เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือนแล้ว ที่สำนักการบินพลเรือน (กพท.) ประกาศห้ามเครื่องบินพาณิชย์เดินทางเข้าสู่ประเทศ และร้องขอให้คนไทยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา แสดงเอกสารอย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือรับรองการเดินทางจากสถานเอกอัครราชทูต และ ใบรับรองจากแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate) มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าสู่ประเทศ และป้องกันไม่ให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้กลับส่งผลให้คนไทยในต่างประเทศต้องเผชิญกับความทุกข์ใจแสนสาหัส ทั้งจากความยุ่งยากที่เกิดจากกระบวนการขอเอกสาร ความสับสนที่เกิดจากประกาศที่มักออกมากะทันหันและไม่ชัดเจน และความเครียดที่เกิดจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่มีใครคาดคิด จนนำไปสู่ประเด็นถกเถียงและความไม่พอใจในกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ และข้อสงสัยที่ว่า ตกลงมาตรการเหล่านี้ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือกีดกันคนไทยในต่างประเทศไม่ให้เดินทางกลับบ้านกันแน่
มาตรการแบบฟ้าผ่า และความไร้ประสิทธิภาพของ Fit to Fly
หากยังจำกันได้ มาตรการร้องขอให้คนไทยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับต้องแสดงเอกสารอย่างน้อย 2 ฉบับ ถูกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยมีผลบังคับใช้กับผู้ที่เดินทางถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป นับว่าเป็นมาตรการฟ้าผ่าที่ ‘ทำร้ายจิตใจ’ คนไทยจำนวนมากในต่างประเทศที่มีแผนเดินทางกลับในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างรุนแรง แม้ว่าในท้ายที่สุด กพท. ขอยกเลิกประกาศฉบับวันที่ 18 มีนาคม และขอเปลี่ยนไปบังคับใช้กับผู้ที่เดินทางถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมแทน แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้คนไทยในต่างประเทศรู้สึกดีขึ้นมา เพราะมันยิ่งซ้ำเติมคนไทยด้วยแรงคาดหวังที่ว่า ทุกคนจะสามารถจัดเตรียมเอกสารทั้งหมดได้ทันภายในเวลา 48 ชั่วโมง ซึ่งมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้
โดยเฉพาะการร้องขอใบรับรองแพทย์ในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่อง ‘ยาก’ และ ‘มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง’ แม้ในภาวะปกติ เช่น กรณีการพบแพทย์ในประเทศอังกฤษ จะต้องทำเรื่องนัดพบล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ซึ่งหลายคนเลือกที่จะไม่รอและหันไปใช้บริการคลินิกเอกชนที่มีราคาแพงแทน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในอังกฤษขณะนั้น เลวร้ายลง ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที จึงได้ร้องขอให้ประชาชนและชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยหลีกเลี่ยงการเดินทางมาที่โรงพยาบาลและคลินิกเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อ และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
มาตรการ Fit to Fly จึงเหมือนการบีบบังคับให้คนไทยในต่างประเทศต้องฝ่าฝืนคำสั่งหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาลและมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับโดยไม่มีความจำเป็น เพื่อกระดาษหนึ่งแผ่นที่ไม่อาจบ่งชี้การติดเชื้อ COVID-19 ได้เลย ส่งผลให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ Fit to Fly หลังมีกรณีนักศึกษาไทยตรวจพบว่าติดเชื้อเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย เนื่องจากอายุของ Fit to Fly นั้นมีอายุเพียง 72 ชั่วโมง จึงไม่อาจบ่งชี้การติดเชื้อของ COVID-19 ที่มีระยะฟักตัวแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ 2-14 วัน
มิหนำซ้ำ การพบแพทย์เพื่อขอเอกสารดังกล่าว ไม่ใช่การตรวจร่างกายโดยละเอียดอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจกัน จากที่เคยมีประสบการณ์การขอ Fit to Fly เพื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทยจากอังกฤษในช่วงเดือนมีนาคม พบว่าแพทย์ได้ทำการวัดไข้ และถามเกี่ยวกับประวัติการเดินทางไปยังประเทศที่มีการติดเชื้อสูงและอาการเบื้องต้นของโรคเท่านั้น ไม่มีการทำ swab เพื่อบ่งชี้ผู้ติดเชื้อ COVID-19 แต่อย่างใด มันจึงยิ่งตอกย้ำความไม่สมเหตุสมผลในการร้องขอ Fit to Fly ของ กพท. ที่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นการผลักภาระด้านค่าใช้จ่ายให้แก่คนไทยในต่างประเทศ และการบริหารจัดการให้แก่ สถานทูต สายการบิน และระบบสาธารณสุขในต่างประเทศอย่างน่ารังเกียจ ประการแรก ค่าเฉลี่ยในการออกใบรับรองแพทย์ในอังกฤษ มีมูลค่าประมาณ 100 ปอนด์ หรือราว 4,000 บาท ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและใช่ว่าทุกคนจะสามารถแบกภาระด้านค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ประการที่สอง การออกคำสั่งให้คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับต้องไปยื่นขอหนังสือรับรองการเดินทางจากสถานทูตเพื่อยื่นให้แก่สายการบินโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายตามสถานทูตและสนามบินทั่วโลก เพราะเจ้าหน้าที่ต่างก็ยังคงสับสนในขั้นตอนการพิจารณาออกหนังสือรับรองและต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อดำเนินการออกเอกสารให้คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับได้ทันท่วงที ขณะที่เจ้าหน้าที่สายการบินก็สับสนเกี่ยวกับประกาศที่ไม่ชัดเจน จนส่งผลให้หลายสายการบินต้องปฏิเสธผู้โดยสารหลายคนที่ไม่มีหนังสือรับรอง หรือตัดสินใจยกเลิกเส้นทางการบินไปเลย เพราะสายการบินไม่สามารถประเมินจำนวนผู้โดยสารได้อย่างชัดเจน
ประการสุดท้าย การร้องขอ Fit to Fly จากคนไทยทุกคนที่ต้องการเดินทางกลับ เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวของรัฐบาลไทย มันคือการเรียกร้องให้หน่วยงานสาธารสุขของประเทศอื่นๆ หันมาดูแลคนไทย ในขณะที่พวกเขาก็มีพันธกิจในการช่วยเหลือพลเมืองของตนเองและพยายามป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศตนเองอย่างหนักเช่นเดียวกัน
เป็นคนไทย แต่กลับบ้านไม่ได้
จากมาตรการของ กพท. ที่ว่าด้วยการห้ามเครื่องบินพาณิชย์เดินทางเข้าสู่ประเทศ และการร้องขอให้คนไทยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับ แสดงเอกสารอย่างน้อย 2 ฉบับ ส่งผลให้คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับต้องคิดค้างอยู่ในต่างประเทศจำนวนมาก และต้องหันมารอประกาศจาก กพท. ทุกวันอย่างมีความหวังว่า ประเทศไทยจะอนุญาตให้เครื่องบินพาณิชย์เดินทางเข้าสู่ประเทศได้ในเร็ววัน แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยเริ่มดีขึ้นและเริ่มมีจำนวนคนไทยที่แสดงความต้องการเดินทางกลับมากขึ้น กพท. กลับนิ่งเฉย รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจเริ่มจัดเที่ยวบินพิเศษไปรับคนไทยในต่างประเทศ หรือ Repatriation Flight ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ซึ่งดูเหมือนว่า ฝันร้ายของคนไทยในต่างประเทศกำลังจะจบลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเที่ยวบินพิเศษมีจำนวนจำกัดและไม่สามารถรับคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับทั้งหมดได้ในครั้งเดียว สถานทูตจึงต้องหันมาใช้วิธีให้คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับ ลงทะเบียนเพื่อยืนยันความประสงค์ของตนเองและรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาเมื่อถึงลำดับของตน โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ มีรายชื่อผู้ที่ยืนยันความประสงค์เดินทางกลับมากกว่าพันราย ส่งผลให้คนไทยหลายร้อยคนต้องรอคอยนานหลายเดือนกว่าจะได้เดินทางกลับบ้าน และกลายเป็นฝันร้ายยิ่งกว่าเดิม
บางคนกลับมาไม่ทันดูใจคนในครอบครัว บางคนวีซ่าและสัญญาที่พักกำลังจะหมด ไม่รู้จะต้องวางแผนต่ออย่างไร บางคนซึมเศร้าอย่างหนัก เพราะทนคิดถึงครอบครัวและบ้านไม่ไหว
แต่ผลกระทบที่น่าเศร้าใจที่สุดจากมาตรการครั้งนี้ คือ บางคนไม่มีเงินจะซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวบินพิเศษนี้ด้วยซ้ำ เพราะมันมีราคาที่สูงมาก สูงจนน่าใจหาย ขณะเดียวกันบางคนก็ไม่มีเงินจะซื้อ Fit to Fly ด้วยเช่นกัน นั้นหมายความว่า รัฐบาลไทยกำลังกีดกันและซ้ำเติมคนไทยในต่างประเทศที่แค่ต้องการความช่วยเหลือและอยากเดินทางกลับบ้าน
ขณะที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ รีบเข้าช่วยเหลือพลเมืองของตนเองที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ส่งเครื่องบินและเรือโดยสารออกไปรับชาวออสเตรเลียที่ติดอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงมากกว่า 300,000 ราย หรือ กรณีของรัฐบาลเยอรมนี ที่ตกลงร่วมมือกับสายการบินพาณิชย์และจัดสรรเครื่องบินพิเศษ เพื่อไปรับชาวเยอรมันที่ติดค้างอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 260,000 ราย ให้เดินทางกลับสู่บ้านได้อย่างปลอดภัย ภายในช่วงเวลาเดือนเศษเท่านั้น
แต่ทำไมรัฐบาลไทยถึงกลับเพิกเฉยคนไทยในต่างประเทศได้อย่างเลือดเย็น? ทำไมการเดินทางกลับประเทศถึงกลายเป็นเรื่องของคนมีเงิน? ทำไมเสียงร้องของกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องกลับไทยถึงไม่เคยได้รับการตอบสนอง? ทำไมรัฐบาลไทยถึงได้ออกมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของคนไทยในการเดินทาง ที่ถูกบัญญัติไว้อย่างชัดเจนตามมาตรา 25, 38 และ 39 ในรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย? ทำไมเราถึงกลับบ้านไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราเป็นคนไทยเสียเอง?
อาการคลั่งเลข 0 ของ ศบค. และการป้ายสีคนไทยในต่างประเทศ
ปรากฏการณ์คนไทยติดค้างในต่างประเทศนานหลายเดือน และความพยายามของรัฐบาลไทยในการสร้างเงื่อนไขมากมาย เพียงเพราะต้องการกีดกันคนไทยในต่างประเทศ ไม่ให้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เป็นผลมาจาก ‘อาการคลั่งเลข 0’ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) และการป้ายสีคนไทยในต่างประเทศว่าเป็น ‘ต้นตอของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ หรือตัวเชื้อโรคก็ว่าได้
อาการคลั่งเลข 0 ของ ศบค. สะท้อนเด่นชัดผ่านวาทกรรม ‘การ์ดอย่าตก’ ของนพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ที่มักจะใช้ข่มขู่ประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด และมักจะอวดอ้างสถิติเลข 0 อยู่เป็นประจำ เพื่อสร้างภาพให้ประชาชนเชื่อว่า การมีอยู่ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้น ช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมานานหลายเดือนแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี อาการคลั่งเลข 0 ก็ได้ลุกลามจาก ศบค. ไปสู่คนไทยด้วยกันเองในท้ายที่สุด ซึ่งอาการของมันสะท้อนออกมาชัดเจน เมื่อมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย หลายคนก็มักจะตื่นตระหนกจนไม่เป็นอันทำอะไร นอกจากนี้ อาการเหล่านี้ยังสะท้อนออกมากับคนไทยที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าพวกเขาจะผ่านการกักตัวในสถานกักกันของรัฐบาลแล้วก็ตาม คนไทยหลายคนโดนญาติพี่น้องไม่กล้าพบเจอ หลายคนโดนต่อว่าว่ากลับมาเป็นตัวแพร่เชื้อในประเทศไทย หลายคนโดนด่าทออย่างหยาบคาย หลังแสดงความต้องการที่จะเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนบนโซเชียลมีเดียของตนเอง
ทำไมคนไทยที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศจะต้องมานั่งทนฟังเสียงก่นด่าและการรังเกียจจากคนไทยด้วยกันเอง เพียงเพราะรัฐบาลไทยได้สร้างภาพจำและป้ายสีพวกเขาว่าเป็นตัวเชื้อโรค และต้นตอของการแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศ และทำไมพวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้ เพียงเพราะรัฐบาลไทยต้องการอวดอ้างสถิติสวยๆ ที่ต้องแลกมากับความเดือดร้อนของประชาชนไทยทั่วทุกหย่อมหญ้า
รัฐบาลไทยควรตระหนักได้แล้วว่า มาตรการทั้งหลายที่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อกีดกันคนไทยในต่างประเทศ มีแต่จะยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนและเหยียบย้ำความรู้สึกของคนที่ติดค้างอยู่ในประเทศให้เลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะมาตรการปิดน่านฟ้าและอาการคลั่งเลข 0 ที่รัฐบาลต้องยอมรับว่า ไม่มีทางที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะปิดน่านฟ้าได้เป็นปี และไม่มีทางที่จะไม่มีผู้ติดเชื้อเลยตลอดไป ทั้งหมดนี้เป็นอาการเพ้อฝันของคนที่กำลังมองว่า การป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็น การทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็น
หากแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะต้องถูกจัดการในลักษณะของโรคระบาดอย่างที่ควรจะเป็น ผ่านการสร้างความเข้าใจในธรรมชาติของโรค และผลกระทบต่อระดับปัจเจกบุคคลและสังคม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนไม่เกิดอาการตื่นตระหนกจนเกินไปและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น จนไม่รู้สึกหวาดกลับกับศัตรูที่มองไม่เห็น และไม่รังเกียจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองที่ถูกรัฐบาลป้ายสีว่าเป็น ต้นตอของการทำสงครามที่ไม่สิ้นสุด
ไทยจะชนะได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในระดับที่ระบบสาธารณสุขของไทยสามารถรับมือไหว ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้อย่างราบรื่น ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ยังสามารถดำเนินธุรกิจของตนเองได้ ช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศให้สามารถเดินทางกลับบ้านโดยปราศจากค่าใช้จ่าย และสร้างความเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกจนมากเกิน แต่ก็ไม่ประมาทจนละเลยการป้องกันการติดเชื้อในเบื้องต้น โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากและการล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญกันมาโดยตลอด