โลกบอกเราว่า เมื่อเราเรียนจบแล้ว หน้าที่หลักของเราคือการหางานทำ กว่าครึ่งของตัวเราถูกนิยามผ่านอาชีพ และแน่นอนว่าด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ‘ภาวะตกงาน’ จึงเป็นภาวะที่แสนสยองขวัญ ความกลัวการตกงานเป็นภาวะที่ทำให้เรายอมทนกับอะไรบางอย่าง และบางคนยอมทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยง
แง่หนึ่งเรามีคำพูดว่าถ้าการเมืองดีแล้วจะชีวิตจะดีขึ้น ซึ่งแน่นอน เรื่องเงินเดือนอาจจะแล้วแต่ความสามารถ แต่ถ้าการเมือง มีการบริหารงบประมาณที่ดี เงื่อนไขการทำชีวิตให้เราให้ดีขึ้นของเราก็ย่อมง่ายกว่า ผ่านชีวิตที่เหนื่อยน้อยลง การเข้าโอกาสที่มากขึ้น ดังนั้นแล้วถ้าการเมืองเราดี สวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตของเราดีขึ้น เราเองก็จะมีสิทธิในการตกงาน ทำให้ภาวะว่างงานของเราไม่ใช่เรื่องน่ากลัว คนทำงานมีโอกาสทั้งโอกาสในการว่างเว้นจากการทำงาน มีอิสระจากงานบ้าง มีโอกาสที่จะใช้เวลาว่างและมีโอกาสในการเลือกงาน อันจะหมายความว่า สังคมก็อาจมีความเป็นธรรมในการจ้างงานมากขึ้นด้วย
ในหลายประเทศระบบสวัสดิการสำหรับการว่างงาน ในประเทศกลุ่มก้าวหน้า เช่น ฟินแลนด์ก็มีการทดลองจ่ายเงินเดือนพื้นฐาน (universal income) และทดสอบเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบในระดับชาติ แม้ว่าผลการทดลองอาจจะยังสรุปข้อดีอย่างชัดเจนไม่ได้ แต่ก็พบว่ากลุ่มคนที่ได้รับรายได้พื้นฐานนั้นค่อนมีมุมมองกับชีวิตและความเป็นที่ดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ และมีผู้นำทางเศรษฐกิจหลายคนที่ผลักดันบอกว่าการมีความมั่นคงทางรายได้นั้น ไม่ทำให้คนขี้เกียจ และอาจทำให้พลเมืองสามารถขยายทักษะของตัวเองได้จากภาวะว่างงาน และการมีอิสระทางการเงิน
ระบบทุนนิยมและระบบทุนนิยาม
เวลาอยู่ในสังคม เรามักถูกถามว่า ‘เฮ้ยแล้วตกลงคุณเป็นใคร’ ในกรณีที่คุณเป็นคนวัยทำงาน เชื่อว่ากว่าครึ่งจะถามหน้าที่การงานของเรา ซึ่งตัวของเรานั้นก็จะถูกนิยามด้วยอาชีพไปโดยปริยาย เราเป็นหมอ เป็นตำรวจ เป็นครู ซึ่งตัวตนของเราก็จะเริ่มถูกรับรู้ผ่านอาชีพไปพร้อมๆ กันนั้น คุณเป็นครู น่าจะมีนิสัยแบบนี้แบบนั้น เป็นนักกฎหมายหรอทำนี่นั่นได้มั้ย หลายครั้งที่ตัวตนของเราสัมพันธ์กับอาชีพ หรืออาชีพของเรากลับมาหล่อหลอมตัวตนของเราอีกที
ด้านหนึ่งนั้น การ ‘ถูกมองเห็น (visibility)’ ของเราจึงขึ้นอยู่กับว่าเราทำงาน หรือพูดอีกอย่างคือเรานั้นอยู่ตรงไหนของการผลิตในระบบทุนนิยม อันเป็นส่วนที่รัฐ หรือสังคมจะมองเห็นเราในฐานะฟันเฟืองหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนระบบนี้ไป มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักคิดที่วิพากษ์โลกสมัยใหม่และระบบทุนนิยมบอกว่า โลกของการผลิตมานิยามตัวเรานั้นมันบุกเข้าไปถึงในห้องนอน ในยุคสมัยใหม่ช่วงต้นเช่น วิคตอเรียน กิจกรรมกระทั่งกิจกรรมทางเพศที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิตทายาท อันหมายถึงการผลิตแรงงาน ก็จะถูกตราให้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ในยุคหนึ่งโรงพยาบาลบ้าของปารีสเต็มไปด้วยคนที่ไม่ร่วมขับเคลื่อนระบบทุนนิยม โรงพยาบาลกลายเป็นที่ขังคนจน ไปจนถึงคนขี้เกียจ ปัจจุบันนึกภาพพวกกราฟ หรือสถิติต่างๆ ประชากรหรือพลเมืองเช่นเราๆ มักจะปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษผ่านกลุ่มอาชีพ ผ่านฐานเงินเดือน รายงานที่มองเห็นเราในฐานะเฟืองผู้มีคุณูปการกับระบบอันยิ่งใหญ่นี้ผ่านตัวเลขรายได้ ไปจนถึงฐานภาษี
ดังนั้นเอง เมื่อเราถูกนิยามและประเมินค่าด้วยอาชีพ ด้วยรายได้ ถูกมองผ่านกรอบของระบบทุนนิยมอยู่เสมอ ดังนั้นแล้ว การตกอยู่ในเข่งของกลุ่ม ‘ไร้อาชีพ’ เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีคุณูปการกับระบบทุนนิยม ไม่ได้ผลิตอะไรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระทั่งในระดับความคิดของสังคม ก็จะมองเราอย่างด้อยค่า ด้อย ‘ราคา’ ลง กลายเป็นพวกไม่ทำงานทำการ ไม่ได้เรื่องได้ราว
ตกงาน ช่วงเว้นว่าง อิสรภาพจากการหาเงิน และโอกาสของการใช้ชีวิต
จริงๆ ตรงนี้ค่อนข้างเป็นเงื่อนไขของโลกทุนนิยม โลกสมัยใหม่โดยทั่วไป ซึ่งมองด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องโหดร้าย ที่กลายเป็นเรื่องธรรมดา คือแน่นอนว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบรายได้และความเป็นอยู่ของตัวเอง ดังนั้นการทำงานจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างที่สุดที่ทำให้เรามีกินมีใช้ มีความมั่นคงในชีวิตด้วยความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าความมั่นคงทางเศรษฐกิจนี้ก็ถือเป็นความรับผิดชอบของเรา เป็นเรื่องของปัจเจกชน
แต่ครับแต่ ในบางประเทศที่เริ่มมองว่ารัฐเองก็มีส่วนรับผิดชอบในความมั่นคงของประชาชนด้วย ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะจากภาษี และมองว่าพลเมืองที่มีความมั่นคงในชีวิตจะนำไปสู่พลเมืองที่เข้มแข็งและมีคุณภาพอันจะสามารถขับเคลื่อนสังคมนี้กันต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในเบื้องต้นประเทศก้าวหน้าๆ หลายประเทศก็เริ่มมีการการันตีภาวะว่างงาน มีการจ่ายเงินชดเชยที่ไม่ต่างกับฐานเงินเดือนเดิมมากนัก อย่างน้อยที่สุดคือทำให้พลเมืองของตนไม่ตายตกหรือลำบากจนเกินไปนัก
ตรงนี้เองที่แนวคิดเรื่องรายได้พื้นฐานเข้ามามีบทบาทและเริ่มมีการทดลองกันอย่างจริงจัง คือรัฐพยายามทำความเข้าใจ และมองหาวิธีการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแบบใหม่ การให้ผู้คนมีอิสระจากข้อมูลมัดเรื่องการทำมาหากิน ซึ่งในหลายประเทศไม่ได้มองคนว่าเป็นเหมือนเด็กน้อย ต้องมีเงื่อนไขในชีวิตถึงจะ ‘ทำตัวดีๆ’ ถ้าให้เงินฟรีก็จะขี้เกียจอะไรทำนองนี้
