“คนทำหนังสารคดีโดดเดี่ยวมาตลอด เราอยู่กันด้วยความรัก ความศรัทธา” ประโยคข้างต้นมาจากปากของ พิทักษ์ บุณย์ นักทำสารคดีเจ้าของผลงานซีรีย์ ‘เปิดแดนชีวิต’ ที่เล่าเรื่องชีวิตในเรือนจำของผู้ต้องขัง
ประโยคข้างต้นของนักผลิตสารคดีผู้นี้น่าสนใจเพราะในโลกทุนนิยมที่เงินเป็นปัจจัยแสนสำคัญ ทำไมการดำรงตนเป็นอาชีพบางอย่างถึงใช้ ‘หัวใจ’ มากกว่า ‘เงิน’ แล้วการใช้หัวใจหรือแพชชั่นเป็นหลักจะทำให้คนทำสารคดีอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหนกัน
ในยุคอินเตอร์เน็ตที่ทุกอย่างต้องเร็ว แรง ปัง งานสารคดีที่ถูกนิยามว่าปราณีต เปิดเปลือย และถึงเลือดถึงเนื้อยังมีพื้นที่ยืนอยู่ไหม อนาคตของสารคดีไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปหากคนทำสารคดีหมดแรงกันไปเสียหมดก่อน The MATTER ได้พูดคุยกับคนทำสารคดีในไทยถึงปัญหาที่พวกเขาพบ และรับฟังข้อเสนอจากพวกเขามาเล่าให้ฟังในบทความนี้
การปรับตัวของทีวีดิจิทอล
หากจะพูดถึงช่องทางในการขายงานสารคดีในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 3 ช่องทางใหญ่ๆ คือ ช่องทีวีดิจิทัล, โรงหนัง และออนไลน์ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเห็นได้ชัดในตอนนี้คือ ช่องทางทีวีซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของคนสารคดียุคก่อนเป็นหลัก
สำหรับสารคดีที่ฉายให้สื่อทีวีดิจิทัลในปัจจุบัน ยกตัวอย่างผังรายการของช่อง PPTV HD จะพบว่ามีเพียงรายการ รอบโลก daily, Tasty Journey และเปิดโลกสุดสัปดาห์ (สารคดีต่างประเทศ) เท่านั้นที่เป็นรายการสารคดี ส่วนรายการอื่นส่วนมากเป็นรายการเล่าข่าว ขณะที่สื่อสาธารณะอย่าง Thai PBS ยังคงมีรายการสารคดีอยู่เยอะพอสมควร เช่น พื้นที่ชีวิต, ภัตตาคารบ้านทุ่ง, COME HOME, จากรากสู่เรา, ซีรีส์วิถีคน
ด้าน สีตลา ชาญวิเศษ ที่ปรึกษาด้านการตลาดและการสื่อสารสำหรับผู้ผลิตสื่อท้องถิ่นได้ออกมาเขียนโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า คนทำสารคดีกำลังเจอปัญหาที่พันกัน 3 ข้อ
ข้อแรก การเปลี่ยนแปลงของช่องทีวี ในปัจจุบัน ช่องทีวีที่เป็นของเอกชน (เช่น ช่อง 3, ช่อง 7, PPTV HD,.. ) เริ่มผันตัวมาเป็นช่องข่าวมากขึ้น หากจะทำรายการก็เลือกใช้ทีมภายในถ่ายในสตูดิโอ และเปลี่ยนมาขายแอร์ไทม์ให้แก่ผู้ผลิตภายนอก หมายความว่าผู้ผลิตต้องหาสปอนเซอร์และเข้ามาซื้อแอร์ไทม์ของช่องเพื่อเผยแพร่งานของตัวเอง ส่วนทางด้านสื่อสาธารณะเช่น Thai PBS ก็เริ่มมีสัญญาณว่าจะลดสัญญาการซื้อขายรายการจากผู้ผลิตลงเรื่อยๆ
ข้อสอง สื่อสาระใช้เงินทุนและแรงสูง เมื่อช่องทีวีซึ่งเคยเป็นพื้นที่หลักปรับตัว สื่อสารคดีที่เรียกร้องเงินทุน แรง และข้อมูลจำนวนมาก ที่สำคัญต้องลงพื้นที่หลายครั้งเพื่อให้ได้ฟุตเทจ จึงได้รับผลกระทบอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ถ้าผู้ผลิตสารคดีไม่ตัดใจเลิกทำไปเลย ก็เลือกลดการลงพื้นที่ลงทำให้ภาพฟุตเทจน้อยลง หรือแปลได้ว่าคุณภาพลดลง
ข้อสาม สปอนเซอร์เข้ายาก การหาภาคเอกชนมาซื้อโฆษณาก็เป็นเรื่องยาก เพราะสารคดีเป็นของ ‘เคี้ยวยาก’ เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม และมียอด engagement น้อยกว่า จึงไม่แปลกที่จะไม่ดึงดูดสปอนเซอร์ให้เข้ามาลงทุนได้น้อยเมื่อเทียบกับสื่อบันเทิง
“ลองเปิดทีวีดูจะเห็นว่ารายการเล่าเรื่องสาระมันลดลงเยอะ วิธีการทำสื่อสาระมันต้องเก็บข้อมูล ลงพื้นที่ สัมภาษณ์สื่อชั้นต้น ชั้นสอง ชั้นสาม สื่อสาระมันทำแบบง่ายๆ ไม่ได้” สีตลาสะท้อนให้ The MATTER ฟัง “และเมื่อมันหายไปสิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ผลิตสื่อเหล่านี้ก็จะหายไปด้วยเหมือนกัน”
ถึงแม้โลกออนไลน์จะเป็นโอกาสเช่นเดียวกัน แต่สีตลามองว่าสื่อสารคดีคุณภาพ เช่น รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี หรือ เถื่อน Travel ของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ล้วนเป็นตัวอย่างเฉพาะและถ้าเทียบกับสื่อแขนงอื่นยังมีจำนวนช่องรูปแบบนี้น้อยมาก
“ต้องบอกว่าคอนเทนท์สาระมันแปลงกลายเป็นรูปแบบที่กระชับแบบออนไลน์ได้ แต่เราต้องการแค่นั้นจริงๆ หรอ การมีคอนเทนท์สาระที่อยู่ในรูปแบบจริงจังครบถ้วนมันดีกว่าอยู่แล้ว” สีตลากล่าว
ปัญหาการให้ทุนสารคดีในไทย
นอกจากขายงานให้ช่องทีวี การขอทุนจากภาครัฐก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักของคนทำสารคดีไทย และต้องยอมรับว่าในเมืองไทยเองก็มีการสนับสนุนคนทำสื่อสารคดีอยู่หลายช่องทาง โดยเฉพาะกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ซึ่งในปีนี้เพิ่งประกาศว่ามีการอนุมัติงบสำหรับสื่อถึง 270 ล้านบาท หรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ก็มักมีโครงการที่มอบทุนให้คนทำสื่อผลิตผลงานภายใต้กรอบกว้างๆ
ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าเมืองไทยไม่สนับสนุนคนทำสื่อสารคดี แต่คำถามน่าจะเป็นว่าสนับสนุนอย่างไร? และภาครัฐสนับสนุนอย่างเดียวเพียงพอไหม?
แล้วรัฐไทยสนับสนุนอย่างไร? ถ้าลองดูในแผนการดำเนินงานแผนการเงินและงบประมาณ ประจำปี 2566 ของกองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยจะพบว่า แผนดังกล่าวถูกร่างขึ้นโดยยึดโยงกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป้าหมายเพื่อ
- เทิดทูนสถาบันหลักของชาติ รักษา และสืบสานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
- ส่งเสริมการนําวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
- ยกระดับ Soft Power ไทย สู่เวทีโลก
- สร้างค่านิยมเชิงบวกและภูมิคุ้มกันทางสังคม
“ปัญหาหลักๆ ที่ผ่านมาคือ งานมันตรงกับนิยามวัฒนธรรมของเขาไหม และมันไปคัดง้างกับสิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า สมมติ เราอยากพูดเรื่อง ต้า – วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือเด็กที่โดนคดีการเมือง มันคงไม่ได้หรอกใช่ไหม” วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับสารคดีชื่อดัง School Town King กล่าวกับ The MATTER
ตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ วีรยา วิชยประเสริฐกุล คนทำสารคดีอิสระที่ให้ความเห็นว่าคนทำสารคดีส่วนใหญ่ได้รับทุนจากภาครัฐไทยทั้งนั้น เพียงแต่การขอรับทุนนำไปสู่การจำกัดทางด้านเนื้อหาบางอย่าง
“เวลาทุนมาจากภาครัฐมันจะมีขอบเขตว่าการทำสารคดีต้องเป็นเชิงบวก เช่น ส่งเสริมวัฒนธรรมชาวบ้าน แต่ความสนุกของสารคดีคือการที่เผยด้านลบด้วยเหมือนกัน ถ้าคุณเลือกรับงบประมาณจากรัฐบาล คุณต้องทำตามแนวทางของเขา เพราะเขาให้งบมาเพื่อส่งเสริมด้านดีๆ ของไทย” วีรยากล่าว
แล้วภาครัฐส่งเสริมอย่างเดียวเพียงพอไหม? เมื่อเดือนธันวาคมปี 2022 มูลนิธิ Ford Foundation (มูลนิธิของเจ้าของบริษัทรถยนต์ฟอร์ด) ร่วมกับ Just Film สนับสนุนเงินกว่า 4 ล้านดอลลาร์ (145.8 ล้านบาท) แก่สารคดี 68 ชิ้นภายใต้หัวข้อความยุติธรรมในสังคม
ขณะที่สองนักทำสารคดีในไทยต่างสะท้อนตรงกันว่าอยากให้ภาคเอกชนส่งเสริมงานสารคดีในไทยให้มากขึ้น ถึงแม้จะเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นเม็ดเงินจากสารคดี แต่พวกเขาเชื่อว่ามันสามารถหาตรงกลางระหว่างกันได้
“เราอยากให้ภาคเอกชนส่งเสริมคนทำงานน้ำดีให้มากขึ้น มันอาจจะต้องมีการหารือกันว่าจะหาตรงกลางอย่างไรให้มีคนดูสารคดีเยอะขึ้น พร้อมกับที่จดจำบริษัทที่สนับสนุนได้ เราคิดว่ามันมีวิธีการ แต่ต้องเปิดใจก่อน” วีรยากล่าว
ทางด้านวรรจธนภูมิแสดงความเห็นว่า สังคมไทยแยกกันระหว่างความบันเทิงและความรู้ ซึ่งเขามองว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป และในอนาคตที่คนไม่ได้มองประเด็นสังคมแยกขาดจากชีวิตตัวเอง ภาคเอกชนอาจมองสารคดีเปลี่ยนไป
“เรามีความหวังว่าในโลกที่คนไม่ได้มองประเด็นสังคมแยกขาดจากชีวิต น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้องค์กรต่างๆ หันมาสนใจในการลงทุนเพื่อพัฒนาสังคมมากขึ้น และสารคดีอาจเป็นหนึ่งในหลายขาของเขาที่เขามองว่าเป็นโอกาสในการสร้าง CSR เหมือนตอนที่โก๋แก๋ให้ทุนเราทำสารคดี [School Town King] แม้มันไม่เพียงพอทั้งหมด แต่ก็เป็นก้อนใหญ่ทีเดียว” วรรจธนภูมิกล่าว
อัดฉีดการสนับสนุนและเชื้อเชิญภาคเอกชน
“รัฐต้องมองว่าคอนเทนต์สาระเป็น ‘สวัสดิการสังคม’ รัฐควรจะยอมขาดทุนกับเรื่องนี้เพื่อให้มีสิ่งนี้ต่อไป ที่ผ่านมาเราใช้กลไกทางทุนนิยมให้คนเหล่านี้เอาตัวรอดในเชิงธุรกิจเอง แต่เราเห็นแล้วว่ามันกำลังจะไม่รอด ดังนั้น รัฐจึงควรเข้ามาอุ้มตรงนี้” สีตลากล่าว
สีตลาเสนอว่าในเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน ประกาศนโยบายสนับสนุน soft power นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มคนทำสารคดีผ่านกลไกที่มีอยู่แล้วโดยเฉพาะ Thai PBS และกองทุนสื่อสร้างสรรค์
“ควรอัดฉีดงบเข้ามาอีก ใช้กลไกรัฐที่มีอยู่อัดฉีดเงินเพื่อให้สื่อแนวนี้ไม่ขาดแคลน” สีตลากล่าว
ควบคู่กันไปสีตลาเสนอให้ รัฐควรสร้างแรงจูงใจให้เอกชนมาลงทุนกับสื่อแนวนี้ เป็นภาพเดียวกับที่ทุกวันนี้ภาคเอกชนต่างพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น อาจเป็นการเสนอลดหย่อนภาษี 2 เท่าให้กับภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสื่อสาระต่างๆ
“ทุกวันนี้เราเห็นว่าเอกชนต้องสิ่งแวดล้อมกันหมด เป็นไปได้ไหมที่เอกชนจะคำนึงถึงการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ให้ชุมชน อาจทำให้เป็นบรรทัดฐานของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์เลยว่าต้องนำแนวทางนี้ไปใช้ หมายความว่าเงินที่ลงไปในโฆษณามันต้องตอบคำถามการสื่อสารเพื่อสังคมด้วยนะ ตรงนี้รัฐสามารถเป็นเจ้าภาพในการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนได้ด้วย” สีตลากล่าวต่อ
“เราว่าการไปบีบให้ผู้ผลิตสื่อปรับตัวอย่างเดียวมันใจร้ายไป” สีตลากล่าว
อีกข้อเสนอมาจากวีรยาซึ่งมองว่าคณะนิเทศศาสตร์ควรมีการปรับหลักสูตร จากเดิมที่แยกสาขาตามแพลตฟอร์ม เช่น วิทยุโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ควรเปลี่ยนมาแยกตามเนื้อหาที่เรียนให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ วีรยายังสะท้อนว่าควรมีการปรับวิธีการคัดเด็กที่เข้ามาเรียน เพราะระบบการสอบในตอนนี้เน้นคะแนนภาษามากเกินไป และทำให้เด็กหลายคนที่มีแพชชั่นในด้านสื่อสารมวลชนแต่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่าเด็กในกรุงเทพฯ พลาดโอกาสเรียนในสิ่งที่ตนสนใจ
“การคัดเด็กที่เข้ามาเน้นภาษาเป็นหลัก ไม่ได้วัดว่าเขามีแพชชั่นด้านสื่อหรือเปล่า บางคนอาจเข้ามาเรียนเพราะชื่อมหาวิทยาลัย แต่ขณะเดียวกันมีเด็กหลายคนในต่างจังหวัดที่มีแพชชั่น แต่เข้าถึงคณะพวกนี้ไม่ได้ มันอาจต้องมีการวัดผลที่ตรงมากกว่านี้หรือเปล่า” วีรยาเสนอ
แกะโครงสร้างสนับสนุนภาพยนต์และสารคดีในฝรั่งเศส
ถ้าหากนึกถึงประเทศยักษ์ใหญ่ที่ผลิตคนทำภาพยนต์และสารคดีชั้นเลิศ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น ‘ฝรั่งเศส’ นอกจากว่าที่นี่เป็นจุดกำเนิดภาพยนต์แล้ว ทำไมฝรั่งเศสถึงยังสามารถรักษาสถานะเมืองหลวงของภาพยนตร์ได้ เราลองแกะโครงสร้างการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนต์ของฝรั่งเศสมาให้ดูกัน
ประการแรก การตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูโดยเฉพาะ ในฝรั่งเศสมีหลายหน่วยงานมากที่ดูแลเรื่องภาพยนตร์โดยเฉพาะ เช่น คณะกรรมการภาพยนต์แห่งชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม, ศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติฝรั่งเศส หรือกองทุนกู้ยืมสำหรับภาพยนตร์
ประการสอง ให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ฝรั่งเศสมีมาตรการดูแลวงการภาพยนต์ราวไข่ในหิน โดยนอกจากมีการตั้งกองทุนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์กู้ยืม โดยแลกกับการรับฟังคำแนะนำด้านเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังมีการกำหนดให้ภาษีบางชนิด เช่น ภาษีบัตรเข้าชมภาพยนตร์ หรือภาษีรายได้จากทีวีและดีวีดีซึ่งกำหนดให้ส่วนหนึ่งถูกนำไปสนับสนุนวงการภาพยนตร์โดยเฉพาะ
ประการสาม การคุ้มครอง ในฝรั่งเศสจะมีมาตรการโควตาสำหรับภาพยนต์ต่างประเทศ ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 เพื่อปกป้องภาพยนตร์และคนทำภาพยนตร์ฝรั่งเศสให้สามารถแข่งขันกับภาพยนต์อเมริกันที่กำลังเติบโตได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการดูแลคุณภาพโรงหนังให้ชั้นเลิศ และคุ้มครองโรงหนังอิสระด้วย
ประการสี่ การส่งเสริมภาพยนต์สู่ตลาดต่างประเทศ ฝรั่งเศสได้มีการตั้งหน่วยงานชื่อ Unifrance มีหน้าที่สนับสนุนการส่งออกภาพยนตร์ฝรั่งเศสสู่ตลาดโลกโดยเฉพาะ นอกจากนี้ Unifrance ยังมีส่วนร่วมในการจัดงานภาพยนต์ในประเทศและนอกประเทศกว่า 50 งาน/ ปี
‘คนทำหนังสารคดีได้รับการช่วยเหลือมาตลอด เรามีทั้งความรัก ความศรัทธา การสนับสนุน และเงินในกระเป๋า’ หวังว่าใน 4 ปีข้างหน้า ข้อความที่เปิดบทความนี้จะเปลี่ยนเป็นประโยคนี้ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง