โค้งสุดท้ายแล้วสำหรับการขับเคี่ยวกัน ระหว่าง ‘โดนัล ทรัมป์’ กับ ‘ฮิลลารี คลินตัน’ ในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บางคนอาจบอกว่า การหาเสียงครั้งนี้มันดีเหมือนดูหนังบู๊ แต่อีกหลายคนก็ตั้งคำถามว่า แล้วในประเด็นสำคัญๆ ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนอย่างไรบ้าง
วันนี้ The MATTER ขอสรุปจุดยืนของทั้งสองฝ่ายต่อ 9 ประเด็นสำคัญ ทั้งเรื่องเพศ ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การศึกษา ไปจนสิทธิของผู้มีความหลากลายทางเพศ มาให้รับชมกันอย่างง่ายๆ
Climate change – ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ทรัมป์ : เคยกล่าวว่า ปรากฏการณ์ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นแผนของรัฐบาลจีน ทำให้การแข่งขันของสหรัฐเป็นอัมพาต โดยออกมากล่าวเตือนว่ามันเป็นเรื่องแหกตา (Hoax) เราสูญเงินไปกับประเด็นนี้มากเกินไป และมันอยู่บนรากฐานของสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาด
ในเว็บไซต์หาเสียงของเขาก็ไม่ปรากฏข้อมูลเหล่านี้มากนัก แม้ว่าทรัมป์เคยกล่าวว่าสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับการปรับปรุงอากาศและน้ำสะอาด แต่ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะหั่นงบประมาณองค์กรเหล่านี้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
ฮิลลารี : ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นแคมเปญหลักของพรรคฝั่งเดโมแครตอยู่แล้ว เธอกล่าวว่าภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อความมั่นคง เธอสนับสนุนข้อกฎหมายในอุตสาหกรรมพลังงาน คัดค้านการขยายพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันในอลาสก้า และท่อส่งน้ำมันจากแคนาดาสู่สหรัฐ ทำให้นโยบายเธอได้รับสนับสนุนจากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่น้อย
Abortion – การทำแท้ง
ทรัมป์ : การทำแท้งควรเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นในกรณีข่มขืน ร่วมเพศในครอบครัว หรือเมื่อผู้หญิงเสี่ยงต่อสุขภาพในขณะตั้งครรภ์ ทรัมป์แบนการทำแท้งหลังจาก 20 สัปดาห์แรกที่ผู้หญิงรู้ว่าตั้งครรภ์ และขู่จะตัดงบสนับสนุนขององค์กรสาธารณกุศลเพื่อการวางแผนครอบครัว หากพวกเขายังสนับสนุนการทำแท้งอยู่อีก ทรัมป์เปิดเผยรายชื่อผู้พิพากษาในศาลสูงที่ไม่สนับสนุนการทำแท้งด้วย เขายังเห็นด้วยหากต้องมีบทลงโทษเพื่อจัดการผู้หญิงที่ทำแท้งโดยผิดกฎหมาย
ฮิลลารี : สนับสนุนการวางแผนครอบครัว (Planned Parenthood) มาอย่างยาวนาน และเชื่อว่าการทำแท้งควรทำให้ปลอดภัย ถูกกฎหมาย และใช้เมื่อจำเป็น เธอสนับสนุนการจัดรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิการทำแท้งร่วมกับนักกฎหมายหลายคนในศาลสูงสหรัฐ และการแบนทำแท้งหลัง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ไม่ได้แก้ปัญหาเพื่อผู้หญิง
Gun Control – ควบคุมอาวุธปืน
ทรัมป์ : เขาตอบโต้ว่าฮิลลารีจะทำให้คนอเมริกันในพื้นที่อาชญากรรมสูง ‘ตกอยู่ในความเสี่ยง’ จากการถูกลิดรอนสิทธิในการป้องกันตัว แน่นอนว่าเขาต้องเอาพวกอาชญากรเข้าตารางอยู่ดี และประชาชนควรมีความชอบธรรมในการปกป้องตัวเอง
ทรัมป์สนับสนุนสิทธิในการครอบครองอาวุธและส่งสารนี้ตลอดทั้งแคมเปญหาเสียง แต่อย่างไรก็ตามการจำกัดสิทธินี้กับคนบางประเภทก็เป็นเรื่องจำเป็น โครงการ Exile (เนรเทศ) บุคคลที่มีแนวโน้มใช้อาวุธเพื่อก่ออาชญากรรม และให้ศาลรัฐบาลกลางรับมอบอำนาจ โดยคาดโทษอย่างน้อย 5 ปีกับผู้กระทำผิด และมีโครงการพื้นฟูแก่เหล่าผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ก่อนที่พวกเขาจะเข้าถึงร้านขายอาวุธ ประชาชนที่เคารพกฎหมายควรมีสิทธิในการครอบครองอาวุธตามปรารถนาเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน
ฮิลลารี : เธอเรียกร้องให้มีการสอบประวัติผู้ซื้ออาวุธโดยละเอียด รวมทั้งในงานนิทรรศการจัดแสดงและซื้อขายอาวุธ ทำให้ทุกคนอยู่ในระบบที่มีชื่อว่า National Instant Criminal Background Check กฎหมายที่มีอยู่ครอบคลุมอยู่เพียงผู้จำหน่ายอาวุธที่เป็นตัวแทนจำหน่าย (Licensed dealers) แต่ยังไม่ครอบคลุมผู้ขายที่เป็นระดับปัจเจคบุคคล
เธอตั้งเป้าจะลดความรุนแรงในครอบครัวจากการใช้อาวุธปืน โดยยกตัวอย่างกรณีที่นาย Dylann Roof ซื้อปืนมาสังหารหมู่ในโบสถ์เมือง Charleston ในปี 2015 ที่เขาสามารถเข้าถึงอาวุธโดยไม่มีการสืบประวัติใดๆ ก่อน
Healthcare – นโยบายสุขภาพ
ทรัมป์ : กฎหมายประกันสุขภาพที่มีชื่อว่า Affordable Care Act หรือรู้จักกันในชื่อ Obama care ที่เป็นประเด็นเผ็ดร้อนมาตลอด 6 ปี ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระมากขึ้น ขาดดุลเรื่อยมา และกำลังเผชิญแรงกดดันว่าหนี้สาธารณะกำลังจะเลยเพดานตามที่กฎหมายกำหนดคือ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับ Obama Care แต่ไหนแต่ไร เขาอยากจะเอามันออกไปให้พ้นด้วยซ้ำ และสนับสนุนให้คนซื้อประกันสุขภาพแบบคุณภาพสูงแทน โดยสัญญาจะลดราคายาให้ถูกลง และตอบรับยานำเข้าจากผู้ผลิตรายอื่นที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมา
ฮิลลารี : เราไม่ควรล้มเลิก Obamacare และเริ่มใหม่ทั้งหมด เธอสนับสนุนให้รัฐมีแผนประกันสุขภาพเป็นพื้นฐานเพื่อให้คนรายได้น้อยถึงปานกลางได้รับการบริการ เช่นการสนับสนุนให้คนอายุ 50 ขึ้นไปซื้อประกันสุขภาพกับรัฐและลดค่ายาเมื่อแพทย์สั่งจ่าย โดยให้ 19 รัฐช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย
ที่สำคัญเธอคิดว่า ผู้ลี้ภัยที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในสหรัฐควรสามารถเข้าถึงและได้รับการคุ้มครองจากประกันสุขภาพนี้ด้วย (แต่ไม่มีการช่วยเหลือทางการเงิน)
FOREIGN POLICY – นโยบายต่างประเทศ
ทรัมป์ : เห็นว่าการเจรจาเรื่องการยุตินิวเคลียร์กับอิหร่านเป็นข้อตกลงที่ห่วยแตกที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนเรื่องไอเอสก็บอกว่าเดี๋ยวจะจัดการให้หมด (แต่ยังไม่บอกรายละเอียด) แถมยังเสนอว่าให้แบนชาวมุสลิมทั้งหมดที่จะเข้าสหรัฐจากกลุ่มประเทศที่เป็นรัฐก่อการร้าย (terror state) ทรัมป์ยังอินดี้สุดๆ ด้วยความคิดที่ว่าการรวมกลุ่มสากลเพื่อคานอำนาจอย่าง NATO เป็นเรื่องตกสมัยและมองเห็นว่าปูตินเป็นผู้นำที่เจ๋งกว่าโอบาม่าเป็นไหนๆ
ฮิลลารี : เป็นหนึ่งในผู้ที่มีความโดดเด่นขึ้นมาจากนโยบายการต่างประเทศและการตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เธอเป็นคนที่สนับสนุนให้สหรัฐเดินหน้าทำสงครามในอิรัก ปัจจุบันเธอบอกว่าเธอเสียใจในการตัดสินใจนั้น นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ที่เรียกร้องให้สหรัฐขยายบทบาทในการต่อสู้กับกลุ่มไอเอส รวมถึงการใช้เขตงดบิน (no-fly zone) และการติดอาวุธให้กลุ่มต่อต้านชาวซีเรีย แต่ถึงเธอจะดูสนับสนุนสงครามกับตะวันออกกลาง แต่เธอก็บอกว่านี่ไม่ได้สนับสนุนการใช้กำลังทหารนะ นอกจากนี้เธอยังสนับสนุนการทำความตกลงกับอิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์เป็นเวลา 10 ปี แลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรจากนานาชาติ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการคงกำลังทหารในอัฟกานิสถานเพื่อให้สถานะของสหรัฐใน NATO มีความมั่นคง อันเป็นผลประโยชน์เรื่องความแน่นแฟ้นระหว่างชาติพันธมิตรในยุโรปเพื่อคานอำนาจกับรัสเซีย
TRADE DEALS – ข้อตกลงทางการค้า
ทรัมป์ : พรรคริพับบลิกันเคยสนับสนุนการค้าเสรีที่ไม่ต้องมีการควบคุมมาก ทรัมป์เองดูจะเปลี่ยนแนวนโยบายการค้าขายอย่างเสรีนั้น คือพี่แกบอกว่าในแง่ของการค้าขายพี่แกก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก แต่ข้อตกลงทั้งหลายมันต้องปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐเอง ดังนั้นพี่แกเลยไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการเป็นคู่ค้า Trans-Pacific Partnership อันมีคู่ค้าในแถบทะเลแปซิฟิก (ยกเว้นจีน) 12 ประเทศ ทรัมป์บอกว่าไอ้ข้อตกลงการเป็นคู่ค้าอะไรทั้งหลายที่ถึงจะลงนามกันไปแล้วพี่แกก็จะรื้อขึ้นมาดูใหม่เช่น North America Free Trade Agreement (Nafta) และถ้าเจอว่าสหรัฐไม่ได้ตามที่ต้องการก็จะถอนตัวซะ ทรัมป์ยังกล่าวหาว่าคู่ค้าอย่างเม็กซิโกและจีนว่าใช้ไม่ได้ ค้าขายก็ไม่เป็นธรรม มีการควบคุมแทรกแซงค่าเงิน แถมยังมีพฤติกรรมละเมิดลักขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งพี่แกก็ขู่ว่าถ้าไม่แก้นะ จะจัดการด้วยมาตรการต่างๆ เช่นการกีดกันทางภาษี
ฮิลลารี : เคยเชิดชูว่าการร่วมมือทางการค้า Trans-Pacific Partnership เป็นมาตรฐานที่ยอดเยี่ยมสำหรับข้อตกลงทางการค้าในระดับนานาชาติ โดยรวมแล้วฮิลลารีบอกว่าสหรัฐต้องค้าขายกับชาติต่างๆ ในโลก แต่ก็ต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยพื้นฐานกับเหล่าแรงงานชาวอเมริกันทั้งหลาย ประมาณว่าพอมีภายในที่เข้มแข็งแล้ว สหรัฐก็จะแข่งขันกับโลกภายนอกได้เอง…ก็หาเสียงสไตล์เนอะ
REFUGEES – ผู้อพยพ
ทรัมป์ : แน่นอนว่าไม่สนับสนุนเรื่องผู้ลี้ภัยจากกลุ่มชาติมุสลิมประเทศตะวันออกกลางที่ทรัมป์มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ ทรัมป์มีข้อเสนอที่สุดโต่งว่าตอนนี้ควรจะระงับการรับผู้อพยพจนกว่าจะมีการคัดกรองและสอบสวนที่เข้มข้น เช่น การทดสอบอุดมการณ์เพื่อคัดแยกพวกหัวรุนแรงออกไป ส่วนกลุ่มชาติในตะวันออกกลางที่รับผู้อพยพจากอิรักและซีเรียไปจำนวนมากแล้ว ก็ควรจะจัดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับผู้ลี้ภัยเหล่านั้นเข้าไปอีก
ฮิลลารี : เสนอว่าควรจะให้ผู้ลี้ภัยจากซีเรียลี้ภัยเข้ามาในสหรัฐเพิ่มจาก 10,000 คนต่อไป เป็น 65,000 คน ส่วนการคัดกรองและการสอบสวนเธอเห็นว่าควรจะทำอย่างละมุนละม่อม เธอย้ำว่าสหรัฐมีประวัติศาสตร์ที่ต้อนรับคนที่หลีกลี้จากการถูกกดขี่และความรุนแรงต่างๆ เสมอมา และเธอก็ต้องการที่จะดำเนินแนวทางนี้ต่อไป
GAY AND TRANSGENDER RIGHTS – สิทธิของผู้มีความหลากลายทางเพศ
ทรัมป์ : สนับสนุนการแต่งงานแบบดั้งเดิมตามประเพณี พี่แกเลยแสดงท่าทีต่อต้านการที่ศาลสูง (Supreme Court) ให้สิทธิคนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ Mike Pence ผู้เข้าสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับทรัมป์ในครั้งที่เป็นผู้ว่ารัฐ Indiana ได้ลงนามกฎหมายที่ให้สิทธิธุรกิจในการปฏิเสธการบริการกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยน แต่ท่าทีของทรัมป์กับเพศที่หลากหลายระยะหลังผ่อนคลายลง เช่น ท่าทีต่อการโจมตีที่ Orlando พี่แกประกาศตัวว่าเป็นคนที่ปกป้องสิทธิของเกย์และคนข้ามเพศ แถมยังต่อต้าน North Carolina law เรื่องห้องน้ำสาธารณะ และบอกว่า Caitlyn Jenner เซเลบข้ามเพศสามารถมาใช้ห้องน้ำเพศไหนก็ในตึกทรัมป์
ฮิลลารี : เคยต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน กระทั่งปี 2013 เธอบอกว่ามุมมองของเธอค่อยๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ในปี 2011 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ (secretary of state) ได้กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ ‘สิทธิของเกย์ คือสิทธิมนุษย์ชน’ ช่วงต้นปีเธอสนับสนุนนโยบายของโอบาม่าที่ให้โรงเรียนของรัฐอนุญาตให้นักเรียนใช้ห้องน้ำตามเพศสถานะของตัวเองได้
EDUCATION – การศึกษา
ทรัมป์ : เอาแนวคิดเรื่องตลาดเสรี (free-market) มาใช้กับเรื่องการศึกษา บอกว่าโรงเรียนเนี่ยมันจะพัฒนาได้ถ้ามีการแข่งขันจากการให้ทางเลือกที่มากขึ้นกับเหล่าผู้ปกครอง ทรัมป์สนับสนุน charter schools คือพวกโรงเรียนทางเลือกของรัฐที่เป็นเอกเทศ สนับสนุนระบบ voucher system ที่ให้ผู้ปกครองหรือนักเรียนเลือกสถานศึกษา (รวมถึงการเรียนที่บ้าน) โดยรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้ มีเป้าหมายและวิธีการจัดการของตัวเอง ทั้งนี้ ทรัมป์ยังเสนอให้ลดขนาดและเป้าหมาย (scope) กระทรวงศึกษาธิการลงด้วยเห็นว่าให้ความสำคัญกับแนวคิดจากบนลงล่าง (top-down) และ เชื่อในเรื่อง ‘one-size-fits-all’ แถมยังต่อต้านแนวทางทางการศึกษาระดับชาติทั่วไป (Common Core national education guidelines) โดยรวมพี่แกก็ก้าวหน้าเหมือนกัน คือเชื่อเรื่องการศึกษาในมิติที่หลากหลายและเฉพาะตัว มากกว่าจะเชื่อเรื่องมาตราฐานใดมาตราฐานหนึ่งจากศูนย์กลาง
ฮิลลารี : ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนรัฐเพื่อให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูงได้ ฮิลลารีมองว่าต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยเธอสนับสนุนโครงการก่อนวัยอนุบาลจากส่วนกลาง เธอไม่ค่อยเชื่อถือในระบบ charter schools ซึ่งเธอมองว่ามันยากที่จะเอามาใช้สอนเด็กได้ และเด็กๆ จากโรงเรียนเหล่านั้นไม่ค่อยมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีนัก ในแง่ของมุมมองต่อการศึกษา ฮิลลารีดูจะตรงข้ามกับทรัมป์ ค่อนข้างเชื่อเรื่องมาตราฐานการศึกษาและให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรจากส่วนกลาง