ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องปัญหาการศึกษาไทย มองไปทางไหนก็เจอแต่เรื่องราวชวนให้ปวดหัวไปหมด
เมื่อมาถึงในช่วงเวลาที่จะเกิดการเลือกตั้งขึ้นนี้ หลายพรรคการเมืองจึงออกนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อให้เราถึงแนวทางการแก้ไขในอนาคต และเป็นความหวังให้กับประชาชนว่า ปัญหาที่หมักหมมมานาน ควรจะถึงเวลาเริ่มแก้ไขกันได้สักที
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทได้จัดงาน ‘เทศกาลกล้าคิดกล้าแตกต่างเพื่ออนาคตการศึกษาไทย’ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เชิญ 5 พรรคการเมืองมาร่วมนำเสนอนโยบายทางการศึกษา
ตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมงานได้แก่
รังสิมันต์ โรม จากพรรคอนาคตใหม่
ร้อยตำรวจเอก วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ จากพรรคเพื่อไทย
ศุภชัย ศรีหล้า จากพรรคประชาธิปัตย์
คณิน ฉินเฉิดฉาย จากพรรคสามัญชน
กฤตย์ตนัย ธารารัตนสุวรรณ จากพรรคกลาง
ทั้งนี้ ในกำหนดการตอนแรกนั้นได้มีการเชิญตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมด้วย แต่ทางพรรคไม่ได้ส่งตัวแทนมาเข้าร่วม
The MATTER เดินทางไปเกาะติดเวที เพื่อสรุปมาให้ฟังกันว่า ตัวแทนจากทั้ง 5 พรรคการเมืองพูดถึงเรื่องการศึกษาไทยกันอย่างไรบ้าง
“ต้องย้อนกลับไปดูปัญหาเพื่ออุดรอยรั่วตรงนั้น ทบทวนก่อนจึงค่อยก้าวต่อไป”
คณิน ฉินเฉิดฉาย จากพรรคสามัญชน ตัวแทนพรรคที่อายุน้อยที่สุดบนเวที เปิดด้วยการเล่าถึงปัญหาที่ระบบการศึกษาประเทศเราประสบมานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่ หรือสิทธิของแต่ละท้องที่ในการแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นๆ และกล่าวว่าที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้ยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น
คณิน อธิบายว่า เนื้อหาที่ใช้สอนในปัจจุบันนั้น มีข้อจำกัด และไม่มีการตั้งคำถามถึงชุดความคิดว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างวิชาประวัติศาสตร์เป็นต้น อีกทั้งเนื้อหาที่ใช้เรียนนั้นมีปริมาณมากเกินไป จนทำให้นักเรียนอาจรับข้อมูลไม่ไหว และปัญหาอำนาจนิยมในห้องเรียน
ในการแก้ไขนั้นต้องมีการกลับไปทบทวนเนื้อหาในการเรียนว่ามีปัญหาตรงไหนบ้าง และทำการแก้ไขก่อนที่จะเพิ่มเนื้อหาใหม่ๆเข้าไป เปลี่ยนเป็นการเรียนเพื่้อนำไปใช้จริง ไม่ใช่เพื่อไปสอบวัดผลให้ผ่าน เพราะสอบเสร็จก็ลืมไปแล้ว ไม่ได้ติดตัวไปเป็นประโยชน์ การใช้ชีวิตเป็นการสอบวัดผลที่ดีที่สุด
ทางด้านความเท่าเทียมทางการศึกษาต้องมีการแก้ไขข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เข้าถึงเด็กทุกคน ทำให้การศึกษาฟรี มีสิทธิเท่าเทียมกัน
ในส่วนของสภาพแวดล้อมในห้องเรียน ต้องลดช่องหว่างระหว่างครูและนักเรียน เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนที่ดียิ่งขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง ครู นักเรียน ให้ร่วมออกแบบการสอนร่วมกัน
“คนอ่อนแอต้องได้รับการดูแล”
ศุภชัย ศรีหล้า จากพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายปัญหาในทุกช่วงของวัยเรียน และพื้นที่ต่างจังหวัด เน้นที่จะช่วยดูแลผู้ที่ไม่ได้รับโอกาส โดยเขาได้ประกาศชัดเจนว่าทุกคนที่อ่อนแอต้องได้รับการดูแล
การดูแลผู้ที่ไม่ได้รับโอกาสจะเริ่มตั้งแต่เกิดมา ทุกวันนี้เด็กที่พึ่งเกิดอยู่ได้ด้วยเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุของญาติผู้ใหญ่ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะมอบเงินให้ 5000 บาทตั้งแต่แรกเกิด และให้ต่อเดือนละ 1000 บาทจนถึงอายุ 8 ขวบ
ศุภชัยกล่าวว่ามีเด็กเป็นจำนวนมากต้องไปเรียนโดยไม่ได้ทานอาหารเช้า จึงจะมีการจัดโครงการอาหารเช้า และอาหารกลางวันฟรีให้กับเด็กๆในโรงเรียน ส่วนเรื่องการเรียนการสอน จะจัดให้เรียนฟรีไปจนถึงอาชีวะเพื่อให้สอดคล้องความต้องการของคน
การสอบวัดผลแบบตัวเลือกเป็นอะไรที่ง่ายจนเกินไป ในความเป็นจริงนั้นไม่มีตัวเลือกเสมอไปเพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ การเขียนและยกตัวอย่างสร้างการคิดวิเคราะห์ได้ดีกว่า
สำหรับผู้ที่เริ่มทำงานแล้ว แต่อยากมีทักษะเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ ทางพรรคจะมีคูปองการศึกษาให้ สามารถนำไปใช้ในการเล่าเรียนเพิ่มเติมได้เผื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพอื่นในอนาคต
“ต้องไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
ร้อยตำรวจเอก วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ จากพรรคเพื่อไทย เข้าประเด็นในทันทีถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทย วัฒนรักษ์กล่าวว่าการพัฒนาคนเป็น ‘the best investment’ หรือการลงทุนที่ดีที่สุด
ทุกโรงเรียนจะมีการสอนมากถึง 3 ภาษา ไทย อังกฤษ และจีน โดยเด็กๆสามารถมีสิทธิเลือกเรียนภาษาอื่นก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนนั้นๆมีหลักสูตรอะไรบ้าง
ในเรื่องของการเรียนการสอน ต้องมีการเปลี่ยนวิธีการคิดโดยเปลี่ยนจากการเรียน และสอบวัดผลแบบท่องจำไปเป็นแบบคิดวิเคราะห์แทน อย่างการสอบแบบมีตัวเลือกควรยกเลิก เปลี่ยนไปเป็นการเขียนบรรยาย เพราะไม่ก่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ให้เรียนในสิ่งที่จำเป็น อีกทั้งยังเสนอลดเวลาเรียนให้เด็กเอาเวลาไปเรียนรู้นอกห้องเรียนเพิ่มทักษะการใช้ชีวิต
วัฒนรักษ์พูดถึงแนวคิด ‘no child left behind’ จะไม่มีการทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง จัดให้มีการเรียนฟรี 15 ปี สร้างศูนย์เด็กอัจฉริยะทั่วประเทศ เรียนก่อน แล้วค่อยมาชำระหนี้ทางการศึกษาเมื่อมีงานมีรายได้แล้ว จะมีการจัดตั้งกองทุนอาชีวะสตาร์ทอัพเพื่อช่วยให้เริ่มนำเงินในส่วนนีไปสร้างธุรกิจได้
ภายในห้องเรียนต้องมีการกระจายอุปกรณ์ทางการศึกษาดีๆให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ไม่ใช่มีอยู่แต่ในกรุงเทพเหมือนปัจจุบัน สร้างให้เป็นห้องเรียนแห่งความคิด ตอบโจทย์ในอนาคต ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่เรียนเยอะไป แต่ออกมาแล้วทำงานจริงไม่ได้ ครูต้องช่วยหาความสามารถพิเศษในตัวเด็กแต่ละคน ไม่ใช่ยัดเยียดให้เป็นตามวิชาบังคับ ยกตัวอย่างเช่นไม่ใช่เด็กทุกคนต้องเก่งเลขเสมอไป
“การศึกษาต้องแก้เป็นสิ่งแรกๆ ให้เห็นผลภายใน 3 ปี”
รังสิมันต์ โรม จากพรรคอนาคตใหม่ พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในการศึกษาที่ทำให้คุณภาพการศึกษา และอุปกรณ์มีคุณภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน ต้องทำการยกระดับให้ผู้ที่ไม่ได้รับโอกาสเพื่อให้พวกเขาได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการพัฒนาชาติต่อไป
ทั้งหมดนี้ต้องแก้ที่โครงสร้างของการศึกษา เริ่มจากการเปลี่ยนงบประมาณเป็นปีละ 100,000 ล้านบาท นำมาสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลางให้มีคุณภาพเท่ากันทุกพื้นที่ เพรียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือ มีการสร้างอาคารเรียนเพิ่ม และเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้ชุมชนได้มามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
การสอบวัดผลในโรงเรียนมีหลายเรื่องมากที่ไม่มีการนำไปใช้ต่อได้ในมหาวิทยาลัย ควรเปลี่ยนการสอบวัดผลให้มีการวัดการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น จะทำโดยการสัมภาษณ์ก็ยังได้ ไม่ต้องสอบอย่างเดียว
รังสิมันต์ บอกด้วยว่า เรื่องการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขเป็นสิ่งแรกๆ จะให้เห็นผลภายใน 3 ปี
“กระทรวงศึกษาต้องเล็กลง มอบอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น”
กฤตย์ตนัย ธารารัตนสุวรรณ ตัวแทนจากพรรคกลาง กล่าวว่าเขามาเป็นตัวแทนของหัวหน้าพรรค ชุมพล ครุฑแก้ว ที่ติดภารกิจมาไม่ได้เท่านั้น คงไม่ได้ใช้เวลามากถึง 10 นาทีในการปราศรัย
กฤตย์ตนัยกล่าวว่านโยบายทางการศึกษาที่เราทุกคนได้ยินกันมาล้วนเป็นการขายฝัน ไม่มีใครเคยทำได้ หัวหน้าพรรคกลางก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ถ้าได้เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ สิ่งที่ทำได้คือการกระจายอำนาจ แต่ตอนนี้รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยในไทยมีมากเกินไป จริงๆมีจังหวัดละมหาวิทยาลัยก็เพียงพอแล้ว ทางพรรคพร้อมนำอะไรที่ดีอยู่แล้วมาทำต่อ เป็นกลางไม่ฝักใฝ่อะไรเป็นพิเศษ
ในการที่จะกระจายอำนาจได้ กระทรวงศึกษาธิการต้องเล็กลง ให้ท้องถิ่นไปจัดการเองได้มากขึ้น ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมเหมือนกับที่ถูกพูดถึงในพรรคก่อนหน้า
สำหรับการสอบวัดผลยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ต้องออกแบบใหม่หมดเพราะตอนนี้วัดแต่ความรู้ความจำ ไม่ได้สนใจถึงการนำไปใช้จริงเลย
ช่วงถามตอบ: การศึกษาไทยควรแก้เรื่องไหนด่วนที่สุด?
กฤตย์ตนัย จากพรรคกลาง และรังสิมันต์ จากพรรคอนาคตใหม่มีความเห็นตรงกันที่จะต้องแก้เรื่องหลักสูตรที่มีความล้าสมัย กฤตย์ตนัยกล่าวว่าควรยุบหลักสูตรเก่าๆบ้าง และปรับวิธีการสอนใหม่ ส่วนรังสิมันต์กล่าวว่าเนื้อหาในวิชาเรียนอย่างประวัติศาสตร์นั้นไม่สร้างความภาคภูมิใจในฐานะประชาชนเลย เรื่องพฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคมถูกพูดถึงน้อยมาก
ในมุมมองของพรรคเพื่อไทย ร้อยตำรวจเอกวัฒนรักษ์ พูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในด้านการศึกษาว่า ขณะนี้มีคนตกงานเยอะมาก ต้องมีการสนับสนุนให้จัดการเรียนออนไลน์ โดยเนื้อหาจะมาจากทั่วโลก
ศุภชัย จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าต้องมอบอิสระให้กับโรงเรียนมากขึ้น ทุกอย่างควรจบที่โรงเรียน สามารถกำหนดการเรียนการสอนเอง ครูใหญ่และครูในโรงเรียนทุกคนควรมีสิทธิสูงสุดในการตัดสินใจ
ส่วน คณิน จากพรรคสามัญชน เน้นให้แก้ที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เขากล่าวว่าถ้าแก้ปัญหานี้ได้ก็จะช่วยให้หลุดพ้นจากปัญหาอื่นๆได้ด้วย เสนอแนวทางช่วยดูแลบุตรของแรงงาน และก้าวไปสู่รัฐสวัสดิการที่ดี
3 พรรคจากทั้งหมด 5 พรรค ร่วมเซ็นสัญญาเพื่ออนาคตการศึกษาไทย
ในช่วงสุดท้ายทางกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ชักชวนตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 5 ในการเซ็นสัญญาเพื่ออนาคตการศึกษาไทย เพื่อให้พรรคการเมืองแสดงความจริงใจในการแก้ไข และพัฒนาการศึกษาไทยอย่างสุดความสามารถตามแนวนโยบายของพรรคตนเอง โดยมีเพียง 3 พรรคเท่านั้นที่ตัดสินใจเซ็นสัญญานี้ ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน และพรรคกลาง
ศุภชัยจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีบางส่วนที่ยังไม่มีความชัดเจนในสัญญานี้ อีกทั้งยังมีข้อข้องใจในบางจุด ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการตีเด็กนักเรียน เขากล่าวว่าการตีหรือการลงโทษอื่นๆปัจจุบันนี้มีน้อยลงมากแล้ว แต่ยังไงก็แล้วแต่การกระทำในทำนองนี้ไม่ได้ขัดต่อข้อกฎหมายแต่อย่างใด และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเอง เกรงว่าจะแก้ไขไม่ได้ จึงขอตัดสินใจไม่เซ็นสัญญานี้ พร้อมสมมติให้ฟังว่าถ้าให้ช่วยเซ็นเช็คทำให้ได้ แต่ถ้าจะให้เซ็นเช็คเปล่าทำไม่ได้จริงๆ เพราะยังมีจุดที่ไม่ชัดเจนพอในสัญญานี้
ร้อยตำรวจเอกวัฒนรักษ์ จากพรรคเพื่อไทย บอกว่า เขาไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค เกรงว่าจะไม่มีอำนาจมากพอในการตัดสินใจในตอนนี้ แต่ถ้าให้นำแนวทางไปเสนอต่อผู้มีอำนาจ และให้เซ็นจะเหมาะสมกว่า
ถึงอย่างไรก็ตามทุกพรรคก็แสดงเจตนาร่วมกันว่าจะมุ่งหน้าพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่า แล้วคำสัญญาที่ให้ไว้จะเป็นจริงได้หรือไม่?