ท่ามกลางข่าวอาชญากรรมที่เราพบเห็นกันได้แทบทุกวัน นอกจากประเด็นว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญและจำเป็นต่อการเข้าใจเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นก็คือคำว่า ‘ทำไม’
ทำไมถึงเกิดเหตุฆ่าข่มขืน? ทำไมลูกถึงลงมือฆ่าพ่อแม่ของตัวเองได้ลงคอ? ทำไมคนร้ายต้องฆ่าหั่นศพ? ทำไมนะ เหตุอาชญากรรมในรูปแบบเดิมๆ ถึงวนเวียนกลับมาให้เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ? เรื่องเหล่านี้อาจดูลึกลับและดำมืด คล้ายกับสำนวนว่าจิตใจคนเรายากแท้จะหยั่งถึง
แต่ในความมืดเช่นนี้ ก็ยังมีแสงสว่างอยู่เหมือนกัน The MATTER ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ประธานหลักสูตรอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำความเข้าใจองค์ความรู้ด้าน ‘อาชญาวิทยา’ และสำรวจความหมายที่แฝงอยู่ในเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวพวกเรา
อาชญาวิทยาคืออะไร
ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Criminology คือการศึกษาเกี่ยวกับอาชญากรรม เดิมเขาถือว่าเป็นสาขาย่อยสาขานึงในสังคมวิทยา แต่ช่วงหลังมานี้ มีการพัฒนาขึ้นมาเยอะ โดยไปเชื่อมโยงกับสาขาวิชาอื่น แบ่งประเด็นการศึกษาเป็นสองร่ม ร่มที่หนึ่งคือศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุ แรงจูงใจ ร่มที่สองคือปัจจัยในการทำความผิด
อาชญาวิทยามีสมมติฐานว่า ถ้าเราเข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เราก็จะสามารถตัดวงจร รวมถึงควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนได้ โดยใช้ปัจจัยต่างๆ ที่เราเรียนรู้จากสาเหตุการทำความผิด ตลอดจนโฟกัสความสนใจไปที่ผู้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม อันนี้เป็นเป้าหมายใหญ่ๆ ซึ่งเป็นสาขาอันนึงของสังคมวิทยา แต่หลังๆ มามันจะเพิ่มในเรื่องกระบวนการยุติธรรมเข้าไปด้วย
วิชานี้เรียนอะไรบ้าง
โดยพื้นฐานแล้วเรียนทฤษฏีทางอาชญาวิทยา มันก็เป็นบูรณาการตั้งแต่เรื่องเกี่ยวข้องกับสังคมวิทยา เรื่องสังคมไร้ระเบียบ ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมจนเกิดการปรับตัวไม่ได้ มีมิติในเรื่องของจิตวิทยาว่ามีแรงจูงใจอย่างไร ทำไมคนเราถึงขาดความยับยั้งชั่งใจ มีเรื่องการเมือง แนวคิดเรื่องชนชั้น รวมถึงเรื่องการตีตราในสังคม
ในช่วงหลังมีการพัฒนาเป็นสองส่วน ได้แก่เรื่องทฤษฎี กับอีกกลุ่มนึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องมือ คือพอเราเรียนรู้แล้ว มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมแล้ว ก็จะมีการพัฒนาวิธีป้องกันหรือตัดวงจรการทำความผิด รวมไปถึงการแก้ไขฟื้นฟูคนที่ทำความผิด ไม่ให้ทำความผิดซ้ำ
บางส่วนก็จะเพิ่มเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ของเราคือกรณีเรื่องการเรียกยาเสพติดว่ายาม้า ก่อนจะเปลี่ยนเป็นยาบ้า แล้วมาเป็นยาเสพติดประเภทหนึ่ง เราเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันใหม่ว่า ถ้าเสพเฉยๆ เราถือเป็นผู้ที่ป่วยก็ไปบำบัดซึ่งช่วยแก้ปัญหาคนล้นคุกได้
เวลาอาจารย์สอนหนังสือ หยิบเคสแบบไหนมาให้นักเรียนศึกษากันบ้าง
เคสทดลองจะมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นเคสต่างประเทศให้เด็กวิเคราะห์เพื่อศึกษารายละเอียดกัน ในต่างประเทศก็จะแตกต่างในบ้านเรา โดยเฉพาะเรื่อง hate crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง แต่เมืองไทยยังไม่มีมากขนาดนั้น หรืออาชญากรรมต่อเนื่อง ซึ่งในไทยเหมือนจะมีแค่รายเดียวเท่านั้น ที่เป็นทหารพรานโดนผู้หญิงหากินหลอก ในที่สุดก็โกรธแค้น แล้วก็ไล่ฆ่าผู้หญิงหากินต่อเนื่อง
อีกกลุ่มนึงที่มีเยอะคือ พวกกลุ่มผิดปกติทางจิตที่มีจำนวนสูงมาก อีกกลุ่มนึงที่กำลังมีมากขึ้นคือ cyber crime ซึ่งในเมืองนอกมีเยอะมาก
ทำไม hate crime ในต่างประเทศถึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มแรกมันเกิดประเด็นเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ เวลาส่งลูกไปต่างประเทศ เด็กกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุน ภาษาก็ยังไม่ได้ พอเลิกเรียนแล้วก็ไปกินอาหารดีๆ แต่เด็กอเมริกา มันมี ไล่ฆ่าไล่ทำร้ายก็เกิดจากเรื่องชาติพันธุ์ คนตะวันตกมักจะมองคนเอเชียในแง่ไม่ดี แล้วก็มีการตั้งแก๊ง อีกส่วนก็เป็นเรื่องศาสนา
เรื่องชาติพันธุ์เรื่องศาสนา สีผิวก็จะมีส่วนเหมือนกัน พอมารวมตัวกันแล้วเกิดการซึมซับมันก็เกิดความเกลียดชังขึ้น มีการฆ่ากัน ทั้งๆ ที่บางคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ป้ายสีว่าเป็นชาติเดียวกัน เป็นคนเอเชีย คนตะวันออก คนแอฟริกา
กรณีฆาตกรต่อเนื่องเกิดจากอะไร
มันปนเประหว่างกลุ่ม mental ill นะ คนกลุ่มนี้มีสภาพจิตที่ผิดปกติ คือ อาจจะมีสภาพจิตที่ค่อนข้างเลวร้าย การฆ่าคนมันตอกย้ำความสะใจของเขา เขาจะฆ่าคนกลุ่มนี้ไปเรื่อยๆ เป้าหมายก็เลยจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ถ้าเป็นผู้หญิงแก่ก็จะเป็นผู้หญิงแก่ต่อกันหมด หรือถ้าเป็นผู้หญิงสาวก็จะเป็นสาวต่อกันหมด เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหยื่อสี่ห้ารายติดต่อกัน เราก็จะเริ่มเดาได้ว่าฆาตกรคนนี้ทำเป็นทิศทาง อาชญาวิทยาก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปวิเคราะห์ว่าทำไมคนร้ายถึงเลือกฆ่าคนกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม มันแยกกันระหว่างเหตุจูงใจในการฆ่า ถ้าเป็น hate crime ก็จะเป็นศาสนา การเมือง ชาติพันธุ์ ถ้าเป็นต่อเนื่องมันอาจจะเกิดจากความผิดปกติทางจิตด้วย คือเขาไม่ได้เกลียดชังนะ แต่ฆ่าแล้วมันตอบสนองทางจิตใจของเขา
แต่บางคนอาจจะมองว่า พอมีเหตุร้ายเกิดขึ้น คนร้ายถูกจับเรื่องก็จบแล้ว ไม่เห็นต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติมอีก
เมื่อก่อนเรามองกันว่า ถ้านำคนที่ทำความผิดเอาไปกักขังไว้ คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ออกมาทำความผิดกันอีก แต่ว่าการที่เอาเขาไปกักขังไว้ เมื่อเอาคนทำความผิดมารวมๆ กัน มันก็ทำให้เกิดสองอย่าง อย่างแรกคือ เรียนรู้ร่วมกัน จากคนที่ก่อเหตุเล็กๆ น้อยๆ ได้ไปอยู่กับคนทำผิดด้วยกันก็กลายเป็นถ่ายทอดเรียนรู้การทำผิดด้วยกัน
อีกมุมนึงคือ ทฤษฎีเรื่องตีตรา คือใครก็ตามที่กระทำความผิดแล้วเอาเข้าเรือนจำ ออกมามันทำให้ชีวิตเขาเสียแล้วทั้งชีวิต เพราะถูกตีตราไปแล้วว่าเป็นคนชั่ว ออกมาไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีคนรับ เรายังมีภาพฝังใจว่า คนๆ นี้เป็นคนชั่ว อันนี้เป็นภาพเก่าๆ ที่ทำให้เกิดผลเสีย หลังๆ เราเลยมีการปรับเปลี่ยนโดยนอกจากขังไว้แล้ว เรายังมีกิจกรรมให้เขาเรียนรู้ ได้ฝึกปรับจิตใจ ได้รู้ผิดชอบชั่วดี เพื่อไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ
อาจารย์กำลังจะบอกว่า การเข้าใจคนที่ทำผิดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
คนจำนวนมากไม่เข้าใจคนที่ทำความผิด บางคนมีบุคลิกภาพชอบเก็บกดความรู้สึกเอาไว้ พอถึงเวลาระเบิดออกมาทีเดียวแล้วก็ทำความผิด เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เขารับมามันคับแค้นใจขนาดไหน
อาชญาวิทยามีแนวคิดว่า คนที่กระทำความผิดไม่ได้เกิดจากความชั่วเพียงอย่างเดียว คงไม่มีใครอยากชั่วแล้วไปติดคุก แต่เราไม่เคยค้นหาสาเหตุว่าเขาทำผิดเพราะสาเหตุอะไร เขาอยู่ในสภาพอย่างไร ถูกกดดันมามากน้อยขนาดไหน นี่คือสิ่งที่อาชญาวิทยาเข้าไปช่วยได้ ปรับความคิดให้ใหม่ว่า ต้องมีการสืบสวนดูพื้นฐาน การลงโทษอย่างเดียวก็จะเกิดความแค้นว่าสังคมไม่ต้อนรับเขา พอปล่อยออกมาเขาก็จะทำผิดซ้ำหรือแก้แค้นสังคมได้
อาชญาวิทยามันเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันช่วยป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ และสามารถช่วยเหลือคนที่ทำผิด และคืนเขากลับสู่สังคมได้ตามปกติ
สภาพสังคมทุกวันนี้ ประกอบสร้างให้คนเรากลายเป็นอาชญากรได้มากน้อยแค่ไหน
มีส่วนนะ หลายครั้งคดีลักทรัพย์ก็มาจากความยากจนก็มี เราเคยคิดว่า คนที่แต่คนบริโภคสิ่งลามาก อนาจาร จะมีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรม แต่ในต่างประเทศเขาศึกษามาแล้วพบว่าไม่เสมอไป บางคนอาจจะดูเพื่อความบันเทิงก็จบ หรือในสังคมที่มีความยากจนก็ไม่ได้แปลว่าเด็กจะไปก่ออาชญากรรมเสมอไป เราอาจะต้องคิดว่า จริงๆแล้วมีแค่คนกลุ่มน้อยนะที่ก่ออาชญากรรม หลังๆ เรามองว่า แต่ละคนอาจจะโตมาด้วยภูมิคุ้มกันที่ไม่เท่ากัน
แล้วปมในจิตใจตอนเด็กๆ มีส่วนผลักดันให้ทำความผิดด้วยไหม
แต่ก่อนเรามีความเชื่อทั่วไปว่า ถ้าเด็กผู้ชายโตมาด้วยการเห็นพ่อทำร้ายแม่ แล้วเราก็คิดว่าน่าจะเป็นอาการเจ็บปวดฝังใจ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า อาการบาดเจ็บทางจิต ซึ่งเคยคิดกันว่าถ้าเขาโตขึ้นมาแล้วจะไม่ทำ มันกลับไม่ใช่ พอเข้าโตขึ้นมามีลูกมีเมียแล้ว เขากลับทำทำร้ายคนในครอบครัวตัวเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การซึมซับในพื้นฐานก็มีผลมากต่อจิตใจคน แต่จะทำความผิดไหมก็ขึ้นอยู่กับกลไกภายในตัวแต่ละคนอีกที พื้นหลังตั้งแต่เด็กมามันมีผลแน่นอน
ตัวกระตุ้นให้คนก่ออาชญากรรมในวันนี้ มันมีสัดส่วนของอะไรมากกว่ากัน ระหว่างสิ่งแวดล้อมรอบข้าง กับ ปัจจัยภายในตัวเราเอง
มันแล้วแต่กรณี บางคนเติบโตมาในสังคมที่พ่อแม่ยากจนแร้นแค้น บางคนก็ได้รับการตามใจทุกอย่าง พอเหลิงก็ทำความผิดก็มี ถามว่าอะไรสำคัญกว่ากัน มันคือผสมผสานทั้งคู่ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณอยู่ในสังคมที่เราเห็นคนทำผิดเป็นเรื่องปกติ คนที่อยู่คลุกคลีก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นแล้ว การเรียนรู้หรือซึมซับก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่มีโอกาสก็อาจจะไม่ทำ แต่ถ้าเรียนรู้แล้วปัจจัยมันเสริม มันก็มีส่วนให้เขาทำผิดได้
แปลว่าเราไม่สามารถตัดสินใครได้ตั้งแต่แรกเห็น
ใช่ เพราะเราไม่รู้เลยว่าเขาโตมาอย่างไร เขามีแรงจูงใจจากอะไร เราอาจมองเห็นว่าเขาเป็นคนดี แต่ถ้าถูกกดดันเยอะๆ ก็ทำความผิดได้ ขณะที่บางคนเป็นคนชั่วแอบแฝง ภาพลักษณ์อาจจะดูดี แต่เราไม่มีทางรู้ว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจก่อน การลงโทษอย่างเดียวมันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา เพราะเขาก็จะไม่ได้รับการแก้ไขทางจิตใจและทำผิดซ้ำอีก สังคมโดยรวมก็ได้รับผลกระทบ เราต้องเข้าใจแรงจูงใจ ปัจจัยของเขาด้วยเหมือนกัน
บางคนอาจจะบอกว่า ทำไมต้องศึกษาอาชญากร แต่ในความจริงแล้วมันจำเป็นมากๆ เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแล้วจะมีสองส่วน หนึ่งคือเราปรับความคิด ทัศนคติ สร้างภูมิคุ้มกันในตัวของเขาเอง อันที่สองคือ เราช่วยเขาปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อไม่ให้สังคมเดือดร้อน
คนที่อยากเป็นนักอาชญาวิทยา จำเป็นต้องมาจากสายตำรวจไหม
ในต่างประเทศเราจะเห็นคนทำอาชีพ forensic ค่อนข้างเยอะ พวกนั้นในทางปฏิบัติเป็นฝ่ายเก็บพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุมาวิเคราะห์และเชื่อมโยง เพื่อชี้ว่าใครทำความผิด ของเราก็เรียนรู้พวกนี้โรงเรียนนายร้อยด้วยเหมือนกัน
คนที่เรียนตำรวจมาก็จะเรียนวิชา forensic มาเพื่อใช้เป็นทักษะเก็บพยานหลักฐานเพื่อใช้ทำคดีได้ แต่ในกลุ่มนึงก็จะมีพิสูจน์หลักฐานก็จะรับนักวิทยาศาสตร์เข้าไป เพื่อเอาพยานหลักฐานไป
ในกรมราชทัณฑ์ก็รับคนที่เรียนอาชญาวิทยาไปทำงานด้วยมานานแล้ว ในตำแหน่งนักทัณฑวิทยา คือคนที่วางแผนจำแนกผู้ต้องขังว่าใครทำผิดเยอะ ใครทำผิดน้อย เพื่อไปวิเคราะห์ และกำหนดแนวทางว่าจะแก้นิสัยหรืออบรมกันอย่างไร คนที่จบสายนี้ไม่น้อยก็จะไปทำงานให้กรมราชทัณฑ์เป็นหลักก่อน ในช่วงหลังก็จะมีคนไปทำงานในกระทรวงยุติธรรมโดยตรงเลย คนกลุ่มนี้จะรู้วิธีป้องกันอาชญากรรม รวมถึงสร้างนวัตกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุ
ถ้ามองในภาพใหญ่ องค์ความรู้ด้านนี้มันสำคัญกับการทำงานของตำรวจอย่างไรบ้าง
ในต่างประเทศมันเป็นสาขานึงที่ค่อนข้างถูกใช้เยอะมาก ตำรวจเขาจะต่างกับบ้านเรา ที่มักจะเน้นแต่เรื่องหาพยานหลักฐานเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าศาลฟังแต่เรื่องเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งการหาพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุมันอาจจะบ่งบอกไม่พอ ในต่างประเทศเลยเน้นศึกษาแรงจูงใจด้วย ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ มันก็จะหาคนที่ใกล้เคียงจะเป็นผู้ทำผิดได้ ถ้าไม่รู้แรงจูงใจ มันก็อาจจะกลายเป็นจับคนผิดหรือจับตัวไม่ได้ ซึ่งก็จะผลักดันให้เขาออกไปกระทำความผิดต่อไปอีกเรื่อยๆ
การศึกษาเรื่องแรงจูงใจมันช่วยให้การสืบสวนสอบสวนของตำรวจชัดเจนมากขึ้น สามารถกำหนดทิศทางของการกระทำความผิดได้