5,300 ล้านข้อความ คือจำนวนข้อความที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียของไทย ในปี 2018 (นับเฉพาะที่ตั้งค่าเป็นข้อความสาธารณะ) เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึงกว่า 47% โดยในจำนวนนั้นเป็นรูปภาพถึง 230 ล้านรูปภาพ
ปริมาณข้อมูลอันมหาศาลบนโลกออนไลน์ของไทย ซึ่งเปิดเผยโดย กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Wisesight บนเวที Thailand Zocial Award 2019 แสดงให้เห็นว่า โลกไซเบอร์ของเมืองไทยคึกคักเพียงใด แม้จำนวนผู้ใช้งานโซเชียลฯ หลักของคนไทยจะไม่ได้เติบโตขึ้น “อย่างมีนัยยะ” เท่ากับปริมาณการใช้งาน
ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ในปี 2018 ชาวเน็ตไทยยังคงใช้
- Facebook 53 ล้านบัญชี
- Instagram 13 ล้านบัญชี
- Twitter 7.8 ล้านบัญชี
บนเวทีเดียวกัน ยังมีการเชิญผู้บริหารโซเชียลฯ ชื่อดังในเมืองไทย รวมถึงผู้ให้บริการแพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เข้ามาแชร์ข้อมูลเรื่องพฤติกรรมการใช้โซเชียลฯ ของคนไทย รวมถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้งานของผู้คน และความต้องการของลูกค้า
Google / ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กูเกิ้ลประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันมีบริการ 7 อย่าง มีผู้ใช้งานรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านคน โดยปัจจุบันจะใช้ AI เพื่อให้โฆษณาหรือวีดิโอเข้าถึงตัวลูกค้าอย่างถูกที่และถูกเวลามากขึ้น ขณธที่ในปีนี้จะเน้นสิ่งที่เรียกว่า blast solution คือให้โฆษณาเข้าถึงคนจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อตอบโจทย์คนที่ต้องการสร้างแคมเปญให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว
Facebook / สิรินิธ์ วิรยศิริ ตัวแทนจากเฟซบุ๊กประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันผู้ใช้บริการโซเชียลฯ ในเครือ Facebook ยังเติบโต้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ใช้ Facebook มี 2,200 ล้านบัญชี (เฉพาะในไทย 53 ล้านบัญชี เพิ่มจากปีก่อน 51 ล้านบัญชี) Instagram มี 1,000 ล้านบัญชี (โดยกว่า 400 ล้านบัญชีใช้ Instagram Stories เป็นฟีเจอร์ที่มาแรงมาก) Facebook Messenger มี 1,300 ล้านบัญชี และ Whatsapp มี 1,500 ล้านบัญชี
“ปีนี้ เราจะมีฟีเจอร์ Facebook Watch ให้คนได้ชมวีดิโอร่วมกัน และสร้างเกมตอบปัญหา Confetti ให้ทุกคนเล่นพร้อมกัน นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดตัวเรียลลิตี้โชว์ของ Facebook เอง ในเดือนมีนาคม โดยให้ผู้ชมร่วมโหวตคนร่วมโชว์ได้” สิรินิธ์กล่าว
Line / กฤษณะ งามสม หัวหน้าฝ่ายบิสิเนสโซลูชั่นส์ ไลน์ประเทศไทย เผยว่า Line จะทำให้แบรนด์ต่างๆ และลูกค้าได้ติดตามกันง่ายขึ้น โดยปีก่อน เปิดตัว Line Ad Platform หรือ LAP ให้แบรนด์เอสเอ็มอีโฆษณาบนไทม์ไลน์ และยังกระจายไป Line Today ได้อีกด้วย โดยปีนี้จะพยายามเจาะให้ครบทุกเซ็กเมนต์ ไม่ได้เน้นแบรนด์ใหญ่อีกต่อไป และจะพยายามเดินทางไปในทิศทาง online to offline คือสร้างกิจกรรมออนไลน์ให้ผู้ใช้งานได้ไปมีส่วนร่วมจริงๆ แบบออฟไลน์มากขึ้น
Pantip / อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี เว็บไซต์พันทิป เผยว่า ฟีเจอร์ยอดนิยมของ Pantip ในเวลานี้คือการแสดงกระทู้อินเทรนด์ในชั่วโมงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทู้เก่าหรือใหม่ และฟีเจอร์ที่จะทำเพิ่มเติม คือให้มี expert account ที่เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญได้ด้านต่างๆ มาให้ความรู้หรือตอบกระท็ได้ แต่ห้ามมีการโฆษณาขายของ และจะเปิดแพ็คเกจขายโฆษณาป้าย banner ในเว็บไซต์ เพื่อเอาใจแฟนคลับที่อยากซื้อโฆษณาแสดงความรักต่อศิลปินโปรด
Twitter / เอมี่ สิทธิเสนี ตัวแทนจากทวิตเตอร์ประเทศไทย เผยว่า ผู้ใช้ Twitter ในไทยส่วนใหญ่ก็ยังเป็นวัยรุ่น ช่วงอายุ 16-24 ปี โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ วัยรุ่นสมัยนี้ไม่ได้ใช้แค่การเล่นเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่นแฮชแท็ก #ทวงคืนวันสอบ หรือมีความสนใจการเมืองมากขึ้นด้วย สิ่งที่จะให้เพิ่มมาในปีนี้ ก็คือการเปิดให้ซื้อโฆษณา pre-roll คือก่อนเริ่มวีดิโอและก่อนไลฟ์สด
AIS Play / ศิวพร เพ่งผล Head of Video and Broadcasting Management Unit จาก AIS Play เผยว่า เราตั้งใจจะเป็นศูนย์รวมความบันเทิง โดยปีก่อนมีผู้ใช้เงินเพิ่มจากเดิมเป็น 2 เท่า แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าหาอะไรไม่ค่อยเจอ ในปีนี้จะปรับปรุงระบบการค้นหาในแอพฯ ให้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ จะพยายามขยายแนวคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง และจะเปิดขาย AIS Play ให้กับลูกค้าที่ไม่ได้ใช้บริการกับ AIS ด้วย
JOOX / พัชราพร ขวัญเจริญทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดเทนเซ็นต์ประเทศไทย เผยว่า ในปีก่อน ยอดดาวน์โหลด JOOX แตะหลัก 68 ล้านครั้งแล้ว ยอดการสตรีมเพลงก็เพิ่มขึ้นด้วย จาก 1,500 ล้านครั้งเป็น 3,000 ล้านครั้ง โดยลูกค้าทั้งหมด 70% อยู่ในวัย 18-34 ปี และมาจาก กทม.หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งในอนาคตเราจะขยายบริการไปต่างจังหวัดให้มากขึ้น ทั้งนี้ เราได้เริ่มจัดคอนเสิร์ตจริงๆ ให้มีคนมาร่วม และจะทำต่อไปในปีนี้ นอกจากนี้ จะแนะนำฟีเจอร์ร้องคาราโอเกะ และจะช่วยเผยแพร่เพลงลูกทุ่งผ่านรายการในแอพฯ
“JOOX จะพยายามทำให้เป็นมากกว่าแอพฯ ฟังเพลง แต่เป็นแหล่งรวมความบันเทิง” พัชราพรกล่าว
Line TV / กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์ ไลน์ประเทศไทย เผยว่า พฤติกรรมคนดูทีวีกำลังเปลี่ยนไป ไม่มีเวลาดูสด คนต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น ปัจจุบัน 49% คนดูทีวีทางมือถือแทน ทั้งนี้ เราต้งเป้าให้ Line TV เข้าถึงคนทั้งประเทศให้ได้ภายใน 3 ปี แต่ต้องจับมือกับผู้ผลิตอีกหลายช่อง เพื่อนำคอนเทนต์ใหม่ๆ มาขยายฐานคนดู ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา ละครอินเดียกระแสค่อนข้างดี จึงดึงช่อง 8 มาร่วมงานด้วย
True ID / สรรเสริญ สมัยสุต กรรมการผู้จัดการ ทรู ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม จำกัด เผยว่า True ID เป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าออนไลน์ ที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์และสิทธิพิเศษ ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 4.2 ล้านคนในทุกช่องทาง ทั้งนี้ ในปัจจุบันเราต้องสู้กับแหล่งละเมิดลิขสิทธิ์จึงตัดสินใจที่จะปล่อยให้คนดูฟรี ส่วนรายได้จะมาจากโฆษณา ในปีนี้ True ID ต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนดู เช่น คุยกันได้ขณะดูฟุตบอลสดๆ
VIU / สรวิชญ์ จินตสุนทรอุไร ตัวแทนจาก VIU เผยว่า ยอดผู้ใช้งานเราเพื่อดูซีรีส์ซับไทย เพิ่มจากเดือนละ 16 ล้านครั้ง มาเป็น 30 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้น 89% ทั้งนี้ เราจะเน้นไปที่วงการบันเทิงเกาหลี ทำให้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิง 85% โดยปีนี้ จะพยายามหาคอนเทนต์คุณภาพดีมาเสริม ซึ่งอาจจะมีจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่เกาหลีแล้ว รวมถึงร่วมมือกับ Workpoint TV ในการผลิตคอนเทนต์ของตัวเอง เพื่อฉายทั้งใน VIU และในทีวีด้วย
Youtube / มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจบันเทิง ยูทูปไทยแลนด์ เผยว่า ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ชั่วโมงดู Youtube มากที่สุดในโลก และค่าเฉลี่ยการดูต่อบุคคล มากเป็นอันดับสองในเอเชีย-แปซิฟิก โดยฐานข้อมูลแสดงให้เห็นว่า คนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ที่อาศัยอยู่นอก กทม. 92% จะเข้า Youtube ทำให้เอ็มวีฮิตในปีก่อน 10 ลำดับแรก มีเพลงลูกทุ่งถึง 7 เพลง
“ในอนาคตเราจะพยายามทำให้คนมาใช้งาน Youtube ในเชิงสร้างความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคตมากขึ้น ไม่ใช่แค่ใช้เพื่อความผ่อนคลายเพียงอย่างเดียว” มุกพิมกล่าว
จากการเปิดเผยของตัวแทนโซเขียลมีเดียและผู้ให้บริการบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ในไทย ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนไทย ในการใช้งานโลกไซเบอร์ตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา