เคยเห็นความชอบอะไรสักอย่างที่ทำให้เราตั้งคำถามว่า ‘ทำไมถึงหมกมุ่นกับมันได้ขนาดนั้น’ ไหม?
ตั้งแต่การติดตามศิลปิน หนัง เทคโนโลยี หนังสือการ์ตูน ฯลฯ เมื่อเราเป็น ‘แฟนคลับ’ ไปถึงระดับหนึ่ง หากเรามีเริ่มส่วนร่วมกับกลุ่มแฟนคลับคนอื่นๆ และกับอะไรก็ตามที่เราติดตามมากขึ้น เราเปลี่ยนจากการเป็นแฟนเฉยๆ เลื่อนขั้นไปเป็น ‘แสตน’
แต่คำคำนี้มาจากไหน? น่าสนใจเสมอเมื่อเรามองไปยังจุดกำเนิดของปรากฏการณ์อะไรบางอย่าง นอกจากมันจะทำให้เราเห็นประวัติของปรากฏการณ์นั้นๆ การวิวัฒนาการของวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ ขึ้นมา และในกรณีของคำว่า ‘แสตน’ เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในบริบทของมันจากจุดกำเนิดของมันจนถึงการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
‘กลุ่มแฟนที่แสดงความสนใจอย่างหนักหรือในระดับหมกมุ่นกับผู้มีชื่อเสียงใดๆ’ คือความหมายของคำว่า ‘Stan’ ที่ถูกบรรจุลงในพจนานุกรม Oxford แม้เพิ่งจะได้รับการบรรจุอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ.2018 คำว่าแสตนกำเนิดขึ้นมาจากเพลงฮิปฮอปเพลงหนึ่ง นั่นคือ Stan โดยแรปเปอร์ Eminem ในอัลบั้ม The Marshall Mathers LP ปี ค.ศ.2000 ของเขา ซึ่งต่างจากอัลบั้มอื่นๆ ที่เขาจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร อัลบั้มนี้เขาเล่าเรื่องด้วยเสียงของตัวตนของตัวเองจริงๆ นั่นคือเหตุผลที่เขาใช้ชื่ออัลบั้มเป็นชื่อจริงของเขา มาร์แชล เมเธอส์ (Marshall Mathers)
ใน Stan เพลงเป็นบทสนทนาระหว่างเขาและแสตนลีย์ เรียกย่อๆ ว่าแสตน แฟนคลับผู้หลงใหลในหนึ่งในตัวละครของมาร์แชล ชื่อว่า Slim Shady ตัวละครที่เขาสร้างขึ้นเพื่อยั่วโมโหคนหลายคนที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ โดยความหลงใหลนี้กลืนกินชีวิตของแสตน ทั้งการที่เขาพยายามเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตัวเองให้เหมือนกับแร็ปเปอร์คนโปรด หมกมุ่นกับการพยายามสื่อสารกับคนที่ไม่รู้ว่าเขามีตัวตนอยู่ หรือแม้แต่ทำร้ายร่างกายตัวเองเหมือนกับที่ Slim Shady ทำ
โดยความหลงใหลนั้นเกิดขึ้นมาจากความเชื่อมต่อกันระหว่างเรื่องที่ดนตรีเกี่ยวกับ Slim Shady พูดถึงและการใช้ชีวิตที่ย่ำแย่ของแสตนเองที่เต็มไปด้วยการทะเลาะกันกับคู่รัก ความตายของเพื่อนฝูง และอีกมากมาย บรรยากาศตึงเครียดนั้นนำให้เขามองแร็ปเปอร์คนโปรดเป็นที่พึ่งเดียวในชีวิตของเขาที่มอบความสุขและความเข้าใจให้เขาได้ โดยมาร์แชลสื่อสารข้อความของเพลงผ่านทั้งมิวสิควิดีโอ เนื้อเพลง และแม้แต่แซมเปิลเพลง Thank You โดย Dido
ฉะนั้นถ้าเราจะสามารถสรุปความอะไรจากเพลงได้ก็คงเป็นลักษณะของ ‘แสตน’ ที่ก่อนมันจะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางนั้นคือ คนที่ยึดติดกับผลงานหรือตัวตนของศิลปินในระดับส่วนตัวจนสามารถคิดว่าเขาอยู่ตรงนั้นจริงๆ ได้ และเป็นคนที่เข้าใจตัวเองมากที่สุดกว่าใครในชีวิตในระดับที่คิดว่าตัวเองต้องทำตามสิ่งที่ศิลปินทำไม่ว่าจะเป็นภัยกับตัวเองและคนรอบข้างขนาดไหน อีกครั้ง นี่คือความหมายที่เกิดขึ้นจากเพลงโดยที่มาร์แชลไม่ได้ตั้งใจให้มันอธิบายใครคนใดคนหนึ่ง
