แม้จะผ่านมาแล้วหลายยุค หลายสมัย หนึ่งในสิ่งที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ถูกผู้คนบางกลุ่ม ‘แปะป้าย’ อยู่เสมอ คือการบอกว่าพวกเขาเป็นเด็กหัวรุนแรง บ้างก็ว่าพวกเขาไม่รักชาติบ้านเมือง หรือบางทีก็โดนข้อครหาประมาณว่า “เด็กธรรมศาสตร์ถูก…ซื้อไปแล้ว” (คำในช่องว่างสามารถเปลี่ยนชื่อเป็นนักการเมืองไปได้ตามยุคสมัย)
เช่นเดียวกับในช่วงหลังๆ มานี้นักศึกษาธรรมศาสตร์ถูกกลุ่มการเมือง หรือสื่อมวลชนบางสำนัก ระบุตัวตนว่าพวกเขาถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือ
ด้วยความสนใจว่า พวกเขาจะคิดอย่างไรกับภาพลักษณ์ที่มักถูกมองเช่นนี้ Young MATTER จึงชวนนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นปัจจุบันและศิษย์เก่าหลายๆ คนมาคุยกัน
เด็กธรรมศาสตร์คิดอย่างไรกับความเชื่อว่า ‘เด็กธรรมศาสตร์หัวรุนแรง’
พราว นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนชั้นปีที่ 4 มองว่าการแปะป้ายเช่นนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่านิยมของสังคมไทยที่ไม่ชอบการเผชิญหน้า
“ถ้าการแสดงออกทางความคิดคือหัวรุนแรง เราว่าสังคมต่างหากที่รุนแรงกับธรรมศาสตร์ คือมันแค่รุนแรงในมาตรฐานคนไทยในสังคมถนอมน้ำใจ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแต่ต่อว่าลับหลังแบบนี้หรือเปล่า ซึ่งถ้าลองเทียบกับต่างประเทศ การแสดงออกทางความคิดอย่างอิสระไม่เห็นจะเป็นเรื่องรุนแรงตรงไหน เพราะการถูกจำกัดความคิดเป็นความรุนแรงมากกว่าอีก
“ถ้าเด็กธรรมศาสตร์ถูกมองว่าหัวรุนแรง เพราะแสดงออกจนเกินพอดีในความรู้สึกของสังคมไทย งั้นเราว่านักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยก็หัวรุนแรงหมดแหละ เพราะช่วงวัยเรานี่ใกล้จะเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว แต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง เพียงแต่ถูกสังคมที่ตัวเองอยู่จำกัดให้แสดงออกได้มากน้อยแตกต่างกันไป แล้วธรรมศาสตร์ก็ให้พื้นที่นักศึกษาได้พูดได้ตระหนักรู้ในสิทธิการแสดงออกของตัวเอง จนไประคายหูคนอื่นเขาเท่านั้นเอง”
ส่วน รีนา ทันตแพทยศาสตร์ ปี 5 ชวนเราคิดถึงนิยามของคำว่า ‘หัวรุนแรง’ ในอีกมุมหนึ่ง เธอเชื่อว่า สิ่งที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ยึดมั่นไว้ คือการแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างตรงๆ และคิดเองได้อย่างที่เป็นอิสระ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่สังคมภายนอกมองว่านอกกรอบเกินไป จนติดป้ายให้กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่าหัวรุนแรง
“คำว่าหัวรุนแรงนี่เราตีความหมายไปในเชิงใช้กำลังหรือทำอะไรรุนแรง แต่สิ่งที่เด็กมธ.ทำส่วนใหญ่คือแสดงความคิดเห็นออกมาตรงๆ คิดได้อย่างอิสระ ทุกคนมีสิทธิ์คิดต่างกันได้ อาจารย์สอนให้เราได้คิด ได้ตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณเวลารับสารต่างๆ ไม่มีถูกผิด ซึ่งมันต่างกับสังคมภายนอกที่เหมือนตีกรอบว่าต้องคิดแบบนั้นต้องคิดแบบนี้
“พอความคิดเห็นของเด็กธรรมศาสตร์ไม่ตรงกับสังคมภายนอกที่คาดหวังไว้ แถมยังเป็นอะไรที่ตรงเผง เลยทำให้ดูรุนแรงมั้งคะ” รีนา อธิบาย
สิ่งที่รีนาคิด ค่อนข้างสอดคล้องกับออมสิน นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ ปี 3 ที่เชื่อว่า “เด็กธรรมศาสตร์ค่อนข้างที่จะมีเสรีภาพทางความคิด ค่อนข้างกล้าที่จะพูด หรือแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เพราะเราไม่ถูกตีกรอบด้วยอะไรเลย นั่นทำให้เรามีภูมิในเรื่องการยอมรับในความแตกต่างนั้นด้วย สำหรับเรา เรามองว่าเนี่ยแหละคือเสน่ห์ของพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยที่ธรรมศาสตร์มี ไม่ใช่หัวรุนแรง” ออมสิน ระบุ
“ในขณะที่เด็กธรรมศาสตร์บางกลุ่มอินการเมืองจัดหรือแสดงความเห็นต่อประเด็นสาธารณะตลอดเวลา ก็ยังมีเด็กธรรมศาสตร์อีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้สนใจการเมืองขนาดนั้น” ทีม ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์เล่าให้เราฟังถึงความหลากหลาย และระดับความสนใจทางการเมืองที่นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีไม่เหมือนกัน
“เด็กธรรมศาสตร์ถูกมองว่าหัวรุนแรง ก็เพราะเขาสนใจการเมือง มายาคติชนิดนี้ผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์การเมือง แล้วมันก็โยงมาหาปัจจุบันว่า ‘เด็กธรรมศาสตร์ก็เหมือน 14 ตุลาแหละ เหมือน 6 ตุลาแหละ’ แต่ทีนี้บริบทมันเปลี่ยน ผมคิดว่าเด็กธรรมศาสตร์ไม่ได้หัวรุนแรง ในแง่ที่ว่า มันเป็นการเหมารวม ผมว่า เด็กมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็ไม่ได้สนใจการเมือง หรือ ‘หัวรุนแรง’ น้อยไปกว่าเด็กธรรมศาสตร์ แค่มายาคติที่ฝังหัวคนไทยคือ เด็กธรรมศาสตร์เท่ากับเด็กการเมือง ความเชื่อดังกล่าวอยู่กับสังคมไทยตลอดเวลา” ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจ
วิเคราะห์ วิพากษ์ ตั้งคำถาม การหล่อหลอมตัวตนแบบธรรมศาสตร์
แล้วคิดว่าเพราะอะไรคนจึงเชื่อเช่นนั้น? คืออีกหนึ่งคำถามที่ Young MATTER ลองชวนพวกเขาขยับขยายประเด็นการสนทนา
พราว ตอบว่า มันคงเป็นเพราะประวัติเรื่องกิจกรรมทางการเมือง การชุมนุมประท้วง การลงถนนสมัยเหตุการณ์เดือนตุลา และอีกหลายเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ ‘มีซีน’ ในสังคม เพราะบางคนคงมองว่า มหาวิทยาลัยควรจะเป็นแค่สถานศึกษา และไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
“เพราะมันคงจะหลุดกรอบหรือความคิดที่มีต่อสถาบันการเรียนในความคิดของคนไทยถึงมีวาทกรรมธรรมศาสตร์หัวรุนแรงออกมาเพื่อผลักให้ธรรมศาสตร์กลายเป็นสถานบันผิดแผกจากที่อื่น เมื่อแปลกกว่า อคติก็มีมากกว่าตามไปด้วย” พราว ระบุ
ส่วนกุ๊งกิ๊ง นักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปี 4 มองว่า สังคมไทยอยู่ในลักษณะที่ ‘เพิกเฉย’ ต่อปัญหามานาน เมื่อมีนักศึกษาหรือคนรุ่นต่างๆ ในอดีตออกมาเคลื่อนไหว นี่จึงอาจจะกลายเป็นสิ่งที่คนนอกติดป้ายว่ากลุ่มนักศึกษาเหล่านี้มีนิสัยที่รุนแรง “อาจเป็นเพราะรุ่นพี่ ประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่แสดงออกถึงการต่อสู้ของประชาชนต่อความอยุติธรรมของประเทศ เช่น เหตุการณ์ลานโพธิ์ที่ท่าพระจันทร์ รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างจะมีเด็กสายสังคมเยอะด้วยมั้ง ส่วนการที่คนนอกมองว่าเด็ก มธ.หัวรุนแรง เค้าอาจจะมองว่าทำไมมีอะไรต้องแสดงออกมากมายกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรามองว่าสังคมไทยมันเป็นสังคมแห่งการเพิกเฉย”
ขณะที่ กานต์ นักศึกษาชั้นปี 4 อีกคนหนึ่ง ชวนพวกเราตั้งคำถามกับการเหมารวมเช่นนี้ เขาคิดว่าที่การเหมารวมมันประสบความสำเร็จก็เพราะว่ามันง่ายที่จะทำเช่นนั้น แต่ถ้าหากคนในสังคมมีข้อมูลที่ประกอบจากทั้งข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นโดยเรามีวิจารณญาณในการเสพสื่อกันมากขึ้น เราก็จะหลุดจากกับดักการเหมารวมไม่ว่าจะเป็นการเหมารวมธรรมศาสตร์ เหมารวมจุฬาฯ เหมารวมกองเชียร์พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้
แม้ภาพลักษณ์หัวรุนแรงจะถูกแปะไว้จากคนบางกลุ่มในสังคม แต่ดูเหมือนว่า ยูจีน ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ เลือกที่จะสนใจกับคำว่า ‘ดื้อ’ มากกว่า
“สำหรับผม คุณูปการอย่างหนึ่งของธรรมศาสตร์คือ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกที่ไม่ได้สอนชุดความคิดแบบกระแสหลัก ดังนั้น ถ้าธรรมศาสตร์หายไป สายธารความคิดในหลายๆ สายวิชาก็จะหายไปด้วย
“พูดง่ายๆ คือ ธรรมศาสตร์สอนให้เราดื้อนี่แหละ แต่ประเด็นคือสังคมไทยต้องการเด็กดีมากกว่าเด็กดื้อ เด็กดีในนิยามของไทยคือ เด็กที่เชื่อโดยไม่ต้องคิด ซึ่งมันทำให้องค์ความรู้ทั้งหมดอยู่ที่เดิมและร่วงหล่นไปตามกาลเวลา จนสุดท้ายไม่เหลืออะไร หรือถ้าเหลือ ก็เหลือเท่าเดิม ไม่มีอะไรเพิ่มมาใหม่ ความดีแบบไทยคือ คุณต้องเชื่อ คุณต้องห้ามตั้งคำถาม คุณต้องเดินตามผู้ใหญ่ หมาจะได้ไม่กัด”
ไม่ว่าภาพลักษณ์การเป็นคนหัวรุนแรงนั้นจะจริงหรือไม่จริง นันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มองว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดภาพแบบนี้ อาจเป็นเพราะสถาบันแห่งนี้ได้สอนให้พวกเขาได้คิดวิพากษ์ วิเคราะห์ และเชื่อสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล
นันท์ เล่าให้เราฟังว่า “การที่คนมองว่า ‘เด็กธรรมศาสตร์หัวรุนแรง’ อาจเป็นเพราะที่นี่สอนให้เราวิพากษ์ วิเคราะห์ และเชื่ออย่างมีเหตุผล ซึ่งการเรียนรู้ทั้งสามอย่างนี้ทำให้เราสามารถตั้งคำถามกับนิทานประจำรัฐของรัฐไทย ที่พยายามทำให้เราเชื่อโดยห้ามตั้งคำถาม การที่เราหยิบยกประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม หรือไม่ปกติขึ้นมาวิพากษ์และวิเคราะห์ จึงกลายเป็นว่าเรา ‘หัวรุนแรง’ ทั้ง ๆ ที่การแสดงออกของเราอยู่บนฐานของเหตุผลและหลักวิชาการ ไม่ใช่อารมณ์หรืออย่างใด
“การที่เรามีเหตุผลจะทำให้เราไม่ถูกชักจูงได้ง่าย ๆ อย่าง กปปส. ปี 57 เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางส่วนของคนที่ออกมาติดธงชาติและเป่านกหวีดกันเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ออกมาร่วมชุมนุมที่ไม่ได้ออกมาเพราะหลักการแต่เพราะกระแสสังคมหรือการปลุกระดมในช่วงนั้น แต่เราอย่าลืมนะครับว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วดูสิครับ สุดท้าย การเมืองที่เกิดจากอารมณ์เหนือเหตุผลนำเราไปสู่อะไรใน 5 ปีที่ผ่านมา?”
เสรีภาพและอนาคต : มองให้ไกลกว่าแค่ธรรมศาสตร์
“ไม่ได้คาดหวังอะไรใหญ่โต และไม่คิดว่าตัวเองมีที่ทางอะไรที่จะฝาก ทุกวันนี้ไม่เชื่อคำพูดที่บอกว่าชีวิตเรา เรากำหนดเอง หรือคำพูดที่บอกว่าเราเป็น ผู้รับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา เพราะการมัวแต่คิดอย่างนี้จะทำให้เราลืมปัญหาเชิงโครงสร้างและมัวแต่โทษตนเองและคนธรรมดาๆ จนลืมไปว่ามันมีปัญหาอะไรที่ครอบทับเราอยู่” กานต์ นักศึกษาปี 4 ตอบคำถามว่า เมื่อถูกมองและแปะป้ายเช่นนั้น เขาอยากจะบอกอะไรกลับไปสังคม
เขาเชื่อว่าไม่อยากให้สังคมภายนอกมองธรรมศาสตร์เป็นตัวแทน ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย
“เราไม่ควรมองว่าธรรมศาสตร์เป็นตัวแทนของคนกลุ่มเดียวที่ต้องการจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าในประเทศไทยเพราะก็ยังมีสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่พยายามผลักดันเรื่องเหล่านี้ และจริงๆ คนที่อยู่นอกสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาปริญญาตรีเองก็สามารถผลักดันเรื่องเหล่านี้ได้”
ด้านรีนา ขยายประเด็นนี้ว่า “ไม่อยากให้คนไทยหมดหวัง อย่างที่เพิ่งผ่านมานี้เราได้เห็นคนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มมองเห็นความสำคัญของการเมือง เราคิดว่าตรงนี้คือสิ่งที่ดีมากๆ เลย ความคิดความเห็นที่ต่างจะช่วยให้เราได้ถกเถียง อภิปรายและได้มองเห็นประเด็นที่อาจตกหล่นไปได้ เหมือนมีหลายสมองช่วยกันคิดช่วยกันออกความเห็น
“ท้ายที่สุดเราก็จะสามารถพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขมันได้ ไม่ใช่ว่าความคิดหรืออำนาจเบ็ดเสร็จตกอยู่ในมือคนใดคนหนึ่ง และก็ไม่อยากให้สังคมมองว่าความคิดความเห็นที่ต่างคือความวุ่นวาย มันมีการแสดงออกแบบสันติวิธี ไม่ใช้อาวุธหรือกำลัง และการตอบสนองต่อการแสดงออกนั้นก็ควรทำอย่างสันติวิธีเช่นกันค่ะ”
ความหวังที่อยากเห็นนักศึกษาที่กล้าตั้งคำถามกับสังคม ได้รับการยอมรับและไม่ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งผิดปกติ คือเรื่องที่ทีมอยากเห็นว่าเกิดขึ้นจริงๆ ในอนาคต
“ผมอยากอยู่ในสังคมที่เด็กหัวรุนแรงก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นเด็กปกติทั่วไป เขาไม่ได้จ้องจะอาฆาตแค้น หรือไม่ได้ต้องการจะรื้อถอนโครงสร้างใดๆ ของสังคมไทย แต่เพียงแค่เขาอยากตั้งคำถามแล้วก็อยากเห็นสังคมไทยที่เขารักดีกว่าเดิม ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่เขาเรียกร้องก็แค่ความยุติธรรม ก็แล้วทำไมสังคมถึงมาไกลได้เท่านี้? ก็แล้วทำไมสังคมไทยไม่ไปให้ไกลอย่างที่ควรจะเป็นทั้งๆ ที่เราก็มีศักยภาพ?”
สอดคล้องกับบี หนึ่งในศิษย์เก่าจากธรรมศาสตร์ “สังคมเรามีเด็กดีมากเกินไปแล้ว เราต้องการเด็กดื้อ แค่ตั้งคำถาม หลายๆ คนมักพูดว่าคำถามสำคัญกว่าคำตอบ เพราะการที่คุณจะตั้งคำถามได้ คุณต้องจับประเด็นได้ ต้องเข้าใจเรื่องมาระดับหนึ่ง ต้องมองเห็นภาพจนนำไปสู่การตั้งคำถามได้ ดังนั้นไม่ต้องกลัวการตั้งคำถาม”
จากการพูดคุยกับหลายๆ คน เราคงอาจจะนิยามเด็กธรรมศาสตร์ในความหมายของ ‘เด็กดื้อ’ ที่พร้อมจะตั้งคำถามกับทั้งรัฐและคุณค่ากระแสหลักบางอย่างที่มีอยู่ในสังคมไทย และน่าจะชวนให้พวกเราได้ย้อนกลับมาคิดกับตัวเองเหมือนกันว่า
แล้วพวกเราล่ะ พร้อมจะเป็นเด็กดื้อ หรือระบบการศึกษาไทย สนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นเด็กดื้อมากพอหรือยัง?