เวลาพูดถึงประเด็น ‘คนพิการ’ เราก็มักจะก้าวไม่ค่อยพ้นเรื่องของความสงสาร สิทธิ หรือการช่วยเหลือจากสังคม
แต่บนเวที ThisAble Talk ที่จัดขึ้นโดย ThisAble.me เมื่อวานนี้ เป็นเวทีที่คนพิการและคนที่ทำงานกับคนพิการมาชวนกันคุย ชวนกันวิ่ง ชวนกันเที่ยว ชวนกันคิด และชวนกันออกแบบชีวิต จนทำให้ทอล์กเรื่องคนพิการไม่น่าสงสาร แต่กลับสนุกสนานและสร้างแรงบันดาลใจ
และนี่คือสิ่งที่ The MATTER อยากชวนอ่านชวนคิด จากงาน ThisAble Talk ครั้งนี้
เราก็คน เขาก็คน คุณค่าความเป็นคนบนพื้นที่ของสังคม
“คุณว่าอะไรเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดสำหรับคนตาบอด?” ท็อฟฟี่ โสภณ ผู้ร่วมเล่นละครใน The Blind Theatre Thailand ตั้งคำถามกับผู้ชมเมื่อเขาก้าวขึ้นมายืนบนเวที
“สำหรับผม คือการเคลื่อนไหว การออกมาใช้ชีวิตข้างนอกครับ” ใช่แล้ว ท็อฟฟี่เป็นผู้พิการทางสายตา ผู้ที่กลัวการใช้ชีวิตบนโลกภายนอก จนความกลัวนั้นทำให้เขารู้สึกว่า จากคนที่มีไม่ครบ 32 อยู่แล้ว กลับยิ่งมีน้อยลงไปอีก ในขณะที่ สันติ รุ่งนาสวน บอกผู้ชมว่า 5 ปีหลังประสบอุบัติเหตุ เขาได้แต่นอนอยู่บนเตียง รอคอยความช่วยเหลือ ใช้ชีวิตตามคนอื่นสะดวก จะกินเมื่อไหร่ จะอาบน้ำตอนไหน ก็ต้องแล้วแต่คนดูแล แต่สุดท้ายทั้งสองคนก็ได้ค้นพบจุดเปลี่ยนบางอย่าง ที่ทำให้พวกเขามาอยู่บนเวทีนี้ได้ ออกมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างภาคภูมิใจและไม่หวาดกลัวอีกต่อไป
สำหรับท๊อฟฟี่ ละครคือพลังความกล้าที่ทำให้เขาเอาชนะความกลัวการเคลื่อนไหวได้ เขาบอกว่ากระบวนการของละคร ไม่ใช่แค่ทำให้รู้ว่าเราเป็นใคร แต่ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายสำหรับคนที่มองไม่เห็นอีกด้วย “มันทำให้รู้ว่าผมเคลื่อนไปทางไหนได้บ้าง คิดดูว่าคนพิการจะเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายได้ยังไง ในเมื่อไม่เคยมองเห็น” แล้วท็อฟฟี่ก็ได้ใช้เวทีนี้แสดงให้ผู้ชมได้ดูว่า การเคลื่อนไหวมันคืนชีวิตให้กับเขายังไง
ส่วนสันติก็เล่าถึงวันที่เขาตัดสินใจลุกออกจากเตียงมาใช้ชีวิต เพราะการเข้ามาของเพื่อนคนพิการที่เข้ามาชวนคุย มาชวนคิด มาถามเขาว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร “ผมคิดอยู่นาน แล้วก็ตอบไปว่าอยากเลี้ยงไก่ชน แต่จะทำได้ยังไงเมื่อผมยังนอนอยู่บนเตียง ผมก็เลยลองยกตัวขึ้น เออ มันก็ขึ้นนี่หว่า แล้วทำไมที่ผ่านมาถึงทำไม่ได้” วันที่เขาตัดสินใจลุกขึ้นมา กลายเป็นวันที่เขาทำตามความต้องการของตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือที่คนอื่นหยิบยื่น “ผมรู้สึกถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์มากขึ้น ได้กินที่อยากกิน ได้ทำที่อยากทำ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง”
และสันติก็เกิดความรู้สึกอยากส่งต่อสิ่งนี้ให้คนพิการคนอื่นบ้าง จึงได้ตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑลขึ้น เขามุ่งมั่นที่จะคืนชีวิตให้กับเพื่อนคนพิการ ด้วยการลงพื้นที่ไปพูดคุย “หลักการคือเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง สิ่งที่ทำคือไปเป็นเพื่อนชวนคุยชวนคิด ให้เขาทบทวนและเห็นศักยภาพในตัวเอง ให้เขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้”
ผมบอกกับตัวเองว่า จะไม่เอาความพิการมาใช้เป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
อีกหนึ่งคนพิการที่เป็นตัวอย่างของการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างน่าชื่นชม คือโสภณ ฉิมจินดา พิธีกรรายการท่องเที่ยว ล้อ เล่น โลก ผู้นั่งวีลแชร์โบกรถเที่ยวทั่วประเทศไทย โสภณเล่าให้ฟังถึงวันที่เปลี่ยนจากคนที่ใช้สองขาเดินทางไปทั่วประเทศ กลายมาเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุจนต้องนั่งอยู่บนรถเข็น “วันนั้นผมเกิดคำถามขึ้นมากมาย ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง ก่อนหน้านั้น ผมไม่เคยมีความรู้เลยว่าความพิการมันเป็นยังไง เวลาเราพูดถึงคนพิการ ก็จะนึกถึงแค่คนขายล็อตเตอรี่ คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนที่ต้องรอการสงเคราะห์ ต้องรอความช่วยเหลือ บางครั้งยังคิดไปไกลถึงคนที่ไม่มีศักยภาพ เพราะเราไม่เคยมีแบบอย่างหรือองค์ความรู้ในสังคม ให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจคนพิการจริงๆ”
แม้จะไม่เข้าใจความพิการในวันที่ต้องเปลี่ยนมาเป็นคนพิการ แต่โสภณก็บอกว่าเขาไม่กล้าท้อ ไม่กล้าทุกข์ ไม่กล้าเศร้า“ฟูมฟายไปก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ถ้าเราแย่ คนที่แย่กว่าก็คือคนรอบข้าง” แล้วเขาก็ใช้ความเข้มแข็งนั้น ฟื้นฟูตัวเอง แล้วกลับสู่สังคม กลับมาโบกรถเดินทางตามหาความสุขอีกครั้ง
“ผมบอกกับตัวเองว่า จะไม่เอาความพิการมาใช้เป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ก่อนพิการเคยใช้ชีวิตยังไง มีความสุขกับอะไร ผมก็ยังทำอย่างนั้น” สำหรับโสภณแล้ว สิ่งสำคัญของคนพิการ คือก้าวแรกที่กล้าออกจากบ้าน และการเดินทางก็ไม่ใช่ความลำบาก แต่คือการได้ออกไปอยู่ในพื้นที่ของสังคม ได้ออกไปชื่นชมความงดงามของโลก
มาหากินกับคนพิการกันเถอะ
“เราหากินกับคนพิการครับ” ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอ พูดอย่างภาคภูมิใจเมื่อก้าวขึ้นสู่เวที เขาผลิตอุปกรณ์วาดรูปสำหรับเด็กตาบอด ไม่ได้ผลิตเพื่อบริจาค แต่ทำเพื่อ ‘ขาย’ ใช่ เขาขายของให้คนพิการ หากินกับคนพิการแบบที่เขาบอก “ผมเป็นคนไม่เชื่อในของฟรี รู้สึกว่าเวลาได้ของฟรี จะไม่เห็นคุณค่าเมื่อเทียบกับจ่ายเงินซื้อ”
ฉัตรชัยให้เหตุผลในการขายของให้กับคนพิการว่า การให้ที่มากไป ให้อย่างไม่มีขอบเขต ให้อย่างไม่มีเหตุผล จะสร้างทำให้คนพิการรู้สึกว่าต้องรอรับตลอดเวลา ทำให้พวกเขาเสพติดการให้ ดังนั้นเขาจึงพยายามทำอะไรเพื่อคนพิการและเพื่อความรู้สึกเท่าเทียมของคนพิการ โครงการที่ตามมาคือ ‘วิ่งด้วยกัน’ โครงการที่ให้คนตาดีมาวิ่งเป็นเพื่อนกับคนตาบอด
“จริงๆ มีคนจัดงานวิ่งคนพิการหลายโครงการ แต่โดยส่วนมากเป็น CSR ที่เสนอผลตอบแทนให้คนพิการที่เข้าร่วม แต่งานนี้ผมไม่มีอะไรให้นอกจากสุขภาพและมิตรภาพ ผมบอกเขาว่า ผมไม่จ้างคุณออกกำลังกายนะ” ฉัตรชัยต้องการให้งานนี้เน้นย้ำเรื่องความเท่าเทียม เขาบอกกับอาสาสมัครที่มาช่วยด้วยว่า “คุณไม่ได้มาทำบุญนะ คุณแค่มาพาเพื่อนอีกคนวิ่งไปด้วยกัน” เพื่อตอกย้ำเรื่องความเท่าเทียมให้ชัดเจน ฉัตรชัยจึงตัดสินใจเก็บเงินค่าเข้าร่วมจากคนพิการด้วย โดยบอกว่าจะจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ “บางคนจ่ายเงินเท่าอาสาสมัครเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะจ่ายน้อยกว่า เขาเลือกแล้วว่าประโยชน์ที่เขาได้มันมากกว่าเงินที่เขาเสียไป”
ฉัตรชัยมองว่าการเปิดโอกาสให้คนพิการได้จ่ายเงิน คือการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงจุดยืนของความเท่าเทียม ฉัตรชัยยังบอกอีกว่า การหากินกับคนพิการ จริงๆ มันทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น เพราะการจะหากินกับใครสักคน ต้องเข้าใจปัญหาเขา ต้องทำการเรียนรู้เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่แก้ปัญหาให้เขา ต้องทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ก็เลยเหมือนการทำความเข้าใจและช่วยเหลือคนพิการไปในตัว ฉัตรชัยจึงเชิญชวนผู้ชมก่อนก้าวลงเวทีว่า “มาครับ มาหากินกับคนพิการกัน”
การออกแบบมันมาจากความคิดและทัศนคติ มันจะดีกว่าไหม ถ้าเอาคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความรัก ความเชื่อมั่น และความศรัทธาในความเป็นมนุษย์มาใส่ไว้ในการออกแบบด้วย
ออกแบบอย่างใส่(หัว)ใจ
‘ไม่มีหรอกคนพิการ สภาพแวดล้อมต่างหากที่พิการ’ คำกล่าวนี้อาจจะฟังดูอุดมคติไปหน่อย แต่มันก็ไม่ได้เกินจริง เมื่อได้ฟังสิ่งที่ เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการเล่า “ความท้าทายที่แท้จริงเกิดเมื่อกลับมาใช้ชีวิต เราออกจากบ้าน ก็ต้องเจอกับฟุตบาธที่ไม่มีทางลาดและมีเสาไฟฟ้าอยู่ตรงกลาง แท๊กซี่ที่ไม่ยอมให้เอารถเข็นขึ้น แต่ก็ไม่โทษเขานะ เข้าใจว่าเขาอยู่ในชุดความคิดของสังคมที่ไม่เปิดรับคนพิการ”
เสาวลักษณ์ เล่าให้ผู้ชมฟังเกี่ยวกับปัญหาการออกแบบทั้งในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงรูปแบบการบริการที่ไม่เอื้อต่อคนพิการ และเสาวลักษณ์ก็ได้ฝากให้ทบทวนถึงหัวใจของการออกแบบสิ่งต่างๆ ว่า “การออกแบบมันมาจากความคิดและทัศนคติ มันจะดีกว่าไหม ถ้าเอาคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความรัก ความเชื่อมั่น และความศรัทธาในความเป็นมนุษย์มาใส่ไว้ในการออกแบบด้วย” เสาวลักษณ์ยังบอกอีกด้วยว่า การออกแบบที่ดี จะช่วยย่นระยะเวลาในการพัฒนาศักยภาพของคนพิการ และช่วยให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมได้เร็วขึ้น ในขณะที่ กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ นักการละครผู้ก่อตั้ง The Blind Theatre Thailand ก็ได้ใช้หัวใจของการออกแบบที่เสาวลักษณ์พูดถึง ใส่เข้าไปในงานที่เขาทำด้วย
กฤษณ์อธิบายเรื่องการออกแบบในแง่มุมของการละครว่า “ในโลกของการสื่อสารผ่านละคร เราเริ่มจากละครวิทยุ ไปสู่ทีวี โรงหนัง 4D แต่กับคนตาบอด พวกเขาจบตั้งแต่ละครวิทยุละ ถึงจะมีคนบอกว่า หนังก็มีบทบรรยายภาพ (Audio Description) แต่ผมว่ามันคนละเรื่องกัน” กฤษณ์มองว่าการหาทางอยู่ร่วมกันที่บั้นปลายของสิ่งที่สร้างขึ้น อย่างสร้างหนังให้คนตาดี แล้วมี Audio Description ให้คนตาบอดก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การตั้งใจออกแบบอะไรบางอย่างที่จะอยู่ร่วมกันและใช้ร่วมกันได้ตั้งแต่แรก มีการวางกติการ่วมกันตั้งแต่แรก มันเป็นสิ่งที่ควรจะทำมากกว่า
เขาจึงทำ The Blind Theatre Thailand ขึ้น ผลตอบรับคือคนดูชอบมาก แต่เขากลับหยุดทำ เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์ มันเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนตาบอด และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเกิดคำถามว่า ที่เขาทำนั้นเพื่อคนพิการจริงๆ หรือเพื่อสนองความบันเทิงของคนปกติในการเสพประสบการณ์ใหม่กันแน่
เขากลับมาตั้งคำถามใหม่ว่า ละครกับคนพิการ ถ้ามันจะไปด้วยกันได้ มันจะเป็นรูปแบบไหน เขาได้ศึกษากรณีของ Heath Ledger ที่ไม่สามารถถอนตัวเองออกจากคาแรกเตอร์ของโจ๊กเกอร์ได้หลังผู้กำกับสั่งคัท จนนำไปสู่คำถามที่ว่ากระบวนการละครแบบไหนที่ทำให้นักแสดงถอนตัวเองออกจากบทละครไม่ได้ จากนั้นเขาก็ศึกษาและพัฒนาขั้นตอนการฝึกฝน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างคุณลักษณะที่ต้องการให้กับคนพิการได้ “ถ้าวันนี้มีคนพิการมาหาผม บอกว่าไม่มีความมั่นใจ ผมจะเขียนบทให้เขาต้องเล่นเป็นคนที่มั่นใจ แล้วใช้กระบวนการระหว่างทางที่ฝึกซ้อม ทำให้เขาเกิดความเชื่อว่าเขาเป็นคนมั่นใจ”
ก่อนลงจากเวที กฤษณ์ยังฝากไว้ให้ผู้ชมได้คิดว่า การที่หลายๆ คนขึ้นมาพูดในวันนี้ ไม่ได้อยากสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมเพียงอย่างเดียว
“เราอยู่กันในสังคมแห่งความฝัน สังคมสร้างแรงบันดาลใจ ตอนนี้เรามีแรงกันมากพอแล้ว ลงมือทำบ้างเถอะครับ”