มีความพยายามศึกษาและทดลองการให้เงินเปล่ากับพลเมืองทั้งในสเกลเล็กใหญ่ในหลายประเทศ มีทั้งผู้คัดค้านและสนับสนุนก็ค่อนข้างหลากหลาย ฟินแลนด์ถือเป็นประเทศแรกที่รัฐทำการทดลองการให้เงินรายได้พื้นฐานในระดับประเทศ เป็นการทดลองสุ่มให้เงินรายได้พื้นฐานกับกลุ่มตัวอย่าง ทำโดยศูนย์วิจัยในช่วงปี ค.ศ.2017-2018 จริงๆ ผลงานศึกษาค่อนข้างเป็นบวก แต่ก็อาจจะไม่ได้มีผลชัดแจ้งเปลี่ยนแปลงโลกว่า การมีเงินให้เปล่ามันทำให้คนขยันขึ้นนะ แต่ในทางกลับกันก็ไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจและแบมือขอเป็นขอทานแต่อย่างใด แต่ผลจากการสำรวจพบว่าคนที่ได้เงินพื้นฐานนี้รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น สามารถจัดการทางการเงินได้ดี มองชีวิตโดยรวมดีขึ้น ซึ่งตัวงานศึกษานี้ถือเป็นงานศึกษาแบบกว้าง คือทำในระดับประเทศและกินระยะเวลานาน แต่ก็อาจมีข้อบกพร่องในเชิงลึก แง่การเก็บและตีความข้อมูลบ้าง
แอนดรูว์ หยาง (Andrew Yang) ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐปี ค.ศ.2020 และนักธุรกิจหนุ่ม เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันโครงการ Universal basic income ในสหรัฐ ยังเสนอว่าจะให้เงินกับพลเมืองสหรัฐที่อายุเกิน 18 เป็นจำนวน 1,000 เหรียญทุกๆ เดือน ฟังดูเป็นโครงการประชานิยม แต่ถ้าเราดูกระแสจากทั่วโลกที่สนใจการจ่ายเงินเดือนให้เปล่านั้น ยังเองอธิบายว่าการให้เงินของรัฐไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจขึ้น แต่ทำให้ประชาชนมีอิสระมากขึ้นในการทำงานมากกว่า โดยเฉพาะจากการผูกมัดโดยงานประจำ และอาจทำให้ตลาดงานไปจนถึงมุมมองต่อการทำงานเปลี่ยนแปลงไป
ในการถกเถียงในรายการ The Fifth Column นายแอนดรูว์ ยังแสดงความเห็นแย้งเจ้าของรายการและผู้ดำเนินรายการที่ยกตัวอย่างแม่ของตัวเองที่ตกงาน เนื่องจากเธอสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาตัวเองไป เจ้าของรายการบอกว่า ถ้าแม่ของเขาได้เงินปีละหมื่นสองพันเหรียญสหรัฐจากโครงการนี้ แม่ของเขาจะยิ่งไม่เสียแรงผลักดันในการทำงานเข้าไปใหญ่หรอ เพราะนอนรอรับเงินดีกว่า
แต่แอนดรูว์บอกว่าตรงข้ามเลย การได้เงินเดือนละพันนั้นอาจทำให้คุณแม่คุณสามารถเข้าถึงการการฝึกทักษะความสามารถอื่นๆ ได้ และที่สำคัญคุณยังชี้และแยกแยะสองสิ่งในการทำงานออกจากกัน คือความสามารถ (ability) และความสามารถในการริเริ่มสิ่งใหม่ (incentives) คุณยังผู้ซึ่งเราฟังแค่นี้ยังรู้สึกรักแกบอกว่า แกเป็นคนที่เชื่อว่าผู้คนนั้นในที่สุดจะหาอะไรทำไปในที่สุด
ซึ่งข้อแย้งหลักๆ คือบอกว่า ถ้าเราเริ่มให้เงินคนเปล่าๆ แล้วคนก็จะขี้เกียจและไม่ขับเคลื่อนอะไรเลย รอรับเงินอย่างเดียว ถ้าเราดูงานศึกษาของฟินแลนด์เองมีรายงานว่า การมีเงินรายได้ให้เปล่านั้นทำให้คนอยู่ในการทำงานเฉลี่ยสูงกว่าปกติ 6 วัน และคนที่รับรายได้พื้นฐาน เมื่อว่างงานแล้ว มีแนวโน้มจะกลับเข้าทำงานที่ 78 วันโดยเฉลี่ย ในขณะที่คนที่ไม่ได้รับรายได้พื้นฐานมีแนวโน้มจะกลับเข้าทำงานอีกครั้งที่ 73 วันโดยเฉลี่ย พูดง่ายๆ คือในแง่การกระตุ้นให้กลับไปทำงานหรือไม่กลับไปทำงาน ตัวรายได้พื้นฐานไม่มีผลมากนัก แต่มีผลในเชิงจิตใจ คือนั่นแหละ คนที่ได้ตังรู้สึกดีกว่า มั่นคงกว่า ดีเพรสน้อยกว่า ในทางกลับกันก็ไม่ได้ขี้เกียจ ก็ยังกลับไปทำงานอยู่ดีในท้ายที่สุด
ตัวงานศึกษาใหม่นี้ค่อนข้างสอดคล้องกับงานศึกษาที่คุณแอนดรูว์อ้างอิงมา คืองานศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่ในปี ค.ศ.2018 และทบทวนใหม่ในปี ค.ศ.2020 ในตัวงานศึกษานั้นพูดถึงรัฐอลาสก้าที่มีการให้เงินกับพลเมืองตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 และศึกษาว่าการให้เงินเดือนพื้นฐานนี้นั้น ส่งผลกับแรงงานมากน้อยแค่ไหน คนจะขี้เกียจทำงานอย่างที่เชื่อกันรึเปล่า
คำตอบคือ ไม่มีผลอะไรกับตลาดงาน แต่พบว่ากลับทำให้ตลาดงานประเภทพาร์ทไทม์เติบโตขึ้นถึง 17% ตรงนี้เองคุณยังก็ชี้ให้เห็นว่า นี่ไงการมีเงินพื้นฐานนำไปสู่การทำงาน การสร้างรายได้ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่รายได้ หรือเงินเดือนประจำอย่างที่มุมมองแบบคลาสสิกที่เรามองๆ และประเมินค่ากัน การมีรายได้พื้นฐานอาจนำไปสู่การประกอบกิจการและการหารายได้อื่นที่นอกเหนือจากงานประจำ เป็นการสร้างงานตั้งแต่งานเล็กๆ ไปจนถึงการริเริ่มกิจการของตัวเอง และแน่นอนว่าจุดนี้ยังส่งผลกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีมิติมากไปกว่าที่เคยๆ ประเมินกัน
พูดมาอย่างยืดยาว มาจนจบที่เรื่องรายได้พื้นฐานที่อาจจะฟังดูเป็นอุดมคติอยู่บ้าง แต่ว่าประเด็นสำคัญหนึ่งคือ การมองหรือพิจารณาผู้คนจากการทำงาน จากการประกอบอาชีพในยุคปัจจุบันนั้นก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงหลากหลายมากไปกว่าการถูกผูกมัดโดยงานประจำ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อหรือมุมมองที่มีต่อมนุษย์ด้วยกันว่าเราเชื่อในมนุษย์ด้วยกันแค่ไหน จะแบมือขอตลอด หรือเชื่อว่ามนุษย์ต้องการอิสรภาพเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือการสร้างสรรค์ในรูปแบบเฉพาะที่ไม่ได้ถูกกำกับโดยชั่วโมงการทำงาน และ/หรือสำนักงานอีกต่อไป
แน่นอนว่า ทั้งหมดที่เราเรียกว่าประเทศกลุ่มหัวก้าวหน้านั้น เริ่มเชื่อและเริ่มร่วมเข้ามารับผิดชอบชีวิต มากกว่าจะโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งหมดมันก็เกิดจากการเมืองที่ดี เกิดจากระบบที่มอบความมั่นคง มอบอิสรภาพให้เราในการใช้ชีวิตที่แสนสั้นของเรา ให้เราสามารถพักเบรกจากการเป็นฟันเฟืองที่หมุนเพียงวันสุดท้ายของชีวิต ได้สร้าง ได้มองหาวิถีของตัวเอง ผ่านการมีความมั่นคงทางการเงินที่เราไม่ต้องนับแก้วกาแฟแล้วรอไปอีก 20 ปี ที่ตลาดหุ้นและตลาดทุนที่เราฝากฝังไว้อาจจะพังทลายลงมาได้ทุกเมื่อไม่ต่างกับชีวิตของเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก