นี่ไม่ใช่บทความว่าด้วยการวางแผนทางการเงิน แต่เป็นบทความว่าด้วยการวางกลยุทธ์ทางการเมือง ที่ท้ายที่สุด ลงเอยด้วยความผิดพลาดของผู้วางหมากเกม จนอาจพ่ายแพ้ทั้งกระดาน
หลังปรากฎการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ ในเวลา 09.10 น. ของวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนจะเกิดเหตุการณ์พลิกผันในราว 14 ชั่วโมงถัดมา ชะตากรรมของพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีแกนนำอาทิ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือจาตุรนต์ ฉายแสง ก็แขวนอยู่บนเส้นด้าย!
‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ ของพรรคการเมือง เครือข่ายพรรคตระกูลเพื่อ (แม้พรรคนี้จะไม่มีคำว่าเพื่ออยู่ในชื่อก็ตาม) ก็ถือเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์จริงๆ ทั้งในหมู่กองเชียร์ขั้วการเมืองนี้อยู่แล้ว ฝ่ายตรงข้าม ไปจนถึงคนกลางๆ ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ #ทรงพระสเลนดอร์ นี้อย่างหลากหลาย
เมื่อ ทษช.เสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค
ก่อนที่ราว 22.40 น. ของวันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระบรมราชโองการว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อยู่ในหลักการ “ดำรงอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง”
..จากคิดว่าตัวเองเปิดเกมรุกทางการเมือง รู้ตัวอีกที ทษช.ก็อยู่ในฐานะตั้งรับเต็มรูปแบบ
..อะไรก็เกิดขึ้นได้ กับพรรคการเมืองที่มีชื่อย่อชวนให้นึกถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ
แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย
วลี ‘แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย’ เริ่มถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกๆ ในช่วงต้นเดือน ต.ค.2561 ในฐานะยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่จะแตกพรรคเล็กพรรคน้อย เพื่อสู้กับกติกาในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่หวังสลายความเข้มแข็งของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ด้วยระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่นำไปคำนวณหาทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ยิ่งได้ ส.ส.เขตมาก จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อยิ่งน้อยลง)
โดยพรรคเพื่อไทย มีหน้าที่เก็บ ส.ส.เขต ส่วนพรรคสาขาอื่นๆ จะเก็บคะแนนตามเบี้ยบ้ายรายทาง เพื่อไปคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
แต่ผู้ที่ทำให้วลีนี้ป๊อบขึ้นมาและถูกพูดถึงตามหน้าสื่อมากขึ้น ก็คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ผู้วิเคราะห์ว่า พรรคการเมืองในเครือข่ายทักษิณ จะใช้ยุทธศาสตร์นี้ในการเก็บ ส.ส.ให้ได้ถึง 300 เสียง (แต่ในการวิเคราะห์ของสุเทพ มีการรวมพรรคอนาคตใหม่เข้าไปด้วย นัยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะถูกแบ่งเป็น 2 ข้างเท่านั้น คือข้างทักษิณและข้างไม่เอาทักษิณ)
แต่ในขณะที่หลายๆ คนโฟกัสไปกับ พรรคเพื่อธรรม (ก่อตั้งปี 2553) หรือพรรคเพื่อชาติ (ก่อตั้งปี 2556) ที่คนในเครือข่ายพรรคเพื่อไทยและ นปช.เข้าไปเทกโอเวอร์ทั้ง 2 พรรคในเวลาไล่เลี่ยกัน
พลันชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ก็ปรากฎขึ้นมา ในช่วงเดือน พ.ย.2561 โดยใช้วิธีเปลี่ยนชื่อ พรรครวมพลังไทย (ก่อตั้งปี 2553) พร้อมกับการย้ายไปสังกัดพรรคนี้ของคนใกล้ชิดของทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, ทายาทแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายๆ คน, แกนนำ นปช. รวมไปถึงบิ๊กเนมอย่างจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
โดยการส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของพรรคการเมืองนี้ เพราะมีการส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตสลับพื้นที่กับ พท.อย่างชัดเจน หลีกเลี่ยงการแย่งคะแนนกันเอง โดยเฉพาะใน กทม.ที่มี 30 เขต พท.ส่ง 22 เขต ทษช.ส่ง 8 เขต ไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่เขตเดียว (ในระดับชาติ พท.ส่ง 250 เขต ทษช.ส่ง 150 เขต)
‘พรรคสำรองอันดับ 1’ ของ พท. จึงปรากฎตัวขึ้นในสนามการเมือง อย่างเป็นทางการ
กติกาทำให้เสียเปรียบ จึงต้องเล่นเกมเสี่ยง?
หากยังใช้กติกาเลือกตั้งเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็แทบไม่มีความจำเป็นอะไรเลย ที่ พท.จะต้องแตกพรรคสาขาออกไปหลากหลายพรรค รวมไปถึงเล่นเกมเสี่ยงระดับ ‘แผ่นดินไหว’ ดังที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา
เพราะเป็นไปได้ว่า จะชนะการเลือกตั้งในปี 2562 อยู่เหมือนเดิม แม้อาจไม่ขาดลอยเหมือนในปี 2554 ก็ตาม
แต่การกำหนดกติกา มาให้บางฝ่ายเสียเปรียบ และบางฝ่ายได้เปรียบ โดยเฉพาะการให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนร่วมเลือกนายกฯ ได้ ก็ทำให้เครือข่ายพรรคตระกูลเพื่อเล่นเกมเสี่ยง ..ก่อนจะพ้ายแพ้เดิมพันในที่สุด
ที่น่าสนใจก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นอกจาก จะไม่รับรองการแจ้งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช. ยังมีมติให้ยื่นยุบพรรคการเมืองนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังเกิดเหตุเพียง 5 วัน โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงใดๆ
ข้อกล่าวหาของ ทษช. ที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของพรรคการเมืองนี้ พร้อมประหารชีวิตการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้ง 13 คน (ชิงลาออกล่วงหน้าไป 1 คน) ก็คือทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2561 มาตรา 92(2) ฐานกระทำการอันอาจเป็น “ปฏิปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องยุบ ทษช.ไว้พิจารณา ให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงภายใน 7 วัน และจะนัดพิจารณาครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.พ.นี้ เวลา 13.30 น.
โดยทีมกฎหมาย ทษช.ได้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 8 ประการ ซึ่งยืนยันว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่มีข้อห้ามใดๆ ตามกฎหมาย, ผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้ความยินยอมแล้ว ไม่ใช่การแอบอ้างโดยพลการ, การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เป็นไปโดยสุจริต ไม่ใช่การกระทำเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยฯ, มติของ กกต.ที่สั่งให้ยุบพรรค ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ฯลฯ
พร้อมกับเสนอให้สืบพยานจำนวน 19 ปาก ..แต่ไม่มีรายชื่อของผู้ทีพรรคเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ
ชะตากรรมจะซ้ำรอย?
คณิตศาสตร์การเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าใครจะได้เป็นนายกฯ หรือพรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล อาจไม่ได้ขีดเส้นที่ 251 เสียง หรือ ‘เกินครึ่ง’ ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 เสียง – หากเป็น 126 เสียง สำหรับฝ่ายที่ ส.ว.แต่งตั้งอีก 250 คน พร้อมยกมือให้ และเป็น 376 เสียง สำหรับฝ่ายตรงข้ามที่ ส.ว.แต่งตั้งไม่พร้อมยกมือให้ ต่อให้ประชาชนทั้งประเทศเลือกให้มาเป็นเสียงข้างมากก็ตาม
สำหรับ พท.และพรรคสาขาอื่นๆ มีการประเมินกันว่า น่าจะเก็บ ส.ส.ไปได้ราว 240-260 ที่แม้จะไม่มากพอเลือกนายกฯ ได้ หาก ส.ว.แต่งตั้งเทคะแนนไปให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่น (คนที่คุณก็รู้ว่าใคร) แต่ก็มากพอจะต่อรองหรือทำอะไรหลายๆ อย่างในทางการเมืองได้
โดยในจำนวนนี้ น่าจะมาจาก ทษช.ราว 40-50 คนด้วยกัน
จังหวะเวลาของคดียุบ ทษช. จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะสมมุติว่าถูกยุบก่อนเลือกตั้ง ส.ส.จำนวนนี้ก็จะหายไปเลย แต่ถ้าถูกยุบภายหลังเลือกตั้ง และมีบุคคลที่ กกต.รับรองให้เป็น ส.ส.แล้วจำนวนหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 101(10) ให้เวลา ส.ส.เหล่านั้นย้ายพรรคได้ภายใน 60 วัน
หลายฝ่ายจึงจับตา ‘ความเร็ว’ ในการพิจารณาคดีนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ
แม้ถ้าดูผลการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ทั้งให้การเลือกตั้งปี 2549 เป็นโมฆะ, ยุบพรรคไทยรักไทย, ให้สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกฯ, ยุบพรรคพลังประชาชน, ให้การเลือกตั้งปี 2557 เป็นโมฆะ และให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ฯลฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะต้องใจเสีย ถึงปากจะยังบอกว่า เชื่อว่าศาลจะพิจารณาคดีนี้ “ด้วยความยุติธรรม”
และหากผลออกมาเป็นลบต่อ ทษช.จริง ก็ยิ่งตอกย้ำว่า เป็นอดีตครั้งที่นายใหญ่ตัดสินใจผิดพลาด หวังว่าการแตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย พร้อมกับมีไพ่เด็ดอยู่ในมือ จะทำให้ตัวเองได้เปรียบ ..แต่ท้ายสุดกลายเป็นแพ้ทั้งกระดาน และอาจไม่เหลือติดตัวแม้สักสลึงเดียว!