พักหลังมานี้ เปิดทีวีดูข่าวหรืออ่านหนังสือพิมพ์ เราก็มักจะพบเห็นคำว่า ‘ไทยนิยม’ กันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะจากปากของนายกรัฐมนตรีลุงตู่
หลักใหญ่ใจความคือ ลุงตู่ อยากให้ประเทศเรามีประชาธิปไตยแบบไทยนิยม (เอ๊ะ ยังไง) ที่มันเข้ากับสภาพแวดล้อมและบริบทของสังคมการเมืองแบบเฉพาะตัวของเราได้ ดูเหมือนจะเข้ากับตำรับสโลแกน ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ’ ที่คนสมัยก่อนเคยพูดกันติดปาก
มันก็น่าสงสัยเหมือนกันว่า ตกลงแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่า ‘ไทยนิยม’ เนี่ยมันคืออะไรกันแน่ แล้วถ้าจะเอามาปรับใช้กับการเมืองบ้านเรา จนกลายเป็น ประชาธิปไตยไทยนิยม อย่างที่รัฐบาลอยากเห็นแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีอะไรที่น่าเป็นกังวลรึเปล่า
The MATTER จึงชวน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง มาคุยกันเพื่อสำรวจประชาธิปไตยไทยนิยมที่ว่านี้
อยากเราเริ่มต้นด้วยโจทย์ว่า ตกลงแล้ว มันจำเป็นไหมที่ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศต้องเหมือนกัน
จริงๆ จำเป็นต้องเหมือนกันในหลักการพื้นฐาน เช่น สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค หลักการตรวจสอบ หลักการมีส่วนร่วม หลักนิติธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยมีร่วมกัน มันคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ ขาดไปเมื่อไหร่ ความเป็นประชาธิปไตยจะเพี้ยนไปทันที เพราะหลักการสำคัญพื้นฐานมันถูกละเมิด
ในเชิงโครงสร้าง ต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ ตรวจสอบถ่วงดุล หัวใจสำคัญคือต้องแบ่งการใช้อำนาจไม่ให้มันกระจุกอยู่ในคนๆ เดียว หรือกลุ่มเดียว มันเลยต้องแบ่งอำนาจเป็นสามทางเพื่อให้มันถ่วงดุลซึ่งกันและกัน หมายความว่า หนึ่งฝ่ายทำหน้าที่บริหาร อีกฝ่ายออกกฎหมาย และก็ต้องมีฝ่ายที่ตรวจความถูกต้องของกฎหมาย
ในการแบ่งและถ่วงดุลทำนองนี้ สิ่งที่แตะต้องไม่ได้ก็คือหลักการเชิงประชาธิปไตย พูดให้ชัดคือ มันต้องมีการถ่วงดุล แต่วิธีการถ่วงอาจจะแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับว่า ถ่วงแบบไหนแล้วมันสมดุลและไม่เอียงเกินไป ไม่อย่างนั้น หลักการมันจะเพี้ยนและคาดอำนาจกันไม่ได้เลย ถ้าตรวจสอบไม่ได้เลยนี่ก็ถือว่าไม่โอเคแล้ว
ตัดภาพมาที่บ้านเรา ช่วงหลังมานี้คำว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ มันกลับมาอีกแล้ว
ถ้าเราลองถอดรหัสไส้ในของมัน ก็คงบอกได้ว่า มันเป็นอะไรที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อที่มันหล่อหลอมเราขึ้นมา ในเชิงประวัติศาสตร์ ถ้าย้อนกลับไปตอนช่วง พ.ศ. 2475 เราสร้างประชาธิปไตยแบบประนีประนอมอำนาจขึ้น คือไม่ได้โค่นฝ่ายอำนาจเก่าไปเสียทีเดียว ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเอากลุ่มชนชั้นนำเก่ามาเป็นหัวหน้ารัฐบาล สภาก็ยอมให้มีสภาสองแบบ คือเลือกตั้ง กับ เอาข้าราชการมาดำรงตำแหน่ง คือปล่อยให้ดุลอำนาจมันอยู่กับแบบรอมชอม
แต่ละยุคสมัย ก็จะมีฝั่งที่ต้องการอารมณ์นี้ตลอด ประชาธิปไตยมันเลยกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าไม่มีใครได้ทั้งหมด เป็นอะไรที่ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้ อำนาจมันถูกแชร์กัน ทุกคนมีที่ทางของตัวเอง
มันจะมีปัญหาตอนสมดุลมันเอียงนี่แหละ เมื่อไหร่ที่มีฝ่ายหนึ่งมองว่า ตัวเองกำลังถูกคนอื่นรุกเข้ามาในพื้นที่ของตัวเอง สมดุลที่เคยชินมันกำลังเปลี่ยนไป
แต่วิธีการที่ชนชั้นนำใช้มาอ้างเพื่อรักษาสมดุล มันก็ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่
ใช่ เราตั้งต้นมาแบบนี้ ในแต่ละยุคมันก็มีอาการแบบนี้จนเรารู้สึกว่า ยอมรับกันได้กับวิธีการที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ ชนชั้นนำเราชอบทิ้งประชาธิปไตยในอุดมคติแบบนั้นไป
ความน่ากลัวคือ ผู้มีอำนาจมักโยนหลักการสากลทิ้งโดยไม่ได้รู้สึกอะไรเลย ไม่ได้ให้น้ำหนักกับคุณค่าสากลเท่าที่มันควรจะเป็น ด้วยความเชื่อว่า ตัดทิ้งไปก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะฉันได้รวมหลักการบางอย่างเข้าไปแล้ว ทำแค่นิดหน่อยก็เพียงพอแล้วสำหรับความเป็นประชาธิปไตย
ยกตัวอย่าง เรื่องการมีส่วนร่วม ก็คือถ้ามีคนเข้ามาร่วมก็จบ ไม่ได้หมายความว่า เข้าร่วมแล้วฉันมองเขาเป็นอย่างไร การมาร่วมของเขามันมีความหมายขนาดไหน เช่น ประโยคที่บอกว่า เรามีรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น แต่เขาก็จะพูดอยู่เสมอว่า เรามารับฟังความเห็น แต่ไม่ได้เชื่อฟัง เราจะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนมีอำนาจอีกที เขาจะคิดว่าแค่นี้ก็คือการทำตามหลักการมีส่วนร่วมตามระบบประชาธิปไตยแล้ว แต่ในความเป็นจริงคือ การมีส่วนร่วมมันต้องมีคุณค่าด้วยสิ เสียงประชาชนมันต้องมีความหมาย มันต้องกระตุกต่อมความคิดของผู้มีอำนาจแล้วแปรเปลี่ยนมาเป็นกฎหมายได้
ตลอดสิบปีของความขัดแย้งที่ผ่านมา หลักประชาธิปไตยสากลในบ้านเรามันถูกบิดไปเพราะข้ออ้างเรื่องความเป็นไทยๆ มากแค่ไหน
หลักสากลมันไม่ได้ถูกใช้แบบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด ด้วยคำอ้างว่าประเทศเราไม่ค่อยพร้อม เขาเชื่อว่าประชาธิปไตยแบบอุดมคติมันต้องการคนที่มีคุณภาพ เช่น คนที่มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ตกอยู่ในวงจรซื้อสิทธิขายเสียง นักการเมืองต้องเป็นคนที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย เข้าใจความต้องการของประเทศ
ชนชั้นนำมักเชื่อว่า เราจำเป็นต้องหย่อนหลักการประชาธิปไตยบางอย่างลงไปเพื่อให้เข้าศักยภาพของบุคคลในประเทศ ต้องปรับระบบบางอย่างให้มันเข้ากับบุคลากรที่เรามีอยู่ ด้วยคำอ้างว่าทำให้มันเข้ากับบริบททางสังคมแบบไทยๆ ยกตัวอย่าง ในยุคนึงเรามองว่านักการเมืองไม่มีศักยภาพด้านกฎหมาย เราจึงออกแบบให้มี ส.ว. แต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงผู้ทรงคุณวุฒิให้กับ ส.ส.
มันก็มีคำถามอยู่เสมอว่า สิ่งที่เติมเข้าไปก็ขัดแย้งกับหลักพื้นฐานประชาธิปไตยอยู่พอสมควร
เขาประเมินว่าคนที่อยู่ในสังคมมีศักยภาพเท่านี้ ก็เลยพยายามหย่อนหลักการอะไรบางอย่าง เพื่อให้มันเดินต่อได้ด้วยความมั่นใจว่า มันคือสิ่งที่ดีกว่า ขณะเดียวกัน ก็มักมองว่า ถ้ายึดตามสากลไปเลยทั้งหมดมันจะสร้างปัญหา ที่เห็นได้ชัดคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งมันมีความเป็นไทยๆ เพียบเลย หนักข้อขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญมองว่า ช่วงวิกฤตการเมืองก่อนรัฐประหารมันนั้น รัฐธรรมนูญมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้
ในแง่หนึ่ง ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เชื่อว่ารัฐธรรมนูญมันต้องเป็นยาวิเศษ ถ้ามีปัญหาอะไรขึ้นมา รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขสถานการณ์ให้ได้ แต่ปรากฎว่าบรรดาผู้ร่างฯ เขามีประสบการณ์กับเหตุการณ์ที่เขาไม่สามารถเอารัฐธรรมนูญ 50 ไปแก้วิกฤตการเมืองได้ ก็เลยร่างเพื่อหาทางออกให้กับเหตุการณ์แบบนั้น เช่น การเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ เขาพยายามหย่อนหลักการเดิม เพื่อให้รัฐธรรมนูญมันปรับตัวได้ตามวิกฤตที่เกิดขึ้น
เขาอ้างว่ามันแก้ปัญหาไม่ได้ ภาวะที่มันเป็นปัญหา มันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมเรา พอมันเกิดปัญหาขึ้นมาก็รับมือไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าพยายามเขียนกติกาไว้โดยอ้างคำว่าแบบไทยๆ ตามมุมมองของเขา
มีข้อกังวลอะไรบ้าง กับการเน้นแต่ลักษณะเฉพาะแบบนี้
มันมีปัญหาเยอะมาก การมองว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครนั้น มันจะตรงข้ามกับหลักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ที่เชื่อในความเป็นสากล เนื่องจากประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องของคนทั่วไป เพราะฉะนั้น หลักการที่รับรองไว้ในพื้นฐาน มันก็เชื่อว่าถ้าเดินไปตามหลักการนี้มันจะรองรับวิถีชีวิตของคนได้ทั้งหมดอยู่แล้ว
พอเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นลักษณะเฉพาะ ประชาธิปไตยธรรมดาแก้ไขไม่ได้ สังคมเราก็เลยชอบโหยหาประชาธิปไตยแบบพิเศษ ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะถ้าใช้วิธีการเฉพาะเข้าไปแก้ไข มันก็แปลว่า แก้ได้แค่สถานการณ์ในลักษณะนี้เท่านั้น สถานการณ์อื่นแก้ไม่ได้ เราก็เลยต้องนั่งไล่แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปเรื่อยๆ
แทนที่เราจะเชื่อในเครื่องมือที่มีอยู่เดิม ว่ามันสามารถแก้ได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่ากระบวนการประชาธิปไตยบางอย่างมันอาจจะเร็วและช้าต่างกันออกไป มันต้องอาศัยเวลาหน่อย ต้องอาศัยบทสนทนาตามธรรมชาติของมัน แต่สิ่งที่เราทำคือการฝืนธรรมชาติ
10 ปีที่ผ่านมา เราก็เห็นว่ามันมีความพยายามปรับแต่งโครงสร้างทางการเมืองให้มีความเป็นไทยๆ มากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันก็ยังรุนแรงอยู่ อย่างนี้แปลว่า การปรับแต่งที่ผ่านมามันไม่ตอบโจทย์รึเปล่า
เพราะเราปรับกันผิดทางตั้งแต่ต้น รัฐธรรมนูญฉบับหลัง 40 เป็นต้นมาเราจะเห็นภาพชัดเลยว่า มันคือการปรับกติกาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะหน้า มันเป็นการคิดย้อนหลังตลอด ตอนฉบับ 40 ร่างด้วยโจทย์การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ พอมาฉบับ 50 ก็ต้องการขจัดรัฐบาลพรรคเดียวที่ตรวจสอบไม่ได้ เวลามาถึงฉบับ 60 ก็มองกันอีกว่าต้องทำให้การเมืองมันอ่อนแอลงไปอีก สิ่งที่งอกออกมาคือ การมองว่านโยบายประชานิยมมันเลวร้ายมีแต่ด้านลบเต็มไปหมด วิธีการก็คือต้องปราบมัน
เราไล่แก้ปัญหากันอยู่แบบนี้ แต่เวลาเราออกกติกามาแต่ละครั้ง ปัญหามันไม่ได้หยุดนิ่งนะ ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปตลอด
เราไม่ชอบรอให้พัฒนาการมันเดินต่อ เรามองแต่โครงสร้างการเมืองข้างบน โฟกัสแต่เรื่องรัฐบาลกินรวบอำนาจ แทรกแซงองค์กรอิสระ เสร็จแล้วก็ล้มกติกาเดิมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วคิดว่ามันน่าจะแก้ปัญหาได้ แต่พอเข้าโหมดเลือกตั้ง คนก็เลือกพรรคเดิมนะ คือชนชั้นนำไม่ได้มองเรื่องนี้เลยว่าประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนไม่ได้ถูกซื้อได้ด้วยเงินเหมือนเดิมแล้วนะ ชาวบ้านเขาสนใจนโยบายของพรรคการเมืองและสนใจวิสัยทัศน์ของนักการเมืองด้วย
เวลาเราออกแบบกติกาหรือปรับเปลี่ยนสถาบันการเมือง มันต้องดูที่พฤติกรรมของคนด้วยว่าเขาเปลี่ยนไปแค่ไหนแล้ว ยังไม่พูดถึงนักการเมืองที่ปรับตัวไปตามกติกาได้นะ จากเดิมที่เป็นเจ้าพ่อใช้เครือข่ายท้องถิ่นช่วยหาเสียง แต่มาวันนี้มันไม่ใช่แล้ว บ้านใหญ่ในท้องถิ่นเริ่มสั่งการไม่ได้แล้วนะ เพราะคนเริ่มมีความสัมพันธ์ทางตรงกับพรรคการเมืองตรงส่วนกลางมากขึ้น ตัวนักการเมืองก็ปรับตัวใหม่ แต่คนออกแบบกติกาไม่มองบริบทแบบนี้ สังคมการเมืองมันเดินไปไกลแล้ว แต่กติกาที่แบบไทยๆ มันตามไม่ทันเพราะมัวแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันอย่างเดียว
รัฐธรรมนูญ 60 อาจแก้ปัญหาตอนช่วง กปปส. ได้ก็จริง แต่คำถามคือ ในอนาคตสังคมไทยมันจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนไง เพราะนักประท้วงก็เปลี่ยนพฤติกรรมของเขาเหมือนกัน
เวลาเกิดวิกฤตการเมือง เราก็ชอบเรียกร้องอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ เรื่องแบบนี้มันก็คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ด้วยไหม
เป็นนะ เพราะคนไทยเราถูกปลูกฝังให้นึกถึงผู้นำเป็นคนๆ ไป จินตนาการเกี่ยวกับพัฒนาการเมืองของเรายังอยู่กับตัวคนที่เป็นระดับผู้นำ มันไม่ค่อยมีเรื่องราวให้เรานึกถึงผู้คนและพลังในภาพรวม เราไม่ค่อยถูกสอนให้มีจินตนาการแบบนั้น เราติดกับความเป็นบุคคลและผู้นำ มันฝังรากไปเยอะมาก เราอยู่กับโครงสร้างที่เป็นผู้นำเดี่ยวตลอดเวลา
ทำไมเวลาเจอปัญหาการเมือง หลายคนก็ชอบโหยหาให้ความเป็นไทยมันกลับคืนมา
มันไม่มีจริงๆ หรอกความเป็นไทยที่แท้จริง ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ความเป็นไทยจริงๆ มันคืออะไรไม่รู้ เพราะสิ่งที่เรามีคือไทยประดิษฐ์ ซึ่งเพิ่งถูกผลิตขึ้นมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มันเป็นปัญหาและเป็นจุดอ่อนและจุดแข็งของสังคมเรา ความเป็นไทยๆ ที่ชอบพูดกันมันเลยเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้นเอง ก่อนหน้ายุคจอมพล ป. มันไม่ค่อยเข้มข้นหรือชัดเจนเท่าไหร่
ยิ่งเราโหยหาประชาธิปไตยแบบไทยๆ กันหนักๆ มันสะท้อนได้ไหมว่าประชาธิปไตยเราไม่แข็งแรง
เวลาเราโหยหาประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในนัยยะนึงแปลว่าเราปฏิเสธประชาธิปไตยสากล แม้จะพยายามเพิ่มมูลค่าให้มันสูงขึ้น ด้วยการบอกว่า มันคือประชาธิปไตยสากลผสมกับความเป็นไทย แต่เอาเข้าจริงแล้ว เวลาบวกความเป็นไทยเข้าไป มันก็จะลดทอนความเป็นสากลอยู่ดี
เวลาบอกว่า เราต้องการประชาธิปไตยแบบไทยๆ มันแปลว่าเขาไม่อยากได้ประชาธิปไตยที่แข็งแรง แต่เพียงแค่อยากเอาเนื้อหาสาระบางอย่างออกไป แล้วเอาความเป็นไทยเข้าไปใส่แทนที่ เพื่อตอบโจทย์อำนาจของชนชั้นนำซึ่งมักเป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ถ้าตอบโจทย์ตัวเองได้ ผลพลอยได้ก็จะตกมาอยู่ที่ประชาชนในท้ายที่สุด
แต่ในความเป็นจริง มันต้องมองกลับกัน ถ้าคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์แล้วมันก็จะดีต่อตัวชนชั้นต่างหาก
มันจะมีคำพูดว่า คิดอะไรไม่ออก ก็เอาไทยๆ ไว้ก่อน แล้วปัญหามันจะจบ
นั่นหน่ะสิ แล้วคำว่าไทยๆ ที่ว่ามันคืออะไร มันคือการตามใจทำอะไรก็ได้รึเปล่า
พอเป็นแบบนี้ เราควรจัดสมดุลกันอย่างไรให้ความเป็นไทย กับความเป็นประชาธิปไตยสากลมันอยู่ร่วมกันแล้วโอเค
อันดับแรกเลยต้องให้คุณค่ากับคนไทยให้มากขึ้นก่อน ชนชั้นนำมักมองว่าประชาชนเป็นเหมือนแขกในประเทศตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราจะดูแลท่านเป็นอย่างดี อยากกินน้ำอะไรเดี๋ยวเราหามาให้ มันต้องปรับความเชื่อนี้ให้ได้ก่อน คนไทยต้องหมายความว่าประชาชนทั่วไปนะ ไม่ใช่หยิบคำว่า ไทยๆ ขึ้นมาแต่มันคืออะไรก็ไม่รู้ ที่ผ่านมาเราเรียกร้องประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีกรอบคิดเอาไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่การคิดหรือออกแบบร่วมกัน
คำว่าการเมืองแบบไทยๆ เราได้ยินกันมาบ่อยเช่นยุค จอมพล ป. แล้วอย่างนี้การเมืองไทยนิยมแบบ คสช. จะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง เหมือนหรือแตกต่างจากอดีตไหม
ไทยนิยมในแบบชนชั้นนำคือ ฉันเชื่อในสิ่งนี้และประชาชนต้องทำตาม โดยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นมันดีกับคนทุกคน ถ้ามองแบบใสๆ ไร้เดียงสา เขาก็คงจะเชื่อว่า หากทำตามแนวทางที่คิดเอาไว้แล้ว ผลประโยชน์ของชาติที่ไม่รู้ว่าคืออะไรก็จะตามมาเอง สุดท้ายแล้วประชาชนก็จะได้รับผลดีไปด้วย คิดกันมาแบบนี้เสมอ คนอย่างลุงตู่คือภาพสะท้อนที่โคตรชัดเลย
ส่วนประชาธิปไตยไทยนิยม จะคล้ายการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยป๋าเปรม แต่จะเป็นป๋าเปรมขั้นแอดวานซ์ เพราะในเชิงโครงสร้างนั้นมันถูกเซ็ตเอาไว้ใกล้เคียงแล้ว โดยเฉพาะ ส.ว.แต่งตั้งในจำนวนเยอะๆ แต่สิ่งที่เขายังคุมไม่ได้คือ ส.ส. อีก 500 คนนั้นจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งต้องวัดกันที้วันเลือกตั้ง
ผมเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า เขาอยากได้การเมืองไทยนิยมที่กลุ่มการเมืองในอำนาจตอนนี้สามารถคุมเกมได้ เขาอาจจะเป็นพรรคที่ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่เขาอยากจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะไม่ได้เป็นสไตล์ป๋าเปรมเสียทีเดียวที่ลอยตัวแล้วให้พรรคเชิญตัวมา
สมมติว่า ประชาธิปไตยไทยนิยมแบบที่ลุงตู่อยากเห็นเกิดขึ้นจริงๆ เราจะเห็นการเมืองเราเดินไปในทิศทางแบบไหน
ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม คงจะเป็นประชาธิปไตยแบบสงบราบรื่น ขัดแย้งก็ได้แต่อย่าทำให้เขารู้สึกหงุดหงิด พรรคฝ่ายค้านที่ไม่ขุดคุ้ยข้อมูลมากไป ภาคประชาชนเรียบร้อยมีระเบียบวินัย ใครอยากได้อะไรก็เข้ามาขอรัฐบาล ไม่ใช่เคลื่อนไหวประท้วงเพื่อเรียกร้องบนถนน
ถ้าประชาธิปไตยแบบไทยนิยมมันเกิดขึ้นจริงๆ มันน่าจะเป็นการเมืองที่ผู้นำไม่อยากให้มีการทะเลาะกัน โดยมีแนวโน้มสูงว่าจะมีรัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้น