ข่าวคนไทยหนีไปเป็น ‘ผีน้อย’ หรือแรงงานที่ผิดกฏหมายในเกาหลีใต้เป็นเรื่องใหญ่โตพอสมควร หลายฝ่ายก็เป็นห่วงกันว่าจำนวนผีน้อยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กำลังส่งผลให้คนไทยถูกด่าน ตม.ที่เกาหลีจับตาเป็นพิเศษ จนทำให้คนที่อยากไปเกาหลีเพื่อท่องเที่ยวด้วยความบริสุทธิ์ใจต้องพลอยลำบากใจกันไปด้วย
มันเลยน่าสนใจว่า ตกลงแล้ววงการผีน้อยเนี่ยเค้าฟอร์มทีมกันยังไง สร้างเครือข่ายกันรูปแบบไหน แล้วทำไมสามารถถึงพาคนเข้าประเทศไปเป็นแรงงานผิดกฏหมายกันได้มากมายขนาดนั้น?
ทำความรู้จักขบวนการผีน้อย: ติวเข้มพาเข้าประเทศ มีที่พักให้ ได้เงินเดือนสูง
เริ่มต้นอย่างนี้ก่อนนะ การที่จะเข้าไปเป็นผีน้อยในเกาหลีได้ส่วนใหญ่แล้วจะต้องผ่านนายหน้า หรือศัพท์ในวงการเรียกว่า ‘แม่แทค’ ซึ่งสามารถตามหาแม่ๆ เหล่านี้ได้ไม่ยากเลยในเฟสบุ๊ก เพียงพิมพ์คีย์เวิร์ดลงไปเช่น ‘ทำงานเกาหลี’ หรือ ‘งานเกาหลี ผีน้อย’ ก็จะมีกรุ๊ปต่างๆ ปรากฏขึ้นมาเต็มไปหมด เข้าไปจอยกรุ๊ปกันเสร็จก็ติดต่องานกับแม่แทคในนั้นได้เลย
สิ่งที่แม่แทคจะติวเข้มให้กับว่าที่ผีน้อยในกรุ๊ปของตัวเอง เริ่มต้นตั้งแต่สอนวิธีการวางตัวที่ดี การแต่งกายให้หน้าเชื่อถือ การจัดกระเป๋าแบบที่เจ้าหน้าที่สนามบินเชื่อว่าไปเที่ยวไม่ใช่ไปหางาน ตลอดจนวิธีการตอบคำถามและเตรียมการเอกสารที่จำเป็นในเวลาที่ต้องเอาไปยืนยันกับ ตม. เช่นตารางการไปเที่ยว และใบยืนยันการจองโรงแรมเป็นต้น ซึ่งขั้นตอนเตรียมตัวนี้แม่แทคจะเรียกค่านายหน้าไปก่อนราวๆ 25,000 – 35,000 บาท
ถ้าผ่านคอร์สติวเข้มไปได้แล้วก็ถึงเวลาเดินทาง นายหน้าบางคนที่ช่ำชองเป็นพิเศษก็จะรวมทีมว่าที่ผีน้อยเป็นกรุ๊ปทัวร์ แล้วตัวเองจะเนียนเป็นไกด์ ขณะที่ในบางเคสถ้านายหน้าไม่ได้ไปด้วยก็จะให้สมาชิกไปแฝงกับกรุ๊ปทัวร์อื่นแทน ถ้าสามารถเข้าประเทศไปได้สมาชิกเหล่านี้ก็จะหลบหนีหายไป ไม่ยอมกลับประเทศตามกำหนด บางทีมที่มีคอนเนคชั่นดีหน่อยก็จะมีรถจากนายจ้างคนเกาหลีมารับถึงสนามบินเลย
รูปแบบงานที่ผีน้อยทำกันในเกาหลีมีหลายประเภท แต่โดยหลักๆ แล้วจะเป็นงานในภาคอุตสหกรรมการเกษตร เช่น ตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เก็บเกี่ยวพืชผักผลไม้ตามไร่ตามสวน หรือไม่ก็เป็นแรงงานลักลอบในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรายได้จะตกอยู่เดือนละประมาณ 45,000 บาท
สวัสดิการที่ผีน้อยได้รับจากนายจ้างคนเกาหลี ในแต่ละสัปดาห์จะมีค่าอาหารให้ครั้งละ 600 – 900 บาท มีที่นอนให้อยู่กันห้องละ 2 – 4 คนตามไซต์โรงงานต่างๆ ถ้ามาเป็นแพ็คคู่สามีภรรยา นายจ้างก็อาจจะอนุญาตให้อยู่ห้องเดียวกันได้ แต่ในกรณีที่โรงงานไม่มีที่พักให้หรือที่พักเต็ม นายจ้างก็จะให้ไปอยู่ห้องเช่าข้างนอกแทน (แต่ต้องถูกหักค่าห้องออกจากเงินเดือนด้วย แถมผีน้อยก็ต้องระแวดระวังตัวกันเป็นพิเศษ)
อย่างไรก็ตาม ผีน้อยหลายคนยังเลือกรับ ‘งานพิเศษ’ ซึ่งมันก็คืองานนวดธรรมดา จนถึงนวดที่แอบแฝงบริการทางเพศ งานประเภทนี้รายได้ดีกว่า โดยการนวดอย่างเดียวได้เดือนละ 60,000 – 80,000 หมื่อนบาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นนวดที่แอบขายบริการทางเพศ ก็จะมีรายได้ถึง 150,000 – 300,000 ต่อเดือนบาทเลยทีเดียว
ปฏิเสธแทบไม่ได้เลยว่า ขบวนการผีน้อยเข้าเกาหลีจะเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นชัดเจนว่า มันมี ‘แรงดึงดูด’ เยอะไม่ว่าจะเป็นการเข้าหานายหน้าที่ง่ายดายเพียง search ในเฟสบุ๊ค แถมยังมีทั้งรายได้และที่อยู่อาศัยรออยู่ให้เสร็จสรรพ
แต่เป็นไปได้ไหมว่า สาเหตุของปัญหามันยังซ่อนปมที่ซีเรียสมากกว่านั้น มากกว่าแค่การทำผิดส่วนบุคคล?
ปัญหาเชิงโครงสร้าง: ความเหลื่อมล้ำผลักดันให้คนหนีไปเป็นแรงงานผิดกฏหมาย?
รายงานความมั่งคั่งโลกปี 2559 ระบุว่า บ้านเราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคนรวยจำนวน 1% ถือครองความมั่งคั่งมากถึง 58% ในขณะเดียวกัน ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากถึง 3 ใน 4 ที่ไม่ได้ถือครองที่ดินใดๆ เลย
เวลาเราพูดถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ความหมายของมันย่อมมีมากกว่าแค่เรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว เพราะมันรวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และการประกอบอาชีพด้วย แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับบุญ-กรรมที่ทำมาในชาติปางก่อน แต่มันสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐที่ไม่กระจายโอกาสต่างๆ ให้กับคนในสังคมอย่างได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
สิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยตอนนี้คือ คนยากจนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงโอกาสเท่ากับคนที่ร่ำรวยได้ (ซึ่งดูเหมือนว่า ช่องว่างนี้มันกำลังขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ) เราจึงเห็นภาพคนในชนบทต้องดิ้นรนทิ้งบ้านเกิดเข้ามาทำงานในเมือง หรือในกรณีนี้คือต้องบินไปเกาหลีเพื่อแรงงานผิดกฏหมาย การอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ เป็นสิ่งที่ยอมแลกมาแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งสำหรับปากท้องของตัวเอง และการดูแลครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง
กับดักค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อเงินตอบแทนไม่สอดคล้องสภาพความเป็นอยู่?
ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวันเป็น 305 – 310 บาท เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น แต่ในมุมมองของกลุ่มผู้ใช้แรงงานแล้ว อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปี
ลองนึกถึงภาพการเข้ามาทำงานในเมือง ที่แต่ละวันมีค่าใช้จ่ายมากมาย ตั้งแต่ค่าเดินทาง ค่าอาหาร รวมไปถึงการเก็บเงินเพื่อค่าใช้จ่ายประจำเดือนเช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียน ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย ซึ่งค่าแรงตามเกณฑ์นี้อาจจะไม่ตอบโจทย์การดำรงชีวิตที่เป็นอยู่ได้ หลายคนจึงมีหนี้สินล้นตัวจนรับมือแทบไม่ไหว
มิหนำซ้ำ การเพิ่มเกณฑ์ค่าแรงก็เป็นคล้ายกับปัญหางูกินหาง เพราะเมื่อนายจ้างมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ก็มักจะหาทางลดไซส์ของแรงงานตัวเองลง และหันมาใช้เทคโนโลยีมาแทนที่ สุดท้ายแล้ว การเพิ่มค่าแรงจึงกลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงให้ผู้ใช้แรงงานงานถูกเลิกจ้าง หรือไม่ก็ถูกตัดลดสวัสดิการที่เคยได้รับด้วยเหมือนกัน
ที่สำคัญคือในทางปฏิบัติจริงๆ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำยังดูเหมือนจะเป็นกับดักเสียด้วยซ้ำ เพราะนายจ้างมักจะเลือกให้ค่าแรงในขั้นต่ำที่สุด (ของเกณฑ์ขั้นต่ำอีกที) ที่ผ่านมากลุ่มแรงงานจึงพยายามเรียกร้องให้รัฐกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรมกับชีวิตพวกเค้าให้มากกว่านี้ แต่มันก็เป็นหนังเรื่องยาวที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ง่ายๆ
ถึงที่สุดแล้ว ปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้คนออกไปเป็นแรงงานผิดกฏหมายในต่างประเทศ จึงไม่ได้มีเพียงแค่ความต้องการเงินเฉพาะหน้า แต่รากของปัญหานี้ ยังน่าจะรวมไปถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก