คำสบประมาทคือแรงกระตุ้นที่ดีที่สุด – แกรี่ เวย์เนอร์ชัค
โควตสร้างแรงบันดาลใจที่เห็นกันบ่อยๆ จากแกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) นักการตลาดออนไลน์ผู้ประสบความสำเร็จ ที่มักจะทำให้เราเชื่อว่า คำพูดคำจาที่ไม่ดีจากคนอื่น ก็เปรียบเสมือนแรงกระตุ้นหรือแรงผลักดันให้เราพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
หากมองในแง่ของการเอาตัวรอด มันก็เป็นวิธีคิดที่ดีมากทีเดียว เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถควบคุมความคิดหรือคำพูดของใครได้ จึงจำเป็นจะต้องมาปรับแก้ที่ตัวเอง พยายามมองโลกในแง่ดี คิดว่าคำดูถูก คำเหยียดหยาม หรือคำต่อว่าเหล่านั้นก็เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการขับเคลื่อนชีวิต
แต่เชื้อเพลิงก็คือเชื้อเพลิง ความร้อนของมันก่อให้เกิดความเจ็บปวด แสบร้อน และไม่ใช่ทุกคนจะแข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันพอจะที่ต้านทานไหว ซึ่งถ้าหากวันหนึ่งรู้สึกมอดไหม้เอามากๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ
เหตุการณ์นี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เรื่อยๆ หากใครพอจะนึกออก เด็ก ม.6 ฆ่าตัวตายหลังถูกล้อว่าอ้วน เด็กชายวัย 14 ปี ก็จบชีวิตในสวนหลังบ้านเมื่อถูกญาติต่อว่าเรื่องเรียนไม่เก่ง เด็กชายอเมริกาวัย 12 ปีฆ่าตัวตาย เพราะถูกเพื่อนร่วมห้องล้อเรื่องเป็นเชียร์ลีดเดอร์ และข่าวอีกมากมายเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุมาจากการน้อยเนื้อต่ำใจ ถูกพูดจาไม่ดีใส่ หรือบางคนอาจจะนึกขึ้นมาได้ลางๆ ว่าตัวเองก็เคยโดนกระทำแบบนี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเป็นผู้โชคดีที่สามารถผ่านมันมาได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เองที่เป็นผลพวงมาจากการต่อสู้กับเชื้อเพลิงไม่ไหวในที่สุด
ในประเทศไทย เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ เพราะปี พ.ศ. 2559 พบว่า มีวัยรุ่นพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จแล้วอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้วิเคราะห์สาเหตุการฆ่าตัวตาย โดยหลักๆ แล้วมาจากปมการถูกล้อ ไม่ว่าจะเรื่องรูปร่างหน้าตาหรือการเรียน ที่ส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไร้ความสามารถ ไม่มีประโยชน์ จนเผชิญกับภาวะซึมเศร้าในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ที่ต้องเจอกับความกดดันจากคนในครอบครัว
อาจจะดูเหมือนว่าพวกเขาอ่อนแอและไม่มีความอดทนมากพอ แต่อย่าลืมว่าคำพูดไม่ดีมีฟังก์ชั่นคือการให้พลังงานลบเท่านั้น มันคือการคุกคามทางด้านจิตใจไม่ต่างไปจากการบูลลี่ชนิดอื่นๆ และไม่มีใครสมควรได้รับการกระทำเหล่านั้น หรือบางครั้งที่รู้สึกว่าผู้พูดอาจจะมีเจตนาดีก็ได้ จึงใช้คำพูดแรงๆ แกมเหยียดหยามต่อคนอื่นให้เจ็บช้ำน้ำใจแล้วเอาไปพัฒนาตนเอง แต่คำว่าติเพื่อก่อกับด่าเพื่อความสะใจก็มีเส้นบางๆ กั้นอยู่
“มีแต่คนบอกให้เอาคำดูถูกมาเป็นแรงผลักดัน สำหรับคนอื่นอาจจะทำได้ แต่สำหรับเรารู้สึกดาวน์ยิ่งกว่าเดิมอีก”
“การบอกว่าพูดแรงๆ เป็นแรงผลักดัน คือต้องแยกให้ออกก่อนระหว่างแรงผลักดันหรือแรงกดดัน”
“การพูดจาแรงๆ ดูถูกคนอื่นให้มีแรงผลักดันมันใช้กับทุกคนไม่ได้”
บางประโยคในทวิตเตอร์ที่ถูกหยิบยกมาจากการพูดถึงประเด็นนี้
และดูเหมือนจะเป็นความซับซ้อนอย่างมากในการตีความออกมาให้กลายเป็นเจตนาดี หลายคนจึงไม่ผิดที่มองคำเหล่านั้นให้กลายเป็นแรงผลักดันไม่ได้ เพราะมันต้องใช้แรงมหาศาลในการเรียบเรียงประโยคเชิงลบใหม่ ทำความเข้าใจกับเจตนาของผู้พูด พิจารณาทุกถ้อยคำในแต่ละประโยค วนอยู่กับพลังงานลบซ้ำๆ เพื่อนำมาปรับปรุงตัวเอง ทั้งๆ ที่ผู้พูดแค่พูดมันออกมาเพียงไม่กี่คำแล้วจบไป จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญกับคำพูดที่มีต่อคนรอบข้างเสมอ ว่าสิ่งที่ออกจากปากของเราไปนั้นจะกระทบกระเทือนจิตใจของเขาในระดับไหนกัน บางอย่างเปลี่ยนไปใช้คำที่ดีกว่านี้ได้ไหมนะ หรือเลือกที่จะให้กำลังใจกันแทนการดูถูก
มีคำแนะนำดีๆ จากเว็บไซต์ The Muse ในการตักเตือนหรือบอกให้ผู้อื่นปรับปรุงตัวด้วยวิธีที่ไม่ทำร้ายจิตใจ คือให้เริ่มต้นการพูดด้วยประโยคเชิงบวกก่อน เพื่อให้เขาทราบถึงเจตนาที่ดีของคุณ ลองพูดด้วยน้ำเสียงที่สุภาพ รวมถึงภาษากายที่ต้องระมัดระวังไม่ให้ดูเข้มงวดมากเกินไป อย่างการกอดอกหรือชี้หน้า หรือหากจะให้ดี ลองเสนอความช่วยเหลือออกไป เพื่อเสริมว่าสิ่งที่คุณพูดหรือตักเตือนนั้น เป็นเพียงเพราะคุณอยากจะให้เขาผลักดันตัวเองไปในจุดที่ดีขึ้นกว่านี้ และเขาจะไม่ต้องเผชิญกับความผิดพลาดหรือความกดดันไปอย่างลำพัง
มีอีกหลากหลายวิธีที่คนเราจะสามารถใช้เพื่อแสดงออกแทนความหวังดี นอกเหนือไปจากคำต่อว่า คำดูถูก หรือคำพูดบั่นทอนจิตใจ เพราะแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันที่แตกต่างออกไป และไม่ใช่ทุกคนที่จะมองว่ามันเป็นแรงผลักดันให้กับชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก