ท่ามกลางเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในระบบ TCAS มีข้อมูลชุดหนึ่งที่น่าสนใจพอสมควร นั่นคือการสมัครในรอบที่สี่ หรือรอบแอดมิชชั่น ซึ่งมียอดคนที่สมัครสอบน้อยที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยใช้ระบบนี้มา
ข้อมูลจาก ทปอ. ระบุว่าปี 2561 มีคนสมัครแอดมิชชั่นทั้งหมด 54,782 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยมีที่นั่งรองรับอยู่ 83,953 ที่นั่ง ซึ่งแปลว่าการสอบรอบนี้แปลว่าที่นั่งเหลือเกือบถึง 30,000 ที่นั่ง (เหลือมากกว่าปีที่แล้วราวๆ 3,000 ที่นั่ง)
ปัญหาผู้สมัครน้อยกว่าจำนวนที่สถาบันการศึกษาเปิดรับ ยังมีให้เราเห็นตั้งแต่ TCAS ในรอบแรกๆ ยกตัวอย่างในบางสาขาของสถาบันหลายแห่ง ก็แทบไม่มีนักเรียนส่ง Portfolio มาให้คัดเลือก หรือบางสาขาก็มีเด็กที่เลือกสมัครเรียนเพียงแค่ 4-5 คนเท่านั้น
ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว มีคำอธิบายต่อภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น ‘วิกฤต Over Supply’ เมื่อที่นั่งของมหาวิทยาลัยมีจำนวนมากเกินไปกว่าความต้องการของนักเรียน
สำรวจปัญหา Over Supply ในมหาวิทยาลัยไทย
มีคำอธิบายต่อสถานการณ์ Over Supply ที่เกิดขึ้นว่า ส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์ของสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะสูงวัย หรือ aging society กันมากขึ้น อัตราการเกิดของเด็กไทยมีน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนเด็กนักเรียนก็เลยลดลงตามไปด้วย
ซ้ำร้ายกว่านั้น ปัญหาไม่ได้จบลงแค่จำนวนนักศึกษาลดลง แต่มันยังส่งผลต่อไปให้สถาบันการศึกษาเจอกับปัญหาสถานะการเงินย่ำแย่ เพราะขาดแคลนแหล่งเงินทุน จนทำให้บริหารงานไม่ได้ โดยกรณีที่หนักสุดคือได้รับผลกระทบจนต้องปิดมหาวิทยาลัยไปในท้ายที่สุด
ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดปัญหา Over Supply ยังรวมไปถึงกฎหมายของไทยที่ค่อนข้างสนับสนุนให้มีการเปิดมหาวิทยาลัยได้โดยที่ไม่ยากมากนัก เพราะเมื่อเปิดง่าย จำนวนมหาวิทยาลัยก็เยอะเกินไป เหลือเป็นที่นั่งเกินความต้องการของผู้เรียน
อาจารย์ สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วกับมหาวิทยาลัยไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า
“หลายปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากกว่า 200 แห่ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปิดไปแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ปัจจุบันเหลือมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 150 แห่ง ซึ่งเคยมีการทำนายว่า ปี 2563 มหาวิทยาลัยจะปิดตัวลงอีก และจะเหลือมหาวิทยาลัยทั้งระบบอยู่ไม่เกิน 120 แห่ง ในจำนวนที่เหลือแต่ละแห่งจะทยอยปิดคณะ/สาขาลงอีกจำนวนมาก” อาจารย์ สุขุม ให้สัมภาษณ์กับ มติชน ออนไลน์
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี : การเข้าถึงความรู้ได้นอกห้องเรียน
ทุกวันนี้การศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียน—ประโยคทำนองนี้เราอาจได้ยินกันมานานแล้ว แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากผลลัพธ์ของอินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ เพราะมันถือว่าได้เข้ามาช่วยขยายขอบเขตประสบการณ์ และทำให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้ว (และดูเหมือนจะง่ายขึ้นมากเรื่อยๆ)
หลายปีที่ผ่านมา MOOCs หรือ Massive open online course คือสิ่งที่ช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง รวมถึงจาก อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ผ่านทางคอมพิวเตอร์และมือถือ
ในเวลาเดียวกันนี้เอง สถาบันการศึกษาหลายแห่งในไทยก็ได้เพิ่มช่องทางการเรียนการสอนให้กับบุคคลทั่วไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอร์สเรียนฟรีจากสถาบันชื่อดังต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และมหิล เป็นต้น
แม้ความสำคัญของการไปเรียนในห้องเรียนจริงๆ ที่จับต้องได้ในเชิงกายภาพยังมีอยู่ แต่การเติบโตและขยายวงกว้างของ MOOCs ก็เป็นเทรนด์ที่กำลังทำลายกำแพงสี่เหลี่ยมของห้องเรียนแบบเดิมๆ ไปด้วยเหมือนกัน
อาจารย์ พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร พูดถึงประเด็นนี้ผ่านทาง Workpoint News ว่า การเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้นเพราะเทคโนโลยี มันได้ส่งผลให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประกอบอาชีพอิสระกันมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้แบบเดิมๆ ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว
ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะสนใจเรียนคอร์สระยะสั้นๆ และคอร์สที่ให้ความรู้เฉพาะทางกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้เข้ามาท้าทายและตั้งคำถามกับการเรียนการสอนในห้องของมหาวิทยาลัยแบบเดิมๆ ว่ามันยังจำเป็นอยู่แค่ไหน
ทางเลือก ทางรอด หนทางต่อสู้ปัญหา Over Supply
ท่ามกลางวิกฤต โอกาสก็ยังคงมีอยู่ หลายมหาวิทยาลัยเลือกที่จะไม่ยอมแพ้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหันมาปรับตัวเพื่ออยู่รอดกันให้ได้
ในวันนี้เราจึงเห็นสถาบันต่างๆ เริ่มปรับปรุงหลักสูตรให้ ‘เฉพาะทาง’ มากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของนักเรียนให้ได้ ยกตัวอย่าง การทำหลักสูตรใหม่ๆ เช่น จับมือกับบริษัทด้านเกมเพื่อเปิดหลักสูตรด้าน eSports
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในเดือนสิงหาคมนี้ คือวิธีการพิจารณาอนุมัติหลักสูตรของ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่ตัดตอนกระบวนการต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสียก่อน
“ที่ผ่านมาการรับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย จะต้องส่งหลักสูตรให้ สกอ. พิจารณารับรองก่อน จึงจะเปิดสอนหลักสูตรนั้นๆ ได้ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 1-2 ปี ส่งผลให้มีหลักสูตรที่รอการพิจารณาอนุมัติจาก สกอ.กว่า 3,000 หลักสูตร ซึ่งหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป จะกลายเป็นหลักสูตรที่ไม่ทันสมัย และไม่ตอบโจทย์ตลาดเเรงงาน จึงต้องเปลี่ยนแปลง” นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ
ด้านอาจารย์ ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี (มทร.) มองว่า สิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องเร่งทำกันคือปรับตัวให้เอื้อกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
“ผมยังเชื่อว่าเด็กยังมีความต้องการที่จะเรียนต่อ เพียงแต่ระบบที่เด็กจะเข้าเรียนนั้นต้องเอื้อต่อการทำงาน เช่น ระบบออนไลน์ ดังนั้นวันนี้ สถาบันอุดมศึกษาจะต้องไม่ใช่จัดการเรียนการสอนเพื่อนักเรียนระดับ ม.6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แต่ต้องกลับไปมองกลุ่มที่ทำงานควบคู่ไปกับการเรียน พร้อมทั้งจัดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบสนองกลุ่มนี้ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวและเตรียมตัวกับการเรียนการสอนที่จะเปลี่ยนไป รวมทั้งมุ่งทำงานร่วมกับเอกชนมากขึ้น” อธิการบดี มทร. กล่าว
มากกว่า Over Supply คือโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม
หลายสถาบันที่ต้องการลดความรุนแรงของ Over Supply คือการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติให้มากขึ้น รวมถึงการปรับหลักสูตรเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรภาคค่ำ หลักสูตรนอกเวลาราชการ ตลอดจน หลักสูตรการเรียนปริญญาตรี ควบปริญญาโทใน 5 ปี หรือกระทั่งเปิดหลักสูตรพิเศษสำหรับผู้คนในวัยต่างๆ เป็นการเฉพาะ
แนวทางการปรับตัวเช่นนี้กำลังเป็นที่นิยมในหลายมหาวิทยาลัย สอดคล้องไปกับความพยายามของสถาบันที่กำลังผลักดันคุณภาพทางการศึกษา และสร้างจุดเด่นทางการตลาดให้ดึงดูดนักเรียนมากขึ้น จนกลายเป็น ‘สงครามการตลาด’ แห่งวงการมหาวิทยาลัยไทย
ถึงจะเป็นอย่างนั้น คำถามที่เกิดขึ้นคือ แนวทางเช่นนี้จะช่วยให้สถาบันการศึกษาไทยออกจากปัญหา Over Supply ได้ในระยะยาวจริงๆ แค่ไหน หรือมันจะเป็นแค่การดิ้นรน และต่อลมหายใจตามเท่าที่จะทำได้ เพื่อประคองอาการไม่ให้ทรุดหนักมากไปกว่าเดิม
เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็คงปฏิเสธได้ยากว่า ปัญหาอันยิ่งใหญ่อย่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นมายาวนาน และดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังคงส่งผลให้เด็กนักเรียนไทยจำนวนมาก ‘ยังเข้าไม่ถึง’ โอกาสและทรัพยากร หรือในที่นี้คือการเข้าถึง ‘ที่นั่ง’ ในมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียมกับคนที่มีโอกาสและทรัพยากรมากกว่า
เหมือนกับที่ อาจารย์ เดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชี้ชวนให้พวกเราคิดถึงเรื่องนี้
“วิกฤตอุดมศึกษาในมุมมองของผมคือ การที่เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจน ไม่สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เพิ่มขึ้นต่างหาก (แม้จะมีที่ว่างในมหาวิทยาลัยมากขึ้นก็ตาม) แต่ทำไมเราจึงไม่เคยรู้สึกว่าสิ่งนี้คือวิกฤต? เพราะนั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ผลกระทบของเรา ไม่ใช่โอกาสที่เรามีน้อยกว่าคนอื่น เราจึงไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นวิกฤต เมื่อเปรียบเทียบกับการปิดมหาวิทยาลัย ปิดสาขา หรือต้องให้คนมหาวิทยาลัยออกจากงาน”
ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงดูเหมือนจะเป็นโจทย์ชิ้นใหญ่ที่แท้จริงของการศึกษาไทยในปัจจุบัน
ดีไม่ดี อาจรุนแรงและน่ากังวลกว่าการที่มหาวิทยาลัยจะปิดตัวด้วยซ้ำ
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก