เดือนมิถุนายนปีนี้เรียกได้ว่าเป็นเดือนที่วงการวรรณกรรมคึกคักมากทีเดียวครับ อย่างในไทยเองก็มี ‘ร่างของปรารถนา’ นวนิยายชิ้นล่าสุดของอุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่คงจะทำให้แฟนๆ ต่างก็นับวันรอกันอย่างเนื้อเต้น หรือในวงการหนังสือโลกเองก็มี ‘Ministry of Utmost Happiness’ นวนิยายเล่มใหม่ของอรุณธตี รอย เจ้าของวรรณกรรมเล่มสำคัญอย่าง ‘เทพเจ้าของสิ่งเล็กๆ’ หรือ ‘The God of Small Things’ ที่หลังจากโลกได้รู้จักชื่อของเธอจากงานเขียนชิ้นนี้ รอยก็ห่างหายจากวงการวรรณกรรมไปถึงยี่สิบปี และปล่อยให้นักอ่านทั่วโลกต่างเฝ้ารอนวนิยายเล่มต่อไปของเธออย่างไร้หวัง จนในที่สุดเธอก็ได้เลือกเดือนมิถุนายนปีนี้ในการหวนคืนวงการอีกครั้ง
ในฝั่งของรางวัลทางวรรณกรรม เดือนมิถุนายนเองก็มีการประกาศผลรางวัลใหญ่ๆ อยู่หลายสถาบันเหมือนกันครับ อย่าง Bayleys Women’s Prize for Fiction ที่จะประกาศกันในวันที่จันทร์ที่ 5 มิถุนายนนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งรางวัลวรรณกรรมสำคัญที่มอบให้กับนักเขียนหญิงจากทั่วทุกมุมโลก แต่อีกหนึ่งรางวัลใหญ่ที่ผมจะพูดถึงในอาทิตย์นี้คือรางวัลที่ชื่อว่า Man Booker International ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ครับ
แต่ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่า รางวัลที่ขึ้นต้นว่า Man Booker นั้น จริงๆ แล้วมีสองรางวัลด้วยกันครับ นั่นคือ Man Booker Prize และ Man Booker International ถามว่ารางวัลทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไร เล่าคร่าวๆ เลยคือ Man Booker Prize คือรางวัลที่จะมอบให้กับวรรณกรรมที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักร นักเขียนที่เคยคว้ารางวัลนี้มาได้ก็อย่างเช่น ยานน์ มาร์เทล จาก Life of Pi คาซูโอะ อิชิกูโระ จาก The Remains of the Day และ จูเลียน บาร์นส์ The Sense of an Ending ครับ
ส่วน Man Booker International นั้น คือรางวัลที่มอบให้กับนักเขียนไม่จำกัดสัญชาติ ที่มีผลงานเป็นภาษาอังกฤษ หรือได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก่อนนั้นรางวัลนี้จะถูกมอบให้กับนักเขียนหนึ่งๆ ในลักษณะของ lifetime achievement หรือความสำเร็จที่สั่งสมมาตลอดชีวิต มากกว่าจะให้เป็นเล่มๆ ไป แอลิซ มุนโร หรือ ฟิลิป รอธ เองก็เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้วครับ ซึ่ง Man Booker International นี้เดิมทีจะมีการมอบรางวัลทุกๆ สองปี แต่ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมาก็ได้มีการเปลี่ยนมาเป็นรายปี อีกทั้งยังหันมามอบรางวัลให้กับตัวนวนิยายเป็นเล่มๆ ไป มากกว่าการมอบรางวัลให้กับนักเขียนคนนั้นๆ และตัวรางวัลเองก็ได้เพิ่มเงินรางวัลที่จะมอบให้กับผู้แปลวรรณกรรมที่คว้ารางวัลมาได้ด้วย
กล่าวคือไม่เพียงแค่ตัวนักเขียนจะได้เงินรางวัลไปเพียงคนเดียว แต่ Man Booker International ยังให้ความสำคัญกับผู้นักแปลในระดับเดียวกับนักเขียนเลยครับ
ซึ่งในปีนี้ Shortlist ทั้งห้าเล่มที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายของ Man Booker International ก็ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์สุดเฉพาะเจาะจง และคงความโดดเด่นในตัวเอง ตัวอย่างเช่น Compass นวนิยายฝรั่งเศสที่เล่าเรื่องของชายผู้ตกอยู่ในอาการนอนไม่หลับ ที่จู่ๆ คืนหนึ่งก็คล้ายว่าตกอยู่ในห้วงฝันและความทรงจำ ซึ่งพาเขาท่องไปในดินแดนตะวันออกกลาง ในเมืองอย่างอเลปโป อิสตันบูล และเตหะราน ที่เขาได้พบปะกับศิลปิน นักเขียน และนักดนตรี และพาเราไปสำรวจประเด็นการเมืองของความขัดแย้งระหว่างยุโรป และตะวันออกกลาง A Horse Walks into a Bar ผลงานของนักเขียนอิสราเอลที่บอกเล่าชีวิตของอดีตดาวตลกคนหนึ่งผ่านเวทีเดี่ยวไมโครโฟนในบาร์เล็กๆ หรืออีกเล่มหนึ่งที่ผมกำลังอ่านอยู่คือ Judas ของนักเขียนอิสราเอลอีกเช่นกัน ซึ่งเล่มนี้เล่าเรื่องของนักศึกษาหนุ่มผู้ศึกษาในพระคัมภีร์ที่ต้องไปดูแลชายชราคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาเขาก็พบว่าในบ้านหลังนี้ยังมีหญิงปริศนาอีกคนซึ่งเป็นบุตรีของผู้นำลัทธิ Zionist ความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดของบุคคลทั้งสามจึงได้ก่อตัวขึ้น พร้อมๆ กับประวัติศาสตร์อันดำมืดของอิสราเอลที่ค่อยเปิดเผยออกทีละน้อย
สารภาพตามตรง ด้วยผมเองก็เพิ่งจะอ่านไปแค่เล่มเดียวก็เลยออกอาการเชียร์หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งได้ไม่เต็มปากเหมือนกันครับ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังอดตื่นเต้นไม่ได้อยู่ดีว่าแจ็กพ็อตจะไปลงที่ใคร ก็คงต้องลุ้นกันในวันที่ 14 มิถุนายนกันนะครับ แต่ไหนๆ อาทิตย์นี้ก็เล่าถึงรางวัล Man Booker International กันแล้ว ผมก็ถือโอกาสพูดถึงนวนิยายเล่มหนึ่งซึ่งคว้ารางวัลนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว และถือว่าเป็นหนังสือที่แปลกประหลาดสุดๆ เล่มหนึ่งเลยครับ
หนังสือที่ว่าคือวรรณกรรมจากประเทศเกาหลีใต้ที่ชื่อว่า The Vegetarian โดยนักเขียนหญิงนาม ฮันคัง ที่ผมบอกว่านวนิยายเรื่องนี้ประหลาด เพราะนับตั้งแต่พล็อตของมันที่แค่อ่านผ่านๆ ก็ชวนให้เหวอแล้วครับ มันเล่าถึงหญิงเกาหลีคนหนึ่งที่อยู่มาวันหนึ่งเธอก็ตัดสินใจเลิกกินเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาดและตั้งตนเป็นมังสวิรัติอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ใครจะนึกว่าแค่การเปลี่ยนมากินผักของเธอจะนำหายนะมาสู่ครอบครัวและคนรอบข้างในระดับที่ยากจะจินตนาการ เมื่อใครต่อใครต่างมองว่าการเปลี่ยนวิถีบริโภคของเธอคือสัญญาณของความเป็นบ้า ว่าเธอกำลังต่อต้านขนบธรรมเนียมเดิม ตั้งตนขึ้นเป็นขบถต่อจารีตประเพณี ซึ่งฮันคังก็เก่งกาจในการไล่เรียงเหตุการณ์ต่างๆ จากแค่การมีปากเสียงกันธรรมดาเพียงเพราะทัศนคติทางการกินที่ไม่ตรงกัน ไปสู่การวิพากษ์สังคมอนุรักษ์นิยมอย่างเฉียบคมและแนบเนียน และในขณะเดียวกันเธอก็แสดงให้เห็นถึงการกดขี่ต่อสตรีที่ยังคงฝังรากลึกในวัฒนธรรมเกาหลี รวมถึงความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ยังคงเข้มข้นอยู่แม้จะในกาลปัจจุบัน
งานเขียนชิ้นนี้ถือได้ว่าโดดเด่นทั้งในเรื่องการพัฒนาพล็อต การผูกเรื่องที่สุดจะเข้มข้น รวมถึงความโหดร้ายและรุนแรงที่ถ่ายทอดผ่านภาษาอันเรียบง่ายทว่าทรงพลัง สำหรับใครที่มองหานวนิยายที่อาจทำให้คุณหอบหายใจถี่ราวกับดูหนังทริลเลอร์ดีๆ สักเรื่องหนึ่ง ก็ขอแนะนำให้ลองพิสูจน์นวนิยายเกาหลีเรื่องนี้ดูครับ แอบได้ยินมาว่ากำลังมีการแปลไทยอยู่ด้วย ซึ่งก็หวังว่าคงจะได้พบเห็นตามแผงหนังสือในเร็ววันนี้ครับ