ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะหักห้ามใจจากทุกอย่างที่ไม่จำเป็น แล้วเก็บเงินอย่างเคร่งครัด แต่รู้ตัวอีกทีนอกจากจะเก็บเงินไม่ได้ตามที่ตั้งใจแล้ว ยังใช้เงินจนเกือบหมดอีกต่างหาก…
การรัดเข็มขัดสุดชีวิต งดทุกความสุขที่ซื้อได้ ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่สมเหตุสมผล ในช่วงที่ของแพงขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี ชีวิตมีแต่ความไม่แน่นอนแบบนี้ แต่กลับมีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า การตั้งเป้าหมายเพื่อเก็บเงินแบบคร่ำเคร่งจนเกินไป สุดท้ายแล้วก็อาจจะหวนกลับมาส่งผลเสียกับเราได้มากกว่า เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราไขว้เขวไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะกลายเป็นการถลำลึกจนใช้เงินเยอะกว่าปกติเสียด้วยซ้ำ โดยปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘what-the-hell effect’
What-the-hell effect ปรากฏการณ์ยิ่งห้ามยิ่งยุ
what-the-hell effect คือการที่เราปล่อยตัวปล่อยใจให้เถลไถลออกจากเป้าหมาย แล้วชดเชยความรู้สึกผิดนั้น ด้วยการลงมือทำผิด ‘มากไปกว่าเดิม’ เช่น คนที่กำลังไดเอตอยู่ เมื่อได้ลองชิมคุกกี้ชิ้นสัก 1-2 ชิ้น ก็ทำให้เริ่มรู้สึกผิดและคิดว่า “ช่างมันเถอะ! ไหนๆ ทุกอย่างก็พังแล้ว กินทั้งกล่องไปเลยแล้วกัน”
แม้ชื่อปรากฏการณ์นี้จะมีที่มาจากงานวิจัยเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก แต่ก็สามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้อย่าง new year’s resolution การออกกำลังกาย หรือเรื่องที่ท้าทายเป้าหมายอะไรบางอย่าง รวมทั้งการเก็บออมเงิน ซึ่งการศึกษาโดย ดิลิป โซมาน (Dilip Soman) และอามาร์ ชีมา (Amar Cheema) สองนักจิตวิทยาชาวฮ่องกงพบว่า คนที่ตั้งเป้าหมายการออมแบบรายเดือนไว้ หากเดือนใดเดือนหนึ่งที่พวกเขาไม่สามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมาย ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะใช้จ่ายมากกว่าทุกเดือนที่ผ่านมา เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะตอบสนองต่อความรู้สึกผิดหวังในตัวเอง ด้วยการโบยตีด้วยถ้อยคำตำหนิตัวเองไปเรื่อยๆ จนเชื่อว่าทุกอย่างอยู่เหนือการควบคุม โดยไม่สามารถแก้ไขหรือทำอะไรให้ดีขึ้นได้ สิ่งที่ตามมาจึงกลายเป็นการปล่อยตัวเองให้ทำสิ่งเดิมต่อไป จนทุกอย่างแย่ลงไปกว่าเดิม
เคลลี แมกกอนิกัล (Kelly McGonigal) ผู้เขียนหนังสือ The Willpower Instinct: How Self-Control Works, Why It Matters, and What You Can Do to Get More of It อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า “การยอมแพ้ทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองและจูงใจให้เราอยากจะทำอะไรบางอย่างเพื่อชดเชยให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่วิธีไหนที่เราลงทุนกับมันน้อยที่สุด เร็วที่สุดล่ะ? …บ่อยครั้งมันคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแย่นั่นแหละ แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ทำให้คุณถลำลึกมากไปกว่าเดิมจริงๆ ไม่ใช่ความผิดพลาดในครั้งแรก แต่เป็นความรู้สึกที่ตามมาทีหลัง นั่นก็คือความละอาย รู้สึกผิด ความรู้สึกที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้และความหวังที่สูญเสียไปจากการผิดพลาดเป็นครั้งแรกต่างหาก”
เมื่อ ‘การให้อภัย’ ไม่ใช่ใบเบิกทางของความผิดพลาด
อย่างไรก็ตาม แมกกอนิกัลกล่าวว่า เรายังสามารถเปลี่ยนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ ด้วยการ ‘ตอบสนองต่อความผิดหวัง’ ด้วยวิธีใหม่ โดยเปลี่ยนจากการตำหนิตัวเอง มาเป็นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวเองแทน (self-compassion) แม้ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกขัดใจ เพราะการเห็นอกเห็นใจและให้อภัยตัวเองนั้นคล้ายจะเป็นใบอนุญาตให้เราทำผิดพลาดซ้ำสองเสียมากกว่า แต่จากการศึกษาเมื่อปี ค.ศ.2007 นักวิจัยได้ให้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งกินโดนัทเป็นเวลา 4 นาที หลังจากนั้นผู้หญิงบางคนจะได้รับข้อความแสดงความเห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจพวกเธอว่าไม่ต้องคิดมากที่จะทำตามใจตัวเองบ้างในบางครั้ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะไม่ได้รับข้อความดังกล่าว ต่อมาผู้หญิงทั้งสองกลุ่มจะได้รับชามใส่ลูกกวาดที่พวกเธอสามารถกินเท่าไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ ผลปรากฏว่า ผู้หญิงกลุ่มที่ได้รับข้อความแสดงความเห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจตัวเอง กินลูกกวาดเฉลี่ย 28 กรัม ขณะอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้รับข้อความเหล่านั้น กินลูกกวาดเฉลี่ยถึง 70 กรัม
การศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า ‘การให้อภัยตัวเอง’ (self-forgiveness) ไม่ได้เป็นเหมือนใบเบิกทางให้พวกเธอกินเยอะแค่ไหนก็ได้ แต่กลับกลายเป็นเหมือปุ่มปิดต่อมความรู้สึกผิดและป้องกันไม่ให้เธอกินลูกอมตรงหน้ามากจนเกินไปเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตามคำว่า ‘การเห็นอกเห็นใจและให้อภัยตัวเอง’ ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยากสำหรับบางคน แมกกอนิกัลจึงแนะนำวิธีรับมือกับความรู้สึกผิดเมื่อเราไขว้เขวหรือทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ดังนี้
1. เมื่อรู้สึกล้มเหลวหรือรู้สึกผิด ให้ลองหยุดคิดและสังเกตว่าเรากำลังตำหนิตัวเองอยู่หรือเปล่า?
2. ลองเปลี่ยนจากการตำหนิตัวเองซ้ำๆ มาเป็นการยอมรับว่า ‘ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้’ พร้อมตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันควบคุมหรือทำอะไรกับเหตุการณ์นี้ได้มากแค่ไหน?” เพราะคำถามนี้อาจช่วยกระตุ้นความคิดที่ว่า ‘เรามีอำนาจควบคุมชีวิตของตัวเองได้’ และดึงให้เรากลับมาโฟกัสที่วิธีการแก้ไข เช่น การหยุดใช้จ่ายมากไปกว่าเดิม หรือเริ่มเก็บเงินใหม่ในเดือนหน้า มากกว่าการจมอยู่กับความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว แล้วปล่อยให้ตัวเองถลำลึกมากไปกว่าเดิม
3. ถ้ามูฟออนจากความรู้สึกผิดไม่ได้จริงๆ เราอาจจะลองนึกถึงสิ่งที่เราจะพูดกับเพื่อนๆ หากพวกเขาทำอะไรบางอย่างไม่สำเร็จตามความตั้งใจ แล้วลองบอกตัวเองด้วยประโยคเดียวกันนั้น เรียกง่ายๆ ว่าลองเห็นอกเห็นใจตัวเองแบบเดียวกับที่เคยเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ
การเก็บเงิน กับเป้าหมายที่ทำได้จริง
แม้การให้อภัยตัวเองจะช่วยให้แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นวิธีการแก้ไขที่ปลายเหตุเสียมากกว่า เพราะต้นตอที่แท้จริงของ what-the-hell effect คือวิธีการตั้งเป้าหมายที่ทำได้ยาก หรือดูห่างไกลจากความเป็นจริงมากจนเกินไป
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Marketing Research พบว่า ผู้คนที่ต้องการ ‘ออมเงินระยะสั้น ในปริมาณที่เฉพาะเจาะจง’ เช่น สัปดาห์หน้าฉันจะเก็บเงินให้ได้ 500 บาท ควรจะมี ‘เหตุผลที่ชัดเจน’ มารองรับว่าทำไมพวกเขาต้องออมเงินก้อนนี้ ขณะที่การเก็บเงินใน ‘ระยะยาวและไม่ได้มีปริมาณที่เฉพาะเจาะจง’ เช่น การเก็บเงินไว้ใช้ตอนฉุกเฉินในอนาคต ควรจะมี ‘วิธีการที่ชัดเจน’ มารองรับ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ เรามักจะจัดลำดับความสำคัญให้กับความต้องการที่ชัดเจน ณ ปัจจุบันมาก่อนความต้องการที่ไม่ชัดเจน หรือความต้องการในอนาคตอันยาวไกลเสมอ เช่น เราอาจจะตัดสินใจไปกินชาบูกับเพื่อนๆ แทนการเก็บเงินระยะสั้นที่ไม่รู้ว่าเก็บไปทำไม หรือการเก็บเงินระยะยาวที่ไม่ได้กำหนดว่าต้องเก็บเดือนละเท่าไร หักมาจากงบส่วนไหนในแต่ละเดือน
นอกจากนี้นักจิตวิทยายังพบว่า หัวใจสำคัญของการเก็บเงินนั้นคือความสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัย มากกว่าการกำหนดจำนวนเงินสูงลิ่วหรือตัวเลขเป๊ะๆ ในแต่ละเดือน เพราะการเก็บออมส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะยาว เหมือนกับการวิ่งมาราธอนที่อาจจะวิ่งเร็วบ้าง ช้าบ้าง หรือหยุดบ้าง แต่ท้ายที่สุดเราจะไปถึงเส้นชัยได้ ก็ต่อเมื่อเรายังคงขยับเท้าก้าวต่อไปเรื่อยๆ
แม้การเก็บเงินที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์หรือเงื่อนไขชีวิตอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้การันตีว่าเราจะกลายเป็นเศรษฐีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ก็พอจะทำให้เราอุ่นใจได้ว่า ในระยะยาวเราจะยังมีเงินเก็บออมไปพร้อมกับการใช้ชีวิตที่ยังมีโอกาสได้กินอาหารมื้ออร่อยกับคนที่เรารัก ได้ซื้อหนังสือเล่มโปรดมาอ่าน ได้ดูหนังที่เติมพลังใจให้ชีวิต ที่สำคัญคือเราไม่ต้องกลับมาอยู่ในวงจร what-the-hell effect นี้อีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattansitubon