“การเปลี่ยนแปลงประเทศต่างกับการกดปุ่มสวิตช์ โลกในปัจจุบันมีความไม่มั่นคง ดังนั้นต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่การทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นขึ้นในทันที”
เป็นคำกล่าวสุนทรพจน์ของหัวหน้าพรรคแรงงาน (Labour Party) หน้าทำเนียบนายกฯ บ้านเลขที่ 10 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากที่เข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) เพื่อน้อมรับคำเชิญในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร
แม้ว่าอังกฤษจะมีรัฐบาลชุดใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การพ่ายแพ้อย่างราบคาบของพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) จนพรรคแรงงานสามารถขึ้นมาเป็นรัฐบาลในรอบ 14 ปี ด้วยคะแนนท่วมท้น ยังเป็นที่พูดถึงจนถึงตอนนี้
ว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ และหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร? The MATTER จึงพูดคุยกับ นพพร วงศ์อนันต์ ผู้สื่อข่าวอิสระ ที่ขณะนี้อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เพื่อไขข้อสงสัยของการเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองครั้งใหญ่นี้ให้กระจ่างยิ่งขึ้น
พรรคเลเบอร์ชนะอยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าจะแลนด์สไลด์
สภาสามัญชนแห่งสหราชอาณาจักร (House of Commons) มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 650 คน โดยแต่ละคนเป็นตัวแทนเขตเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2024 พรรคเลเบอร์ ที่นำโดย เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับ 412 คะแนน
ระหว่างที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่นำโดย ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) หรือ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ณ ขณะนั้น ได้รับ 121 คะแนน เท่ากับว่าพรรคฝ่ายซ้ายชนะศึกการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถล่มทลาย
นพพร วงศ์อนันต์ เริ่มเล่าถึงความรู้สึกหลังทราบผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า “ทั้งไม่ตกใจและไม่ประหลาดใจ เนื่องจากเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าพรรคเลเบอร์ชนะอย่างแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะชนะด้วยคะแนนมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชัยชนะครั้งนี้ของพรรคเลเบอร์ถือว่าแลนด์สไลด์ และคะแนนยังสูงที่สุดในรอบกว่า 20 ปีอีกด้วย”
เอ็กซิตโพล (exit polls) คาดการณ์ไว้ว่า พรรคเลเบอร์จะได้รับที่นั่ง 410 ที่นั่ง และพรรคคอนเซอร์เวทีฟจะคว้า 131 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ เช่น พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) ได้รับ 61 ที่นั่ง (ผลคะแนนจริง 72 ที่นั่ง) หากนำผลโพลข้างต้น เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งจริง จะเห็นได้ว่าไม่ต่างกันเท่าไรนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนพพร
นพพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ฝ่ายเลเบอร์เองก็อาจไม่คาดคิดว่าจะคว้าที่นั่งท่วมท้นขนาดนี้ เพราะระหว่างหาเสียงทางพรรคก็พยายามไม่ออกมาบอกว่า “ฉันจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้” อาจด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าพูดแบบนั้น ประชาชนอาจไม่เลือกเลเบอร์
ถ้าย้อนไปเมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 คะแนนที่พรรคเลเบอร์ภายใต้การนำของ เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) นักการเมืองฝ่ายซ้ายจัด พบกับความพ่ายแพ้สาหัสที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ เพราะได้รับคะแนนเสียงเพียง 180 ที่นั่ง ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างคอนเซอร์เวทีฟได้รับคะแนนสูงถึง 345 ที่นั่ง
ขนาดที่ โรเบิร์ต บัคแลนด์ (Robert Buckland) ผู้เคยดํารงตําแหน่งอธิการบดีและรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีต่างประเทศของเวลส์ กล่าวถึงการพ่ายแพ้ครั้งนี้ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟว่าเป็นเหตุการณ์ ‘ฟ้าถล่มจากการเลือกตั้ง (Electoral Armageddon)’ เนื่องจากพรรคเลเบอร์ใช้เวลาในการหวนคืนขึ้นสู่อำนาจนานถึง 14 ปี
คนอังกฤษไม่แปลกใจที่ ริชี ซูแน็ก จะยุบสภา แต่ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้
นพพรกล่าวว่า ผมไม่แปลกใจเลยที่ซูแน็กประกาศยุบสภาและประกาศการเลือกตั้ง เพราะประชาชนพอทราบกันอยู่ว่า รัฐบาลชุดนี้จะอยู่ไม่ถึงครบวาระเลือกตั้งใหม่ หรือช่วงเดือนมกราคมปีหน้า อย่างไรก็ดี ก็ผิดจากที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์ เนื่องจากส่วนมากคิดว่า ซูแน็กน่าจะยุบสภาประมาณเดือนกันยายน ไม่ก็ตุลาคมปีนี้
ย้อนไปเมื่อ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซูแน็กประกาศยุบสภา (30 พฤษภาคม เป็นวันยุบสภาอย่างเป็นทางการ) พร้อมกับระบุว่าสหราชอาณาจักรจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 4 กรกฎาคม 2024 โดยเขามุ่งหวังจะรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้ให้ได้
“สิ่งที่เขา ทำถือว่าสร้างความประหลาดใจ พร้อมกับความไม่พอใจให้กับสมาชิกพรรคเป็นอย่างมาก แม้ว่าเหตุผลในการยุบสภาของเขา ชี้ว่า รัฐบาลของเขาได้แก้ปัญหาเงินเฟ้อจนเศรษฐกิจเติบโตได้ระยะหนึ่งแล้ว”
ผลอัตราเงินเฟ้อประจำปีของสหราชอาณาจักร ลดลงสู่อัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี หลังประเทศเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นก่อนหน้านี้
นพพร เสริมว่า ถ้าขืนปล่อยไว้ [ดำรงตำแหน่งต่อไป] เศรษฐกิจอาจจะแย่ลงและปัญหาเงินเฟ้ออาจกลับมาก็ได้ ทำให้จำเป็นต้องรีบยุบสภา ก่อนที่คะแนนเสียงจะลดลงไปมากกว่านี้ แต่ถึงกระนั้นเขาก็แพ้เลือกตั้งอยู่ดี
คนอังกฤษเบื่อหน่ายรัฐบาลฝ่ายขวา จึงหันไปเลือกเลเบอร์
นพพรวิเคราะห์ชัยชนะของพรรคเลเบอร์ว่า นักวิเคราะห์หลายคนไม่ได้ให้เครดิต เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคเลเบอร์ เพราะเขาถือว่าไม่ใช่ผู้นำที่โดดเด่น แต่ก็มีความเป็นสายกลางมากกว่า เจเรมี คอร์บิน ผู้นำคนเก่าของพรรคเลเบอร์
“คนส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าถึงเวลาเอาพรรคอนุรักษนิยมออก ทว่าพรรคที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ไม่น่าจะเป็นพรรคเล็ก ซึ่งเป็นปกติของการเมืองอังกฤษที่มักจะเลือก 2 พรรคใหญ่นี้เป็นหลัก”
อย่างไรก็ตาม เขาระบุจุดที่น่าสนใจซึ่งแทรกอยู่ในชัยชนะของพรรคเลเบอร์ว่า เลเบอร์มักพ่ายแพ้ในพื้นที่ที่มีประชากรเชื้อสายมุสลิมอาศัยอยู่ เพราะไม่ประณามอิสราเอลในการโจมตีฉนวนกาซา ยกตัวอย่างเช่น เขตอิสลิงตันเหนือ (Islington North), เลสเตอร์ซิตี (Leicester South) และดิวสบิวรี & แบตลีย์ (Dewsbury & Batle)
“ไม่มีทางที่ผมจะลงคะแนนให้พรรคเลเบอร์ การเมืองสตาร์เมอร์ผูกติดอยู่กับทุนนิยม จักรวรรดินิยม และการสนับสนุนอิสราเอล” เสียงจากชาวอังกฤษที่ออกมาเดินสนับสนุนปาเลสไตน์ (pro-palestine)
เนื่องจากนายกฯ คนใหม่ของอังกฤษเคยกล่าวว่า ทุกประเทศรวมถึงอิสราเอล ต้องได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมในศาลกฎหมายระหว่างประเทศ (International Court of Justice) อย่างไรก็ดี เขาสัญญาว่าจะทบทวนนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับการขายอาวุธให้กับอิสราเอล เมื่อเขาได้ขึ้นเป็นรัฐบาล
นพพร ระบุเพิ่มว่า ส่วนผู้ออกเสียงที่เป็นฝ่ายขวา แต่ขณะนี้ไม่ชอบหรือไม่พอใจพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ก็มักหันไปเลือกพรรครีฟอร์ม (Reform UK) ภายใต้การนำของ ไนเจล แฟราจ (Nigel Farage) ที่เพิ่งมีโอกาสได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก
หลังสอบตกการเลือกตั้ง สส.สภาล่างของอังกฤษมาถึง 8 ครั้ง แม้ว่าเขาเคยพาพรรคเพื่ออิสรภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Independence Party) กวาดเก้าอี้จำนวนมากในรัฐสภายุโรป (EU) สมัยที่อังกฤษยังเป็นสมาชิกอยู่ก็ตาม
“ชัยชนะของเลเบอร์ เกิดจากความประสงค์ของคนอังกฤษที่ต้องการมอบความปราชัยให้รัฐบาลฝ่ายขวา หลังบริหารประเทศมา 14 ปี แต่เศรษฐกิจและสังคมกลับไม่ดีขึ้น มิหนำซ้ำระบบหลักประกันสุขภาพยังย่ำแย่ลง ผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่า ความยิ่งใหญ่ของอังกฤษนั่นถดถอยลง”
ทั้งนี้ นพพรเสริมประเด็นเรื่องผู้โยกย้ายถิ่นฐานว่า ต้องแยกเป็นลอนดอนกับนอกลอนดอน เพราะในลอนดอนจะพบความหลากหลายทางเชื้อชาติเยอะมาก แต่ก็มีคนขาวจำนวนหนึ่งที่รู้สึกไม่พอใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี หากดูกระแสทั้งประเทศ ประชาชนอังกฤษรู้สึกว่ารัฐบาลทุ่มเงินให้กับผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ (Irregular migrants) มากไป เช่น การจัดหาโรงแรมให้กับพวกเขาหลายหมื่นคน ซึ่งเงินตรงนี้ประชาชนมองว่า สามารถเอาไปใช้ด้านอื่นได้ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพ (National Health Service)
ส่วนผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบปกติ (regular migrants) มักถูกมุมมองว่าเข้ามาสร้างงานและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่ในระหว่างเดียวกันก็มีส่วนที่มองว่า คนเหล่านี้เข้ามาทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแย่ลง อาทิ ต้องใช้เวลารอนานขึ้น เพราะคนเข้าเมืองถูกกฎหมายก็พาสมาชิกในครอบครัวเข้ามาด้วยได้
ไม่เพียงเท่านั้น ขณะนี้ราคาบ้านในลอนดอนและเมืองใหญ่อื่นๆ สูงพอสมควร ดังนั้น คนอังกฤษส่วนใหญ่กำลังประสบกับการจ่ายค่าที่อยู่อาศัยในราคาที่สูงลิ่ว ทำให้ประชาชนก็คาดหวังให้รัฐบาลแก้ปัญหาส่วนนี้ให้ได้เช่นกัน
การบริหารของฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟ ทำให้อังกฤษถดถอย?
นพพรยอมรับว่า พรรคคอนเซอร์เวทีฟเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมที่สุด เพราะเป็นรัฐบาลบ่อยครั้งกว่าพรรคแรงงาน แต่ประชาชนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายเต็มที ทั้งการสร้างเรื่องอื้อฉาวไว้หลายเรื่องตั้งแต่การทำประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในปี 2016
รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ช่วง COVID-19 ประชาชนต้องกักตัว แต่รัฐบาลที่นำโดย บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) กลับเสวยสุขกับงานปาร์ตี้ในช่วงล็อกดาวน์ และเรื่องอื้อฉาวอีกหลายกรณีของคณะรัฐมนตรีด้วย
ต่อมา ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกฯ ผู้หญิง ก็ขึ้นสู่อำนาจหลังจากนั้น แต่อยู่ได้เพียง 49 วันก็ตัดสินใจลาออก หลังเกิดกระแสตีกลับ เมื่อเธอบรรจุแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ (mini-budget)’ อย่างเร่งรีบ
โดยเธอมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงด้วยการเก็บภาษีต่ำ ทว่างบประมาณดังกล่าวกลับไม่มีรายละเอียดว่า ‘จะนำเงินมาจากไหน’ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ก่อนดีดตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่งพรวด ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซง
“ทำให้นักลงทุนไม่ไว้ใจในค่าเงินปอนด์ เพราะดอกเบี้ยพุ่งขึ้นสูงมากจนเศรษฐกิจสั่นคลอน หลังจากนั้นซูแน็ก ก็เข้ามาแทนเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง แต่ถึงอย่างนั้น เขาแก้ปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก่อให้ผลเสียหลายด้านกับประเทศ”
เลเบอร์จึงพยายามเน้น ‘การเปลี่ยนแปลง’ (change)’ ระหว่างการหาเสียง
นพพรพูดว่า ทั้งเขาและประชาชนอังกฤษคงคาดหวังให้เลเบอร์เข้ามาแก้ปัญหาหมักหมม ที่รัฐบาลอีกขั้วหนึ่งทำทำเอาไว้ ซึ่งสิ่งที่อยากให้เข้ามาจัดการอย่างเร่งด่วนคือ การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และการควบคุมตัวเลขผู้โยกย้ายถิ่นฐานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงอยากให้กระตุ้นการจ้างงาน สร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจพื้นฐานให้เข้มแข็ง การสร้างบ้านให้คนอังกฤษได้อยู่มากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ หลังจากที่เสียโอกาสจากช่วง Brexit ไป
ท้ายที่สุดแล้ว นพพรยังพูดถึงนโยบายระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยว่า “การขึ้นมาของรัฐบาลชุดใหม่ นโยบายต่างประเทศยังคงเหมือนเดิม ที่จะเน้นความร่วมมือกันเพื่อลดวิกฤตโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานสะอาด จนถึงความต่อเนื่องในการเจรจายุทธศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อนำไปสู่เขตการค้าเสรี แต่คงใช้เวลาอีกสักพัก”
“ชัยชนะของเลเบอร์ เกิดจากความต้องการที่อยากมอบความปราชัยให้รัฐบาลฝ่ายขวา หลังบริหารมา 14 ปี แต่ประเทศกลับไม่ดีขึ้น” นพพรทิ้งท้าย