“คนไทยบางส่วนมองแรงงานเมียนมาแบบไหน คนมาเลเซียบางส่วนก็มองแรงงานไทยแบบนั้น”
คือคำกล่าวของหญิงไทยรายหนึ่งที่ต้องไปใช้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน
คนไทยหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ (ซึ่งคำนี้มีนัยยะเชิงลบ บางคนจึงเสนอให้ใช้คำว่า ‘แรงงานต่างชาติ’ แทน) ที่หมายถึงคนสัญชาติอื่นที่มาทำงานในเมืองไทย แต่สำหรับชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดปลายสุดด้ามขวานของไทยน่าจะคุ้นหูคำว่า ‘แรงงานต้มยำกุ้ง’ เสียมากกว่า เพราะพวกเขาไม่เพียงรู้จักคำนี้ผ่านการบอกเล่าหรือเห็นกับตาเท่านั้น แต่นั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านของหลายๆ คน ‘เป็น’
แรงงานต้มยำกุ้ง คือชาวไทยที่มีบ้านเกิดอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางข้ามฝั่งไปทำงานในร้านอาหารไทยที่ประเทศมาเลเซีย จึงมีการนำเอาคำว่า ‘ต้มยำกุ้ง’ ซึ่งเป็นอาหารไทยยอดฮิตและมักมีอยู่ในเมนูของร้านอาหารไทย มาเป็นชื่อเรียกแรงงานกลุ่มนี้
ความยากจนมันน่ากลัว
ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักแรงงานในประเทศมาเลเซียของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในปี 2561 มีคนไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียทั้งหมดราว 200,000 คน โดยกว่าสามในสี่ จะทำงานในร้านอาหารหรือที่เรียกกันว่าแรงงานต้มยำกุ้งซึ่ง “ส่วนใหญ่เป็นการทำงานที่ใช้วีซ่าผิดประเภทและไม่มีใบอนุญาตทำงาน”
แรงงานต้มยำกุ้งมีทั้งที่ข้ามไปทำงานตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไปจนถึงวัยทำงาน โดยมักจะปักหลักอยู่ที่นั่นแรมปี เพื่อหาเงินส่งกลับมาที่บ้าน ขณะที่บางรายก็หาช่องทางสร้างเนื้อสร้างตัวจนได้เป็นเถ้าแก่ เป็นเจ้าของร้านอาหารเสียเอง
เคยมีผู้ให้ข้อมูลว่า แรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ทั้งที่เข้าไปแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และทั้งที่ทำงานในร้านอาหารและทำงานประเภทอื่น จะส่งเงินกลับบ้านรวมกันเฉลี่ยเดือนละหลายร้อยล้านบาท หากรวมทั้งปี จะอยู่ที่หลักหลายพันล้านบาท
คนเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นแค่ ‘แรงงาน’ แต่พวกเขาเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ เป็นความหวังของครอบครัว โดยปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้เลือกไปทำงาน ‘นอกบ้าน’ หลักๆ ก็มาจากปัญหาความยากจน เพราะในพื้นที่หางานทำได้ยาก
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งเริ่มเก็บข้อมูลและเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงฉบับล่าสุดของปี 2563 พบว่า สถานการณ์ความยากจนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดย จ.ปัตตานี ติดอันดับหนึ่ง ‘จังหวัดที่มีสัดส่วนคนยากจนสูงที่สุด’ 3 ครั้งในรอบ 5 ปีหลัง เช่นเดียวกับ จ.นราธิวาสที่แทบไม่เคยหลุดสิบอันดับแรกเลย และในช่วง 5 ปีหลังก็ติดท็อปไฟว์มาโดยตลอด ส่วน จ.ยะลา แม้สถานการณ์จะดีกว่าเพื่อนบ้านหน่อย ทว่าในปีล่าสุด ก็ยังติดอยู่ในอันดับที่เก้าของจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด
ต้นเดือน ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับแรงงานต้มยำกุ้งหลายคน พบว่าเหตุผลที่ต้องไปทำงานในต่างแดน นอกจากปัญหาความจน ยังรวมถึงการ ‘เข้าไม่ถึงการศึกษา’ จนปิดกั้นโอกาสที่จะได้ทำงานดีๆ ในบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุที่กล่าวมานั้นเป็นทั้งเหตุและผลให้กันและกัน จนแม้แต่ตอนนี้ก็ยังตอบยากว่า เพราะยากจนจึงไม่ได้เรียน หรือเพราะไม่ได้เรียนจึงยากจนกันแน่
อีกปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดแรงงานต้มยำกุ้ง ก็คือการ ‘ทรุดโทรมของทรัพยากร’ จนไม่สามารถใช้หาเลี้ยงชีวิตได้เช่นในอดีต ประกอบกับ ‘เหตุการณ์ความรุนแรง’ ที่ปะทุมาเกือบ 2 ทศวรรษ ทั้งหมดทั้งมวลผสมปนเปกันจนกลายเป็นแรงผลักให้ชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยต้องหันไปเสี่ยงโชคในต่างแดน เพื่อหารายได้ส่งกลับมาดูแลชีวิตครอบครัวที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
การดิ้นรนของชาวประมง
พื้นที่ชายแดนใต้เคยถูกยกย่องว่าอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะทรัพยากรในทะเล ชาวบ้านหลายคนจึงเลือกประกอบอาชีพประมง แต่โครงการของรัฐที่ถูกอนุมัติโดยรัฐบาลส่วนกลางก็เริ่มเข้ามาแทรกแซงและเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ยากที่แก้ไขให้กลับไปเป็นเช่นเดิม
‘อ่าวปัตตานี’ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโครงการพัฒนาของภาครัฐ อ่าวนี้เคยถูกชาวประมงในพื้นที่ยกให้เป็นธนาคารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทรัพยากรที่พวกเขาจะถอนออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแค่ต้องหมั่นดูแลธนาคารให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้อยู่เสมอ
แต่แล้วธนาคารของอ่าวปัตตานีก็เกิดเหตุสั่นคลอน หลังจากภาครัฐเข้ามาทำโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ในปี 2560 วงเงิน 665 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาการตื้นเขินของอ่าว ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับชาวประมงในพื้นที่อย่างมาก แต่มันกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะทรายที่ควรจะถูกนำไปทิ้งที่ทะเลนอก กลับถูกนำเอากองไว้กลางทะเลจนกลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ขวางเส้นทางเดินน้ำ และกระทบกับชีวิตสัตว์ในทะเล
เมื่อท้องทะเลไม่สามารถมอบทรัพยากรสัตว์น้ำได้มากเท่าเดิม ชาวประมงบางส่วนเลยเริ่มหันไปใช้อุปกรณ์จับสัตว์ผิดกฎหมายอย่าง ‘ลอบพับ’ หรือไอ้โง่ ตามปกติแล้วชาวประมงจะจับปลาด้วยอวน ซึ่งมีความถี่ของตาข่ายที่พอดี ทำให้ขังเฉพาะสัตว์ใหญ่ ส่วนสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ยังอยู่ในช่วงเติบโตจะหลุดรอดไปได้ แต่การใช้ลอบพับ ซึ่งมีขนาดตาข่ายถี่ ทำให้จับได้ทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ขึ้นมาในทีเดียว และจับได้ทีละจำนวนมาก ยิ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศ และทำให้สัตว์น้ำในทะเลลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว
แล้วปัญหาเช่นนี้เกี่ยวข้องกับการจากบ้านเกิดไปเป็นแรงงานที่มาเลเซียอย่างไรบ้าง
มะยูโซ๊ะ สะมาแอ แรงงานต้มยำกุ้งที่ตัดสินใจหันหลังให้อาชีพประมงและไปเริ่มทำงานในร้านอาหารไทยที่ประเทศมาเลเซีย เล่าว่า ก่อนโครงการจะมา เราอยู่กันแบบธรรมชาติ ไม่ลำบากมาก แต่พอโครงการมา หากินยากไม่เหมือนสมัยก่อน ถ้ายังมีทรัพยากรอยู่ เราก็คงไม่อยากไปไหน เวลาอยู่ที่ประเทศมาเลเซียแต่ใจอยู่กับบ้าน เวลาทำกับข้าวก็คิดถึงบ้าน คิดว่าครอบครัวจะเป็นอย่างไรบ้าง
“ตอนไปแรกๆ ก็ไปล้างจาน เก็บจาน เก็บแก้วที่ลูกค้ากินเสร็จใส่หม้อนำไปล้าง ได้เงินวันละ 150 บาท กว่าจะได้เงินนะ น้ำตาไหลเลย เข้างานสี่โมงเย็นออกงานตีสาม ทำงานไปน้ำตาไหลไป อยู่ไม่ได้ก็ต้องอดทน เราล้างจานอย่างเดียวมาเกือบปี ลำบากจริงๆ ไม่ไหวก็ต้องสู้ เพราะถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีเงินกิน ก็ทำอยู่เป็นปี พยายามส่งเงินกลับบ้าน”
ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย มะยูโซ๊ะยังเดินทางไปๆ กลับๆ ระหว่างบ้าน เพราะใจอยากกลับมาเริ่มต้นชีวิตประมงอีกครั้ง เมื่อสะสมเงินได้ประมาณหนึ่ง เลยเอากลับมาลงทุนซื้ออวน ซื้อเรือ ซื้อเครื่อง แม้พ่อจะเตือนว่าอย่าทำ มันไม่คุ้ม เพราะทะเลไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เขาก็ยังเลือกจะเดินตามความเชื่อตัวเอง จนสุดท้ายเมื่อเกิดการระบาด COVID-19 ที่ทำให้ต้องกลับมาอยู่บ้าน เขาจึงรู้ว่าทะเลเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ
“พอเกิด COVID-19 กลับมาเราก็หวังจะหารายได้จากทะเล แต่มันไม่เป็นแบบนั้น เพราะทะเลไม่เหมือนเดิม แต่ก่อนออกเรือ 2 ชั่วโมง จับปลาไปขายได้เงิน 800-1,000 บาท พอหลังๆ ออกไปครั้งหนึ่ง บางทีค่าน้ำมันยังไม่พอเลย”
เมื่อถามว่าอยากให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างไร มะยูโซ๊ะตอบว่า ไม่ต้องเข้ามาทำอะไรแล้ว ไม่ต้องเข้ามาขุดทราย (ลอกอ่าวปัตตานี) ให้มันเป็นเหมือนเดิม แล้วมาเอาทรายที่กองอยู่ออกไป เพราะเขาขุดแล้วทิ้งไว้ที่นี่ จะปล่อยอวนก็ไม่ได้ กระแสน้ำไม่แรง
ความรุนแรงที่ผลักไสผู้คน
เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นปัญหาที่ซับซ้อน มีปัจจัยที่เกี่ยวโยงกันหลายมิติ ทั้งในเชิงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ศาสนา การศึกษา ความยุติธรรม ความมั่นคง ฯลฯ จนยากจะบอกได้ว่า ปัญหาดังกล่าวจะยุติลงเมื่อใด แม้ภาครัฐจะทุ่มงบลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาแล้วเกินกว่า 300,000 ล้านบาท
ความไม่สงบที่ยืดเยื้อกระทบต่อชีวิตของคนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลือกไปใช้แรงงานในประเทศมาเลเซีย
นิมัสนา เลาะนะ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกถึง 3 คน เป็นอีกหนึ่งแรงงานต้มยำกุ้งที่ไปทำงานร้านอาหารไทยในเมืองยะโฮร์บาห์รู ตั้งแต่ปี 2558 เล่าว่า เดิมทำงานในร้านอาหารที่อยู่ใน 3 จังหวัด แต่หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบถี่ขึ้น ร้านที่ทำงานอยู่ ต้องปิดบ่อยๆ เจ้าของจึงตัดสินใจคัดคนออก และหวยมาตกลงที่เธอ จนทำให้กลายเป็นคนว่างงานในท้ายที่สุด
“พอลูกเริ่มโต ค่าใช้จ่ายต่างๆ เยอะขึ้น เลยตัดสินใจไปทำงานที่นู่น บวกกับสถานการณ์ในบ้านที่พอกระทบกระเทือนหน่อยก็.. (เงียบ) เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากจากบ้านเกิด เพราะเป็นคนที่นี่ แต่เราจำเป็นต้องไป สิ่งเหล่านี้มันกระทบเราหลายอย่าง แต่ไม่สามารถอธิบายให้คนอื่น รับรู้ความในใจเราได้”
งานของนิมัสนาที่ประเทศมาเลเซีย คือการเป็นผู้ช่วยกุ๊ก มีรายได้เดือนละ 7,000 บาท หักค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 2,000 บาท ทำให้พอมีเงินเหลือเก็บอยู่บ้าง
มูหัมหมัด ยีเด่น ชายวัยใกล้เกษียณ ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตในฐานะแรงงานต้มยำกุ้ง เริ่มเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียเพราะตามเพื่อนไป ด้วยเหตุผลเรื่องเงิน เริ่มจากอาชีพชงน้ำได้เงินวันละ 500 บาท ก่อนจะย้ายไปทำอาหาร ได้เงินน้อยลงมานิดหน่อย แต่ก็ยังพอประทังชีพได้
หนึ่งในเหตุผลที่มูหัมหมัดไม่คิดกลับมาทำงานใน 3 จังหวัดคือเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น
แต่สถานการณ์ COVID-19 ที่ทางการมาเลเซียประกาศปิดด่าน ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.2563 ทำให้ทั้งแรงงานต้มยำกุ้งหลายๆ คน รวมถึงมูหัมหมัดต้องกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย
“2 ปีที่กลับมา ลำบากมาก เพราะอายุมากแล้ว ไปสมัครงานเขาก็ไม่รับ มันเคว้งไปหมด ตอนนี้อายุ 57 ปีแล้ว อีก 3 ปีก็จะได้เบี้ยคนชรา แต่มันน้อยมาก ไม่พอกินหรอก
“จริงๆ ผมมีเมีย แต่แยกกันแล้ว เป็นคนไทยที่ไปเจอที่มาเลเซีย มีลูก 2 คนอยู่กับเขา แต่ไม่ได้เจอลูกมา 2 ปีแล้ว คิดถึง อยากไปหา แต่ไม่มีเงิน ไปไม่ได้ ถึงจะอยู่ใกล้กัน แต่จะไปหาตัวเปล่ามันทำไม่ได้ ลูกกำลังเรียน พ่อไม่มีเงินติดไม้ติดมือไปเลย ไม่กล้าเผชิญหน้ากับลูก”
เราถามว่า วางแผนชีวิตหลังจากนี้โดยเฉพาะเมื่ออายุเข้าวัยเกษียณแล้วอย่างไรบ้าง มูหัมหมัดตอบว่า ไม่ได้วางแผนอะไร ตอนนี้เหมือนอยู่ให้วันนี้ผ่านไป แล้วพรุ่งนี้ก็ผ่านไป
เวลาพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนที่ไม่เคยไปอาจรู้สึกห่างไกล ด้วยความแตกต่างจากอัตลักษณ์ ภาษา ศาสนา และวิถีชีวิต ทั้งที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่คนในพื้นที่ปรารถนาก็ไม่ต่างจากคนไทยในพื้นที่อื่น นั่นคือการได้กินอิ่ม นอนหลับ มีงานทำ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้อยู่ใกล้กับครอบครัวและคนที่พวกเขารัก