แค่การแสดงก็สนุกแล้ว กับการที่ล่าสุด ‘พรรคไทยศรีวิไลย์’ ออกมาเสนอว่า อยากจะให้เพิ่มโทษจำพวก ‘โบย’ และ ‘เฆี่ยน’ ลงไปเป็นโทษทางวินัยสำหรับข้าราชการ เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิดต่างๆ ตั้งแต่ทุจริต ไปจนถึงละทิ้งหน้าที่ ทางพรรคบอกว่าพวกโทษตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือนอะไรพวกนั้นมันหน่อนแน้มไป เราควรกลับมาใช้โทษจากกฎหมายตราสามดวงกัน
ทางพรรคก็ไม่เสนอเปล่า มีการจัดการแสดงประกอบ พอดูภาพแล้วก็รู้สึกว่า เอ้อ มีการแสดงถูกแขวน ถูกเฆี่ยน มีกระดิ่งระฆังไว้ลั่นเพื่อร้องป่าว วิธีการลงโทษที่ทางพรรคเรียกร้องถือได้ว่าเป็นการกลับมาของการลงโทษของยุคก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) เป็นการลงโทษที่รัฐเน้นแสดงความรุนแรงต่อผู้ใต้ปกครอง การลงโทษแบบนี้มีความจำเป็นต้อง ‘แสดง’ ในพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ปวงชนเป็นสักขีพยาน ให้เราได้เห็นความเจ็บปวด เห็นการดิ้นรน ได้ยินเสียงกรีดร้องเพื่อรับรู้ถึงแสนยานุภาพในการปกครอง ซึ่งต่างกับวิธีการของโลกสมัยใหม่
ถือเป็นความยอกย้อนตรงที่ว่า พรรคดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘พรรคไทยศรีวิไลย์’ ล้อกับคำว่าศิวิไลซ์ ซึ่งคำว่าศิวิไลซ์ (civilize) เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับการที่เราพยายามปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ มีการปรับวิถีปฏิบัติบางอย่างให้เข้ายุคเข้าสมัยตาม ‘สากล’ ซึ่งการเฆี่ยน ตี หมอบกราบ ดำน้ำ ลุยไฟ ตัดคอ ถือเป็นหนึ่งในหลายๆ อย่างที่ ‘ไม่ศิวิไลซ์’
การหวนไปสู่อดีตนี้ อาจเป็นเพราะความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการของโลกสมัยใหม่ หรืออาจปนเปไปด้วยความเบื่อหน่ายของโลกปัจจุบันที่ไร้สีสัน การนั่งทำงานที่ไม่ได้รู้สึกสัมผัสถึงเลือดเนื้อและหงาดเหงื่อความรุนแรงในชีวิต
‘วินัยและการลงทัณฑ์’ ของโลกก่อนสมัยใหม่
ถ้าเราอยากกลับไปสู่การลงโทษด้วยความรุนแรง จากข้อสังเกตของมิเชล ฟูโกต์ผู้เขียนเรื่องวินัยและการลงโทษ (Discipline and Punish) แกนสำคัญที่โทษแบบนี้จะทำงานได้ดี คือต้องทำการลงโทษให้สาธารณชนได้มองเห็นเป็นสักขีพยานด้วย คือเราต้องได้เห็นการเฆี่ยน เห็นเลือดเนื้อ เห็นนักโทษที่ตะเกียกตะกาย นี่แหละเราถึงจะรับรู้ได้ถึงความรุนแรงและเกรงกลัวต่ออำนาจ
ฟูโกต์ตั้งข้อสังเกตว่าการทรมานและการลงโทษในสังคมยุคก่อนสมัยใหม่ด้วยความรุนแรงมีลักษณะเป็นมหรสพอย่างหนึ่ง การลงโทษใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการโบยไปจนถึงการประหาร ล้วนต้องทำในพื้นที่เปิด ในที่ๆ มีผู้คนผ่านไปผ่านมา ฟูโกต์อธิบายว่าเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองใช้เพื่อแสดงอำนาจของตัวเองที่มีเหนือร่างกายของผู้ใต้ปกครอง และเป็นการสร้าง ‘ความกลัว’ ให้กับเราๆ ท่านๆ
ดังนั้นตามข้อสังเกตของฟูโกต์ ถ้าเราอยากได้ความกลัว เราจะเฆี่ยนกันในที่ลับไม่ได้ เราต้องเอามหรสพแห่งความรุนแรงออกมาให้ทุกคนได้ประจักษ์แก่สายตาด้วย
อนึ่ง แนวคิดสำคัญของฟูโกต์คือประเด็นเรื่องวินัยในโลกสมัยใหม่ ฟูโกต์ชี้ให้เห็นกระบวนการของโลกสมัยก่อนที่จะใช้ความกลัวในการควบคุมคน กับวิธีการของโลกสมัยใหม่ที่ใช้กระบวนที่ซับซ้อนกว่านั้น ฟูโกต์บอกว่า แม้ว่าในโลกสมัยใหม่เราดูจะไม่ใช้โทษรุนแรงเหมือนสมัยก่อน เป็นการจับไปขังเงียบๆ จะประหารก็ยังทำอย่างนุ่มนวล แต่เรามีการออกแบบสิ่งต่างๆ เช่น ระบบการสอดส่อง การจ้องมอง และควบคุมกันเอง
เราถูกทำให้ควบคุมตนเองตลอดเวลา
ปัญหาและความไร้ประสิทธิภาพของการลงโทษแบบเก่า
การปรับระบบการลงโทษแบบสมัยใหม่ที่นุ่มนวลและไร้ความรุนแรง เราอาจรู้สึกว่านี่ไงเป็นเรื่องของมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน แต่ฟูโกต์บอกว่าการปรับโทษให้นุ่มนวลนี้ไม่เชิงว่าทำไปด้วยแนวคิดแบบมนุษยธรรม แต่เป็นเพราะว่าการลงโทษด้วยความรุนแรงในที่สุดก็มีข้อบกพร่องในตัวเอง เช่น แทนที่รัฐจะสร้างความกลัวได้ผ่านการลงโทษ แต่บางเคสผลกลับตรงข้าม คือมีการเชิดชูนักโทษ หรือนักโทษแสดงความกล้าหาญและความเป็นวีรบุรุษออกมา
แถมพอเราเข้าสู่โลกสมัยใหม่ เราก็คิดเรื่องการจัดการมากขึ้น การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตียังเป็นการลงโทษที่ไม่เป็นระบบ ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การเฆี่ยน เราจะเฆี่ยนยังไงให้ได้รับความเจ็บปวดเท่าๆ กัน ในแต่ละคนมีความทนต่อความเจ็บปวดไม่เสมอกันอีก แถมการประหารเพื่อสร้างความกลัวในขั้นตอนจริงก็เต็มไปด้วยความยุ่งยาก เลอะเทอะ และเป็นการใช้เรือนร่างของอาชญากรอย่างไม่คุ้มค่า
ไม่แปลกที่เรา – มนุษย์สมัยใหม่ การเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานนั่งโต๊ะ นานๆ ได้จินตนาการถึงการฟาด เลือดเนื้อบ้างก็คงจะบันเทิงใจดี แถมบางคนยังคิดว่าวิธีการของโลกสมัยใหม่ดูจะเป็นเรื่องที่ตะวันตก เรื่องที่เราไม่อยากจะตามเท่าไหร่
แต่การจะกลับไปสู่วิธีการลงโทษแบบเก่าก็อาจจะมีหลายอย่างที่ต้องคำนึง การแสดงเฆี่ยนตีก็อย่างหนึ่ง แต่การลงมือทำร้ายกัน มีผิวหนัง หยดเลือด และลมหายใจผู้คน ย่อมเป็นสิ่งที่ต่างออกไปจากแค่ภาพฝัน จินตนาการ หรือในหนังละครที่เราเคยดู
คนในโลกสมัยใหม่ที่แค่หกล้มเลือดออกก็เบะปากไม่สบายใจ จะรับและบันเทิงกับการกลับมาของการลงโทษในโลกก่อนสมัยใหม่ได้จริงๆ หรือ
อ้างอิงข้อมูลจาก