วันลงประชามติใกล้เข้ามาทุกที ในขณะที่สารพัดสารพันความคิดเห็นก็หลั่งไหลมาไม่หยุดหย่อน แต่อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังประชามติกลับถูกพูดถึงน้อยเหลือเกิน เพื่อให้ลงมือตัดสินใจออกเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด The MATTER อาสาพาเจาะลึกแบบที่ไม่เคยมีใครเจาะลึกขนาดนี้มาก่อน ว่าเศรษฐกิจไทย ปัญหาปากท้องของเรา ๆ จะไปในทิศทางไหนหลังการลงประชามติ 7 สิงหาคม นี้
เจาะลึกทั้งทีเราก็ไม่ได้มาเล่น ๆ แต่ได้รับเกียรติจาก ‘รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์’ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะมาตีแผ่ เบื้องลึกเบื้องหลังทางเศรษฐกิจหลังประชามติ ชนิดที่ว่าจุใจกว่านี้ก็ไม่มีที่ไหนแล้วล่ะแก เตรียมสมองให้พร้อมแล้วมาฟังอาจารย์เลคเชอร์ไปพร้อม ๆ กัน
The MATTER : คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่จำนวนมาก พอได้ยินคำว่าเศรษฐกิจ – เศรษฐศาสตร์ เป็นคำที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวมากกกก
เราไม่เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร อยากให้อาจารย์อธิบายคร่าว ๆ ว่าจริง ๆ แล้วเรื่องเศรษฐกิจ-เศรษฐศาสตร์มันคืออะไร มันไกลตัวพวกเขาจริงหรือ หรือจริง ๆ มันใกล้ตัว เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องของพวกเขามากกว่าที่คิด ?
อ.พิชิต : คือสำหรับนักศึกษานักเรียนนะฮะ มันจะไกลตัวจากเขาเฉพาะตอนที่เรียนหนังสืออยู่ เพราะมีคุณพ่อคุณแม่เป็นเกราะกำบังให้ เพราะฉะนั้นพอสภาวะเศรษฐกิจกระทบไปถึงครอบครัวเนี่ย คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะไม่ให้กระทบไปถึงลูก
จะไปกู้หนี้ยืมสินจะไปอะไรก็แล้วแต่ ยังไงลูกก็ต้องได้มีกินมีใช้ ได้ไปโรงเรียน ได้ไปเรียนหนังสือโดยปลอดภัย และปกติมักจะไม่เล่าเรื่องเดือดร้อนอะไรให้ฟัง
แต่ว่าความจริงแล้วถ้านักเรียนนักศึกษาสนใจนิดนึง คุยเรื่องธุรกิจการงานของคุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้ว่ามันมีผลกระทบต่อครอบครัวโดยตรง ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองมีธุรกิจเป็นส่วนตัวอย่างนี้ ภาวะเศรษฐกิจมันก็จะกระทบกับทางธุรกิจ ยอดขาย รายได้ รายรับ ถ้าเป็นพนักงานลูกจ้างก็จะมีผลกระทบต่อค่าจ้างและเงินเดือนในแต่ละปี
ผลกระทบที่จะมีต่อนักเรียน นักศึกษาโดยเฉพาะนักศึกษา ครั้งแรกเลยคือตอนจบเป็นบัณฑิต
The MATTER : แล้วเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ว่าด้วยอะไร?
อ.พิชิต : ว่าด้วยการตัดสินใจเลือก เลือกว่าจะทำอะไรไม่ทำอะไรโดยให้ได้ผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นตื่นเช้ามาเนี่ยว่าวันนี้คุณจะไปทำอะไร
สมมติคุณตื่นมาวันอาทิตย์อย่างนี้ คุณจะไปทำอะไรดีเป็นวันหยุด จะไปดูหนัง จะไปทานอาหาร จะไปแฮงเอาท์กับเพื่อน หรือจะไปกับครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ เนี่ยทางเลือกเหล่านี้ก็เป็นเศรษฐศาสตร์แล้วล่ะ ทางไหนที่เราชอบมากที่สุด มีค่าใช้จ่ายเป็นยังไง ใช้เวลาสักแค่ไหน คุณตื่นมาตัดสินใจช่างน้ำหนักสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการตัดสินใจเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว
The MATTER : ถ้าอย่างนั้นเศรษฐศาสตร์มันก็เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ ?
อ.พิชิต : เวลาคุณตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างหนึ่งเนี่ยมันเป็นการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์โดยตัวมันเองทุกครั้ง แม้กระทั่งการตัดสินใจง่าย ๆ ว่า มื้อเที่ยงนี้จะทานอะไรอย่างนี้ก็เป็นเศรษฐศาสตร์แล้ว ว่าคุณจะชอบอาหารประเภทไหน จะกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดงหรืออะไรอย่างนี้ แล้วเสร็จแล้วคุณก็ต้องความชอบส่วนตัว แล้วก็ราคา ต้นทุนในการที่จะเดินทางไปหา อันนี้อยู่ไกล อันนี้อยู่ใกล้
The MATTER : มีคนจำนวนมากพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่มุมมองผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจดูเหมือนจะได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก อาจารย์คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีผลทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อมกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร?
อ.พิชิต : ถ้าว่าไปแล้วมันก็เป็นผลโดยอ้อม เพราะว่าร่างรัฐธรรมนูญเนี่ยถ้าผ่านประชามติมันจะกำหนดรูปแบบของรัฐบาลนะฮะ กำหนดว่าพรรคการเมืองใหญ่หรือเล็กที่จะได้เข้าสู่สภา กำหนดว่าใครจะมาเป็นนายกได้บ้าง กำหนดว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีได้บ้าง ซึ่งรัฐบาลที่ประกอบขึ้นจากรัฐธรรมนูญเนี่ย มันก็จะกำหนดว่าเขาจะมีความสามารถและมีความเข้าใจในการบริหารเศรษฐกิจไทยได้สักแค่ไหน
ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจพอสมควร มีการถ่วงดุลที่เหมาะสมกับรัฐสภา แล้วก็เปิดกว้างให้คนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารได้เนี่ย รัฐบาลนั้นก็จะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มาก
แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ รัฐบาลที่ไม่มีความมั่นคง เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค เจ็ด แปด เก้าพรรคไม่สามารถดำเนินนโยบายที่เป็นเอกภาพ ที่เป็นหนึ่งเดียวได้ แล้วก็ถูกอำนาจการตรวจสอบที่มันล้นเกินจากองค์กรอื่นอย่างนี้เป็นต้น
รัฐบาลก็จะไม่สามารถทำงานหรือทำหน้าที่ของตัวเองได้ ในแง่นั้นรัฐบาลก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มันก็จะเป็นผลระยะยาว ผลเฉพาะหน้านั้นมันคงไม่เห็นโดยตรงเสียทีเดียว
The MATTER : อาจารย์เคยกล่าวไว้ว่าต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจไทย เกิดจากปัญหาเชิงโคงสร้างที่สะสมมานาน เช่น ระบบรางที่ไม่ได้พัฒนามาเป็น 100 ปีแล้ว ระบบชลประทาน
ทีนี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หมวดที่ 16 ยิ่งมีการร้อยรัดรัฐบาลไว้ไม่ให้ดำเนินการตามนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน หรือนโยบายที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีปัญหาได้
อาจารย์คิดว่าการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหรือทำตามความต้องการของประชาชนในเชิงโคงสร้าง ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจจะส่งผลอย่างไรต่อไปต่อระบบเศรษฐกิจไทย?
อ.พิชิต : รัฐธรรมนูญไทยเนี่ยนะฮะ มีการกำหนดนโยบายแห่งรัฐมาเกือบแทบทุกฉบับว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลใครต้องทำยังไงบ้างเป็นเรื่อง ๆ ทั้งการพยายาบาล การศึกษา ค้นคว้าวิจัย การป้องกันประเทศอะไรอย่างนี้ก็จะมีอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไปที่ผ่านมาจะกำหนดเอาไว้กว้าง ๆ กำหนดไว้กว้างมาก
เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองที่หาเสียงก็ยังสามารถที่จะกำหนดรูปแบบได้ เช่น รัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐบาล หรือรัฐต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง อย่างนี้เป็นต้น พูดไว้แค่นี้ เพราะฉะนั้นจะทำยังไงให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง
อย่างที่ 2 ช่วงเวลาที่ผ่านมาเนี่ยแนวนโยบายแห่งรัฐกำหนดไว้เพียงกว้าง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีมาตรการหรือว่า องค์กรที่จะมาเที่ยวตรวจสอบหรือบังคับว่ารัฐบาลทำตามนี้ได้ครบหรือไม่ ปกติมันเป็นลักษณะกว้าง ๆ แต่รัฐธรรมนูญในฉบับนี้มีการกำหนดไว้ค่อนข้างจะเป็นรูปธรรม ค่อนข้างจะชัดเจนว่า”ให้รัฐทำยุทธศาสตร์ชาติ” แม้ไม่ได้ระบุว่า เป็นอันเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติของคสช. แต่จริง ๆ แล้วเขาก็คงต้องการเอาไปบังคับกับรัฐบาลหลังเลือกตั้งนั่นเอง
เพราะฉะนั้นแนวนโยบายแห่งรัฐที่มีลักษณะที่ตายตัว และที่สำคัญไปกว่านั้นยังมีองค์กรภายนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่จะมาคอยตรวจสอบบังคับว่ารัฐบาลต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามสามารถถอดถอดและยุบรัฐบาลได้ อันนี้ก็จะทำให้รัฐบาลที่เข้ามาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอเพราะจะต้องผสมพรรคเยอะแยะไปหมดจากโครงสร้างการเลือกตั้งพรรคการเมือง หรือ สส. ซึ่งเป็นเรื่องรายละเอียดที่พอจะรู้กันแล้ว
เพราะฉะนั้นตัวแทนรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีมีแนวโน้มที่จะเป็น คณะรัฐบาลแบบผสมหลายพรรค พรรคเล็กบ้าง พรรคใหญ่บ้างมารวมกัน แนวนโยบายที่เป็นหนึ่งเดียวก็คงจะไม่มี อำนาจต่อรองหรืออำนาจในการบริหารก็จะไม่เต็มที่เพราะว่า มีปัญหาว่าจะต้องถูกถ่วงดุล ตรวจสอบด้วยองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเยอะแยะ เต็มไปหมด และยังถูกกำกับด้วยแผนยุทธศาสตร์อีก
ซึ่งอันนี้ก็เชื่อได้ว่าจะมีปัญหาอย่างมากสำหรับรัฐบาลชุดต่อไปที่จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มันฝังรากลึกมาก แม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกำหนดไว้อย่างละเอียด ก็ยังมีข้อสงสัยว่าเอาเข้าจริงแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไปจะสามารถทำได้ตามนั้นหรือไม่ ภายใต้กรอบที่ตัดอำนาจของคณะรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารไปซะเกือบหมด
The MATTER : เพราะฉะนั้นมันก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน ?
อ.พิชิต : กระทบในระยะยาว ในเชิงโครงสร้าง ถ้าเราพูดถึงว่า แน่นอนการบริหารเศรษฐกิจปีต่อปีนั้นมันมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การแก้ไขปัฐหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในระยะยาวมันต้องอาศัย รัฐบาลที่มีความมั่นคงมีเสถียรภาพ มีอำนาจในการบริหารในระดับหนึ่ง แล้วสามารถดำเนินยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องไปได้หลายปี ถึงแม้รัฐบาลจะเปลี่ยนทุก ๆ 4 ปี แต่รัฐบาลทุกชุดก็จะดำเนินนโยบายอันนี้ เพราะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างมันต้องใช้เวลานานเป็น 10 หรือ 20 ปี ซึ่งสิ่งนี้เห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันไม่สามารถให้ได้
The MATTER : ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นอีกต้นตอของปัญหาทางเศรษฐกิจ อาจารย์มองว่าหลังการลงประชามติไม่ว่าผลจะออกมารูปแบบใด เราจะมีเสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้นจริงไหม?
และถ้าเรายังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่นานาชาติ มันจะยิ่งทำให้ทางเลือกการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจเราน้อยลงไปอีกหรือเปล่า? แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเราอย่างไร?
คือถ้าพูดถึงการลงประชามติครั้งนี้ ผลเฉพาะหน้าในระยะสั้นในระยะเวลาปีหนึ่ง มันไม่ต่างกันหรอก ไม่ว่าจะออกมาว่ารัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน จะไม่มีความต่างกันเลย เพราะถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติจริง ๆ ก็ยังไม่มีผลจริง เพราะยังต้องมีการร่างกฎหมายลูกอีกปีกว่า
ในระหว่างนี้ คสช.รัฐบาลชุดนี้ก็ยังอยู่นะฮะ รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ยังมีผลผ่านเชิงบทเฉพาะกาลของตัวรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามตินี้ คสช. ก็ยังอยู่ยังใช้อำนาจ ม.44 ได้ตามปกติ เพราะฉะนั้นสภาวะทางการเมืองเนี่ยจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน สภาพจะยังอยู่แบบนี้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งตามที่เขาได้รับปากไว้
เพราะฉะนั้นผลเฉพาะหน้าเนี่ยมันไม่ได้มีผล ต่างชาติก็จะไม่ได้มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปมากนักเพราะเขารอว่าเมื่อไหร่จะมีเลือกตั้งจริง ร่างรัฐธรรมนูญผ่านมันก็เป็นแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ต่างชาติเขาอยากเห็นคือการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง ตรงนั้นแหละที่เขาจะคอยดูมากกว่า
The MATTER : เพราะฉะนั้นไม่ว่าผลจะออกมาว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะมาตรา 44 ที่ยังคงอยู่ ซึ่งจะทำให้ประเทศยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง?
อ.พิชิต : ก็คือยังคงมีสภาพเป็นแบบนี้อยู่ ทาง คสช.ก็ยังคงใช้อำนาจ อย่างที่เราเห็นที่ผ่านมา คนที่มีความเห็นต่างก็จะถูกเรียกตัวปรับทัศนคติ ถูกเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมเยียนที่บ้าน มันก็จะมีสภาพเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็ยังจะมีการจัดระเบียบอะไรต่อมิอะไรต่อไป
แต่สิ่งหนึ่งที่คงไม่เกิดขึ้นด้วยคือความปรองดอง เพราะที่ผ่านมาเนี่ย คสช. ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนักในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยนั้น มันก็มีลักษณะเลือกปฏิบัติอย่างที่เราเห็นอยู่ ว่าบางฝ่ายสามารถพูดแสดงทัศนะความคิดทางการเมืองได้ แต่บางฝ่าย แสดงทัศนะท่าทีทางการเมืองก็จะถูกกดดัน
The MATTER : โดยเฉพาะมุมมองจากต่างชาติ สภาพเศรษฐกิจของเราก็จะยังไม่มีเสถียรภาพที่ดีขึ้น?
อ.พิชิต : ก็จะยังไม่ดีขึ้นแน่นอน การเจรจาทางการค้าก็คงยังไม่เกิดขึ้น เขารอเลือกตั้งและรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามมาตรฐานประชาธิปไตย แม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติแล้วก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าต่างชาติจะยอมรับหรือไม่ด้วย เพราะต่างชาติเขาก็รู้แล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่อย่างมากน้อยสักแค่ไหน
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ คสช.หรือรัฐบาลจะต้องเข้าใจว่าต่างชาติในทุกวันนี้เนี่ยเขามีมาตรฐานสูงขึ้น ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนนี้ เมื่อก่อนนี้ขอให้คุณมีเลือกตั้งเถอะ มีเลือกตั้งไปแล้วเนี่ยมันจะขี้ริ้วขี้เหร่อย่างไรเขาไม่สนใจ ขอให้มีเลือกตั้งเป็นใช้ได้
แต่ทุกวันนี้ ต่างชาติโดยเฉพาะชาติในยุโรปกับอเมริกา เขาให้ความสนใจต่อรูปแบบเนื้อหาด้วยว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน การเลือกตั้งมีลักษณะเปิด มีความยุติธรรม โปร่งใสสักแค่ไหน รัฐบาลที่มาหลังจากที่เลือกตั้งไปแล้วเป็นตัวแทนของประชาชนมากหรือน้อยสักแค่ไหน เขาให้น้ำหนักที่ตรงนี้ด้วย
The MATTER : เวลาเราพูดถึงอนาคต แน่นอนว่ามันดูเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันอาจารย์มองว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าผลการโหวตออกมาจะเป็นการรับหรือไม่รับร่าง “กับดักเศรษฐกิจซบเซา”จะยังคงอยู่ไหม หรือเราพอจะผ่านมันไปได้อย่างไรบ้าง ?
อ.พิชิต : อีก 10 ปีจะเป็นยังไงเนี่ยมันขึ้นอยู่กับว่าความขัดแย้งทางการเมืองในวันนี้มันยุติอย่างไร ถ้าเราไม่ได้มองด้วยอคติ ความเชื่อ เราก็รู้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี่มันยังอยู่
เพียงแต่มันถูกกดเอาไว้ด้วยอำนาจรัฐประหาร ไม่ให้แสดงออก ถึงแม้กดเอาไว้ แต่ข้างล่างเนี่ยมันก็ยังเดือดปุด ๆ อยู่ มันเหมือนกาน้ำเดือดที่น้ำเดือดแล้วคุณเอาฝาไปปิดเอาไว้ เพื่อไม่ให้ควันมันออกมา ดูข้างนอกไปแล้วก็ดูเป็นกาปกติ แต่ถ้าเอามือแตะดูนี่มันก็ร้อนจี๋ แล้วข้างในก็กำลังเดือดปุด ๆ อยู่
เพราะฉะนั้นถ้าความขัดแย้งนี้ยังคงยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ อีก 10 ปี ถ้าอีก 10 ปียังแก้ไม่จบเราก็ยังอยู่ในสภาพอย่างนี้แหละ ในเศรษฐกิจที่เป็นแบบนี้ มีความวุ่นวายทางการเมือง มีการเดินขบวน
ถ้าสักวันหนึ่งที่ คสช. หมดอำนาจ หรือไม่สามารถจะกดเอาไว้ได้อีกต่อไป ต้องปล่อย มันก็ระเบิดขึ้นมาอีก ขัดแย้งเป็นสองฝ่ายอีก เพราะฉะนั้นตราบใดที่ความขัดแย้งนี้ยังไม่จบก็ไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะมีการปรับเปลี่ยนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไง เพราะว่ามีรัฐบาลขึ้นมาแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอม พอตั้งรัฐบาลอีกฝ่าย ฝ่ายนี้ก็ไม่ยอมอีก ก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมที่เปลี่ยนนายกฯทุกปี เปลี่ยนนนายกฯทุก 9 เดือน
เพราะฉะนั้นประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า ถ้าจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเมืองโดยแท้
The MATTER : ชัดเจนแน่ว่าถ้าความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือยังไม่ดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจก็จะยังวนเวียนอยู่อย่างนี้ ?
อ.พิชิต : ก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่อย่างนี้แหละ เพราะว่าไม่มีรัฐบาลที่เป็นเอกภาพที่เป็นหนึ่งเดียว ที่มีเสถียรภาพและมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองจริงเข้ามาแก้ปัญหาทางโครงสร้าง
ต้องเข้าใจก่อนนะฮะว่า ต่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบแล้วเนี่ย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีผู้บริหารที่เก่งมากเข้ามาจะเป็นใครก็แล้วแต่นะ มีนายกที่มีวิสัยทัศน์ที่เก่งมากเข้ามาได้ตรงนี้ อันนี้เป็นการสมมตินะฮะ ซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นได้สักเมื่อไหร่นะฮะ
แต่ถ้าสมมติว่ามีในวันนี้ ก็ยังต้องใช้เวลาอีก 10 หรือ 20 ปีเพื่อที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามีอยู่ ระบบการศึกษาทั้งระบบต้องยกเครื่อง ระบบการศึกษาของไทยเนี่ยเป็นอันดับเกือบจะโหล่สุดในอาเซียนอย่างนี้เป็นต้น ระบบมหาวิทยาลัยไทยอย่างนี้ ติดอันดับที่ร้อยกว่าของโลก อุตสาหกรรมไทยที่ยังใช้แรงงานราคาถูกอยู่ แต่แรงงานราคาถูกเริ่มหายากขึ้น เพราะแรงงานไทยก็จะมีค่าแรงแพงขึ้น แรงงานต่างชาติที่ราคาถูกต่อไปก็จะหมดไป ไม่ว่าเวียดนาม ลาว เขมร หรือทางพม่าเมื่อเขาพัฒนาจนเจริญขึ้นแรงงานเขาก็กลับ
เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมไทยที่ใช้แรงงานหนาแน่นก็เรียกได้ว่านับถอยหลัง แต่อุตสาหกรรมใหม่ที่ขึ้นมาใช้เทคโนโลยี ใช้ทักษะที่สูงขึ้นเราก็ยังไม่เกิด
The MATTER : มันเกิดไม่ได้เพราะอะไร?
อ.พิชิต : เพราะการเมืองมันยังไม่นิ่ง ไม่มีรัฐบาลที่จะมาวางแผนส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบนั้นอีก แล้วอุตสาหกรรมมันจะพัฒนาไปได้ไปสู่การสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ใช้ทักษะ ใช้ความรู้ ใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ก็ต้องอาศัยระบบการศึกษาที่ดีขึ้นอีก เพราะฉะนั้นมันวนเวียนฮะ
แม้กระทั่งโครงสร้างพื้นฐานทางวัตถุ เช่น ระบบรถไฟ ระบบรถรางความเร็ว ความเร็วสูงต้องใช้เวลานานมาก 5-6-7 ปีกว่าจะสร้างเสร็จ กว่าความเจริญจะกระจายไปตามเส้นทางไปตามหัวเมืองก็นานเป็น 10 หรือ 20 ปี เพราะฉะนั้นต่อให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งเป็นประชาธิปไตยในวันนี้ก็ยังต้องใช้เวลาอีก 1 ชั่วคน กว่าที่จะปรับอะไรต่อมิอะไรให้เข้าสู่ประเทศไทยที่มีการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ประเทศที่มีรายได้ปานกลางมุ่งสู่ประเทศที่มีรายได้สูง อีกนานครับ
The MATTER : กลับไปที่รถไฟความเร็วสูงอาจารย์ว่าอีก 10 เรามีใช้ไหม?
อ.พิชิต : ก็ขึ้นอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนที่ผมบอก ถ้าความขัดแย้งทางการเมืองจบภายในวันนี้สิบปีก็อาจจะได้เห็น แต่ก็ต้องถามตัวเองว่ามันจะจบไหมภายในปีสองปีนี้ซะด้วยซ้ำ คำตอบก็คือมันยากมาก
The MATTER : อยากให้อาจารย์พูดอะไรกับคนรุ่นใหม่ถึงโค้งสุดท้ายประชามติ
อ.พิชิต : ในการลงประชามติครั้งนี้เนี่ยมันมีความสำคัญกับเขา เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันร่างด้วยคนอายุ 70 หรือ 80 ซึ่งอีกไม่นานคนพวกนี้ก็จะไม่อยู่แล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้ามีผลแล้วจะมีผลต่อคนรุ่นที่เป็นบัณฑิตจบไปทำงานมากที่สุด และถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ต่อไปอีก 20 หรือ 30 ปี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบนี้จะมีผลต่ออายุของเขาไปจนถึงอายุ 30 40 หรือ 50 ก็เป็นไปได้
เพราะฉะนั้นเนี่ยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เนี่ยก็คือการตัดสินว่าจะให้คนอายุ 70-80 -90 มากำหนดชะตาชีวิตคนอายุ 20 หรือ 30 หรือไม่ เพราะฉะนั้นการที่คุณไม่สนใจการลงประชามติในครั้งนี้ก็คือการที่คุณไม่สนใจว่า คนรุ่นปู่อายุ 70-80-90 แล้วเนี่ยมากำหนดเส้นทางให้คุณเดิน อีกไม่กี่ปีคนเหล่านั้นก็ไม่อยู่แล้ว แต่เส้นทางนั้นยังคงอยู่และยังบังคับเป็นขื่อ เป็นคา เป็นโซ่ตรวนล่ามคุณอยู่ คุณพอใจหรือไม่ ต้องถามตัวเองที่ตรงนั้น
และคุณคิดว่าในฐานะที่คุณมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแล้ว คิดว่าคุณควรจะมีส่วนในการกำหนดอนาคตตัวเองและลูกหลานตัวเองหรือไม่ หรือจะปล่อยให้คนอายุ 70-80 ซึ่งอีกไม่กี่ปีก็ไม่อยู่แล้วเนี่ยกำหนดชะตาชีวิตของคุณไปอีกรุ่นหนึ่งอย่างน้อย
สภาพเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยหนึ่งในนั้นคือเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งก็อยู่ในมือเราทุกคน อย่าลืมออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ อนาคตเราจะได้อยู่ภายใต้การเลือกของเรา ไม่ได้อยู่ในมือคนแค่ไม่กี่คน อะไรจะดีไปกว่าการปิดท้ายด้วยคำพูดของ รศ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ที่ว่า
การที่คุณไม่สนใจการลงประชามติในครั้งนี้ก็คือการที่คุณไม่สนใจว่า คนรุ่นปู่อายุ 70-80-90 แล้วเนี่ยมากำหนดเส้นทางให้คุณเดิน อีกไม่กี่ปีคนเหล่านั้นก็ไม่อยู่แล้ว แต่เส้นทางนั้นยังคงอยู่และยังบังคับเป็นขื่อ เป็นคา เป็นโซ่ตรวนล่ามคุณอยู่ คุณพอใจหรือไม่ ต้องถามตัวเอง