การติดตามทำข่าวหุ้นสื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทำให้สำนักข่าวอิศราได้รับฟีดแบ็กทั้งในเชิงบวกและลบ ด้านหนึ่งเห็นด้วย เพราะมองว่าคนที่จะขึ้นสู่อำนาจต้องถูกตรวจสอบ แต่อีกด้านก็วิจารณ์ว่า การตรวจสอบดังกล่าว ช่างหยุมหยิม คล้ายจับผิด และมีอคติ!
เพื่อคลายข้อสงสัยว่า สำนักข่าวอิศรามีอะไรกับธนาธรหรือไม่ เหตุใดจึงเดินหน้าตรวจสอบกรณีการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนิตยสารไฮโซที่ปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2559 อย่างเข้มข้น โดยมีเดิมพันคือเก้าอี้ ส.ส. ของหัวหน้าพรรคการเมืองดาวรุ่ง ที่ได้รับเสียงสนับสนุนถึง 6.2 ล้านเสียง ในการเลือกตั้งครั้งแรก
The MATTER จึงโทรศัพท์ไปพูดคุยกับ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา-องค์กรร่มของสำนักข่าวอิศรา ให้อธิบายถึงที่มาที่ไปของการทำข่าวนี้ รวมถึงชี้แจงถึงสารพัดฟีดแบ็กที่สำนักข่าวอิศรากำลังเผชิญอยู่
ประสงค์เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า สำนักข่าวอิศราเริ่มทำข่าวหุ้นบริษัทวี-ลัคฯ หลังจากธนาธรประกาศโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้ blind trust เพื่อสร้างภาพว่าตัวเองจะบริหารจัดการทรัพย์สินด้วยความโปร่งใส ทีมงานจึงเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินของธนาธรที่จำได้ว่าเคยถือหุ้นในบริษัทสื่ออยู่ ก่อนจะพบใบแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 ที่บริษัท วี-ลัคฯ แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นอีกต่อไป ในวันที่ 21 มี.ค. ก่อนเลือกตั้งเพียง 3 วันเท่านั้น
พอเรื่องนี้เป็นข่าว ธนาธรก็โพสต์ข้อมูลตอบโต้ลงเฟซบุ๊กทันทีว่า เขาและภรรยาได้ขายหุ้นไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.แล้ว ไม่ใช่วันที่ 21 มี.ค. ตามที่สำนักข่าวอิศราเข้าใจ (ผิด)
แต่สำนักข่าวอิศราก็ไปตามประเด็นต่างๆ ต่อ จนบุคคลในข่าวต้องออกมาชี้แจงหลายครั้ง
“พอเราเสนอข่าว ทางธนาธรก็นำเอกสารใบโอนหุ้นมาแสดงว่าเขากับภรรยาได้ขายหุ้นให้แม่ (สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ) ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. แต่เราก็ไปเจอหลักฐานต่อว่า ถ้ามีการขายหุ้นจริง แล้วทำไมวันที่ 19 มี.ค. จึงมีการประชุมผู้ถือหุ้น ที่จำนวนผู้ถือหุ้นเท่าเดิม 10 คนไม่ได้ลดลงเหลือ 8 คน แล้วก็มีประเด็นอื่นๆ ตามมาเช่น วันที่ 8 ม.ค. ที่อ้างว่าโอนหุ้น ตอนนั้นธนาธรไปทำกิจกรรมอยู่ที่ไหน เลยกลายเป็นประเด็นอื่นๆ ที่เราตามมาต่อเนื่อง
“หลายคนไปหลงประเด็นเรื่องวันที่ 21 มี.ค. จริงๆ ถ้าไปดูเอกสารที่เราเปิดตั้งแต่วันแรกจะเห็นว่า มีการระบุวันที่ 21 มี.ค. ไว้ 2 จุดสำคัญ คือวันที่ยื่นเอกสาร บอจ.5 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับวันที่สมพรรับโอนหุ้น ซึ่งหากธนาธรโอนหุ้นมาตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. แล้วทำไมถึงเพิ่งมารับโอนหุ้นในวันที่ 21 มี.ค.
“โอเคว่าในเวลาต่อมา ก็มีการชี้แจงว่าโอนหุ้นไปให้หลาน A กับหลาน B แล้ว ซึ่งเป็นญาติห่างๆ เพื่อเคลียร์หนี้ที่มีอยู่เดิม 11 ล้าน ดูว่าพอจะฟื้นฟูกิจการได้ไหม พอเห็นว่าไม่น่าจะเคลียร์ได้ก็โอนกลับมาให้สมพร ทั้งที่จริงๆ ถ้าไปดูที่มาของหนี้ 11 ล้านบาท มันมีมาตั้งนาน ไม่น่าจะเคลียร์ได้ อีกประเด็นที่เราสงสัย คือบริษัท วี-ลัคฯ เป็นบริษัทที่ใกล้ปิดกิจการ จากทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท ก็น่าจะเหลือแค่ราว 21-22 ล้านบาท ผมจำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ ปกติเวลาขายหุ้นให้กันในครอบครัว ควรจะขายให้ตามมูลค่าจริง หรือตามราคาพาร์
“ที่บอกว่าการโอนหุ้นสำเร็จแล้ว ตาม ป.แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 แต่เอกสารการโอนหุ้นเป็นเรื่องราวภายในบริษัททั้งหมด เมื่อผู้เกี่ยวข้องชี้แจงไม่ตรงกัน เราจึงต้องตรวจสอบ ไหนปิยบุตร (แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่) ไปให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ดูอย่างรอบคอบรัดกุม แล้วทำไมยังชี้แจงไม่ตรงกัน
“ความจริงเรื่องหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ จะจบง่ายๆ เลย ถ้าธนาธรทำทนายโนตารีมานั่งแถลงข่าวด้วย ยืนยันว่า การโอนหุ้น 2-3 ครั้งเกิดขึ้นจริง และคุณลองไปดู ว่าปกติ ทนายโนตารีทำหน้าที่อะไร”
แต่ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศราตามติดกรณีธนาธร ก็ไม่ได้มีแต่ข้อสงสัยที่ประสงค์ไล่เรียงงมาข้างต้น แต่ยังรวมถึงไปดู Google Maps ว่าในวันที่ 8 ม.ค. ธนาธรต้องใช้ความเร็วเท่าไรถึงจะนั่งรถกลับจาก จ.บุรีรัมย์มาโอนหุ้นใน กทม.ได้ทัน? ทำไมถึงเลือกใช้วิธีนั่งรถยนต์แทนการนั่งเครื่องบินซึ่งเร็วและสะดวกสบายมากกว่า? ตามไปดูสถานที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งพร้อมสอบถามว่า เคยเห็นธนาธรมาเช้าร่วมประชุมในวันที่ 19 มี.ค.หรือไม่?
รวมถึงอีกสารพัดประเด็น โดยเฉพาะการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่รายอื่นๆ จนถูกมองว่า ตั้งใจ ‘จับผิด’ เฉพาะพรรคสีส้มนี้หรือไม่
The MATTER ถามประสงค์ไปตรงๆ ว่า สำนักข่าวอิศรามีอคติกับธนาธรและพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ เหตุใดจึงเสนอข่าวคล้ายการจับผิด ปล่อยทีละเรื่อง ทีละประเด็น อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการทำข่าวเชิงตรวจสอบกับการจับผิด?
คำชี้แจงจากผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ก็คือ
“ผมโดนข้อกล่าวหานี้มันตั้งแต่ทำข่าวทักษิณ (ชินวัตร) ซุกหุ้น ทำข่าว เสธ.หนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) ซุกหนี้ หรือทำข่าวลูกปรีชา (พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา) ตั้งแต่หลายปีก่อน ตอนที่ทำข่าวลูกปรีชา หลายคนอาจจะไม่เคยอ่าน หรือเคยอ่านแล้วแกล้งลืม
“ที่บอกว่าจับผิด จริงๆ ก็ไม่ใช่ เพราะข้อเท็จจริงมันค่อยๆ ปรากฎออกมา เรื่องโอนหุ้นให้หลาน A กับหลาน B หรือเรื่องวันที่ 8 ม.ค. ที่ยังอยู่บุรีรัมย์ คำถามก็คือ ทำไมธนาธรไม่ให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ที่โพสต์ชี้แจงครั้งแรก พอเราพบข้อเท็จจริงใหม่ก็ต้องหยิบมานำเสนอ แล้วยืนยันว่าสิ่งที่เราตรวจสอบเป็นประโยชน์สาธารณะทั้งสิ้น เราไม่ได้ตรวจสอบเรื่องส่วนตัวเลย”
เรายังถามไปถึงภาพที่เจ้าตัวไปร่วมรดน้ำดำหัว อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงสงกรานต์ ที่มีคนนำมาแชร์จำนวนมาก แล้วบอกว่า นี่ไง เป็นเครือข่ายของคนที่ต้องการโจมตีธนาธร
ซึ่งเจ้าตัวก็ชี้แจงทันควัน “เราจะไม่สามารถรู้จักใครได้เลยเหรอ นักข่าวไปทำข่าว จะถ่ายรูปกับใครไม่ได้เลยเหรอ แล้วงานนั้นผมก็ทำกันเปิดเผยเอารูปมาลงเฟซบุ๊กของผมเองด้วยซ้ำ ผมบอกได้เลยว่าทุกๆ คนที่อยู่ในงานนั้นไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายความมั่นคงมาเล่นงานธนาธร ปิยบุตร และพรรคอนาคตใหม่ เรื่องนี้ผมบอกได้เลย”
และจากนี้ไปจะเป็นคำถาม-คำตอบ ของปัญหาการตัดสิทธิ์ผู้สมัครเพราะการถือหุ้นบริษัทสื่อ ที่ตัวประสงค์เองก็ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ซึ่งถูกตีความใช้ผิดเจตนารมณ์ตั้งนานแล้ว แต่ทำไมถึงยังเดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ ?
The MATTER: หลายคนตั้งคำถามกับกฎหมายห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อว่าใช้ได้ตามเจตนารมณ์จริงไหม บางคนแค่ถือหุ้นเดียวในบริษัทสื่อที่ปิดไปแล้ว-ก็ผิด หรือบางบริษัทก็ไม่ได้ทำสื่อด้วยซ้ำ แต่จดวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทว่าให้รวมถึงเรื่องสื่อด้วย-แต่ก็ผิด
ส่วนตัวผมก็ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ที่มันไม่ทันยุคสมัยแล้ว เพราะมันออกมาตั้งสิบกว่าปีก่อน ต้องไปดูเรื่องอำนาจครอบงำสื่อมากกว่า และปัญหาที่ผ่านมาก็เกิดจากการตีความข้อกฎหมายแคบ
แต่ในเมื่อเรื่องนี้เป็นกฎหมาย และธนาธรก็ยอมรับกติกา มาลงเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว อย่าลืมว่าเรื่องห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อ อยู่ในรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน ในเมื่อยอมรับกติกานี้ และอาสาตัวเข้ามา ก็ต้องยอมรับการตรวจสอบ ส่วนจะไปเปลี่ยนแปลงอะไร ค่อยไปว่ากันในอนาคต
The MATTER: แสดงว่าตัวคุณประสงค์ก็อยากให้แก้กฎหมายข้อนี้
แต่การแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.อื่นๆ แล้วอย่างที่รู้กันว่า ตัวรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่าให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำยากมากๆ จนแทบเป็นไปไม่ได้
The MATTER: หรืออย่างน้อยๆ ก็ให้ผู้เกี่ยวข้องใช้ดุลยพินิจเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ที่ผ่านมาผู้สมัคร ส.ส.และตำแหน่งสำคัญ หลายๆ คนก็ถูกตัดสิทธิเพราะถือหุ้นสื่อมาแล้ว อย่างหมอลี่ (นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.) ก็เคยไม่ได้เป็นกรรมการ กสม. เพราะถือหุ้นบริษัทที่รู้ภายหลังว่าทำโรงพิมพ์ แล้วจะให้ยกเว้นเฉพาะกรณีธนาธรหรือ มีคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมาเป็นแนวปฏิบัติแล้ว ผมว่าคนที่เกี่ยวข้องเขาไม่กล้าหรอก ไม่เช่นนั้นก็มีโอกาสติดคุก
ท้ายสุด ประสงค์ยังยืนยันว่า จะเดินหน้าทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนต่อไป เพราะข่าวประเภทนี้ในไทยยังมีอยู่น้อย โดยจะตรวจสอบทั้งคนที่มีอำนาจแล้ว และเสนอตัวเข้ามาด้วย