เคยรู้สึกถึงความกดดันว่าตัวเองกับแฟนมีเซ็กซ์กันน้อยเกินไปหรือเปล่า?
เขาว่ากันว่าเซ็กซ์มีผลดีต่อสุขภาพทั้งกาย ใจ และความสัมพันธ์ พอรู้อย่างนั้นก็เกิดคำถามขึ้นในหัวว่า การไม่มีเซ็กซ์มากพอทำให้รู้สึกว่าคู่ของเรากำลังผิดปกติอะไรอยู่หรือเปล่า? คู่ของเราแปลกแยกมั้ย? เราหรือแฟนกำลังมองข้ามความรับผิดชอบของเราในฐานะคนรักรึเปล่า? บางครั้งมันไปถึงขั้นที่เราวิตกกังวลว่าหรือนี่เป็นสัญญาณบอกว่าเรากับแฟนกำลังเบื่อกันและกันหรือเปล่า
แต่ไม่จำเป็นว่ามันเป็นอย่างนั้น การเหนื่อยเกินจะมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติของผู้ใหญ่ในโลกปัจจุบันอย่างมาก และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพียงแต่ว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับการงาน สุขภาพจิต และตัวตนที่ต้องทำความเข้าใจกัน
การแบกชีวิตผู้ใหญ่มีผลกับความต้องการทางเพศ
ในงานวิจัยเกี่ยวกับความแตกต่างในพฤติกรรมการนอนของคนต่างชาติพันธุ์โดย National Sleep Foundation พบว่าในกลุ่มตัว 1,007 คนจากทุกชาติพันธุ์มีพฤติกรรมการนอนแตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมที่ในทุกกลุ่มมีคือ 25% ของคู่รักที่อยู่ด้วยกันอธิบายเซ็กซ์ไลฟ์ของตัวเองว่า ‘เหนื่อยเกินกว่าจะมีเซ็กซ์’
ในงานวิจัยโดย ดร. เรเชล เลเพราต์ (Rachel Leproult) จาก Université libre de Bruxelles พบว่าการนอนไม่พอทำให้ผู้ชายมีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำลง ส่วนในผู้หญิงนั้นคุณภาพการนอนและความต้องการทางเพศเพิ่มและลดพร้อมๆ กัน โดยมีงานวิจัยโดยดร. เดวิด คาล์มบาค (David Kalmbach) นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์ Henry Ford บอกว่าผู้หญิงที่นอนดีกว่า เหนื่อยน้อยกว่า จะหลั่งฮอร์โมนเครียดคอร์ติซอลที่ลดเทสโทสเตอร์โรนน้อยกว่า นำไปสู่ความต้องการทางเพศที่มากขึ้น
หากเรามองไปยังชีวิตของตัวเองทุกวันนี้เหนื่อยมากขนาดไหน ไม่ว่าจะการเดินทางในถนนประเทศไทย งานการที่ต้องเจอทุกๆ วัน ไปจนการนอนไม่พอ หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมในการนอนที่ทำให้หลับไม่สนิท ทั้งหมดมีผลต่อความต้องการทางเพศของคนคนหนึ่ง
นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว แรงขับทางเพศภายในของแต่ละคนไม่เท่ากันอีกด้วย บางคนสามารถอยู่ได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์เดือนละครั้ง หรือหลายๆ เดือนครั้ง แต่สำหรับหลายๆ คนก็ต้องการทุกวันก็ได้ ฉะนั้นความต้องการมีเซ็กซ์ไม่ได้เชื่อมเพียงกับความใกล้ชิดในความสัมพันธ์เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม การงาน ร่างกายและสุขภาพอีกด้วย
ถึงจะไม่อยากทำ แต่เซ็กซ์ควรเป็นหน้าที่หรือเปล่า?
คำนิยามของความสัมพันธ์ และขอบเขตว่าหน้าที่ของคู่รักมีอะไรบ้างนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคู่และแต่ละเพศ แต่เซ็กซ์กับความสัมพันธ์นั้นเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่ามาคู่กันในระดับหนึ่ง ‘เราพบว่าถ้าคู่ไหนมีเซ็กซ์ไลฟ์ที่ดี นั่นคือมีเซ็กซ์อย่างสม่ำเสมอและไม่มีปัญหาใหญ่อะไร นั่นเป็นประมาณ 15-20% ของความพึงพอใจในความสัมพันธ์’ ดร. ลอรี่ มินซ์ (Laurie Mintz) นักบำบัดเรื่องเพศกล่าว
แต่ในความสำคัญนั้นคู่รักควรจัดมันเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหรือไม่? ยังไงการเติมเต็มคู่รักของตัวเองก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้วจริงไหม? สมมติว่าตัวเราเองต้องการมีเพศสัมพันธ์ แต่คู่รักไม่ต้องการมีไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ถ้ามองว่าความต้องการของทั้งสองฝั่งสำคัญทั้งคู่ เราจะตัดสินใจว่ามีหรือไม่มีเซ็กซ์กันจากอะไร?
หากลองก้าวเท้าถอยออกจากคำว่าความต้องการสักนิด สิ่งที่เราจะเห็นคือผลกระทบของการกระทำ ในกรณีนี้โฟกัสที่ผลกระทบของการมีเซ็กซ์โดยไม่ต้องการคืออะไร?
ดร. ไมเคิล แอรอน (Michael Aaron) นักจิตบำบัดเรื่องเพศจากนิวยอร์กกล่าวกับ New York Post ว่าเซ็กซ์กับคู่รักจะแย่ลงเมื่อมันกลายเป็นหน้าที่ ‘ผู้คนจะหลีกเลี่ยงการมีเซ็กซ์เมื่อมันรู้สึกเซื่องซึมและเป็นข้อบังคับ’ ซึ่งเมคเซนส์ถ้าเราเทียบมันกับการเอาความชอบส่วนตัวมาเป็นงาน เมื่ออะไรก็ตามเปลี่ยนจากความเสน่หาเป็นหน้าที่แล้ว ไม่ว่าขั้นตอนการทำจะสนุกขนาดไหนความรู้สึกว่าเรากำลังแบกรับภาระบางอย่างนั้นไม่อาจเอาออกไปจากหัวได้
หากพูดในมิติของเพศในคู่รักหญิงชาย ตามสถิติแล้วผู้หญิงมักมีแรงขับเคลื่อนทางเพศเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชาย ข้อมูลนี้มักถูกลดทอนและเหมารวมเป็นความเชื่อว่า ‘ผู้ชายมีความต้องการทางเพศตลอดเวลา’ ผลคือเมื่อถูกกดดันให้มีเพศสัมพันธ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในใจระหว่างเพศชายและหญิงจึงแตกต่างกันออกไป หากเป็นผู้หญิงถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรู้สึกว่า ‘ถูกใช้’ และยอมจำนน เนื่องจากมันถูกทำให้เป็นธรรมชาติของผู้ชายที่ต้องการจะอยากมีเพศสัมพันธ์ตลอดเวลา ตามที่ดร. ลอเรล สไตน์เบิร์ก (Laurel Steinberg) นักเพศศาสตร์ชาวอเมริกันบอก
แต่หากเป็นผู้ชายที่ถูกบังคับล่ะ? ผลของมันตรงกันข้ามเลยทีเดียว จากการเหมารวมที่กล่าวถึงไป ความไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์นั้นสามารถถูกตีความเป็นคำว่า ‘ไม่แมนพอ’ ได้ ทั้งจากคู่รักและจากตัวเอง ‘เรามีการเหมารวมว่าผู้ชายต้องการเซ็กซ์ตลอดเวลา และผู้หญิงเหนื่อยตลอดเวลา…และหากผู้ชายไม่ต้องการมัน ความเป็นชายของเขาจะถูกตั้งคำถาม’ ดร. อเล็กซิส โคเนอสัน (Alexis Coneson) นักจิตวิทยากล่าว
นอกจากคู่รักแล้ว อีกแหล่งความกดดันใหญ่ๆ คือเหล่าคอนเทนต์สุขภาพที่เราพบเห็นแทบจะทุกวันเกี่ยวกับผลพลอยได้แง่บวกของการมีเซ็กซ์ ไม่ว่าจะการเพิ่มความสุข ลดความเครียด หลั่งฮอร์โมนเพิ่มความผ่อนคลาย เพิ่มความเร็วในการเผาผลาญ ฯลฯ คอนเทนต์เหล่านี้มักวาดภาพให้เราเห็นว่าเซ็กซ์คือยารักษาโรคเอนกประสงค์ ที่ช่วยเติมเต็มทุกอย่างที่เราต้องการไม่ว่าจะทางกายหรือใจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้หลายอย่างจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ แต่อีกสิ่งที่คอนเทนต์เหล่านั้นสร้างขึ้นได้นอกจากความรู้คือความกดดันที่เกิดขึ้นภายใน คำถามที่เราถามตัวเองเช่นถ้าแฟนเหนื่อยมีเซ็กซ์กันแล้วน่าจะหายหรือเปล่า หรือถ้าเราเครียดมีอะไรกันคงหายเครียด ถ้าไม่มีอะไรกันเราจะสูญเสียความสัมพันธ์และโอกาสที่จะได้รับผลพลอยได้ดีๆ พวกนี้รึเปล่า ซึ่งสิ่งที่คอนเทนต์เหล่านี้ไม่ค่อยได้บอกคือผลของการกดดันตัวเองหรือคู่รักมีเพศสัมพันธ์นั้นมีมากกว่าผลแง่บวกเยอะมาก
การบังคับหรือตื้อให้คนที่ไม่อยากทำมามีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้นถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นแฟนหรือคู่สมรสกันก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาความต้องการทางเพศไม่เท่ากันระหว่างคู่รักนั้นคือการเข้าพบนักบำบัดเรื่องเพศหรือคู่สมรสโดยตรง เนื่องจากความแตกต่างระหว่างคู่นั้นทำให้ไม่มีคำตอบเดียวที่จะแก้ปัญหาของทุกคู่ได้
ฉะนั้นจากทุกอย่างที่เล่ามา สิ่งที่ดูจะเป็นหน้าที่ในความสัมพันธ์อาจจะไม่ใช่ตัวเซ็กซ์เอง แต่เป็นการทำความเข้าใจและการเคารพซึ่งขอบเขตของความต้องการทางเพศในกันและกัน เพื่อรักษาสุขภาพของความสัมพันธ์และใจของคู่รักมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก