ในช่วงการระบาดรอบเมษายน 2564 นี้ มีปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การที่วัคซีนนั้นยังไม่เพียงพอ รวมไปถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่เกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งถึงผลข้างเคียงที่อันตรายต่อร่างกายในบางกรณี ยังไม่รวมไปถึงการระบาดที่กระจายอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนในการประกาศบล็อกดาวน์ ไหนจะปัญหาเตียงขาดแคลน บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักติดต่อกัน แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในสายงานอื่นๆ รวมถึงนิสิตแพทย์ต้องถูกเกณฑ์มาช่วยจัดการ COVID-19
นอกจากนี้ระบบการจัดการที่ล่าช้ายังทำให้ประชาชนหลายคนเสียชีวิตจากการรอเข้ารับการรักษา ผู้คนที่เหลือต่างก็หวาดระแวง และวิตกกังวล เกิดภาวะเครียด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการของรัฐบาล ที่มักเน้นย้ำแต่ให้ประชาชนตั้งการ์ดสูง อดทน มีความหวัง ในภาวะที่หันไปทางไหนก็ไม่เจอทางออก
The MATTER รวบรวมเสียงของคนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการ COVID-19 ที่ล่าช้า ความหวังที่เลือนหาย สิ่งที่พวกเขาต้องสูญเสีย ความเครียด ความวิตกกังวลที่ต้องแบกรับ และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เสียงของพวกเขาจะไปถึงรัฐที่ควรดูแลประชาชนให้ดีที่สุด
กิตติพัฒน์ กนกนาค, โปรดิวเซอร์วง Fingers Cross
“พ่อของแฟนเราเป็นอย่างที่โพสต์ในสเตตัส คือยังไม่รู้สึกตัว และต้องหยุดฟอกไตไป คือในครอบครัวแฟนเรามี พ่อ แม่ พี่ชาย แล้วก็หลานสองคน ทุกคนติดกันหมด”
“แฟนผมเป็นพยาบาล รู้ว่าต้องเข้าไปที่ไหนติดต่อยังไง แต่ก็ใช้เวลาหาเตียงประมาณ 1 สัปดาห์ กว่าจะเข้าถึงการรักษา การรอล่าช้าเหมือนคนทั่วไป และเป็นสิ่งที่ทำให้คุณพ่ออาการโคม่าอยู่ในขณะนี้”
“ในส่วนของพ่อคือไม่รู้สึกตัวและใส่เครื่องช่วยหายใจ ส่วนแม่รู้สึกตัวอยู่แต่ก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจด้วย”
“ด้วยความเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แฟนผมก็จะพอเข้าใจว่าอยู่ในสเตจไหน ถ้าเป็นพ่อ 50% ก็ทำใจไว้แล้ว เพราะว่าจริงๆ ตั้งแต่รู้จักกับแฟนมา เขาจะเป็นคนประมาณว่า ถ้าพ่อเสียเขาจะรับได้ แม้ว่าพ่อจะเป็นคนที่เขารักมากที่สุดในชีวิตก็ตาม”
“พ่อแม่ผมเสียไปแล้ว ก็เลยมีแค่ครอบครัวเขา เราก็รู้สึกว่าต้องดูแลรับผิดชอบครอบครัวเขาด้วย แล้วเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นในช่วงที่ผมลาออกจากงาน แล้วช่วงเปลี่ยนงาน COVID-19 ก็มาพอดี ตอนนี้ก็เป็นโปรดิวเซอร์ให้ Fingers Cross ซึ่งงานแบบนี้มันต้องการการออกไปทำอีเวนต์ เจอผู้คน พอเป็นแบบนี้ ทุกอย่างก็เป็นศูนย์เลย มันก็เลยสั่นคลอนในหลายๆ ด้านของเรามาก”
“ผมไม่ค่อยโอเคกับการมองว่าการที่คนทำงานตอนกลางคืนทำให้เกิดการระบาด ถูกโบยตีว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของคลัสเตอร์ และถูกเลือกปฏิบัติ แล้วก็สั่งปิด บอกว่านี่มันเรื่องเล็กน้อย ปรับตัวเอาสิ”
“ในส่วนของวัคซีนเองบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันก็ยังไม่มั่นใจ แล้วต่อให้ฉีดก็ยังสามารถติดเชื้อได้ ซึ่งรัฐก็ไม่เคยเน้นย้ำเรื่องนี้เลย สิ่งที่แฟนผมทำได้คือ กลับมาก็อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ เพื่อดูแลตัวเอง แล้วก็ดูแลผมด้วย”
“เราก็พยายามระบายออกด้วยการพูดออกมา เพื่อไม่ให้ความเครียด ความกังวลมันกัดกินใจเรา”
หลังจากสัมภาษณ์เสร็จในวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน ในวันนี้ (27 เม..ย.) ช่วงเย็น คุณกิตติพัฒน์ได้ทักมาอัพเดตให้ทีม The MATTER ฟังว่า ตอนนี้หมอแจ้งว่า คุณพ่อของแฟนอยู่ในขั้นวิกฤติสุดท้าย ให้เซ็นเอกสารยินยอมในสถานการณ์ที่ต้องปล่อยให้คนไข้เสียชีวิต
.
ซึ่งเขาก็ได้ทิ้งท้ายว่า รู้สึกเสียใจคลัสเตอร์ที่ทั้งครอบครัวติดมานั้นเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบภาครัฐโดยตรง ต้องมีคนได้รับผลกระทบและตกอยู่ในชะตากรรมแบบเราอีกมาก โดยเขาหวังว่าหลายๆ คนจะได้มองเห็นปัญหาในครั้งนี้และลุกขึ้นมาตรวจสอบและโต้กลับการทำงานของรัฐบาลให้มากขึ้น
แยม, กองบรรณาธิการ
“พี่เองก็กลัวติดแล้วเอาไปติดพ่อแม่ ส่วนที่บ้านก็ค่อนข้างวิตก เพราะเค้าก็แก่แล้ว ถ้าเค้าติดลำบากแน่นอน พ่อพี่มีโรคประจำตัวเป็นหัวใจ เบาหวาน คือพยายามดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด แต่ก็ไม่อยากใส่แมสแล้ว เพราะใส่มาปีกว่า แต่รัฐไม่ทำอะไรเลย”
“ยิ่งช่วงนี้มีข่าวว่าฉีดวัคซีนแล้วมีอาการอัมพฤกษ์ ฉีดแล้วตาย คือยิ่งกลัว เค้าดูหมดหวัง พูดทุกวันว่าเมื่อไหร่ม้นจะหาย พ่อกะแม่พูดทุกวันว่าถ้าทักษิณอยู่ป่านนี้คุมได้แล้ว”
“นนทบุรียังเป็นพื้นที่สีแดง แล้วก็พี่ของพี่ทำงานอยู่ที่เทศบาล เค้ามีหนังสือมาให้ลงชื่อให้ข้าราชการฉีดวัคซีน แต่เป็น sinovac เขาก็ไม่กล้าฉีด แต่ด้วยความต้องทำงานลงพื้นที่หาชาวบ้าน แต่ตอนนี้ก็คือต้องโดนกักตัวด้วย เพราะคนที่คอนโดติด แต่ยังไม่มีรถมารับ ล่าสุดจะเป็นบ้าเพราะอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม”
“ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว พอเจอรัฐที่แย่ บริหารไม่เป็น มันเลยเห็นชัดมาก ตั้งแต่จัดการการระบาดไม่ได้ จัดการระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้ จัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้ สภาพจิตใจของประชาชนไม่ต้องพูดถึง”
“จากที่ชีวิตเคยประสบมา ไม่เคยเจอแบบนี้เลย ตอนน้ำท่วมปี 54 พี่อยู่ ม.ปลาย พี่ยังได้เงินเยียวยาจากรัฐบาล ในฐานะนักเรียนที่บ้านน้ำท่วม โดยที่พี่ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ลงชื่อว่าบ้านอยู่เขตน้ำท่วม รวย จน ทุกคนได้เงินเท่ากัน
ผู้ติดเชื้อรายหนึ่ง
“หลังจากได้รับแจ้งผลติดเชื้อ เราก็โทรหา 1330 เพื่อสอบถามเรื่องเตียง ซึ่งก็แนะนำให้เราโทรไป 1668 และ 1669 แล้วเราก็ไปลงทะเบียนในไลน์ สบายดีบอทอีกช่องทางนึงด้วย แต่ช่องทางภาครัฐเน้นการโทร ซึ่งโทรติดยาก และเมื่อมีอาการไอด้วย เวลาพูดมากๆ จึงไม่สะดวกเข้าไปอีก”
“หน่วยงานรัฐไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ดีระหว่างกันเลย แต่ละหน่วยงานทำงานเฉพาะหน้าของตัวเอง ระบบไม่มีความพร้อมและไม่มีแผนงานที่มีศักยภาพ ทำให้ต้องเสียเวลาทำงานซ้ำๆ โดยไม่จำเป็น”
“เวลาเจ้าหน้าที่โทรมาแต่ละครั้งก็ ไม่มีการบันทึกข้อมูลที่เคยพูดคุยกันไว้ และถามคำถามเดิมซ้ำๆ ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นคำถามว่า ได้เตียงหรือยัง หรือให้ยืนยันที่อยู่ใหม่ทุกครั้ง ซึ่งก็ต้องตอบใหม่ทุกครั้ง ท่ามกลางอาการไอ ที่แทบจะไม่มีเสียงพูดคุยแล้ว”
“รัฐบาลล้มเหลวโดยสิ้นเชิง มีเวลาเตรียมการรับมือถึงหนึ่งปีเต็ม แต่พอถึงวิกฤตกลับพังไม่เป็นท่า รัฐบาลต้องยอมรับความจริงถึงสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ แล้ววางแผนใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า ไม่ใช่ดันทุรังบอกว่ายังควบคุมได้ ยังมีเตียงเหลือ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ผู้ป่วยประสบมันไม่ใช่”
คนทำงานกองถ่ายซีรีส์
“เราทำงานเกี่ยวกับพวกซีรีส์ พอมี COVID-19 งานก็เลื่อนบ้าง ทำตามแผนไม่ได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเราไม่สามารถย้ายกำหนดการได้อีกแล้ว เพราะมันเลื่อนมาปีนึงแล้วจากตอนระบาดรอบแรก”
“รู้สึกกดดัน เพราะอย่างเรื่องงานมันก็ขึ้นอยู่การโปรโมทที่พอเหลือแค่ออนไลน์มันก็จำกัดมากๆ ยังไงการได้โปรโมตต่อหน้าผู้คนจริงๆ ก็ได้รับผลตอบรับดีกว่า เพราะวงการบันเทิงมันต้องอาศัยการพบเจอผู้คน แต่การไปเจอคนมากๆ เราก็ไม่รู้ว่าใครมีเชื้อมั้ย ไม่รู้ว่าเราจะติดเมื่อไหร่ แล้วถ้าเราติดแล้ว ด้วยความเป็นทีมเล็กๆ งานเราก็จะเดินต่อไม่ได้ทั้งๆ ที่งานมันรันไปแล้ว ใครจะมารับช่วงต่อได้ คือมันขาดใครไปไม่ได้เลย คนคนนึงก็ถืองานไว้เยอะมาก แล้วยิ่งถ้าเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่คืนทุน มันก็ยิ่งไปต่อยาก”
“เราแค่ต้องการการตรวจฟรี รักษาฟรี หรือต่อให้ไม่ฟรีก็ควรเพียงพอต่อความต้องการ สิ่งที่ควรทำมาตลอดคือมาตรการเชิงรุก เป็นการเข้าถึงคนป่วยไวที่สุดและจัดการได้ไวที่สุด แต่การที่รัฐมัวแต่กลัวยอดพุ่ง กลัวภาพลักษณ์เสีย ตอนนี้เป็นยังไงล่ะ ประเทศอื่นเขาจะเปิดประเทศได้แล้ว แต่ประเทศเรายังเหมือนเดิม แล้วไม่ยอมประกาศล็อกดาวน์จริงจัง แต่สั่งปิดหมด บางทีเราต้องคุยงานข้างนอกดึกๆ มันก็ทำไม่ได้ แถมรัฐไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรเลย”
“ส่วนตัวเป็นคนสุขภาพปอดไม่ดีอยู่แล้ว มีโรคประจำตัวเป็นหอบกับภูมิแพ้ แล้วด้วยความที่เราปวดเป็นปกติ ตอนนี้ก็เลยไม่รู้ว่าเป็นโรคไหนกันแน่ ติดเชื้อยัง กลัวว่ากว่าจะรู้ตัวปอดโดนกินไปแล้ว”
หฤทธิ์ ปึกขาว, sound engineer
“เราเป็นอาชีพแรกที่โดนให้ปิดสถานบันเทิง คอนเสิร์ต รวมทั้ง งานอีเวนต์ ต่างๆ และได้รับการปลดล็อกช้าที่สุด ได้กลับมาทำงานช้าที่สุด พอเราเริ่มกลับไปทำงานได้ กำลังฟื้นตัว กำลังกลับมามีรายได้ก็เกิดโรคระบาดอีก แถมยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ แต่อย่างใด อย่างโครงการต่างๆ ที่ทางรัฐบาลได้ออกมา ไม่ว่าจะเป็น เราชนะ คนละครึ่ง ผมก็ไม่เคยผ่านอนุมัติให้ได้รับสิทธิ์ เนื่องจากเขาบอกว่าผมมีรายได้เกิน ซึ่งเขาคิดรายได้จากปี 2562 ปีที่ COVID-19 ยังไม่ระบาด ซึ่งมันมาระบาดในปี 2563 ทำไมถึงไปคิดรายได้ของปี 2562 ก็ไม่ทราบเหมือนกัน ผมว่าตรงนี้หลายๆ คนน่าจะโดนเหมือนกัน อย่างเรื่องนี้ผมว่าเราควรได้รับสิทธิ์กันทุกคนนะ เพราะเราก็จ่ายภาษีให้กับประเทศเหมือนกัน ทำไมต้องมานั่งแย่งสิทธิ์กันด้วย”
“เรื่องผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเนี่ย มันแน่นอนครับ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี อาชีพของพวกเราโดนพักงานไปเกิน 6 เดือน ไม่ต้องคิดถึงรายได้ที่หายไปเลยว่ามันเยอะขนาดไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รายจ่ายของเราก็ยังเหมือนเดิม ต้องผ่อนรถ ค่าใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเดิม เงินเก็บจากที่เคยมีตอนนี้ก็ไม่เหลือแล้ว”
“ผมว่าสิ่งที่เราต้องการที่สุดตอนนี้ก็คือวัคซีนที่มีคุณภาพ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของทุกๆ คน อย่างเท่าเทียมจริงๆ ในเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมานี้หลายๆ ประเทศเขามีการปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้แล้ว หลายๆ ประเทศก็ได้รับวัคซีนกันเกือบจะครอบคลุมทั้งหมดแล้ว แต่ที่นี่ 1ปีผ่านไปเหมือนไม่ได้เรียนรู้อะไรจากโรคนี้เลย”
“ตั้งแต่โควิดระบาดตั้งแต่รอบแรกจนถึงปัจจุบันนี้ เราทุกๆ คนก็พยายามป้องกันตัวเองอย่างดีมาตลอด แต่ที่มันเกิดขึ้นอีกหลายๆอย่างก็เกิดจากความหละหลวมของรัฐบาลจริงๆ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ไม่สามารถทำได้อย่างที่เคยพูดไว้หรือให้ สัมภาษณ์ไว้เลย
ก็คงต้องหาอาชีพเสริม แต่ถ้าการบริหารประเทศมันดีอะครับ ไม่ว่าจะอาชีพไหนมันควรจะต้องอยู่ได้ และควรให้ความสำคัญต่อทุกอาชีพไม่ใช่แค่บางอาชีพ จริงๆ ก็เริ่มต้องขายอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานบางส่วนไปบ้าง เพื่อให้มันใช้ชีวิตอยู่ให้ได้อะครับ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่”
สุดท้ายขอฝากท่อนหนึ่งของเพลงเพลงหนึ่งไว้ ทำไม่ได้ก็ลาออกไปถ้ายังไม่พร้อม มึงมารับใช้ประชาชนมึงไม่ได้มารับจ๊อบ เพลง เจ้าหน้าที่ Bomb at track”
โทนี่, เจ้าของเบียร์ศีวิไลซ์
“ทุกอย่างลำบากมากขึ้นครับ ราคาเครื่องดื่มของพวกเราไม่ได้ถูกเพราะเราทำแบบพรีเมียม ช่องทางออนไลน์ถือเป็นช่องทางเดียวที่เราสามารถสื่อสารและจำหน่ายได้ดีที่สุด”
“พวกเราก็ทำตามกฎหมายที่กำหนด เขาบอกอะไรเราก็ทำตาม แต่กฎหมายที่หน่วยงานรัฐสร้างขึ้นมามีแต่ทำร้ายผู้ประกอบการรายย่อยให้ค่อยๆ ตายลงไป”
“ธุรกิจเสียหายเลยครับ แทบจะธุรกิจทุกประเภท ได้รับผลกระทบกันหมด แต่เหล้าเบียร์จะหนักหน่อยเพราะนอกจากจะขายไม่ได้แล้ว ยังถูกสร้างให้เป็นผู้ร้ายอีก และอายุเบียร์ก็ค่อยๆ หมดลง ถ้ายังไม่สามารถจำหน่ายได้เราก็ต้องแบกรับขาดทุน”
“อยากให้หน่วยงานรัฐเข้าใจพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่ออกแต่กฎหมาย แต่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลใดๆ อย่างถ่องแท้ คนที่รับภาระคือผู้ประกอบการ และประชาชน รัฐก็เก็บแต่ภาษี ภาษีจ่ายล่วงหน้าด้วย สุดท้ายกลับห้ามขาย”
“พวกเราชาวไทยคราฟเบียร์ยังคงคาดหวังว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะคลี่คลายครับ”