ความรักเป็นเรื่องมีเหตุผลไหม, ทำไมคนเราถึงรู้สึกเหงา, แล้วถ้าอกหัก หมอรักษาได้หรือเปล่า
มีนักคิดนักเขียนตอบคำถามเหล่านี้ด้วยเหตุผลแตกต่างกันมากมาย แต่สำหรับ ‘หมอปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์’ เจ้าของหนังสือ Theory of Love และ Theory of Loneliness เลือกอธิบายข้อสงสัยเหล่านี้ด้วย ‘ทฤษฎีจิตวิทยาวิวัฒนาการ’
The MATTER ชวน ‘หมอปีย์’ มาคุยเรื่องทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับความรักและความเหงา ช่วงโปรฯ, รักแรกพบ, หรือพรหมลิขิตมีจริงไหม อกหักรักษาได้หรือเปล่า วิวัฒนาการทำให้คนเหงาได้อย่างไร ไปจนถึงว่าสุดท้ายแล้วในโลกเทคโนโลยี เราจะมีความรักที่ดีขึ้นกันได้ไหม
ความรักเป็นเรื่องมีเหตุผลไหม มีทฤษฎีหรือตรรกะอะไรที่ใช้อธิบายความรักได้บ้าง
ผมว่าความรักมีหลักที่ใช้อธิบายได้ครับ อย่างหนึ่งที่อธิบายได้คือทฤษฎีด้าน ‘จิตวิทยาวิวัฒนาการ’ (evolutionary psychology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใช้ในการอธิบายสภาวะจิตของคน ว่าที่เราเป็นแบบนี้ มีความรู้สึกและพฤติกรรมแบบนี้ มันเป็นผลมาจากวิธีเอาตัวรอดที่มนุษย์ใช้ในอดีต อย่างเช่นการเลือกคู่เพื่อการสืบพันธุ์ หรือการร้องไห้เพื่อขอความช่วยเหลือหรือสร้างอำนาจต่อรอง
เรื่องของฮอร์โมนก็ช่วยอธิบายลำดับขั้นของความรักได้ โดยอาจจะแบ่งได้เป็น 3 ช่วงหลักๆ ตามการทำงานของฮอร์โมน ช่วงแรกคือช่วง ‘ดึงดูด’ เป็นช่วงที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทำงาน เราก็จะสอดส่ายสายตาหาคู่ครอง เหมือนกับช่วงติดสัดของสัตว์ เพียงแต่มนุษย์ไม่ได้มีฤดูที่แน่นอน และมีระดับการหักห้ามใจมากกว่าในการผสมพันธุ์
จากนั้นก็จะขยับเข้าสู่ช่วง ‘ตกหลุมรัก’ ช่วงนี้จะเป็นช่วงโดปามีนหลั่ง โดปามีนนี่เป็นฮอร์โมนที่รับผิดชอบเรื่อง reward system คือจะหลั่งเมื่อเรารับเอาของกระตุ้นที่ร่างกายคิดว่าดีต่อร่างกายเข้ามา เหมือนเวลาเรากินของหวาน เสพยา หรือรักใครสักคน เราก็จะรู้สึกว่าต้องการ อยากได้อีก แล้วก็เสพติดสิ่งเหล่านั้น
สุดท้ายคือช่วง ‘ผูกพัน’ ซึ่งช่วงนี้เราจะไม่ได้หลงรักจะเป็นจะตายกับแฟนของเราอีกแล้ว แต่จะเป็นความผูกพันมากกว่า เป็นผลจากออกซิโตซิน ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกันกับที่หลั่งเวลาที่แม่คลอดลูกใหม่ๆ ทำให้แม่เกิดความผูกพันกับลูก และเลี้ยงดูลูกต่อไป
แต่ถึงจะมีการแบ่งสามลำดับขั้น ก็เป็นไปได้ว่าฮอร์โมนจะทำงานข้ามลำดับได้ เช่นเมื่อเข้าสู่ช่วงผูกพันแล้วโดปามีนหรือเทสโทสเตอโรนจะยังทำงานอยู่ เพียงแต่เราแบ่งเพื่อให้เห็นผลของฮอร์โมนแต่ละตัวชัดเจน และถ้ามีการแสกนสมองเราจะเห็นการทำงานของสมองแต่ละส่วนเลย
ที่เราเรียกกันว่า ‘ช่วงโปรโมชั่น’ ในความสัมพันธ์ก็อาจจะไม่มีจริงเสมอไปหรือเปล่า ในเมื่อโดปามีนอาจจะหลั่งอีกเมื่อไหร่ก็ได้
ก็ใช่ เพราะเราสามารถเกิดความรู้สึกตกหลุมรักได้อีกหลายครั้ง แต่ช่วงโปรฯ ที่เราเรียกกันก็อาจจะคือการหลั่งโดปามีนครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ค่อยเหมาะกับการดำรงชีวิตเท่าไหร่ เพราะบางคนทำงานไม่ได้ กินนอนไม่ได้ หรือหลายคนใช้เวลากับเรื่องนี้มากเกินไป เราก็เลยมีวิวัฒนาการที่ทำให้ฮอร์โมนตัวนี้ลดลงมาเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เพื่อให้ชีวิตของเราดำเนินต่อไปได้
แล้ว ‘รักแรกพบ’ หรือ ‘พรหมลิขิต’ ล่ะ อธิบายได้ด้วยไหม
เรื่องรักแรกพบนี่ไม่เคยมีคนศึกษามาก่อน อาจจะเพราะด้วยทางเทคนิคมันทำไม่ได้ เราแสกนสมองคนที่มีความรักหรือคนที่อกหักได้ แต่จังหวะของรักแรกพบ เราไม่สามารถตรวจได้ แต่ส่วนตัวผมมองว่าอาจจะเป็นช่วงที่คนสองคนกำลังหลั่งเทสโทสเตอโรนพอดี ก็เลยมีโอกาสดึงดูดกัน ส่วนเรื่องพรหมลิขิตที่กำหนดว่าคนนี้คู่กับคนนั้น ต้องบอกว่าในเชิงจิตวิทยาก็มีการศึกษาว่าลักษณะนิสัยบางอย่างก็มีการดึงดูดกัน ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัวเสมอไป
อย่างนี้แล้วคนเราจะมีความรักที่ยั่งยืนหรือคงอยู่ตลอดไปได้ไหม ในเมื่อฮอร์โมนแต่ละตัวมีวันที่จะหมดลง
เราว่ายังตอบเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะมนุษย์เรายังวิวัฒนาการไปไม่สุด แต่เดิมเราวิวัฒนาการมาจากลิงชิมแปนซีเมื่อหกล้านปีที่แล้ว ซึ่งลิงไม่ใช่สัตว์ประเภทผัวเดียวเมียเดียว ช่วงที่เราเป็นมนุษย์ถ้ำ เราก็ไม่ได้เป็นแบบผัวเดียวเมียเดียวเหมือนกัน เพราะการเป็นผัวเดียวเมียเดียวมันปิดโอกาสในการสืบพันธุ์กับสายพันธุ์ที่ดี ตัวผู้มีหน้าที่กระจายพันธุ์ให้มากที่สุด หน้าที่เลี้ยงลูกเป็นของตัวเมีย ธรรมชาติกำหนดมาแบบนั้น และสัตว์มันก็เลี้ยงได้ เพราะเกิดมาไม่นาน ลูกมันก็เดินได้ หาอาหารกินเองได้
แต่พอเป็นมนุษย์ กว่าจะเคี้ยวข้าวเองได้ก็ 2-3 ปี แถมกว่าจะดูแลตัวเองได้ก็ยังต้องเลี้ยงต่อไปอีกหลายปี มนุษย์เราจึงต้องวิวัฒนาการต่อจากลิง ในเมื่อต้องใช้เวลาเลี้ยงลูกนานกว่าและแม่คนเดียวเลี้ยงไม่ไหว ก็เลยมีกลไกให้พ่อติดแม่ ให้ผู้ชายติดผู้หญิง ให้โดปามีนหลั่งอีกครั้งในช่วงตั้งครรภ์และอาจจะยาวไปจนถึงปีแรก แล้วจากนั้นก็ค่อยเเปลี่ยนเป็นออกซิโตซิน จริงๆ เหมือนกับเราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอยู่ และก็อาจจะวิวัฒนาการต่อไปอีกจากนี้
ถึงแม้ว่าเราจะอธิบายการรักใครสักคนด้วยฮอร์โมนในร่างกาย แต่ในความเป็นจริงก็จะมีเรื่องของปัจจัยรอบข้างที่แตกต่างออกไปเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วสัดส่วนของฮอร์โมนกับประสบการณ์รอบข้างที่มีผลต่อความรักความสัมพันธ์นั้นเป็นยังไง
ต้องเข้าใจก่อนว่า ความรู้สึกหรือความคิดทั้งหลายที่เรามีเกิดจากสมอง และสิ่งที่ทำให้สมองทำงานก็คือฮอร์โมนหรือสารเคมีในสมองซึ่งมันก็มีมากมายมหาศาล และทำงานกันตลอดเวลา เพียงแต่ประสบการณ์ที่เข้ามา จะเป็นตัวกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงเซลล์ประสาทของสมองให้สร้างโครงข่ายที่เหมาะกับประสบการณ์ที่เจอ เช่น ถ้าผมถูกแฟนทิ้งบ่อยๆ ผมก็จะเศร้าเสียใจและเจ็บปวด สมองผมก็จะสร้างโครงข่ายของเซลล์ประสาทที่กระตุ้นให้ผมระแวดระวังเมื่อเกิดความรักขึ้น แล้วเมื่อผมกลายเป็นคนระแวงในความรัก มันก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังคนรอบข้าง เขาอาจจะรู้สึกว่าผมเป็นคนปิดกั้นตัวเองและอาจจะถอยห่างจากผมมากขึ้น ผมก็จะยิ่งระแวงความรักมากขึ้นไปอีก โครงข่ายของเซลล์ประสาทก็โยงใยจนแข็งแรงมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นแล้ว ประสบการณ์กับพฤติกรรมของสมองมันเลยเกี่ยวข้องกันแบบแยกกันแทบไม่ได้
พูดถึงเรื่องอกหัก เราอธิบายด้วยหลักเดียวกันได้ไหม
เคยมีการแสกนสมองของคนอกหัก นักวิจัยเขาพบว่าเหมือนคนที่เลิกยาแล้วอยากยา เกิดจากการที่โดปามีนหลั่งเหมือนกัน คือจริงๆ โดปามีนจะทำงานในช่วงตกหลุมรักกับช่วงอกหัก ทำให้เกิดอาการคล้ายกัน เพียงแต่ช่วงตกหลุมรักมีอีกคนหนึ่งอยู่ แต่ช่วงอกหักไม่มีอีกคนอยู่แล้ว
แล้วอกหัก หมอรักษาได้ไหม
การพูดคุยบำบัดก็เป็นวิธีการรักษาที่ส่งผลกับสารสื่อประสาทและเซลล์ประสาท แต่ถ้าหมายถึงว่ามียาที่ช่วยรักษาอาการอกหักได้ไหม ก็มียาโรคซึมเศร้าหลายตัวสามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เพราะทั้งสองอย่างมีกลไกที่ใกล้เคียงกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ารู้สึกแย่มากๆ ยังไงก็แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาครับ
เห็นในหนังสือเล่มใหม่ หมอปีย์เขียนถึง ‘ทฤษฎีของความเหงา’ เรื่องนี้นี่เอาหลักอะไรมาอธิบาย
ความเหงานี่เป็นอะไรที่นักวิทยาศาสตร์ทำวิจัยค่อนข้างยาก แต่ก็มีหลายคนพยายามทำอยู่ แต่ผมเลือกใช้จิตวิทยาวิวัฒนาการในการอธิบาย คือเราต้องเข้าใจก่อนว่ามนุษย์เราหรือสปีชี่ส์ homo sapiens เกิดขึ้นมาราวๆ สองแสนปีหรือก่อนนั้น เราเคยอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ ในป่ามาตลอด จนเมื่อไม่กี่พันปีก่อน เราก็ย้ายมาอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่คนเยอะๆ แบบทุกวันนี้ นั่นแปลว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของช่วงเวลาที่เราวิวัฒนาการมา เราไม่ได้ดำรงชีวิตแบบที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้
ประกอบกับว่าเราเป็นสัตว์ที่อ่อนแอเมื่อเทียบกับสัตว์ที่น้ำหนักพอๆ กับเรา หรือสัตว์ที่เคยอยู่ร่วมในป่ากับเรา เราสู้เสือ จระเข้ สิงโตไม่ได้ แม้แต่ชิมแปนซี เราก็สู้มันไม่ได้ อาวุธอย่างเดียวของเราในสมัยก่อนคือการอยู่เป็นฝูง และการหลงฝูงจึงนับเป็นภาวะที่อันตรายมากๆ กับชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้เรารู้สึกทนไม่ได้กับการต้องถูกแยกออกจากฝูง แล้วเราก็เรียกความรู้สึกหลงฝูงนั้นว่า ‘ความเหงา’
ที่หลายคนชอบบอกกันว่าเวลาหนาว คนจะยิ่งรู้สึกเหงา อันนี้พิสูจน์ได้หรือเปล่า
สองอย่างนี้มันมีกลไกคล้ายๆ กัน คือทั้งความเหงาและความหนาว เราต้องการการอยู่ร่วมกับคนอื่นเหมือนกัน
ต่อไปในอนาคต คิดว่าจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยจัดการความรักให้มีประสิทธิภาพได้ไหม
ตอนนี้เราก็มีเทคโนโลยีไว้ใช้หาคู่เยอะแยะนะ ทั้งแชท ทั้งโซเชียลมีเดีย ทั้งแอพฯ หาคู่ เพียงแต่ผมเคยดูคลิปอันนึงของ Dan Ariely ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เขาบอกว่าเทคโนโลยีพวกนี้มันกลับทำให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวเลือกอื่นๆ มากมาย ทำไมต้องมาทนทุกข์กับคนที่อยู่ข้างๆ ตอนนี้ด้วย กลายเป็นว่าย้อนแย้งเข้าไปอีก
ยังไงเราก็เชื่อว่า สุดท้ายยังไงสมองของคนเราก็ยังเป็นสมองที่ไม่ต่างจากเมื่อห้าหมื่นปีก่อน เรายังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้คุ้นเคยกับแอพฯ พวกนี้ เรายังเป็นมนุษย์ที่คุ้นเคยกับการปฏิสัมพันธ์กับคนตรงหน้าจริงๆ มากกว่า
Photos by Adidet Chaiwattanakul