เราคุยกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะกลับไปใช้ชีวิตได้แบบ ‘ปกติ’ เหมือนก่อนวันที่ไวรัสจะแพร่ระบาด เวลาผ่านไป.. เราเริ่มรู้จักและเคยชินกับคำว่า ‘ความปกติใหม่’ จนถึงตอนนี้ เราอาจจะไม่แน่ใจเราว่าอะไรที่จะเป็น “ปกติ” สำหรับเราต่อจากนี้
ในช่วงเวลาที่ความหวังของมวลมนุษยชาติทั้งหมดอยู่กับการรอคอยวัคซีน Frederick S. Pardee Center ศูนย์วิจัยเพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคต ได้ใช้เวลากว่า 3 เดือน เดินทางผ่าน Zoom ไปสัมภาษณ์ผู้นำทางความคิดด้านต่างๆ 101 คนจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อถามหาว่าคำตอบว่า อะไรที่จะเป็น ‘ปกติ’ สำหรับเราในโลกหลัง COVID-19?
บรรดานักคิดที่มาร่วมตอบคำถามนี้ ต่างก็ได้คาดการณ์แง่มุมต่างๆ ในอนาคตต่างกันออกไป ตั้งแต่เรื่องของเศรษฐกิจ การทำงาน เทคโนโลยี วิธีการสื่อสาร สภาวะการเมือง ความมั่นคงทางอาหาร สภาพอากาศ สิทธิมนุษยชน สุขภาพจิต ความหลายหลายทางเพศ ไปจนถึงความสุขของมนุษย์ในอนาคต
แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก และเชื่อว่าโลกหลังโควิด-19 จะไม่มีทางกลับไปเหมือนโลกที่เราเคยรู้จักก่อนหน้านี้อีกต่อไป
ความเร่งในการเปลี่ยนแปลง
ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการแพร่ระบาด เราอาจจะได้ยินหรือได้เห็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดในหลายๆ รูปแบบ และนั่นก็นำมาสู่ ‘Disruption’ การเปลี่ยนแปลงและการถูกแทนที่ในหลายส่วนของชีวิตและสังคมเช่นกัน Ian Bremmer ประธานของ Eurasia Group ถึงกับบอกว่า เหมือนรวมเอาการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในหนึ่งทศวรรษมารวมไว้ในปีเดียวที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสขึ้น
Phil Baty จาก Times Higher Education ผู้ที่ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกในแต่ละปีบอกว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ มาถึงจุดที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง และบางอย่างอาจเปลี่ยนไปตลอดกาล ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศอาจะลดน้อยลง อย่างปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยดังๆ ใน UK ซึ่งพึ่งพารายได้จากนักศึกษาต่างชาติเป็นหลัก สูญเสียรายได้ไปถึง 2.6 ล้านปอนด์ หรือแม้แต่ในอนาคต หากสภาพเศรษฐกิจแย่ลง คนอาจจะลงทุนกับการศึกษาในระดับสูงในต่างประเทศน้อยลงไป แล้วเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยในประเทศหรือในภูมิภาคมากกว่า ซึ่งก็เป็นความน่าเสียดายที่การแลกเปลี่ยนความรู้ระดับสากลอาจลดน้อยลง ส่วนเรื่องการเรียนทางไกลนั้น คนที่จะชนะใจและดึงดูดนักศึกษาได้ อาจไม่ใช่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่มีแคมปัสดีๆ อีกต่อไป แต่เป็นมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนและออกแบบวิธีการสอนได้อย่างมีคุณภาพ
Ann Marie Lipinski นักข่าวรางวัล Pulitzer ก็พูดถึง Disruption ในวงการสื่อเหมือนกันว่า ในช่วงการแพร่ระบาด นักข่าวไม่สามารถลงพื้นที่ได้หรือไม่แม้แต่จะไปถ่ายทำที่สตูดิโอได้ พวกเขาก็ต้องหาทางในการนำเสนอข่าวด้วยวิธีใหม่ๆ รวมไปถึงรูปแบบการหารายได้ของสื่อ ที่พึ่งพาโฆษณาก็เปลี่ยนไปใช้ระบบสมาชิกหรือให้คนอ่านสนับสนุนโดยตรงมากขึ้น
แม้แต่เรื่องของการค้าขาย Dani Rodrik ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็เป็นห่วงว่าการปรับตัวในช่วงการแพร่ระบาด จะเริ่มทำให้แนวคิดโลกาภิวัฒน์นั้นลดลงหรือหายไป เพราะแต่ละประเทศต้องหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้นและความสนใจในการทำนโยบายการค้าระหว่างประเทศก็อาจลดลง
ความผันผวนทางการเมือง
ไม่ใช่แค่ความเลือนลางและหดหู่ในการคาดการณ์เรื่องอนาคตของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น Francis Fukuyama ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีการเมืองของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ยังยอมรับว่าเขาเองไม่เคยเห็นช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตมากเท่าตอนนี้มาก่อน
COVID-19 เหมือนเป็นการย้ำให้คนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาล มีการเพิ่มขึ้นของแนวคิดแบบชาตินิยม-ประชานิยม (populist-nationalism) เกิดการเสื่อมถอยของระบบพหุภาคี (multilateralism) รวมถึงแม้แต่แนวคิดประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (Liberal democracy) หลายๆ คนลงความเห็นตรงกันว่า การเมืองในทุกๆ ที่ จะทวีความผันผวนมากกว่าวันก่อนที่โคโรนาไวรัสจะเกิดขึ้นบนโลก
ขณะที่ Andrew Bacevich นักประวัติศาสตร์ มองว่าจากเดิมที่คนมีอำนาจทางทหารคือคนที่ถูกมองว่าสามารถสร้างความมั่นคงของประเทศได้ แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดนี้ คนจะเริ่มตั้งคำถามกันมากขึ้น ว่าอะไรคือเป็น “ความมั่นคงของประเทศ” ในศตวรรษที่ 21 นี้กันแน่
ความเคยชินต่อเนื่องจากยุคโรคระบาด
การทำงานทางไกลและการประชุมออนไลน์ เป็นสิ่งที่หลายๆ คนเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในหลายๆ องค์กรแม้การแพร่ระบาดจะจบลง
Robin Murphy อาจารย์ด้านวิศวกรรมจาก Texas A&M University เชื่อว่า ต่อไป เราจะมีหุ่นยนต์ (AI) อาศัยอยู่ร่วมกับเราในทุกๆ ที่ เพราะในช่วงที่มีการระบาดนี้ เราได้สร้างมันมาสำหรับทำสิ่งต่างๆ ให้เรามากมาย นับตั้งแต่การตรวจโรค การส่งของต่างๆ หรือแม้แต่ช่วยให้เราได้คุยกันได้ ขณะที่ หลายๆ คนในวงการแพทย์ก็เชื่อด้วยว่าการรักษาทางไกล (Telemedicine) ก็จะเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน
โอกาสในวิกฤต
แม้การแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบกับโลกในหลายๆ ด้าน แต่ Laurie Garrett นักข่าวและผู้เขียนหนังสือ The Coming Plague (ซึ่งได้เตือนเรื่องโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นบนโลกมาหลายปีแล้ว) บอกว่า นี่อาจเป็นโอกาสดีที่การแพร่ระบาดของไวรัสได้ชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมในระบบเศรษฐกิจและสังคมชัดขึ้น ความหวังของเธอคือการที่ได้เห็นคนชนชั้นกลาง ออกมาพวกบอกคนที่ร่ำรวยว่า เงินของพวกคุณมาจากการทำงานของพวกเรา และเราต้องการระบบเศรษฐกิจใหม่ในโลกนี้ได้แล้ว
ส่วน Thomas Piketty อาจารย์จาก Paris School of Economics บอกว่าวิกฤตครั้งนี้ทำให้เราเห็นถึงความละเลยในการลงทุนเรื่องการแพทย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่เราเจอตอนนี้ก็เป็นราคาที่เราต้องจ่ายให้ความละเลยนั้น ต่อไปเราน่าจะมีนโยบายด้านรัฐสวัสดิการมากขึ้น รวมถึงมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบสุขภาพมากขึ้น
ในมุมของสิ่งแวดล้อม Yolanda Kakabadse อดีตประธาน World Wildlife Fund International ชี้ให้เห็นว่าการไม่ตระหนักว่าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศนั้นเท่ากับสุขภาพของมนุษย์ ทำให้เกิดสิ่งที่เกิดกับเราในวันนี้ มันก็เกิดจากความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นและสะสมมาหลายทศวรรษ และเธอเชื่อว่าหลังจากนี้ พลังของคนรุ่นใหม่จะมาช่วยสร้างความสมดุลตรงนี้ และจะไม่ได้มีเกรต้าเพียงแค่คนเดียวอีกต่อไป
สุดท้าย ประโยคในบทสนทนากับ Noam Chomsky ศาสตราจารย์เกียรติคุณจาก MIT อาจเป็นคำตอบที่ดี สำหรับการคิดถึงโลกหลังโควิด-19 นั่นก็คือ “เราคงต้องถามว่าโลกได้เรียนรู้อะไรจากการระบาดครั้งนี้ และโลกแบบไหนที่เราอยากอยู่กันแน่?”
ดูคลิปทั้งหมดในซีรีส The World After Coronavirus ได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=z6TWSEzra0Y&list=PL9uz-y1vy4cA_rTQeOTS_e4Ke6Ns_vFQr