พับถุง ถักแห เย็บรองเท้า ฯลฯ หลายคนคงได้ยินว่า ภายในเรือนจำจะมีการฝึกสารพัด ‘อาชีพ’ ให้กับผู้ต้องขัง
การฝึกอาชีพมีขึ้นภายใต้ความเชื่อว่า นอกจากกันผู้ต้องขังออกจากสังคมแล้ว เรือนจำยังมีหน้าที่ฟื้นฟู พัฒนา และเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังมากที่สุด ก่อนออกไปเผชิญโลกภายนอก
แต่คำถามสำคัญก็คือ การฝึกอาชีพต่างๆ ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน มันนำไปสู่การต่อยอด ใช้หารายได้เพื่อเลี้ยงชีพและเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังพ้นอาณาเขตลูกรงและกำแพงได้จริงหรือไม่?
ฝึกอาชีพในเรือนจำ
การฝึกอาชีพในเรือนจำเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ต้องขังให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ โดยหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้คือ ‘กองพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์’
ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นตามสื่อต่างๆ ว่า ผู้ต้องขังมีวิชาชีพให้ฝึกหลากหลายตั้งแต่หลักสูตรโหราศาสตร์, สอนดูไพ่ทาโรต์, งานช่างทั้งโยธาหรือช่างไม้, ส่งเสริมการปลูกทุเรียน, สอนเลี้ยงไก่ชนและโคขุน, ฝึกวิชาชีพบาริสต้า ไปจนถึงกองงานพับกระดาษ ถักอวน เย็บผ้า ต่างๆ นานา
การฝึกอาชีพสำคัญต่อการลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ เพราะปัจจัยเรื่องงานและรายได้ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนทำผิดกฎหมาย เช่น โครงการ ‘เรือนจันแลนด์’ ที่กรมราชทัณฑ์ทำงานร่วมกับเอกชนและชุมชนใน จ.จันทบุรี ที่สร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังหญิง ซึ่งเริ่มในปี 2559 พบว่า สามารถลดการกระทำผิดซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง จาก 8.0% ในปี 2560 เหลือเพียง 6.6% ในปี 2561 และ 2.0% ในปี 2562 ตามลำดับ
ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (CARE – Center for Assistance to Reintegration and Employment) ของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ช่วงปี 2562-2563 มีการช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังไปแล้วหลายหมื่นราย โดยก่อนหน้านี้ ทางกรมราชทัณฑ์ยังได้ทำ MOU กับหน่วยงานรัฐอื่น ในชื่อ ‘โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพ ผู้ต้องขัง’
ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่าภาครัฐเองก็พยายามพัฒนาทักษะและหาช่องทางการทำงานให้กับผู้ต้องขัง
แต่จากคำบอกเล่าของอดีตนักโทษผู้ต้องขังหลายคน ได้สะท้อนปัญหาของโครงการฝึกอาชีพในเรือนจำว่า อาจใช้ไม่ได้จริงเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว
เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?
ประสบการณ์ของอดีตผู้ต้องขัง
The MATTER ได้คุยกับอดีตผู้ต้องขัง 4 คนที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพขณะที่อยู่ในเรือนจำ ที่แม้แต่ละคนจะถูกจำคุกต่างช่วงเวลาและอยู่ในเรือนจำต่างกัน แต่ปัญหาที่พวกเขาพบจากโครงการฝึกอาชีพที่ภาครัฐจัดให้ มีคล้ายๆ กัน
1.การฝึกอาชีพบางอย่างไม่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง เช่น พับถุง, กรีดยาง, เย็บลูกรักบี้
โดยเฉพาะการพับถุงที่ทั้ง 4 คนเคยผ่านการฝึกฝนมาหมดแล้ว
“ตอนอยู่ในเรือนจำ พี่เคยพับถุงอยู่ 4 ปี วันหนึ่งต้องพับถุงวันละ 300-400 ใบ มันพับแบบแทบไม่ได้หยุดเลย แต่ถามหน่อยว่า ออกมาเนี่ยมีใครรับจ้างพับถุงบ้าง แล้วจะต้องพับกี่ใบล่ะถึงจะมีกิน(หัวเราะ)” อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งกล่าว
อดีตผู้ต้องขังอีกรายหนึ่ง ที่เคยติดคุกอยู่ในเรือนจำ จ.นนทบุรี เคยได้ฝึกทั้งการพับถุง ใส่หัวไฟแช็ก และตัดขี้ด้ายเพื่อทำมุ้งเด็ก ก็บอกตรงกันว่า สิ่งเหล่านี้ยากจะนำมาประกอบอาชีพได้จริงหลังพ้นโทษ แถมยังเสริมว่าตอนถูกฝึกทำงานหนักมาก ใส่หัวไฟแช็กวันละ 2-3 กิโลเมตร หรือพับถุงจนหลังเสีย นั่งทำท่าเดิมอยู่ทั้งวัน แทบไม่ได้กิน
2.ผู้ต้องขังเลือกไม่ได้ว่าจะฝึกอาชีพอะไร
“ช่วงหนึ่ง เราเคยอยู่กองงานเย็บจักร โอ้โห ไม่ชอบเลย แต่ที่ต้องทำก็เพราะเขาไม่ได้ให้เราเลือกว่าจะอยู่กองงานอะไร คือชื่อไปอยู่กองงานนี้นะ เขาเลือกให้เรา เราเลือกไม่ได้”
“เขาใช้คำว่าจำแนก พอเข้าไป ผบ.แดน ก็จะดูว่าจะให้เราไปอยู่ที่ไหน คนนี้ไปอยู่รองเท้า คนนี้ไปเย็บผ้า”
อดีตผู้ต้องขัง 2 คน สะท้อนข้อมูลคล้ายๆ กัน ไม่รวมถึงการฝึกอาชีพบางอย่างที่ต้องเสียเงินเข้าไปเรียน เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องจ่ายคนละ 2,000-3,000 บาท คนไม่มีญาติไม่มีเงินก็หมดสิทธิ์
3.ไม่มีเงินทุนและความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพจริง
แม้กรมราชทัณฑ์จะมีหลายๆ โครงการฝึกอาชีพที่สร้างสรรค์และดูว่าจะนำไปใช้ได้จริง เช่น ฝึกเลี้ยงโคนม-ไก่ชน, ฝึกทำก๋วยเตี๋ยว แต่ในความเป็นจริง เมื่ออดีตผู้ต้องขังหลายคนพ้นโทษไปก็ไม่มีเงินทุนในการเริ่มต้นใหม่อยู่ดี
“ครั้งหนึ่ง ถูกส่งไปอยู่กับจักรเย็บผ้า แต่พอออกมาเราก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง เพราะจักรตัวหนึ่งราคาเป็นหมื่น เราไม่มีทุนขนาดนั้น เขาไม่มีงบให้เรา สุดท้ายก็ต้องไปหาอาชีพอื่นที่ไม่ต้องลงทุน อย่างทำงานในโรงงาน”
แม้กรมราชทัณฑ์จะมีศูนย์ CARE ให้การช่วยเหลือ รวมถึงให้ธนาคารออมสินมาเปิดให้ยื่นขอเงินกู้ แต่เงื่อนไขการกู้ต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งอดีตผู้ต้องขังบางคนบอกว่า ตอนออกจากเรือนจำมา ยังไม่มีบ้านให้กลับเลย
4.ทำงานแล้วได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก
อดีตผู้ต้องขังทั้ง 4 คนที่เราได้คุยบอกว่า งานที่เขาทำระหว่างฝึกอาชีพในเรือนจำ ไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือได้รับน้อยมาก อย่างการพับถุง แม้จะพับวันละเป็นร้อยๆ ใบ แต่ได้เงินเดือนละไม่กี่สิบบาท หากได้ถึง 100 บาท ก็จะบอกกันว่าเยอะมากแล้ว หรือเมื่อเอกชนภายนอกจ้างเรือนจำให้ช่วยผลิต เมื่อผู้ต้องขังไปช่วยทำก็จะปันผลมาให้เดือนละไม่กี่สิบบาทเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่จะอ้างว่า ต้องหักค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สุดท้ายเลยเหลืออยู่แค่นั้น
มูลนิธิ Thomson Reuters เคยนำเสนอข่าวช่วงปลายปี 2564 ว่า เรือนจำไทยบางแห่งมีการบังคับใช้แรงงานผู้ต้องขังทำแห-อวน ตามที่เอกชนภายนอกจ้างทำ โดยผู้ต้องขังจะได้รับค่าตอบแทนไม่กี่สิบบาทต่อเดือน หรือบางคนก็ไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตาม ธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ ก็ออกมาชี้แจงว่า ไม่มีนโยบายบังคับผู้ต้องขังให้ทำงาน ส่วนค่าตอบแทน หรือ ‘เงินปันผล’ ในการฝึกอาชีพต่างๆ จะต่างกันไป อ้างอิงข้อมูลช่วงก่อนโควิด หากฝึกเป็นคอลเซ็นเตอร์จะได้ปันผลเฉลี่ย 4,262 บาท/คน/เดือน การฝึกทำเบเกอรี่ได้ปันผลเฉลี่ย 13,882 บาท/คน/เดือน ฝึกคาร์แคร์ได้ปันผลเฉลี่ย 1,462 บาท/คน/เดือน ฝึกคัดแยกผลไม้อบแห้ง ได้ปันผลเฉลี่ย 3,420 บาท/คน/เดือน เป็นต้น
ข้อจำกัดของราชทัณฑ์
The MATTER อยากจะรับทราบถึงนโยบายในการฝึกอาชีพผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์ รวมไปถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จึงพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แต่ได้รับการแจ้งว่าให้ทำหนังสือขอสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการส่งมาก่อน
เราจึงติดต่อขอข้อมูลจากนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์แทน ได้รับคำอธิบายถึงข้อจำกัดในการฝึกอาชีพว่า มาจากข้อจำกัดหลายอย่าง รวมถึงงบประมาณ ทำให้การฝึกอาชีพหลายๆ อย่าง “ใช้งานไม่ได้จริง”
“การฝึกอาชีพมีปัญหา หนึ่ง มันไม่ทั่วถึง สอง มันไม่ถูกคน อย่างมีผู้ต้องขัง 10 คน ก็ต้องการทักษะ 10 อย่าง แต่เราจัดหาได้แค่ 1-2 อย่างเท่านั้น จะไปจัดให้ครบ มันเป็นไปไม่ได้ โอกาสที่จะฝึกอาชีพให้หลากหลาย เช่น ซ่อมจักรยาน ทำก๋วยเตี๋ยว มันยาก ทำได้ไม่กี่คนหรอก”
อีกปัญหาใหญ่ นัทธีชี้ว่า มาจากความแออัดในเรือนจำ ทำให้มีงบประประมาณไม่เพียงพอสำหรับทุกคน เขาอ้างถึงงบประมาณของกรมราชทัณฑ์ในปี 2564 ซึ่งได้รับจัดสรรมา 1.42 หมื่นล้านบาท ถูกนำมาใช้สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพคืนคนดีสู่สังคม 51 ล้านบาท กับผู้ต้องขังกว่า 2.8 แสนคน ตกอยู่ที่เฉลี่ยคนละ 182 บาท เท่านั้น
“จะให้เลิกพับถุงหรือทำอวน ต้องหางานอื่นที่มีรายได้สูงมาทดแทน แต่มันก็ยาก อย่างในอีสานมันก็คิดไม่ออกว่าเอางานอะไรไปให้ ยกเว้นลดจำนวนผู้ต้องขังลงให้ได้”
“นอกจากนี้ ยังต้องไม่ใช่แค่ฝึกอาชีพอย่างเดียว แต่ต้องมีการฝึกเรื่องแนวคิดธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเรื่องการลงทุน เก็บออม ทำบัญชี แต่การฝึกแบบนั้นมันไม่มีรายได้เข้ามาในเรือนจำ สุดท้ายต้องหาวิธีเลี้ยงตัวเอง เช่น ทำของขาย เมื่อได้เงินมาก็มาลงทุนฝึกอาชีพต่อ” คือข้อมูลจากอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์รายนี้
เสียงสะท้อน เพื่อการปรับปรุง
“ผมอยากฝึกอาชีพที่ออกไปแล้วทำได้จริงๆ เช่น ทำก๋วยเตี๋ยว ซ่อมเครื่องยนต์ ก่อสร้าง หรือคอมพิวเตอร์ ฝึกให้เป็นจริงๆ ออกมาจะได้ทำงานต่อได้เลย”
คือความเห็นของอดีตผู้ต้องขังหลายรายที่คิดตรงกัน
นอกจากนี้ ยังอยากให้กระบวนการฝึกสอนเป็นไปอย่างลงรายละเอียดและครบถ้วนขึ้น
“ตอนที่ผมไปอยู่กองช่างไม้ สิ่งที่ได้คือทำให้มันเสร็จไปวันๆ เขาไม่ได้มาสอนว่าตู้แบบนี้ต้องใช้ไม้แบบไหน ต้องวัดไม้แบบไหน คนที่ทำได้คือเขาเป็นอยู่แล้ว และทำตามเสป็คที่นายให้มา”
อีกสิ่งที่ต้องการฝึกมากกว่าแค่ทักษะในการ ‘ทำได้’ แต่ให้รวมถึงทักษะในการหาวิธีให้ ‘ขายได้’ ด้วย
“ในเรือนจำเขาก็จะได้แค่เรียนรู้ แต่เป็นอาชีพไม่ได้จริง เพราะมันไม่มีสอนกระบวนการขาย การพบปะสังคม ไม่รู้จักตลาด และยังไม่มีข้อมูล เช่น ถ้าอยู่ข้างในคงไม่มีทางรู้ว่าทุกวันนี้จิ้งหรีดนี่เขาส่งไปขายถึงเกาหลีใต้หรือเม็กซิโกกันแล้ว”
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้แปลว่าควรยกเลิกฝึกอาชีพในเรือนจำ เพราะมันเป็นหนึ่งในกระบวนการฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมในการคืนผู้พ้นโทษสูงสังคม
แต่การดำเนินงานหลายๆ อย่างก็ควรจะปรับเปลี่ยน ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ทั้งเพื่อประโยชน์ต่อตัวอดีตผู้ต้องขังที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ต่อกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมในการลดการกระทำผิดซ้ำ ไปจนถึงต่อสังคมไทยโดยรวม