ใกล้ช่วงปีใหม่เข้าไปทุกที เป็นเวลาที่คนเราจะตื่นเต้นกับการลิสต์ New Year’s Resolution หรือสิ่งที่อยากจะทำให้สำเร็จในปีหน้า แต่ก่อนจะถึงช่วงเวลานั้นทำไมความรู้สึกมันช่างสวนทางกันเหลือเกิน เพราะสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จในปีนี้ยังไปไม่ถึงไหนเลย ทำให้ยิ่งใกล้สิ้นปีมากเท่าไหร่ยิ่งรู้สึกเหนื่อยและไม่อยากทำอะไรมากขึ้นไปอีก…
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
(แต่ก็ต้องทำต่ออยู่ดี เพราะ บ.ก. เร่งมาแล้ว น้ำตาไหล)
พอรู้ว่าช่วงวันหยุดยาวใกล้จะมาถึง จึงทำให้หลายคนคิดข้ามช็อตไปแล้วว่าตัวเองกำลังจะได้หยุดพักผ่อนหรือไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง แต่พอดีดนิ้วเรียกสติกลับมาที่ปัจจุบัน ดันมีงานและภาระที่รอให้สะสางจนล้นมือไปหมด แถมยังพ่วงมาด้วยความกดดันว่าต้อง ‘ทำให้เสร็จ’ ภายในปีนี้อีก เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยโหลดงานและความเครียดจำนวนมหาศาล
“เห้อ”
อาจเรียกได้ว่าเป็น quote คำพูดติดปากประจำปีของใครบางคน ที่แม้แต่จะถอนหายใจยังขอแค่สั้นๆ เลย เพราะตอนนี้ไม่ได้แค่รู้สึกเหนื่อยหรือเกิดอาการขี้เกียจธรรมดาๆ แล้ว แต่มันคือ ‘ภาวะหมดไฟช่วงสิ้นปี’ หรือ ‘the end of the year burnout’ ที่มีอยู่จริง
สิ้นปีทีไร หมดไฟทุกที
เดิมแล้วภาวะหมดไฟ (burnout) เป็นปรากฏการณ์ทางอาชีพ (occupational phenomenon) ที่มาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน โดยองค์การอนามัยโลกเห็นชอบให้เป็นโรคภัยที่คุกคามชีวิตคนทั่วโลก ซึ่งจะทำให้มนุษย์วัยทำงานเกิดอาการหมดเรี่ยวหมดแรง รู้สึกในแง่ลบต่องาน ไปจนถึงประสิทธิภาพการทำงานลดลงในที่สุด
แม้ภาวะหมดไฟที่เรากำลังพูดถึงจะไม่ต่างไปจากภาวะหมดไฟทั่วไปที่เกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ แต่ด้วยความที่ใกล้ช่วงเวลาสิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่หลายๆ งานจะมากองในตอนนี้หมด ไม่ว่าจะเป็นงานปัจจุบัน งานเมื่อต้นปี งานเมื่อกลางปี หรืองานเมื่อเดือนที่แล้ว จึงทำให้ภาวะนี้เกิดขึ้นในช่วงใกล้สิ้นปีได้ง่ายกว่าช่วงอื่นๆ
อแมนด้า กอร์ดอน (Amanda Gordon) รองศาสตราจารย์และผู้อำนวยการ Armchair Psychology อธิบายว่า “อาการนี้เกิดจากการที่พวกเขารู้ว่ากำลังจะเข้าใกล้วันหยุด แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่ามีทั้งความความคาดหวังและความกดดันรออยู่ เนื่องจากต้องทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จก่อนเวลานั้นมาถึง ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากๆ กว่างานต่างๆ จะจบลง”
เฮอร์แมนน์ ลีเบนเบิร์ก (Hermann Liebenberg) นักจิตวิทยาที่เซนจูเรียน ประเทศแอฟริกาใต้ อธิบายว่า ภาวะหมดไฟช่วงสิ้นปีนี้มีอยู่จริงและเป็นเรื่องปกติ โดยคนที่เผชิญกับภาวะนี้จะรู้สึกหรือมีอาการอ่อนเพลียในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเป็นส่วนใหญ่
“ช่วงเวลาการแข่งขันสำหรับปีนี้จะสำเร็จก็ต่อเมื่อ
คุณทำมันอย่างเต็มที่และดีที่สุดแล้วต่างหาก”
ดร.เฮอร์แมนน์เสริมว่า ทางที่ดีคือให้พยายามโฟกัสไปที่สิ่งที่เราทำ ‘สำเร็จ’ ไปแล้วในปีนี้ว่าแต่ละเรื่องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากยังไงบ้าง เพราะหลายครั้งเรามักจะหลงลืมความสำเร็จไป และสนใจแต่เรื่องที่ทำให้ผิดหวัง ซึ่งมันจะส่งผลต่อสุขภาพจิตและความมั่นคงทางอารมณ์อย่างแน่นอน
เพราะหมดไฟ จึงทำให้หมดใจไปด้วย
สาเหตุที่ไม่อยากให้คิดไปเองว่าอาการตอนนี้เป็นแค่ความเหนื่อยล้าหรือความขี้เกียจนั่นก็เพราะว่า ภาวะหมดไฟ มักจะมาแบบที่เราไม่รู้ตัว และกว่าจะยอมรับว่าตัวเองเผชิญภาวะนี้อยู่ก็สายเกินไปเสียแล้ว
ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากภาวะหมดไฟสามารถเกิดขึ้นได้กับชีวิตเราในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ‘ด้านสุขภาพ’ ที่เมื่อเครียดหรือกดดันมากๆ ก็จะก่อให้เกิดอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว หากเป็น ‘ด้านจิตใจ’ ก็จะส่งผลให้นอนไม่หลับ สิ้นหวัง และท้อแท้ ซึ่งในระยะยาวอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ มากไปกว่านั้นคือ ‘ด้านการทำงาน’ เพราะเมื่อเราเกิดความเครียดจากคิดงานไม่ออก ทำอะไรไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดการขาดงานบ่อย ลางานบ่อย มาทำงานสาย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไปจนถึงขั้นคิดอยากลาออกไปเลย เพราะรู้สึกหมดใจที่จะทำงานต่อแล้ว
ดังนั้น การรู้ตัวเร็วก็จะช่วยให้เราเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงทีด้วย
ถึงไฟหมดไป ก็เติมใหม่ได้
ถ้าหากเรื่องนี้เกินจะรับมือไหวหรือผ่านไปไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว ขั้นตอนแรกเลยก็ขอแนะนำให้ลองไปปรึกษาแพทย์ จิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัด แต่จถ้าจองคิวไม่ได้จริงๆ อาจลองทำตามวิธีของ ดานา แทดมอร์ (Dana Tadmor) ที่ปรึกษาประจำเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ที่ให้เราลองตั้งสมาธิไปที่ 3 สิ่ง ดังนี้
ร่างกาย ปลีกตัวออกจากหน้าคอมหรือกองเอกสารแล้วไปสนุกกับกิจกรรมข้างนอกบ้าง อาจจะเป็นกีฬาหรือการออกกำลังกายที่ต่างไปจากชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความสนุกและน่าตื่นเต้นให้กับชีวิต พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะจะทำให้เรามีพลังงานและมีสมาธิกับงานได้ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย อาจลองคำนวณจากน้ำหนักดูก็ได้ว่าควรจะดื่มประมาณไหน จากนั้นก็พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน โดยพยายามนอนให้ตรงเวลาเดิมทุกคืน และที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนที่มากจนเกินไป เพราะสิ่งเหล่านั้นนอกจากจะไม่ช่วยให้ความอ่อนเพลียลดลงแล้ว ยังสามารถเพิ่มความเครียดให้มากกว่าเดิมอีกด้วย
จิตใจ แม้ภาระงานตรงหน้าจะเยอะแค่ไหน แต่ก็ควรกล่อมตัวเองให้ทำงานอย่าเกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน หรือทำเท่าที่ทำไหวก็พอ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต ช่วงเวลาเที่ยงอย่าลืมที่จะกินข้าวเที่ยงเป็นอันขาด เพราะจะช่วยให้อีกครึ่งวันที่เหลือของเราสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียงลำดับความสำคัญว่าอะไรควรมาก่อนมาหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องสังคม อาจจะทำโดยการนั่งลิสต์รายการสิ่งที่ต้องทำ และเมื่อทำเสร็จก็ขีดออกทีละข้อๆ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะบางครั้งหากเรามองไม่เห็นภาพ เราอาจจะคิดไปไกลว่าจริงๆ แล้วเรามีอะไรหลายอย่างต้องทำเต็มไปหมด ทั้งๆ ที่มีอยู่แค่ไม่กี่อย่าง จนเกิดอาการว้าวุ่นในจิตใจได้
นอกจากนี้ ควรรักษาสุขภาพจิตของตัวเองด้วยการระงับอารมณ์ที่ไม่ดีต่อคนรอบข้างอย่างเพื่อนร่วมงาน เข้าใจว่าบางทีคนอื่นก็ชอบหาเรื่องให้เราหงุดหงิด แต่ถ้าจิตใจขุ่นมัว จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานขุ่นมัวลงไปด้วยเช่นกัน
จิตวิญญาณ อาจจะดูเป็นนามธรรมไปนิดแต่จิตวิญญาณลึกๆ นั้นสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราได้เหมือนกัน ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันและมีความสุขกับสิ่งตรงหน้าได้ ก็จะทำให้เราเลิกคิดวิตกกังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือความผิดพลาดในอดีตที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งเราไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปแก้ไขได้ เพราะฉะนั้น หากิจกรรมสนุกๆ ทำเพื่อให้จิตโฟกัสอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด อาจจะเป็นการติดต่อเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน เพื่อมานั่งพูดคุย ถามไถ่ หรือออกไปเที่ยวสนุก ดื่มด่ำกับความสวยงามที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว เช่น ออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ เล่นน้ำที่ทะเล หรือปีนเขาตั้งแคมป์ก็ได้ สำหรับใครที่มีแฟนหรือคนรัก ก็ถือเป็นการเพิ่มสีสันให้กับชีวิตคู่ไปในตัว ด้วยการหากิจกรรมผจญภัยทำร่วมกัน
จำไว้ว่า สิ่งที่เราเลือกสนใจหรือโฟกัสจะเป็นตัวกำหนดอารมณ์ของเราในช่วงวันหยุดที่จะถึงนี้ เพราะฉะนั้น ‘รักและใจดี’ กับตัวเองเข้าไว้ล่ะ อะไรที่ปล่อยวางได้ก็ปล่อยวางบ้าง
เช่นตอนนี้ ปิดจบเลยได้มั้ยคะ? คิดไม่ออกแล้ว ขอไปพักเลยละกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก