เพื่อนชวนไปกินข้าวร้านหรูจนเกินงบในกระเป๋า แต่ไม่รู้จะปฏิเสธยังไงดี หรืออยากจัดทริปไปเที่ยว แล้วเพื่อนขอผ่านเพราะจ่ายไม่ไหว แต่จะไปแบบไม่ครบแก๊งก็ทั้งรู้สึกผิดและเสียดาย
มองเผินๆ เรื่องเงินดูจะไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์สักเท่าไร แต่การสำรวจโดย PayPal เมื่อปี ค.ศ.2017 กลับพบว่าคนเจเนอเรชั่น Z และมิลเลนเนียลกว่าครึ่งที่ตอบแบบสอบถามบอกว่า เรื่องเงินส่งผลต่อมิตรภาพของพวกเขา แถมการสำรวจจาก Insider ในปี ค.ศ.2021 ยังพบว่าผู้คนเลือกที่จะคุยเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองและความสัมพันธ์มากกว่าการคุยเรื่องเงินกับกลุ่มเพื่อนซะอีก
อแมนดา เคลย์แมน นักบำบัดด้านการเงิน (financial therapist) กล่าวว่า “ส่วนใหญ่แล้วความกดดันทางการเงินจะเริ่มมีมากขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต” โดยเฉพาะการเรียนจบ เลื่อนตำแหน่ง แต่งงาน ตกงาน มีลูก หรือแม้แต่ช่วงเงินเฟ้อที่แต่ละคนได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน บางคนต้องรัดเข็มขัดแน่นขึ้น ขณะที่บางคนยังคงใช้จ่ายได้ตามปกติ นั่นทำให้ช่องว่างของคำว่า ‘จ่ายไหว’ เลยเริ่มห่างออกไปเรื่อยๆ และยิ่งรู้สึกได้ชัดขึ้นเมื่อต้องแพลนทริปหรือนัดกันไปร้านอาหารสักแห่ง ซึ่งถ้าวันนั้นมาถึง เราจะสื่อสารกับเพื่อนยังไงได้บ้าง เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจและไม่สูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างกัน?
เรื่องเงินเรื่องใหญ่ แต่ใช่ว่าจะคุยไม่ได้
ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่ามีข้อจำกัดด้านการเงินแล้วอยากบอกเพื่อน หรือสัมผัสได้ว่าเพื่อนมีปัญหาแต่ไม่กล้าถามตรงๆ แคธลีน เบิร์นส์ คิงส์บูรี (Kathleen Burns Kingsbury) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาความมั่งคั่งและผู้จัดพอดแคสต์ Breaking Money Silence ให้สัมภาษณ์กับ nerdwallet ว่า การพูดเรื่องเงินขึ้นมาดื้อๆ หรือตรงเข้าไปคุยเรื่องนี้เลยอาจจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดเพราะไม่ทันได้ตั้งตัว คิงส์บูรีเลยแนะนำว่า เราอาจจะหาจังหวะที่เหมาะสม หรือเริ่มพูดถึงบทความ ข่าว หรือคอนเทนต์ที่ใกล้เคียงเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วหาจังหวะแชร์เรื่องของเราหรือถามเพื่อนระหว่างที่คุยเรื่องนี้แทน แต่ถึงอย่างนั้น บทสนทนาที่เกิดขึ้นก็ควรเป็นการสื่อสารทั้งสองทาง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อยากเล่าหรือไม่เต็มใจที่จะคุยก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธหรือบอกว่าไม่สบายใจที่จะคุยเรื่องนี้ได้เช่นกัน
อยากบอกว่า ‘แพงไป’ แต่ไม่รู้จะพูดยังไงดี
นอกจากบทสนทนาทั่วไปแล้ว บางคนอาจจะเจอปัญหาระหว่างแพลนทริปหรือร้านที่จะไปด้วยกันเพราะไม่กล้าปฏิเสธด้วยเหตุผลเรื่องเงิน เห็นได้จากการสำรวจโดย Qualtrics (Credit Karma) ในปี ค.ศ.2018 ที่พบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลกว่า 40% ใช้เงินเกินตัวและมีหนี้สินจากความพยายามรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อน
“ลูกค้าของฉันพบว่าหนี้ส่วนใหญ่ของพวกเขามาจากการซื้อของที่ตัวเองไม่ได้ต้องการ เช่น รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน การเดินทาง และรถยนต์ราคาแพง เมื่อเราพยายามหาสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงซื้อสิ่งที่ตัวเองไม่อยากได้และจ่ายไม่ไหว หลายคนมักจะบอกว่าซื้อเพราะเพื่อนสนิท สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนบ้าน” แพทริซ วอชิงตัน (Patrice Washington) นักพูดและผู้จัดพอดแคสต์ Redefining Wealth with Patrice Washington ให้สัมภาษณ์กับ HuffPost
เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะกลัวว่าเพื่อนหรือคนใกล้ชิดจะโกรธ ไม่พอใจ หรือไม่ยอมรับ แต่การฝืนแล้วเก็บปัญหาไว้คนเดียว นอกจากจะทำให้เงินในกระเป๋าแห้งยิ่งกว่าทะเลทรายแล้ว ยังเป็นการสร้างกำแพงทางความรู้สึกกับเพื่อนโดยที่เราไม่รู้ตัวอีกด้วย แต่ถ้าจะพูดว่า “ทำไมกินแพงจัง” หรือ “ไม่ไปนะ จ่ายไม่ไหวหรอก” ก็อาจจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดหรือรู้สึกว่ากำลังถูกตัดสินเรื่องการใช้จ่ายของตัวเองอยู่ จนกลายเป็นรอยร้าวของความสัมพันธ์ได้เหมือนกัน
ดังนั้น ถ้าต้องการสื่อสารให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน เราอาจจะบอกไปตรงๆ ได้ว่า “ทริปนี้/มื้อนี้เกินงบไปหน่อย” เหมือนกับการสื่อสาร ขอบเขต (boundary) ว่าเราพร้อมจ่ายให้กับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน พร้อมกับเสนอทางเลือกอื่นหรือเปลี่ยนไปนัดครั้งหน้าแทน เพื่อให้เพื่อนเข้าใจว่าเรายังอยากไปเจอหรือทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนเดิมนะ เพียงแต่ติดเงื่อนไขนี้เท่านั้น ซึ่งวิธีนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถสื่อสารโดยไม่ตัดสินกันและไม่ดูเหมือนเรากำลังโทษอีกฝ่าย แถมยังช่วยให้การคุยเรื่องเงินหรือบอกความต้องการเรื่องอื่นๆ กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกด้วย
เมื่อเพื่อนบอกว่า ‘จ่ายไม่ไหว’ เราจะทำยังไงได้บ้าง
ส่วนมุมของคนที่พร้อมจ่ายและไม่มีปัญหาด้านการเงิน ‘การสื่อสาร’ ก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน เพราะบางครั้งการเป็นห่วงแล้วตัดสินใจแทนเพื่อน ด้วยการไม่ชวนหรือไม่บอก อาจทำให้เพื่อนรู้สึกเหมือนถูกกีดกันออกมาเงียบๆ ดังนั้นการถามและเปิดโอกาสให้เพื่อนได้เสนอทางเลือกหรือปฏิเสธ อาจช่วยให้เขารู้สึกว่าเรายังนึกถึงกันอยู่มากกว่า (ยกเว้นเรื่องที่เคยตกลงหรือพูดคุยกันไปก่อนหน้านี้แล้ว)
แต่ถ้าเป็นทริปที่อยากให้ทุกคนไปด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาจริงๆ แต่อาจจะเกินงบไปหน่อย อันเดรีย โวโรช (Andrea Woroch) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำงบประมาณ แนะนำว่า เราอาจจะขอออกส่วนต่างหรือขอเลี้ยงบางมื้อ โดยปรึกษาเพื่อนๆ ให้เห็นตรงกันและทุกคนโอเคกับทางเลือกนี้จริงๆ แต่ก็ต้องสร้างขอบเขตที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน เพราะการทำแบบนี้บ่อยเข้าก็อาจจะทำให้เราและเพื่อนอึดอัด หรือกลายเป็นความเคยชินว่าคนที่มีงบมากกว่าต้องรับผิดชอบมากกว่าไปเสียอย่างนั้น
อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะมีหรือไม่มีปัญหาทางการเงิน สิ่งสำคัญคือการไม่ตัดสินหรือคาดเดาเรื่องการเงินจากไลฟ์สไตล์หรือสิ่งที่มองเห็นได้จากภายนอก เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่มีทางรู้ได้จริงๆ ว่ายอดเงินในบัญชี หนี้สิน ภาระค่าใช้จ่าย หรือการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตของแต่ละคนเป็นอย่างไร อีกทั้งนิยามของคำว่า ไม่มีเงิน คุ้มค่า หรือ ราคาที่สมเหตุสมผล ของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันออกไป บางคนที่งบเยอะแต่อาจไม่อยากจ่ายแพงในบางเรื่อง หรือบางคนที่งบน้อยอาจจะยอมทุ่มเงินเพื่อซื้อความสุขบางอย่างก็เป็นได้
เรื่องการเงินจึงเป็นทั้งมุมมองส่วนบุคคลและเป็นเรื่องส่วนตัวที่แม้จะสื่อสารกันได้ แต่ก็ต้องมีขอบเขต เคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย และไม่ลืมว่าจุดมุ่งหมายของการคุยเรื่องนี้คือ ‘หาทางออกร่วมกัน’ เพื่อให้ความสัมพันธ์ยังคงดำเนินต่อไปได้โดยที่ต่างฝ่ายต่างรู้สึกสบายใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan