอ หรือจะใช้วิธีการเข้าชื่อของประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ เสนอไปยัง ครม. เพื่อลงมติเห็นชอบและดำเนินการออกเสียงประชามติก็ได้
แต่อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญของการจัดทำประชามติ คือต้อง ‘เสรีและเป็นธรรม’ ทว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ยังมีจุดอันตรายอยู่ในมาตรา 60 ที่เพิ่มความผิดฐาน ‘เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ’ เข้ามา ซึ่งบทเรียนจากการทำประชามติปี พ.ศ.2559 การเขียนบทบัญญัติในลักษณะ สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การอ้างข้อกฎหมายเพื่อข่มขู่ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการณรงค์ออกเสียงประชามติ
และยิ่งเป็นการจัดออกเสียงประชามติภายใต้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มาจากการแต่งตั้งทางอ้อมของ คสช. ก็ยิ่งทำให้ประชาชนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกับ การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2562 อีก