ช่วงนี้การเมืองระหว่างประเทศกำลังเดือด ถึงกับมีกระแส และความแตกตื่นว่าจะกลายเป็นสงครามโลก ครั้งที่ 3 หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ใช้โดรนโจมตีนายพลคนสำคัญของอิหร่าน ซึ่งก่อให้เกิดความโกรธแค้น และขัดแย้งระลอกใหม่ เมื่อผู้นำของอิหร่านประกาศว่าจะแก้แค้นสหรัฐฯ อย่างสาสม
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ จะกลายเป็นสงครามจริงไหม ถ้าเป็นจริง จะขยายวงกว้าง และเป็นสงครามแบบใด? ท่าทีของสหรัฐฯ และอิหร่านต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? รวมถึงไทยเองควรวางตัวแบบไหน?
The MATTER ได้พูดคุยกับนักวิชาการ และนักรัฐศาสตร์อย่าง – อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ.จรัญ มะลูลีม และ อ.วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเห็นต่อความขัดแย้งในครั้งนี้กัน
สงครามโลกครั้งที่ 3? หรือความขัดแย้งนี้จะเป็นรูปแบบไหน
“สงครามในครั้งนี้ จะเป็นรูปแบบได้ค่อนข้างจำกัด” อ.วิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้มองถึงความขัดแย้งครั้งนี้ โดยอาจารย์เสริมว่า “เนื่องจากตัวอิหร่านเองก็ไม่ได้เป็นประเทศที่มีพันธมิตรมากมาย และใช่ว่าสิ่งที่สหรัฐฯ ทำจะเป็นสิ่งที่นานาชาติยอมรับด้วย เพราะฉะนั้นความขัดแย้งนี้ ก็คงเป็นความขัดแย้งแบบมีวงจำกัด อาจจะเป็นแค่สหรัฐฯ และอิหร่าน
“แต่ว่าสิ่งที่เราเห็นเกิดขึ้นในตะวันออกกลางคือ มันจะเกิด spill over ในแง่ที่ว่า ประเทศอื่น หรือประเทศที่ 3 อาจจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น การโจมตีโดยโดรนของสหรัฐฯ ที่ทำในอิรัก หรืออิหร่านที่ตอบโต้ด้วยการยิงขีปานาวุธเข้าในฐานทัพของอิรัก ที่มีทหารสหรัฐฯ อยู่ทำนองนี้เป็นต้น อาจมีการขยายขอบเขตไปโจมตีอิสราเอล หรือดูไบ ที่อาจจะทำให้กลุ่มกำลังต่างๆ เช่น ฮิซบุลลอฮ์ หรือกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มกำลังชีอะห์ หรือกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านร่วมด้วย”
ถึงอย่างนั้น อ.วิโรจน์ก็มองว่า ความขัดแย้งนี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านอำนาจในภูมิภาคนี้แน่นอน แต่จะอยู่ในตะวันออกกลาง
“ความขัดแย้งครั้งนี้ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ดุลของอำนาจ แต่จะเกิดในภูมิภาคเป็นหลัก ไม่ได้ขยายวงอะไรไปมากกว่านั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไปยังประเทศอื่นๆ เช่น กรณีของซีเรีย ที่มีประเทศอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงอาจจะมีตัวละครอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องคอยดูว่าตัวละครอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาท หรือเข้าไปปฏิบัติการมีท่าทีอย่างไร แต่แนวโน้มตอนนี้ เจ้าอื่นๆ ดูไม่ค่อยอยากยุ่งมากนั้น แต่ก็มีการขยับเขยื้อนบางอย่างเช่น จีนที่แสดงตัวสนับสนุนอิหร่านชัดเจนกว่าประเทศอื่นๆ แต่ไม่คิดว่าจะทำให้จีนเข้าร่วมวง เป็นไปได้ยาก”
นอกจากนี้ อาจารย์ยังมองว่า หากเกิดเป็นสงคราม ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ใน 2 รูปแบบด้วย
“ดูจากกองกำลังของอิหร่านแล้ว สามารถแบ่งการทำสงครามเป็น 2 รูปแบบ คือ conventional ในแง่ที่ว่าเป็นกองทัพที่มีการขับเคลื่อนแบบกองทัพในศตวรรษที่ 20 คืออาจจะไม่ได้มีอุปกรณ์อะไรที่ทันสมัยมากนัก ขับเคลื่อนในแบบเก่า กับแบบที่ 2 ที่เราอาจจะเห็นมากขึ้นก็คือ เราอาจเห็นกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ปฏิบัติการอาจจะมีการก่อการร้าย มีการใช้ลักษณะการจู่โจมเป็นกองโจรเล็กๆ มุ่งโจมตีบางพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้นมากกว่า”
ท่าทีของสหรัฐฯ และการเมืองภายใน
หลังจากที่เกิดการสังหารนายพลคาเซ็ม ซูลีมานี (Qasem Soleimani) แล้ว อิหร่านก็ได้ตอบโต้ครั้งแรกด้วยการโจมตีที่ฐานทัพของสหรัฐฯ ในอิหร่าน ซี่งทรัมป์เอง ก็ได้ประกาศว่า หลังจากนี้ทางการสหรัฐฯ จะเสนอมาตรการสำหรับการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม
อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ถึงท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจากนี้ไว้ว่า “ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจากนี้จะเป็นการตอบโต้ โดยภาพรวม ทั้งสองฝ่ายต่างก็คงตอบโต้โดยเป็น unconventional war คือจะเป็นสงครามนอกรูปแบบอย่าง เช่น ยิงมิสไซต์ผ่านกันไปมา ใช้โดรนยิงโจมตีอิหร่าน หรือพื้นที่บางส่วนของอิรัก คงจะเป็นแบบนี้ซักระยะนึง”
ทั้งเมื่อถามอาจารย์ว่า มีความเป็นไปได้ไหม ที่ความขัดแย้งนี้ จะทำให้สหรัฐฯ จะบุกอิหร่าน ในแบบที่เคยทำในสงครามอ่าวเปอร์เซีย อาจารย์ก็มองว่า
“เป็นไปได้แต่ไม่มาก ทั้งยังคิดว่ารูปแบบสงครามจะไม่เป็นเหมือนเดิมซะทีเดียว เพราะประเด็นแรก การส่งกองกำลังทหารอาจจะไม่มากเหมือนเดิม เพราะทุกวันนี้ มีเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้งสองฝ่ายอาจจะใช้สงครามในเชิงเทคโนโลยีมากขึ้น อย่างเช่นการแฮกข้อมูล การลอบสังหารมากกว่าที่จะส่งกำลังคนเข้าไปเยอะๆ เหมือนสงครามอิรัก ซึ่งสูญเสียมาก
ประเด็นที่ 2 ก็คือ ทั้งสองประเทศ ที่ผ่านมา ทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ ใช้สงครามตัวแทนแบบ Proxy war เยอะอยู่แล้ว ดังนั้นประเทศรอบข้างก็จะถูกดึงมาร่วมมากขึ้น
ประการที่ 3 สำหรับสหรัฐฯ คือ เมื่อมันใกล้เลือกตั้ง คิดว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่อยากทำสงคราม ไม่อยากส่งลูกหลานไปอ่าวเปอร์เซีย อันนั้นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทรัมป์จะจำกัดขอบเขตของการทำสงครามครั้งนี้ไปจนกว่าจะหลังเลือกตั้ง
ในส่วนของอิหร่าน เศรษฐกิจของอิหร่านไม่ค่อยดีนัก อย่างที่บอกว่าอิหร่านใช้การทำสงครามผ่านทางตัวแทน ทั้งเยเมน เลบานอน ซีเรีย ก็คิดว่าจะเป็นแบบนั้น แต่รูปแบบสงครามที่เราอาจจะเห็นได้คือ การก่อการร้ายตามจุดต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์หรือสัญลักษณ์ของสหรัฐฯ ในทั่วโลก เป็นจุดๆ แบบนั้น ถ้าเราจะใช้คำว่าทำสงครามอ่าว หมายความว่ามันจะกระทบกับประเทศในอ่าวเปอร์เซียโดยรวม เพราะว่าอาจจะถูกบีบให้ต้องเลือกข้าง หรือถูกบีบให้เป็นตัวแทนในการทำสงครามในลักษณะนั้น แต่มันจะไม่ใช่สงครามอ่าวเปอร์เซียสมัยบุชพ่อ หรือสมัยบุชลูกอีก”
ในขณะที่ อ.วิโรจน์เองก็เสริมเช่นกันว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ นอกจากรูปแบบสงครามที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว เราอาจจะเห็นอาวุธและเทคโนโลยีใหม่ๆ ของสหรัฐฯ ด้วย
“สหรัฐฯ น่าจะใช้โอกาสนี้ ในการแสดงศักยภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์รูปแบบใหม่ๆ อย่างเราเห็นในกรณีของโดรน ซึ่งก็มีความแม่นยำค่อนข้างสูง แล้วก็จะเป็นลักษณะของสงครามที่ไม่ใช้คนลงไปประจำในพื้นที่มากนัก แม้ว่าจะมีการเพิ่มกำลังเข้าไปในตะวันออกกลางบ้าง คือถ้ามีความขัดแย้งก็ต้องส่งไป แต่เราอาจจะได้เห็น show case ใหม่ๆ จากยุคสงครามอ่าว เราเคยเห็นโทมาฮอว์ก แต่ตอนนี้เราจะเห็นโดรน เป็นต้น แต่แน่นอนว่าความเสียหายมันก็จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะในตะวันออกกลางเป็นพิเศษ
การเมืองนอกประเทศเดือดแล้ว การเมืองในประเทศสหรัฐฯ เองก็ร้อนแรงไม่เบา เพราะ ปธน.ทรัมป์ ก็กำลังเผชิญหน้ากับกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง หรือ impeachment ซึ่งแม้ 2 เหตุการณ์นี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ อ.สิริพรรณก็มองว่า เป็นเรื่องที่เชื่อมกันผ่านจิตวิทยาของทรัมป์
“ถ้าให้ประเมินทรัมป์ คิดว่าเป็นไปได้ที่ทรัมป์คิดอยู่ลึกๆ ว่าจะใช้การสังหารซูลีมานี เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นจากการถูกถอดถอน แต่ต้องบอกว่าจริงๆ ทรัมป์เขารู้อยู่แล้วว่า เขาเข้าสู่กระบวนการไตร่สวน แต่จะไม่ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง เพราะคะแนนเสียงวุฒิสภาของพรรคทรัมป์เยอะมาก แต่ว่ากระบวนการนี้ทำให้เขารู้สึกเสียศักดิ์ศรี เสียหน้า ซึ่งมันทำให้คนอย่างทรัมป์รับไม่ได้ เราจะเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจจิตวิทยาของทรัมป์
ถ้าจะพูดในภาพรวม ในเรื่องถอดถอนทรัมป์ และเรื่องอิหร่าน ต้องเข้าใจจิตวิทยาของทรัมป์ ถ้าจะโยงกัน ก็มองได้ว่า ทรัมป์อยากจะโชว์ และดึงศักดิ์ศรีของตัวเองกลับคืนมา และโชว์ให้โลกรู้ว่าเขาเป็นผู้นำที่น่าเกรงขาม แต่ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกันโดยตรง และไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง แต่เชื่อมผ่านจิตวิทยาของทรัมป์เอง”
ความสูญเสียของอิหร่าน และตะวันออกกลางที่จะยังคงเป็นสมรภูมิเดือด
ภายหลังการเสียชีวิตของนายพลซูลีมานี เราเห็นภาพชาวอิหร่านที่ออกมารวมตัวไว้อาลัยจำนวนมาก ถึงขั้นที่แออัด และเกิดเหตุเหยียบกันจนเสียชีวิต ซึ่ง อ.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกกลาง ได้เล่าถึงความสูญเสียครั้งนี้ว่า
“เป็นการสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ เพราะว่าเขาถือว่าเป็นอันดับ 2 ของประเทศ หลังที่เป็นผู้ควบคุมนโยบายของอิหร่านในแง่ความมั่นคง และการทหาร มา 20 ปี ซึ่งอย่างน้อยก็ทำให้อิหร่านมีบทบาทสำคัญอยู่ในตะวันออกกลาง เช่น มีบทบาทในการปลดปล่อยปาเลสไตน์ การเข้าไปช่วยเหลือกองกำลังฮิซบุลลอฮ์ ซึ่งกองกำลังที่เขาเข้าไปช่วยเหลือ เป็นกองกำลังที่สหรัฐฯ จัดว่าเป็นกองกำลังก่อการร้าย แต่ว่าในสายตาของอิหร่าน คนเหล่านี้ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากการถูกยึดครองพื้นที่ ในสายตาของหลายประเทศจึงมองอิหร่านว่าเป็นผู้ที่มาปลดปล่อย หรือว่ามาช่วยเหลือ ทั้งในเลบานอน เยเมน และการเข้าไปส่วนใหญ่ เขาถูกรับเชิญมากกว่าจะเข้าไปก้าวก่ายโดยลำพัง เพราะว่าศักยภาพที่มี ทำให้อิหร่านมีบทบาทสำคัญ
ดังนั้นคนที่มีบทบาทสำคัญ ถูกถล่มและระเบิดอย่างรุนแรง เราได้เห็นภาพศพที่สะเทือนใจความรู้สึก เราจึงเห็นได้ว่าในช่วงที่มีการรวมตัวกันเพื่อไว้อาลัย มีภาพคนแออัดยัดเยียดถึงขั้นเหยียบกันตาย เพราะต้องการเข้าใกล้ตัวเขาให้ได้มากที่สุด เราเห็นการตอบโต้ที่อิหร่านพูดไว้ ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะยังเป็นที่ถกเถียง และที่กังขาว่า ค่ายทหารของสหรัฐฯ ที่อิหร่านโจมตี ขึ้นชื่อว่ามีการป้องกันขีปนาวุธเป็นอย่างดี ทำไมถึงไม่สามารถป้องกันได้ในตอนนี้
สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นก็คือว่า อาวุธที่อิหร่านได้พัฒนาขึ้น ได้กลายเป็นอาวุธที่ทันสมัย และสามารถสร้างความสะเทือนได้ ในสายตาของอิหร่านมีข่าวออกมาว่า มีผู้เสียชีวิตถึง 80 คน แต่ในการแถลงของผู้นำอย่างทรัมป์ ได้ออกมาแถลงว่าเขาไม่ได้สูญเสีย นอกจากสถานที่ในบริเวณนั้น ซึ่งมันมีคำพูดว่าความจริงตายลงทันที เมื่อเกิดสงคราม หมายความว่า เมื่อเกิดความรุนแรงอะไรซักอย่าง ต่างก็ไม่มีใครบอกความจริง เพราะต่างฝ่ายต่างรักษาสถานภาพ หรือผลทางด้านจิตวิทยาไว้เสมอ ดังนั้นเราจึงไม่รู้จริงๆ ว่า ผลกระทบอันเกิดมาจากการถล่มของอิหร่าน ส่งผลอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วขณะนี้ คือโลกต้องเผชิญกับทองราคาแพง น้ำมันราคาแพง แล้วก็จะส่งผลกระทบด้านอื่นตามมาอีก”
หลังเกิดเหตุการณ์ ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ประกาศจะแก้แค้นสหรัฐฯ รวมถึงมีการตอบโต้ด้วยขีปนาวุธไปแล้ว อ.จรัญเอง ก็ได้วิเคราะห์ถึงท่าทีของอิหร่านต่อจากนี้ไว้ว่า อาจจะเห็นเทคโนโลยี และอาวุธของอิหร่านที่เคยพัฒนาไว้ก่อนหน้านี้
“เมื่อเกิดการลอบสังหาร อิหร่านมีการชักธงแดงขึ้นเสา ซึ่งเป็นธงแดงครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ครั้งนึงคือการสูญเสียผู้นำของเขา ซึ่งตอนนั้นเขาเศร้าโศกไปหมด เพราะศีรษะของผู้นำคล้ายๆ ถูกเสียบประจาน ความเจ็บปวดจึงค่อนข้างยาวนาน และได้มีการชัดธงแดงอีกครั้งในรอบกว่า 1,000 ปี ดังนั้นถ้าไม่มีความสำคัญ ก็จะไม่มีการชักธงนี้ขึ้น เพราะปกติที่เรารับทราบกันคือสำนักชีอะห์มีเรื่องของธงอยู่ ทั้งเพื่อการไว้อาลัย เพื่อศาสนาเป็นต้น การที่ธงแดงถูกชักขึ้นมาก็กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
อิหร่าน ตั้งแต่ช่วงที่มีการถูกคว่ำบาตร สภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ ถูกกดดันทุกด้าน นักรบอิหร่านก็ได้พัฒนาอาวุธ พัฒนายา และนักวิทยาศาสตร์ สร้างขีปนาวุธต่างๆ ทั้งจากพื้นดินสู่พื้นดิน จากพื้นดินสู่ทะเล ในรูปแบบต่างๆ ที่พัฒนามาอย่างยาวนาน เขี้ยวเล็บแบบนี้ถ้ามีอยู่จริง ตามที่พูดกัน อย่างน้อยอิหร่านก็มีภูมิคุ้มกัน”
ทั้งความขัดแย้งในครั้งนี้เอง อาจารย์ก็มองว่า ไม่น่าจะเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ความตะวันออกกลางนั้น จะยังเป็นสนามการเมืองระหว่างประเทศที่ร้อนระอุอยู่
“ทรัมป์เข้ามาสร้างกติกาใหม่เองด้วย เข้ามายกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านซะก่อน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ นั้นเห็นพ้องต้องกันว่า คบกับอิหร่านโดยไม่ให้มีการเพิ่มยูเรเนียม เหตุนี้เวลาเกิดเรื่อง เราจึงไม่เห็นกรณีของพันธมิตรอย่างที่เคยเกิดขึ้น อย่างพันธมิตร NATO ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสหรัฐฯ ร่วมกัน ครั้งนี้มันเปลี่ยนไป รัสเซียก็หันมาช่วยอิหร่าน มีการซ้อมรบร่วมกัน หรือว่าประเทศต่างๆ ที่เคยผนึกกำลังกัน เดี๋ยวนี้ก็จะเห็นไม่ชัด และก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทรัมป์เองด้วย สิ่งนี้ก็มีส่วนทำให้การที่จะเป็นไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 ในทัศนะของอาจารย์คิดว่า น่าจะยังไม่เกิดขึ้น
เพราะหนึ่งพันธมิตร หรือฝ่ายศัตรูของแต่ละฝ่ายยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความผูกพันธ์ หรือรวมตัวอย่างเป็นกลุ่มก้อนอย่างช่วงสงครามโลกที่ผ่านมา ดังนั้นสงครามอาจจะเกิดขึ้น แต่จะไม่เกิดขึ้นไกลออกไปเป็นการต่อสู้แบบเผชิญหน้า ยกเว้นสหรัฐฯ จะเลือกประการนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการตอบโต้ก็จะรุนแรง ความเสียหายก็จะมากขึ้น
แต่จากเหตุการณ์นี้ ตะวันออกกลางก็จะกลายเป็นหม้อเดือด พร้อมที่จะเกิดเรื่องราวต่างๆ ได้ และเราจะเห็นได้ว่า ตะวันออกกลางจะกลายเป็นสนามการแข่งขันอำนาจกัน สนามของกลุ่มที่ต่อสู้กัน พูดง่ายๆ ว่าเป็น proxy war หรือสงครามตัวแทนอยู่ยาวนาน และก็จะพบว่าหลักการต่างๆ หรือสิ่งต่างก็จะถูกนำมาใช้ในช่วงความขัดแย้งของแต่ละฝ่าย”
บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ และจุดยืนของประเทศไทย
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ในมุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เชื่อว่า หนึ่งในทางยุติความขัดแย้งคือการใช้องค์กรระหว่างประเทศ เราจึงคุยกับ อ.วิโรจน์ ถึงมุมมองที่ว่าบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ อย่าง องค์กรสหประชาชาติ หรือ UN จะเข้ามามีส่วนยุติปัญหานี้ได้หรือไม่
“ผมคิดว่าสหรัฐฯ หลุดออกจากประเด็นที่ว่า ต้องการการแก้ปัญหาแบบ UN มานานแล้ว ตั้งแต่ยุคของบุชผู้ลูกที่ทำการบุกอัฟกานิสถานและอิรัก โดยไม่ได้รับการสนับสนุน หรือบุชผู้พ่อ ที่ก็นำไปสู่การปฏิเสธขององค์การสหประชาชาติ จนนำไปสู่ Non-NATO alliances ในยุคของบุชผู้ลูก และการกระทำของทรัมป์ก็ชี้ให้เห็นว่า มองข้าม และไม่สนใจประเทศใน UN มากนัก และก็ไม่คิดว่า UN เข้มแข็งมากพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในแง่ของการเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าไปไกล่เกลี่ย กดดันให้ทั้ง 2 ฝ่ายยุติความขัดแย้ง คงเป็นไปได้ยาก
ต้องลองดูว่า ประเทศที่อยู่ในมนตรีความมั่นคงน่าจะเป็นไพ่ใบเดียวที่พอจะใช้ได้ แต่ถ้าสหรัฐฯ ไม่ยอมใช้กลไกตัวนี้ มนตรีความมั่นคงก็ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ คงมีบทบาทของจีน หรือรัสเซีย ที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงนี้ แต่คงไม่มีใครเห็นว่าควรเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งอย่างเต็มรูปแบบของ 2 ประเทศนี้ ยังไม่ต้องนับผลกระทบทางเศรฐกิจอย่างมหาศาล ที่จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน การลุงทุน สารพัดตลาดหุ้นของโลก สงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ก็ยังไม่ยุติอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ดังนั้นผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างบอบบางอยู่แล้วในตลอดปีที่ผ่านมา ก็จะหนักหน่วงขึ้นในปี 2020 อันนี้จะเป็นผลกระทบใหญ่เลย ที่เป็นผลกระทบทางอ้อมที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกง่อนแง่นมากขึ้นไปอีก
แม้ว่าไทย จะไม่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้โดยตรง แต่ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ก็ออกมาเปิดเผยว่า มีการแจ้งเตือน แจ้งข่าวจากสหรัฐฯ ก่อนเริ่มปฏิบัติการโจมตี แต่ในทางการทูต อ.วิโรจน์ได้ระบุว่า
“ไทยต้องเฉยให้มากที่สุด และเข้าไปมีบทบาทในมิติอื่นๆ แม้ว่าจะไม่ได้ประโยชน์ก็ตามมากนัก อย่างเช่นใช้กลไกของสหประชาชาติ ใช้กลไกของอาเซียนต่างๆ ผมว่าทางเลือกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือการวางตัวเป็นกลาง และก็พยายามกดดันให้ทั้งสองฝายหาวิธีการที่เรียกว่า ค่อนข้างจะเป็นสันติวิธีในการบรรลุข้อตกลงร่วมกัน เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับเราโดยตรง แต่ผลกระทบทางอ้อมอย่างเรื่องเศรษฐกิจมีแน่