เคยรู้สึกไหมครับ ว่าคุณกำลังทำงานที่มัน ‘ไร้ค่า’ อยู่
เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า – นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่
หรือต่อให้เป็นบางคนที่กำลังทำงานที่ตัวเองรัก ก็อาจมีไม่น้อยทีเดียวที่ในอดีตเคยผ่านงานประเภทท่ีรู้สึกว่าตัวเอง ‘ไร้ค่า’ มาก่อน กว่าจะฟันฝ่ามาสู่งานที่มีความหมายต่อชีวิตตัวเองได้ ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและความกล้าหาญไม่น้อยทีเดียว
งานที่ ‘ไร้ค่า’ หรือ Bullshit Jobs คืออะไรกันแน่?
เรื่องนี้ เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) เคยเขียนไว้ในหนังสือ Bullshit Jobs: A Theory (ซึ่งเป็นหนังสือที่ออกมาก่อนยุคCOVID-19 นะครับ) บอกว่า งานประเภท bullshit jobs หรือ pointless jobs ก็คืองานประเภทที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีประเด็นอะไรต่อโลก ทำแล้วไม่ได้ทำให้โลกดีขึ้น ทำแล้วไม่ได้พัฒนาตัวเอง ไม่รู้สึกว่าได้เติมเต็มอะไร
เคยมีคนบอกว่า เวลาที่เราอยากทำงานอะไรสักอย่าง สิ่งที่ขับเคลื่อนเราใหญ่ๆ มีอยู่สองอย่างเท่านั้นเอง เรียกได้ว่าเป็น 2M เพราะสิ่งแรกก็คือเงินหรือ money ส่วนสิ่งที่สองก็คือแรงผลักดันที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า motivation
แน่นอน เราทำงานก็อยากได้เงิน เพราะเงินทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่มีเงินเป็นตัวกลางในการผลักดันกลไกต่างๆ ให้หมุนไป แต่ตัว motivation ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกว่า เราทำงานก็เพราะอยากผลักดันสิ่งที่อยู่ในใจเราออกไป เราทำงานก็เพราะอยากเห็นสิ่งที่ดีกว่า หรือฝรั่งเรียกว่าสร้าง betterment ให้กับตัวเองหรือไม่ก็ให้กับโลก
แต่คำถามที่เดวิด เกรเบอร์ ตั้งเอาไว้ในหนังสือ bullshit jobs ก็คือ
ทุกวันนี้เราใช้อะไรขับเคลื่อนตัวเองมากกว่ากัน
money หรือ motivation
เขาพาเรากลับไปหาบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่อย่าง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ที่เคยทำนายเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 ว่าพอถึงสิ้นศตวรรษที่แล้ว วิทยาการและเทคโนโลยีในโลกจะก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มนุษย์เราทำงานน้อยลงเรื่อยๆ
เราไม่จำเป็นต้องทำงานที่เครื่องจักรทำได้ เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็น่าจะสุขสบาย และมีเวลาว่างเหลือเฟือ เคนส์ทำนายว่า เมื่อถึงสิ้นศตวรรษ มนุษย์เราจะทำงานกันแค่สัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง ถ้าคิดว่าเราทำงานกันสัปดาห์ละ 5 วัน ก็เท่ากับว่าเราควรจะได้ทำงานกันแค่วันละ 3 ชั่วโมง (เช่น เก้าโมงเช้าถึงเที่ยง) แล้วเวลาที่เหลือของวัน เราจะเอาไปทำอะไรก็ได้ เรียนภาษาใหม่ๆ เล่นเกม อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว ฯลฯ
แต่จนถึงปัจจุบัน เราก็เห็นแล้วว่า คำทำนายของเคนส์ไม่เป็นความจริง ทั้งที่คำทำนายนี้เรียกได้ว่าเป็นเหตุเป็นผลหรือ make sense อย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาช่วยเราทำงานที่จำเจ ซ้ำซาก หรืองานประเภทต้องทำซ้ำอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ได้ใช้สมองแล้ว – มนุษย์ก็ควรใช้เวลาที่เหลือไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกมากขึ้นได้
แต่เกรเบอร์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ – มนุษย์เรากลับ ‘ยัดเยียด’ งานประเภท ‘งานไร้คุณค่า’ หรือ bullshit jobs ให้ตัวเองเต็มไปหมดเลย
เกรเบอร์มีตัวอย่างมากมายที่แสดงไว้ในหนังสือ แต่ตัวอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าคนทำงานทั่วๆ ไปในสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ก็คือการต้องรับมือกับ ‘ขั้นตอน’ การทำงานที่พูดได้ว่า ‘ไร้ความหมาย’ อย่างสิ้นเชิง
เช่น – การต้องทำพรีเซนเทชั่นซ้ำๆ ซากๆ เพื่อนำเสนอให้กับลูกค้าที่ติติงมา โดยคนตรวจงานเป็นคนทำงานเบื้องต้นและไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ได้แต่ซื้อเวลาบอกให้กลับไปแก้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนเมื่องานขึ้นไปถึงคนที่มีอำนาจจะตรวจขั้นสุดท้ายหรือ finalize ได้ ก็พบว่าเหมือนงานเวอร์ชั่นแรกนั่นแหละ แถมที่อาจร้ายไปกว่านั้นก็คือ พรีเซนเทชั่นนั้นอาจเป็นแค่พรีเซนเทชั่นที่ทำขึ้นเพื่อการนำเสนอพรีเซนเทชั่นในงานอีเวนต์ช่วงสั้นๆ แค่ห้านาทีที่ไม่ได้มีใครสนใจดูด้วยซ้ำ
เช่น – การต้องนำเสนองานในรูปแบบสื่อกระดาษ เพื่อจะถูกตีกลับไปแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่าให้ต้องตรงกับกฎระเบียบของหน่วยงานบางหน่วยงาน (โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ) และอาจมีกฎงอกออกมาไม่แจ้งไว้ตั้งแต่ต้น และความผิดพลาดก็อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเลย ทั้งที่หากรับตรวจงานทางไฟล์ดิจิทัล ก็จะประหยัดเวลาและแก้ไขปัญหาทั้งหมดไปได้ในสามนาที
ตัวอย่างหนึ่งที่เกรเบอร์ยกไว้ในหนังสือของเขา และทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนมาก ก็คือพนักงานรักษาความปลอดภัยงานหนึ่ง ที่ถูกจ้างให้ไปเฝ้า ‘ห้องเปล่าๆ’ ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อไม่ให้ใครเข้าไปในห้องนั้น โดยพนักงานคนนั้นถูกสั่งห้ามทำอะไรอื่น ต้องเฝ้าระวังอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งที่ในห้องนั้นไม่มีอะไรเลย
ไซมอน แมร์ (Simon Mair) เขียนบทความไว้ใน BBC พูดถึงประเด็นคล้ายๆ กัน แต่เขาขยายใหญ่ไปถึงประเด็นเศรษฐกิจแบบมหภาคมากขึ้น โดยบอกว่า คนจำนวนมากกำลังทำงานที่เป็น pointless jobs และยินดีทำด้วย ก็เพราะงานพวกนี้มักจะให้ผลประโยชน์ดี
แน่นอน ผลประโยชน์ที่ว่าก็คือ M ตัวแรก ซึ่งได้แก่ money และนั่นทำให้เรายอมทิ้ง motivation ของเราไว้ข้างหลัง แล้วเลือกทำงานประเภทที่ให้ผลตอบแทนดี แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีคุณค่าความหมายต่อสังคมและต่อตัวเองเท่าไหร่นัก
แมร์บอกว่า เมื่อเกิด COVID -19 ขึ้นมา โรคระบาดนี้ได้ขับเน้นให้เราเห็นว่า มนุษย์กำลังทำ ‘งานที่ไร้คุณค่า’ พวกนี้กันอยู่มากแค่ไหน
มีงานจำนวนมากเลยที่ไม่ได้จำเป็นอะไรต่อการมีชีวิตอยู่ของเรา
ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
แมร์อธิบายว่า เป็นเพราะสังคมของเราที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดนั้น ให้คุณค่ากับสิ่งที่เรียกว่า ‘มูลค่าจากการแลกเปลี่ยน’ (exchange value) มากกว่า ‘มูลค่าจริง’ ของสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่
ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือการเล่นหุ้น
ถ้าคุณทำงานบริษัท รับราชการ หรือต่อให้เป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ สักอย่าง คุณจะมีโอกาสไต่เต้าไปมีเงินระดับร้อยล้านพันล้านได้น้อยมาก สมมุติคุณมีเงินเดือนสูงลิบลิ่วระดับหลายแสนบาทแล้วเก็บเงินได้เดือนละ 300,000 บาท เก็บทั้งปียังได้แค่ 3,600,000 บาท ต่อให้ตั้งใจทำงานเก็บเงินไปสิบปี ก็ยังเก็บได้แค่สามสิบสี่สิบล้านบาท ต้องทำงานสามสิบปีโน่น ถึงจะไปแตะระดับร้อยล้านได้
แต่ด้วยกลไกที่เกิดจาก exchange value หรือมูลค่าจากการแลกเปลี่ยนต่างหาก ที่ทำให้เกิดความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นบ้าง ของการซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้นไปมาบ้าง ซึ่งก็คือกลไกตลาด – เงินของคุณถึงจะมีโอกาสงอกเงยขึ้นไปเป็นระดับพันล้านบาทได้ (แถมรัฐยังสนับสนุนปรัชญาแบบ exhange value ด้วย โดยการบอกว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี)
นั่นทำให้ระบบเศรษฐกิจของเราทั้งหมด ตั้งวางอยู่บนสิ่งที่ ‘ไม่จริง’ และสิ่งที่ไม่จริงพวกนี้นี่แหละ ที่ไปจ้างคนมาคอยทำงานประเภท Bullshit Jobs เต็มไปหมด ตัวอย่างเช่น จู่ๆ เราก็ต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือกันทุกๆ ปี ทั้งที่มือถืออันเก่ายังใช้งานได้อยู่ บริษัทมือถือต้องเร่งให้คนออกแบบ เร่งให้คิดค้นวิธีการเทคนิคต่างๆ เพื่อจะได้ออกมือถือรุ่นใหม่มาได้เร็วขึ้น แต่เอาเข้าจริง ไอ้ของ ‘รุ่นใหม่’ นั้น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากของรุ่นเก่าสักเท่าไหร่ แต่เพียงเพื่อจะเร่งวัฏจักรชีวิตของมัน เพื่อทำให้เกิด ‘มูลค่าจากการแลกเปลี่ยน’ ได้มากขึ้น สังคมของเราก็เลยต้องเร่งเร็วจี๋ เพื่อทำสิ่งที่ ‘ไม่ได้จำเป็น’ ต่อการมีชีวิตอยู่เท่าไหร่
แมร์ยกตัวอย่างที่เจ็บปวดมากกว่านั้น และเป็นตัวอย่างที่ COVID-19 เปิดโปงให้เราเห็นว่ามนุษย์กำลังเดินหน้าไปบนหนทางที่เปราะบางอย่างยิ่ง ก็คือการลงทุนไปในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะกับบุคลากรสาธารณสุข เขาบอกว่า ถ้าดูในแง่ GDP แล้ว ตัว ‘ธุรกิจจริง’ ของวงการสาธารณสุขนั้น มีส่วนต่อการเติบโตของ GDP น้อยกว่าการซื้อขายแลกเปลี่ยน ‘หุ้นโรงพยาบาล’ มาก
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้กระทั่งธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณสุข ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่แข็งแรงนัก มันอยู่ได้เพราะ exhance value ไม่ใช่มูลค่าจริงของมัน ดังนั้นเมื่อเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่ขึ้นมา ความเปราะบางนี้จึงแสดงตัวให้เราเห็น ไม่ใช่แค่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว (ที่ยิ่งให้ความสำคัญกับ exchange value มากขึ้นไปอีก) ก็เปราะบางด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญก็คือ โรคระบาดได้คุกคามความ ‘ไม่จริง’ ไปในอาณาแห่งงานอันไร้ค่าในแทบทุกมิติ คนเราเริ่มตระหนักว่า – ไม่ต้องเปลี่ยนมือถือก็ได้นี่หว่า เครื่องเก่ายังใข้ได้อยู่ / ไม่ต้องไปนั่งกินโอมากาเสะในร้านหรูๆ ราคาหลายพันบาทก็ได้นี่นา เพราะสั่งมากินที่บ้านก็อิ่มท้องและอร่อยเหมือนเดิม / ไม่ต้องออกเดินทางท่องเที่ยวมากขนาดนั้นก็ไม่ตายนะ ฯลฯ ซึ่งก็คือการไป ‘ทำลาย’ ม่านบังตา ทำให้เราเห็นว่างานแบบไหนบ้างที่เป็นงานประเภท bullshit jobs แล้วส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังคนเล็กคนน้อยทั้งหลาย ที่ถูกล่อลวงให้ต้องมาทำงานเหล่านี้ ผ่าน M ตัวแรก คือ money เพื่อหาเลี้ยงชีพในสังคมที่ไม่ได้วางโครงสร้างเอาไว้อย่างยุติธรรม
มีรายงานของ BMO Capital Markets ซึ่งเป็นบริษัทการเงินในเครือธนาคารของแคนาดา บอกว่าการบริโภคของคนเราจะเปลี่ยนไปจากเดิม นักช้อปจะกลับมา แต่การที่เราขลุกอยู่กับบ้านเพราะโรคระบาดนานพอ ทำให้เราซื้อของออนไลน์มากข้ึน และการซื้อของออนไลน์นั้น ทำให้เราตระหนักว่าอะไรบ้างที่จำเป็น และอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น ดังนั้น ตัวเลขของสินค้าที่เคยเป็นของฟุ่มเฟือยแต่ไร้ประโยชน์ มีไว้เพื่อเติมเต็มคุณค่าเชิงสถานะและสัญญะเท่านั้น จึงมียอดขายลดลงอย่างมาก และเชื่อว่าหลังโรคระบาดผ่านไป คนก็จะยังไม่กลับมา ‘ช้อป’ ในปริมาณมากเหมือนเดิม
มันคล้ายๆ คนที่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว คนรุ่นบูมเมอร์สที่ผ่านความยากลำบาก ก็จะประหยัด และเลือกใช้เลือกซื้อข้าวของเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ นั่นเอง
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากเกรเบอร์ แต่มาสรุปจบที่ ไซมอน แมร์ ด้วยการชวนเรากลับมา ‘คิด’ ว่าสังคมของเราเป็นอย่างไรกันแน่ ทำไมเราถึงทำงานที่ ‘ไร้คุณค่า’ กันได้มากขนาดนี้ งานเหล่านี้ทำให้เราวางตัวเองอยู่บนฐานที่เปราะบางขนาดไหน และถึงเวลาแล้วเราหรือยังที่เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เหมือนกับที่ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เคยทำนายเอาไว้