แล้วถ้าถามว่าในบริบทที่ใช้กันในปัจจุบันแสตนทั้งหมดมีลักษณะอย่างนั้นเลยไหม? ก็คงไม่ใช่ เพราะบริบทของมันเปลี่ยนไปจากการหยิบขึ้นมาใช้ และความหมายของมันก็ตามที่พจนานุกรมบอก ‘กลุ่มแฟนที่แสดงความสนใจอย่างหนักหรือในระดับหมกมุ่นกับผู้มีชื่อเสียงใดๆ’ ซึ่งความหมกมุ่นเหล่านั้นอาจขยายเพิ่มเติมไปยังการแสตนบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยี วิดีโอเกม การ์ตูน หรืออะไรก็ตามที่มี ‘แฟนด้อม’ และอาจมีการวางศิลปินหรือบริษัทเหล่านั้นไว้บนหิ้งและมองการวิจารณ์จากภายนอก (หรือภายใน) เป็นการโจมตี ฯลฯ
ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับและศิลปินนี้มีชื่อเรียกในมุมมองจิตวิทยาว่า ‘Parasocial Relationship’ หรือการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง โดยความสัมพันธ์รูปแบบนี้คือเมื่อคนเริ่มมีความรู้สึกหลงใหล สนิทสนม หรือรักในคนคนหนึ่งโดยที่คนคนนั้นไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขาในฐานะปัจเจกเลย โดยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และครอบคลุมตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า กับนักการเมือง และที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายสุดๆ ก็คือกับดารา
ฉะนั้นแปลว่าความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะมันครอบคลุมคนที่อาจตกลงอยู่ภายใต้หมวกของ ‘บุคคลสาธารณะ’ ที่มีอยู่มาเป็นหลักร้อยปีอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่ parasocial relationships อยู่ในบทสนทนาบ่อยครั้งในปัจจุบันเพราะว่าเราอยู่ในยุคที่ความสัมพันธ์รูปแบบนี้สามารถถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างง่ายดายผ่านธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย และหลายๆ บริษัทใช้มันเป็นประโยชน์
ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามที่แชทพิมพ์หาสดๆ โดยสตรีมเมอร์ การลงรูปชีวิตประจำวัน การสร้างแพลตฟอร์มแชทเฉพาะของตัวเองให้ศิลปินส่งข้อความโต้ตอบหรือลงรูปให้แฟนคลับดูเหมือนกับว่าเรากำลังแชทกับพวกเขาจริงๆ ฯลฯ ปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายที่บริษัทสามารถดึงดูดให้คนที่เป็นแฟนคลับหรือแฟนขาจรให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริงขึ้น แม้แต่แบรนด์ที่ไม่ได้เป็นมนุษย์เช่นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ด Arby’s ก็เปลี่ยนการใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองจากแบรนด์ธรรมดาให้เหมือนกับว่าหญิงสาวผมแดงในโลโก้ของพวกเขาเป็นมนุษย์จริงๆ
และแม้ว่าธรรมชาติของ parasocial relationships นั้นจะยังเป็นความสัมพันธ์ข้างเดียวเหมือนเดิมในอดีต เครื่องมือเหล่านี้พาให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับพวกเขามากขึ้น ก็จริงที่นั่นอาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป แต่ความใกล้ชิดนี้ไม่มีพิษมีภัยเลยจริงหรือเปล่า?
ในงานวิจัย Attachment Styles and Intimate Television Viewing: Insecurely Forming Relationships in a Parasocial Way โดยทริม โคล (Trim Cole) และลอร่า ลีตส์ (Laura Leets) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดอพอลและสแตนฟอร์ด พบว่าการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริงนั้นให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับความสัมพันธ์ทั่วไป นั่นคือให้ความรักใคร่ ขอบคุณ โหยหา มีแรงใจ และความซื่อสัตย์ต่อดาราคนนั้นๆ
คำถามที่ต้องถามคือเกิดอะไรขึ้นหากคนคนหนึ่งมองว่าตัวเขาอยู่ในความสัมพันธ์ลึกซึ้ง แต่สำหรับอีกคนช่องว่างระหว่างพวกเขาห่างไกลหว่านั้นมาก?
ภาพปาปารัซซีและความต้องของมัน การติดตามดาราไปทุกย่างก้าวของชีวิต ดราม่าข่าวการคบหาของศิลปิน การคิดแทนศิลปินในเรื่องราวส่วนตัวของพวกเขา การแฮ็คข้อมูลส่วนตัว ฯลฯ เรื่องเหล่านี้มาคู่กันกับความสัมพันธ์ parasocial relationship ที่แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสมอไป ก็เป็นความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อการก้าวล้ำความเป็นส่วนตัวของดาราสักคนอยู่บ่อยครั้ง
และในมุมของตัวแฟนคลับเอง parasocial relationships ในขณะที่มันสามารถมอบความสุขให้แก่พวกเขาได้ แฟนคลับก็อาจพึ่งพามันเหมือนที่ใครสักคนพึ่งพาคู่ของพวกเขาจริงๆ ซึ่งหากมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในโลกจริงของตัวเองได้ เพราะมันนำมาซึ่งความวิตกกังวลหรือความรู้สึกตัดขาดจากสังคมได้ รวมไปถึงถ้าหมกมุ่นมากพอ มันสามารถผลักให้คนทำสิ่งที่อาจไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมหรือบางครั้งผิดกฎหมายก็ได้ด้วย
และเมื่อมองออกมาให้กว้างขึ้น วัฒนธรรมการแสตนโดยรวมก็ส่งผลในรูปแบบใกล้เคียงกันในหลากหลายสเกล ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามผู้พัฒนาเกมหรือทีมผู้สร้างภาพยนตร์เมื่อเกมหรือหนังสักเรื่องไม่ตรงตามภาพที่เหล่าแสตนวาดไว้ การวอร์กันระหว่างค่ายผลิตมือถือหรือแพล็ตฟอร์มเล่นเกมเพราะว่าแบรนด์ที่ฉันไว้ดีที่สุดและใครจะมาแตะต้องไม่ได้
ในขณะที่หลายๆ บริษัทยังคงใช้ parasocial relationship เป็นเครื่องมือ เราเห็นความตระหนักรู้ถึงความเป็นไปได้ที่จะเป็นภัยของมันจากสตรีมเมอร์หรือศิลปินหลายๆ คนเช่นกัน เช่น สตรีมเมอร์ชื่อดัง Ludwig พูดเพื่อสร้างระยะห่างระหว่างตัวเขาและผู้ชมอยู่เสมอ ‘ทรีตพวกเราเหมือนคุณดูซีรีส์ Mad Men อยู่ คุณไม่ควรสร้างสัมพันธ์กับผม ผมเป็นนักสร้างความบันเทิง ถ้าผมหยุดบันเทิงคุณก็เลิกดู แค่นั้น นั่นคือสิ่งที่ผมขอจากพวกคุณ เพราะผมไม่ใช่เพื่อนคุณ…ผมไม่รู้จักคุณ มันเป็นไปไม่ได้ พวกคุณมีกันเป็นหมื่น’ เขาพูดในสตรีมของเขา
ในรายการวิทยุ NCT Night Night หนึ่งในสมาชิกจากวงบอยแบนด์เคป๊อป NCT คิมโดยอง (Kim Doyoung) พูดตอบแฟนคลับเกี่ยวกับความรู้สึกของแฟนคลับคนนี้ที่สร้างสัมพันธ์ parasocial relationship กับวงอย่างเหนียวแน่นจนวงเป็นความสุขเดียวของเขาว่า ‘ผมหวังว่าคุณจะไม่ได้มีความสุขเฉพาะตอนที่ชอบพวกเรา ผมหวังว่าพวกเราจะเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข’ (แปลโดย PEACHES PERFECT, Twitter: @njmqnx)
ในขณะที่หลายๆ ครั้งผู้คนยกเพลง Stan ขึ้นมาเพื่อบอกถึงความเลวร้ายของวัฒนธรรมแสตน ท่อนสุดท้ายของเพลงนุ่มนวลกว่านั้น เมื่อ Eminem เปลี่ยนมุมมองจากของแสตนเป็นมุมมองของมาแชล เมเธอส์ กล่าวว่า ‘Why are you so mad? Try to understand that I do want you as a fan’
เมื่อในที่สุดแล้วไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องเลิกเป็นแฟนคลับ แต่เส้นทางการเป็นแฟนที่ลดผลเสียต่อทั้งด้อม ตัวศิลปิน และตัวแฟนคลับเองนั้นก็เป็นหนทางที่น่าพิจารณา
อ้างอิงข้อมูลจาก