“สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามาตลอดสำหรับเรา คือเรื่องของเงินและระยะเวลา”
เงินน้อย เวลาไม่พอ – นี่คือสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปัญหาต่างๆ อีกมากมาย กลายเป็นความเจ็บปวดที่นักเขียนบทต้องเจอ
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา สมาชิก 99% ของสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกา (Writers Guild of America หรือ WGA) จากที่มาลงคะแนนทั้งหมด 8,525 เสียง เพิ่งโหวตเห็นชอบให้รับรองสัญญาฉบับใหม่ที่ทำกับสตูดิโอในฮอลลีวูด ภายหลังจากที่สมาชิกหยุดงานประท้วง หรือที่เรียกว่า ‘สไตรค์’ (strike) จนการถ่ายทำทั่วฮอลลีวูดชะงักงัน ยาวนาน 148 วัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงกันยายน
ในสัญญาที่ตกลงกัน สรุปอย่างคร่าวๆ ก็คือการคุ้มครองความเป็นธรรมให้กับนักเขียนบท รวมถึงรับประกันสวัสดิภาพและค่าตอบแทนที่ดีขึ้น เช่น เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มสัดส่วนรายได้จากสตรีมมิงสำหรับนักเขียนบท รวมถึงกำหนดเงื่อนไขในเรื่องอย่าง AI เพื่อไม่ให้มาแทนที่คนทำงาน
จากการเฝ้าดูในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก คำถามที่ตามมาคือ ท่ามกลางสภาพการทำงานที่เลวร้ายพอกันกับฮอลลีวูด – หรือยิ่งกว่า – จะมีโอกาสบ้างไหมที่นักเขียนบทภาพยนตร์ไทยจะรวมตัวกันก่อตั้งสหภาพ เพื่อเรียกร้องเงื่อนไขในการทำงานและผลประโยชน์ที่ดีขึ้น?
The MATTER ไปพูดคุยกับนักเขียนบทที่มีประสบการณ์ยาวนานในวงการ 2 คน เพื่อสำรวจดูว่า มีปัญหาอะไรบ้างที่นักเขียนบททุกคนต้องเจอ พร้อมสนทนากับ สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ร่วมก่อตั้ง Doc Club & Pub. เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน – ที่สุดท้ายก็พบว่า คำตอบของมันก็คือคำว่า ‘สหภาพ’
ความปวดร้าวของคนเขียนบทไทย
“มนุษย์มีเรื่องจะเล่าอยู่แล้ว แต่สมมติอยู่ในสนามเด็กเล่น ของเรามันไม่มีอะไรให้เล่น มีแค่กระบะทราย แต่ไม่มีอุปกรณ์ให้เล่น ไอเดียก็ไม่ได้ถูกตีกระจายออกมา เราอยู่กับข้อจำกัดตลอดเวลา” ณพัทธ์ (นามสมมติ) นักเขียนบทผู้คลุกคลีกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เคยเป็นทั้งฟรีแลนซ์และพนักงานประจำในบริษัทเขียนบท เล่า
สำหรับเขา ข้อจำกัดหลักๆ คือ เรื่องเงิน (ที่น้อย) และเวลา (ที่ไม่พอ)
“มันจะมีคำพูดมาตลอดว่า ทำไมบทบ้านเราไม่เหมือนเกาหลี เป็นคำคลาสสิกมาก แต่เวลาเราเจอคนเขียนบทเกาหลี เขาจะถามว่า พวกเราใช้เวลาทำเท่าไหร่ เขาช็อกนะ กับระยะเวลาที่คนเขียนบทไทยได้ ในขณะที่เราเชิดชูเขามากๆ เขาตกใจมากว่า คุณทำเรื่อง 16 ตอนในระยะเวลา 1 ปีครึ่งได้ยังไง ในขณะที่บ้านเขาทำ 3 ปี แล้ว 3 ปีนั้นของเขา ชีวิตเขาดีกว่าเราเยอะ”
“มันน่าเศร้าตรงนี้ว่า เวลาเราก็น้อย เงินเราก็น้อย แล้วพองานออกมา มันก็ไม่ดีหรอก เรามั่นใจว่า ระยะเวลาที่สั้นกว่าเขา ยังไงเราก็ไม่มีโอกาสได้ปั้นงานที่มันดีขึ้น”
เช่นเดียวกับ วรรณิกา (นามสมมติ) นักเขียนบทที่ทำอาชีพนี้มายาวนานร่วมทศวรรษ ที่บอกว่า “ถ้าเรียกว่าเจ็บปวดที่สุด คือ เรื่องของระยะเวลาที่ให้ เงินที่ให้ และปริมาณที่ให้ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสอดคล้องไปด้วยกัน คือถ้าเขาจ่ายหนัก แต่เขาให้เราทำบทแค่ 3 เดือน ซึ่ง 3 เดือนจะให้เสกอะไรออกมา หรือบางที เฮ้ย ให้เวลามาก คราฟต์ไปเลยหนึ่งปี แต่ตอนละ 30,000 บาท จะเอาอะไรกิน”
เธอเล่าต่อว่า “เรารู้จักกับบางคนที่เขาเขียนหนัง 50-100 ล้านบาท แต่เขาต้องลงทุนกับมัน สมมตินะ 4 วันใน 1 อาทิตย์ ไปนั่งอยู่ในห้องประชุมตั้งแต่ 11 โมง จนถึงตี 4 โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ต้องมานั่งเขียนด้วยกัน แล้วพอหารออกมาจริงๆ เขาได้เดือนละแค่ไม่ถึง 18,000 บาท หรือถึงจุดที่เขาต้องกินมาม่าติดๆ กันหลายวัน”
“เขาก็รู้สึกว่า อาชีพนี้มันไม่มีทางที่จะทำให้รวยหรือประสบความสำเร็จได้ ในแง่เดียวกัน ที่มาถึงจุดนี้ ฉันก็จะตอบว่าจริง ฉันไม่หวังรวยกับอาชีพนี้แล้ว แค่ทำเพื่อความพึงพอใจของตัวเอง แล้วไปหวังรวยกับอาชีพอื่นดีกว่า”
อีกประเด็นที่วรรณิกาชี้ให้เห็น คือ เมื่อเป็นอาชีพที่ไม่มีความแน่นอน สำหรับเธอ จึงไม่สามารถเลือกรับงานน้อยได้ “สิ่งหนึ่งที่ต้องทำใจไว้เลยในการเขียนบท คือว่า ปีนึงเราไม่มีทางเลือกรับงานน้อยได้ เพราะเราไม่รู้เลยว่า โปรเจ็กต์ไหนจะเกิด โปรเจ็กต์ไหนจะล่ม คือตอนเด็กเราไม่รู้ เราเลยเจ็บปวดมาก”
นักเขียนบท อาชีพที่ไม่ถูกมองเป็นอาชีพ
“อาชีพคนเขียนบท มันควรจะถูกพูดถึงในแง่ของการเป็นอาชีพจริงๆ ไม่ใช่มีใครคิดว่า เฮ้ย เรามาทำหนังกันเถอะ แล้วก็ดีดนิ้ว แล้วก็คิดได้ คือมันควรจะถูกคิดให้เป็นอาชีพจริงจัง ที่ควรจะมีสวัสดิการ มีการได้รับการรองรับ มีกฎหมายคุ้มครอง”
วรรณิกาเล่า “รู้ไหมว่า คนเขียนบทบางคนที่เขียนดังมาก เป็นฟรีแลนซ์ที่ได้รายได้เยอะมาก กู้บ้านไม่ผ่าน เพราะว่ามันไม่ได้มีการยอมรับนับถือว่าสิ่งนี้เป็นอาชีพ หมอเป็นอาชีพ พยาบาลเป็นอาชีพ แต่ทำไมนักเขียนบทถึงไม่ถูกคิดว่าเป็นอาชีพล่ะ หรือทำไมถูกคิดว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงโดยธรรมชาติ เขาถึงไม่ให้กู้บ้าน คือ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีความมั่นคง เลยไม่ให้กู้”
ปัญหาทั้งหมดที่เล่ามา เธอบอกว่า ทำให้คนเขียนบทส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตด้วย “เพราะคุณถูกทำให้เป็นโรงงาน คุณต้องทำหลายโปรเจ็กต์ เพื่อที่จะต้องได้เงินมา ในขณะเดียวกัน ตัวเราเองก็ไม่สามารถปล่อยวางมาตรฐาน เราไม่สามารถเอาเท้าเขี่ยออกไปได้ อย่างเช่นเรา ก็มีมาตรฐานที่สัญญาไว้ว่า เราต้องดีเท่านี้ เราถึงจะส่ง
“เพราะฉะนั้น มันก็จะมีความกดดันตัวเอง บีบคั้นตัวเอง ทุบตีตัวเองตลอดเวลา ตลอดช่วงชีวิตของการทำงาน”
และทั้งหมดทั้งมวลนี้ ณพัทธ์ชี้ว่า เมื่อยังไม่ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม คนทำงานที่ไม่ได้มีปูมหลังเป็นครอบครัวที่มีฐานะ ก็อยู่ต่อในอุตสาหกรรมไม่ได้ “เราอยู่กับวงการภาพยนตร์มาตั้งแต่เรียนจบ เราเห็นคนเก่ง ย้ายไปทำงานสายอื่นเยอะมากๆ คนที่เขามีความสามารถแต่เขาไม่ได้มีต้นทุน อย่างเรายังโชคดีว่า ที่บ้านมีเงิน พอที่จะสนับสนุนให้ทำตรงนี้ มันก็เลยเหมือนมีเบาะรองรับที่นุ่มกว่าหลายๆ คน บางคนเขาไม่สามารถมารอได้นานขนาดนั้น”
“เราเห็นคนเขียนบทเก่งๆ หลายคนมากที่ต้องยอมแพ้กับสิ่งนี้ไป มันก็เสียทาเลนต์ดีๆ ไปเยอะเหมือนกัน ในช่วงเวลาที่ผ่านไป”
‘สหภาพ’ คือคำตอบ
ปัญหาบุคลากรออกจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นปัญหาเดียวกับที่สุภาพมองว่า คือต้นเหตุที่ทำให้หนังไทยไม่มีคุณภาพ – และถ้าถามว่าเป็นเพราะอะไรที่บุคลากรขาดแคลน ก็เป็นเพราะไม่ได้รับการดูแล
“บุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขาดแคลน เราขาดแหล่งที่มา (source) ใหม่ๆ เราขาดแหล่งที่มาที่มันมีความท้าทาย เราขาดแหล่งที่มาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์ การขาดแหล่งที่มาทั้งหลายเหล่านี้ มันล้วนแล้วมันมาจากการที่เราไม่มีบุคลากรที่เพียงพอ
“บุคลากรที่ไม่เพียงพอ เพราะอะไร ก็เพราะเราขาดการที่จะดูแลเขาให้สามารถดำรงวิชาชีพ ในวิชาชีพด้านนี้ ให้มันมีชีวิตที่ดี ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ได้การทำงานที่ไม่เป็นโทษต่อสุขภาพ ซึ่งสองสิ่งนี้ วงการหนังที่ผ่านมาไม่ได้ให้กับคนทำงานเลย เพราะเราต้องทำงานตามความต้องการของผู้ลงทุน ของผู้ประกอบการ โดยที่ทั้งหมดทั้งปวง มันไม่ได้ดูแลในแง่ของชีวิตของพวกเขา เป็นการต่อรองโดยที่เป็นผู้จ้างและผู้ถูกจ้างเท่านั้น”
“มันต้องการอะไรสักอย่างที่จะมารับประกันการทำให้คนทำงานมีชีวิตที่ดี ฉะนั้น สหภาพมันก็คือคำตอบ”
สุภาพชวนคิดไปถึงการรวมกลุ่ม ก่อตั้งเป็นสหภาพ เพื่อคุ้มครองคนทำงาน “หลังจากทบทวนดูแล้ว การที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังไทยแข็งแรง มันไปมองในเรื่องของการสนับสนุนทางนโยบายจากภาครัฐหรืออะไรทำนองนั้นอย่างเดียวคงไม่ได้ มันต้องต่อสู้จากคนทำงาน
“สหภาพ คือ คนที่เป็นตัวกลางที่กำหนดมาตรฐานในการทำงาน กับการว่าจ้าง มันต้องมีสิ่งเหล่านี้ที่จะมาต่อรองแทนคนทำงาน หรือออกแบบกระบวนการที่จะทำให้คนทำงานได้รับผลประโยชน์จากการทำงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็แล้วแต่ ตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานไปแค่ไหนก็แล้วแต่ ทุกขั้นตอนของการทำงาน เขาจะต้องได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม”
และถ้ามีสหภาพก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างได้ สิ่งที่ควรผลักดันที่เขาเสนอ มีอยู่เรียบง่ายแค่ 3 ประการ
ประการแรก คือ เรื่องคุณภาพชีวิตของคนทำงาน
ประการที่สอง คือ การส่งเสริม (empower) คนทำงาน
ประการที่สาม คือ การผลักดันให้เกิดมาตรฐานทางวิชาชีพ ที่อ้างอิงกับมาตรฐานของประเทศอื่นๆ
“เพราะเรามักจะพูดกันเสมอ ไม่มีหนังดีจากบทที่เลว แต่มีหนังเลวจากบทที่ดี ถ้าบทไม่ดียังไงมันไม่มีทางที่จะมีหนังดีได้”
หนทางข้างหน้ายังไม่ง่าย
“ยังไงการมีสหภาพก็ดีกว่าการไม่มี พอมันไม่มีสหภาพมันก็อีเหละเขะขะ นายทุนเขาก็มีอำนาจเหนือทุกอย่างไปหมด” คือความเห็นของณพัทธ์
“เราคิดว่าในจุดนี้ไม่มีคนทำงานเขียนบทคนไหนไม่อยากให้มีสหภาพหรอก มันมียังไงก็ดีกว่า ผลดีมันเยอะกว่าอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ดี ทั้งณพัทธ์และวรรณิกา ผู้เป็นนักเขียนบททั้งสองคน ก็มองว่า หนทางสู่การมีสหภาพจริงๆ ก็ยังไม่ง่าย เพราะขาดการสนับสนุนทั้งจากคนในอุตสาหกรรมเอง และสังคมภายนอก
ในมุมกว้าง ณพัทธ์ให้ความเห็นว่า “ความเชื่อใจของคนไทยในหนังไทยมันลดลงไปเยอะมากๆ และมันแทรกมาด้วยความอคติ คือเรารู้สึกว่า การเคลื่อนไหวแบบนี้ มันไปแค่กับคนในอาชีพไม่ได้ แต่มันต้องไปกับคนทั้งประเทศ คือมันต้องผลักดันไปด้วยกันหมด”
ขณะเดียวกัน วรรณิกายกตัวอย่างถึงการขาดแรงสนับสนุนในวงการ ซึ่งอาจเป็นปัญหาจากช่องว่างระหว่างวัย ที่คนรุ่นโตกว่าไม่เข้าใจการเรียกร้องของคนทำงานรุ่นหลัง “มีคนเขียนบทวัยเก๋าๆ นี่แหละ ที่พูดว่า สมัยพี่เขียนบท พี่ได้ตอนละ 9,000 บาทเอง สมัยนี้จะมาเรียกร้องอะไรนักหนา เพิ่งเป็นเด็กใหม่”
เมื่อไม่มีเสียงสนับสนุน ความเป็นปึกแผ่นในอุตสาหกรรมจึงไม่เกิด วรรณิกายกตัวอย่างอีกว่า “เรามั่นใจเลยว่า ถ้าในไทยเกิดขึ้น สมมติเราบอกว่า เราไม่ทำนะ เราสไตรค์ คุณสไตรค์ มันจะมีน้อง C เข้ามาแล้วพูดว่า เดี๋ยวหนูทำเองค่ะ ซึ่งเราไม่ได้มีความแข็งแกร่ง เราไม่ได้มีคอนเนคชั่นที่ต่อกันจนครบเป็นวงกลม เราเข้าใจว่าทุกคนลำบาก การที่จะได้โอกาสมาหนึ่งครั้ง มันต้องสู้ น้อง C ก็ไม่ได้ผิดอะไรที่จะมาบอกว่า หนูทำก็ได้ค่ะ แต่มันก็เป็นช่องว่างให้นายทุนรู้สึกว่า ก็คุณไม่ทำ ฉันก็ไปหาคนอื่น”
แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด – ภาษาอังกฤษคงต้องใช้คำว่า “against all odds” – การก่อตั้งสหภาพก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คนในวงการเขียนบทและวงการภาพยนตร์ไทยกำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ผ่านมา และเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักเขียนบททุกคนเฝ้าฝัน
“เรารู้สึกว่า เราจะสนุก คนทำงานจะสนุกกับการคิดงาน คนดูจะสนุกกับการได้เสพงาน เขาจะมีตัวเลือกให้เลือกเยอะขึ้น ในหนึ่งปี สิ่งที่อยู่บนเชลฟ์มันจะหลากหลาย” ณพัทธ์เล่า สายตาเป็นประกาย หลังถูกถามว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าได้ทำงานโดยมีสหภาพคุ้มครองให้มีสภาพการทำงานที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี
“สุดท้ายแล้ว ในการเล่าเรื่อง คนมันมีเรื่องที่จะเล่าเยอะ และก็มีคนที่อยากจะฟังหลายคน” เขาพูดในฐานะนักเล่าเรื่องคนหนึ่ง