หลายคนคงยังเคืองใจจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อต้นเดือนที่ตัดสินให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและความเป็นรัฐมนตรี แม้ว่าจะเคยต้องโทษจำคุกหกปี และถูกจำคุกจริงสี่ปี ฐานนำเข้าและค้ายาเสพติดในประเทศออสเตรเลียโดยให้เหตุผลว่าคำพิพากษาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันกับกฎหมายไทย คำอธิบายที่ยิ่งฟังยิ่งหงุดหงิดและชวนให้ตั้งคำถามถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แต่ภายใต้วิกฤติก็ย่อมมีโอกาส ในเมื่อรัฐบาลใจกว้างขนาดมอบตำแหน่งสำคัญให้อดีตผู้ต้องโทษคดียาเสพติดในต่างประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยยึด ‘วิถีเหยี่ยว’ ที่กำหนดบทลงโทษและเน้นการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด คำวินิจฉัยดังกล่าวก็น่าจะเป็นสัญญาณอันดีที่จะพิจารณาผ่อนคลายโทษคดียาเสพติดในไทยบ้าง
ในแต่ละปี รัฐบาลไทยทุ่มงบประมาณปริมาณมหาศาลเพื่อพยายามจัดการกับปัญหายาเสพติด เช่นงบประมาณตามแผนบูรรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่มีวงเงินทั้งสิ้น 6,129 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อลดระดับความรุนแรงของพื้นที่ที่มียาเสพติดแพร่ระบาด ลดความเสี่ยงในกลุ่มประชากรอายุ 15-24 ปีไม่ให้เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด และลดผลกระทบจากยาเสพติดต่อผู้เสพและสังคมด้วยระบบการบำบัด
นอกจากงบประมาณในส่วนดังกล่าวแล้ว กระบวนการปราบปรามยาเสพติดในไทยยังมีตุ้นทุนแฝงที่หลายคนคาดไม่ถึง เช่นงบประมาณในการดูแลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 310,830 ราย เป็นนักโทษคดียาเสพติด 252,749 ราย หรือคิดเป็นราว 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด รายงานต้นทุนต่อหน่วยผลผลิต พ.ศ. 2563 ของกรมราชฑัณฑ์ระบุว่าค่าใช้จ่ายหลักในการดูแลนักโทษยาเสพติดหนึ่งคนมีมูลค่าประมาณ 42,288 บาทต่อปี หากพิจารณาจากผู้ต้องขังคดียาเสพติดก็สามารถตีเป็นค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ปีละราวหนึ่งหมื่นล้านบาท
ยังครับ ยังไม่หมด เพราะเรายังไม่ได้นับต้นทุนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมโดยความผิดตาม พรบ.ยาเสพติด ที่ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของคดีที่มีจำนวนมากที่สุดของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และเป็นอันดับสองรองจากความผิดต่อชีวิตชั้นศาลฎีกา สถิติคดี พ.ศ.2562 พบว่า คดียาเสพติดที่รับใหม่ในศาลชั้นต้นมีจำนวนมากถึง 366,662 คดีจากทั้งหมด 1.46 ล้านคดี หรือคิดเป็นราวร้อยละ 25 ของคดีทั้งหมด นับว่าใช้ทรัพยากรมหาศาลสำหรับองค์กรที่ใช้งบประมาณร่วมสองหมื่นล้านบาทในแต่ละปี
แล้วเราประสบความสำเร็จแค่ไหนในการปราบปรามยาเสพติดให้หมดจากสังคมไทย?
แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนขอชวนมาทบทวนเสียก่อนว่าปลายทางของการ ‘ขจัดยาเสพติด’ คืออะไรกันแน่
ปลายทางของการขจัดยาเสพติด
“ยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม” “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้าน ยาเสพติด” “ประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด” และอีกสารพัดคำขวัญต่อต้านยาเสพติดที่เราคงคุ้นหูคุ้นตา ส่วนใหญ่เน้นความสำคัญน่าหวาดหวั่นของยาเสพติดที่รุนแรงถึงขั้นอาจทำให้ชาติล่มสลาย ดังนั้นน้องๆ หนูๆ ผู้รักชาติอย่าริอาจไปลองนะจ๊ะ
หลายคนอาจแปลกใจเมื่อทราบว่าประเทศจีนคือหัวเรี่ยวหัวแรงหลักผู้ริเริ่มรวบรวมเหล่าสมาชิกประเทศทั่วโลกเพื่อผลักดันการห้ามค้ายาเสพติดระหว่างประเทศตั้งแต่ราวหนึ่งร้อยปีก่อน นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการฝิ่นระหว่างประเทศ (The International Opium Commission) เมื่อ พ.ศ.2452 นับเป็นก้าวแรกในการขจัดยาเสพติด หลังจากนั้น หลายประเทศก็เริ่มมีกฎหมายห้ามใช้สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง พ.ศ.2541 องค์การสหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายเพื่อบรรลุ “โลกปลอดยาเสพติด” (Drug-Free World) พร้อมทั้งขจัดการผลิตฝิ่น โคเคน และกัญชา ภายในสิบปี ห้วงเวลานี้เองที่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของสงครามปราบปรามยาเสพติดทั่วโลกรวมถึงไทย
นับตั้งแต่มีกฎหมายยาเสพติดฉบับแรก ไทยเราก็มีแนวทางปราบปรามอย่างเข้มข้นในระดับ ‘ไม่สามารถอดทนต่อยาเสพติดได้แม้แต่น้อย’ (zero tolerance) ภายใต้แนวคิดพื้นฐานว่ายาเสพติดคือสิ่งชั่วร้ายและสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้เสพ ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ รัฐซึ่งรักประชาชนมากกว่าใครๆ จึงต้องมีมาตรการลงโทษที่เข้มงวดรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องปราม (deterrence) ไม่ให้ประชาชนกระทำผิด
ประเทศไทยคลอดนโยบายยาเสพติดที่เข้มงวดจากนายกรัฐมนตรีหลายท่าน ตั้งแต่รัฐบาลยุค ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศทำ “สงครามยาเสพติด” โดยตั้งเป้ากวาดล้างยาเสพติดให้หายสาบสูญจากแผ่นดินไทยภายในระยะเวลาสี่เดือน จวบจนถึงสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศให้ พ.ศ.2560 เป็นปีแห่งการปราบปรามกระบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่
เห็นตัวเลขสถิติคดียาเสพติดที่เข้าสู่ศาลชั้นต้นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วก็ยิ่งภูมิใจว่าไทยเราปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง โดย พ.ศ.2562 เป็นปีที่ตัวเลขสูงที่สุดในรอบสิบปีคือ 366,662 คดี ถ้ากระบวนการยุติธรรมของไทยยังคงมีประสิทธิภาพเช่นนี้ รับรองว่าเป้าหมายขจัดยาเสพติดให้พ้นจากแผ่นดินไทยคงอยู่ไม่ไกล!
จริงหรือ?
แม้ตัวเลขจำนวนคดี ของกลาง และจำนวนผู้ต้องหา จะถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดของบางองค์กรที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แต่การที่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นก็อาจมองได้สองทาง คือหน่วยงานป้องกันและปราบปรามทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือยาเสพติดระบาดหนักขึ้นจนสามารถจับผู้ต้องหาได้ทุกหัวมุมถนน การศึกษาแนวโน้มยาเสพติดในไทย พ.ศ.2561 เห็นด้วยกับอย่างหลัง โดยสรุปว่าเฮโรอีนและคีตามีนมีการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ส่วนยาบ้าก็ยังเป็นยายอดฮิตติดลมบนเช่นเดิม
ความล้มเหลวในการใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มงวดไม่ได้พบเพียงแค่ในประเทศไทย เพราะสถานการณ์ยาเสพติดเลวร้ายลงทั่วโลก ทั้งจำนวนผู้เสพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและพื้นที่แปลงเกษตรเพื่อผลิตยาเสพติดที่สูงจนทุบสถิติ ยังไม่นับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามการขจัดยาเสพติด
สถานการณ์ข้างต้นชวนให้ตั้งคำถามว่าวิธีการดังกล่าวยังทำให้เราบรรลุเป้าหมาย “โลกปลอดยาเสพติด” ได้หรือไม่ หรือเป้าหมายดังกล่าวเป็นเพียงฝันกลางวันของนักการเมือง โดยถึงเวลาที่เราต้องทบทวนวิธีการจัดการกับยาเสพติด แทนที่จะดันทุรังมุ่งหน้าสู่เป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ ก็ควรหันมาจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตัวผู้เสพ ครอบครัว และสังคม
ไม่ผิดกฎหมายไม่ได้หรือ?
เมื่อทั่วโลกไม่อาจบรรลุเป้าหมาย ”โลกปลอดยาเสพติด” ได้ตามที่องค์การสหประชาชาติคาดหวัง แถมนโยบายดังกล่าวยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ ในปี พ.ศ.2557 องค์การอนามัยโลกยังส่งสัญญาณ ‘กลับลำ’ นโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวดโดยแนะนำให้ทั่วโลกลดความเป็นอาชญากรรม (decriminalization) ซึ่งหมายถึงการลดโทษหรือยกเลิกโทษทางอาญาในคดียาเสพติด
การลดความเป็นอาชญากรรมจะช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ติดยาเสพติดชั้นรุนแรงเข้าสู่กระบวนการบำบัดตามหลักการสาธารณสุข คืนกลุ่มผู้ติดยากลับสู่สังคมอย่างเต็มภาคภูมิ นอกจากนี้แนวนโยบายดังกล่าวยังส่งผลดีในแง่งบประมาณด้านกระบวนการยุติธรรมและยังประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้ต้องขัง อีกทั้งยังส่งผลดีต่อครอบครัวผู้ติดยาเสพติดที่จะได้สมาชิกกลับคืนโดยไม่ต้องมีประวัติว่าเป็นอาชญากร
หลายคนคาดการณ์แบบเข้าใจกันเองว่าการลดความเป็นอาชญากรรมของคดียาเสพติดจะทำให้ยาเสพติดระบาดหนักและผู้ติดยาล้นเมือง แต่ความเข้าใจดังกล่าวนั้นผิดถนัดโดยมีกรณีศึกษาคลาสสิกคือความสำเร็จของประเทศโปรตุเกสในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยไม่ต้องใช้กำลังปราบปราม
ในปี พ.ศ.2544 ขณะที่ทั่วโลกต่างมุ่งหน้าทำสงครามปราบปรามยาเสพติด โปรตุเกสสวนทางโดยออกกฎหมายให้การครอบครองยาเสพติดเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวในปริมาณที่ไม่เกินกำหนดจะไม่ผิดกฎหมายอาญาแต่เป็นการละเมิดคำสั่งทางปกครองซึ่งมีโทษเบาลงมาก โดยเน้นให้ผู้ละเมิดที่ได้รับการประเมินว่าต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้หลุดพ้นจากยาเสพติดจะถูกส่งเข้าโครงการบำบัด
ผู้นำหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับแนวทางของโปรตุเกส แต่ผลลัพธ์ทางสาธารณสุขที่เห็นกลับบาดใจผู้ต่อต้าน เพราะนับตั้งแต่ลดความเป็นอาชญากรรมของคดียาเสพติด จำนวนผู้ใช้สารเสพติดในกลุ่มเปราะบางลดลงอย่างมาก ขณะที่ผู้เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการติดเชื้อ HIV และจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลงจนแทบไม่เหลือ อีกทั้งอัตราการเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดยังลดลงจนน่าประหลาดใจ
ในช่วงสิบปีแรกตั้งแต่เริ่มนโยบาย โปรตุเกสสามารถประหยัดต้นทุนทางสังคมไปกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยรายได้และผลิตภาพที่ไม่สูญเสียไปจากการที่ผู้เสพยาต้องเข้าคุก ต้นทุนทางอ้อมเกี่ยวกับสุขภาพจากการเสียชีวิตเพราะยาเสพติดหรือโรคเอดส์ และการประหยัดงบประมาณจากปริมาณคดีและจำนวนผู้ต้องขังที่ลดลง ผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกันยังพบได้ในสาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดที่ค่อนข้างผ่อนคลายเช่นกัน
แต่การลดความเป็นอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวคงไม่อาจบรรลุผลลัพธ์ข้างต้นได้ แนวนโยบายที่ผ่อนคลายเป็นเพียงใบเบิกทางให้ผู้ติดยากล้าขอความช่วยเหลือโดยไม่หวาดกลัวที่จะถูกจับกุมหรือรู้สึกว่ามีตราบาปจากสังคมรอบข้าง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางสังคมคือระบบบำบัดและดูแลผู้ติดยาเสพติดที่พร้อมให้คำแนะนำ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เขาหรือเธอสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่อาชญากร
แม้ว่าการลดความเป็นอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดจะประสบผลสำเร็จ แต่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยมีความเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวยังคงไม่สะท้อนความเป็นจริงเพราะอนุญาตให้ผู้เสพครอบครองในปริมาณที่กำหนด แต่การครอบครองเพื่อจำหน่ายยังคงผิดกฎหมาย พร้อมเสนอว่ารัฐสามารถยกระดับให้ยาเสพติดเป็นสินค้า ‘ถูกกฎหมาย’ แต่ต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัดไม่ต่างจากสุราหรือบุหรี่
หลายประเทศริเริ่มทดลองนโยบายลักษณะดังกล่าวโดยเฉพาะกัญชา บางประเทศสามารถซื้อขายได้อย่างเสรี ขณะที่บางประเทศยังกล้าๆ กลัวๆ จำกัดให้ใช้ได้เฉพาะทางการแพทย์ แต่ก็ยังไม่มีประเทศใดใจกล้าที่จะขยายกฎหมายดังกล่าวให้ครอบคลุมสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอย่างยาบ้า โคเคน หรือยาไอซ์ให้ถูกกฎหมาย
ประเทศไทยเดินมาถูกทางในการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่เห็นสัญญาณลดความเป็นอาชญากรรม ทั้งที่รัฐบาลมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดและมีประสบการณ์ภาคสนาม แถมเคยลิ้มรสการถูกจำคุกเพราะคดียาเสพติด หากใช้คนให้ถูกงาน ประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกที่ยาเสพติดไม่ผิดกฎหมายก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติม
Advancing Drug Policy Reform: A New Approach To Decriminalization
Set it free: The case for legalisation is difficult, but the case against is worse
ทฤษฎีและแนวคิดการแก้ไขปัญหายาเสพติด
เอกสารสรุป การปราบปรามยาเสพติดและ การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดในประเทศไทย