ถ้าพูดถึง ‘สยาม’ คุณจะคิดถึงอะไรบ้าง?
บ้างก็น่าจะนึกถึงสถานที่รวมตัวของเหล่าวัยรุ่น วัยเรียน หรือเป็นสถานที่ที่ผู้คนทำงานมาใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจ หากแต่สำหรับทีมงานเบื้องหลังของงาน What The Fest! Music Festival แล้ว พวกเขากำลังจะทำให้สยามถูกรับรู้ในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือสถานที่จัดเทศกาลดนตรีครั้งสำคัญ
นอกจากเป็นเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นกลางสยามพารากอน มันยังจะเป็นเทศกาลที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย เดินทางสะดวก แถมยังมีอากาศเย็นสบายเหมาะกับหนีอากาศร้อนภายนอกมาสนุกกับดนตรีและกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
นี่คือความตั้งใจของ เจ๋อ-ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค และ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ผู้เป็น Executive Producer ที่อยากทำให้ What The Fest! Music Festival เป็นประตูบานแรกให้วัยรุ่นหนุ่มสาว ได้ทดลองมีประสบการณ์ ‘ครั้งแรก’ กับเทศกาลดนตรี
The MATTER คุยกับทั้งสองคน ถึงเหตุผลของการจัดเทศกาลดนตรีกลางใจเมือง (แถมยังอยู่ในห้างใหญ่อย่างพารากอน) รวมถึงเบื้องหลังแนวคิดการจัดเทศกาลดนตรีในยุคสมัยนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนได้รับความรู้สึกดีๆ กลับไปติดอยู่ในความทรงจำ
The MATTER: คอนเซ็ปต์ของงาน What The Fest! คืออะไร
ยุทธนา: เราอยากให้เป็นงานของวัยรุ่น อย่างหนึ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์คือวัยรุ่นต้องการสิ่งที่ตรงไปตรงมา เราหาข้อมูลว่าเขาต้องการอะไร อย่างแรกเลยคือไปมาสะดวก เลยจัดพารากอนฮอลล์
อย่างที่สองคือเรารู้ว่าวัยรุ่นเขาอยากเจอศิลปินเยอะๆ แบบที่มาทีเดียวแล้วคุ้ม เราก็เลยค่อนข้างจริงจังกับไลน์อัพเป็นพิเศษว่าสองวันใน What the Fest! ต้องอุดมไปด้วยศิลปินที่เขาจะเจอชมจริงๆ ส่วนข้อที่สามคือการเป็นเทศกาลดนตรีที่เดินเข้ามาในงานแล้วอุทานเป็นชื่องาน
The MATTER: ข้อที่สามนี้เลยกลายเป็นชื่องาน ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ภาวิต: ใช่ เราตั้งชื่อนี้ตั้งแต่ Repositioning เมื่อปีที่แล้ว เราเริ่มจากเป้าหมายว่าเราอยากจับกลุ่มวัยรุ่นแหละ ตอนนั้นเราตั้งชื่ออะไรก็ไม่เท่ แต่สุดท้ายก็ได้มาว่าเป็นชื่อย่อ WTF
ยุทธนา: ตอนที่ตั้งชื่อนี้ขึ้นมา เรานึกถึงพ่อแม่ที่มาส่งลูกเข้างานหรือมารับลูก ถ้าเขาเข้ามาในงานเขาก็จะไม่เข้าใจ เพราะมันเป็นโลกอีกใบไปเลย ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำให้เขาอุทานออกมาได้ มันต้องเป็นสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากที่อื่น และต้องเป็นสิ่งที่เขาได้เช็คอินได้ หรือมีขนมและเครื่องดื่มที่มันเจ๋งมากและอยากแชร์ให้เพื่อนเห็น
The MATTER: แน่นอนว่าการทำเทศกาลดนตรีมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้วอย่างนี้กำหนดกลยุทธ์ของการจัดงานนี้ยังไง
ภาวิต: ผมมองว่า Big Mountain เป็นเทศกาลดนตรีที่ดีที่สุดในไทยอยู่แล้ว แต่ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วถ้าจะทำให้ Big Mountain เติบโตมากขึ้นกว่าเดิม ตามความฝันที่ผมกับป๋าเต็ดมองว่าอยากไปให้ถึงจุดที่มีแสนคนได้ เราก็ต้องมองไปยัง Segmentation ใหม่ๆ
ซึ่งในปัจจุบันนี้เทศกาลดนตรีในไทยมันจะมีระยะเวลาจัดงานกันประมาณ 5 เดือน ซึ่งถ้าจะทำให้โตขึ้นไปได้ เราต้องเห็นโอกาสใหม่ของคนใหม่ที่จะมาเสพเทศกาล เพราะตอนนี้ Big Mountain ด้วยความที่มันอยู่มานาน มันก็อาจจะไม่ได้ดึงดูดใจคนใหม่ๆ ที่จะเพิ่มแบบก้าวกระโดด เราก็เลยมีหลักคิดว่า จะต้องไปตามหา First time user หรือคนที่ไม่เคยไปเทศกาลดนตรีมาก่อน
The MATTER: หมายถึงทำให้ What The Fest! เป็นประตูสู่ Big Mountain อย่างนั้นรึเปล่า
ภาวิต: ใช่ เราเลยวางแผนไว้เลยว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ไม่ค่อยมีคู่แข่งจัดเทศกาลดนตรีเท่าไหร่ เราเลยคิดทฤษฎีในทางตรงกันข้ามกับ Big Mountain คือถ้าหาก Big Mountain เป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุด มันต้องมีการเดินทางไปต่างจังหวัด ต้องมีการพักแรม
ทีนี้ ถ้าเราอยากได้คนที่ไม่เคยไปเทศกาลดนตรีมาก่อน ดังนั้น เราก็ควรมอบประสบการณ์ที่ยังไม่ลำบากนักให้กับเขา เช่น บรรยากาศเย็นๆ สบายๆ เดินทางมาง่าย คุ้มค่า มีศิลปินเยอะ ถึงแม้จิตวิญญาณของงานจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่า Big Mountain แต่ก็ยังได้กลิ่นของความเป็นเทศกาลดนตรีอยู่ นี่ก็เลยเป็นประตูของเรา มันเป็นการจัดงานเพื่อว่าคนหน้าใหม่กลุ่มนี้จะโตขึ้น และวันหนึ่งสามารถไป Big Mountain ได้ นี่คือยุทธศาสตร์ใหญ่ที่เราคิดไว้ตอนแรก
The MATTER: วัยรุ่นกลุ่มนี้ที่จะเป็นคนไปเทศกาลดนตรีครั้งแรกมีจำนวนประมาณเท่าไหร่
ภาวิต: ผมขอตอบแบบมหภาคก่อนนะ ในประเทศเรามีคนดูเทศกาลดนตรีประมาณสองแสนห้าหมื่นคน วัยรุ่นอาจจะไป Big Mountain หรือถ้ามีอายุมากขึ้นหน่อยก็จะไปคอนเสิร์ตแบบโซโล่เพราะเขามีเงินมากขึ้นแล้ว พอเริ่มเลยวัยก็จะไปคอนเสิร์ตเรโทรแล้ว แต่การนำคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในกลุ่มยังไม่ค่อยมีเป็นระบบมากนัก
การจะทำให้กลุ่มสองแสนห้าโตขึ้นได้เนี่ย มันแทบจะไม่มีโอกาสเลยถ้าเราสร้าง Segment ใหม่ขึ้นมา เพราะไม่อย่างนั้นคนดูก็จะวนกันอยู่ในนั้น สำหรับแกรมมี่ที่เราเป็นพี่ใหญ่ในตลาด ผมคิดว่าเราสามารถทำให้มันเพิ่มตลาดมันเพิ่มขึ้นไปถึงห้าแสนคนได้
เอาจริงๆ จากข้อมูลของเรา เราก็เห็นอยู่แล้วว่าคนจะไป Big Mountain กันกี่ครั้งก่อนจะเลิกไปอีก เราเลยเห็นถึงโอกาสของกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เลือกไปเทศกาลดนตรีด้วยเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์ เพราะปัจจุบัน วัยรุ่นเลือกเพราะเหตุผลเกือบหมดแล้วนะ ส่วนยุทธศาสตร์อีกอันคือความสะดวก ถ้างานสะดวก เราก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มที่เป็น First time user ได้มากขึ้น
The MATTER: First time user อาจไม่ได้หมายความแค่วัยรุ่น แต่เป็นวัยไหนก็ได้ที่ไม่เคยไปเฟสติวัลเลยรึเปล่า
ภาวิต: ผมใช้คำว่า Young at heart ดีกว่า สถิติเมื่อคราวที่แล้ว กลุ่มคนที่มางานของเราส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น รองลงมาเป็นคนวัย First jobber ซึ่งพวกเขาก็อาจจะยังเรียกวัยรุ่นอยู่ได้เหมือนกัน นอกจากนี้ เราเช็คสถิติด้วยว่า คนที่มางาน What The Fest เขาไปต่อที่ Big Mountain กี่เปอร์เซ็นต์ มันอาจจะเป็นงานที่เหนื่อยนะ แต่เป็นงานที่ผมตั้งใจทำเพื่อ Big Mountain จริงๆ
ผมดื้อมากกับป๋าเต็ดในเรื่องนี้มากนะ คือดื้อว่าเราต้องวางอยู่บน Positioning แบบนี้แหละ เพราะผมรู้ว่าถ้าเราเข้าไปถึงกลุ่ม First User ไม่ได้ ในอนาคตเราก็ทำให้ Big Mountain เติบโตกว่านี้ได้ยาก
The MATTER: คิดว่าคนที่ไม่เคยไปเทศกาลดนตรีมาก่อนเลย เขาจะอยากได้อะไรจากงานบ้าง
ภาวิต: คิดว่าคงเป็นประสบการณ์พิเศษ เขาอยากสะดวกสบายที่สุด ทั้งเดินทางสะดวก ห้องน้ำสะดวก อาหารการกินสะดวก นี่เลยเป็นเหมือนสิ่งที่เราปลดล็อคมาจาก Big Mountain มาให้ทั้งหมดแล้ว
ยุทธนา: ผมว่าถ้าอยากให้ได้สัมผัสความเป็น Big Mountain เราอาจจะต้องทำให้พารากอนมีห้องน้ำน้อยลงอีกสักนิดนึง (หัวเราะ)
เวลาเราพูดถึงวัยรุ่นกับเฟสติวัล หัวใจที่จะดึงดูดให้เขามามันก็คือศิลปิน ถ้าเรามองในแง่ของการทำให้งานเราต่างจากงานอื่น เราก็ต้องไม่พูดแค่ศิลปิน แต่ต้องพูดเรื่องผลงานหรือเพลงฮิตของเขาด้วย
ผมค่อนข้างสนุกกับการคิดว่า จะทำยังไงให้เพลงฮิตมันถูกสื่อสารออกมาเป็นภาพ และจะทำยังไงให้คนในงานใช้เวลาอยู่กับภาพเหล่านั้นได้ นี่คือโจทย์หลักที่เราจะสนุกกับมันไปทุกปี
คำที่เราใช้เรียกคอนเซ็ปต์นี้คือ ถ้ามา What The Fest แล้ว มองไปทางไหนก็เจอแต่เพลงฮิต ไม่ใช่แค่ยิน ไม่ใช่แค่ฟัง แต่มางานแล้วสามารถมองเห็นเพลงฮิตและสามารถบันทึกภาพนั้นเก็บไว้ได้ด้วย
มันเลยเป็นที่มาของ Hit & Display แรงบันดาลใจมันมาจากเวลาที่ผมไปพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่ค่อนข้างทันสมัย ซึ่งมอบประสบการณ์ให้กับผู้ชมได้มากกว่าความน่าเบื่อ มันคือเอาเพลงฮิตมาจัดแสดงให้สนุก และใช้งานดีไซน์รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใส่ตามมุมต่างๆ ภายในงาน
The MATTER: พอเล่าตัวอย่างได้ไหมว่ามีอะไรบ้าง
ยุทธนา: คุณจะได้ถ่ายรูปกับเพลงฮิตนะ เอาอย่างนี้แล้วกัน (หัวเราะ) เช่น คุณคงเคยเล่นกล้องคาไลโดสสโคป หรือที่เรียกว่ากล้องสลับลาย เรากำลังจะทำกล้องที่เราเอาหัวมุดเข้าไปได้ แล้วยังสามารถถ่ายรูปกับสิ่งที่อยู่ในนั้นได้ หรือคุณสามารถเดินเข้าไปในโลกของเพลงฮิต เดินไปไหนก็เห็นแต่เพลงฮิตที่คุณรู้จัก มันเหมือนเล่นมายากลนิดๆ ที่ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ เราทำเป็นตึกๆ นึงในพารากอนฮอลล์เลย
The MATTER: ฟังดูแล้วเป็นงานที่ออกแบบอะไรเยอะเหมือนกัน เลยอยากรู้ว่าทั้งสองคนมองปัจจัยความสำเร็จ ของการจัดเทศกาลดนตรีแบบนี้ยังไงบ้าง
ภาวิต: มันมีหลายปัจจัยนะ ยิ่งเวลาเราเคยทำสำเร็จแล้วก็จะมีคนทำบ้าง ซึ่งมันก็จะนำไปสู่การตัดราคากันที่ค่อนข้างรุนแรง ผมคิดว่าปัจจัยสำเร็จข้อแรกต้องมาจากคอนเซ็ปต์ และต้องเป็นคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายมากที่สุด ปัจจัยอีกข้อคือแนวคิดทางการตลาด ซึ่งมันมีมิติที่ลึกมากๆ
อีกข้อคือต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพราะถึงแม้เรามีไอเดียดีแค่ไหน แต่ถ้าทำไปแล้วคนไม่รู้ มันผิดแน่นอน ปัจจัยข้อสุดท้ายซึ่งใหญ่ที่สุด คือความเข้าใจผู้บริโภค วันนี้เราไม่ได้แข่งแค่กับเทศกาลดนตรี แต่เรายังแข่งกับการใช้เวลาของคน เพราะคนในปัจจุบันนี้เขาหวงแหนกับเวลามากเลยนะ ว่าเขาจะเอาเวลาไปทำอะไรบ้าง
ยุทธนา: ผมเห็นด้วยเลยนะ โดยเฉพาะกับข้อสุดท้าย เพราะกับตัวผมเองก็คิดเยอะเหมือนกันว่าวันหยุดที่มีผมจะเอาเวลาไปทำอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะเลือกกับสิ่งที่ตอบโจทย์ผมมากที่สุด ในที่สุดผมก็เลือกจะนั่งเล่นเกมอยู่ที่บ้าน
ในแง่ของคนทำอีเวนต์แล้ว ไม่ว่าจะทำอีเวนต์แบบไหนก็ตาม อาวุธหลักของเราที่จะทำให้คนตัดสินใจมาใช้เวลาที่งานเราก็คือ Magic Moment คือเราเป็นนักสร้าง Magic Moment
Magic Moment ในเทศกาลดนตรีมันเป็นไปได้หลายอย่างมาก เช่น คนที่ไป Big Mountain เขาอาจจะมีการลุยโคลนไปที่เต้นท์ด้วยกันกับเพื่อนเป็น Magic Moment หรือสำหรับบางคนแล้ว มันอาจจะเป็นการนอนหน้าเวทีบนกองฟาง
บางคนอาจเป็นการนั่งกินข้าวไข่เจียวกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอมาตั้งนาน ส่วน Magic Moment ของบางคนก็อาจจะเป็นการร้องไห้ไปกับเพลงของ Bodyslam ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเกิดที่บ้านไม่ได้
หน้าที่ของเราคือพยายามวางองค์ประกอบต่างๆ ในเทศกาลให้มันมีโอกาสเกิด Magic Moment ให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผมเชื่อว่าในงาน What The Fest! ปีนี้เรามีอาวุธที่จะสร้าง Magic Moment เยอะมาก
The MATTER: แล้วแกรมมี่มองคล้ายๆ กันไหม
ภาวิต: ผมก็มองสิ่งนี้คล้ายๆ กัน ผมเรียกมันว่า Festival Moment ผมใช้สิ่งนี้บรีฟให้ทีมการตลาดว่าต้องหาให้เจอว่า Festival Moment ของทั้งตลาดมันคืออะไร เราจะรู้ได้ว่าช่วงเวลาแบบไหน หรือสิ่งไหนที่จะเป็นตัวก่อให้เกิดช่วงเวลาแบบนั้นได้มากที่สุด
ยุทธนา: ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็คือ เวลาเราไปงานเฟสติวัลใดๆ ก็ตาม เราถ่ายรูปกันเยอะมากเลยนะ แต่คำถามคือทำไมเราเลือกรูปบางรูปมาอัพลงอินสตาแกรม ทำไมต้องเป็นรูปนี้ และถ้าเราไปดูกันที่ในแฮชแท็กของงานนั้นๆ เราก็จะเห็นแพทเทิร์นที่น่าสนใจว่า ทำไมคนเป็นหมื่นๆ เลือกอัพโหลดรูปที่มันคล้ายๆ กัน
The MATTER: แล้วคิดว่าอะไรคือความท้าทายของการจัดเฟสติวัลในยุคนี้
ยุทธนา: ผมคิดว่าไลน์อัพของเรามันเคลื่อนตัวช้าไปนิดนึง คือถ้าไปดูย้อนหลังประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ไลน์อัพบนเวทีหลักของทุกเฟสติวัลมันเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เราก็จะมีศิลปินหลักเป็นไลน์อัพที่ใกล้เคียงกับเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว แต่ถ้าเราไปเทียบกับเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ ของโลก ไลน์อัพเขาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ วงที่เคยเป็นวงเปิดในที่สุดก็เป็นวงชูโรงใน 4-5 ปีได้
การเติบโตของศิลปินหน้าใหม่ของเรามันช้าเกินไป มันเลยทำให้ไลน์อัพไม่ค่อยต่างกันไปแต่ละปี
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือการรับรู้ของผู้เข้าร่วมงาน ผมคิดว่าพวกเขาโดนสปอยล์จากหลายรูปแบบ อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือการลดราคาแบบกระหน่ำสุดๆ บางงานฟรีด้วยซ้ำไป ซึ่งมันก็เป็นโจทย์ที่ผู้จัดต้องทำให้เห็นอย่างชัดเจน และไร้ข้อกังขาให้ได้ว่า ราคาบัตรมันคุ้มค่ากับประสบการณ์ที่ทุกคนจะได้รับกลับมาอย่างไร
ภาวิต: ผมแยกความท้าทายเป็นแบบนี้นะ ข้อแรกเลยคือเรื่องแบรนดิ้งเพราะการสร้างเฟสติวัลให้เป็นแบรนด์ ดีเอ็นเอของเทศกาลดนตรีต้องชัด ปัจจัยอีกข้อเป็นปัจจัยภายนอก คือพฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจุบันพฤติกรรมการอยากไปเฟสติวัลยังไม่เยอะมาก อีกข้อคือราคาบัตร ผมคิดว่าถ้าเราทำของที่ดีที่สุด ลงทุนมากที่สุด ใส่ความพยายามเต็มที่ และถ้าเรายืนอยู่บน Segment ที่ถูกต้องและทำให้คนเข้าใจ นั่นคือหัวใจหลัก
ความท้าทายอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือคอนเซ็ปต์ที่แตกต่าง เพราะมันคือเรื่องสำคัญมากๆ ถึงแม้เราจะมีศิลปินหน้าใหม่เข้ามา แต่มันก็จะกลับมาวนลูปเดิมว่า ก็วัตถุดิบเรามีแค่นี้แหละ คนจัดเฟสติวัลทั่วประเทศก็ใช้วัตถุดิบเดียวกันนี้แหละ ใช้กันทั้งตลาด คำถามคือเราจะสร้างคอนเซ็ปต์ของงานขึ้นมายังไงให้มันน่าสนใจ เรื่องนี้ผมกับพี่เต็ดคุยกันมานานมากๆ
สุดท้ายคือเรื่องการเจริญเติบโต เราอาจจะเห็นภาพลักษณ์งานดูดี ผมยังไม่เคยเห็นเฟสติวัลที่มันใหญ่ขึ้นแบบจริงจังนอกจาก Big Mountain มันสะท้อนได้เลยว่าเรายังไม่เห็นความท้าทายว่าจะทำให้ตลาดมันเติบโตขึ้นได้ยังไง อันนี้แหละคือความท้าทายข้อที่ใหญ่ที่สุดเลย เรามองอุตสาหกรรมในภาพรวมว่าจะทำยังไงให้มันโตขึ้นให้ได้
The MATTER: ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่พฤติกรรมการฟังเพลงเรา มันได้รับอิทธิพลจากบริการสตรีมมิ่งค่อนข้างเยอะ อยากรู้ว่าแกรมมี่ดึงข้อมูลมาใช้กับการจัดเฟสติวัลแค่ไหนบ้าง
ภาวิต: ผมดึงข้อมูลมาใช้อย่างรุนแรงเลย ผมรู้เลยว่าในแต่ละวัน ผมไม่ชอบภาพลวงตานะ เวลาเราอยู่ตำแหน่งสูงๆ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นเรื่องจริงรึเปล่า แต่ Data มันไม่หลอกเราไง เราเห็นหมดเลยว่าคนฟังเพลง เขาฟังกันเยอะแค่ไหน เพลงแบบไหนที่มันกำลังฮิตและโดนใจคนฟัง
What The Fest! มันคืองานที่จะเต็มไปด้วยเพลงฮิตและวัยรุ่น คำถามสำคัญคือแล้ววัยรุ่นฟังเพลงอะไรล่ะ ชอบศิลปินคนไหน ดังนั้น Data ที่เราได้มาจากสตรีมมิ่งมันจึงถูกนำมาใช้กับงานนี้ และรวมไปถึงทั้งระบบของแกรมมี่เลย Data มันทำให้ก้าวเดินของเราต่อไปมันแม่นยำ
ผมคิดว่าภายใน 5 ปีหลังจากนี้ เราจะขยายตัวจนน่าตกใจเลย เพราะเราเห็นโอกาสที่มาจาก Data อยู่แล้ว
The MATTER: ในมุมของผู้จัดงานแล้ว การที่เรามี Data แบบนี้ มันช่วยให้เราต่อยอดการจัดเทศกาลดนตรีได้ยังไงบ้าง
ยุทธนา: อยากแรกเลยคือเราเสียเวลากับเลือกศิลปินน้อยลง เมื่อก่อนเราแค่นั่งเดากัน แต่เดี๋ยวนี้ Data มันบอกเราเองเลย มันไม่ใช่แค่ข่าวลือแล้ว มันคือเรื่องจริง เราเลยมีเวลาไปปรุงไอเดียได้มากขึ้น ซึ่งมันดีนะ เพราะครีเอทีพทุกคนไม่สนุกกับการจัดการเลยนะ ครีเอทีพชอบทำเรื่องที่เกี่ยวกับไอเดียมากกว่า ว่าจะทำยังไงให้คนตื่นเต้นกับงานที่สุด
The MATTER: อยากรู้ว่าเฟสติวัลที่ประทับใจที่สุดของทั้งสองคนคือเฟสติวัลไหนบ้าง
ภาวิต: ผมเคยไปแต่เฟสติวัลในประเทศ แต่ผมดูเฟสติวัลเยอะเหมือนกัน ผมเห็นหลักคิดที่เฟสติวัลใหญ่ๆ เขาก้าวกระโดดได้นะ ผมชอบวิธีการของ Tomorrow land กับ Coachella ที่เขาทำให้มันเติบโตได้ด้วยยุทธศาสตร์หลากรูปแบบ
The MATTER: แล้วคิดว่าเทศกาลดนตรีในไทยจะไปถึงจุดนั้นได้ไหม
ภาวิต: ผมว่าเราฝันได้นะ แต่ต้องมี Step Change ต้องมีกลยุทธ์ที่เยอะมาก มันอาจจะยากมาก แต่สำหรับผมแล้วถ้าเราพาเฟสติวัลไปแตะระดับ 100,000 คนได้ ผมก็คงตายตาหลับได้แล้วนะ (555)
ยุทธนา: ถ้าพูดในภาพใหญ่ๆ นะ โจทย์ของเราคือเราจะทำยังไงให้เอเชียฝั่งตะวันออกมันเป็นตลาดเดียวกันให้ได้ ซึ่งมันต้องใช้เวลา แต่ความจริงมันก็เริ่มเป็นบ้างแล้วนะ เช่น บางคนที่บินไปสิงคโปร์ ไปเกาหลีเพื่อไปดูต่างชาติที่มาเล่นในประเทศนั้น แต่ไม่ได้แวะมาไทย
The MATTER: แล้วเทศกาลที่ป๋ายังประทับใจมากสุดคือที่ไหน
ยุทธนา: ผมอาจจะเคยไปเฟสติวัลมาหลายที่ แต่เฟสติวัลที่ประทับใจที่สุดมันไม่ใช่ที่ที่ผมได้ไป แต่มันมาจากการดูผ่านวิดีโอในอดีต มันคือตอนที่ดูหนังเรื่อง Wood Stock สิ่งนึงที่ทำให้ผมตะลึงมาก มันไม่ใช่วงดนตรี แต่มันเป็นภาพกว้างของคนดู ทั้งงานตอนนั้นเป็นแสนคน ภาพที่เห็นคือ คนที่อยู่ข้างหลังสุดเขาไม่มีทางมองเห็นคนบนเวทีได้เลย แล้วยุคนั้นยังไม่มีจอที่จะขยายภาพให้เห็นได้ แม้แต่เสียงก็คงไม่ได้ยิน แต่ทำไมเขายังสนุกกันอยู่วะ
ภาพนั้นมันทำให้ผมเข้าใจว่า มิวสิคเฟสติวัลมันไม่เกี่ยวกับเรื่องบนเวที เท่ากับประสบการณ์ หรือโมเมนต์ที่เราจะได้จากงานมากกว่า นี่คือสิ่งที่ผมพยายามทำมาตลอด ทำงานเพื่อให้ผู้คนได้ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร และอยากกลับไปเล่าให้กับคนอื่นฟัง
The MATTER: แล้วทางแกรมมี่หยิบเอาเรื่องนี้มาต่อยอดกับ What The Fest! ยังไง
ภาวิต: ปีที่แล้วสถิติของคนที่มางานเรา 60 เปอร์เซ็นต์คือคนที่ไม่เคยไปเฟสติวัลมาก่อน ผมพบ Data ที่ทำให้ประหลาดใจมากกว่า
สิ่งที่เป็น Top of mind ของคนมาร่วมงานไม่ใช่ไลน์อัพ แต่มันคือประสบการณ์ และความรู้สึกว่านี่คือที่ของวัยรุ่นที่ได้มารวมตัวกัน
What the fest! Music festival จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2562 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ 1, 2, 3 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเปิดจำหน่ายบัตร Early Bird ในวันที่ 8-10 พฤษภาคมนี้