สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวช็อกวงการของญี่ปุ่นที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว นั่นคือการจากไปของ ฮารุมะ มิอุระ (Haruma Miura) นักแสดงหนุ่ม ตัวผมเองก็ทราบข่าวจากการไถทวิตเตอร์แล้วเจอทวีตของเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นที่ทวีตข่าวนี้ จนงงไปหมด เพราะปกติแล้วถ้าเป็นข่าวใหญ่ มักจะมีการแจ้งเตือนข่าวจากแอพข่าวที่ใช้ประจำ และจากแอคเคาต์สถานีข่าวในไลน์ แต่นี่ไม่มีรายงานด่วนเลย จนงงว่าจริงรึเปล่า ต้องไปเสิร์ชข่าวดูอีกที พอทราบว่าเป็นเรื่องจริงก็เล่นเอาเศร้าเลยครับ
ผมเองอาจจะไม่ใช่คนที่ดูละคร หรือภาพยนตร์ของญี่ปุ่นมากนัก ด้วยความที่โตมากับสื่อบันเทิงของทางตะวันตกมากกว่า แต่ฮารุมะ มิอุระ ก็เป็นหนึ่งในนักแสดงญี่ปุ่นที่ผมรู้จักดีคนหนึ่ง เพราะเขามีผลงานการแสดงเยอะมาก และหนึ่งในเรื่องที่ผมได้ดูคือ Otona Koukou ที่ผมเคยเขียนถึงไป ว่าเป็นละครเบาสมองที่สะท้อนปัญหาสังคมของญี่ปุ่นได้เหมือนกัน และไม่ว่าเห็นเขาในสื่อต่างๆ เมื่อไหร่ ก็ดูเป็นคนที่ยิ้มแย้มสดใสเสมอ และรอยยิ้มของเขาก็ดูจะทำให้โลกรอบๆ ดูสดใสขึ้นมาได้เลยทีเดียว จนเป็นเรื่องน่าเสียดายมากกว่าเขาเลือกจบชีวิตตัวเองไปทั้งที่อายุเพิ่งจะ 30 ปีเท่านั้น
และเป็นเรื่องน่าเศร้าติดต่อกันเมื่อวงการบันเทิงของญี่ปุ่นก็มีความสูญเสียจากการฆ่าตัวตายอีกแล้ว ทั้งฮานะ คิมุระ (Hana Kimura) นักมวยปล้ำที่ร่วมรายการ Terrace House และอาจจะนับ คู ฮารา (Goo Ha-ra) อดีตสมาชิกวง KARA ที่กลับมาออกงานเพลงที่ญี่ปุ่นแต่ตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังจากปล่อยเพลงได้ไม่นาน สาเหตุของแต่ละคนอาจจะต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของการตัดสินใจฆ่าตัวตายก็คือ เสียงด่าต่างๆ นาๆ ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งคงเป็นประเด็นที่เราคงจะย้อนกลับมาดูในโอกาสต่อไปได้
แต่สิ่งที่น่าสนใจจากการจากไปในครั้งนี้
คือการรายงานข่าวของสื่อญี่ปุ่น
ที่กลายมาเป็นประเด็นในสังคมญี่ปุ่น
เพราะว่าการรายงานข่าวการเสียชีวิตของคนมีชื่อเสียงก็เป็นเรื่องนึง ต่างไปกับการรายงานข่าวคนมีชื่อเสียงที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เพราะว่าถ้าไปโฟกัสเรื่องการฆ่าตัวตายมากเกินไป หรือพยายามเสนอข่าวเร้าอารมณ์มากเกินไป พยายามนำเสนอเป็นเรื่องชวนเศร้า สัมภาษณ์คนรอบตัว หรือสัมภาษณ์แฟนคลับ หรือพยายามใส่เพลงประกอบเร้าอารมณ์ การนำเสนอแบบนี้สามารถมีผลทำให้ผู้ชมรายการ หรือแฟนคลับที่เศร้าอยู่แล้ว อาจจะเศร้าหนักกว่าเดิมจนส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายตามได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีมาก่อนนะครับ
ตอนที่ผมมารู้ข่าวโดยที่ไม่มีข่าวด่วนแจ้งมาก่อน มาคิดอีกทีก็ทำให้รู้สึกได้ว่า เออ ของแบบนี้มันก็ไม่ควรจะเป็นข่าวด่วนรึเปล่า ควรให้มีความชัดเจนก่อนค่อยรายงานข่าวก็ได้ เพราะก็ควรคิดถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิต ไม่ใช่จะแย่งว่าใครนำเสนอข่าวได้ก่อน
แต่ถึงอย่างนั้น การรายงานข่าวของแต่ละสื่อในครั้งนี้ก็เป็นที่วิจารณ์อยู่ดี ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพราะสื่อด้วยกันเองก็พูดถึงการรายของสื่อต่างๆ ว่าเหมาะสมแค่ไหน เป็นสื่อที่วิเคราะห์วิจารณ์สื่อด้วยกันเองแบบนี้ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์เช่นกันครับ
และสิ่งที่เอามาเป็นแนวทางในการวิจารณ์กันในครั้งนี้คือ แนวทางการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายโดย WHO หรือองค์กรอนามัยโลกนั่นเอง เรียนตามตรงว่าผมเองก็เพิ่งทราบว่าเรื่องนี้อยู่ในขอบข่ายงานของ WHO ด้วย ซึ่งแนวทางของ WHO ก็คือ
สิ่งที่ควรทำ
- ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานที่ขอความช่วยเหลือได้
- ให้ความรู้ต่อผู้ชมเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยไม่เผยแพร่ความเชื่อผิดๆ
- รายงานเรื่องการจัดการกับความเครียดหรือความคิดฆ่าตัวตาย และวิธีการขอความช่วยเหลือ
- ควรระวังเป็นพิเศษเมื่อเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของผู้มีชื่อเสียง
- ควรระวังเป็นพิเศษในการสัมภาษณ์ครอบครัวหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิต
- พึงระวังว่าสื่อเองก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการรายงานดังกล่าวเช่นกัน
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- ไม่ควรนำเสนอเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องเด่น และไม่นำเสนอซ้ำไปมา
- ไม่ควรใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์ หรือทำให้การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องปกติ หรือเสนอว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกของปัญหา
- ไม่นำเสนอวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียดชัดเจน
- ไม่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งหรือสถานที่
- ไม่พาดหัวเร้าอารมณ์
- ไม่ใช้ภาพหรือคลิปหรือลิงค์ไปโซเชียลมีเดียอื่น
ผมเองที่ดูข่าวทางโทรทัศน์หลายช่อง ก็ได้เห็นการไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำหลายต่อหลายข้อ ทั้งการนำเสนอรายละเอียดการฆ่าตัวตาย การเสนอข่าวนี้ในหลายช่วงเวลาเพราะเป็นข่าวใหญ่ มีการไปถ่ายที่ทางเข้าแมนชั่นของฮารุมะ มิอุระอีกด้วย รวมถึงรายงานการที่แฟนผลงานไปวางดอกไม้ที่แมนชั่น และไม่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ให้คำปรึกษาเรื่องการฆ่าตัวตาย
ซึ่งในสื่อที่ผมได้อ่าน ของทาง Yahoo! News ก็ดูน่าสนใจสุด เมื่อเก็บข้อมูลว่า สื่อไหนรายงานผิดอย่างไร ใช้คำแบบไหน ทำผิดคำแนะนำไหน และให้คะแนนตัดเกรดด้วย ซึ่งก็จัดว่าละเอียดเอาเรื่อง เพราะเสนอว่าปัญหาอยู่จุดไหนบ้าง รายงานรายละเอียดสถานที่เกิดเหตุ รายงานว่าผูกคอที่ไหน บางช่องถึงผู้ประกาศจะไม่ได้พูดถึงรายละเอียด แต่ตัวหนังสือด้านล่างกับมีคำว่า ผูกคอ แถมยังละเอียดกระทั่งว่า ต่อให้สื่อนั้นรายงานโดยเลี่ยงคำ เช่น ฆ่าตัวตาย หรือผูกคอ แต่ก็ยังถูกติงว่า ลงภาพหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บันเทิง ซึ่งมีการใช้คำดังกล่าวอยู่ ก็ถือว่าเป็นการสรุปที่ละเอียดดีครับ
และก็อย่างที่บอกไป เท่าที่ดูตามแผงหนังสือแล้ว หนังสือพิมพ์บันเทิงของญี่ปุ่นก็เล่นข่าวนี้กันใหญ่ พาดหัวหน้าหนึ่งตัวใหญ่ๆ ใส่กันแบบไม่ยั้ง ซึ่งเห็นแล้วแค่หยิบขึ้นมาดูยังไม่อยากทำเลยครับ ยังไม่นับว่าเดี๋ยวก็ต้องมีนิตยสารบันเทิงรายสัปดาห์ออกมาอีก สายนี้จัดกันแบบไม่มียั้งแน่นอน ที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ เมื่อเปิดยูทูปขึ้นมา
ในส่วนที่เป็นรวมรายงานข่าว
ก็เต็มไปด้วยคลิปรายงานข่าวเรื่องนี้
จะหนีให้พ้นก็ยากหน่อย
ยังดีที่อย่างน้อยต้นสังกัดยังพยายามให้ข่าวออกมาน้อยที่สุด และแถลงข่าวอย่างเรียบง่าย รวมถึงขอความร่วมมือไม่ให้สัมภาษณ์ครอบครัว หรือผู้เกี่ยวข้อง ก็เป็นการจัดการที่ดีครับ ส่วนดาราร่วมสังกัดเดียวกันก็ออกมาโพสไว้อาลัยตามโซเชียลเน็ตเวิร์คเท่านั้น
ของแบบนี้ก็ต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมกันไป แน่นอนว่าสื่อก็อยากจะขายข่าวเพราะนั่นคือรายได้ของสื่อ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่ละเอียดอ่อนแบบนี้ แนวทางของ WHO ก็ถือว่าดีเลยครับ เพราะไม่ใช่แค่เป็นสามัญสำนึกที่ควรมีเท่านั้น แต่ยังควรนำเสนอว่าหากมีปัญหาควรจะปรึกษาใคร
จริงๆ มองตรงนี้แล้วก็มองย้อนกลับไปที่ไทยได้เหมือนกัน เพราะเวลามีข่าวอะไรแบบนี้เราก็มักจะเห็นการสร้างอารมณ์อย่างหนัก หรือขยันทำคอมพิวเตอร์กราฟิกราวกับอยากให้คนเห็นภาพชัดๆ โดยไม่ได้สนใจเลยว่าคนที่ดูจะได้รับผลกระทบตามหรือไม่ และที่น่าสนใจก็คือ เราเคยมีการเสนอแนวทางว่าให้ไปปรึกษาสายด่วนอะไรที่ไหนบ้างหรือไม่ เรียนตามตรงว่า ผมเองก็เพิ่งทราบว่า WHO ได้ออกแนวทางแบบนี้มาด้วย ไม่แน่ใจว่าบ้านเราเคยนำมาใช้กันแค่ไหน
แม้การจากไปของฮารุมะ มิอุระจะเป็นเรื่องน่าเศร้า อย่างน้อยก็ยังดีว่าเรื่องนี้ก็ได้กลายมาเป็นการจุดประเด็นให้คนหันมาสนใจเรื่องการรายงานข่าวเช่นนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญในการลดปริมาณการฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย ยิ่งในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยปัญหาสังคมรุมเร้า และผู้คนไม่อาจจะออกไปพบโลกภายนอกได้ง่ายๆ เพราะไวรัส ยิ่งควรคิดให้ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก