วิกฤติโควิด-19 ที่อยู่กับเรามาปีครึ่ง ทำให้เห็นเลยว่า ‘คนไทย’ เก่งกันมากๆ
นับตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรื่องพื้นที่ควบคุมสถานการณ์โควิด ให้หลายจังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (‘ล็อกดาวน์’) โดยให้เหตุผลว่าเป็นมาตรการเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคเป็นวงกว้าง
หากเวลาที่ล่วงเลยมาหลายสัปดาห์แล้ว แต่มาตรการในการช่วยบรรเทาหรือทุเลาความเดือดร้อนของประชาชนกลับยังน้อยนิดหากเทียบกับคำสั่งห้าม
รายงานตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตพุ่งทะยาน ข่าวการตายบนท้องถนนโดยไร้การเหลียวแล และโพสต์รายชั่วโมงตามหาสถานที่สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 บนสื่อสังคมออนไลน์กลับกลายเป็นเรื่องประจำวัน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความปกติใหม่(New Normal)’ สำหรับประชาชนคนไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564
การทำงานของรัฐที่เรียกได้ว่าล้มเหลว ทั้งในแง่ความไม่แน่นอนในการกำหนดนโยบายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด การประกาศไร้ความชัดเจนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์นี้ การซ่อนเร้นเกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีนประสิทธิภาพสูงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งการกล่าวโทษว่าประชาชนเป็น ‘ภาระ’ ของรัฐบาล
สิ่งเหล่านี้นำไปสู่สภาวะเสื่อมความศรัทธา ทำให้ผู้คน หลายกลุ่ม หลายหน่วยงานหยุดความเชื่อถือในส่วนของ ‘รัฐบาล’ และย้อนกลับมาสู่การพึ่งพาตัวเอง
เราเดินทางไปทั่วกรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยกับผู้ติดเชื้อที่เลือกรักษาตัวด้วยวิธีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) กลุ่มเอกชนที่ช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนที่ติดเชื้อได้รับการรักษาเร็วขึ้น และมูลนิธิที่เปิดรับทำการฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทุกย่างก้าวสู่แต่ละถิ่นที่เต็มไปด้วยความเงียบเหงา เศร้า และหวาดระแวง กลิ่นแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคตลอดเวลายังฝังติดแม้ว่าจะชำระร่างกายมาหลายชั่วโมงแล้วก็ตาม
ติดเชื้อแต่ติดต่อใครไม่ได้
มิน (สงวนชื่อนามสกุล) อายุ 29 ปี และสมาชิกในครอบครัวอีก 3 คน คือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกล่าสุด เธอไล่เรียงเรื่องราวตั้งแต่แรกเริ่มว่าเพราะอะไรตนและสมาชิกคนอื่นจึงเลือกวิธีการรักษาภายในบ้านพักเพื่อรักษาตัวจากการติดเชื้อ
ความกังวลก่อตัวขึ้นเมื่อคุณแม่ของมินเริ่มมีอาการมือเย็น มีไข้ขึ้นสูงในช่วงเวลากลางคืน ตอนแรกทางบ้านก็ประเมินว่าอาจจะเป็นเพียงอาการป่วยตามประสาของโรคประจำตัวอย่างโรคความดันต่ำ หากอาการไข้ที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันจนอาการของคุณแม่เริ่มน่าห่วงมากขึ้นก็ทำให้ทางครอบครัวตัดสินใจตามหาชุดตรวจชนิดตรวจไว หรือ Rapid Antigen Test Kit (ATK-Test) มาลองตรวจ ซึ่งการตรวจในครั้งแรกนั้นผลออกว่าทั้งคุณแม่และน้องสาวของมินติดเชื้อ ส่วนของคุณพ่อและตัวมินเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)
เมื่อทราบว่ามีคนในครอบครัวติดเชื้อ มินได้จัดการแยกชั้นพักอาศัยระหว่างผู้ทราบผลว่าติดเชื้อกับสมาชิกที่เหลือโดยทันที จากนั้นก็เป็นการเริ่มหาสายด่วนให้คำปรึกษาที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ว่าตนและครอบครัวควรทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้
“โทรไปเยอะ คือใครแนะนำเบอร์อะไร หรือว่าใครมีคอนแทกต์อะไรคือติดต่อไปหมดเลย สุดท้ายคือสิ่งที่เขาต้องการคือต้องมีใบรับรองแพทย์ก่อน ถึงสามารถติดต่อโรงพยาบาลทำเรื่องขอเตียง ทีนี้โรงพยาบาลไม่รับตรวจอีก”
กล่าวได้ว่า แม้จะตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจและปรากฏผลบวก ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถจะช่วยประสานงานหรือว่าดำเนินการส่งต่อการรักษาได้เพราะขาดเอกสารสำคัญอย่างใบรับรองผลการตรวจเชื้อจากทางโรงพยาบาล ทว่าการให้ครอบครัวของมินติดต่อกับทางโรงพยาบาลเพื่อขอรับการตรวจเชื้อก็เป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละโรงพยาบาลปิดให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มาสักพักใหญ่แล้ว
มินจึงจำเป็นต้องหาช่องทางอื่น เช่น แล็บทางการแพทย์ของเอกชนที่รับตรวจเชื้อโควิด เพื่อตรวจซ้ำอีกครั้งว่าติดเชื้อจริงหรือไม่
การรอคอยที่ทรมาน
ใช่ว่ามินจะสามารถเข้ารับการตรวจเชื้อจากแล็บเอกชนได้โดยทันที แม้ครอบครัวของมินจะรับรู้ว่ากำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสนี้ตั้งแต่ช่วงวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม แต่คิวจองตรวจนั้นก็ทำให้พวกเขาต้องรอไปจนถึงวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม
ระหว่างนั้นมินจึงต้องตั้งหลักให้มั่น แยกส่วนพักอาศัยให้แยกออกจากกันชัดเจน เพราะทางคุณพ่อเองถึงผลตรวจด้วยชุด ATK-Test (Antigen test kit test) จะแสดงผลว่าไม่ติดเชื้อ แต่ก็เริ่มปรากฏอาการที่เข้าข่ายของโรคแล้วเช่นกัน จึงเหลือเพียงมินคนเดียวที่อาจจะยังไม่ได้รับเชื้อ และนั่นหมายถึงมินจะต้องแบกรับหน้าที่ในการดูแลคนในครอบครัวทั้งหมด
“ก็เครียดนะ คอยส่งน้ำส่งอาหาร คอยเป็นธุระรับของ คือเป็นคนเดียวที่สามารถติดต่อบุคคลภายนอกได้ เพราะยังไม่มีอาการป่วย ก็จะมีเพื่อนคอยส่งของมาซัพพอร์ต เพราะออกตัวแล้วว่าบ้านหลังนี้มีคนติดเชื้อ เราจะไม่สามารถออกไปข้างนอกบ้านได้แล้ว”
มินรับบทบาทหลักในอำนวยความสะดวกกับคนที่บ้านไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้นลงบันไดระหว่างชั้นล่างที่มินแยกพักอาศัยกับชั้นบนที่คุณแม่และน้องสาวกักตัวอยู่ การคอยเป็นธุระตั้งแต่เรื่องของอาหารสามมื้อ การจัดยาเบื้องต้น และเรื่องของการเก็บขยะอย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน
“ร้องไห้ แต่ก็ไม่ได้ร้องไห้ให้ใครเห็นอะ ก็นอนอยู่ที่ชั้นที่ตัวเองอยู่ ก็ร้องไห้แบบ ร้องเลย มันไม่ได้ร้องเพราะกลัวตัวเองจะเป็นอะไรนะ ประมาณว่าทำไมฉันต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วยวะ”
ติดเชื้อทั้งบ้าน เข้าสู่การกักตัวที่บ้านต่อไป
เรียกได้ไม่ผิดคาดมากนักเมื่อผลตรวจเชื้อจากแล็บเอกชนของทั้งสี่คนคือ ติดเชื้อโควิด-19 โดยสิ่งที่คนในครอบครัวต้องตัดสินใจตามมาคือจะรักษาตัวอย่างไร จะติดต่อหาสถานพยาบาลหรือว่าจะเลือกวิธีการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
หลังจากที่ได้ปรึกษากับทั้งญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงในวงการแพทย์แล้ว ทุกคนต่างให้คำแนะนำไปในทางเดียวกันว่าการรักษาตัวเองที่บ้านดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แม้ว่าในเวลานั้นรัฐบาลจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของมาตรการการรักษาตัวที่บ้าน
เพราะอาการของสมาชิกในบ้านไม่ได้รุนแรง ตลอดจนเมื่อประเมินจากสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติ (ในช่วงที่มินทราบผลตรวจ) จากการที่สถานพยาบาลไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือว่า Hospitel นั้นไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติมได้แล้ว
เราสอบถามเพิ่มว่านับตั้งแต่วันที่ทราบผลของคุณแม่และน้องสาว มีการโทรติดต่อกับทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งว่ามีผู้ติดเชื้อไปแล้ว ทางหน่วยงานรัฐได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ประสานงานเพิ่มเติม หรือมีการติดตามเรื่องอาการหรือไม่
มินตอบว่าได้รับการติดต่อจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่สายแรกที่โทรเข้ามาคือ 6 วันหลังจากที่ได้ทำการติดต่อไป โดยทางเจ้าหน้าที่นั้นได้มีการสอบถามเกี่ยวกับอาการล่าสุดของสมาชิกในบ้าน ซึ่งทางน้องสาวของมินก็ได้ให้คำตอบไปตามอาการจริงว่าไม่ค่อยมีไข้แล้ว มีอาการไอบ้าง แน่นหน้าอก เจ็บปอดเล็กน้อย
และนี่คือคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ สปสช.
“ปลายสายบอกว่าหายดีแล้วนี่ ไม่ต้องเอายาแล้ว เตียงก็ไม่จำเป็นแล้ว บอกว่าออกไปเจอแดดสังเคราะห์แสงบ้างแล้วกัน”
รักษากันเอง จ่ายกันเอง
มินเสริมว่าตัวเองและครอบครัวยังโชคดีที่มีคนรอบตัวคอยให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเรื่องการปรับตัวใช้ชีวิต เรื่องการยาที่ใช้ระหว่างการรักษา โดยเธอจะส่งอาการในแต่ละวัน ค่าออกซิเจนของคนในครอบครัวให้กับทางญาติที่เป็นแพทย์ให้ช่วยประเมินสถานการณ์ให้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็จะได้ป้องกันได้ทันท่วงที
และทุกการรักษาพยาบาลมีต้นทุนค่าใช้จ่าย หากให้นับแค่เรื่องของรายจ่ายที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อแต่ละครั้ง ค่ายารักษาโรคในครอบครัว ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่นแอลกอฮอล์หรือว่าแม้กระทั่งถังออกซิเจนที่ซื้อเตรียมไว้ มินประเมินให้ฟังว่าค่าใช้จ่ายน่าจะแตะ 80,000 บาทแล้ว
มินยังให้ข้อมูลเสริมว่าในช่วงวันแรกที่ตามหาชุดตรวจ ATK-Test นั้น เธอค้นพบว่าบางร้านค้ามีการตั้งราคาชุดอุปกรณ์เหล่านี้จนสูงจนน่าตกใจ อย่างเช่นร้านหนึ่งที่เธอเจอคือหนึ่งชุดตรวจมีการแจ้งราคาขายไว้ที่ 899 บาท แล้วยังมีการกำหนดไว้เลยว่า ต้องซื้ออย่างต่ำ 10 ชิ้นขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจว่าแม้แต่ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ ก็ยังมีคนซ้ำเติมเข้าไปอีก
นอกจากนี้ ตัวเลขค่าใช้จ่ายข้างต้นยังไม่รวมกับค่าอาหารสามมื้อในแต่ละวัน ที่ต้องใช้บริการจากส่วนของผู้ให้บริการดีลิเวอรีอย่างเช่นไลน์แมนหรือว่าฟู้ดแพนด้าเท่านั้น
“ตั้งแต่วันแรกที่ป่วยยันวันที่ใกล้จะหาย ที่หายนี่นะ ไม่ใช่เพราะรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ของหน่วยงานรัฐบาล สปสช. หรือว่าจะของกองทัพบก ไม่มีประโยชน์เลยสักคนเดียว … เราต้องช่วยตัวเองกันไปอะ งานนี้บอกเลยรอดเพราะเพื่อนทั้งนั้น ไม่ได้รอดเพราะรัฐบาลเลย เป็นโควิดได้ หายเพราะเพื่อน”
ในขณะที่มินและครอบครัวกำลังฟื้นตัวจากไวรัสด้วยตัวเอง อีกหลายชีวิตและครอบครัวกลับประสบปัญหาที่หนักกว่า ทั้งอาการของโรคที่หนักหน่วง การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การรักษา การพยุงอาการ และการตรวจหาโรค
ใครๆ ก็เส้นด้าย
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลางวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ยังหาทางออกไม่เจอ หนึ่งกลุ่มอาสาที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่อยู่ในความยากลำบากไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือเรื่องการประสานเตียงสำหรับการรักษา หรือว่าจะเป็นการออกเดินสายช่วยบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น คอยหาถังออกซิเจนให้กับผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือตามบ้านพักอาศัย คือกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า เส้นด้าย พวกเขารวมตัวกันด้วยจิตใจตั้งมั่น เปิดศูนย์ประสานงาน และตระเวณเดินทางไปทั่วเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อช่วยผู้คนด้วยกำลังเท่าที่ตนเองมี
ภูวกร ศรีเนียน ผู้ร่วมก่อตั้งเพจเส้นด้าย เล่าความเป็นมาของกลุ่มให้ฟังว่าเพิ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ภายหลังจากระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดนำไปสู่ตัวเลขของการสูญเสียที่มากขึ้น โดยหนึ่งในประเด็นร้อนแรงในช่วงดังกล่าวคงไม่พ้นเรื่องของการภาวะขาดแคลนสถานที่รักษาพยาบาล การปฏิเสธให้ความช่วยเหลือด้วยหลากหลายเหตุผล จนทำให้ผู้ป่วยหลายชีวิตไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หากในบางกรณีที่ผู้ป่วยนั้นเป็นผู้มีอำนาจ หรือว่าผู้มีชื่อเสียงกลับกลายเป็นว่าสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
“อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงเวลาในสังคมตอนนั้นมันเกิดความรู้สึกต้องการคนอย่างพวกเรา มันเป็นช่วงเวลาที่ภาครัฐก็งง…. ไม่ทันตั้งหลักกับมหันตภัยครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่สังคมเกิดความรู้สึกสับสน แบบว่า ต้องคนมีเส้นเท่านั้นเหรอถึงได้การรักษาในสถานการณ์แบบนี้”
เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วยทุกคนได้เข้ารับการรักษาที่เร็วขึ้น ทางกลุ่มจึงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่สถานพยาบาลต่อไป
เป็นกลุ่มด้ายเชื่อมสังคม
นอกจากเรื่องของการนำตัวผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว ทางกลุ่มเส้นด้ายยังมีส่วนร่วมในอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับทางหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 (Hospitel) เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วยในช่วงที่โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติมได้อีกแล้ว หรือแม้กระทั่งว่าเป็นเสียงให้กับประชาชนในการสอบถามเรื่องมาตรการตรวจเชิงรุกจากรัฐบาล
“เราจึงเป็นรอยเชื่อม เป็นคนวิ่งคุยตรงนั้น บางครั้งเส้นด้ายก็ทำหน้าที่เหมือนพยายามช้อนปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเคยไปเกี่ยวข้องกับการแสดงออก ไม่ให้หน่วยราชการผิดคำสัญญากับประชาชนในการตรวจเชิงรุก เคยมีสิ่งนั้น เคยทำ เคยมีการช่วยเหลือประชาชนในเชิงเรียกร้อง จะเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ทางความรู้สึกต่อสังคมอันหนึ่ง”
ภูวกรอธิบายเพิ่มว่าเส้นด้ายทำกระทั่งในส่วนของการนำเต็นท์ไปให้บริการกับผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษาบริเวณชุมชนแฟลตดินแดง เพราะยังไม่มีสถานพยาบาลแห่งใดเข้ามารับตัว เพื่อเป็นลดความเสี่ยงของกลุ่มญาติของผู้ติดเชื้อที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ทางกลุ่มจึงนำเต็นท์ไปกางเอาไว้บริเวณด้านล่างของตึกเป็นการชั่วคราว เป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
รวมถึงภาวะ ‘เตียงล้น’ ในปัจจุบันที่ทำให้หลายชีวิตจำต้องเลือกการรักษาที่บ้าน การนำถังออกซิเจนไปให้กับผู้ป่วยถึงที่บ้านก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ทางกลุ่มเส้นด้ายกำลังดำเนินการอย่างเต็มกำลัง
เสียงที่ยังค้างในความรู้สึก
ภูวกรเล่าให้ฟังว่ามีหนึ่งเคสที่ยังคงก้องสะท้อนในจิตใจ คือเสียงขอความช่วยเหลือในวันแรกของประกาศการควบคุมช่วงเวลาในการออกนอกบ้าน (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) เขาได้รับสายในช่วงประมาณ 5 ทุ่มซึ่งตามประกาศแล้วประชาชนไม่สามารถออกนอกบ้านได้ในตามวิกาล
ปลายสายนั้นขอคำปรึกษาเกี่ยวกับ ‘อากง’ ของตนเอง ว่ามีอาการหายใจลำบาก แต่ไม่สามารถออกไปรับการตรวจได้เพราะว่าไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีหลักฐานที่ใช้ประกอบการเข้ารับการตรวจ จึงไม่อยู่ในระบบการเข้ารับการตรวจสอบความเสี่ยง
ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามออกไปนอกที่พัก เขาจึงทำได้มากที่สุดคือการให้ความมั่นใจว่าในวันรุ่งขึ้นทางกลุ่มจะสามารถนำถึงออกซิเจนไปให้ได้ หากช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเช้าของวันถัดมาเขาก็ได้รับสายจากเบอร์โทรศัพท์เดิมอีกครั้ง
“เขาก็พูดผ่านๆ แบบ เออ ไม่เป็นไรหรอก อากงไม่ต้องใช้แล้ว ส่วนตัวเขาก็ปรึกษาผมว่าต้องไปตรวจที่ไหน ยังไง ต้องดูแลใกล้ชิด ผมก็ไม่ทันได้คิดอะไร จนอีกวันหนึ่ง ผมถึงเห็นข่าวในทีวีว่าสุดท้ายแล้ว อากงเขาตายในเช้าวันนั้น เสียงเศร้าตอนที่เขาโทรมาหาผมมันยังอยู่ในความรู้สึกของผมเสมอ”
ท่ามกลางความหดหู่ ภูวกรก็ยังมีความประทับใจในดุลยพินิจทางการแพทย์ของสถานรักษาแห่งหนึ่งเช่นกัน เขาเล่าว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องราวของแม่ลูกชาวกัมพูชาในแคมป์คนงานแห่งหนึ่ง อายุของเด็กนั้นคือราวสี่เดือนเท่านั้นเอง ปัญหาใหญ่ของพวกเขาคือคนต่างด้าวเหล่านี้ไม่มีสิทธิหรือหลักประกันสุขภาพใดที่สามารถใช้สำหรับการส่งต่อเพื่อรักษาอาการป่วยได้ และทั้งสองนั้นอาการเรียกได้ว่าอาการน่ากังวลแล้ว
ถึงแม้ว่าเขาเองจะทำใจเอาไว้แล้วว่าแม่ลูกคู่นี้มีสิทธิสูงที่จะไม่ได้เข้ารับการรักษาในระบบ เพราะติดขัดในเรื่องของขั้นตอนของสิทธิประกันสุขภาพต่างๆ ในท้ายที่สุดแล้วสถานพยาบาลแห่งหนึ่งก็ตัดสินใจรับคู่แม่ลูกให้ได้เข้ารับการรักษาในระบบต่อไป สำหรับเขาแล้วก็เป็นเรื่องดีที่ชาวต่างชาติเองก็ยังได้รับการดูแลรักษาถ้วนหน้าในฐานะมนุษย์โลก
ประชาชนทำได้ รัฐก็ต้องทำได้ดีกว่า
ตั้งแต่การประสานงานเรื่องสถานที่รักษา การเข้าไปให้ความช่วยเหลือเรื่องเต็นท์ จนถึงเรื่องของการส่งถังออกซิเจนไปตามที่พัก คำถามย้อนกลับไปว่าแท้จริงแล้วหน้าที่ในการบริการให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ควรเป็นใครกันแน่ ใช่อาสาหน้าใหม่อย่างกลุ่มเส้นด้ายหรือไม่
หรือคือภาครัฐกันแน่ที่ต้องดูแลชีวิตประชาชน
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของภูวกรต่อไปว่าเขามีความคาดหวังอะไรกับการทำงานในส่วนของรัฐบาลบ้าง เขาตอบด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย
“จริงๆ เราก็อยู่กับบ้านเมืองที่ไม่คาดหวังอะไรกับสิ่งนั้นมานานแล้วนะฮะ ตัวผมเองนะ ตัวคนอื่นผมไม่แน่ใจ ก็ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตามเขาก็ยังมีความเชื่อว่าการทำงานของกลุ่มเส้นด้าย กลุ่มอาสาเล็กๆ ที่มีทีมงาน ณ เวลานี้ประมาณ 50 ชีวิต จะสามารถส่งต่อความช่วยเหลือให้กับคนที่ต้องการได้ในเวลานี้ได้มากพอสมควร และพวกเขาก็สามารถเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มองค์กรอื่นเช่นรัฐ ที่มีความพร้อมทั้งเรื่องอำนาจการจัดการและทรัพยากร ในการลงมาทำหน้าที่ดูแลชีวิตของประชาชนอย่างเต็มที่ได้เช่นกัน
“แล้วเราก็จะไม่อยู่ในสถานการณ์ที่แย่ขนาดนี้ครับ” ภูวกรกล่าว
ในช่วงเวลาที่ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อมมากกว่าที่เคยเป็นมา การดูแลโมงยามอันไร้วิญญาณก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน…
งานเผาต้องฟรี และดีทุกอย่าง
กระดานไวต์บอร์ดสำหรับแจ้งกำหนดณาปนกิจศพที่มักตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของศาลาในวันนี้ถูกดัดแปลงให้เป็นกระดานสำหรับสรุปตารางงานที่มูลนิธิสยามนนทบุรีต้องดำเนินภารกิจในแต่ละวัน
บนกระดานถูกเขียนแบ่งเป็นตารางเอาไว้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปรับร่างผู้เสียชีวิต ชื่อวัดปลายทาง ชื่อผู้เสียชีวิต น้ำหนัก ส่วนสูง รวมถึงเบอร์โทรติดต่อของญาติ ทุกรายละเอียดถูกประเมินและจดบันทึก เพื่อเสริมให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีระบบ
เพราะไม่ใช่การดูแลผู้ป่วย แต่การรับและฌาปนกิจผู้ตายจากไวรัสโควิด-19 ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง และมีขั้นตอนเคร่งครัดเช่นกัน
เมื่อมองขึ้นไปเราเห็น 8 รายชื่อบนกระดาน ซึ่งเป็นภารกิจวันต่อวัน
และเรารู้ว่าในช่วงดึกของวัน มันจะมีมากกว่านั้น…
ไพรัช สุดธูป คณะกรรมการบริหารมูลนิธิสยามนนทบุรี และไวยาวัจกรวัดราษฎรประคองธรรม เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของตัวมูลนิธิสยามนนทบุรี ว่าเป็นหน่วยอาสากู้ภัยทั่วไปที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุรถชน จับสัตว์เลื้อยคลาน ช่วยดำเนินการพาผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาล รวมถึงตั้งโครงการ ‘บ้านหลังสุดท้าย’ ให้กับผู้เสียชีวิตที่ขาดแคลนเรื่องทุนทรัพย์ ให้บริการในเรื่องของพิธีทางศาสนาและรวมไปถึงขั้นตอนการเผาร่างโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
การให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ล่วงเลยมาจนถึงช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทางทีมสยามนนทบุรีเองก็ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการรับเผาศพผู้เสียชีวิตโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เมื่อโรคระบาดโหมกระหน่ำ ติดตามมาด้วยข่าวที่นำเสนอถึงประเด็นเกี่ยวกับการปฏิเสธการเผาญาติโยมที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ของวัดจำนวนมาก จนเกิดปัญหาเรื่องร่างของผู้เสียชีวิตไม่มีสถานที่เผา มูลนิธิสยามนนทบุรี ที่ร่วมกับวัดราษฏร์ประคองธรรม และวัดขนาดเล็กจำนวนมากในเขตบางใหญ่ จึงตัดสินใจพุ่งตรงเข้ารับผิดชอบการดูแลโมงยามสุดท้ายของร่างไร้วิญญาณ
“หัวใจในการทำงานเหมือนเดิม คือการช่วยเหลือประชาชน ทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้เดือดร้อนเรื่องน้ำท่วม ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องไฟไหม้ แต่เดือดร้อนเรื่องโควิดก็ต้องช่วย” ไพรัช หรือพี่แป๊ะ กล่าวด้วยสายตามุ่งมั่น ทว่าแดงก่ำไปด้วยความอ่อนเพลียจากการทำงานอย่างยาวนานต่อเนื่องไม่มีพัก
จนถึงตอนนี้ มูลนิธิสยามนนทบุรีรับส่งผู้เสียชีวิต และทำการฌาปนกิจมากกว่า 200 ร่าง และวัดราษฎร์ประคองธรรม วัดหลักที่พวกเขาใช้หลังเมรุเป็นที่ตั้งศูนย์ประสานงาน ก็มียอดการฌาปนกิจทะลุ 150 ร่าง นับตั้งแต่เปิดศูนย์ให้ความช่วยเหลือในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564
การช่วยเหลือไปพร้อมกับการปรับปรุงให้ดีขึ้น
แน่นอนว่าการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยครั้ง บริษัทเริ่มมาตรการทำงานทางไกล (Work From Home) ทุกภาคส่วนมีการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่เว้นแม้แต่ทีมงานของมูลนิธิสยามนนทบุรีที่ต้องเพิ่มการฝึกอบรมในการรับมือกับโรคระบาดในครั้งนี้เช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการกู้ภัยในสถานการณ์โรคระบาดกับทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรืออย่างการอบรมครั้งที่สองที่ต้องเรียนรู้แม้กระทั่งขั้นตอนของการห่อร่างผู้เสียชีวิตของโรคโควิด-19 ในกรณีเสียชีวิตที่บ้าน
“ทีมเอที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ แพ็กศพในบ้าน เจ้าหน้าที่มีความรู้ มีความสามารถ ไม่ใช่ว่าใครว่างก็มาทำ ต้องมีความรู้จริงๆ แล้วก็มีประกาศนียบัตรรับรองทุกคน” พี่แป๊ะอธิบาย
นอกจากการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้การทำงานถูกต้องตามหลักการ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของกลุ่มเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสอบถามในส่วนของเพศ น้ำหนัก และส่วนสูงของผู้เสียชีวิต เพื่อให้สามารถกำหนดขนาดของโลงศพที่มีความเหมาะสม รวมถึงเลือกเจ้าหน้าที่ที่มีพละกำลังเพียงพอในการยกโลงที่บรรจุร่างผู้เสียชีวิต
มูลนิธิสยามนนทบุรียังมีแผนการดัดแปลงรถบรรทุกเพื่อนำมาใช้สำหรับการขนโลงศพ เพราะโจทย์ใหญ่ที่สำคัญในปัจจุบันคือการทำงานแข่งกับตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเมื่อดัดแปลงรถบรรทุกคันนี้เสร็จ ก็จะสร้างฮับสำหรับการขนส่ง ตั้งเป็นจุดเซ็นเตอร์แล้วนำร่างผู้เสียชีวิตได้สูงสุดถึง 10 โลงมาทำพิธีเผาได้ในการเดินทางเพียงครั้งเดียว
ไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือ ต่อให้จะห่างไกลแค่ไหน
นอกจากเรื่องของการปรับปรุงระบบการทำงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้นแล้ว เราถามต่อไปว่าทางมูลนิธิมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการทำงานหรือไม่ รับผิดชอบเพียงแค่พื้นที่ใกล้เคียงหรือเปล่า
ไพรัชเอ่ยทันทีว่าทีมงานพร้อมไปทุกพื้นที่
พวกเขาหลายคนขับรถนับร้อยกิโลเมตรต่อวันเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้กับครอบครัวของผู้สูญเสียมากเท่าที่จะเป็นไปได้
“ทุกการปฏิเสธมันคือการทำลายความหวังของญาติ สมมติผมอยู่นนทบุรี ผู้เสียชีวิตอยู่คลองหลวง คลองหก เกือบจังหวัดนครนายก ถามว่าคนนครนายกจนไม่ได้เหรอ ไม่มีเงินไม่ได้เหรอ คนนครนายกก็จนเหมือนกัน ไม่มีเงินเหมือนกัน ถ้าเราปฏิเสธเขา แล้วเขาจะพึ่งใครล่ะครับ”
และไม่มีอะไรที่ทำให้พวกเขารู้สึกดีได้มากไปกว่าคำขอบคุณและการตอบรับจากเหล่าญาติผู้เสียชีวิตว่าการทำงานของมูลนิธินั้นอยู่ในรูปแบบของงานฟรี และมีคุณภาพจริงๆ
มาจากโรงพยาบาลเดียวกัน เพราะเป็นครอบครัวเดียวกัน
จากประสบการณ์ในการเผชิญกับโรคระบาดระลอกล่าสุด เราสอบถามต่อไปว่าเรื่องราวใดที่สะเทือนใจสำหรับไพรัชมากที่สุด
“คือระหว่างเผาศพๆ หนึ่ง ก็มีศพหลังมาต่อ ผมก็ถามว่า ทำไมมาจากโรงพยาบาลเดียวกัน ปรากฎว่า ที่เผาอยู่คือคุณพ่อ ที่มาต่อคือลูกชายเขา แล้วรุ่งขึ้นอีกวันตอนเช้า คุณแม่เสีย บ้านนี้สามคนครับ เสียทั้งหมด”
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่คล้ายคลึงกันเช่น คนเป็นแม่เสียชีวิตวันนี้ แล้ววันต่อมาร่างลูกก็ถูกนำมาไว้ในเตาเผาตัวเดียวกัน
เพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นทางด้านจิตใจเบื้องต้นให้กับทางผู้สูญเสีย ทางมูลนิธิยังได้มีการประสานต่อไปยังส่วนของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ความช่วยเหลือกับทางญาติอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายให้กับทางผู้เสียชีวิตแล้วก็ยังครอบคลุมการดูแลจิตใจของผู้สูญเสียอีกด้วย
ทำงานต่อไปแม้ไร้ปลายทาง
ไพรัชยืนยันว่าทีมงานของทางมูลนิธิยังคงมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือกับทางผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ให้ได้มีสถานที่เผาร่างอย่างเหมาะสม รวมถึงยังคงตั้งใจที่จะรับ-ส่งผู้ติดเชื้อผ่านต่อไปยังสถานพยาบาลหรือว่าโรงพยาบาลสนามต่อไป โดยงานนี้เขาไม่ได้มองภาพเป้าหมายหรือว่าจุดหมายเอาไว้ว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อใด ตราบใดที่ยังมีผู้ต้องการความช่วยเหลือ เขาและทีมงานมูลนิธิก็จะทำงานกันต่อไปอย่างเต็มที่
ณ เวลานี้ตัวเลขมากที่สุดต่อวันที่ทางมูลนิธิสยามนนทบุรีได้ทำการฌาปนกิจศพนั้นคือ 16 โลงต่อ 1 วัน จนช่วงเวลาที่ให้สัมภาษณ์อยู่นี้ทางวัดต้องหยุดการใช้เตาเผาหลักเพราะว่าใช้งานต่อเนื่องมากจนเกินไป และต้องหันไปใช้เตาสำรองเป็นการทดแทน
หากถามว่าตัวเขาเองรู้สึกหดหู่กับความตายที่เรียกได้ว่าต้องเผชิญวันละหลายๆ ครั้งหรือไม่ ไพรัชยอมรับว่าเขาเองก็หดหู่ แต่ท่ามกลางความรู้สึกโศกเศร้าเหล่านั้นหากเขาสามารถส่งมอบกระดูกของผู้เสียชีวิตให้กับญาติได้ ความสำเร็จตรงนั้นคือการหักลบความรู้สึกในเชิงลบในฐานะของคนๆ หนึ่ง ที่มอบให้กับคนอีกคนเป็นครั้งสุดท้าย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชนที่ยังคงต้อง ‘พึ่งพาตนเอง’ ในช่วงที่อาจเรียกได้ว่าวิกฤติที่สุดของการแพร่ระบาด และยังมีเรื่องราวของคนอีกมากมายหลากหลายมิติที่ยังคงต้องดำเนินชีวิตต่อไปท่ามกลางปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนยังคงต้องอยู่ในสภาวะของ ‘การเหลือช่วยกันเอง’ โดยไร้การเหลียวแลจากผู้มีอำนาจเพื่อแสวงหาทางอยู่รอดในวิกฤติการณ์นี้ต่อไป
ประชาชนยังต้องพึ่งพากันเองอีกมากเท่าไร?
ประชาชนยังต้องพึ่งพากันเองอีกนานเพียงใด?
เป็นคำถามที่รอคอยคำตอบ