สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเพิ่งได้อ่านหนังสือ China 5.0: สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI ของคุณอาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่มักจะเขียนบทความเกี่ยวกับประเทศจีนยุคใหม่ให้เราได้อ่านกันเสมอ ในหนังสือเล่มดังกล่าวก็มีส่วนที่ทำให้ผมสนใจเอามากๆ คือเรื่องการสนับสนุนธุรกิจ startup ของรัฐบาลจีน รวมถึงความพยายามในการที่จะครองตลาด AI ซึ่งพออ่านแล้วก็ได้แต่กลับมานึกถึง startup ในตลาดญี่ปุ่นที่ดูน่าเป็นห่วง
ตอนนี้จีนที่มี startup ระดับยูนิคอร์นถึง 96 บริษัท และรัฐบาลก็ทุ่มเงินไม่อั้นในการช่วยสนับสนุน startup ทั้งในด้าน R&D และด้านการขยายขนาด แถมยังส่งเสริมให้ออกไปบุกตลาดต่างประเทศเพื่อนำเอาความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาดัดแปลงและใช้กับตลาดในประเทศ เพราะความได้เปรียบเรื่องขนาดของจีนนี่น่ากลัวจริงๆ ครับ แค่ปริมาณประชากรก็มีขนาดถึง 1,400 ล้านคน และมีสมาร์ทโฟนใช้ถึง 717 ล้านคน ขนาดอเมริกาที่ว่าเป็นตลาดใหญ่ยังมีคนใช้แค่ 226 ล้านคน แค่ 1 ใน 3 ของจีนเท่านั้น ส่วนญี่ปุ่นเหรอครับ ก็มีแค่ประมาณ 63 ล้านคนเท่านั้น แค่มองจากตลาดการบริโภคในประเทศ พี่จีนก็ทิ้งกันไปแบบไม่เห็นฝุ่นแล้ว
สมัยยังเด็ก ผมมักจะเห็นโฆษณาสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกเสมอ ไม่ว่าจะการเป็นสปอนเซอร์รายการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆ หรือไม่ก็ไปสปอนเซอร์ทีมกีฬาดังๆ ขนาดรายการแข่งฟุตบอลสโมสรโลกแต่ก่อนก็ยังใช้ชื่อรายการว่า Toyota Cup เลยทีเดียว แต่ทุกวันนี้โอกาสจะได้เห็นบริษัทญี่ปุ่นไปสปอนเซอร์รายการกีฬาใหญ่ๆ ก็น้อยลง แต่ที่ตลกยิ่งกว่าก็คือ เรากลับเห็นโฆษณาของญี่ปุ่นในรายการกีฬาระดับนานาชาติที่คนญี่ปุ่นดูกันเยอะเสียมากกว่า ตัวอย่างเช่นการแข่งขันสเก็ตน้ำแข็งลีลา ที่ไม่ว่าจะแข่งที่ไหนในโลกก็เห็นแต่สปอนเซอร์ญี่ปุ่นเต็มสนามราวกับจัดรายการมาเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นดู (และที่สำคัญคือ ป้ายเป็นภาษาญี่ปุ่น!) และที่น่าคิดไปกว่านั้นคือ ญี่ปุ่นไม่มีบริษัทหน้าใหม่มาแรงที่กลายมาเป็นบริษัทระดับโลกให้เราจดจำได้เท่าไหร่นัก จนน่าสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับ startup ของญี่ปุ่น
คงต้องเล่าก่อนว่า หลังจากเศรษฐกิจรุ่งเรืองหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก บริษัทญี่ปุ่นสารพัดบริษัทก็ได้ลงทุนในที่ต่างๆ ทั่วโลก บริษัทเหล่านี้ขยายตัวใหญ่จนกลายเป็นเสาค้ำเศรษฐกิจญี่ปุ่น และในช่วงนั้นก็มีผู้ประกอบการรายย่อยหน้าใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าใครก็มองว่าช่วงเวลาที่ตลาดขยายตัวเป็นโอกาสทำเงิน ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็อยากที่จะเข้าทำงานในองค์กรที่ใหญ่โต เพราะในยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่น การได้ทำงานในบริษัทใหญ่หมายถึงการจ้างงานและสวัสดิการแบบตลอดชีวิต เข้าไปได้ก็สบาย และการทำงานก็ไม่ต่างอะไรกับระบบราชการที่พนักงานได้เลื่อนขั้นตามลำดับความอาวุโส ระบบการทำงานจากบนลงล่างทำให้พนักงานไม่ต้อง(และไม่ต้องการ)แบกรับความเสี่ยงมากนัก แค่ตามระบบไปก็สบายแล้ว พนักงานระดับบริหารก็ไม่ต้องการเสี่ยงอะไรมากเพราะอาจจะมีผลต่อโครงการเกษียณอายุตนเอง พนักงานรุ่นใหม่ก็ท้าทายหัวหน้าไม่ได้ ออกความเห็นอะไรก็ไม่ค่อยมีพลัง กลายเป็นว่าคนหนุ่มสาวก็ไม่ได้ทำงานน่าสนใจ เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ค่อยๆ ทำลายความเป็นผู้ประกอบการของพนักงานไป (ยกเว้นบางบริษัทที่ใจกว้างจนเป็นเหมือนสนามฝึกวิชาของพนักงานกินเงินเดือนที่มีเป้าหมายในการเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต) แถมค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่มักจะกลัว ‘ความผิดพลาด’ และมองเป็นปัญหาติดตัว ทำให้หลายต่อหลายคนไม่กล้าที่จะออกมาเสี่ยง เพราะกลัวว่าหากพลาดไปแล้วก็จะมีตราบาปติดตัว
แต่พอฟองสบู่แตกในปี 1989 หลายต่อหลายคนก็ต้องสูญเสียงาน แต่แทนที่จะกลายมาเป็น startup หน้าใหม่ ก็กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือหางานในบริษัทที่เล็กลงเสียมากกว่า เพราะเคยชินกับวัฒนธรรมองค์กรแบบที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากนัก
อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากฟองสบู่แตกคือ ในช่วงที่ญี่ปุ่นรุ่งเรืองและบริษัทใหญ่ออกไปเจาะตลาดโลกเพื่อสร้างรายได้ พร้อมทั้งรุกเข้าไปกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ในแผ่นดินอื่น กระทั่งตึกใหญ่ๆ ในอเมริกาก็ยังโดนญี่ปุ่นซื้อไป แต่ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของตลาดในประเทศก็ทำให้หลายบริษัทกลับไม่ได้สนใจที่จะออกไปสร้างตลาดนอกประเทศ คิดว่าแค่ขายในประเทศก็เพียงพอแล้ว จนกลายเป็นปัญหาของการไม่อยากออกไปหาตลาดใหม่ๆ ส่วนบริษัทที่มีสาขาในต่างประเทศก็มักจะส่งพนักงานที่มีอาวุโสระดับหนึ่งไปคุมงานพร้อมทั้งสวัสดิการที่ดีเหลือล้น พนักงานที่อายุงานน้อยจึงไม่มีโอกาสได้ไปผจญภัยในต่างแดนเพื่อประสบการณ์มากนัก กลายเป็นการขังตัวเองอยู่ในเกาะ ด้วยความคิดที่ว่าแค่ตลาดในประเทศก็พอแล้ว ทำให้ลืมไปว่าต่างประเทศก็สามารถเข้ามารุกได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Mixi ที่เคยเป็นสื่อโซเชียลมาตรฐานของชาวญี่ปุ่นเมื่อสิบกว่าปีก่อน (ขณะที่โลกใช้ Myspace และชาวไทยใช้ hi5 วิ้งๆ) แต่เมื่อสื่อโซเชียลของต่างประเทศที่พร้อมกว่าและทุนหนากว่าเข้ามาบุกญี่ปุ่น Mixi ก็กลายเป็นอดีตไป ปล่อยให้ Twitter ทำตลาดในญี่ปุ่นอย่างรุ่งเรือง (และมี Facebook คอยตามอยู่ห่างๆ) ขนาดที่ว่าต่อให้ Twitter มีความเสี่ยงเพราะไม่สามารถทำกำไรได้ดีพอ แต่ก็ประกาศว่าพร้อมที่จะอยู่ต่อในตลาดญี่ปุ่น ส่วน Mixi ตอนนี้ก็คงต้องอาศัยรายรับจากแอพพลิเคชั่นเกม Monster Strike แทน
ไม่ใช่แค่ความเคยชินกับการเจาะแค่ตลาดภายในประเทศ แต่ปัญหาเรื่องกำแพงภาษาก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ แม้จะเป็นประเทศแถวหน้าของโลก แต่ศักยภาพของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นก็จัดว่าตามหลังหลายๆ ชาติอยู่ ด้วยความที่มองเห็นภาษาต่างประเทศเป็นเรื่องแปลกปลอม กระทั่งเด็กรุ่นใหม่บางคนก็คิดว่าไม่จำเป็นเพราะไม่คิดจะออกจากเกาะญี่ปุ่น ทำให้การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อไปสู่ระดับสากลยังเป็นเรื่องพบได้ยากในญี่ปุ่น ตัวอย่างที่ชัดก็คงเป็นเกมยอดนิยมหลายต่อหลายเกมที่ออกเฉพาะฉบับภาษาญี่ปุ่น ไม่มีให้โหลดใน app store ต่างประเทศ จนชาติอื่นเอาระบบและรูปแบบการเล่นที่คล้ายกันไปปล่อยในตลาดสากลหารายได้แทนไปเรียบร้อย ก็ไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นมองตรงนั้นว่าเสียโอกาสหรือคุ้มค่ากว่าการที่จะต้องพัฒนาเกมเป็นภาษาอังกฤษและคอยซัพพอร์ตผู้เล่นจากต่างชาติแทน
ที่น่าตลกอีกอย่างหนึ่งคือ สำหรับคนญี่ปุ่นทั่วไปที่ไม่ได้มีความสนใจในวงการธุรกิจเท่าไหร่นัก คำว่าการเป็นนักลงทุน startup หรือที่ญี่ปุ่นเดิมมักจะใช้คำว่า ธุรกิจ venture ก็มีภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับการทำงานในบริษัทใหญ่ที่มั่นคงแล้ว เพราะเมื่อบอกว่าเป็นเจ้าของกิจการ venture ภาพที่ติดในหัวคนญี่ปุ่นก็มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยสนใจทำอะไรตามระบบ และเป็นนักลงทุนที่ละโมบ ส่วนหนึ่งก็คาดว่าเป็นเพราะพฤติกรรมของนาย Horie Takafumi อดีตนักลงทุน venture เจ้าของกิจการเว็บไซต์ Livedoor เว็บพอร์ทัลที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นในช่วงต้นยุค 2000 ที่เขาตั้งขึ้นกับเพื่อนหลังลาออกจากมหาวิทยาลัยโตเกียวกลางคัน และประสบความสำเร็จกลายเป็นเศรษฐีหน้าใหม่ที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน สตอรี่ไม่ต่างกจาก บิล เกตส์ หรือ สตีฟ จอบส์ เท่าไหร่นัก ช่วงต้นยุค 2000 ชื่อเขากลายเป็นชื่อสามัญประจำบ้าน ด้วยความกร่างและเกรียนแบบไม่แคร์ใคร ทำลายธรรมเนียมปฏิบัติของญี่ปุ่นอนุรักษนิยม แถมยังพยายามขยายธุรกิจของเขาไปในกิจการต่างๆ และลงสมัครเป็น ส.ส. อีกด้วย (แต่แพ้) จะว่าไปก็คล้ายๆ พี่ไลอ้อน มัสก์ (อีลอน มักส์ นั่นแหละ) ของเราตอนนี้ล่ะครับ
หลังจากนั้นสวรรค์ก็ล่ม เมื่อเขาโดนข้อหาปั่นหุ้นจนต้องติดคุกไปเป็นเวลาสองปี กลายเป็นที่หัวเราะเยาะของผู้คน (แต่ก็มีเสียงบอกว่า จริงๆ บริษัทใหญ่ๆ ก็ทำกัน แต่เขาโดนก็เพราะเป็นการตบเกรียนไม่ให้เด็กรุ่นใหม่หือ) กลายเป็นการปิดตำนาน startup ชื่อดังเจ้าแรกของญี่ปุ่นก็ว่าได้ ถึงทุกวันนี้เขาจะกลับมาสู่วงการธุรกิจแล้ว แต่อะไรต่อมิอะไรก็ไม่ได้เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายก็ยังคงครองตลาดของญี่ปุ่นอยู่ดี แต่ที่แน่ๆ คือภาพลักษณ์ของ startup ส่วนหนึ่งก็เสียไปเพราะพี่แกนี่แหละ ทำให้คนญี่ปุ่นทุกวันนี้ก็ยังมอง startup ด้วยสายตาไม่ไว้วางใจอยู่ดี
โชคยังดีที่อย่างน้อยรัฐบาลของ Abe Shinzo เข้าใจถึงความสำคัญของ startup และพยายามจะผลักดันให้เป็นหนึ่งในหัวหอกที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจของชาติ แต่ปัญหาก็คือ เวลามีอะไรเป็นประเด็นแบบนี้ ทุกคนก็จะเฮโลประโคม buzzword ซ้ำๆ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ <คำที่มีคนเคยพูดไว้และนิยมนำมาใช้ เช่น “คิดนอกกรอบสิ”> ทุกคนพูดเรื่อง startup แต่ก็ไม่รู้จะปั้นกันออกมายังไง แถมเมื่อมองงบประมาณรัฐที่เทลงไปตรงนี้แล้วก็ได้แต่ปาดเหงื่อ เพราะญี่ปุ่นเจียดงบประมาณสนับสนุน startup ปีละ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ฟังดูเยอะ แต่เมื่อหันไปดูจีนที่สนับสนุนปีละ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และสหรัฐอเมริกาที่เทงบถึงปีละ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯแล้ว ก็ได้แต่คิดว่าญี่ปุ่นจะเอาอะไรไปสู้กับเขา และหากจะพัฒนาเรื่องระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ก็คงต้องหนักใจเมื่อจะสู้กับประเทศจีนที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่กว่าในระดับมหาศาล เพราะตอนนี้จีนก็เน้นระบบสังคมไร้เงินสดและทำธุรกรรมต่างๆ ผ่าน WeChat และ Alipay กันแล้ว ซึ่งในการพัฒนา AI ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของระบบมากเท่านั้น ญี่ปุ่นที่ประชาชนรักความเป็นส่วนตัวของข้อมูลกันมากก็กลายเป็นผลเสียต่อการพัฒนาตรงนี้ไปเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว ปัญหาการไม่ค่อยเป็นมิตรกับนักลงทุนชาวต่างชาติก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง
ถ้ามองไปที่วงการ startup ในอเมริกา คนทำงานเกือบครึ่งเป็นชาวต่างชาติที่มีทักษะสูง ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้ง Google หรือ Whatsapp แต่การจะหาชาวต่างชาติในวงการ startup ในญี่ปุ่นก็จัดว่าเป็นเรื่องยากเพราะติดกำแพงสำคัญคือ ‘วีซ่าทำงาน’ เพราะที่ผ่านมาถ้าคุณอยากจะทำงานในญี่ปุ่นก็ต้องหาผู้จ้างงานและเข้าทำงานตามที่ระบุในเอกสาร หากคุณเปลี่ยนงานไปสายงานอื่นก็มีโอกาสที่คุณจะไม่ได้รับการต่ออายุวีซ่า กลายเป็นกำแพงกันชาวต่างชาติที่อยากไปหาโอกาสในญี่ปุ่น แม้ล่าสุดจะมีความพยายามจัดวีซ่าชนิดพิเศษอายุ 6 เดือนเพื่อให้เตรียมตัวในการตั้งบริษัทที่ญี่ปุ่น แต่ปัญหาก็คือเวลาอยู่ดี เพราะกว่าที่จะได้วีซ่าเหล่านี้ก็ต้องผ่านขั้นตอนการขอวีซ่าที่จุกจิกและกินเวลานาน กว่าจะขอวีซ่าได้ เงินทุนก็หมดกับการใช้ชีวิตรอวีซ่าไปก่อน ทำให้คนมีโอกาสเข้าไปเป็น startup ในญี่ปุ่นน้อย ญี่ปุ่นจึงขาดมุมมองจากต่างชาติที่อาจจะสังเกตเห็นในสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นไม่เห็นมาก่อน ตัวอย่างก็เช่นระบบธนาคารของญี่ปุ่นที่ระบบออนไลน์จัดว่าล้าหลังหลายต่อหลายชาติ จนมีนักธุรกิจชาวออสเตรเลียที่เคยทำงานในญี่ปุ่นเห็นช่องทางพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อมาจัดการระบบเหล่านี้ได้
ถึงจะฟังดูแล้วชวนหดหู่แต่อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสอยู่บ้างครับ อย่างน้อยญี่ปุ่นเองก็มี startup ระดับยูนิคอร์นเจ้าแรก เมื่อแอพพลิเคชั่นขายของมือสองชื่อดัง Mercari สามารถปั้นตัวเองจนมูลค่าบริษัทเกินพันล้านเหรียญสหรัฐฯ และไปเจาะตลาดในอเมริกาได้ รวมถึงแอพพลิเคชั่น Smart News ที่รวมข่าวต่างๆ มาให้อ่านก็ออกเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษและเป็นที่น่าจับตามองเช่นกัน และโอกาสที่สำคัญของญี่ปุ่นคือ ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นสังคมสูงอายุก่อนประเทศอื่น ดังนั้นหากพัฒนา startup เกี่ยวกับตลาดตรงนี้ได้ก่อนก็มีโอกาสที่จะนำเอาเทคโนโลยีในเซกเตอร์นี้ไปขายต่อในตลาดต่างชาติที่กำลังกลายเป็นสังคมสูงอายุในภายหลังเช่นกัน แต่ตรงนี้ก็แล้วแต่ว่าเขาจะปรับตัวได้ทันรึเปล่านะครับ
คงต้องลุ้นกันว่าต่อไปว่าญี่ปุ่นจะมีบริษัทระดับโลกเจ้าใหม่หรือไม่ หลังจากที่โลกคุ้นกับชื่อ โตโยต้า ฮอนด้า แคนนอน โซนี่ หรือนินเทนโด้ กันมาหลายต่อหลายปีและไม่เห็นมีชื่อใหม่มาชาวโลกได้รู้จักมานานแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก