ช่วงนี้มีหลายเรื่องที่ว่าด้วยการสำนึกผิดและการขอโทษ เจ็ดปีที่แล้วเคยคิด เคยเชื่อ หรือทำอะไรบางอย่างที่ส่งผลเลวร้ายมายังทุกวันนี้ หรือไม่นานนี้ก็มีคำขอโทษว่า ต้องขอโทษด้วยถ้าไปกระทบความรู้สึกใคร
คำอธิบายเรื่องตาสว่าง ความหลงผิด หรือคำขอโทษที่ถ้าไม่ไปทำใครเจ็บก็ถือว่าแล้วกันไปนั้น ดูเหมือนว่ายังคงสร้างความขุ่นข้องอยู่บ้าง ระดับความ ‘ต้องรับผิดชอบ’ อาจจะแตกต่างกันไป บางอย่างอาจจะเลวร้ายหน่อยเพราะนำมาซึ่งความยากลำบากแสนสาหัสในปัจจุบัน ในขณะที่คนพูดมักจะลอยตัวโดยอ้างว่าตอนนี้ลืมตาตื่นแล้ว แต่ผลของการกระทำยังไม่สิ้นสุด—ยังต่อเนื่องยาวนาน
อีกด้าน ด้วยวิธีแบบประนีประนอมหน่อยก็จะตัดพ้อว่า แล้วจะเอายังไง ก็ขอโทษแล้วนี่นา ทุกอย่างมันผ่านมาแล้ว มันจบไปแล้ว จะทำให้ทำยังไงอีก
แน่นอนว่าเราคือมนุษย์—แค่มนุษย์ตัวน้อยๆ—เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะทำผิดหรือหลงผิด ดังนั้นถ้าเรามองประเด็นเรื่องการสำนึกผิดและกระบวนการสำนึกผิด การมองไปยังเทววิทยาและมิติทางศาสนาก็อาจจะพอเป็นคำตอบได้บ้างว่า สำหรับมนุษย์ตัวน้อยๆ แบบเราๆ ที่หลงผิดกันอยู่เป็นนิจนั้น มีอะไรเป็นเงื่อนไขของการให้อภัยในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ อะไรคือความหมายและการแสดงออกของการสำนึก การแสดงความเสียใจ และการขอโทษอย่างจริงใจ
Repentance และ Metanoia—เงื่อนไขของการเปลี่ยนใจ
ในทางศาสนา—เทววิทยา—จะมีคำหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือคำว่า repentance หมายถึงการสำนึกต่อความผิด ถ้าเป็นในทางพุทธก็เหมือนกับการรู้ดีรู้ชั่ว แต่ดูเหมือนว่าศาสนาทางตะวันตกจะเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะส่วนหนึ่งคือตัวศาสนามีพระเจ้าอยู่ มนุษย์ด้านหนึ่งมีความแปดเปื้อน มีการกระทำผิดบางอย่าง มีบาปติดตัว การก้าวกลับสู่พระเจ้านั้น ต้องเริ่มจากการ ‘กลับใจ’ ซึ่งก็คือการสำนึกต่อสิ่งที่ทำหรือไม่กระทำลงไปในอดีต เมื่อสำนึกแล้วจึงจะได้รับการให้อภัยต่อไป
คำว่า ‘กลับใจ’ ดูจะเป็นอีกคำสัมพันธ์กับการสำนึก คำว่า repentance สัมพันธ์กับอีกคำคือคำว่า metanoia ซึ่งใช้ในความหมายของการเปลี่ยนใจ คำว่า metanoia มีรากมาจากคำสองคำคือ meta ในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยน กับ noein หมายถึง จิตใจ การรับรู้ การคิด
นัยของการสำนึกนี้จึงหมายถึงการครุ่นคิด ทบทวน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิดของเราเอง
ตามสไตล์กรีก สิ่งที่เป็นนามธรรมมักถูกวาดให้เป็นรูปธรรม เป็นเทพและเทพี สำหรับ Metanoia ก็เป็นเหมือนเทวีองค์หนึ่ง เทวีองค์นี้จะถูกวาดให้เศร้าหมอง สวมใส่ผ้าคลุมสีดำ และเธอนั้นจะติดตามเทพเจ้าหนุ่มนามว่า Kairos อันหมายถึงโอกาส เทวี Metanoia จึงหมายถึงการใคร่ครวญถึงโอกาสที่เสียไป และในอีกด้านหนึ่ง เทวีองค์นี้คือการลงโทษด้วย เธอคือบทลงโทษถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดในโอกาสนั้นๆ จนนำไปสู่ความคิดเรื่องใคร่ครวญไตร่ตรอง
การทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ และความเป็นไปได้ที่ผิดพลั้งไปจึงเป็นหัวใจหลักทั้งของการสำนึกผิด และนำไปสู่หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงในจิตใจ กระบวนการกลับใจในมิติของ metanoia นั้นมักสัมพันธ์กับกระบวนการหลายขั้นตอน คือ สำนึก, เสียใจ, ทบทวน, และเปลี่ยนแปลง (repentance, regret, reflection, และ transformation) การเน้นย้ำเรื่องการเปลี่ยนหัวใจเปลี่ยนความคิดดูจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นที่สุด เพราะทั้งหมดนั้นเกิดจากกระบวนการทบทวนความผิดของตนเอง
สำนึกเสียใจ
หลายครั้งความผิดพลาดหรือความผิดบาปเป็นเรื่องรุนแรง คืออย่างน้อยผู้กระทำผิดต้องตระหนักถึงความหนักของการกระทำผิดนั้นๆ ก่อน (จึงต้องมีการทบทวนความผิดพลาดในอดีตเสมอ) ภาพของการสำนึกผิดและกระบวนการสำนึกผิดจึงสัมพันธ์ความรู้สึกโศกเศร้าด้วย เช่น ภาพของเทวีที่เป็นตัวแทนของความเศร้าหมองจากการทบทวนความผิดพลาดนั้นๆ
ทำนองเดียวกันการสำนึกผิดในคัมภีร์ภาษาฮิบรู การสำนึกผิดก็สัมพันธ์กับคำสองคำคือ การหวนคืน (to return) และการรู้สึกโศกเศร้า (to feel sorrow)
ประเด็นเรื่อง ‘ความรู้สึกเสียใจ’ จึงดูจะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการรู้สึกสำนึกผิด คือเราเสียใจกับสิ่งที่ทำหรือไม่ทำลงไปหรือไม่ ดังนั้นในภาษาอังกฤษเวลากล่าวขอโทษจึงบอกว่า “รู้สึกเสียใจ” (กับสิ่งที่ได้ทำลงไป) ในแง่นี้ความผิดพลาดจึงสัมพันธ์กับการเป็นภาระทางความรู้สึกที่คนแบกเอาไว้—ตรงนี้ก็ทางธรรมหน่อยเนอะ แล้วก็อาจจะฟังดูหนักหน่วงหน่อย
ดังนั้น ในเรื่องเล่าเช่นในภาพของการชำระในแดนชำระก่อนขึ้นสวรรค์ของดันเต
บาปของมนุษย์ก็เลยเป็นตราที่ติดตัวและต้องไปสำนึก ไปปีนภูเขาเพื่อรับรู้ทบทวนบาปต่างๆ ก่อนที่จะลบตราเหล่านั้นออกจากตัวได้
ถ้าเป็นความคิดทางพุทธก็น่าจะหมายถึง หิริ แปลเป็นคอนเซปต์ที่เรารู้จักกันดีคือ ความละอายแก่บาป ซึ่งน่าแปลกดีที่คอนเซปต์นี้อาจจะไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไหร่ในดินแดนที่ทุกคนเน้นย้ำเรื่องความเป็นเมืองพุทธ การละอายต่อบาปในแง่หนึ่งก็หมายถึงการมีสำนึกรู้ มีความละอายแก่ใจในการทำความผิดทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ดังนั้นการสำนึกจึงค่อนข้างสัมพันธ์กับคำและความอันมีความซับซ้อนยอกย้อน เราอาจจะบอกว่า ‘เราสำนึกรู้แล้ว’ (conscious) ในระดับแรก เราคิดและเข้าใจแหละว่าสิ่งที่ทำมันส่งผลเสียนะ เราทบทวนแบบที่เป็นเหตุเป็นผล (rational) ว่า เอ้อ เราทำแบบนี้ก็ส่งผลไปแบบนี้ แล้วสำนึกถึงผลกระทบนั้นๆ
ในอีกระดับอาจจะหมายถึง ‘เราสำนึกเสียใจ’ อันน่าจะเข้าได้กับคำว่า repent หรือ remorse ซึ่งมีนัยทางศาสนาขึ้นมาหน่อย คือเราสำนึกจากความเข้าใจและเกิดความรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป
ฟังดูหนักหน่วงเนอะ แต่ถ้าเรามองต่อให้เป็นระดับทางโลกย์ ในหลายความผิดก็มีผลที่ค่อนข้างจริงจัง และเราในฐานะมนุษย์ก็จำเป็นต้องกลับไปรู้สึกและทบทวน แล้วจึงนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและการให้อภัย ไม่ว่าจะให้อภัยตนเองหรือได้รับการให้อภัยก็ตาม ด้านหนึ่งการมองการสำนึกผิดแบบนี้อาจจะมองในมุมอารมณ์นิยม (romanticism) เล็กน้อย คือ เชื่อว่ามนุษย์มีความรู้สึก และสามารถใช้ความรู้สึกเหล่านั้นเพื่อเข้าอกเข้าใจ เรียนรู้ รวมถึงแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้
สุดท้าย ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์ตามคำกล่าว “To err is human,” และการให้อภัยนั้นแหละคือสูงส่ง (“to forgive is divine.”) แต่การให้อภัยก็มีเงื่อนไขของการสำนึก ทบทวนจิตใจ และนำไปสู่ความเข้าใจและการเปลี่ยนใจเปลี่ยนความคิดอย่างจริงจัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan